fbpx
พุทธศักราชอัสดงฯ กับความ (ไร้) ทรงจำของคนจีนบนแผ่นดินไทย

พุทธศักราชอัสดงฯ กับความ (ไร้) ทรงจำของคนจีนบนแผ่นดินไทย

ธร ปีติดล เรื่อง

 

“โศกนาฏกรรมครั้งนั้นไม่เพียงไม่เคยถูกกล่าวขาน หากยังถูกลืมและในที่สุดก็ลบเลือนเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ อีกนับร้อยพันของประเทศไร้ความทรงจำ”

 

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ (ผู้เขียนขอเรียกด้วยชื่อย่อว่า พุทธศักราชอัสดงฯ) เป็นนวนิยายที่แต่งโดย วีรพร นิติประภา นักเขียนผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2558 จากนวนิยาย ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต การได้รางวัลซีไรต์ทำให้ผลงานของวีรพรเป็นที่จับตา และพุทธศักราชอัสดงฯ ก็ไม่ทำให้แฟนหนังสือของเธอผิดหวัง วีรพรยังคงถ่ายทอดความหวานซึ้งและร้าวรานในชีวิตผู้คนผ่านภาษาของเธอที่แสนไพเราะได้ไม่เปลี่ยนแปลง

หากเรื่องราวในไส้เดือนตาบอดฯ นั้นวนเวียนอยู่กับความรักและการพลัดพรากของคู่รัก เรื่องราวในพุทธศักราชอัสดงฯ ก็ขยับไปสู่ความผูกพันและความปวดร้าวของความสัมพันธ์ในครอบครัว เล่าถึงเส้นทางของครอบครัวคนจีนโพ้นทะเลบนแผ่นดินสยาม บนเส้นทางของการสร้างครอบครัวและขยับขยายฐานะ พวกเขาต้องผ่านพบความแปรผันหลายประการทั้งบนแผ่นดินไทยและแผ่นดินบ้านเกิด ดังสายน้ำแห่งโชคชะตาที่คอยซัดพรากแต่ละคนให้สาบสูญไปคนละทิศละทาง

นับจากวันที่หัวหน้าครอบครัวแซ่ตั้ง ‘ตาทวดตง’ และภรรยา ‘ยายทวดเสงี่ยม’ รับเอาเด็กชายจากครอบครัวที่ยากจนเข้ามาเป็นลูกบุญธรรม จากไม่มีลูกมาหลายปี พวกเขาก็กลับได้ลูกอิจฉาตามมาคนแล้วคนเล่า จากนั้นครอบครัวแซ่ตั้งก็ผ่านเข้าสู่ห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ตารปัตรพลิกผัน

“..การเปลี่ยนแปลงการปกครองอภิวัฒน์สยามทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลต้องหวาดวิตกลึกๆ ในใจมาอีกหลายปี จักรวรรดิญี่ปุ่นและการแผ่ขยายอำนาจของลัทธิฟาสซิสม์ในเอเซียบูรพา สงคราม รัฐนิยม มาลานำไทย น้ำท่วมน้อยใหญ่หลายครา โรคระบาดหลายหน จนมาถึงการอพยพครอบครัวหนีลูกระเบิดที่ถูกระดมทิ้งใส่พระนครออกพเนจรไปในลำน้ำ กบฏรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน การลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่แปดซึ่งมืดมนไปชั่วกาลจักรวาล”

เงื่อนปมแห่งความสัมพันธ์ที่ปวดร้าวถูกถ่ายทอดไปพร้อมกับเหตุการณ์เหล่านี้ ความร้าวรานที่ซ่อนในใจของ ‘จงสว่าง’ ลูกเลี้ยงที่กลายมาเป็นกำลังหลักของครอบครัว แต่ยังหนีไม่พ้นความน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะที่แท้จริงของตน ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับจงไสว น้องที่เป็นสายเลือดแท้จริงของครอบครัว ที่แม้จะเคยรักกันปานจะกลืนแต่แล้วชะตาก็นำพาให้เขาทั้งสองต้องแยกจากและขัดแย้งกัน รวมถึงเรื่องราวของความรักที่ไม่สมหวังครั้งแล้วครั้งเล่าของสมาชิกครอบครัวแทบทุกคน

