fbpx
วิญญาณขบถของลูกผู้ชายชื่อ เฟื้อ หริพิทักษ์

วิญญาณขบถของลูกผู้ชายชื่อ เฟื้อ หริพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

 

กระแสละครทีวี ‘บุพเพสันนิวาส’ ดูเหมือนจะทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจเรื่องราวในอดีตของไทยมากขึ้น

จะเป็นแค่ลมเพลมพัด หรือจริงจังเพียงใด คงต้องติดตามกันต่อไป

แต่มีผู้ชายคนหนึ่ง อุทิศทั้งชีวิตเพื่อฟื้นฟูศิลปะไทย ที่แทบจะสูญหายไปตามกาลเวลาให้กลับมาใหม่

เฟื้อ หริพิทักษ์ ตายไปแล้วเมื่อ 25 ปีก่อน

หลายคนอาจรู้จักอาจารย์เฟื้อในฐานะครูบาอาจารย์ที่มีผลงานด้านศิลปะไทยมากมายจนได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติในปี 2528

คนในวงการศิลปะอาจรู้จักอาจารย์เฟื้อในฐานะผู้บุกเบิกงานศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ยุคแรกๆ ของเมืองไทย ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลเหรียญทองจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติถึง 3 ครั้งด้วยกัน

คนในวงการอนุรักษ์อาจรู้จักอาจารย์เฟื้อในฐานะผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์จิตรกรรมภาพฝาผนังไทยอย่างจริงจัง จนได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ปี 2526

แต่เหนืออื่นใด ท่านคือผู้ทำงานศิลปะที่มีชีวิตเยี่ยงศิลปินอย่างแท้จริง

ช่วงชีวิตกว่า 80 ปีของอาจารย์เฟื้อ ยิ่งใหญ่ในสายตาของคนรู้จัก ชีวิตที่ผ่านโลกมาโชกโชน เหมือนเรือล่องในทะเลผ่านมรสุมความทุกข์ยากมาตลอดชีวิต มีทุกข์มีสุข หลากหลายอารมณ์คละเคล้าราวกับตัวละครที่โลดแล่นในนิยายเล่มโต เป็นชีวิตที่มีรสชาติ มีสีสันราวกับภาพอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ปาดป้ายสีอันหนักแน่นรุนแรงลงบนผืนผ้าใบ

เป็นคนธรรมดาที่มีวิญญาณขบถ ที่น้อยคนในสังคมไทยยุคก่อนและยุคนี้จะแสดงความกล้าออกมาเฉกเช่นท่าน เป็นวิญญาณขบถที่ต่อมามีคุณูปการแก่สังคมไทยอย่างมหาศาล

ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสพูดคุยกับท่านก่อนจะเสียชีวิตไม่นาน ในห้องแถวเก่าๆ แถวซอยโรงเลี้ยงเด็ก มีเพียงโต๊ะเก่าๆ กองกระดาษวาดภาพ ตู้เอกสารคร่ำครึ และเตียงนอนเล็กๆ สีขาวสะอาดตา

“ผมเห็นภาพอดีตชัดเจน สิ่งที่ผมจะเล่าคือ การปลงอนิจจัง” เฟื้อ หริพิทักษ์ เริ่มต้นบทสนทนา

 

ยายของผม

 

“ผมรักยายผมมากที่สุด มากกว่าใครๆ ยายเลี้ยงผมมาตั้งแต่เกิด เราอยู่กันสองคนยายหลานที่บ้านหลังวัดสุทัศน์ ยายเป็นยิ่งกว่าแม่”

เมืองเพชรบุรีเมื่อราวร้อยปีก่อน ผู้คนยังนิยมสัญจรและค้าขายกันทางน้ำ สองฟากฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีมีเรือแพและบ้านทรงไทยขนาดใหญ่ปลูกกันเรียงราย หนึ่งในบ้านเหล่านั้นคือบ้านของคุณยายทับทิม

“ครอบครัวของยายมีฐานะดี อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมาช้านาน จนกระทั่งคุณตาเจ็บหนักเป็นโรคฝี พอใกล้จะตายก็มาสั่งเสียยายว่า อย่าอยู่เลยเมืองเพชร ท่านเป็นห่วงลูกๆ ที่กำลังโตเป็นสาว สมัยนั้นมีพวกมีพวกชอบทำเสน่ห์ยาแฝด ใช้น้ำมันพรายมาทำเสน่ห์สาวในหมู่บ้านให้หลงมัน พอสิ้นคุณตา ความสุขถูกขับไล่ ความทุกข์ก็บังเกิด ยายให้น้องสาวดูแลบ้านแทน แล้วยายก็ซื้อเรือลำใหญ่มีประทุน บรรทุกน้ำตาลเพชรล่องขึ้นมาค้าขายที่กรุงเทพฯ อพยพลูกสาวลงเรือมาด้วย”

ปากคลองวัดราษฎร์บูรณะในสมัยนั้น คือทำเลสำคัญที่เรือบรรทุกน้ำตาลจากเมืองเพชรมักจะแวะผ่านเป็นประจำ ก่อนจะมุ่งหน้าขึ้นไปค้าขายทางเหนือ

กาลเวลาผ่านไป ลูกสาวทั้งสามก็ทยอยกันออกเรือนขึ้นฝั่ง น้ายิ้มไปได้กับเจ้าเมืองหลังสวน แต่ชีวิตก็ทุกข์ยาก เมื่อมารู้ทีหลังว่ากินน้ำใต้ศอกของคนอื่น ฝ่ายน้าแย้มก็ไปแต่งงานกับนายทหารยศร้อยโทแห่งเมืองโคราช ส่วนลูกสาวคนโตก็ได้มาพบกับนายเปล่งที่ปากคลองวัดราษฎร์บูรณะ ในเวลานั้นนายเปล่งเป็นมหาดเล็กกรมช่าง ได้รับใช้ใกล้ชิดเป็นที่โปรดปรานของในหลวงรัชกาลที่ 6

“พ่อผมเป็นลูกชาวสวนฐานะดีอยู่ที่นั่น มาติดพันแม่เพราะบ้านอยู่ใกล้กับแพของยาย ตอนนั้นท่านเป็นมหาดเล็กกรมช่าง ตอนนั้นแม่ท้องผมได้หกเดือน พ่อตายตั้งแต่ผมยังไม่เกิด”

เวลานั้นแม่และยายยังอาศัยอยู่ที่เรือนแพ ด.ช.เฟื้อจึงเกิดบนแพ หน้าโบสถ์วัดราษฎร์บูรณะ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ปี 2453

หลังจากนั้นไม่นาน คุณแม่เก็บกับยายทับทิมก็อพยพจากเรือนแพมาเช่าห้องแถวอยู่หลังวัดสุทัศนเทพวรารามฯ

“แม่ผมเก่งเรื่องเย็บปักถักร้อย เพราะเคยได้วิชาในวังมาเมื่อครั้งที่ตามพ่อผมซึ่งเป็นมหาดเล็กเข้าไปอยู่ในวังด้วยกัน แม่ได้งานที่ห้างบีกริมแอนด์โก เชิงสะพานเหล็ก จึงมาเช่าบ้านแถวหลังวัดสุทัศน์ ต่อมาน้ายิ้มที่ได้กับเจ้าเมืองหลังสวนก็หนีมาคลอดลูกกับยายที่นี่ เอาหลานมาให้ยายเลี้ยง น้ายิ้มนี่ยายรักมาก เป็นคนดี อ่อนหวาน แต่อยู่ได้ไม่นานก็ตาย เช่นเดียวกับน้าแย้มที่มาคลอดลูกกับยายแล้วก็ตายตอนคลอด”

และเมื่อ ด.ช.เฟื้อ อายุได้เพียงเจ็ดขวบ คุณแม่เก็บก็ล้มป่วยและเสียชีวิตไปอีกคนด้วยโรคลำไส้อักเสบ ทิ้งลูกชายคนเดียวไว้ให้ยายเลี้ยง

สิ้นพ่อ สิ้นแม่ สิ้นน้าสาว เหลือเพียงยายที่คอยดูแลให้ความรักและความอบอุ่น แม้ความยากจนจะมาเยือนที่ริมรั้ว แต่คุณยายทับทิมก็ตั้งใจส่งเสียให้หลานชายได้มีการศึกษา ด.ช.เฟื้อเองก็ไม่ได้ทำให้ยายผิดหวังแม้แต่น้อย ที่หนึ่งของชั้นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ ด.ช.เฟื้อ นับตั้งแต่ชั้นประถมที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ จนมาจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชบพิธ

“ยายมีลูกก็พรากจากกันไปหมด เหลือหลานไว้ดูต่างหน้า น้ายิ้มตายอายุไม่เท่าไหร่ ตอนน้าแย้มตาย ผัวที่เป็นทหารร้องไห้เสียใจมาก พอแม่ตาย ผมจึงอยู่กับยายสองคน ยายก็สู้รับจ้างเย็บผ้าสบง จีวร เย็บมุ้ง เอาไปส่งร้านค้าที่เสาชิงช้า”

“ผมจำได้ว่า ยายเข้าวัดเสมอ ยายสอนให้ผมทำบุญใส่บาตร บ้านผมอยู่หลังวัด ผมชอบเดินไปวัดสุทัศน์ ตอนเด็กๆ ยังไม่รู้ความอะไรหรอก ผมชอบเดินไปตามทางที่นำไปสู่ตัวโบสถ์ มีต้นไม้ ดอกไม้ขึ้นรายทาง สวยงามมาก เหมือนกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ผมโชคดีที่อยู่ใกล้วัด และวัดนี้ก็เป็นที่กำเนิดของศิลปะ ภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามมาก ผมคิดว่าตอนเด็กๆ ผมมีบุญที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี”

