fbpx
“สันติวิธีของคนดื้อ” : ยีน ชาร์ป กับความรู้สันติวิธีในสังคมไทย

“สันติวิธีของคนดื้อ” : ยีน ชาร์ป กับความรู้สันติวิธีในสังคมไทย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

ข้าพเจ้าสนใจสังคมศาสตร์ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม (เพียงแต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าสิ่งที่สนใจเรียกว่าอะไร) ประเด็นที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุด คือ ‘สงคราม’

เมื่อเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้าลงเรียนวิชา ‘ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในการเมือง’ สอนโดยอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ตอนนั้นยังคงอยากรู้เพียงว่าสงครามเกิดขึ้นได้อย่างไร และไม่เชื่อว่าสันติวิธีมีน้ำยาเท่าไหร่

อยู่มาวันหนึ่ง อาจารย์ชัยวัฒน์พูดถึง ‘ประวัติศาสตร์ต้นไม้ใหญ่’ ซึ่งบดบังดอกหญ้าและไม้เล็กมิให้เราเห็น ฉันใดก็ฉันนั้น เรื่องเล่าแห่งความรุนแรงเหมือนต้นไม้ใหญ่ เพราะเราได้ยินแต่เรื่องราวของความรุนแรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราจึงคิดว่าโลกนี้มีแต่ความรุนแรง หน้าที่ขององค์ความรู้สันติวิธีคือทำให้ ‘ดอกหญ้าและไม้เล็ก’ ปรากฏ เมื่อผู้คนเห็นว่าความรุนแรงเป็นเพียงเสี้ยวส่วนของประวัติศาสตร์เท่านั้น ก็อาจเห็นว่ามีประสบการณ์แบบอื่น มีทางเลือกอื่น

ผู้คนและชุมชนใช้สันติวิธีในการรับมือความขัดแย้งตลอดห้วงประวัติศาสตร์ มิใช่ใช้แต่ความรุนแรง

วิธีคิดเช่นนี้สะท้อนร่องรอยแนวคิดสันติวิธีของยีน ชาร์ป ไม่น้อย (อ่านบทความตอนแรก) งานเขียนของชาร์ปทะลุทะลวงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมสันติวิธีในสังคมไทยที่ถูกปกคลุมไปด้วยความเข้าใจสันติวิธีแบบ ‘พุทธๆ’ ได้อย่างไร? อะไรคือผลของแนวคิด ‘สันติวิธีแบบออกศึกของชาร์ป’ ต่อขบวนการต่อสู้ภาคประชาสังคมและสันติภาพศึกษา (Peace Studies) ในเมืองไทย?

ก่อนหน้าที่งานของชาร์ปจะถูกเผยแพร่ในสังคมไทย แนวคิดเรื่องสันติวิธีถูกจัดรวมกับหลักอหิงสาของคานธี ซึ่งแยกไม่ออกจากอิทธิพลของพุทธศาสนา พระไพศาล วิสาโลบันทึกไว้ว่าท่านได้รู้จักเพื่อนๆ ซึ่งเป็นลูกศิษย์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เช่น วิศิษฐ์ วังวิญญู และพจนา จันทรสันติ คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้มักพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องที่ตนสนใจ เช่น พุทธศาสนา เต๋า จิตวิญญาณ และรหัสนัย

วันหนึ่งคุณวิศิษฐ์เชิญนิโคลัส เบนเนตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา มาแลกเปลี่ยนเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยสันติวิธี นิโคลัสได้เอ่ยถึงหนังสือ The Politics of Nonviolent Action ของชาร์ป ซึ่งชี้ว่า “ในการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เราจะชนะได้ต่อเมื่อไม่สู้ในเกมที่เขาถนัด ก็คือการใช้ความรุนแรง” ต่อมา ‘กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม’ นำโดยอาจารย์โคทม อารียา ได้ตั้งกลุ่มศึกษาสันติวิธี[1]

