fbpx
“จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” : จากความหวังถึงความจริงแห่งยุคสมัย

“จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” : จากความหวังถึงความจริงแห่งยุคสมัย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

อาจารย์ป๋วยที่เคารพ

ข้อเขียนเรื่อง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของอาจารย์ในปี พ.ศ. 2516 ที่ผมได้อ่านเมื่อครั้งเยาว์วัยนั้นทำให้ผมมีความหวังกับชีวิตและสังคมมาโดยตลอด หวังว่าสักวันจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและเปี่ยมความหมายในสังคมที่เกื้อหนุนศักยภาพของคนธรรมดาทุกคน

แต่ความหวังที่ว่าริบหรี่แล้วในยุคสมัยของอาจารย์ กลับยิ่งดูเลือนรางกว่าเดิมในยุคสมัยของผม

นับจากวันที่ผมอยู่ในครรภ์ของแม่ แม่ต้องต่อแถวยาวในโรงพยาบาลของรัฐเพื่อฝากครรภ์ แต่ครั้นจะไปโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายก็เกินกำลังไปมาก อาหารที่มีคุณประโยชน์ในราคาย่อมเยาก็หาได้ยากยิ่ง ผักผลไม้เกินครึ่งล้วนมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน

ถึงพ่อกับแม่จะมีลูกเพียงสองคนเท่านั้น แต่ดูเหมือนต้นทุนของการสร้างครอบครัวกลับสูงยิ่งกว่าที่ตากับยายใช้เลี้ยงลูกเจ็ดแปดคนในชั่วรุ่นก่อนเสียอีก

อันที่จริง ค่าใช้จ่ายในการมีครอบครัวเริ่มตั้งแต่วันที่พ่อกับแม่แต่งงานกันแล้ว ถึงตากับยายจะไม่เรียกร้องสินสอดทองหมั้นมากมายนัก พ่อก็ต้องหยิบยืมเงินจากเจ้านายมาจัดงานแต่งอยู่ดี น่าตลกไหมครับที่มีคนมาร่วมยินดีหลายร้อย แต่พ่อกับแม่รู้จักแขกที่มาเพียงไม่กี่คน ทั้งยังต้องกัดฟันจัดงานในโรงแรมชั้นดีเท่าที่จะพอหาได้ ตามฤกษ์ที่ควรเป็น และเชิญแขกที่ควรเชิญให้มากที่สุด หนี้ครัวเรือนของเราเริ่มต้นนับหนึ่งก็ในวันแห่งความยินดีนี้นี่เอง

ในช่วงสองสามขวบแรกของชีวิต ซึ่งร่างกายและสมองกำลังเติบโต อันเป็นช่วงเวลาสำคัญของนมแม่ คุณหมอกับรายการโทรทัศน์กลับพากันชี้ชวนให้แม่ใช้นมผงให้เร็วที่สุด โดยไม่อธิบายผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมา เช่นโรคภูมิแพ้ที่ผมเป็นอยู่ในทุกวันนี้ ในขณะที่อุปกรณ์กระตุ้นพัฒนาการของเด็กก็ราคาแพงลิบลิ่ว แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อคุณหมอและเพื่อนแม่ย้ำนักย้ำหนาว่าเราจำเป็นต้องมี

พอถึงวัยต้องเข้าโรงเรียน แม่ตกใจมากเมื่อรู้ว่าโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษมีค่าใช้จ่ายถึงปีละหนึ่งล้านบาท ส่วนโรงเรียนไทยชั้นดีก็มีตั้งแต่เหยียบแสนไปจนถึงหลายแสนบาท – นี่เป็นค่าเล่าเรียนในตลาดที่ว่ากันว่ามีการแข่งขันอย่างเสรี ทั้งยังอยู่ในประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยราวสองแสนบาทต่อปีเท่านั้นนะครับ ถึงผมจะเพียรพยายามทำคะแนนสอบให้ได้ดีเพียงใด พ่อก็ต้องกัดฟันหาเงินมาจ่ายค่าแรกเข้าและสำรองไว้สำหรับ “เงินบริจาค” ที่โรงเรียนตั้งเป้าไว้อยู่ดี

