fbpx
อะไรทำให้ป๋วยเป็นอมตะ ?

อะไรทำให้ป๋วยเป็นอมตะ ?

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

มีบุคคลจำนวนมากในประวัติศาสตร์ ซึ่งตายแล้วตายเลย แม้บางคนเมื่อมีชีวิตอยู่จะมีทรัพย์สมบัติมหาศาล มีอำนาจใหญ่โต มีตำแหน่งสูงส่ง แต่ไม่นานนักก็ถูกกลืนหายไปในประวัติศาสตร์  ปัญหามีว่าเพราะเหตุใด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงยังมีความหมายสำหรับคนในปัจจุบันและอนาคต กับทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนได้เสมอมาตราบจนทุกวันนี้

ผู้เขียนอยากจะลองหาญกล้าท้าทายท่านผู้อ่านด้วยการตอบว่า เพราะป๋วยมีความกล้าหาญทางจริยธรรมนั่นเอง

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (9 มีนาคม 2459 - 28 กรกฎาคม 2542) | ภาพวาดโดย IG: amederr
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (9 มีนาคม 2459 – 28 กรกฎาคม 2542) | ภาพวาดโดย IG: amederr

อะไรคือความกล้าสำหรับป๋วย

ในบทความเรื่อง “ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่” ที่ป๋วยเขียนขึ้นเมื่อปี 2515 เขาเล่าเรื่องคาถาของแม่ที่สอนให้เขาเป็นป๋วยที่มีใจมานะเด็ดเดี่ยว มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรักในอิสรภาพ มีความเมตตากรุณา และมีความอดทนต่อคำติฉินนินทาของใครๆ

โดยในข้อที่ว่าด้วยความมีใจมานะเด็ดเดี่ยวนั้น ป๋วยอธิบายว่า “ความเด็ดเดี่ยวหมายความว่า ถ้าตั้งใจทำอะไร เมื่อคิดว่าดีแล้วชอบธรรมแล้ว ก็ต้องทำให้ได้  แม้จะต้องเสี่ยงต่อความยากลำบาก เสี่ยงต่ออันตราย เสี่ยงต่อเสียงติฉินนินทาเย้ยหยัน ก็ต้องมานะอดทนทำไป โดยหวังประโยชน์แก่ส่วนรวม”

แล้วเน้นว่า “ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญไม่ใช่ความบ้าบิ่น การเสี่ยงภัยโดยไร้ประโยชน์คือความบ้าบิ่น  ความขลาดและความบ้าบิ่นเป็นลักษณะที่ต้องหลีกเลี่ยง

ข้อที่น่าคิดก็คือ อะไรคือเส้นแบ่งของความขลาด ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และความบ้าบิ่น

แม้ป๋วยไม่ได้เขียนเอาไว้ตรงๆ แต่ชีวิตที่ป๋วยใช้ให้ปรากฏแก่ตาโลก คงจะพอตอบคำถามได้บ้าง

อัฐิของป๋วยถูกบรรจุอยู่ใต้ฐานพระพุทธรูปที่ระเบียงวัดปทุมคงคา เคียงข้างกับ “เซาะเช็ง” แม่ของเขา | ภาพจาก บุญเสริม อึ๊งภากรณ์
อัฐิของป๋วยถูกบรรจุอยู่ใต้ฐานพระพุทธรูปที่ระเบียงวัดปทุมคงคา เคียงข้างกับ “เซาะเช็ง” แม่ของเขา | ภาพจาก บุญเสริม อึ๊งภากรณ์

เสรีไทยผู้อาสารับความเสี่ยงภัยสูงสุด

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ป๋วยยังเรียนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ LSE ประเทศอังกฤษ ต่อมารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจนำพาประเทศไทยเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ แล้วประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในวันที่ 25 มกราคม 2485  เป็นผลให้คนไทยที่อยู่ในประเทศคู่สงครามต้องเดินทางกลับมาตุภูมิ

