fbpx
:: คู่มือตรวจสุขภาพ 101 ฉบับอ่านง่าย ::

:: คู่มือตรวจสุขภาพ 101 ฉบับอ่านง่าย ::

จากงานวิจัย “ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) สู่อัลบั้มชุดข้อมูลฉบับอ่านง่าย แชร์สะดวกให้คนที่คุณรักได้อ่านเพื่อรู้เท่าทัน ไม่ให้การตรวจสุขภาพกลายเป็นโศกนาฏกรรม

แนะนำแนวทางการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมว่า ควรตรวจอะไร เมื่อไหร่ดี อะไรคือสิทธิตรวจฟรีที่มักไม่มีใครรู้ และอะไรที่ไม่ควรตรวจ เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายหรือเสียเงินเปล่า

อ่านแล้วอาจจะพบว่าความรักที่แสดงออกได้ด้วยการพาคนรักไปใกล้มือหมอนั้น อาจเผลอทำร้ายเค้าเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

อ่านบทความ “ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” : ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่ให้ทำร้ายคนที่คุณรัก ฉบับเต็มได้ ที่นี่

*ข้อมูลจากงานวิจัยโดย HITAP ‘เช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย’ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

 

ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่ให้ทำร้ายคนที่คุณรัก

*ข้อมูลจากงานวิจัยโดย HITAP ‘เช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย’ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.the101.world/wp-content/uploads/2017/10/mycheckup.pdf

 

 

ตรวจสุขภาพดีจริงหรือ?

คนไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ และนิยมเลือกซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่รวบรวมโปรแกรมการตรวจที่หลากหลายไว้ด้วยกัน

‘การตรวจคัดกรองสุขภาพ’ คือ การซักถามหรือตรวจอย่างเป็นระบบในเบื้องต้น เพื่อค้นหาความเสี่ยงหรือโรค และลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคลง

รู้หรือไม่ว่า การตรวจคัดกรองบางอย่างเท่านั้นที่มีประโยชน์ แต่การตรวจคัดกรองทุกชนิดส่งผลเสียได้หากใช้ไม่เหมาะสม และบางอย่างก็มีควรตรวจเลย!

ข้อเท็จจริงก็คือ การตรวจทุกประเภทไม่สามารถให้ผลที่มีความถูกต้อง 100%

● ทุกครั้งที่ตรวจมีโอกาสที่ผลตรวจของผู้ที่มีความผิดปกติและจะเป็นโรคในอนาคตบางคนจะแสดงผลว่าไม่เป็นอะไร ทำให้ไม่ได้รับการป้องกันและดูแลอย่างถูกต้อง

● ทุกครั้งที่ตรวจมีโอกาสที่คนปกติซึ่งไม่มีความผิดปกติและจะไม่เป็นโรคในอนาคตบางรายอาจแสดงผลว่าเป็น คนกลุ่มนี้จะถูกส่งต่อเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งมักเป็นการตรวจที่มีความเสี่ยงและอันตรายเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

● ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายที่มีความผิดปกติความผิดปกติทางพยาธิวิทยา (คือการความผิดปกติของเซลล์หรือการทำงานของอวัยวะ) แล้วจะเกิดความเจ็บป่วยจากโรคนั้นๆ ทุกราย เช่น พบเซลล์มะเร็งแต่ไม่ได้ลุกลามจนเป็นโรคหรือเสียชีวิต ดังนั้นคนกลุ่มนี้แม้จะได้รับผลการตรวจที่ถูกต้อง แต่กลับไม่ได้ประโยชน์ และอาจต้องพบกับความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงจากการรักษาโรค (ที่ไม่ควรรักษา) ซึ่งในบางครั้งอาจรุนแรงถึงชีวิต

 

 

อะไรบ้างที่ควรตรวจ และตรวจอย่างไรจึงเหมาะสม

• ตรวจเบาหวาน
• ตรวจภาวะ “น้ำหนักเกิน” หรือโรคอ้วน
• การวัดดัชนีมวลกาย (BMI) และการวัดเส้นรอบเอว
• โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง
• ภาวะโลหิตจาง 
• ไวรัสตับอักเสบบี 
• ตรวจหาเชื้อเอชไอวี 
• ตรวจมะเร็งปากมดลูก 
• ตรวจมะเร็งเต้านม 
• มะเร็งลำไส้

