fbpx
อยู่ก็เป็นปัญหา ตายยิ่งเป็นภาระ

อยู่ก็เป็นปัญหา ตายยิ่งเป็นภาระ

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

มนุษย์แต่ละคนล้วนทำเรื่องปวดหัวให้แก่คนอื่น เมื่อเกิดมาต้องให้พ่อแม่ดูแลอุ้มชูหลายปีกว่าจะดูแลตนเองได้ อีกทั้งยังบริโภคอาหาร ใช้สารพัดทรัพยากรตลอดชีวิตจนสร้างภาระแก่คนอื่น แก่สังคม และแก่โลก บ้างก็มีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้นกว่าเมื่อตอนตนเองเกิดมา บ้างก็ทำให้เลวลง บ้างก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย และที่หนักที่สุดก็คือเมื่อตอนสิ้นชีวิตไปแล้ว ‘ร่าง’ ยังเป็นภาระหนักอีกด้วยว่าจะทำอะไรกับมันดี

 

แต่ดึกดำบรรพ์มามนุษย์มีสองวิธีหลักในการกำจัดร่างของผู้ตาย นั่นก็คือฝังและเผา แต่ปัจจุบันมนุษย์มีวิธีที่หลากหลายกว่านั้นโดยปรับให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ฐานะทางเศรษฐกิจ และความเชื่อทางศาสนา

ในทุกนาทีจะมีคนตายในโลกกว่า 200 คน หรือตายปีละประมาณ 100 ล้านคน แต่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเพิ่มขึ้น 1 ล้านคนทุก 5 วัน ซึ่งจะทำให้จำนวนคนเพิ่มจาก 7,000 ล้านคน เป็น 9,000 ล้านคน ก่อนถึง ค.ศ. 2100

ตัวเลขเช่นนี้ทำให้ปัญหาที่ดินที่มีจำกัดรุนแรงมากขึ้น ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เลวร้ายลง และปัญหาต้นทุนการกำจัดร่างคนตายมีความสำคัญขึ้นทุกที จนมนุษย์ต้องหาทางออกใหม่

ปัจจุบันโลกมีการกำจัดร่างผู้ตายอย่างน้อย 4 วิธีด้วยกัน กล่าวคือ (1) ฝัง (2) เผา (3) ทิ้งร่างในที่โล่งแจ้งให้สัตว์กิน (sky burial) (4) เทคโนโลยีสมัยใหม่

การฝังเป็นที่นิยมของชาวคริสต์ มุสลิม โลกตะวันตก และกลุ่มอารยธรรมเอเชียสายจีน ส่วนการเผานั้นจะทำกันกว้างขวางในอารยธรรมเอเชียสายอินเดีย ตลอดจนสังคมอื่นๆ ในป่า ในเขา อย่างไรก็ดี ทางโน้มในอนาคตก็คือการเผาแทนที่การฝัง

สถิติในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนของการฝังดังต่อไปนี้ คนอเมริกันในปี 1995 ฝังร้อยละ 80 ปัจจุบันเหลือร้อยละ 50 ส่วนคนอิตาลี จาก 95 เป็น 80 คนฝรั่งเศส จาก 85 เป็น 60 และคนอังกฤษ จาก 30 เป็น 25

สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น ในปี 1960 มีการเผาต่ำกว่าร้อยละ 4 และเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในปัจจุบัน คาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 79 ในปี 2035 จีนนั้นการเผาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในปี 1995 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2012 ส่วนญี่ปุ่นนั้นเผาทั้งหมดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้มีการฝังน้อยลงก็คือต้นทุนที่สูงขึ้นมาก กล่าวคือที่ว่างในสุสานมีน้อยลงเป็นลำดับ สุสานใหม่ในสถานที่ใกล้น้ำ ใกล้ภูเขาอันงดงามนั้นก็ถูกสนามกอล์ฟ คอนโด บ้านพักหรูๆ แย่งไป (เฉพาะคนที่มีฐานะดีจริงๆ เท่านั้นจึงจะสามารถต่อสู้แย่งชิงมาได้) นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายรายปี และค่าดูแลตลอดไป ซึ่งยากลำบากขึ้น เพราะลูกหลานกระจายไปทำงานในสถานที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้น บางคนที่นิยมการฝังตามประเพณีอาจกล่าวว่าการฝังมันแพงมากจนไม่สามารถตายได้

