fbpx
พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ปูชนียบุคคลทางการเมืองของประเทศไทย

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ปูชนียบุคคลทางการเมืองของประเทศไทย

พนัส ทัศนียานนท์ เรื่อง

 

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเสียใจยิ่งนักที่ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม (อาจารย์สมคิด) ต้องมาจากพวกเราไปในห้วงเวลาที่การเมืองระบอบประชาธิปไตยกำลังตกต่ำถึงขีดสุด เมื่อนักการเมืองอาชีพอย่างท่านและการเลือกตั้งถูกประณามว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายแบบเหมารวม ด้วยข้อกล่าวหาว่าซื้อสิทธิ์ขายเสียง ใช้กลโกงทุกอย่างเพื่อเอาชนะคะคานกันในการเลือกตั้งทุกประเภท ไม่เฉพาะแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ครั้นเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็อาศัยอำนาจรัฐที่ได้มาแสวงหาประโยชน์โดยทุจริต หรือโดยมิชอบกันอย่างไม่มีความระงับยับยั้งอย่างใดๆ เลยทั้งสิ้น

ไม่ว่าข้อกล่าวหานี้จะมีมูลความจริงมากน้อยเพียงใด ในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ดูเหมือนมีฉันทมติ (consensus) ว่า นักการเมืองระบอบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมีความชั่วร้ายเช่นนั้นจริง

ท่ามกลางกระแสต่อต้านประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาที่ทวีความเข้มข้นขึ้น จนในที่สุดนำไปสู่การเรียกร้องให้กองทัพออกมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 อาจารย์สมคิดเป็นนักการเมืองผู้อาวุโสคนหนึ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่โดยไม่แปดเปื้อน และสามารถยืนหยัดมั่นคงในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างไม่เสื่อมคลาย

ตลอดชีวิตงานทางการเมืองของท่าน เป็นการอุทิศตนให้กับการต่อสู้เพื่อให้ระบอบการปกครองของสังคมไทยพัฒนาไปสู่การเป็น “รัฐสวัสดิการ” ตามแนวทาง “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ที่ห่วงใยและเอื้ออาทรต่อการยกระดับความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของผู้ยากไร้ในชนบท ไม่ให้เกิดความความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมกับคนเมืองจนเกินไป เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อันเป็นจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของท่านในฐานะที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวอีสาน เช่นเดียวกับ แคล้ว นรปติ กระแส ชนะวงศ์ ผู้นำทางการเมืองหัวก้าวหน้าจากดินแดนถิ่นอีสานในยุคเดียวกัน

ในทางส่วนตัว อาจารย์สมคิดมีชาติกำเนิดจากครอบครัวคนสามัญธรรมดาชาวอุดรธานี บิดามารดามีอาชีพทำนา แต่ท่านมีพรสวรรค์ที่เป็นคนเรียนเก่ง ประกอบกับได้รับการอบรมบ่มเพาะให้มีอุปนิสัยมุ่งมั่นอดทน จึงประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนมาโดยตลอด กล่าวคือ สามารถเรียนจบหลักสูตรมัธยมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ในปี พ.ศ. 2478 โดยได้รับคะแนนเกินกว่า 75% ซึ่งถือว่าเป็นระดับดีเยี่ยมของประเทศ ท่านสำเร็จการศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต โดยสามารถเรียนจบได้ภายใน 4 ปี ทั้งๆ ที่ต้องทำงานเป็นครูอยู่ที่อุดรธานีควบคู่กันไป

หลังเรียนจบ อาจารย์สมคิดได้สมัครเข้ารับราชการกรมอัยการ ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย แต่รับราชการเป็นอัยการอยู่เพียงไม่ถึง 6 เดือน ก็โอนไปเป็นอัยการทหาร กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม

ด้วยความมุ่งมั่นมาแต่เดิมที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศให้ได้ ท่านสามารถสอบชิงทุนรัฐบาลของ ก.พ. ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Birmingham ประเทศอังกฤษ โดยศึกษาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์อยู่เป็นเวลา 8 ปี ในขณะเดียวกัน ท่านยังคงศึกษาวิชากฎหมายต่อไปตามหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบเป็นนิติศาสตร์มหาบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การคุมประพฤติเด็ก” (Juvenile Probation)

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ อาจารย์สมคิดกลับมารับราชการในกรมพระธรรมนูญต่อ จนได้รับเลื่อนยศเป็นพันเอก และดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้ากองนิติธรรมทหาร ก่อนลาออกไปทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2506-2512 โดยการชักชวนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น

ในปี พ.ศ. 2512 อาจารย์สมคิดลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี ในการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่มีการว่างเว้นมาเป็นเวลานานกว่า 11 ปี นับตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ. 2500

อาจารย์สมคิดลงสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จากพรรคนี้แต่เพียงผู้เดียว จากการทุ่มเทอุทิศตนให้แก่การทำหน้าที่ในรัฐสภาเพื่อช่วยเหลือประชาชน อาจารย์สมคิดได้รับความไว้วางใจและเคารพนับถือจากชาวอุดรธานีเป็นอย่างมาก จึงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. 4 สมัย (2512-2514, 2518-2519, 2519-2520 และ 2529-2531) เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) (2539-2540) และเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง (สว.) (2543-2549) นอกจากนั้น ในช่วงหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์สมคิดยังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (สภาสนามม้า 2516) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2516-2517)

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่อาจารย์สมคิดมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองไทย ท่านได้แสดงให้ปรากฏถึงความมีภาวะผู้นำที่กล้าหาญด้วยการเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า ท่ามกลางกระแสปฏิกิริยาโต้กลับอย่างรุนแรงจากกลุ่มการเมืองและกลุ่มมวลชนฝ่ายตรงกันข้าม โดยเป็นหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2518 เป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2521-2529 และเป็นเลขาธิการพรรคแรงงานประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2530-2531

ในฐานะนักกฎหมาย นักสังคมศาสตร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ อาจารย์สมคิดนับได้ว่าเป็นผู้มีคุณูปการอย่างมากต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ โดยในปี พ.ศ. 2516-2517 ท่านมีส่วนร่วมจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ระหว่างปี พ.ศ. 2523-2531 เป็นประธานคนแรกของโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) และเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย พ.ศ. 2540

ถึงแม้จะเคยได้ยินกิตติศัพท์ของอาจารย์สมคิดมานาน แต่กว่าจะได้มีโอกาสรู้จักกันก็ต่อเมื่อผมได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฯ จากจังหวัดตาก เข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญฯ 2540 ด้วยกันกับท่าน

และต่อมาอีก 3 ปี ก็ได้ร่วมงานกันอีกเมื่อเราต่างได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภามาจากจังหวัดของตนเอง จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในวุฒิสภาเป็นเวลานานกว่า 6 ปี ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า อาจารย์สมคิดเป็นนักการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยแท้จริง และสามารถดำรงตนเป็นนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ใสสะอาด

บทบาทอันโดดเด่นทางการเมือง และผลงานในทางสร้างสรรค์ระบอบงานของรัฐสภาและการปกครองระบอบประชาธิปไตยของท่าน สมควรเป็นแบบอย่างให้นักการเมืองรุ่นใหม่ดำเนินรอยตาม เพื่อช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์คุณค่าของประชาธิปไตยให้กลับคืนมาสู่การตระหนักรู้และยอมรับของคนไทยทั้งผองให้จงได้

จากคุณูปการอันใหญ่หลวงที่อาจารย์สมคิดมีต่อการสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้งอกงามขึ้นในประเทศไทย ท่านสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะปูชนียบุคคลทางการเมืองที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save