มากกว่าเรื่องราวร้าวรานเหล่านั้น สิ่งที่เด่นชัดมากในพุทธศักราชอัสดงฯ ก็คือเรื่องราวของความทรงจำ โดยเฉพาะความทรงจำที่แสนเศร้าและพร่าเลือน ตาทวดตงเป็นตัวละครที่แบกรับเอาความทรงจำแบบนี้ไว้มากกว่าใครอื่น เมื่ออายุได้สิบห้าปีเขาก็จากครอบครัวในเมืองชนบทของมณฑลกวางตุ้งเพื่ออพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และเมื่อเริ่มสร้างครอบครัวและกิจการของตนเอง ตาทวดตงกลับต้องเผชิญกับมรสุมจากภาวะสงครามโลก ซึ่งพัดพาจนเขามองไม่เห็นที่ทางของตนในพระนครอีกต่อไป

“และเมื่อนกเหล็กกลับมาอีกครั้งหลังน้ำลด…พระนครก็คงไม่พ้นถูกถล่มราบเป็นหน้ากลองในฟอนไฟ…ไม่รวมอำนาจมืดมองไม่เห็นที่สุมรุมคุกคาม ไหนทุกซอกทุกมุมเมืองจะมีแต่ทหารญี่ปุ่นขวักไขว่เพ่นพ่าน ฆ่าข่มขืนโหดร้ายที่นานกิงเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่ได้ยินมายังฝังใจ…ไหนจะต้องคอยเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ให้ไปผิดใจกับเจ็กจีนด้วยกันเองที่แตกแยกเป็นฝักฝ่ายจนไม่รู้ใครอยู่ก๊กไหนก๊วนไหน ไม่รวมต้องคอยเอาอกเอาใจทั้งราชการไทยกับผู้กว้างขวางประดามีที่จ้องหาเหตุใส่ร้ายไถรีด”

ครอบครัวแซ่ตั้งระหกระเหินจากกรุงเทพฯ ไปตั้งตัวอยู่ที่เมืองแปดริ้ว พวกเขาสร้างหลักแหล่งให้กับตนเองบนบ้านหลังใหญ่ บ้านแบบที่ตาทวดตงเคยวาดฝันไว้เมื่อครั้งยังยากจนว่าสักวันจะได้มีเหมือนกับใครเขา แต่แม้จะได้ลงหลักปักฐานบนบ้านที่ตนเองใฝ่ฝัน ความทรงจำจากบ้านเกิดก็ยังคอยตามมาร้องเรียกอยู่เสมอ เขายังมุ่งมั่นว่าวันหนึ่งจะได้กลับสู่ครอบครัวที่เมืองจีน ตั้งหน้าตั้งตาทำงานส่งเงินกลับไป จนกระทั่งหนึ่งถึงรู้ว่า

“ถูกอาหยิ่วคนรับฝากเงินกลับบ้านหลอกโกงเงินมานานหลายปี เลวทรามอะไรเช่นนี้ ยังมีหน้ามารับเงินฝากกลับบ้านปีละสองครั้งจนกระทั่งมาขาดการติดต่อกันไปช่วงสงคราม โดยไม่ยอมปริปากบอกว่าครอบครัวเขาย้ายไปตั้งรกรากใหม่ที่อื่นนานแล้ว…ครั้นติดตามต่อไปจนถึงหมู่บ้านที่ว่า ก็พบว่าทั้งครอบครัวตายไปพร้อมกันหมดแล้วในน้ำท่วมใหญ่เมื่อหลายปีก่อน”

แม้จะสูญเสียแม่และพี่น้องไปแล้ว แต่ตาทวดตงก็ยังดั้งด้นกลับไปสร้างครอบครัวใหม่ไว้อีกครอบครัวที่บ้านเกิด เพื่อให้กลายมาเป็นหลักชัยใหม่ให้เขาได้ประคองฝันในการพาครอบครัวจากเมืองไทยอพยพกลับเมืองจีน แต่แล้วฝันนี้กลับสลายไปอีกครั้ง เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ทรัพย์สินที่ตาทวดตงพยายามสร้างไว้ที่เมืองจีนถูกริบหายไปหมดสิ้น ทั้งครอบครัวใหม่ของเขาเองก็หายไปไม่สามารถตามหาได้