อาจารย์เฟื้อเล่าว่า ชีวิตที่วัดสุทัศน์ช่วงนี้มีส่วนทำให้ท่านเป็นคนที่สนใจปรัชญาและศิลปะในเวลาต่อมา แม้ว่าเมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้วคิดจะออกมาช่วยทำงานหาเลี้ยงชีพโดยการสมัครเป็นเสมียนรถไฟที่เมืองพิษณุโลก แต่ทำได้เพียงสองวันเท่านั้นก็ลาออกเพราะเริ่มรู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นอะไร

“ผมสงสารยายนะ ยายลำบากมาก สมัยนั้นใครเรียนจบ ม.6 ก็นับว่ามีฐานะพอควร ยายก็กัดฟันส่งเสียผมจนจบ ตอนนั้นจะเรียนต่อ ม.8 ก็ไม่ไหวแล้ว ออกจากรถไฟก็ว่าจะหันไปทางสายอาชีพ จะไปเรียนทางด้านเกษตรหรือค้าขาย แต่สุดท้ายก็หันเหมาเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อปี 2472”

ที่เพาะช่าง ชายหนุ่มนาม เฟื้อ ทองอยู่ ก็ได้เริ่มฉายแววของคนที่เกิดมาเพื่อเป็นศิลปินอย่างชัดเจน

 

วิญญาณขบถ

 

“สันดานของผมมันรุนแรง” อาจารย์เฟื้อกล่าวคำนี้ออกมาในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามถึงวิญญาณขบถอันเผยโฉมขึ้นในสถาบันศิลปะแห่งนี้

นายเฟื้อเรียนถึงปีที่ 5 แต่ก็ไม่จบ แม้ว่าจะสอบวิชาอื่นๆ จนหมดสิ้น เหลือเพียงวิชาวาดรูป นายเฟื้อไม่ยอมวาดรูปตามหลักสูตรของโรงเรียน ด้วยเห็นว่าเป็นภาพที่จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา กลับเขียนภาพตามใจปรารถนา ผลก็คือสอบตก

“ผมไม่ได้วิเศษอะไรหรอก ผมแหกคอกออกมา อารมณ์ตอนนั้นมันรุนแรง เพาะช่างเขามีแนวของเขา มีแบบแผนชัดเจนตามแนวการสอนของโรงเรียนที่ต้องการผลิตนักเรียนให้เป็นครูสอนศิลปะ แต่ผมไม่ยอม ผมอยากได้ศิลปะจริงๆ”

คำพูดของหนุ่มเฟื้อซึ่งเป็นที่เลื่องลือในเวลานั้น เกิดขึ้นเมื่อตอนที่หลวงวิบูลย์ศิลปการ (บุ้นเจี่ย ลียะวณิช) อาจารย์ผู้ปกครอง เรียกนายเฟื้อเข้าไปพบ

“เธอมันโดดข้ามชั้น จะไปเอาสุดยอดได้ที่ไหนกัน ต้องทำงานอย่างละเอียดไปก่อนซีแล้วค่อยหยาบทีหลัง” หลวงวิบูลย์ฯ กล่าว

นายเฟื้อตอบกลับไปว่า “ผมว่าต้องหยาบก่อน แล้วจึงค่อยละเอียดซีครับ”

น. ณ ปากน้ำ เคยเขียนถึงการเรียนการสอนศิลปะในยุคนั้นไว้ว่า “การเขียนภาพสติลไลฟ์ (หุ่นนิ่ง) ด้วยสีน้ำมันมักจะเขียนอย่างละเอียดลออ อย่างเช่นผลเงาะนั้นก็แทบจะเก็บขนของมันทุกเส้นทีเดียว การระบายสีก็ใช้วิธีระบายซ้ำทับกันเป็นชั้นๆ ทำให้สีดูสกปรก และเป็นวิธีแบบช่างฝีมือแท้ๆ มิใช่งานศิลปะเลยแม้แต่น้อย”

แนวทางดังกล่าวเป็นเช่นเดียวกับแนวทางการสอนศิลปะในเพาะช่าง ขัดกับแนวทางอาจารย์เฟื้อ

ตอนแรกหนุ่มเฟื้อคิดจะเรียนต่ออีกปีให้จบ แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจ ออกมาเรียนเองกับอาจารย์ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) ซึ่งขณะนั้นมาเป็นอาจารย์พิเศษที่เพาะช่าง และยังเคยเป็นคนล้างพู่กันถือกระป๋องสีให้แก่ศิลปินในอังกฤษ มีโอกาสใช้ชีวิตในยุโรปเป็นเวลาถึง 20 ปีเศษ มีความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะตะวันตกมากที่สุดคนหนึ่ง

“ช่วงปีท้ายๆ ในเพาะช่าง มีอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต เป็นอาจารย์พิเศษมาสอนที่นี่ พอท่านเข้ามาก็เน้นให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างเส้นแข็งๆ กับเส้นอิสระ จิตรกรที่ดีต้องคำนึงถึงชีวิตต่างๆ ในการเขียนภาพ จะเขียนภาพผลไม้ก็ต้องจูงใจให้เนื้อผลไม้น่ากิน ไม่ว่าจะเขียนอะไรก็ต้องสอดใส่ชีวิตลงไปด้วยเสมอ”

“ท่านให้หลักของสี การใช้สี การใช้พู่กันปาดป้ายอย่างอิสระ สีที่บีบจากหลอดอย่างน่ากลัวแต่ผสมกันในที่บนผ้าใบ ครั้งหนึ่งท่านพูดสั้นๆ ว่า ‘Atmosphere’ ผมเก็บเอาไว้ร่วมสามปีจึงจะเข้าใจได้ สำคัญนะ บรรยากาศนี่สำคัญที่สุด การเขียนนี่ ถ้าสีทำไม่ถึง ไม่บรรลุผล มันก็ตาย ต้องใช้สีฆ่ากันให้ถูกจึงจะดีได้ ทั้งหมดที่อยู่ในภาพต้องประสานกันถึงจะได้ชีวิตในขณะนั้นๆ นี่เป็นแนวสำคัญที่สุดซึ่งผมใช้เป็นหลักมาสร้างสรรค์งานให้ดีขึ้น เป็นแนวใหม่ที่จะเดินต่อไป”

หลังออกจากเพาะช่างแล้ว อาจารย์เฟื้อเดินทางไปเขียนรูปทุกวัน จากซอยโรงเลี้ยงเด็กบ้านใหม่ของตัวเองไปถนนสุขุมวิทซึ่งในเวลานั้นยังเป็นท้องทุ่งสุดลูกหูลูกตา เขียนภาพแล้วนำกลับมาให้ขุนปฏิภาคฯ วิจารณ์

“ไปเที่ยววาดตามท้องทุ่ง เขียนรูปไปเรื่อย เอามาให้ท่านดูท่านก็บอกว่าอะไรผิด อะไรถูก ใช้สีไม่ดี บรรยากาศยังใช้ไม่ได้ บรรยากาศเป็นหัวใจของการเขียนแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจหรอก แต่ท่านให้ผมมากโดยเฉพาะเรื่องของการใช้สี” อาจารย์เฟื้อเล่า

 

เจ้าหญิงกับศิลปินไส้แห้ง

 

เมื่ออาจารย์ศิลป์ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม (ต่อมาคือมหาวิทยาลัยศิลปากร) บรรดาศิษย์เพาะช่างกลุ่มนี้ก็สมัครเข้าเป็นศิษย์รุ่นแรกตั้งแต่ปี 2476 แต่ขณะที่คนอื่นเรียนประติมากรรมกับอาจารย์ศิลป์ หนุ่มเฟื้อ และ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร หญิงสาวในราชสกุลสูงศักดิ์ หนึ่งในศิษย์เพาะช่างซึ่งสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมด้วย ถูกกำหนดให้เรียนวิชาจิตรกรรมกับพระสรลักษณ์ลิขิต ผู้สำเร็จการศึกษาจากยุโรป และถือว่าเป็นช่างเขียนไทยที่มีฝีมือสูงสุดในขณะนั้น

แต่แล้ว “สันดานผมมันรุนแรง” อาจารย์เฟื้อเรียนที่นี่ได้เพียงปีเดียวก็ลาออก มาขอเรียนพิเศษกับอาจารย์ศิลป์โดยตรงแทน

“ท่านสอนแบบโรงเรียนเพาะช่าง ผมเลยไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม”

เป็นอันว่าหนุ่มเฟื้อปฏิเสธระบบการศึกษาในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง ทั้งโรงเรียนเก่าและโรงเรียนใหม่ แต่ทั้งนี้อาจารย์ศิลป์เข้าใจความรู้สึกอันอ่อนไหวและรุนแรงของลูกศิษย์คนนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นถ่ายสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในผลงานอันน่าทึ่งของหนุ่มเฟื้อ จนอาจารย์ศิลป์มั่นใจว่าชายหนุ่มผู้นี้เกิดมาเพื่อเป็นศิลปินโดยแท้

ในช่วงวัยหนุ่มนี้เอง แม้หนุ่มเฟื้อจะหันหลังให้แก่การเรียนในระบบอย่างสิ้นเชิง แต่กับความรักที่ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ กลับดูคล้ายเป็นชะตากรรมซึ่งยากจะหนีพ้น …ความรักที่กลายมาเป็นความปวดร้าวของชีวิต ระหว่างหญิงสาวในราชสกุลผู้สูงศักดิ์กับศิลปินไส้แห้งนาม เฟื้อ ทองอยู่

ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร เป็นธิดาของ ม.จ.จรูญศักดิ์ กฤดากร อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เธอเกิดและเติบโตใช้ชีวิตเยี่ยงผู้ดีชั้นสูงในยุโรป จนกระทั่งเมื่อบิดาเสียชีวิตจึงกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอี

เฟื้อได้พบกับ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์เป็นครั้งแรกที่บ้านของคุณอาของเธอ คือ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร

“อาของเธอเป็นสถาปนิกใหญ่ของกรมศิลปากร ผมกับเพื่อนมักจะไปซักถามหาความรู้จากท่าน ก็มารู้จักกับถนอมศักดิ์ที่นี่ ตอนนั้นผมไม่กล้าคิดอะไร เขารวยมหาศาล แล้วเขาก็ย้ายมาอยู่เพาะช่างก็สนิทสนมกันมากขึ้น พอผมมาอยู่ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมเขาก็ตามมาอยู่ด้วย”

ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์เป็นผู้มีความรู้ชั้นยอดในสมัยนั้น และเมื่อมาเรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ได้ช่วยท่านแปลภาษาอังกฤษเป็นไทย ในช่วงที่มาเรียนจิตรกรรมกับเฟื้อ บางครั้ง ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ก็เป็นแบบให้เขาวาดรูป บางครั้งเธอก็ออกแบบลวดลายต่างๆ และให้เขาขยายแบบ ทั้งสองสนิทสนมกันจนความรักได้ก่อกำเนิดขึ้น

เธอเป็นทุกอย่างของเขา ทั้งน้ำพุแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงและให้กำลังใจ ทั้งยังมีความอบอุ่นมอบแก่เขาอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้จะรู้ดีว่าความรักของเขาและเธอมีอุปสรรคมากเหลือเกิน

“ตอนนั้นผมเช่าห้องแถวอยู่ในซอยโรงเลี้ยงเด็ก บ้านเขาอยู่ไม่ไกลคือยศเส ตรงที่เป็นโรงพยาบาลหัวเฉียวในปัจจุบันก็ที่ของเขาทั้งนั้น วันไหนที่เราไม่เจอกัน เราจะนัดกันที่ซอยข้างโรงพยาบาลโรคปอด แถวนั้นเป็นบ้านของฝรั่ง ลึกเข้าไปเป็นสุสานมุสลิม และมีทางเข้าหลังบ้านถนอมศักดิ์ เรามาเจอกันแถวนั้น ไม่ได้เห็นหน้ากันมันจะตาย”

ผู้คนเริ่มเล่าลือถึงความสัมพันธ์ของคนทั้งสองจนล่วงรู้ไปถึงหูของมารดาฝ่ายหญิง มารดาของ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ถึงกับไปโวยวายกับอาจารย์ศิลป์ และกักตัว ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ไว้บนคฤหาสน์ รอบๆ บ้านมีบ่าวไพร่คอยยืนยาม กันไม่ให้คนทั้งสองได้พบกัน กระทั่งวันหนึ่ง ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะต้องหนีออกจากบ้านมาหาคนรักให้ได้ จึงฉีกผ้าปูที่นอนมาผูกต่อกันแทนเชือก แล้วปีนออกมาทางหน้าต่าง แต่ก็พลัดตกลงมาจนกระดูกข้อเท้าแตก และถูกส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช

“ตอนนั้นแม่ของถนอมศักดิ์ต้องการให้ถนอมศักดิ์แต่งงานกับชายหนุ่มชาติตระกูลสูงคนหนึ่ง วันที่เขาไปเยี่ยมถนอมศักดิ์ผมก็ไป แต่ผมไม่กล้าเข้าไปในห้อง เขาจะพูดอะไรกันผมไม่รู้ แต่ในที่สุดถนอมศักดิ์ก็คลานออกมาหาผมข้างนอก ผมบอกว่าไปแต่งงานกับหนุ่มคนนั้นเถิด ผมไม่มีอะไร ผมไม่ดึงเขาไว้หรอก…”

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ก็ถือกระเป๋าเสื้อผ้ามาอยู่กับเฟื้อและยายที่ห้องแถวซอยโรงเลี้ยงเด็ก เป็นการปิดฉากม่านประเพณีอย่างธรรมดาที่สุด แม้ว่ามารดาฝ่ายหญิงจะบุกมาที่บ้านคุณยาย แต่ก็ไม่อาจพรากความรักของคนทั้งสองได้อีกต่อไป

ทั้งสองไปเช่าบ้านอยู่ในดงกล้วยละแวกนั้น ไปเรียนด้วยกันกลับบ้านด้วยกัน และทั้งคู่ยังได้มีโอกาสไปเขียนภาพที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์เฟื้อเล่าว่าเป็นช่วงที่สามารถผลิตงานได้ดีที่สุดจนอาจารย์ศิลป์เอ่ยปากชมเชยว่าเป็นงานที่ยอดเยี่ยมนัก โดยเฉพาะภาพพอร์เทรตของ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ ซึ่งอาจารย์เฟื้อวาดไว้เป็นจำนวนมากด้วยความรักที่มีต่อภรรยา ต่อมาผลงานเหล่านี้มีโอกาสมาจัดแสดงในงานรัฐธรรมนูญด้วย

ช่วงนั้นเอง กรมศิลปากรมีนโยบายเปิดรับศิลปินกลุ่มแรกที่จบจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมเข้ารับราชการเพื่อทำงานทางด้านจิตรกรรมและประติมากรรม ซึ่งสมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีช่างผู้ชำนาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ ต้องอาศัยนายช่างฝรั่งอย่างเดียว

“หลวงวิจิตรวาทการที่เป็นอธิบดีกรมศิลปากรสมัยนั้นเรียกผมไปพบ รู้จักกันดี เพราะท่านเคยทำงานกับหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ที่กรุงปารีสมาก่อน ท่านจะให้ผมทำงานทั้งๆ ที่ไม่จบ ท่านรู้ว่าผมไม่มีเงิน แต่ผมตอบปฏิเสธท่าน ไม่ใช่ว่าผมบ้านะ อาชีพราชการอยู่ในกรอบ แต่ผมรักอิสระ คล้ายๆ กับว่าใครบังคับไม่ได้” อาจารย์เฟื้อให้เหตุผล

ศิลปินในยุคสมัยนี้ยังพอลืมตาอ้าปากได้ แต่ศิลปินเมื่อกว่า 80 ปีก่อนจะมีชีวิตเช่นไร ในเมื่อคนสมัยนั้นยังไม่อาจเข้าใจได้ว่าคนคนหนึ่งจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยยึดอาชีพศิลปิน

ทว่าอาจารย์เฟื้อก็ยังคงเลือกที่จะทำงานศิลปะต่อไป และได้ทดลองหาเทคนิคการวาดรูปแบบต่างๆ เพื่อจะหารูปแบบที่เป็นธรรมชาติของตนเองมากที่สุด ซึ่งในที่สุดผลงานที่ท่านสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในยุคนั้นก็จัดเป็นศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์

“ถึงจะจนอย่างไรก็มีความสุข  เมียสนับสนุนให้ผมทำงานและเรียนอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะลำบากเพียงใดก็ตาม”

มุ่งสู่อินเดีย

 

 

ความรักฉันสามีภรรยาดำเนินไปเป็นเวลาห้าปี มีสักขีพยานเป็นบุตรชายหนึ่งคน นาม ด.ช.ทำนุ แต่แล้วมรสุมร้ายในชีวิตก็กระหน่ำเข้ามาในครอบครัวอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้อาจารย์เฟื้อต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ

“ผมจากเมืองไทยไปด้วยความเสียใจ เราทุกข์มาก เขาก็ทุกข์มาก” อาจารย์เฟื้อสรุปสั้นๆ

ภรรยาอันเป็นที่รักยิ่งได้เป็นผู้ออกทุนจากกองมรดกที่ได้รับเพื่อให้สามีได้เดินทางไปศึกษาต่อ ด้วยความรักและหัวใจของศิลปินที่ต้องการให้สามีได้เรียนรู้ศิลปะให้มากที่สุดแม้ว่าตัวเองจะไม่มีโอกาส

เดิมอาจารย์เฟื้อตั้งใจจะไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี แต่ระหว่างนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์ศิลป์เห็นการณ์ไกล จึงสนับสนุนให้ลูกศิษย์ของตนไปค้นหารากเหง้าศิลปวัฒนธรรมตะวันออกที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ซึ่งก่อตั้งโดยปราชญ์ใหญ่ของโลก คือ รพินทรนาถ ฐากูร

“อาจารย์ศิลป์ท่านชี้เลยให้ไปที่นี่ ท่านเขียนใบรับรองอย่างดีซึ่งไม่มีใครเขารับรองอย่างนี้ ผมไปตัวเปล่า ไม่มีประกาศนียบัตรใดๆ นอกจากใบรับรองที่อาจารย์ศิลป์ช่วยเขียนให้ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน”

ปี 2484 อาจารย์เฟื้อเริ่มต้นเดินทางไกลจากแม่สอด จังหวัดตาก ข้ามไปพม่า ลงเรือไปกัลกัตตา ประเทศอินเดีย และต่อรถไปยังศานตินิเกตัน

น. ณ ปากน้ำ เล่าถึงเรื่องนี้ว่า ตอนอยู่ที่ศานตินิเกตัน ฝีมือของอาจารย์เฟื้ออยู่ตัวแล้ว แต่ช่วงแรกๆ อาจารย์ที่นั่นยังไม่ยอมรับความสามารถของท่าน จนเมื่อมีการจัดแสดงงาน บรรดาโปรเฟสเซอร์ได้เห็นงานของอาจารย์เฟื้อก็พากันเข้าใจว่าเป็นงานของศิลปินรุ่นใหญ่ เมื่อรู้ว่าเป็นงานของอาจารย์เฟื้อจึงบอกว่าไม่ต้องมาเรียนแล้ว เพียงแค่ออกไปเขียนงานแล้วนำมาให้อาจารย์วิจารณ์เท่านั้นก็เพียงพอ

สามเดือนแรกในแดนภารตะ อาจารย์เฟื้อมีความสุขกับการเขียนภาพในธรรมชาติตามใจปรารถนา ไม่ต้องอยู่ในแบบแผนอีกต่อไป ตามปรัชญาการสอนของศานตินิเกตันที่ต้องการให้นักศึกษาได้สัมผัสกับธรรมชาติมากที่สุด

นอกจากนี้อาจารย์เฟื้อยังได้ดื่มด่ำกับศิลปะโบราณของอินเดีย มีโอกาสได้ติดตามท่านนันทะลาวโพส ผู้อำนวยการศานตินิเกตัน ไปคัดลอกลายภาพเขียนตามแหล่งโบราณสถานต่างๆ เพื่อไม่ให้คนอินเดียละทิ้งจิตรกรรมของอินเดีย จนกระทั่งภายหลังเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์เฟื้อกลับมาสนใจงานจิตรกรรมของไทยอย่างจริงจัง