จากนั้นมา หนังสืออันเลื่องชื่อของชาร์ปเล่มนี้ ได้รับการกล่าวถึงในแวดวงนักเคลื่อนไหวผู้ฝักใฝ่แนวทางสันตินิยม (pacifism) แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารในช่วงปี พ.ศ. 2516 และ 2519 บางส่วนของงานเขียนของชาร์ปเริ่มถูกแปลเป็นภาษาไทย และปรากฏที่แรกในบทความ ‘ปฏิบัติการแห่งความรัก’ ตีพิมพ์ในวารสาร ปาจารยสาร ปี พ.ศ. 2517 บทความชิ้นนี้บรรยายถึงปฏิบัติการต้านสงครามเวียดนามโดยคณะสงฆ์

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็เริ่มมีการแปลงานเขียนเกี่ยวกับหลักอหิงสาของมหาตมะคานธี โดยอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ส่วนในแวดวงวิชาการ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เริ่มใช้คำว่า ‘สันติประชาธรรม’ เพื่อเสนอว่ามี ‘หนทางที่สาม’ ได้แก่ปฏิบัติการสันติวิธี ซึ่งใช้ต่อสู้กับความอยุติธรรมและระบอบเผด็จการได้ งานเขียนของอาจารย์ป๋วยอย่าง บันทึกประชาธรรมโดยสันติวิธี อนุสนธิ์ของจดหมายนายเข้ม , เป้าหมายและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย และ แนวทางสันติวิธี มุ่งโน้มน้าวฝ่ายนักศึกษาและประชาชนซึ่งเห็นว่ามีแต่ความรุนแรงเท่านั้นที่จะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจของสังคมไทยได้[2]

ในบริบทเช่นนี้ แนวคิดสันติวิธีในสังคมไทยจึงมีลักษณะผสม (hybrid) คือรวมแนวทางแบบพุทธ กระแสประชาธิปไตย และการต่อสู้ผู้มีอำนาจโดยไม่ใช้ความรุนแรงเข้าด้วยกัน

ในหนังสือ ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2533 โดยสำนักพิมพ์โกมล คีมทอง) อาจารย์ชัยวัฒน์ได้เสนอให้แยกนิยามคำว่า ‘อหิงสา’ ออกจาก ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง’ (ซึ่งต่อมาอาจารย์ใช้คำว่า ‘สันติวิธี’ แทน เพราะ ‘ป๊อป’ กว่า) เพราะแนวคิดแบบแรกสัมพันธ์ลึกซึ้งกับมิติทางศาสนธรรมและจิตวิญญาณ ผู้ดำเนินรอยตามหลักอหิงสามุ่งหมายพัฒนาจิตใจตนให้บริสุทธิ์เพื่อต่อสู้กับพลังแห่งอธรรม อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมิได้เรียกร้องให้ผู้ใช้ต้องยึดมั่นในศีลธรรมหรือใช้เพราะ ‘รักเพื่อนมนุษย์’ แต่เป็นปฏิบัติการทางการเมืองซึ่งมุ่งเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ใช้และอีกฝ่าย[3]

วิธีคิดเช่นนี้ของอาจารย์ชัยวัฒน์ พัฒนาขึ้นสมัยศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาย อาจารย์ผสานความสนใจด้านปรัชญาการเมืองเข้ากับปฏิบัติการไร้ความรุนแรง โดยเขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ The Nonviolent Prince วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้มีความประหลาดมหัศจรรย์หลายอย่าง เพราะพยายามตีความงาน The Prince (เจ้าผู้ปกครอง) ของนักปรัชญาชาวอิตาลีผู้ทรงอิทธิพล นิโคโล มาคีอาเวลี เสียใหม่ ข้อเสนอหลักคือในความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง ฝ่ายแรกมักใช้ความรุนแรง เพราะเห็นว่าเป็นหนทางค้ำจุนอำนาจอันทรงพลังที่สุด ฉะนั้นเพื่อลดความรุนแรงในบริบทการเมือง ชัยวัฒน์เสนอให้ผู้ปกครองเห็นว่าปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงคือทางเลือกในการปกครองอันทรงประสิทธิภาพกว่าความรุนแรง