แต่ป๋วยปฏิเสธที่จะเดินทางกลับประเทศ เพราะไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามดังกล่าว เขาเลือกที่จะรวมกลุ่มกับคนไทยในอังกฤษที่มีใจรักความเป็นธรรม เอกราช และอิสรภาพของชาติ อาสาเข้าทำงานในกองทัพอังกฤษ เพื่อให้สัมพันธมิตรเห็นว่ามีคนไทยซึ่งเห็นต่างจากรัฐบาลซึ่งกุมอำนาจอยู่ในเวลานั้น

ป๋วยได้รับยกย่องจากบรรดาเพื่อนๆ เสรีไทยในอังกฤษซึ่งเข้าฝึกทหารด้วยกันให้เป็นหัวหน้า เพราะเขาเป็นแกนนำมาตั้งแต่ต้น และเคยเป็นครูโรงเรียนอัสสัมชัญมาก่อน  วันหนึ่งเมื่อทราบว่าจะต้องเดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจติดต่อกับเสรีไทยในประเทศ ป๋วยเรียกประชุมพรรคพวก ก่อนแถลงเจตจำนงของตัวเองว่า “เมื่อเราเข้าไปในประเทศไทยแล้ว เราต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ใช้อาวุธประหัตประหารคนไทยด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะเสียชีวิตก็ไม่ควรที่จะต่อสู้ แต่ว่าเราไม่ควรที่จะให้ญี่ปุ่นจับเราได้เป็นๆ จะต้องสู้จนจับตาย”

นอกจากนี้ป๋วยยังเคยเล่าไว้ด้วยว่า “เมื่อตอนผมโดดร่มลงชัยนาทตอนยังเป็นหนุ่มๆ ผมไม่ได้พกปืนเข้ามาเพราะปลงตกแล้วว่า จะต้องใช้อหิงสา ทั้งที่เป็นทหาร แต่ก็ใจเย็นอยู่หน่อยที่เพื่อนๆ เขาถือปืน  ตอนนั้นผมก็มานึกปลงว่า หากประจัญบานกับญี่ปุ่นแล้ว ผมยิงเขาไม่ได้ เมื่อยิงไม่ได้ก็จะเอาปืนมาทำไม”

และเมื่อฝึกจนเสร็จแล้ว ถึงเวลาคัดเลือกคนเข้ามาติดต่อกับเสรีไทยในประเทศ ป๋วยเป็นคนแรกที่อาสารับความเสี่ยงภัยสูงสุดนี้เข้ามาก่อนใครอื่น ทั้งที่เขาในฐานะแกนนำอาจสามารถบงการคนอื่นๆ ได้

ต้องไม่ลืมว่าการเข้าประเทศในเวลานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จากอินเดีย คราวแรกป๋วยและคณะมาทางเรือดำน้ำ แต่ไม่สามารถขึ้นฝั่งได้เพราะไม่พบจุดนัดหมาย หลังจากนั้นพยายามมาทางเครื่องบิน แต่ก็ต้องกลับไปเช่นเดิมเพราะไม่พบจุดปล่อยร่ม ถึงครั้งที่สาม นักบินปล่อยให้คณะของป๋วยโดดร่มลงมายังผืนแผ่นดินไทย แต่ก็พลาดไป จากที่เป็นในป่า กลายเป็นบริเวณใกล้หมู่บ้านวังน้ำขาว จังหวัดชัยนาท

เมื่อป๋วยถูกจับกุมโดยชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเขาเป็นสายลับหรือเข้ามาทำอะไรนั้น ป๋วยฉุกคิดขึ้นมาว่า ตัวเองควรจะกินยาพิษที่เตรียมมาเพื่อทำลายความลับให้ตายตกไปตามตัว หรือควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ  สุดท้ายป๋วยเลือกอย่างหลัง เขาบอกว่า “ชีวิตเป็นสิ่งที่สดชื่นสวยงาม ตราบใดที่มีชีวิต ตราบนั้นย่อมมีหวัง”