 

 

ตรวจเบาหวาน 

เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นความมุ่งหวังของการรักษาโรคเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนลง

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคเบาหวาน ได้แก่ เบาหวานขึ้นประสาทตา โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โรคไตจากเบาหวาน การสูญสียเท้าจากบาดแผลเบาหวาน

สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยการเจาะเลือดหลังการงดอาหาร 8 ชั่วโมง ตรวจทุก 5 ปี

แต่ถ้าเป็นผู้มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือทานยาลดความดันโลหิต มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคเบาหวาน มีอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป น้ำหนักเกินหรืออ้วน สามารถตรวจได้ถี่ขึ้น

**การโกหกตัวเองโดยการงดอาหารประเภทแป้งหรือของหวานๆ ก่อนตรวจระดับน้ำตาลในเลือก อาจส่งผลร้าย ทำให้เกิดความมั่นใจผิดๆ ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายอาจเกิดความเสี่ยงอยู่ดี

 

 

ตรวจภาวะ “น้ำหนักเกิน” หรือโรคอ้วน (มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน)

การวัดดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) และการวัดเส้นรอบเอว (Waist Circumference)

 

 

การวัดดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI)

การวัดดัชนีมวลกายเป็นการคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตรยกกำลังสอง)

ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 23-24.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร ถือว่า “น้ำหนักเกิน”

ถ้าเกิน 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร ถือว่าเป็นโรค “อ้วน”

 

 

การวัดเส้นรอบเอว (Waist Circumference)

การวัดเส้นรอบเอวเพื่อพิจารณาภาวะอ้วนลงพุง สามารถประเมินได้จากเส้นรอบเอว เกณฑ์ภาวะลงพุงในผู้หญิงและผู้ชายจะแตกต่างกัน

ผู้หญิงจะอยู่ในภาวะ “อ้วนลงพุง” หากเส้นรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว) และผู้ชายจะอยู่ในภาวะอ้วนลงพุงหากเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว)

 

 

โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง

โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของคนไทย ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองเพื่อหาโรคนี้โดยตรง แต่เป็นการตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เพื่อทำนายโอกาสการเกิดโรคในอนาคต เช่น อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ความดัน ระดับโคเลสเตอรอล โรคร่วม และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

แนะนำให้ตรวจสำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี และควรตรวจประเมินความเสี่ยงโดยรวมกับแพทย์เป็นประจำทุก 5 ปี หากอายุมากกว่า 65 ปี ควรตรวจคัดกรองโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation ด้วยการตรวจวัดชีพจรด้วย

ใครอายุ 35 ขึ้นไปสามารถตรวจสอบอายุหัวใจเบื้องต้นเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้ที่ http://www.mycheckup.in.th/hitap/check_age.php

 

ภาวะโลหิตจาง

เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาสำคัญ คือ โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โดยเฉพาะในเด็กทารกและหญิงตั้งครรภ์ที่มีความต้องการธาตุเหล็กสูง เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีภาวะโลหิตจางจะเจ็บป่วยได้ง่าย มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการเรียนรู้ช้า

หญิงตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ในสถานพยาบาลตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อได้รับการดูแลป้องกันภาวะโลหิตจาง และแนะนำให้พาบุตรหลานอายุ 9-12 เดือน ไปตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count : CBC) หรือตรวจปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hematocrit : Hct)

 

 

ไวรัสตับอักเสบบี

สาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งตับคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เด็กทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไว้รัสตับอักเสบบี 3 ครั้ง ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มีภูมิป้องกันโรค แต่ผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 และยังไม่เคยได้รับวัคซีน ยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ดังนั้น ผู้ที่อายุตั้งแต่ 31-40 ปี และยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อรักษาและป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับ ตับวาย หรือตับแข็ง

 

 

ตรวจหาเชื้อเอชไอวี

เป็นไวรัสที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ ทำให้ติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

หากติดเชื้อ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสและการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ จะให้ผลดีก็ต่อเมื่อทราบว่าติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรก และเข้ารับการรักษาแต่เนิ่น

สามารถตรวจฟรีในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่

 

 

ตรวจมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองในสตรีไทย โดยสาเหตุหลักของการเกิดโรคมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)

ปัจจุบันพบว่า มะเร็งปากมดลูกมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูง หากพบในระยะเริ่มต้น

สตรีอายุ 30-60 ปี ตรวจฟรี และแนะนำให้ตรวจทุก 5 ปี

 

 

ตรวจมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุด

การตรวจคัดกรองเดียวที่มีหลักฐานว่าสามารถลดโอกาสเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมของผู้หญิงที่รับการตรวจได้ คือการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram)

การคัดกรองด้วยการคลำเต้านมมักพบก้อนมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว ซึ่งอาจสายเกินไปที่จะรักษา

ทั้งนี้ควรพิจารณาด้วยว่า มะเร็งเต้านมไม่ได้มีความร้ายแรงกับผู้หญิงทุกคน ผู้หญิงบางรายที่มีมะเร็งนี้อยู่อาจไม่ได้เสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมนี้

แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ตั้งแต่อายุ 40-70 ปี ตรวจทุก 3-5 ปี

 

 

มะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเนื่องจากพฤติกรรมการกินและวิถีชีวิตของคนเปลี่ยน เช่นกินเนื้อสัตว์มาก รับประทานผลไม้น้อย

การตรวจคัดกรองทำได้ลายวิธี วิธีที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้ 15% เมื่อเทียบกับไม่ได้รับการคัดกรองเลย คือ การตรวจหาเลือกที่ปนมาในอุจจาระ

แนะนำให้ตรวจสำหรับผู้มีอายุ 60-70 ปี โดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระทุก 1-2 ปี

 

 

อะไรบ้างที่ตรวจแล้วมีโทษ มากกว่าประโยชน์

• การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย PSA

• เอ็กซ์เรย์ปอด

 

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย PSA

ระบบประกันสุขภาพและสมาคมแพทย์เกือบทั่วโลกไม่แน่นำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย PSA ทำให้เกิดการวินิจฉัยและรักษาคนไข้เกินความจำเป็น ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่ไม่รุนแรง และคนไข้หลายรายไม่เสียชีวิต การรักษาจึงไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่กลับเกิดโทษหากมีการวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษา เช่น การตรวจชิ้นเนื้ออาจนำไปสู่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ หรือบางรายถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน

นอกจากนี้ PSA ไม่มีความจำเพาะต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะระดับ PSA อาจสูงขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้

 

 

ข้อเสียของการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย PSA

• 1 ใน 8 ของผู้ชายที่ตรวจคัดกรองด้วย PSA จะพบความผิดปกติทั้งที่ไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

• ร้อยละ 76 ของผู้ชายกลุ่มนี้ ได้ตรวจชิ้นเนื้อลูกหมากแล้ว พบว่าไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

 

 

ข้อเสียของการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย PSA

• ต้องคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย PSA จำนวน 1,000 ราย จะป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากตายได้ 1 ราย แต่ในทางตรงกันข้าม ในจำนวนคนที่เหลือ 999 คน พบว่า

– 120 คน จะได้ผลบวกลวง (คือผู้ตรวจไม่ได้เป็นอะไร แต่ผลกลับแสดงว่าเป็น)
– 30 คน จาก 120 คนนี้ได้รับผลกระทบจากการวินิจฉัยและรักษาจนหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
– 20 คนกลายเป็นคนกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้
– 2 คน เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดอย่างรุนแรง
– 1 รายที่ไม่ป่วยก็ต้องเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

 

 

เอ็กซ์เรย์ปอด

จากการที่วัณโรคส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอดและระบบทางเดินหายใจ เป็นเหตุให้ “การถ่ายภาพรังสีทรวงอก” หรือที่รู้จักกันดีว่า “การเอ็กซ์เรย์ปอด” ถูกนำมาบรรจุไว้ใน “ชุดตรวจร่างกาย” ที่สถานพยาบาลให้บริการกันอย่างแพร่หลาย ราวกับเป็นการตรวจ “ภาคบังคับ” ที่ขาดไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนให้ทำ