อาจารย์ชัยวัฒน์ใช้งานเขียนของยีน ชาร์ป ซึ่งอ่านพบเมื่อสมัยเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ช่วง 6 ตุลาฯ โดยเน้นย้ำว่า ต้องมองสันติวิธีเป็นเรื่องของประสิทธิภาพและการปฏิบัติใช้ได้ (pragmatic) มากกว่าเรื่องคุณธรรม จึงจะเห็นว่าผู้ปกครอง ‘เลือก’ ใช้วิธีดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ครึ่งหลังของวิทยานิพนธ์จึงเสนอปฏิบัติการไร้ความรุนแรงหลายรูปแบบซึ่งผู้ปกครองควรนำไปใช้ (อีกนัยหนึ่ง วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้จึงเป็นเสมือนคู่มือด้านกลับของ เจ้าผู้ปกครอง นั่นเอง) หลายวิธีที่เสนอหวือหวาและอาจพาผู้คนให้งวยงงเพราะไม่ตรงกับความเข้าใจสันติวิธีแบบศีลธรรม[4] ในปี 2524 หนังสือ The Politics of Nonviolent Action ทั้งสามเล่มถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยมีพระไพศาล (หรือไพศาล วงศ์วรสิทธิ์ ในขณะนั้น) เป็นบรรณาธิการแปล ส่วนชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสันต์ หุตะแพทย์เป็นผู้แปลหลัก

เมื่อกลับมาสอนหนังสือที่เมืองไทย อาจารย์ชัยวัฒน์ได้เปิดวิชา ‘ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในการเมือง’ เป็นครั้งแรกในแวดวงรัฐศาสตร์ไทย วิชานี้สอนสันติวิธีแบบชาร์ป แต่ขณะเดียวกันก็เสนอให้นักศึกษาทำความเข้าใจพลวัตของความรุนแรงและสันติภาพด้วย หลักสูตรเช่นนี้ต่างจากสันติภาพศึกษา ซึ่งสอนในสถาบันด้านสันติศึกษาหลายแห่งในไทย[5]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 อาจารย์ร่วมจัดงานประชุมด้านสันติภาพเป็นครั้งแรกในวันสันติภาพ โดยมีนักวิชาการด้านยุทธศาสตร์การทหารและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ซึ่งเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลานั้น) เข้าร่วมด้วย[6] ในงานนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์ได้พยายามเชิญยีน ชาร์ปเข้าร่วม แต่ชาร์ปติดงานมาไม่ได้ ทว่าในจดหมายตอบกลับ ชาร์ปถามชัยวัฒน์ว่า “มีแผนอะไรบ้างหรือไม่ในการป้องกันรัฐประหารในไทยในอนาคต?”

สามปีให้หลัง ยีน ชาร์ปมาเมืองไทยตามคำเชิญของอาจารย์ชัยวัฒน์ และบรรยายเกี่ยวกับปฏิบัติการไร้ความรุนแรงให้ที่ประชุมรัฐสภาฟัง อาจารย์ชัยวัฒน์เล่าว่า ผลสำคัญของการเยี่ยมเยือนครั้งนั้นต่อการเมืองไทยคือรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ระบุให้ประชาชนต่อต้านรัฐประหารได้อย่างชอบธรรมในมาตรา 65 และมาตรานี้ยังคงปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2550 ในแง่นี้ “เรามีรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้คนต่อต้านรัฐประหารด้วยสันติวิธี”[7]

แนวคิดแบบชาร์ปยังส่งผลต่อขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนไทยอย่างสำคัญ ก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่นาน งานเขียนชิ้นสำคัญของชาร์ป From Dictatorship to Democracy ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และผู้ชุมนุมในปี 2535 ได้ศึกษาตำรานี้อย่างละเอียด ขณะเดียวกันศูนย์ข่าวสารสันติภาพซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2532 ได้ผลิตและแจกจ่ายเอกสาร ‘เคล็ดลับสันติวิธี 19 ประการ’ ให้แก่ผู้ชุมนุม แม้เกิดเหตุการณ์รุนแรงโดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลทหาร ทว่าฝ่ายผู้ชุมนุมโดยมากยึดมั่นในสันติวิธี[8]