ผ่านการสูญเสียเจ็บช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความทรงจำเกี่ยวกับบ้านเกิดของตาทวดตงจึงค่อยตายจาก และแม้คนในครอบครัวดูเหมือนจะเข้าใจเขา แต่ก็ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาต้องสูญเสียนั้นไม่ใช่เงินทองทรัพย์สิน ไม่ใช่เพียงอีกครอบครัวที่สูญหาย

“หากคือฐานที่มั่นเล็กจ้อยราวฝุ่นผงในจักรวาลว้างของคนหนึ่งคน คือหวังเดี่ยวดายที่ยึดโยงเขาไว้กับลมหายใจ คือฝันประโลมที่พาเขาฟันฝ่าทุกข์ยากขมขื่นที่ชีวิตหยิบยื่นให้ไปจนถึงอีกฝั่งฝาก คือความหมายของการเกิดมา…ดำรงอยู่”

 

ความ (ไร้) ทรงจำของคนจีนบนแผ่นดินไทย

 

ความทรงจำร้าวรานของตาทวดตง ไม่เพียงมาจากการสูญเสียบ้านเกิดให้เดินทางกลับไปเท่านั้น อีกความรู้สึกที่คอยผลักดันให้เขารู้สึกสูญสิ้นถึงความหมายของชีวิต คือการที่เขาไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหม่ที่อยู่อาศัยมานาน

ตาทวดตงมักจะมองอย่างขมขื่นต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเหล่าคนจีนอพยพในประเทศไทย เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์จราจลกรณีเลี๊ยะพะขึ้นในเยาวราช ส่งผลให้ทางรัฐบาลส่งกำลังตำรวจหลายร้อยนายเข้าปิดล้อม ก่อนจะกราดยิงเข้าไปตามบ้านเรือนและร้านค้า ตาทวดตงก็ไม่เชื่อถึงเหตุผลที่รัฐบาลไทยประกาศ ว่าการจราจลนั้นเกิดขึ้นจากความดีใจจนบ้าคลั่งของชาวจีนชาตินิยมในชัยชนะจากสงคราม  หรือเมื่อมองย้อนไปถึงเหตุที่ชุมชนคนจีนนั้นตกเป็นเป้าการทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรอยู่บ่อยครั้งในช่วงสงครามโลก เขาก็เชื่อว่า

“…เป็นเพราะฝรั่งสัมพันธมิตรรู้ดีว่าบริเวณนั้นไม่ใช่ถิ่นฐานคนไทย แต่เป็นที่ทำมาหากินค้าขายของชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาอาศัยแผ่นดินทำกิน จะล้มตายเสียหายแค่ไหนก็ไม่เป็นที่เดือดเนื้อหมางใจกับรัฐบาลไทยซึ่งไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง”

คนอย่างตาทวดตงระลึกถึงความเป็นอื่นบนแผ่นดินไทยของตนเองอยู่เสมอ เขามองตนเองเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่แค่ชั่วคราว ความทรงจำแสนเศร้าของการลาจากแม่แท้ๆ ที่เขาไม่มีโอกาสได้พบเจออีกครั้ง ยังคอยย้ำให้เขาสำเหนียกว่าตัวเขานั้น “ชิงชังการเป็นคนแปลกหน้าบนแผ่นดินที่ไม่ใช่ของของตนนี้เพียงไร”

การถ่ายทอดความทรงจำของการพลัดพรากและความรู้สึกเป็นอื่น ทำให้พุทธศักราชอัสดงฯ เป็นนวนิยายที่วางตนต่างไปจากขนบของนวนิยายเกี่ยวกับคนจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย  ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายถึงขนบดังกล่าวไว้ว่า งานเขียนเกี่ยวกับตัวพวกเขาเองของคนไทยเชื้อสายจีนนั้น มักจะขาดอารมณ์อย่างที่พบเจอได้จากวรรณกรรมที่เขียนโดยคนจากชุมชนอพยพในประเทศอื่นๆ กล่าวคือ มักจะไม่ได้แสดงความรู้สึกโกรธเกรี้ยว อารมณ์รำพึงรำพันถึงการพลัดพราก และการไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชนเจ้าถิ่น