ภาพป๋วยสมัยเป็นเสรีไทยในอังกฤษ ในเดือนธันวาคม 2559 รายการแฟนพันธุ์แท้ หัวข้อ สงครามโลกครั้งที่ 2 ในหมวดคุณสมบัติ ได้นำเรื่องราวของป๋วยไปถามด้วย แต่น่าเสียดายที่ผู้แข่งขันตอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่เปิดมาถึง 4 แผ่นป้าย คือ (1) เสียชีวิตที่ประเทศอังกฤษ (2) ไม่ใช่คนอังกฤษ (3) หนึ่งในขบวนการเสรีไทย  และ (4) ถูกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ภาพป๋วยสมัยเป็นเสรีไทยในอังกฤษ ในเดือนธันวาคม 2559 รายการแฟนพันธุ์แท้ หัวข้อ สงครามโลกครั้งที่ 2 ในหมวดคุณสมบัติ ได้นำเรื่องราวของป๋วยไปถามด้วย แต่น่าเสียดายที่ผู้แข่งขันตอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่เปิดมาถึง 4 แผ่นป้าย คือ (1) เสียชีวิตที่ประเทศอังกฤษ (2) ไม่ใช่คนอังกฤษ (3) หนึ่งในขบวนการเสรีไทย  และ (4) ถูกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

ผู้วางรากฐานทางจริยธรรมในเศรษฐกิจไทย

กรณีลงโทษปรับธนาคารพาณิชย์

เมื่อเรียนจบชั้นปริญญาเอก ป๋วยกลับมารับราชการในกระทรวงการคลัง เจ้าของทุนต้นสังกัดของเขา หลังจากนั้นในปี 2496 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแทนคนเก่า ซึ่งมีปัญหาทุจริตจากการเอื้อประโยชน์ให้ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง  จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประสงค์จะซื้อธนาคารดังกล่าวจึงเรียกป๋วยไปคุยแล้วขอให้ไม่ลงโทษปรับธนาคารดังกล่าวได้หรือไม่ ป๋วยปฏิเสธไปในคราวแรกเพราะตามสัญญาซื้อขายเงินปอนด์และข้อกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน

จากนั้นไม่นานจอมพลสฤษดิ์เรียกป๋วยไปคุยอีกครั้ง ป๋วยเล่าว่า “ข้อเสนอของจอมพลสฤษดิ์นั้นเราทำให้ไม่ได้ จะเสียชื่อ จึงยืนกรานตามเดิมทุกประการ”

ปลายปีนั้นเอง ป๋วยถูกย้ายกลับเป็นไปผู้เชี่ยวชาญการคลังในกระทรวงตามเดิม หลังจากเป็นรองผู้ว่าการได้เพียง 7 เดือน

กรณีเปลี่ยนโรงพิมพ์ธนบัตร

หลังจากกรณีแรกไม่นานนัก พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประสงค์จะเปลี่ยนโรงพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัส เดอ ลา รู เป็นบริษัทอื่นแทน  คณะรัฐมนตรีให้ป๋วยพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมด้วย หลังจากเขาพิจารณาแล้ว เห็นว่าบริษัทเดิมยังคงเหมาะสมอยู่ทั้งฝีมือและค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นที่เชื่อถือของประชาชนอยู่แล้ว จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีคงบริษัทเดิมไว้ ถ้าจะเลือกบริษัทอเมริกาแห่งหนึ่งซึ่งฝีมือดีแต่ราคาแพงก็สุดแต่พิจารณา แต่ถ้าเลือกบริษัทอเมริกาอีกแห่งหนึ่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว ป๋วยบอกว่า “ผมก็จะอยู่รับราชการต่อไปไม่ได้ เพราะ…เป็นบริษัทที่เลวจริงๆ”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงกล่าวกับพลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ไอ้ลูกศิษย์คุณพระนี่มันจองหองจริง คำหนึ่งมันก็จะลาออก สองคำมันก็จะลาออก