ในช่วงนี้เอง นักฝึกอบรมสันติวิธีอย่าง นารี เจริญผลพิริยะ ได้เริ่มเผยแพร่เทคนิคการเจรจาและการรับมือความรุนแรงจากรัฐ โดยใช้งานของยีน ชาร์ปบางส่วน ศิษย์เอกคนหนึ่งของนารีคือกิตติชัย งามชัยพิสิฐ ซึ่งต่อมาสนใจอ่านงานของยีน ชาร์ปอย่างจริงจัง เขาเห็นว่าหนังสือของชาร์ปเชื่อมโยงปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเข้ากับฐานคิดเรื่องอำนาจ มิตินี้ต่างจากแนวทางศาสนาที่ “มุ่งอุดมคติ ความดี ความอุทิศตนของมหาบุรุษ” ซึ่งถือเป็นสันติวิธีกระแสหลักในไทย[9]

ในช่วงปี พ.ศ. 2538 ถึง 2545 ซึ่งเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการพัฒนาของรัฐในชุมชนบ่อยครั้ง บุคคลทั้งสองซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากชาร์ป ได้ฝึกอบรมสันติวิธีให้แก่นักเคลื่อนไหวจำนวนมาก งานฝึกอบรมบางส่วนจัดโดยศูนย์ข่าวสารสันติภาพ ซึ่งผสานองค์ความรู้สันติวิธีแบบชาร์ปเข้ากับความรู้เรื่องการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (conflict transformation) จุดเน้นย้ำสำคัญคือในความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้าน อำนาจของสองฝ่ายไม่เท่ากัน ฉะนั้นหน้าที่ของปฏิบัติการสันติวิธีคือ ทำให้รัฐเห็นว่าชาวบ้านรบกวนการทำงานของรัฐได้ (โดยไม่ใช้ความรุนแรง) หากรัฐไม่ยอมเจรจาหรือรับข้อเสนอของชาวบ้าน สันติวิธีจึงช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองให้ชาวบ้านในความขัดแย้งแบบ ‘อสมมาตร’ เช่นนี้

ร่องรอยของแนวคิดสันติวิธีแบบชาร์ป ปรากฏในการต่อสู้ทางการเมืองของทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้หลายฝ่ายเห็นว่าทั้งสองสีใช้ความรุนแรงปะปน แต่ในภาพรวม สันติวิธียังถือว่ามีความถี่สูงกว่า[10] กระนั้นก็ดี วิกฤตความขัดแย้งในบ้านเรายังเผยให้เห็นปัญหาของแนวคิดสันติวิธีแบบชาร์ป กล่าวคือ การใช้สันติวิธีเป็นเครื่องมือทางการเมืองหนึ่งท่ามกลางเครื่องมือแบบอื่น เพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม อาจยิ่งตอกลิ่มความขัดแย้งให้สังคมแบ่งออกเป็นสองเสี่ยงดังที่เราเผชิญมาหลายปี อีกทั้งสันติวิธีที่ปราศจาก ‘วิสัยทัศน์ทางการเมือง’ ไร้อุดมคติที่นำพาผู้ใช้สันติวิธีให้ร่วมสร้างอนาคตการเมืองแบบสร้างสรรค์ร่วมกัน ก็อาจบั่นทอนสังคม หลักสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยได้

นอกจากนี้ สันติวิธียังอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือแทรกแซงทางการเมืองโดยมหาอำนาจเพื่อเปลี่ยนระบอบการเมือง ดังที่เกิดในยูเครน และบางประเทศในโลกอาหรับได้

ด้วยเหตุนี้เอง งานศึกษาสันติวิธีในช่วงหลังจึงพยายามวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวและปรับเปลี่ยนแนวคิดแบบชาร์ป งานของข้าพเจ้าว่าด้วยอารมณ์ขันและสันติวิธีต้องการชี้ให้เห็นว่า สันติวิธีต้องประคองอารมณ์ของผู้ประท้วงมิให้โกรธเกลียดฝ่ายตรงข้าม ส่วนงานศึกษาของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ในต่างประเทศเชื่อมโยงการสร้างสันติภาพ (peacebuilding) กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางทรัพยากร และปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเข้าด้วยกัน[11]

ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นธรรมดาที่คนรุ่นใหม่อาจเห็นทั้งคุณค่าและปัญหาของวิธีของคนรุ่นก่อน จึงพยายามพัฒนากรอบคิดซึ่งตอบโจทย์สังคมร่วมสมัย ชาร์ปคิดทำนองนี้เช่นกัน  เมื่อมีคนถามว่าเหตุใดชาร์ปจึงไม่เคยทำงานวิจัยเรื่องสันติวิธีกับความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ชาร์ปตอบว่า

“ผมกรุยทางทางทฤษฎีให้แล้ว เป็นหน้าที่ของพวกคุณที่ต้องพัฒนาองค์ความรู้นี้ต่อไปเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น”

 

เชิงอรรถ

[1] ไพศาล วิศาโล, “สองทศวรรษกับ ส. ศิวลักษณ์,” ใน ลอดลายผ้าม่วง, อุทัย ดุลยเกษม (บ.ก.) (กทม.: เคล็ดไทย, 2536), หน้า 497, 504-505.

[2] จันจิรา สมบัติพูนศิริ, “สันติวิธีและสังคมที่ปรารถนา,” ใน ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน, ประจักษ์ ก้องกีรติ และ ปกป้อง จันวิทย์ (บ.ก.) (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2559), หน้า 147-178.

[3] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (ฉบับปรับปรุงใหม่) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ของเรา, 2557), หน้า 113-114.

[4] Chaiwat Satha-Anand, “The Nonviolent Prince,” PhD Thesis, Manoa: University of Hawaii, 1981. ดู Carool Kersten, “Machiavelli or Gandhi: Chaiwat Satha-anand’s Nonviolence in a Comparative Perspective,” Thammasat Review 13(1) (2009): 75-88; และ https://prachatai.com/journal/2014/02/51820.

[5] ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์, “สำรวจองค์ความรู้สันติศึกษาและการฝึกอบรมสันติวิธีในสังคมไทย,” ใน พื้นที่สันติวิธี/หนทางสังคมไทย: ความรู้ ความลับ ความทรงจำ, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บ.ก.) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ของเรา, 2558), หน้า 1-28.

[6] พูลยรัตน์, “สำรวจองค์ความรู้สันติศึกษาและการฝึกอบรมสันติวิธีในสังคมไทย,” หน้า 2. ดูบทความโจมตี Pakdee Tanapura. 1985. “ ‘Peace movement’ launched in Thailand as Soviets up the pressure on Japan.” Executive Intelligence Review, September 20: 32-3.

[7] บทสนทนาส่วนตัว วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561.

[8] Chaiwat Satha-anand, “Imaginary in the 1992 Nonviolent Uprising in Thailand,” in Nonviolent social movement: a geographical perspective, ed. Stephen Zunes, Sarah Beth Asher and Lester Kurtz (Oxford: Wiley-Blackwell), หน้า 158-173.

[9] บทสนทนาส่วนตัว วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561.

[10] ดูตัวอย่างเช่น โครงการยุทธศาสตร์สันติวิธีสำหรับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21, “บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553,TRF FORUM, ปีที่ 6, ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2554).

[11] Janjira Sombatpoonsiri, Humor and Nonviolent Struggle in Serbia (New York: Syracuse University Press, 2015); Petter Grahl Johnstad, “Nonviolent Democratization: A Sensitivity Analysis of How Transition Mode and Violence Impact the Durability of Democracy,” Peace & Change 35(3) (2010): 464-82; Markus Bayer, Felix S. Bethke and Daniel Lambach, “The democratic dividend of nonviolent resistance,” Journal of Peace Research 53(6) (2016): 758-71; Veronique Douduet, Power to Peace: Integrated Civil Resistance and Peacebuilding Strategies, International Center on Nonviolent Conflict Special Report Series No. 1, April 2017; Elizabeth A. Wilson, People Power Movements and International Human Rights: Creating a Legal Framework, International Center on Nonviolent Conflict, July 2017.

Kurt Schock, ‘Defending and Reclaiming the Commons through Nonviolent Struggle,’ in Nonviolent Alternative for Social Change, ed. Ralph Summy (Oxford: UNESCO, 2009), 183-201.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save