“ศานตินิเกตันนี่เป็นตัวของเขาเอง สอนไม่เหมือนกับตะวันตก มีศิลปิน นักปราชญ์ ผู้รู้จากทั่วโลกมา เขาก็แลกเปลี่ยนศึกษากัน แต่เขาไม่ลืมลักษณะของตน เขาปฏิรูปที่นี่ให้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของอินเดียใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะ วิธีการศึกษาทั่วไปเขาปรับให้เข้ากับเขา สำคัญนะ…ศิลปะ ดนตรี กวี ละคร วรรณกรรม ภาษา ปรัชญา และอีกหลายอย่าง เขาคงไว้ ไม่ทิ้งหลักการ แล้วสร้างสรรค์ศิลปะของอินเดียใหม่ ขยายความไปอีก ไม่ใช่รู้เฉพาะอินเดีย เขารู้หมดทั้งโลก ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนที่ไปเรียนต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวของศิลปะต่างๆ ที่เป็นไปในโลกเขารู้ แต่ทีนี้เขาเพ่งที่จะรู้ตัวเองให้มากขึ้น ค้นหาศิลปะของเขาที่ยังไม่รู้เอาขึ้นมา”

หลังจากหลบมรสุมชีวิตที่เมืองไทยมาศึกษาต่อที่อินเดียได้ไม่นาน ก็เหมือนอสุนีบาตได้ฟาดลงมาซ้ำเติมห้วงที่เลวร้ายที่สุดของชีวิตนายเฟื้อ ทองอยู่ อีกครั้ง

โทรเลขจากเมืองไทยบอกว่าคุณยายทับทิมผู้เลี้ยงดูท่านมาแต่เด็กๆ ได้ถึงแก่กรรม อีกไม่กี่วันต่อมา โทรเลขอีกฉบับก็แจ้งข่าวว่า ภรรยาอันเป็นที่รักยิ่งและเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของท่าน ได้กลายเป็นคนเสียสติไปแล้ว

“ผมร้องไห้ทั้งคืน นั่งตัวชาไม่รู้สึกตัว ผมแทบเป็นบ้า คิดถึงอดีตที่มีแต่ความทุกข์และยังเกาะกุมมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ผมเดินไปตามท้องถนน สายฝนกระหน่ำลงมา ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฟ้าคำรามลั่นอย่างน่ากลัว ผมรู้สึกหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต”

น. ณ ปากน้ำ ซึ่งรับรู้เหตุการณ์ช่วงนั้นเป็นอย่างดี ได้เล่าเพิ่มเติมไว้ในเวลาต่อมาว่า

“พอท่านอาจารย์เฟื้อเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียให้ช่วยคุ้มครอง ทันใดนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์ ฝนฟ้าที่ตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็เงียบกริบลงอย่างกะทันหัน ฟ้าโปร่งใสราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น นับแต่นั้นมาท่านก็ยิ่งเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและสนใจศึกษาปรัชญาอินเดียอย่างจริงจัง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านสงบมากขึ้น และเปลี่ยนนามสกุลจาก ‘ทองอยู่’ มาเป็น ‘หริพิทักษ์’ อันแปลว่า นารายณ์คุ้มครอง”

เรื่องชื่อสกุลนี้ อาจารย์เฟื้อเคยกล่าวถึงไว้ว่า

“นามสกุล ‘ทองอยู่’ ไม่ใช่นามสกุลของผม เป็นของอาที่เอามาใช้แทน เพราะพ่อผมตายเสียก่อนที่จะไปขอนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 ทีนี้พอมาศึกษาเรื่องศาสนา ก็พบว่าที่สุดของที่สุดคือพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม และมีความจริงอันหนึ่งที่เป็นแก่นแท้ที่จะช่วยให้มนุษย์พ้นภัยพิบัติได้ คือ ความดี ผมเข้าใจหลักข้อนี้เลยมาใช้ ‘หริ’ ซึ่งหมายถึงพระนารายณ์ สำหรับผมนะ คนอื่นไม่รู้  ‘หริ’ ก็คือพระพุทธ องค์เดียวกัน แต่เปลี่ยนชื่อเท่านั้น”

ในช่วงเวลานั้น สิ่งที่กล่อมเกลาจิตใจให้สงบเยือกเย็น และหล่อเลี้ยงหัวใจอันแตกร้าวให้ต่อสู้กับทุกขเวทนาทั้งปวงที่ถั่งโถมลงมาได้ เห็นจะมีเพียงการทำงานศิลปะและการมุ่งมั่นศึกษาปรัชญาและศาสนาของอินเดีย

 

 

สงครามยังไม่สิ้น

 

อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ใช้ชีวิตในอินเดียเป็นเวลาหกปี แต่เป็นการใช้ชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงปีเดียว อีกห้าปีที่เหลือเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยชีวิต ภายในค่ายเชลยศึกกลางทะเลทราย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเป็นมิตรสนิทของญี่ปุ่นและเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยกับประเทศสัมพันธมิตร ดังนั้นคนไทยในอินเดียจึงจำเป็นต้องเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับคนญี่ปุ่นในค่ายกักกันเชลยศึกราชปุตานา

“ในค่ายกักกันมีคนไทยเพียงห้าหกคน หนึ่งในจำนวนนั้นก็คืออาจารย์กรุณา กุศลาสัย ร่วมกับคนญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี อีกหลายหมื่นคน มีคนตายทุกวัน ข้างนอกค่ายก็ตาย ข้างในก็ตาย ผมก็เกือบตายหลายครั้งด้วยโรคมาลาเรีย โรคบิด และโรคขาดสารอาหาร มีครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ถึงความตายจริงๆ วันนั้นผมนอนอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม จะหมดลมแล้ว ตีนเย็นขึ้นมา ความเย็นขึ้นมาตามร่างกาย ความเย็นคืออาการของความตาย ผมหายใจขัดๆ พูดไม่ได้ เย็นขึ้นมาเรื่อยๆ ตีน มือ หัว ไม่รู้สึก เย็นไปหมด มีอุ่นอยู่นิดเดียวคือที่หัวใจ เคราะห์ดีที่เพื่อนเห็นเสียก่อน เขาไปตามหมอในวินาทีนั้น หมอมาฉีดยาสักพักก็ค่อยๆ พูดได้ รู้สึกว่าชีวิตกลับคืนมาแล้ว…  เจ็บอยู่ไม่ต่ำกว่าสามปีในโรงพยาบาล”

ในค่ายกักกัน อาจารย์เฟื้อมักใช้เวลาว่างศึกษาศาสนาและโยคะ อาจารย์กำเงินก้อนสุดท้าย 700 รูปีที่ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ส่งมาให้ ซื้อหนังสือเกือบหมด โดยเฉพาะงานของท่านสวามีศิวานันทะ ฤาษีและบรมครูใหญ่แห่งอาศรมฤาษีเกศ ภูเขาหิมาลัย

“ผมอ่านแล้วติดใจ เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตทุกข์ยากของผม นอกเหนือไปจากการวาดรูปในค่ายกักกัน”

แม้ในค่ายเชลยศึก คนไทยชื่อ เฟื้อ หริพิทักษ์ ก็ยังชนะเลิศการประกวดภาพวาดภายในค่ายแห่งนี้

พอสงครามสงบลง อาจารย์เฟื้อถูกส่งตัวกลับเมืองไทยทันทีโดยเพื่อนฝูงช่วยกันเรี่ยไรเงินให้ นั่งเรือผ่านสิงคโปร์ แล้วต่อรถไฟที่หาดใหญ่ ก้าวแรกที่ย่างสู่กรุงเทพฯ ความเหงา ความว้าเหว่ ก็เข้ามาเกาะกุมหัวใจอีกครั้ง ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มียาย เขาตายกันไปหมด ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ก็จากไปอยู่กับญาติที่เมืองพระตะบอง บ้านที่เคยอยู่ก็ถูกระเบิดพังพินาศ และภาพวาดจำนวนมหาศาลเมื่อคราวไปวาดที่เชียงใหม่ซึ่งถือเป็นงานชุดที่ดีที่สุด โดยเฉพาะภาพวาดของ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ ก็ถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่านจนหมดสิ้น

“ตอนนั้นอายุ 30 กว่า กลับมามันทุกข์อย่างแสนสาหัส หมดเนื้อหมดตัว สิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าวก็ไม่มีจะกิน เพื่อนผมคนหนึ่งขอร้องให้ไปอยู่กับเขา เขาไม่รังเกียจผม ผมก็อาศัยมุดหัวนอน เช้าก็ออกไปหาอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ตอนนั้นอยู่ที่กรมศิลปากร ท่านช่วยผมมาก สตางค์ก็ให้ยืมก่อน ท่านพาไปทำงานเขียนรูปที่วัดเบญจมบพิตร เขียนรูปพระธาตุหริภุญชัย ก็พอมีกิน ผมเดินไปสนามหลวงทุกวัน กินข้าวราดแกงกะหรี่จานละบาท”

“ผมอยู่ตัวคนเดียวจริงๆ อยู่ค่ายก็โดดเดี่ยว กลับมาก็โดดเดี่ยว ดูแล้วทุเรศตัวเอง”

 

มุ่งหน้าสู่อิตาลี

 

 

เฟื้อ หริพิทักษ์ กลับเมืองไทยอย่างโดดเดี่ยว จนกระทั่งปี 2490 อาจารย์ศิลป์ก็ได้ช่วยเหลือให้ท่านได้เป็นครูช่างเขียน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งอาจารย์เฟื้อยอมรับอาชีพนี้ด้วยเหตุผลว่า “เป็นครูมีอิสระมากกว่าเป็นข้าราชการกรมศิลป์” รับเงินเดือนค่าของความเป็นครูในเวลานั้นเดือนละ 80 บาท ขณะที่ข้าวแกงจานละบาท