แต่สุดท้าย คณะรัฐมนตรีก็เลือกตามข้อเสนอของป๋วยที่ใช้บริษัทเดิมต่อไป

กรณีการทุจริตการค้าดีบุก

ด้วยความที่ป๋วยทำปริญญาเอกเรื่องเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการควบคุมดีบุก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในเวลานั้น ป๋วยจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไทยในคณะมนตรีดีบุก ครั้งหนึ่งเขาไปประชุมเมื่อเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว เกิดปัญหาว่าไทยทำผิดข้อบังคับ เพราะเกิดการลักลอบค้าดีบุกนอกโควตาอย่างอุกอาจที่ภูเก็ต เขาเซ่อเองที่ไม่รู้ว่าหัวหน้าขบวนการค้าดังกล่าวคือจอมพลสฤษดิ์ จึงส่งเรื่องมาให้รัฐบาลสอบสวนตามระเบียบ จนเวลาผ่านไปเป็นปีเรื่องยังไม่เรียบร้อย ทางคณะมนตรีก็กดดันไทย ทีแรกจอมพลสฤษดิ์สั่งให้ป๋วยเดินออกจากที่ประชุมและเลิกเป็นภาคีดังกล่าว ป๋วยไม่เห็นด้วยจึงโทรเลขมาคัดค้าน จนจอมพลสฤษดิ์ยอมแล้วออกคำสั่งว่า “คุณจะทำอย่างไรก็ได้ตามใจ”

เป็นอันว่าไทยถูกปรับไหม โดยเอาเงินเท่ากับมูลค่าของดีบุกที่ลักลอบออกนั้นเข้าในมูลภัณฑ์กันชน โดยมีสิทธิ์ในเงินและกำไรอันจะพึงมีได้เมื่อเลิกมูลภัณฑ์

ป๋วยบอกว่า “ผมกลุ้มใจไปหลายเวลาเพราะต้องขัดคำสั่งนายกรัฐมนตรี และได้ตั้งใจไว้ว่า ถ้านายกรัฐมนตรียืนยันคำสั่งเดิม ผมก็จะลาออก ไม่เฉพาะตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะมนตรีเท่านั้น แต่จะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติเป็นการคัดค้านด้วย”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในงานเปิดงานศิลปะครั้งหนึ่ง ซึ่งป๋วยร่วมรับเสด็จด้วย | ภาพจาก ประชาชาติ 124: 3 (เมษายน 2519) หน้า 29
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในงานเปิดงานศิลปะครั้งหนึ่ง ซึ่งป๋วยร่วมรับเสด็จด้วย | ภาพจาก ประชาชาติ 124: 3 (เมษายน 2519) หน้า 29

หลักคิดของความกล้าจากป๋วย

นี่เป็นเพียง 3 ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาขัดแย้งระหว่างหลักการกับความพึงพอใจของผู้ทรงอำนาจในบ้านเมือง แล้วป๋วยเลือกที่จะยืนหยัดอยู่บนหลักวิชาและความถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่เอาใจผู้มีอำนาจอย่างไร้จุดยืน

เหตุใดป๋วยจึงเลือกทำเช่นนี้ นอกจากความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่ได้กล่าวถึงไว้ข้างต้นแล้ว ยังพอจะพบร่องรอยความคิดของป๋วยที่ปรากฏในงานเขียนก่อนหน้าบางชิ้น ดังนี้

ในปี 2493 ป๋วยแปลงานชิ้นหนึ่งของราล์ฟ วัลโด เอเมอร์สัน ออกมาในชื่อ “จรรยานักเรียน” ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “อันความยั่วยวนมารยาแห่งโลกนี้แหละ ที่ทำให้เราเกิดความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้เคร่งในการเรียน เป็นสมณะแห่งวิทยา และผู้รักเรียนนั้นเองก็มีหน้าที่และสิทธิที่จะบังคับโลกเดินตามตน มิใช่ตนเดินตามโลก จงน้อมรับเอารสธรรมอันกระจายตลบอยู่แล้วในของทุกสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นธรรมชาติ จงช่วยเป็นลิ้นให้ธรรมชาติได้กล่าวมธุรสกล่อมในมนุษย์ และจงแสดงให้โลกอันโง่เขลาเล็งเห็นเสียทีว่าวิชาความรู้นี้ประเสริฐเพียงใด”

กล่าวคือ ป๋วยเลือกที่จะบังคับให้โลกเดินตามตน มิใช่ตนเดินตามโลก เพื่อแสดงให้โลกอันโง่เขลาเล็งเห็นเสียทีว่าวิชาความรู้นี้ประเสริฐเพียงใด

