fbpx

ต้าน “ผู้นำอย่างทรัมป์” ด้วยนวัตกรรมประชาธิปไตย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

เดินขบวนต้านทรัมป์อย่างเดียวไม่พอ

ณ กลางกรุงแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก ชาวอเมริกันกว่า 5,000 คนร่วม “เดินขบวนภาษี” (Tax March) เรียกร้องให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เผยตัวเลขการคืนภาษี (tax return) ท่ามกลางข้อครหาว่านักธุรกิจเซเลบฯ คนนี้อาจปิดบังตัวเลขเพราะหลบเลี่ยงการเสียภาษี

สื่ออย่าง Times ชี้ว่าการเดินขบวนภาษีต่างจากการประท้วงที่ผ่านๆ มาของฝากลิเบอรัล ฮิปปี้ และฮิปสเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งมักเน้นประเด็นเชิงคุณค่า เช่น การเดินขบวนของกลุ่มผู้หญิง (Women’s March) เมื่อเดือนมกราคม หรือการประท้วงนโยบายกีดกันผู้อพยพ  การเดินขบวนภาษีมุ่งเป้าสื่อสารกับกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงวัย ซึ่งสนใจเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของรัฐบาลมากกว่าประเด็นสิทธิมนุษยชน

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนผู้สนับสนุนทรัมป์ยังไม่เปลี่ยนใจง่ายๆ บางคนเชื่อว่าทรัมป์เสียภาษีแน่นอน มิเช่นนั้นทรัมป์คงติดคุกไปนานแล้ว ทั้งยังเห็นว่าผู้ประท้วงไม่สร้างสรรค์ เอาแต่ประท้วงทรัมป์ ไม่ไปทำมาหากิน

มิหนำซ้ำ ผู้สนับสนุนทรัมป์บางคนไม่สนใจด้วยว่าทรัมป์จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเอาลูกหลานเข้ามาเล่นการเมืองเพื่อหาประโยชน์ทางธุรกิจ เหตุผลของคนเหล่านี้คือทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมหาศาล โกงบ้างอะไรบ้างคงไม่เป็นไร ตราบใดที่ยังรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวอเมริกัน (ผิวขาว) ส่วนใหญ่

นอกจากการเดินขบวนข้างต้น ชาวอเมริกันพยายามต้านทรัมป์ด้วยวิธีการสร้างสรรค์อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกดดันบริษัทต่างๆ ให้เลิกสนับสนุนกิจการของทรัมป์หรือเลิกลงโฆษณาในสื่อฝ่ายขวาอย่างไบรต์บาร์ต (Brietbart) หรือการรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกดดันสมาชิกสภาคองเกรสในเขตของตนให้คัดค้านกฎหมายอนุรักษ์นิยมซึ่งทรัมป์พยายามผลักดัน

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนแคมเปญต้านทรัมป์จำนวนมากมุ่งต้านทรัมป์เป็นหลัก ทว่ามิได้พยายามสื่อสารกับผู้สนับสนุนทรัมป์ในภาษาที่พวกเขาเข้าใจ หรือในประเด็นที่พวกเขากังวล ยิ่งไปกว่านั้นความพยายามต้านทรัมป์ (และผู้นำขวาประชานิยมคนอื่นๆ) มิได้โจมตีโครงสร้างใหญ่ที่ให้กำเนิดผู้นำขวาประชานิยมแต่แรก

อุปสงค์และอุปทานของ “ผู้นำอย่างทรัมป์”

ข้าพเจ้าได้เกริ่นไปในงานเขียนชิ้นก่อนถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ “ขวาประชานิยม” ในโลกตะวันตก กล่าวทวนความอย่างสั้นๆ คือ ปรากฏการณ์ขวาประชานิยมขณะนี้ประกอบไปด้วยสองมติ ได้แก่

  • อุปทาน (supply) ได้แก่ วาทกรรมและวาระทางการเมืองของผู้นำขวาประชานิยม เช่น วาทกรรมตัวแทนประชาชนทั้งหมด วาทกรรมต้านชนชั้นนำ วาทกรรมกีดกันผู้อพยพและหวาดกลัวชาวมุสลิมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาอื่นๆ และวาทกรรมต้านกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นต้น
  • อุปสงค์ (demand) ได้แก่ เหตุผลที่ผู้คนสนับสนุนผู้นำขวาประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นภาวะว่างงาน ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การที่ระบบสวัสดิการของรัฐพร่องหายและบริการของรัฐกลายเป็นธุรกิจแสวงหากำไรของเอกชน และความกระวนกระวายต่อการที่เทคโนโลยีและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