สำหรับผู้คนที่ยังรักการฝังและมีความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมก็ใช้วิธีที่เรียกว่า green burial กล่าวคือไม่ฉีดยากันเน่า และใช้โลงที่ทำจากวัสดุเหลือจากธรรมชาติ เช่น เปลือกข้าวโพดซึ่งสลายตัวได้ในเวลาไม่กี่เดือนและไม่ปล่อยสารเคมีลงไปในดิน

สิ่งที่นิยมกันมากในปัจจุบันก็คือการเผา จากนั้นก็เก็บเถ้ากระดูกไว้ในโถกระเบื้องหรือโถที่ย่อยสลายได้แล้วไปฝังในสุสานโดยมีป้ายบอกชื่อแบบธรรมเนียมโบราณ แต่ที่นิยมกันมากในญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศก็คือเก็บเถ้ากระดูกไว้ในโถและบรรจุในช่องอยู่ในอาคารที่จัดทำไว้เป็นพิเศษ

อีกวิธีที่นิยมมากเช่นกันก็คือโปรยเถ้ากระดูกลงทะเลหรือแม่น้ำ ดังที่กระทำกันในบ้านเรา หรือแม้แต่ในป่าเขาโดยประสงค์ให้ย่อยสลายเป็นประโยชน์ต่อโลกต่อไป

ส่วนอีกวิธีที่มุ่งให้เป็นประโยชน์ต่อสัตว์และโลกก็คือ การทิ้งไว้ในที่โล่งแจ้ง ดังที่อินเดียนแดงนิยม ส่วนผู้คนในบางชุมชนแถบเทือกเขาหิมาลัยนิยมตัดชิ้นส่วนร่างให้สัตว์กิน โดยใช้คติความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดว่าเมื่อสัตว์กินเข้าไปก็ถ่ายออกมาเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ และเมื่อสัตว์ตายก็เป็นอาหารของหนอน การตายจึงเป็นการสนับสนุนการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดของการรีไซเคิล เพียงแต่กรณีนี้สยดสยองกว่า

การฝังและการเผามิใช่วิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากฝังลึก 6 ฟุตขึ้นไป เมื่อร่างเน่าเปื่อยในสภาพที่ขาดออกซิเจนก็จะปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอันมีผลทางลบต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมาก และหากทำเป็นหลุมฝังศพใหญ่โตก็ต้องใช้ซีเมนต์ ใช้เหล็ก และผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนการเผานั้นต้องใช้น้ำมันหรือก๊าซซึ่งมีผลต่อโลกในทางลบโดยตรง ในการเผาหนึ่งร่างด้วยเตาน้ำมันนั้น ต้องใช้น้ำมันถึง 320 กิโลกรัม และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากมายไปในอากาศ น้ำมันปริมาณนี้สามารถใช้ขับรถได้นานถึง 20 ชั่วโมง

วิธีการสุดท้ายในการกำจัดร่างผู้ตายคือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งมีมากมายหลายวิธี วิธีหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุดก็คือวิธีที่เรียกว่า promession (มาจากคำว่า promessa ในภาษาอิตาลี  ซึ่งหมายถึง promise มีนัยถึงคำสัญญาว่าจะทำร้ายโลกให้น้อยที่สุด)