“อยู่อย่างจนๆ นี้แหละครับ แต่ผมยังรู้สึกว่า ผมได้ขึ้นเกาะแล้ว ชีวิตที่ผ่านมาเหมือนว่ายวนอยู่ในทะเลมาโดยตลอด ท่านอาจารย์ศิลป์ฉุดผมให้ขึ้นมาอยู่บนเกาะแล้ว”

ระหว่างนั้นเองอาจารย์เฟื้อได้แต่งงานใหม่กับคุณสมถวิล หริพิทักษ์ และอยู่ด้วยกันมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีทายาทสืบสกุล ในช่วงนั้นท่านก็ได้เริ่มออกสำรวจภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ทำการคัดลอกภาพที่สำคัญๆ เก็บไว้ ก่อนที่ภาพเหล่านั้นจะสูญสลาย จากวัดสุทัศนเทพวรารามซึ่งท่านฝังใจในความงดงามมาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวัดสุวรรณาราม ทั้งนี้การคัดลอกภาพดังกล่าวมิใช่การตีตารางหรือใช้กระดาษลอกลาย หากแต่เป็นการวาดขึ้นใหม่ให้เหมือนของเดิมตามที่ตาเห็น ซึ่งต้องอาศัยฝีมือ ความแม่นยำ และทักษะชั้นเยี่ยม

เมื่อประเทศไทยมีการประกวดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเป็นครั้งแรกในปี 2492 อาจารย์เฟื้อก็คว้ารางวัลเหรียญทองเกียรตินิยมอันดับ 1 จากภาพ เพชรบุรี

น. ณ ปากน้ำ ศิษย์เอกผู้หนึ่งของอาจารย์เฟื้อ เล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นอาจารย์ไปค้นคว้าที่เมืองเพชรบุรี อยู่บนยอดเขาวัง มองลงมาเห็นต้นตาล ภูเขา จึงเกิดแรงบันดาลใจอย่างรุนแรง แต่ตอนนั้นเป็นช่วงหลังสงคราม กระดาษวาดภาพขาดแคลนมาก อาจารย์เลยเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาแช่น้ำ แล้วเอามาประกบติดซ้อนๆ กันเป็นกระดาษด้วยแป้งเปียก แล้วสุดท้ายก็เอาสีขาวทาเป็นพื้น เสร็จแล้วจึงใช้สีน้ำวาดรูปทิวทัศน์เมืองเพชรบุรีทันที”

เป็นที่น่าเสียดายที่งานชิ้นนี้ได้สูญหายไป สันนิษฐานว่าเป็นเพราะกระดาษที่ใช้คุณภาพไม่ดี จึงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เหมือนกับที่อาจารย์ศิลป์เคยพูดไว้ว่า “การเตรียมการต้องใช้วัสดุอย่างดี งานที่ออกมาจึงจะดี ถ้าเขียนออกมาดีแล้ว วัสดุที่ใช้ไม่ดี งานก็เสีย”

ปีรุ่งขึ้น เหรียญทองสาขาจิตรกรรมก็ตกเป็นของอาจารย์เฟื้ออีกครั้งหนึ่ง จากภาพ ประกายเพชร  ก่อนที่ท่านจะออกเดินทางไปใช้ชีวิตกินขนมปังกับน้ำ ณ ศูนย์กลางแห่งศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตก เมื่อได้รับทุนจากราชบัณฑิตยสถานอิตาลีให้ไปศึกษาต่อที่กรุงโรมในปี 2497 โดยไม่มีประกาศนียบัตรใดๆ ติดตัว นอกจากจดหมายแนะนำชมเชยท่านที่เขียนโดยท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงผู้เกี่ยวข้องที่กรุงโรม จดหมายนั้นมีความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าขอรับรองว่า นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นนักเรียนศิลปะของข้าพเจ้าที่มีพรสวรรค์อันหาตัวจับยาก และเป็นศิลปินผู้อุทิศตนเพื่องานทางศิลปะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาศิลปะของรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเอง”

“บางที นายเฟื้อ หริพิทักษ์ อาจจะเป็นศิลปินที่ดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของสยามประเทศเวลานี้”

อาจารย์เฟื้อเล่าถึงชีวิตในช่วงเวลานั้นว่า “ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์แล้ว ได้ทุนอิตาลีก็ไป ความจริงเขาให้ปีเดียว ทีนี้เขาเห็นผลงาน รู้ว่าเราตั้งใจจริง ก็ขอต่ออีกปี เราเรียนเหมือนกับนักเรียนของเขา ได้เห็นสถานที่สำคัญทางศิลปะหมด มันต้องไปเห็นจริงๆ ถึงจะเข้าใจศิลปะจริงๆ”

“อยู่อิตาลีผมไปพิพิธภัณฑ์ตลอด พยายามไปอยู่เสมอ ที่นี่มีอะไรใหม่ๆ ได้ความรู้หลายอย่าง พิพิธภัณฑ์เป็นมหาวิทยาลัยที่สำคัญของผม ในพิพิธภัณฑ์มีหมดทุกอย่าง เพียงแต่เราต้องค้นคว้า ใฝ่หาความรู้ รู้แล้วปฏิบัติด้วยเรายิ่งรู้”

ชีวิตการเรียนในอิตาลีทำให้อาจารย์เฟื้อเข้าใจงานศิลปะอย่างถ่องแท้มากขึ้น จนท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงกับกล่าวว่า

“นี่เอง เป็นเวลาที่แสดงให้เห็นถึงสมรรถภาพอันยิ่งใหญ่ของเฟื้อ ในการทำงานศิลปะภาพเขียนสีและภาพลายเส้นจำนวนมากกว่าร้อยชิ้น จนซินญอร์ออกโป ศาสตราจารย์แห่งสถานศึกษาศิลปะกรุงโรม ได้เห็นคุณค่าอันสูงส่งของศิลปินไทยโดยแท้จริง อันมีอยู่ในตัวเฟื้อ”

จะมีศิลปินไทยกี่คนที่เคยได้รับการศึกษาในสำนักศิลปะที่เป็นเลิศที่สุดของทั้งทางตะวันออก คือ ศานตินิเกตัน และสถานศึกษาศิลปะที่เป็นเลิศที่สุดทางตะวันตก คือ กรุงโรม ทั้งยังได้นำความรู้เหล่านั้นมาประสานกัน บ่มเพาะวิชาอย่างเต็มที่ เพื่อกลับมาค้นหารากเหง้าของตัวเองในเวลาต่อมา

ผลงานช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ในอิตาลีนี่เองที่สะท้อนให้เห็นฝีมือการวาดภาพอันเยี่ยมยอดของอาจารย์เฟื้อ โดยเฉพาะงานลายเส้นของท่านที่มีลีลาอันฉับไว แม่นยำ หนักแน่น จนหาใครเปรียบได้ยาก

อาจารย์อวบ สาณะเสน ลูกศิษย์คนหนึ่ง กล่าวถึงงานของอาจารย์เฟื้อว่า “ลายเส้นแกดูง่ายๆ สบาย แต่อารมณ์ น้ำหนัก มันได้หมด เส้นที่เขียนทุกเส้นมีชีวิต มันเต้นไหว มันเป็นอิสระมาก เส้นมันหยุดตรงที่ควรหยุด เป็นธรรมชาติมาก ไอ้ความง่ายๆ นี่แสดงว่าฝึกมาเยอะมาก”

ในขณะที่ น. ณ ปากน้ำ ยกย่องงานวาดภาพสีน้ำมันของอาจารย์เฟื้อว่า “ภาพเขียนส่วนใหญ่ที่เขียนในอิตาลีล้วนเป็นภาพที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม เป็นที่ยกย่องกันจนบัดนี้ เช่น ภาพในจัตุรัสปอปโปโล กรุงโรม กลางหิมะ ภาพอาคาร ถนน และต้นไม้ ภาพพอร์เทรตกับภาพเขียนที่โน้มเอียงไปทางคติคิวบิสม์ ใช้เทคนิควิธีการและสีสันแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ สีสะอาด สว่าง สดใสเป็นพิเศษ”

ครั้งหนึ่งอาจารย์เฟื้อ เคยแสดงทัศนะไว้ว่า “impressionism เป็นสีที่อยู่ในรูป แต่นี่ผมเขียน สีไม่ได้อยู่ในรูปเสียแล้ว สีเป็นแสงเท่านั้น รูปอยู่ในกรอบ แต่ไม่มีอะไรอยู่ในกรอบ มันไปไม่มีที่สิ้นสุด อย่างรูปนี้ผมใช้สีเหลือง แต่ไม่อยู่ในรูป พรืดออกไปเป็นบรรยากาศ ตัดกับสีน้ำเงิน แดง ตัดกันไปมาตามที่แลเห็น สีนี่เป็นสีแสงวางลงไป ไม่ใช่อยู่ในรูป รูปก็เขียนด้วยเส้น”

 

 

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญ

 

“ถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง เป็นคนไทยได้อย่างไร”

อาจกล่าวได้ว่าฝีมือของอาจารย์เฟื้อในเวลานั้นโดดเด่นเป็นที่จับตามอง เชื่อกันว่าหากท่านทำงานศิลปะร่วมสมัยต่อไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะก้าวขึ้นเป็นศิลปินใหญ่ระดับโลกก็ไม่ใช่เรื่องยาก และหากเป็นเช่นนั้น ชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็จะตามมาในไม่ช้า

แต่แล้วท่านกลับหันหลังให้สิ่งเหล่านี้ แล้วมาจับงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทยและศึกษาศิลปะไทยอย่างจริงจัง โดยทุ่มเทอย่างสุดชีวิตเพื่องานนี้ แม้ในระยะแรกอาจารย์ศิลป์จะทัดทานด้วยเสียดายในฝีมือและอนาคตการเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ แต่ในที่สุดท่านก็ยอมรับเมื่อเห็นผลงานค้นคว้าทางด้านการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์เฟื้อ โดยกล่าวสั้นๆ ว่า “เธอมีสองอย่าง” อาจารย์ศิลป์เป็นผู้หนึ่งที่คอยส่งเสริมและให้กำลังใจในการทำงานด้านอนุรักษ์ของอาจารย์เฟื้อด้วยดีตลอดมา”