การทลายขนบในพุทธศักราชอัสดงฯ ยังผลักดันให้เราทบทวนอีกครั้งว่า แท้จริงแล้วเราได้ลืมเลือนแง่มุมใดในอดีตของคนจีนโพ้นทะเลในไทยไปบ้าง ต่างจากความเชื่อที่แพร่หลายในปัจจุบันของลูกหลานคนจีนในไทย ที่มักจะเข้าใจเอาสั้นๆ ง่ายๆ ว่าการจากลาจากบ้านเกิดของบรรพบุรุษตนเองนั้นเป็นความโชคดี เพราะพวกเขาได้มาพึ่งพาดินแดนใหม่ที่ต้อนรับและให้โอกาส แต่แท้จริงแล้วเส้นทางของคนจีนอพยพในสยาม โดยเฉพาะเหล่าแรงงานที่หลั่งไหลเข้ามามากมายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า ล้วนไม่ได้เป็นเส้นทางที่ง่ายดาย

ตั้งแต่เริ่มมีการรวมศูนย์รัฐ ผู้มีอำนาจในสยามก็มองเหล่าคนจีนอพยพด้วยความกังวล เพราะคนจีนเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีจำนวนมากมาย แต่ยังมีระบบการปกครองกันเองผ่านสมาคมลับที่เรียกว่าอั้งยี่ รัฐสมัยใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ไม่อาจควบคุมจัดการกลุ่มคนจีนทีแตกเป็นกลุ่มย่อยและขัดแย้งกันอยู่เสมอๆ ได้อย่างต้องการ ถึงขั้นที่เคยหวาดกลัวว่าคนจีนที่ควบคุมไม่ได้เหล่านี้ จะกลายไปเป็นกำลังช่วยเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ

ความกังวลใจรัฐไทยที่มีต่อคนจีนอพยพ ถูกแสดงออกอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่หก อาจเพราะเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ ก็ต้องเผชิญกับการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของแรงงานจีนในกรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2453 คำบอกเล่าจากหนังสือพิมพ์ต่างชาติเล่าถึงสภาพหลังการหยุดงานครั้งนั้นว่า แทบทำให้กิจการการค้าของกรุงเทพฯ ทั้งหมดต้องหยุดชะงักลง กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่เงียบสงัด จนท้ายที่สุดรัฐบาลต้องใช้กำลังเข้าจัดการผู้นำแรงงานชาวจีนอย่างเด็ดขาดจึงคลี่คลายสถานการณ์ได้

หลังจากเหตุการณ์นั้น ความพยายามของผู้ปกครองในการต่อต้านความมั่งคั่งและบทบาททางการเมืองของคนจีนในสยามก็เด่นชัด โดยเฉพาะเมื่อมีการเปรียบเทียบจากราชสำนักว่าคนจีนนั้นเป็นดั่ง ‘ยิวแห่งบูรพาทิศ’ ที่มีความเป็นต่างด้าว จ้องคอยจะเอาเปรียบคนไทย และยังขาดความจงรักภักดี

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เหมือนจะเปิดโอกาสเปลี่ยนแปลงฐานะของคนจีนในสยามให้ดีขึ้น แต่ความหวังนี้ก็ไม่เป็นจริง เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเรืองอำนาจพร้อมนโยบายชาตินิยมแบบฟาสซิสม์ การเปรียบเปรยคนจีนให้เป็นอื่นที่เริ่มไว้ใน ‘ยิวแห่งบูรพาทิศ’ ถูกรื้อฟิ้นกลับมา พร้อมกับนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเป้าไปที่พ่อค้าจีนว่าเป็นต้นตอของการเอารัดเอาเปรียบคนไทย เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมบทบาททางเศรษฐกิจของคนจีนและพยายามกีดกันพวกเขาออกจากอำนาจทางการค้า

