fbpx
โรงพยาบาลแห่งอนาคต

โรงพยาบาลแห่งอนาคต

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในหลากหลายด้านโดยเฉพาะด้านไอที ไบโอเทค และค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นในด้านบริการสาธารณสุขของภาครัฐและประชาชน โรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งคาดได้ว่าจะเป็นแนวโน้มของโรงพยาบาลของบ้านเราในอนาคตด้วย

ในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข ทั้งของภาครัฐและประชาชน ตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ในปี 2014 ซึ่งถูกปรับให้สะท้อนสภาวะเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ในสกุลเหรียญสหรัฐ บอกข้อมูลที่น่าสนใจ

ค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุขทั้งหมดต่อหัวของประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 272 เหรียญสหรัฐ ในปี 2011 เป็น 950 เหรียญสหรัฐในปี 2014 (เขียนสั้นๆ ว่า 272/950) หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

ในขณะที่ตัวเลขของประเทศอื่นๆ มีดังนี้ สิงคโปร์ (984/4,047) มาเลเซีย (425/1,040) ฟิลิปปินส์ (104/329) อินโดนีเซีย (107/299) จีน (146/731) ญี่ปุ่น (2,055/3,727) และสหรัฐอเมริกา (5,140/9,403)

ส่วนตัวเลขสัดส่วนค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขทั้งหมดต่อของ GDP คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ในปี 2014 ได้แก่ ไทย (4.1) สิงคโปร์ (4.9) มาเลเซีย (4.2) สหรัฐอเมริกา (16.5) ฝรั่งเศส, สวีเดน, เยอรมัน, เนเธอร์แลนด์ (11) อังกฤษ (10) ออสเตรเลีย, อิตาลี (9) เกาหลีใต้ (7) ญี่ปุ่น (10.2) และค่าเฉลี่ยของ OECD คือ 8.9

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทุกประเทศที่ปรารถนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในแง่ของบริการสาธารณสุขสูงขึ้นนั้นล้วน “หนักหนาสาหัส” ในภาระด้านงบประมาณด้วยกันทั้งนั้น ระบบบริการสาธารณสุขไม่ว่าอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ มีปัญหาเพราะค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ไม่ว่าค่าจ้าง ค่าวัสดุ ค่าเครื่องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ฯลฯ สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดหวังของประชาชนว่าภาครัฐจะต้องดูแล “ทั้งหมด” หรือช่วยออกเงินสนับสนุนให้เป็นส่วนใหญ่

ระบบบริการสาธารณสุขของไทยที่เรียกกันว่า “30 บาท รักษาทุกโรค” (ปัจจุบันไม่ต้องเสียแม้แต่ 30 บาท เพราะเลิกเก็บเงินไปตั้งแต่สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว) หรือ “บัตรทอง” หรือชื่อทางการว่า “โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ถือได้ว่าพิเศษกว่าหลายประเทศ เราเป็นประเทศตัวอย่างที่มีผู้ต้องการเลียนแบบจำนวนมาก แต่เพียงรายจ่ายแค่นี้เราก็ตกใจกันมากแล้ว (หากเราไม่ยอมจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นแล้ว ระบบนี้จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างไร)

เรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของการให้บริการที่ต้องแก้ไข แต่แค่มาถึงตรงนี้ ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากแล้ว เพราะได้รับความสบายใจในระดับหนึ่งว่าไม่ต้องเอาทรัพย์สินเงินทองที่สะสมมาตลอดชีวิตไปเสี่ยงแขวนไว้กับสุขภาพของครอบครัว อย่างไรเสียก็ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายเงิน

ส่วนใหญ่ของค่าใช้จ่ายต่อหัวด้านบริการสาธารณสุขของประชาชนมาจากภาครัฐ ตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงเวลา 10 กว่าปี และสัดส่วนใน GDP ที่สูงขึ้น เร่งให้ภาครัฐในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสร้างนวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะในรูปแบบของโรงพยาบาลโดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี

ก่อนที่จะกล่าวถึงโรงพยาบาลในอนาคต ขอเอา “มะพร้าวห้าวมาขายสวน” (ถ้าเรียกให้มีรอยยิ้มก็คือ “สอนสังฆราชให้ว่ายน้ำ” หรือ “สอนหนังสือจระเข้”) แยกให้ดูประเภทของบริการสาธารณสุขซึ่งดำเนินอยู่ทั่วโลกในขณะนี้

ประเภทแรกเรียกว่า Primary Healthcare คือการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยพื้นฐาน ปวดหัว ตัวร้อน บาดเจ็บ ติดเชื้อ เป็นแผล ให้คำแนะนำวางแผนครอบครัว คลอดลูก ฯลฯ ซึ่งเป็นกรณีเจ็บป่วยส่วนใหญ่ของคนไปโรงพยาบาลเพื่อรับบริการ

ประเภทที่สอง Secondary Healthcare คือเมื่อได้รับการแนะนำหรืออ้างมาจาก Primary Healthcare ว่าสมควรได้รับการตรวจรักษา หรือรับคำแนะนำที่ลึกซึ้งขึ้นโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับผู้ป่วยเสมอไป (จิตแพทย์ นักจิตวิทยา กายภาพบำบัด ฯลฯ ก็รวมอยู่ในนี้)

ประเภทสุดท้าย Tertiary Healthcare คือเมื่อมีการระบุและอ้างจาก Secondary และจาก Primary Healthcare ว่าต้องให้ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและรักษาเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา ผ่าตัด บำบัด รวมถึงสภาวการณ์โรคที่ซับซ้อน เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ

สถานการณ์ปัจจุบันส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งประเทศไทย (เว้นประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ) ก็คือคนป่วยจำนวนมากไปโรงพยาบาลที่มีหมอเชี่ยวชาญให้บริการ Tertiary เพื่อรักษาโรค “ธรรมดา” ที่อยู่ในระดับ Primary Healthcare ดังนั้นโรงพยาบาลจึงมีคนไข้จำนวนมากที่ไม่จำเป็นต้องมาถึงหมอผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

การรักษาพยาบาลชนิดที่ต้องรับคนไข้ล้มหมอนนอนเสื่อนอนโรงพยาบาลนั้นมีต้นทุนสูงมากในการดูแล ยิ่งถ้าเป็นคนป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (เช่น มะเร็ง โรคเรื้อรังต่างๆ ผู้สูงอายุที่ช่วยตนเองไม่ได้) ค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐต้องเป็นผู้แบกรับภาระที่หนักอึ้งนี้โดยใช้ภาษีอากรของประชาชน

คนป่วยจำนวนมากไม่จำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาล สามารถนอนพักรักษาตัวที่บ้านได้ภายใต้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และผู้คนอีกจำนวนมาก หากดูแลสุขภาพตนเองดีแล้ว ไม่จำเป็น (ไม่ต้องการด้วย) ต้องเฉียดมาโรงพยาบาลเลย (ยกเว้นพาพ่อแม่มารักษา) เส้นทางนี้แหละที่จะทำให้โรงพยาบาลในอนาคตมีหน้าตาแปลกออกไป

นิตยสาร The Economist เล่าเรื่องรูปแบบใหม่ของโรงพยาบาลที่กำลังก่อตัวขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในเมือง Cleveland รัฐ Ohio  โรงพยาบาลแห่งอนาคตเปรียบเสมือนหอบังคับการบิน มีหมอ พยาบาล บุคลากรเทคนิคการแพทย์ เฝ้าจอติดตามสัญญาณชีพและสถานะความเจ็บป่วยของร่างกายคนไข้ในระดับที่ต้องอยู่ในห้อง ICU ทีมนี้ติดตามอาการคนไข้ 150 คน  ซึ่งกระจายอยู่ไปทั่วในคลินิกหลายแห่งในหลายพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป คลินิกเหล่านี้ไม่มีเครื่องมือทันสมัยและไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถติดตามดูแลได้ตลอดเวลา

ทีมงานติดตามดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ส่งคำสั่งให้ยาไหลเข้าสู่ร่างกาย หากเกิดความผิดปกติก็สามารถเตือนแต่ละคลินิกผ่านการทำงานของระบบไอที ความก้าวหน้าทางการแพทย์กับระบบไอทีผสมผสานกันจนทำให้การดูแลห้อง ICU ระยะไกลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง สามารถลดต้นทุน และลดการลงทุนไปได้อย่างมาก