“เรามันไม่เอาไหน ศิลปะไทยไม่ค่อยมีใครสนใจ ไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครเรียน เรียนๆ ไปก็หวังไปทำราชการ เรียนแต่พื้นฐาน เขียนลายไทย ลายกนก เพื่อไปเป็นครูอย่างเดียว ไม่มีใครสนใจศึกษาอย่างจริงจัง แต่เมื่อเรียนกับอาจารย์ศิลป์ ท่านสอนถึงประวัติศาสตร์ศิลปะของโลกเป็นวิชาสำคัญ เห็นพัฒนาการของศิลปะต่างๆ เห็นเอกลักษณ์ศิลปะของยุโรปตะวันออก ตะวันตก ท่านสอนถึงสไตล์ออฟอาร์ต อันเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาศิลปะของโลก”

“ทีนี้เราไม่รู้เรื่องตัวของเรา ไม่ได้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะของเราอย่างจริงจัง รู้จักแต่ลายไทย แต่ลักษณะของศิลปะไทย สถาปัตยกรรมไทย ประติมากรรมไทยสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เป็นอย่างไร ต่างกันอย่างไร ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสนใจ”

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน บริเวณกรุงเก่าอยุธยายังปกคลุมไปด้วยป่าเปลี่ยว เต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย รวมถึงหัวขโมยที่ลักลอบเข้ามาขุดสมบัติในกรุเจดีย์ โบราณสถานต่างๆ ไม่จำเป็นคงไม่มีใครอยากผ่านเส้นทางเหล่านี้

ทว่าในช่วงเวลานั้นเอง หากใครได้ผ่านเข้าไปยังบริเวณที่ตั้งวัดราชบูรณะ วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในเขตโบราณสถาน จะสังเกตเห็นชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการเพ่งพิจารณาซากฝาผนังเก่าๆ ที่พร้อมจะร่วงหล่นเป็นเศษอิฐเศษปูนได้ทุกขณะ ในมือถือดินสอและพู่กัน คัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างอยุธยาอันเรืองรองมาแต่ครั้งโบราณกาล

ชายผู้นั้นทำงานคนเดียวอย่างเงียบๆ งานซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำนานที่กล่าวขานกันมิรู้ลืม

“ที่วัดราชบูรณะ ผมเขียนเสร็จได้เพียงสามเดือน ฝาผนังก็พังลงมาเลย มันน่าสลดใจ… ในเมืองโบราณเหล่านี้เป็นป่าเป็นดง เราก็ไปพบงานศิลปะที่สำคัญอยู่ในเจดีย์ อยู่ในซุ้ม ผมเห็นก็อดไม่ได้ เพราะไม่มีใครจะมาเอาเรื่องเอาราวเลย ภาพเขียนมันอยู่ได้ไม่นาน…อันตรายมาก คนไม่ค่อยดีมีเยอะ รีบไปคัดลอกรูปมาก่อนที่มันจะพังลงไป ดีนะที่ยังไม่พังทับตัวเราก่อน เอาไปให้อาจารย์ศิลป์ดู ท่านก็เห็นว่ามีประโยชน์ จริงๆ แล้วท่านไม่อยากให้ผมนั่งคัดลอกอะไรหรอก มันไม่ใช่งานสร้างสรรค์ศิลปะ มันเป็นการค้นคว้าโบราณศิลปะ เพราะท่านอยากให้ผมได้สร้างสรรค์ศิลปะมากกว่า แต่ผมบอกท่านว่า ถ้าผมไม่ทำไม่วิจัยแล้ว จะมีใครไปรักษา”

นับแต่ปี 2489 ที่อาจารย์เฟื้อได้เริ่มงานคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างจริงจัง จากวัดสุทัศน์ แหล่งกำเนิดความศรัทธาต่อศิลปะไทยตั้งแต่เยาว์วัย ออกไปวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา แล้วมุ่งหน้าสู่สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เมืองเก่าที่ไม่มีใครเหลียวแล ตระเวนคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังของล้านนา จากนั้นล่องใต้สู่วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี บ้านเกิดเมืองนอนของตนที่มีงานจิตรกรรมชั้นครูสมัยอยุธยา

การคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องแยกแยะฝีมือช่างแต่ละคนให้ออก ดูว่าภาพใดเป็นผลงานของช่างฝีมือเอกจริงๆ เพราะภาพแต่ละผนังอาจมีผลงานของช่างหลายคนปะปนกันอยู่ ผู้คัดลอกจึงจำต้องกระจ่างในใจว่า สิ่งใดเป็นงานศิลปะจริงๆ

“เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นศิลปะ มีคุณค่าทางศิลปะ อะไรที่ไม่มีคุณค่าเราก็ต้องรู้ด้วย คุณค่าของศิลปะมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้อยู่คงที่ เราต้องศึกษาว่าทำไมถึงเปลี่ยน แตกต่างกันอย่างไร ลักษณะศิลปะแบบนี้มีความเจริญอย่างไร เปรียบเทียบกับอีกยุคหนึ่งว่ามันต่างกันอย่างไร เราต้องรู้ว่าลายไทยมีพัฒนาการ คลี่คลายอย่างไร เสื่อมลงอย่างไร”

“…อย่างศิลปะในสมัยสุโขทัย เราก็รู้ว่ามีอิทธิพลของมอญ ของแขก แล้วค่อยปรับตัวมาเป็นตัวของตัวเอง พอมาสมัยอยุธยาตอนกลาง ช่างฝีมือเป็นพระ เพราะมีความคิดเรื่องศาสนาทั้งสิ้นอยู่ในงานศิลปะ วิธีการเขียนก็ดีขึ้น อยุธยาตอนปลายก็เป็นยุคที่รุ่งโรจน์ที่สุด พอมารัตนโกสินทร์ก็เป็นยุคฟื้นฟู ได้ช่างดีๆ จากอยุธยาตอนปลายมาช่วย พอมาสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้อิทธิพลของจีนเข้ามา พอสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 เราก็ไปเรียนจากฝรั่ง ฝรั่งเข้ามา ศิลปะไทยก็เริ่มเสื่อมลงไปจนไม่มีใครรู้หรือศึกษาลักษณะที่ดีที่งามของศิลปะไทยเลย ตอนผมอยู่เพาะช่างก็ไม่รู้หรอกว่าพื้นฐานลายไทยเริ่มจากอะไรและคลี่คลายอย่างไร”

“สมัยก่อนโน้นที่พวกฝรั่งเข้ามาเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ มันดูถูกว่าของเราเป็นงานประดับ เป็นแค่ลวดลายสวยงาม ไม่ใช่งานศิลปะ ไม่มีชีวิต  ผมเลยค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ว่างานของไทยมีคุณค่าทางศิลปะ หากเราแยกให้ถูกว่าส่วนใดที่เป็นของดีในจำนวนผลงานของช่างหลายๆ คน”

ผลงานคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์เฟื้อได้เผยตัวสู่สายตาชาวต่างชาติเป็นครั้งแรกเมื่อรัฐบาลไทยนำงานของท่านไปเปิดแสดงที่สถานทูตไทยในอังกฤษในปี 2491 ก่อนที่งานเหล่านี้จะถูกนำมาจัดแสดงในประเทศไทยในปี 2495 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้เห็นคุณค่างานศิลปะของไทยที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังและรวมไปถึงสถาปัตยกรรมไทยสมัยโบราณ

เมื่ออาจารย์เฟื้อทำการคัดลอกภาพไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดความคิดในการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

“ที่สุโขทัย มีลายเส้นเก่าๆ ผมไปคัดลอกมาเพียงปีเดียว ภาพจิตรกรรมที่เขียนบนปูนก็กะเทาะหลุดหมดเพราะมีคนเข้าไป มีพระไปธุดงค์ในเจดีย์ ที่อยุธยา ที่เพชรบุรี ก็เหมือนกัน ผมไปบอกอาจารย์ศิลป์ว่า คัดลอกลายนี่มันไม่ได้ประโยชน์ ต้องมีการอนุรักษ์อย่างจริงจัง ตอนนั้นเรายังไม่มีการอนุรักษ์กันเลย อาจารย์ศิลป์จึงติดต่อไปที่ยูเนสโกซึ่งเขามีหน่วยงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะทั่วโลกเลย ทางยูเนสโกก็ส่งผู้เชี่ยวชาญศิลปกรรมของโลกมาช่วย ส่งคนมาศึกษา ไปตรวจดู สอนการอนุรักษ์ การผสมน้ำยา ตอนนั้นไปที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี และพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญจากอินเดียที่มีประสบการณ์มากมาสอนกรรมวิธีการรักษา งานหนักมาก เพราะปูนมันกะเทาะหลุดออกมามาก แล้วก็ยังให้ทุนสำหรับคนไทยไปเรียนการอนุรักษ์ที่กรุงโรมอีกสองคน เป็นนักเคมีและช่างเขียน ไปเรียนสองสามปีเพื่อให้รู้หลักวิชาการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง”

ด้วยเหตุนี้อาจารย์เฟื้อซึ่งเป็นเพียงอาจารย์ธรรมดาคนหนึ่งในคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้กลายเป็นผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังคนแรกของไทย และเป็นคนสำคัญซึ่งช่วยรั้งไม่ให้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้สูญสลายไปตามกาลเวลาจนสายเกินไปที่คนรุ่นหลังจะหันกลับไปแสวงหารากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนได้ทันท่วงที

เรามิอาจปฏิเสธได้ว่า การที่งานของศิลปินชั้นครูของสยามประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันลือลั่นที่วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดสุทัศนเทพวราราม พระที่นั่งพุทธไธศวรรย์ วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย ฯลฯ ยังไม่สูญหายไปจากแผ่นดิน ก็เพราะบุคคลผู้นี้ได้ทุ่มเทเวลาหลายสิบปีชั่วชีวิตของท่าน ออกเดินทางไปทั่วประเทศ เที่ยวอ้อนวอน ติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อหาทางและหาทุนมาอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้เป็นสมบัติของคนรุ่นหลัง