เหตุที่คนจำนวนมากสนับสนุนผู้นำขวาประชานิยมไม่ใช่เพราะวาทกรรมชาตินิยมของผู้นำเหล่านี้โดนใจเท่านั้น แต่เพราะรู้สึกว่านี่เป็นทางเลือกทางการเมืองเดียวที่มีอยู่ ผู้นำขวาประชานิยมเป็นเสมือนตัวแทนในการต่อต้านโครงสร้างอยุติธรรม สู้กับระบบการเมืองที่เฉยเมยต่อความทุกข์ร้อนของประชาชน และที่สำคัญคือตระหนักถึงเสียงเรียกร้องของประชาชน ในแง่นี้ผู้นำขวาประชานิยมเชื่อมโยงตนกับประชาชนโดยตรง ขณะเดียวกันก็อ้างว่าต้องกำจัดระบบตรวจสอบ อันขวางกั้นระหว่างตัวผู้นำกับประชาชนผู้ถูกหลงลืม

ในแง่นี้ ปรากฏการณ์ขวาประชานิยมมีความอิหลักอิเหลื่ออยู่ไม่น้อย คือแม้ผู้นำรัฐบาลอาจพูดจากระเดียดไปทางอำนาจนิยม ขู่เข็ญผู้เห็นต่าง และอ้างว่าสื่อรวมถึงเอ็นจีโอลิเบอรัลเป็น “ศัตรู” ของประชาชน ดังที่ผู้นำตุรกีหรือฮังการีทำในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

ทว่าฐานสนับสนุนผู้นำขวาประชานิยมมีเหตุผลให้คงเสียงสนับสนุนอยู่ นั่นคือ ผู้นำขวาประชานิยมเป็นทางเลือกเดียวในการต่อสู้กับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุนี้ผู้สนับสนุนทรัมป์ มารี เลอเพน (ฝรั่งเศส) เนรันดา โมดี (อินเดีย) หรือราจิบ ทายิบ เอร์โดอัน (ตุรกี) จึงไม่ได้ไร้การศึกษา ฉะนั้นจึงมิได้ถูกหลอกให้หลงคารมผู้นำขวาประชานิยมอย่างที่มักเข้าใจกัน ทว่าคนเหล่านี้มีเหตุผลของตน ผู้นำขวาประชานิยมผูกโยงความไม่พอใจทางเศรษฐกิจสังคมเข้ากับภาษาชาตินิยม ความกลัวต่อ “คนอื่น” จึงผสมปนเปความรู้สึกไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม

สู้กับผู้นำอย่างทรัมป์ด้วยภาษาเสรีนิยม

กระแสต้านกลับอาจยิ่งแรง

หากปรากฏการณ์ขวาประชานิยมคือเหรียญสองด้าน (อุปทานและอุปสงค์) แล้ว ความพยายามต้านกระแสขวาประชานิยมก็ต้องใส่ใจด้านทั้งสองของเหรียญด้วย แต่ขบวนการต้านทรัมป์และผู้นำขวาประชานิยมคนอื่นๆ ยังจดจ่ออยู่ที่ด้านอุปทานเท่านั้น การประท้วงมุ่งโจมตีทรัมป์และพลพรรคพยายามสื่อสารกับสังคม  3-4 ประการ ดังนี้

หนึ่ง ทรัมป์และพรรคพวกเป็นภัยต่อคุณค่าเสรีนิยม เช่นความเท่าเทียมกันทางเพศ ขันติธรรมต่อคนต่างวัฒนธรรม เป็นต้น

สอง คนอย่างทรัมป์เป็นภัยต่อประชาธิปไตยเพราะพยายามทำลายระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล รวมถึงคุกคามเสรีภาพสื่อและกลุ่มประชาสังคม

สาม ทรัมป์และเครือข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจเป็นเชื้อให้เกิดการทุจริตในวันข้างหน้า

ประการสุดท้าย ทรัมป์มีท่าทีเป็นมิตรกับผู้นำรัสเซีย ฉะนั้นจึงอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้สนับสนุนทรัมป์ ทั้งคุณค่าเสรีนิยม ระบบราชการ สื่อสารมวลชน และหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของขบวนการต้านทรัมป์ ล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นนำ (ลิเบอรัล) ทั้งนั้น ฉะนั้นทรัมป์จึงทำถูกแล้วที่สั่นคลอนสถาบันและคุณค่าเหล่านี้

พูดให้ถึงที่สุดคือยิ่งต้านผู้นำขวาประชานิยมด้วยภาษาของฝ่ายเสรีนิยมมากเท่าไหร่ ดูเหมือนกระแสสนับสนุนของผู้นำเหล่านี้ยิ่งแรงขึ้น การต้านทรัมป์ในฐานะบุคคลจึงยิ่งตอกย้ำความเชื่อในหมู่ผู้สนับสนุนว่าทรัมป์เป็นม้านอกสายตา ชนชั้นนำทั้งหลายตั้งใจประชาทัณฑ์ทรัมป์เพราะเขาคุกคามผลประโยชน์ของชนชั้นนำจริงๆ และหากปล่อยให้คนเหล่านี้อยู่ในอำนาจ เสียงของประชาชนจะยังคงถูกละเลยต่อไป

แล้วจะสู้กับขวาประชานิยมอย่างไร?