กลุ่ม Cleveland Clinic ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ดูแลคลินิกเหล่านี้ กำลังปรับโรงพยาบาลของกลุ่มไปสู่การทำให้คนป่วยไปโรงพยาบาลเฉพาะการหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบด้วยเครื่องมือราคาแพง และการรักษาพยาบาลด้วยการผ่าตัด ฉายแสง ติดตามเฝ้าดูอาการเจ็บป่วย ฯลฯ เท่านั้น

ระบบความเร็วสูงของอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีตรวจติดตามคนไข้ระยะไกล ซึ่งเก็บสะสมข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของคนไข้ทั้งหมด ทำให้แพทย์สามารถตรวจอาการเจ็บป่วยโดยคนไข้อยู่ที่บ้าน และต่อเมื่อแพทย์เห็นว่าควรเข้ามาตรวจเพิ่มเติมเท่านั้นจึงเดินทางมาโรงพยาบาล

ภาพของโรงพยาบาลธรรมดาในอนาคต คือการมีห้องที่มีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และพูดโทรศัพท์ผ่านสมาร์ทโฟนกับคนไข้และแพทย์ประจำจุดให้บริการ โรงพยาบาลมีเครื่องมือตรวจร่างกายทันสมัย มีห้องตรวจติดตามอาการ หลังผ่าตัดระยะสั้น และมีห้องฉุกเฉินเท่านั้น โรงพยาบาลขนาดใหญ่แบบรักษาตั้งแต่ Primary ยัน Tertiary ดังเช่นปัจจุบันจะไม่มีในอนาคต

การตรวจสัมผัสคนไข้ดังที่เคยมีมานานและเป็นสิ่งจำเป็นจะมีความจำเป็นน้อยลงเพราะข้อมูลจำนวนมหาศาลของคนไข้ (ข้อมูลคนไข้ ประวัติความเจ็บป่วย ข้อมูลที่ได้จากการตรวจเลือด จากเครื่องมือตรวจคลื่นสมองหัวใจและเส้นเลือด ภาพของอวัยวะภายใน ฯลฯ) ที่ได้มาจากการดำเนินงานระยะไกล จะถูกวิเคราะห์โดยซอฟต์แวร์โปรแกรมที่ทันสมัย (เช่น อ่านฟิล์มที่ได้มาจากครื่องตรวจอย่างแม่นยำแทนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและให้คำแนะนำ) เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์ตัดสินใจได้อย่างคมชัดยิ่งขึ้น

แนวคิดของโรงพยาบาลสมัยใหม่บอกเราว่า บ้านคือสถานที่รักษาพยาบาลที่ดีที่สุด ทั้งสะดวก ราคาถูก เพราะอาศัยเป็นปกติอยู่แล้ว อีกทั้งดีในแง่จิตใจอีกด้วย คนไข้รับคำแนะนำจากแพทย์ในการรักษาความเจ็บป่วยผ่านโทรศัพท์มือถือ เฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้นที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่เพราะรับเฉพาะบริการ Tertiary เป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

สำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง คนไข้ป่วยเรื้อรัง คนไข้พักฟื้น ฯลฯ อยู่ที่บ้านเป็นปกติโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะรับข้อมูลไปวิเคราะห์ติดตามดูแลสุขภาพตลอดเวลา รวมไปถึงการให้ยาโดยอัตโนมัติกรณีนอนติดเตียงอีกด้วย

การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของโรงพยาบาลในอนาคตจะทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเพราะความแม่นยำในการวิเคราะห์สมุฏฐานของความเจ็บป่วย และการรักษาความสะดวก เพราะไม่ต้องเดินทางและรอเป็นเวลานาน อีกทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวยังลดต่ำลงด้วย

โรงพยาบาลในอนาคตดังกล่าวจะเกิดขึ้นทีละขั้นตอนในบ้านเราด้วยทิศทางเช่นว่านี้ แต่ไม่ว่าจะดูดีอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการพยายามไม่ข้องแวะกับการป่วยไข้และโรงพยาบาลให้มากที่สุด ด้วยการดูแลสุขภาพเสียแต่ในวันนี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save