โดยเฉพาะงานอนุรักษ์หอไตรวัดระฆังโฆสิตารามที่ท่านต้องใช้เวลายาวนานถึง 20 ปีเพื่อพิสูจน์ให้โลกรู้ถึงคุณค่าทางศิลปะ

เวลา 20 ปีสำหรับงานหนึ่งชิ้น งานที่ทำให้โลกรู้ว่าชีวิตของบุคคลผู้นี้ยิ่งใหญ่ดั่งขุนเขา

 

น้ำตาของคนแก่

 

 

วัดระฆังโฆสิตารามเป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ แต่มาเปลี่ยนชื่อในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อมีการค้นพบระฆังเสียงไพเราะลูกหนึ่ง

ภายในวัดมีเรือนไทยโบราณสามหลังแฝด เป็นเรือนไทยขนาดใหญ่งดงามมาก เดิมในสมัยพระเจ้าตากสิน เรือนหลังนี้เป็นนิวาสถานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นที่พระราชวรินทร์ ต่อมาได้ทรงอุทิศให้เป็นเสนาสนะของสงฆ์ และภายหลังก็ได้ใช้เป็นที่ชำระสอบทานพระไตรปิฎก จึงเรียกกันต่อมาว่า หอพระไตรปิฎก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เป็นแม่กองทำการบูรณะพระตำหนักที่เคยพำนัก โดยในครั้งนั้นได้ระดมช่างฝีมือดีไม่ว่าจะเป็นช่างอยุธยา ช่างนครศรีธรรมราช เข้ามาบูรณะหอไตรแห่งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกถึงหอไตรแห่งนี้ไว้ว่า

“หอพระไตรปิฎก เป็นหอฝากระดานมุงกระเบื้องสามหลังแฝดมีชานหน้า ฝีมือที่ทำหออย่างนี้ประณีตแบบกรุงเก่า…”

ด้วยเหตุนี้ ความสำคัญของหอไตรวัดระฆังโฆสิตารามจึงมิได้อยู่ที่การเป็นพระตำหนักเดิมของรัชกาลที่ 1 แต่เพียงเท่านั้น หากที่นี่ยังเป็นที่รวมฝีมือช่างชั้นครูจากทั่วประเทศที่ระดมกันเข้ามาบูรณะในครั้งนั้น

แต่ความจริงข้อนี้กลับดูเหมือนไม่มีใครรู้ ไม่มีใครใส่ใจ หอพระไตรปิฎกหลังงามจึงถูกทิ้งร้างเป็นเวลานานนับร้อยปี ค่อยๆ กลายสภาพเป็นเรือนไทยเก่าๆ หลังหนึ่งภายในวัดระฆังโฆสิตาราม รอให้ผุพังไปตามกาลเวลา

จนกระทั่ง…

หลังจากที่อาจารย์เฟื้อกลับจากต่างประเทศและหันมาสนใจศิลปะไทยอย่างจริงจัง วันหนึ่งท่านได้ไปอ่านพบลายพระหัตถ์โต้ตอบระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งกล่าวถึงงานชิ้นเยี่ยมของพระอาจารย์นาค ช่างฝีมือเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งอยู่ที่หอไตรวัดระฆังโฆสิตาราม

เอกสารไม่กี่หน้านี้ได้จุดประกายความพยายามของคนคนหนึ่งขึ้นมาแล้ว

คนที่เคยเห็นหอไตรวัดระฆังฯ ในปัจจุบัน คงตระหนักดีว่า หอไตรแห่งนี้งดงามและมีคุณค่าทางศิลปะเพียงใด แต่คงไม่มีใครทราบว่า สมัยเมื่อ 50-60 ปีก่อน คือในราวปี 2500 ก่อนที่อาจารย์เฟื้อจะไปพบ หอไตรแห่งนี้ตั้งอยู่กลางสระน้ำข้างเมรุของวัด มีสภาพทรุดโทรมยิ่ง ภายในใช้เป็นที่เก็บของบ้าง เป็นกุฏิบ้าง ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น บางทีก็ใช้เป็นที่เก็บศพเพื่อรอการฌาปณกิจ หลังคารั่ว ตัวไม้ผุ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนหาย มีเขม่าธูปเทียนเคลือบจับอยู่เต็มไปหมด สระที่ขุดไว้รอบหอไตรก็ตื้นเขิน ส่งกลิ่นเน่าเหม็น มองไปรอบๆ มีแต่ความอนาถใจ นี่หรือคือพระตำหนักของรัชกาลที่ 1 และที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับปิดทองในอดีต

“ผมมองเข้าไปมีหยากไย่ ข้าวของระเกะระกะไปหมด ตามฝาผนังก็หมองคล้ำจากเขม่าธูปเทียน ยังมองไม่ออกว่าตรงไหนที่มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือชั้นครูของพระอาจารย์นาค มืดมัวไปหมด”

แต่แล้วด้วยความอุตสาหะ อาจารย์เฟื้อซึ่งเวลานั้นอายุจวน 50 ค่อยๆ ใช้น้ำยาเช็ดทำความสะอาดฝาผนังที่เขรอะไปด้วยเขม่าธูปเทียน จากจุดเล็กๆ ที่ใช้น้ำยาชำระ จนขยายวงใหญ่ขึ้นๆ ในที่สุดท่านก็ถึงกับตะลึงเมื่อภาพศิลปะชั้นครูเผยโฉมออกมาตามที่หนังสืออ้าง หลังจากที่ฝังตัวอยู่ใต้คราบเขม่าเป็นเวลาหลายร้อยปี

อาจารย์เฟื้อรีบทำเรื่องถึงมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อของบประมาณฉุกเฉินมาอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นการด่วน

ทางมหาวิทยาลัยอนุมัติงบประมาณให้ 5,000 บาท แต่แล้วทางวัดกลับไม่อนุญาตให้ทำการซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือชั้นครู

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น วันหนึ่งอาจารย์เฟื้อพบช่างไม้จากอยุธยาจำนวนสิบกว่าคนขนเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาที่วัด ไถ่ถามทราบความว่าพระท่านเรียกมาให้รื้อหอไตรเพื่อขยายเมรุวัด

“ผมอดไม่ได้แล้ว จะมารื้อเพื่อซ่อมใหม่ก็ตาม จะต้องมีหลัก จะประกอบใหม่ก็ต้องมีหลัก ไม่มีความรู้ก็พังสิ ผมต้องโวยวายขึ้นมา ไม่รู้จะทำยังไงจึงไปหาอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ให้ช่วย ผลสุดท้ายทางวัดเข้าใจ มีการตั้งกรรมการขึ้นมาหลายฝ่าย ตอนแรกผมคิดจะอนุรักษ์เพียงภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไปๆ มาๆ ก็เป็นทั้งหลังเลย ก็ย้ายทั้งหลังไปบริเวณใหม่ที่ดีขึ้น คือบริเวณลานพระอุโบสถ”

นับจากปี 2513 ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการบูรณะหอไตรอย่างจริงจังเป็นต้นมา อาจารย์เฟื้อจะใช้เวลาว่างหลังจากสอนหนังสือเสร็จ นั่งเรือข้ามฟากไปอุทิศตัวเองเพื่อรักษางานศิลปะของชาติยังอีกฟากฝั่งหนึ่ง ในแต่ละวันที่ท่าเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา คนที่ผ่านไปมาในเวลานั้นอาจสังเกตเห็นชายชราผมสีดอกเลาคนหนึ่ง นั่งเรือข้ามฝั่งไปมาอยู่เป็นประจำ

วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ที่อาจารย์เฟื้อหมกตัวทำงานอนุรักษ์ของท่านอย่างเงียบๆ ที่หอไตรแห่งนี้ กระทั่งมีคนเรียกท่านว่า “ผีหอไตร” ในช่วงหลัง ท่านเร่งมือทำงานอย่างหนักเพื่อให้การบูรณะหอไตรเสร็จทันฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี 2525 จนกระทั่งล้มเจ็บ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้การรักษาพยาบาล

กระนั้นอาจารย์เฟื้อก็ยังไม่ย่อท้อต่องานอนุรักษ์หอไตร แม้ว่าขณะนั้นอายุของท่านจะย่าง 70 เศษแล้วก็ตาม

“คนที่ทำงานอนุรักษ์ต้องรู้จักคุณค่าของศิลปะ ฝีมือของช่างชั้นครูเป็นอย่างไร เราต้องไม่เปลี่ยนแปลงฝีมือเดิม เขียนอย่างไร ใช้สีอะไร โบราณเขาใช้สีธรรมชาติ ไม่ใช่สีวิทยาศาสตร์อย่างเรา ก็ต้องศึกษา ใช้สีธรรมชาติจริงๆ เราต้องทำให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ต้องระลึกเสมอว่า เป็นงานฝีมือของเขา ไม่ใช่ของเรา”

“ผมไปรักษาภาพนานหลายปี ใช้น้ำยาหลายตัวค่อยๆ เช็ดทำความสะอาด บางทีก็ร้องไห้ไปเพราะเช็ดไม่ออก เรารู้ว่ามันมีค่าเหลือเกินก็ต้องหาวิธีให้ได้ มีครั้งหนึ่งลายหน้าต่างนี่แหละ ทุกบานไม่เหลือลวดลายเดิมเลย นอกจากบานหนึ่งมีรอยนิดๆ เป็นลายกนก ผมไปเช็ดๆ ถูๆ นานมาก ก็เห็นเป็นร่องนิดหน่อย เป็นลายละเอียดยิบ เพื่อนมันบอกว่าเป็นลายเนื้อไม้ ผมบอกไม่ใช่ นี่มันเป็นลายจริงๆ ผมยกไปทำต่อที่บ้าน เพ่งทั้งวันทั้งคืน ถูกันจนเห็นเป็นร่อง ไม่กินไม่เกิน เสียเวลามากที่สุด จนค่อยๆ เห็นเป็นตัวภาพเทวดาถือพระขรรค์ ลายมันไม่เหมือนทางภาคกลาง เป็นลายทางใต้ เป็นช่างทางใต้ไม่ใช่ช่างอยุธยา ผมพยายามขูดหาวิธีออกลายจนปวดหัว ถูไปถูมาจนกระทั่งเห็นวิธีออกลายเดินลาย ดีใจร้องไห้เลย แต่ก็ล้มเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาล”