นอกจากนี้ในงานปาฐกถาเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง’ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2505 ป๋วยยังประกาศจุดยืนของนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีไว้ว่า “เรานักเศรษฐศาสตร์ในการติดตามศึกษาหาความจริงและฝึกฝนวิชาการ เราต้องไม่เอาแต่ศึกษา เอาแต่ประสิทธิภาพ แต่เราต้องมีความซื่อตรง แสดงออกซึ่งความซื่อตรง และซื่อตรงพอที่จะสนับสนุนชักชวนผู้อื่นให้ซื่อตรงด้วย

และยังได้พูดถึงความกล้า กับการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ในการบรรยายเรื่อง ‘ธนาคารกลาง’ ในปี 2512 ไว้ด้วยอย่างจับใจว่า

“ผู้ว่าการและผู้ใหญ่ในธนาคารชาติจะต้องมีความกล้าหาญพอสมควรคือ ต้องสามารถที่จะพูดขัดได้  ถ้าอะไรที่ไม่ดีแล้วจำเป็นจะต้องพูดได้ ถ้าไม่มีความกล้าแล้วอย่าเป็นดีกว่า … ในกรณีที่รัฐบาลเดินนโยบายซึ่งผู้ว่าการธนาคารชาติไม่เห็นด้วยและคัดค้านแล้ว แล้วยังไม่สามารถเกลี้ยกล่อมได้ ถ้าเป็นนโยบายที่สำคัญถึงขนาดเกี่ยวกับหลักการหรือความหายนะ ผู้ว่าการธนาคารชาติก็มีทางออกอยู่อีกทางหนึ่งที่จะคัดค้าน คือ ลาออก  … นี่เป็นการคัดค้านอย่างชัดแจ้ง ก็เป็นธรรมเนียมที่เขาทำกันอยู่ แต่ไม่ควรทำบ่อยนัก ทำบ่อยนักไม่ศักดิ์สิทธิ์ ควรที่จะเอาเรื่องสำคัญๆ จริงๆ”

จะเห็นได้ว่า ป๋วยไม่เพียงแต่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็น ‘คนดี’ เหนือมาตรฐานสังคม จนเป็นแรงบันดาลใจให้คนได้จำนวนมาก แต่เขายังเป็นคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม อย่างยากที่จะหาคนเดินตามเขาได้อีกด้วย

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อคราวเดินทางไปรับรางวัลรามอน แมกไซไซ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ | ภาพจาก หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อคราวเดินทางไปรับรางวัลรามอน แมกไซไซ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ | ภาพจาก หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

ป๋วยเป็นข้าราชการที่ได้รับการยกย่องนับถือเรื่องความรู้ความสามารถอย่างไม่เป็นที่สงสัย คุณธรรมจริยธรรมก็โดดเด่น ทำให้ในปี 2508 เขาได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ในสาขาการทำงานภาครัฐ จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ของเขาทั้งในกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย เช่น กรรมการพิจารณาโครงการกู้เงินเพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา กรรมการพิจารณาเงินกู้เพื่อปรับปรุงท่อระบายน้ำ และกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

พูดอย่างถึงที่สุด ความรู้ความสามารถ การยอมรับนับถือ บารมีของป๋วยขึ้นสูงสุดในทศวรรษ 2510 ป๋วยซึ่งอยู่ในตำแหน่งข้าราชการสำคัญอย่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถเลือกทางเดินของชีวิตของตนเองต่อไปได้หลายทาง เช่น ถ้าอยู่ให้เป็น ป๋วยสามารถเลือกทำงานไปเรื่อยๆ พร้อมกับการทำตัวเป็น ‘นักอุปถัมภ์สังคม’ เล่นบทบาทน่ารัก จากการเป็นกรรมการต่างๆ การทำงานสาธารณกุศล รวมถึงการพัฒนาชนบทที่เขาริเริ่มในประเทศนี้ หรือถ้ามักใหญ่ใฝ่สูง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งกระแสประชาธิปไตยเบ่งบาน ป๋วยสามารถเลือกจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

แต่อย่างที่พวกเราทราบ ป๋วยเลือกในทางตรงกันข้าม ซึ่งลำบาก ต้นทุนสูง และจบลงด้วยโศกนาฏกรรมของเขาเอง

หลังจากเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ 5 ปี ป๋วยมารับตำแหน่งคณบดีคณะเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้คณะเศรษฐศาสตร์ก้าวหน้าในทุกๆ ด้านอย่างเข้มแข็ง อุทิศชีวิตให้กับการศึกษา และเยาวชนของชาติ ดังที่มีผู้กล่าวกันว่า เคยมีคนถามว่า คนอย่างป๋วยไม่มีความทะเยอทะยานอะไรในชีวิตบ้างเลยหรือ เขาตอบว่า เขามี ambition อย่างหนึ่งคืออยากเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่โชคร้ายที่เขาได้เป็นในปี 2518-2519 ซึ่งสถานการณ์ ‘ขวา’ ‘ซ้าย’ ในสังคมไทย ล้วนบีบคนตรงกลางอย่างป๋วยจนย่อยยับอัปราไป

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และปรีดี พนมยงค์ ที่ Beit Hall, Imperial College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนกรกฎาคม 2520 | ภาพถ่ายโดย จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และปรีดี พนมยงค์ ที่ Beit Hall, Imperial College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนกรกฎาคม 2520 | ภาพถ่ายโดย จริย์วัฒน์ สันตะบุตร

ที่สำคัญ ซึ่งหลายคนอาจไม่ได้ตระหนักนัก คือความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้ซึ่งเป็นปีศาจทางการเมืองของไทยมาอย่างยาวนาน เป็นผีที่หลอกหลอนผู้ที่รับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจนทุกวันนี้  ในปี 2513 เมื่อปรีดีย้ายถิ่นพำนักจากจีนไปฝรั่งเศส ป๋วยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนแรกที่เดินทางไปหาผู้ประศาสน์การของเขาอย่างเปิดเผย เขาเล่าเองว่า ก่อนไปยังได้ไปบอกจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ‘เพื่อทราบ’ ด้วย ซึ่งไม่ใช่ ‘ขออนุญาต’

ไม่เพียงเท่านั้น ป๋วยยังช่วยเหลือปรีดีในทุกทางหากเขาสามารถกระทำได้ เช่น การอำนวยความสะดวกในการซื้อบ้านอองโตนี การตามหาฟิล์มพระเจ้าช้างเผือก การเป็นผู้แทนไปเจรจากับสำนักพิมพ์ที่จะพิมพ์หนังสือของปรีดีในต่างประเทศ กระทั่งเรื่องลูกหลานของปรีดี

ด้วยความสัมพันธ์กับบุคคลที่ป๋วยเคารพบูชาผู้นี้ ทำให้ป๋วยกลายเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะค่าย สยามรัฐ นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพวก  แต่นั่นก็ไม่ทำให้ป๋วยสั่นคลอนไปจากความรักที่มีต่อรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ดังจดหมายฉบับหนึ่ง (ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515) ที่ป๋วยเขียนถึงปรีดีเป็นพยานต่อความรู้สึกของเขาได้ดีว่า

ผมหวังว่าท่านอาจารย์คงจะเป็นสุขสบายดีและไม่มีเรื่องขุ่นหมองใจนัก หากในจดหมายนี้ผมได้กราบเรียนสิ่งใดเป็นที่เคืองระคาย ขอได้โปรดให้อภัยแก่ผมด้วย เพราะผมไม่มีเจตนาอย่างอื่น นอกจากจะอยากให้ท่านอาจารย์ได้รับความเคารพจากคนไทยทุกรุ่นสมกับที่ท่านอาจารย์ได้ปฏิบัติและบำเพ็ญประโยชน์แก่พวกผมมาเป็นเวลานาน