ในวัยเด็กนั้น ผมไม่เข้าใจหรอกครับว่าเงินหลักแสนหลักล้านนั้นมันมากน้อยเพียงใด ที่สัมผัสได้ก็มีเพียงเจ้าก้อนความคาดหวังและความกดดันจากพ่อกับแม่ที่ผมต้องแบกรับมาตลอดชีวิตการเป็นนักเรียน บ้าน รถ และค่าเล่าเรียนยังผ่อนได้ แต่ความคาดหวังนั้นไม่เคยถูกผัดผ่อนเลย

ด้วยต้นทุนการศึกษาเล่าเรียนขนาดนี้ จะมีอาชีพใดหรือครับที่ผมสามารถทำประโยชน์แก่สังคมได้ ทั้งยังคุ้มค่ากับเงินค่าเทอม หยาดเหงื่อแรงงาน และความคาดหวังที่พ่อกับแม่มีต่อผมและน้องตลอดยี่สิบปีของการเรียน

เงินเดือนของข้าราชการ อาชีพที่ตาและยายอยากให้ผมทำเพื่อหวังให้เป็นเจ้าคนนายคน เริ่มต้นที่หมื่นกว่าบาท ซึ่งเป็นอัตราที่จะทำให้ผมมีรายได้ต่อปีต่ำกว่าประชากรของประเทศไทยโดยเฉลี่ยเสียอีก ผมอาจได้มากกว่านี้อีกสักหน่อยถ้าไปทำบริษัทเอกชน แต่ก็ต้องแลกกับสวัสดิการที่ลดลงมาและความเสี่ยงของเส้นทางอาชีพที่แขวนไว้กับกระแสโลกและตลาดการค้าที่อยู่เหนือการควบคุมใดๆ ของคนอย่างผม

ตลาดการศึกษาและตลาดแรงงานไทยอาจเปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยของอาจารย์ไปมาก แต่สิ่งที่เป็นอกาลิโกคือโครงสร้างการเมืองครับ ยุคสมัยของผมยังคงมีนายทหารเป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารประเทศเฉกเช่นยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขื่อแปอาจมีมากขึ้นดังที่อาจารย์คาดหวัง แต่อำนาจกับสถานภาพก็ยังคงมาคู่กันเช่นเดิม

โอกาสที่ผมจะสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยกิจการของตัวเองก็คงมีอยู่บ้าง แต่ทุกธุรกิจต่างก็มียักษ์ใหญ่ยืนผูกขาดเฝ้าประตูอยู่ทั้งสิ้น “Level playing field” ยังคงไม่มีคำแปลในภาษาไทย ต้นทุนการกู้ยืมเงินมาลงทุนยังคงแพงลิบ การเป็นแรงงานหรือพนักงานเพื่อหวังจะได้รับจัดสรรปันหุ้นส่วนในห้างร้านดังที่อาจารย์หวังกลายเป็นความฝันลมแล้งที่ขัดกับแนวทางธุรกิจยุคโลกาภิวัตน์

สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มล้มหายตายจาก หรือไม่ก็ต้องพึ่งพารัฐและทุนเพื่อความอยู่รอด ความเป็นกลางถูกคำนวณเป็นต้นทุน การทำข่าวเจาะลึกเป็นความฟุ่มเฟือย หาใช่หลักการตั้งต้น ระบบสื่อสารใหม่ๆ บนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักของยุคสมัย แม้ผู้คนจะเข้าถึงได้กว้างขวางยิ่งกว่ายุคใดๆ แต่สื่อใหม่ก็เต็มไปด้วยการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม กฎของเซย์ที่ว่าอุปทานสร้างอุปสงค์เสมือนเกิดใหม่อีกครั้งในโลกออนไลน์ที่ความฉับไวมาพร้อมการละเมิดสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคล

ถึงแม้บริการด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคมในยุคนี้จะดีขึ้นและทั่วถึงกว่าสมัยของอาจารย์มาก แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถึงกระนั้นก็ยังไม่เคยมีการอภิปรายเรื่องนี้ในเวทีสาธารณะอย่างกว้างขวาง กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ถูกลืมไป ทั้งยังถูกเบี่ยงประเด็นให้เป็นเรื่องของผู้ใจบุญและการบริจาคมากกว่าสิทธิพื้นฐานของประชาชนและการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ดี อาจารย์น่าจะดีใจหากได้เห็นว่าเมืองไทยของเรามีพิพิธภัณฑ์และแหล่งวัฒนธรรมหลากหลายมากขึ้น มีกิจกรรมทางศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ และดนตรีอยู่เนืองๆ ติดเพียงว่างานเหล่านี้ยังกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก และการเดินทางไปชมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะเราต้องฝ่าฟันการจราจรอันแสนสาหัสเพื่อเข้าไปยังใจกลางเมือง หรือไม่ก็ต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้าไปกลับที่สูงเกือบครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำรายวันเลยทีเดียว

ครับ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องนโยบายสาธารณะทั้งสิ้น อาจารย์ปรารถนาจะเห็นประชาชนทุกคน “มีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ” แต่อาจารย์ครับ ความสงบเรียบร้อยกลายมาเป็นเป้าหมายหลักของสังคมทุกวันนี้มากกว่าการมีส่วนร่วมไปเสียแล้ว อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้มีอำนาจกำหนดชะตากรรมของประเทศ

สิ่งที่อยู่ใกล้กับชีวิตคนธรรมดาอย่างผมมากกว่านโยบายสาธารณะคงเป็นเชิงตะกอน ผมไม่รู้ว่าจะสามารถหลีกหนีการ “ตายอย่างโง่ๆ บ้าๆ” แบบที่อาจารย์กลัวได้หรือไม่ เพราะนอกจากปัญหาทางอากาศและอาหารที่ส่งผลต่อร่างกายทีละน้อยแล้ว ไทยก็ยังติดอันดับต้นๆ ในฐานะประเทศที่มีอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลกด้วย แม้จะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ก็ตาม

และเมื่อวันนั้นมาถึง ต่อให้ผมอยากให้มีการเผาโดยไร้พิธีรีตองเช่นที่อาจารย์ปรารภไว้ ลูกหลานเองก็คงจะโดนปรามโดยผู้คนรอบข้างอยู่ดี และสุดท้ายก็คงต้องยอม “ทำบุญ” ให้กับวัดเพื่อจัดพิธีกรรม ซึ่งถ้ามีสวดบำเพ็ญกุศลสักห้าคืนก็อาจได้ทำบุญเป็นหลักแสนเหมือนกัน

คิดไปคิดมาแล้ว ดูเหมือนต้นทุนชีวิตที่สูงลิ่วในยุคสมัยของผมนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่ได้อยู่บนความจำเป็นเสียทั้งหมด ฟากหนึ่งของรายจ่ายล้นเหลือก็มาจากความคาดหวังของคนรอบข้างและวัฒนธรรมของสังคมที่คาดหวังให้เราปฏิบัติตาม ตั้งแต่การจัดงานแต่งงานของพ่อกับแม่ที่ควรเป็น วิธีการเลี้ยงดูลูกที่เหมาะสม รวมถึงการศึกษาและการทำงานที่มีหน้ามีตา

อีกฟากหนึ่งก็มาจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐและตลาดที่ทำให้ทางเลือกด้านอาหาร โรงพยาบาล โรงเรียน การประกอบธุรกิจ หรือการรับข้อมูลข่าวสาร ล้วนเต็มไปด้วยข้อจำกัด และไม่ได้เกื้อหนุนให้คนธรรมดาๆ อย่างเราได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ

อาจารย์ป๋วยครับ ความสุขสวัสดีและสันติสุขดังที่หวังไว้นั้นว่ายากเย็นแสนเข็ญแล้วในยุคสมัยของอาจารย์ กลับกลายเป็นอุโมงค์ที่ไร้แสงปลายทางในยุคสมัยของผม

เราจะใช้ชีวิตเปี่ยมคุณค่าและความหมายได้เพียงใด หากต้องแบกรับต้นทุนสูงเช่นนี้ตั้งแต่วันที่อยู่ในครรภ์ของแม่จนถึงวันที่หมดลมหายใจและมาอยู่บนเชิงตะกอน

อ้อ ต้นทุนชีวิตยุคผมยังไม่ได้จบที่เชิงตะกอนด้วยครับอาจารย์ เพราะในห้วงเวลาสุดท้ายที่เถ้ากระดูกของผมจะกลับสู่ผืนน้ำ เพื่อให้ดวงวิญญาณมีความร่มเย็นเป็นสุข กองเรือยุทธการ บก.กร.กลางอ่าวดงตาล จ.ชลบุรี ก็ยังคิดค่าบริการไปลอยอังคารเป็นจำนวนเจ็ดพันบาท!

ไม่มีความสวัสดีใดที่ไร้ต้นทุนเลยครับ

 

อ้างอิง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save