 

อัสดงแห่งความทรงจำ

 

หากจะว่าไปแล้ว กว่าที่เหล่าคนจีนโพ้นทะเลจะได้มีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวได้โดยไม่ต้องถูกกดดันและบีบคั้นจากรัฐไทย ก็ล่วงมาถึงช่วงหลังพ.ศ.2500 ที่นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมถูกยกเลิกไป และแทนที่ด้วยนโยบายเศรษฐกิจแบบใหม่ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่มุ่งส่งเสริมบทบาทของทุนเอกชน ซึ่งโดยมากก็คือทุนเชื้อสายจีนนั่นเอง

หากแท้จริงแล้วเส้นทางของคนจีนที่อพยพหนีความลำบากยากจนเข้ามาหาโอกาสในเมืองไทยไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายดาย แต่แล้วทำไมความทรงจำเกี่ยวกับหลากหลายปัญหาที่พวกเขาพบเจอจึงไม่ถูกเล่าถึงนัก เหตุใดความทรงจำเหล่านี้จึงพร่าเลือนและถูกทดแทนด้วยคำบอกเล่าอื่น โดยเฉพาะคำบอกเล่าถึงการเข้ามา ‘พึ่งพระบรมโพธิสมภาร’

ทักษ์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การรณรงค์และนโยบายกีดกันคนจีนอพยพในสยาม เช่นที่เคยถูกใช้ในการกล่าวถึงยิวแห่งบูรพาทิศนั้น แท้จริงไม่ได้มุ่งหมายจะกีดกันคนจีนทั้งหมด แต่มุ่งขีดเส้นแบ่งระหว่างคนจีนที่ดีและไม่ดีออกจากกัน โดยคนจีนที่ดีนั้นก็คือจีนที่ยอมรับความเป็นไทย ในขณะที่จีนที่ไม่ดีก็คือจีนที่ยังคงสภาพความเป็นอื่นของตนเองไว้ ผลของนโยบายเช่นนี้คือการผลักดันคนจีนให้ยอมรับอัตลักษณ์ใหม่และสละทิ้งตัวตนเดิม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความพยายามกีดกันคนจีนในไทยนั้น แยกไม่ออกจากความพยายามกลืนกลายคนจีนในสังคมไทย นโยบายชาตินิยมสมัยจอมพล ป. แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความพยายามดังกล่าว ตั้งแต่การที่รัฐบาลผลักดันให้คนจีนหันมาใช้นามสกุลไทยและเปลี่ยนมาใช้สัญชาติไทย จนถึงการปิดโรงเรียนจีนและหนังสือพิมพ์จีน สิ่งที่รัฐทำเหล่านี้ก่อให้เกิดการกลืนเชื้อชาติอย่างรวดเร็ว และในช่วงเวลาเพียงไม่นาน คนจีนจำนวนมหาศาลในไทยก็ขาดความสามารถจะสื่อสารกันเองในภาษาจีน มิหนำซ้ำยังต้องหันมาใช้ภาษาไทยในการเรียนรู้วัฒนธรรมของตน

ความพยายามกลืนเชื้อชาติจีนของรัฐไทย ถูกปรับแต่งอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทักษ์เล่าถึงนโยบายลับที่ถูกใช้เพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่คนจีนในไทยไว้ว่า รัฐบาลตระหนักว่าการมุ่งจำกัดอิทธิพลและขจัดบทบาทของคนจีนและสมาคมของพวกเขานั้น อาจกลับกลายเป็นการสร้างความเกลียดชังและแรงเสียดทาน แนวนโยบายที่รัฐไทยใช้จึงกลายมาเป็นการหาหนทางทำให้คนจีนในประเทศไทยกลายเป็น ‘ราษฎรไทยที่จงรักภักดี’ แนวทางนี้ถูกคาดหวังว่าจะลดความเป็นไปได้ที่คนจีนในไทยจะหันไปฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ด้วยการสร้าง ‘ความมั่นคง’ ให้กับพวกเขา