ผู้เขียนเสนอว่าให้สู้ด้วยนวัตกรรมประชาธิปไตยเพื่อหยิบยื่นทางเลือกทางการเมืองให้แก่ผู้ไม่พอใจการเมืองกระแสหลัก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกตะวันตก

เราเริ่มได้ยินข้อเสนอว่าต้องปลดปล่อยประชาธิปไตยจากคุณค่าและระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม กล่าวคือ ต้องแยกเสรีนิยมออกจากประชาธิปไตยนั่นเอง

อุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ที่กลายเป็นหมุดหมายของ “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” ในช่วงหลังสงครามเย็นที่ผ่านมา สร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล ความไม่พอใจของชนชั้นกลางจำนวนมากที่รู้สึกว่าตนไม่มีอนาคตในสังคมซึ่งตนเป็นคนส่วนใหญ่เป็นผลมาจากนโยบายเสรีนิยมใหม่

นอกจากนี้ คนเหล่านี้รู้สึกแปลกแยกกับคุณค่าเสรีนิยมอย่างสิทธิมนุษยชนหรือพหุวัฒนธรรม ซึ่งกลายเป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงของระบบคุณค่าในสังคมอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันคุณค่าเหล่านี้กลับถูกฉวยใช้โดยกลุ่มทุน ซึ่งพยายามพูดภาษาพหุวัฒนธรรมนิยม ทว่าก็คืบคลานเอาเปรียบคนหาเช้ากินค่ำ และคุกคามทรัพยากรธรรมชาติต่อไป

การปลดเปลื้องประชาธิปไตยออกจากเสรีนิยมจึงหมายถึงการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ถกเถียงถึงคุณค่าซึ่งดูเหมือนดีงามแต่แปลกแยกจากวิถีชีวิตของคนจำนวนหนึ่ง โดยไม่ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ สีผิว หรือเพศ

ในแง่นี้ รูปแบบประชาธิปไตยทางเลือกจึงมุ่งเน้นความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันก็เอื้อให้กลุ่มคนซึ่งสมาทานคุณค่าทางการเมืองและอัตลักษณ์ต่างกันสามารถทะเลาะกันได้ รู้สึกไม่ชอบขี้หน้ากันได้ หรือกระทั่งเป็นฝ่ายตรงข้ามเราก็ได้ โดยไม่ต้องใช้กำลังห้ำหั่นกัน

ในทางยุทธศาสตร์ การต่อสู้กับขวาประชานิยมยังหมายถึงการหา “พาหนะทางการเมือง” (political vehicle) ให้แก่นวัตกรรมประชาธิปไตยข้างต้น นี่ย่อมหมายถึงการสร้างขบวนการภาคประชาชนที่พร้อมมีบทสนทนากับพรรคการเมือง หรือกระทั่งเปลี่ยนร่างเป็นพรรคการเมืองเสียเองได้

ข้อดีของส่วนผสมนี้คือ การเมืองภาคประชาชนส่งเสริมให้ผู้คนที่รู้สึกถูกกันออกไปจากระบบได้แสดงความปรารถนาและความหวังทางการเมืองของตน ขณะเดียวกัน หากต้องการเปลี่ยนความปรารถนานี้ให้เป็นนโยบายที่เขย่าโครงสร้างกดขี่เดิมได้ก็ต้องอาศัยพรรคการเมืองซึ่งลงชิงชัยในศึกเลือกตั้ง เพื่อให้มีที่นั่งในสภาและสามารถเสนอนโยบายซึ่งสะท้อนความปรารถนาทางการเมืองนี้ได้  ส่วนผสมของขบวนการภาคประชาสังคมและพรรคการเมือง จึงช่วยเชื่อมโยงประชาชนและสถาบันการเมืองเข้าด้วยกัน

ในแง่นี้ ขบวนการภาคประชาสังคม+พรรคการเมืองจึงมีกลิ่นอายของการเมืองประชานิยมอยู่ไม่น้อย ดังที่ปรากฏในกรณีกลุ่มเอ็ม 15 (M- 15) ที่กลายเป็นพรรคโปเดโมส (Podemos) ในสเปน เป็นต้น

กระนั้นก็ดี การเมืองเช่นนี้ต่างจากขวาประชานิยม เพราะแทนที่จะอาศัยวาทกรรมกีดกันเชื้อชาติสีผิวและความหวาดกลัว “คนอื่น” เพื่อสร้างความนิยมให้แก่ตน การเมืองประชานิยมแบบก้าวหน้าสามารถพูดถึงความรักชาติได้โดยไม่ต้องเกลียดกลัว “คนอื่น”

การเมืองประชานิยมแบบก้าวหน้าจึงเป็นการเมืองที่พูดถึงความเท่าเทียม ขณะเดียวกันก็ขยายชุมชนจินตกรรมให้โอบรวม “คนอื่น” มาเป็นส่วนหนึ่งของชาติด้วย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save