เพราะการเอ็กซ์เรย์ปอดของคนทั่วไป เพื่อหาวัณโรคในคนที่ไม่มีอาการนั้น มีโอกาสตรวจพบวัณโรคน้อยมาก ในทางตรงข้าม รังสีเอ็กซ์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง และยังให้ผลบวกลวง (คือผู้ตรวจไม่ได้เป็นอะไร แต่ผลกลับแสดงว่าเป็น) ทำให้ต้องวินิจฉัยเพิ่มขึ้น เช่น ต้องส่องกล้องเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ผ่าตัดทรวงอก ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้บางครั้งทำให้เกิดการบาดเจ็บ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้

 

 

การตรวจที่แม้จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็เป็นการเสียเงินไปเปล่

• ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะ
• อัลตราซาวด์ช่องท้อง
• ค้นหาโรคไตอักเสบ และนิ่วในไต

 

 

ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะ


ถือเป็นการตรวจแบบเหวี่ยงแห เช่น ตรวจการทำงานของตับ หรือตรวจการทำงานของไตในผู้ไม่มีอาการหรือประวัติความเสี่ยง จากการวัดระดับยูเรียไนโตรเจน (BUN) และครีอะตินีน (Creatinine) เนื่องจากสองอย่างนี้ไม่มีความจำเพาะ อาจเกิดจากการขาดน้ำ เสียเหงื่อ กินยาหรือเนื้อสัตว์บางชนิด อีกทั้งการตรวจแบบนี้จะให้ผลว่ามีความผิดปกติก็ต่อเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งถึงตอนนั้นก็สายเกินแก้เสียแล้ว

การตรวจแบบเหวี่ยงแหเช่นนี้ยังอาจทำให้เกิดความมั่นใจผิดๆ ว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคหรือไม่มีความเสี่ยง หรือหากได้รับผลบวกลวง (คือผู้ตรวจไม่ได้เป็นอะไร แต่ผลกลับแสดงว่าเป็น) ทำให้ต้องสูญเงินเพื่อตรวจเพิ่มเติมและอาจมีความเสี่ยงและได้รับอันตราย

 

 

อัลตราซาวด์ช่องท้องบางส่วน

เป็นการตรวจที่พบอย่างแพร่หลายในชุดตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลต่างๆ

การตรวจโดยทั่วไปในผู้ที่ไม่มีอาการหรือประวัติความเสี่ยงของโรคต่างๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ แต่เมื่อตรวจแล้วกลับสร้างความกังวลใจทั้งที่อาจยังไม่ต้องรักษา

แต่สำหรับเพศชายอายุมากกว่า 65 ปี แนะนำให้มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมด เพื่อวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองก่อนที่จะแตก

 

 

ค้นหาโรคไตอักเสบ และนิ่วในไต

แม้จะเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่ข้อมูลขากงานวิจัยในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าการตรวจปัสสาวะและเลือดเพื่อหาโรคทั้งสองในคนทั่วไปพบว่าไม่มีประโยชน์ ควรตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

 

การตรวจสุขภาพมีทั้งตรวจดีได้และตรวจร้ายเสีย ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันหรือการรักษาโรค ข้อมูลความรู้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกันกับความรู้ที่แพทย์หลายท่านเคยได้รับทราบมาในอดีตและไม่มีโอกาสรับทราบข้อมูลใหม่ที่ค้นพบในปัจจุบัน

ทุกคนควรมีความรู้พื้นฐาน ตระหนักถึงความสำคัญและผลเสียของการตรวจคัดกรองสุขภาพ และไม่ตั้งความหวังของการมีสุขภาพดีทั้งหมดไว้ที่แพทย์และโรงพยาบาล ดังนั้น ทุกคนต้องเป็นผู้สร้างสุขภาพที่ดีของตนเอง

อ่านบทความ “ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” : ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่ให้ทำร้ายคนที่คุณรัก ฉบับเต็มได้ที่ https://www.the101.world/thoughts/information-for-health-check-up/

และผลสรุปจากงานวิจัยโดย HITAP ‘เช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย’ ได้ที่ https://www.the101.world/wp-content/uploads/2017/10/mycheckup.pdf

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save