การหยิบยื่นความมั่นคงเพื่อแลกกับการลืมเลือนตัวตนและความทรงจำที่ปวดร้าว ดูจะเป็นแนวทางที่ได้ผลดียิ่ง โดยเฉพาะในบริบทที่คนจีนอพยพจำนวนมากต้องสูญเสียความหวังในการกลับสู่บ้านเกิด ด้วยเพราะความพลิกผันในการเมืองของประเทศตนเอง ทำให้พวกเขาไม่มีบ้านให้กลับอีกต่อไป

ในพุทธศักราชอัสดงฯ หลังจากการเปลี่ยนแปลงที่เมืองจีน ตาทวดตงก็เปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง

“จนเมืองจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองและทรัพย์สินที่มีทั้งหมดถูกริบหาย ตาทวดตงจึงตระหนักว่าความมั่งคั่งที่สร้างมาได้…ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงไหน ก็อาจสูญหายในอากาศธาตุเอาง่ายดายเหมือนไม่เคยมี ความมั่นคงต่างหากเล่าที่ที่เขาต้องการ…”

ดูเหมือนว่าท้ายที่สุดแล้ว การยอมให้ความทรงจำของตนเองพร่าเลือนไปของคนจีนอพยพเช่นตาทวดตง จะเป็นทางออกให้พวกเขาได้เยียวยาบาดแผลและเริ่มต้นชีวิตใหม่ แนวทางเช่นนี้ไม่ต่างจากที่คนจีนในไทยจำนวนมหาศาลเลือกเดินเช่นกัน พวกเขารับเอาอัตลักษณ์ใหม่เข้ามาเป็นของตน เรื่องราวของคนจีนที่กตัญญูต่อบ้านเมืองใหม่ของพวกเขา เข้ามาแทนที่คนจีนที่ยังอาลัยถิ่นกำเนิดที่จากมา ความสำเร็จในชิวิตของคนจีนรุ่นต่อๆ มาถูกเชื่อมโยงกับการรู้จักสำนึกบุญคุณแผ่นดินใหม่ และในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี ปรากฏการณ์อย่าง ‘ลูกจีนรักชาติ’ ที่แสดงออกถึงความเป็นไทยอย่างล้นเหลือก็เกิดขึ้น

ในทางหนึ่งเราอาจมองได้ว่า การยอมโดนกลืนตัวตนและสูญสิ้นความทรงจำก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว ในเมื่อความทรงจำนั้นก็มีแต่บาดแผลให้ระลึก และการจดจำถึงความเป็นอื่นก็มีแต่จะเป็นฐานแห่งความแปลกแยกแตกต่างในสังคม

แต่ในอีกทางหนึ่ง เราก็อาจถามได้เช่นกันว่า การอยู่อย่างไร้ความทรงจำนั้นเป็นเรื่องที่ดีแล้วจริงๆ หรือ เพราะแม้ความทรงจำนั้นจะเจ็บปวด แต่ก็ยังทำให้เรายึดอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตได้ การไม่ยอมจดจำต่างหากที่อาจเป็นเหตุชีวิตต้องอยู่อย่างล่องลอย ไร้ความจริงให้ยึดเหนี่ยว และชีวิตที่ล่องลอยก็อาจต้องหลงทางเวียนวนอยู่ในโลกสมมติจนเข้าถึงความมั่นคงใดๆ ไม่ได้อย่างแท้จริง ดังวลีหนึ่งที่พุทธศักราชอัสดงฯ ทิ้งท้ายเอาไว้

 

“ความแหว่งวิ่นและพร่าเลือนของชีวิต บางทีก็ทำให้ไม่แน่ใจว่าเรายืนอยู่ฝั่งไหนของโลกจริง-สมมติ”

 


 

อ้างอิง

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (2558) “อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย” แปลโดย พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ กรุงเทพ: สำนักพิมพ์อ่าน

ผาสุก พงษไพจิตร และคริส เบเกอร์ (2542) “เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพ” เชียงใหม่: ซิลค์เวิอร์มบุคส์

วีรพร นิติประภา (2560) “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ”กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save