ในที่สุดหอพระไตรปิฎกก็บูรณะเสร็จสิ้นทันฉลองกรุง 200 ปี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ปี 2524 หากนับจากวันแรกที่อาจารย์เฟื้อค้นพบภาพจิตรกรรมอันล้ำค่าภายในหอไตรแห่งนี้และเริ่มต้นงานอนุรักษ์ของท่านจนเสร็จสิ้น ก็เป็นเวลากว่า 20 ปี

นอกจากอาจารย์เฟื้อจะเป็นผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์หอไตรอย่างอุทิศกายถวายชีวิตตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว ท่านยังได้ค้นพบว่า หอไตรแห่งนี้มีผลงานฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอยู่ที่ซุ้มแกะสลักที่ชานนอกกับลายรดน้ำตู้พระธรรม อันถือเป็นสกุลช่างธนบุรี ทั้งยังมีผลงานของช่างสกุลอยุธยาที่หอนั่ง ฝีมือช่างสกุลธนบุรีที่หอนอน ซึ่งมีเอกลักษณ์ของภาพเขียนที่มีลักษณะคล้ำเข้ม กล่าวได้ว่าหอไตรแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมของช่างระดับปรมาจารย์และเป็นแหล่งรวมศิลปะต้นกำเนิดสกุลช่างรัตนโกสินทร์

“ตั้งแต่เสร็จแล้วผมไม่เคยไปดูอีกเลย มีงานข้างหน้าอีกมากที่ต้องทำ…บางทีกลับไปดูอาจจะเจ็บปวดบ้าง มีหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ผมพูดสั้นๆ แค่นี้”

 

คุณครูแมกไซไซ

 

“ข้าพเจ้าเป็นศิลปินผู้ไม่มีความสันทัดในการพูดมากนัก ทั้งรางวัลและเกียรติที่ข้าพเจ้าได้รับในวันนี้ ก็สร้างความตื้นตันใจให้แก่ข้าพเจ้า จนข้าพเจ้าไม่สามารถสรรหาคำพูดมาแสดงความขอบคุณแก่ท่านได้อย่างพอเพียงและเหมาะสม ข้าพเจ้าขอน้อมรับรางวัลและเกียรตินี้ไว้ด้วยความเจียมใจและเจียมกายเป็นที่สุด”

“ข้าพเจ้าจะลืมเสียมิได้ที่จะจารึกพระคุณของครูบาอาจารย์ บรรดาท่านที่ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านวิชาจิตรกรรมให้แก่ข้าพเจ้า ทั้งยังฝึกฝนให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้และเข้าใจถึงกรรมวิธีในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง โดยเฉพาะแล้ว ข้าพเจ้าขอจารึกพระคุณของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นชาวอิตาลี แต่ใช้ชีวิตอย่างชาวเอเชีย และท่านก็จบชีวิตอย่างคนไทย ข้าพเจ้าขอระลึกถึงท่านเป็นพิเศษมากกว่าผู้อื่นใด หากปราศจากการสนับสนุนและให้กำลังใจของท่านผู้นี้แล้วไซร้ ข้าพเจ้าคงก้าวมาไม่ได้ไกลถึงเพียงนี้”

“ข้าพเจ้าขอมอบเกียรติที่ข้าพเจ้าได้รับวันนี้แก่บูรพศิลปิน ครูอาจารย์ ตลอดจนศิลปินร่วมสมัยและศิลปินที่อุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ศิลปะโดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียงและลาภส่วนตัว เพราะศิลปะนั้นยืนยาว แต่ชีวิตของคนเราสั้น”

31 สิงหาคม 2526 รางวัลโนเบลแห่งเอเชีย หรือรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ก็ได้มอบให้แก่ชายชราจากเมืองไทยวัย 73 ปี ผู้คร่ำหวอดกับงานอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ผู้แสวงหารากเหง้าของศิลปะไทยมาตลอดชั่วชีวิตโดยไม่เห็นแก่ลาภ ยศ สรรเสริญใดๆ

อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิแมกไซไซได้พิจารณาจากความเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปกรรมไทย ความเป็นครู และผลงานที่โดดเด่นที่สุด คือการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นงานบูรณะที่มีรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด

 

“ศิลปะนั้นยืนยาว แต่ชีวิตของคนเราสั้น”

 

 

ทอดตามองไปทั่วแผ่นดิน จะมีใครสักกี่คนที่อุทิศตนเพื่องานอันทรงคุณค่าด้วยใจรักโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างใดๆ แม้จะต้องเผชิญกับความอัตคัดขัดสนในชีวิต

ตำแหน่งสุดท้ายที่ได้รับในความเป็นครูของอาจารย์เฟื้อ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2513 ก่อนเกษียณอายุในอัตราเงินเดือน 3,200 บาท

ช่วงที่ท่านมาทำงานที่วัดระฆังโฆสิตาราม มีเงินเดือนจากการเป็นอาจารย์พิเศษหลังเกษียณอายุเพียงเดือนละ 1,600 บาท

ใครที่เคยไปบ้านท่านที่ซอยโรงเลี้ยงเด็ก คงตระหนักดีว่าท่านสมถะยิ่งนัก ไม่สะสมทรัพย์ใดๆ มีเพียงบ้านหลังเก่าที่สองคนตายายอยู่กันมาหลายสิบปี

ไม่มีน้ำเงินพอจะเผื่อแผ่ให้ใคร แต่มีน้ำใจท่วมท้นและความรู้ที่พร้อมจะมอบแก่ผู้มาเยือนอย่างไม่เคยปิดบัง

อาจารย์เฟื้อถ่อมตัวเสมอในทุกเวลา แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธยามเมื่อมีใครมาเอ่ยขอความช่วยเหลือ

ระยะหลังแม้ท่านจะอายุถึง 80 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงรักที่จะทำหน้าที่ “ครู” อยู่ต่อไป โดยรับตำแหน่งครูพิเศษที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ท่านยังคงพาลูกศิษย์ตระเวนไปตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสุวรรณาราม ฯลฯ เพื่อให้ลูกศิษย์วัยคราวหลานคราวเหลนได้เห็นฝีมือศิลปินชั้นครูของไทย ว่าของจริงนั้นเป็นอย่างไร

“อาจารย์จะพาเธอไปที่ดีๆ ให้เธอพิจารณาเสียก่อน อย่างวันนี้จะศึกษาเรื่องภาพเขียนยักษ์ ไปดูให้หมดวิหาร พิจารณา อันไหนที่เธอเห็นคุณค่าทางศิลปะ การจัดวางรูปอย่างไร ให้เธอเขียนออกมา และเธอต้องแยกให้ออกว่า งานไหนเป็นงานศิลปะ งานไหนเป็นเพียงงานฝีมือ งานฝีมือที่คนเขียนปัญญายังไม่แหลมพอที่จะเป็นศิลปะ อย่างที่แห่งนี้ วิหารใหญ่มาก ภาพเขียนเต็มไปหมด แต่เราดูแล้วสบายตา ทุกอย่างสัมพันธ์ไปหมด ไม่ปวดหัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนกับวงออร์เคสตราที่มีคอนดักเตอร์คอยคุม รูปเหล่านี้ก็วางรูปได้จังหวะ สัมพันธ์กัน ถ้าไม่ใช่งานศิลปะก็จะดูเลอะเทอะน่าปวดหัว เธอพิจารณาดูเอง”

อาจารย์มีความสุขเสมอที่ได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่ศิษย์ที่กระหายความรู้ แม้ต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมากกับการเดินทาง การปีนขึ้นลงบันไดสูงๆ ตามโบราณสถานต่างๆ

“ศิลปะไม่มีขอบเขตและต้องเป็นเอกภาพด้วยมันจึงจะเกิดพลังขึ้น มนุษย์เราเป็นผู้สร้างศิลปะขึ้นมา จะเป็นนามหรือเป็นรูปที่สมมุติก็ตาม สิ่งที่ทำไปมันมีชีวิตหมดเลย และมาประสานกันจนกระทั่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี่ถือว่าเป็นความคิดของผมคนหนึ่งเท่านั้น อย่าพึ่งเชื่อ อย่าไปคิดว่าผมยิ่งใหญ่”

ช่วงบั้นปลายชีวิต เมื่อว่างจากการสอนหนังสือ อาจารย์เฟื้อจะใช้เวลาไปกับการร่างภาพพระประธานขนาดใหญ่ คือ ภาพพระศรีอริยเมตไตรย งานชิ้นนี้เป็นงานที่ท่านทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และสติปัญญาเป็นอย่างมาก ดังที่ท่านได้ปรารภไว้ว่า

“ผมจะทำงานนี้เป็นชิ้นสุดท้ายแล้ว”

การทุ่มเททำงานหนักมาตลอดชีวิต ประกอบกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อาจารย์เฟื้อล้มป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลศิริราช นับแต่ปี 2533

บ่ายวันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2536 อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ครูผู้ยิ่งใหญ่และผู้อุทิศตนเพื่อศิลปะทั้งปวง ก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 83 ปี

อาจารย์เฟื้อจากไปก็แต่เพียงกาย หากความรู้และผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าของท่านยังคงอยู่เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง สมดังคำปณิธานที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

 

“ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใส และจริงใจ

มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส

ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นหาความจริง

ในความงามอันเร้นลับอยู่ภายใต้สภาวะแห่งธรรม”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save