เจ้าของไอเดียนี้คือ Susanne Wiigh-Masak นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินชาวสวีเดน เธอศึกษากระบวนการนี้มา 20 ปี ไอเดียของ promession ก็คือ (ก) แช่แข็งร่างที่อุณหภูมิลบ 18 องศาเซลเซียส ประมาณ 24-48 ชั่วโมง (ข) เอาร่างแช่ลงในถังที่บรรจุไนไตรเจนเหลวประมาณ 83 ลิตร เพื่อให้เย็นจัดถึงลบ 196 องศาเซสเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ร่างกายจะเปราะเสมือนเป็นแก้ว (ค) ใช้อุลตร้าซาวด์สั่นสะเทือนร่างเป็นเวลา 1 นาทีจนแตกละเอียดเป็นผงไปทั้งหมด (ง) นำผงเหล่านี้ผ่านความร้อนจนน้ำระเหยไปหมดเหลือแต่ผงแห้งไม่มีกลิ่น ซึ่งจะมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 30 ของน้ำหนักร่างในตอนแรก (จ) ใช้แม่เหล็กและวิธีการดูดโลหะและสารแปลกปลอมออกจากผงเพื่อให้เป็นอินทรียวัตถุ (organic) อย่างแท้จริง (ฉ) บรรจุผงนี้ลงในภาชนะที่ทำจากเปลือกข้าวโพดหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ จากนั้นอาจอัดเป็นแผ่นหรือเป็นกล่อง หรือเป็นขวด แล้วนำไปฝังดินตื้นๆ เพื่อให้ย่อยสลาย ซึ่งภายใน 6-12 เดือนจะกลายเป็นดินเป็นปุ๋ยของต้นไม้ไปในที่สุด

เธอได้ทดลองกับซากหมูเป็นร้อยๆ ครั้งอย่างประสบความสำเร็จ แต่ยังไม่เคยใช้กับมนุษย์ เพราะยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย

promession ได้รับความสนใจจาก 60 กว่าประเทศโดยเฉพาะเยอรมนี อังกฤษ เวียดนาม แอฟริกาใต้ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา (รัฐแคลิฟอร์เนีย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีใต้ ซึ่งมีการออกกฎหมายยอมรับวิธีการฝังแบบใหม่นี้แล้ว

อุปสรรคของเธอที่ทำให้ promession เคลื่อนไหวไปได้ช้าถึงแม้หลายหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมสนใจเป็นอย่างมากก็คือ การกีดกันของผู้ประกอบธุรกิจเผาและฝังศพคนตายทั้งหลายในโลก เนื่องจากตระหนักดีว่าหาก promession ได้รับการยอมรับแล้วก็จะกระทบธุรกิจของพวกเขาเป็นอย่างมาก

promession ช่วยสร้าง “โลกสีเขียว” หลายประการดังต่อไปนี้ (ก) ไนไตรเจนเหลว เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตออกซิเจน และเมื่อระเหยก็หายไปในชั้นบรรยากาศอย่างไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ข) สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมของโลกน้อยกว่าการฝังและการเผา ทั้งในแง่มุมของการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ค) สร้างการรีไซเคิล โดยทำให้มนุษย์มีค่ายิ่งขึ้นเมื่อตายไปแล้วโดยช่วยให้สภาพของดินมีคุณภาพดีขึ้น

ทางเลือกใหม่นี้สำหรับชาวพุทธแล้วน่าจะเป็นวิธีการที่ยอมรับได้ เพราะเปรียบเสมือนกับการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิต เมื่อชีวิตหนึ่งจากไปก็เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้งอกงามขึ้นมาแทนที่ เถ้าถ่านของตนเองสนับสนุนโลกให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ดังนั้น ชีวิตตนเองจึงไม่สูญไปหากแต่กลับมาอีกในรูปลักษณ์อื่นที่งดงาม ไม่ต่างจากชีวิตที่จากไป

 

โลกมีภาระที่หนักหน่วงมากในการจำกัดร่างไร้ชีวิตวันละเกือบ 300,000 คนอย่างไม่มีวันจบสิ้น และนับวันจะมีจำนวนมากยิ่งขึ้น โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้ร่างของผู้จากไปเป็นอุปสรรคต่อการมีชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไปของลูกหลาน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save