จดหมายจากวิญญู วิจิตรวาทการ เขียนถึงป๋วย ระหว่างที่เขาเป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวถึงสถานการณ์ในเมืองไทยหลังจากที่ป๋วยเขียนจดหมายนายเข้มฯ ความตอนหนึ่งกล่าวถึงว่าศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ฝากเรียนมาว่า “อย่าเพิ่งกลับมาเลย ตอนนี้มันเป็นระยะที่ไว้ใจใครไม่ได้เลย” | ภาพจาก หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จดหมายจากวิญญู วิจิตรวาทการ เขียนถึงป๋วย ระหว่างที่เขาเป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวถึงสถานการณ์ในเมืองไทยหลังจากที่ป๋วยเขียนจดหมายนายเข้มฯ ความตอนหนึ่งกล่าวถึงว่าศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ฝากเรียนมาว่า “อย่าเพิ่งกลับมาเลย ตอนนี้มันเป็นระยะที่ไว้ใจใครไม่ได้เลย” | ภาพจาก หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่เพียงแต่มาสัมพันธ์กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และติดต่อกับปรีดี พนมยงค์ อย่างเปิดเผยเท่านั้น ป๋วยยังเป็นผู้ที่ใฝ่หาเสรีภาพและประชาธิปไตย ที่เขาเรียกใหม่ว่า ‘ประชาธรรม’ ในบ้านเมืองด้วย  ป๋วยเป็นข้าราชการผู้ใหญ่เพียงคนเดียวที่กล้าออกมาประท้วงการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร โดยใช้อุปายโกศลเขียนจดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2515 เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการกำหนดชะตากรรมของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่

จะว่านี่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของป๋วย กับฝ่ายอนุรักษนิยมไทยก็ได้  ต่อมาฝ่ายอนุรักษนิยมจึงไม่เห็นป๋วยเป็นมิตรเช่นแต่ก่อน ดังพร้อมที่จะเล่นงานป๋วยอย่างเต็มที่ในโศกนาฏกรรมกลางเมือง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ประชาชาติ ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2519 | ภาพจาก หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทางเลือกของชีวิต

ในบทความเรื่อง ‘มนุษย์อุบาทว์’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2517 ป๋วยกล่าวถึงปณิธานของตัวเองไว้ว่า “ความดี ความจริง และความงามเป็นอุดมคติอันสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ไม่ขึ้นกับที่ผู้ประพฤติปฏิบัติจะได้รับความพึงพอใจ หรือ รางวัลทางใจ ทางวัตถุ หรือไม่  บางครั้ง ผู้ประพฤติปฏิบัติตามอุดมคติอาจจะประสบความผิดหวัง เพราะโลกนี้มีความอยุติธรรม มีอคติ มีอวิชชา มีความชั่ว เป็นธรรมดา

ก่อนจะยกคำของ Anouilh นักเขียนฝรั่งเศส มาว่า “ถึงจะพยายามทำให้ดีให้งามสักปานใด ก็ต้องมีใครสักคนด่าว่าเราเป็นมนุษย์อุบาทว์” ป๋วยจึงสรุปว่า “ควรจะคำนึงว่า ใครจะสรรเสริญเราหรือจะด่าว่าเราเป็นมนุษย์อุบาทว์อย่างไรก็ช่างเถอะ ต้องยึดความดี ความจริง ความงาม เป็นอุดมคติตลอดไป

ถ้าป๋วยเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตอย่างเดียว แต่เป็นคนแหย โอนอ่อนตามระบบ และใช้ชีวิตอย่างเห็นแก่สุขสบายโดยมีความกลัวเป็นเจ้าเรือน ป๋วยก็คงไม่ต่างจากผู้ใหญ่ในสังคมไทยอีกหลายต่อหลายคน ที่มีชีวิตอยู่ในชั่วสมัยหนึ่ง

แต่การที่ป๋วยยึดมั่นในการแสวงหาความดี ความจริง และความงาม เลือกเดินในเส้นทางที่ต้องอาศัยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เส้นทางที่เลือกบนมโนธรรมสำนึกของตนเอง เส้นทางที่เห็นประโยชน์สุขของมหาชนมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว นี่ต่างหาก ที่ทำให้ชีวิตของป๋วยเป็นอมตะ ยืนยาวกว่า 83 ปี ที่กายสังขารเขาอำนวยให้ดำรงอยู่ได้ และจะอยู่ไปอีกนานเท่านาน ตราบที่ยังมีคนไทยที่ใฝ่หาถึงสังคมแห่งอุดมคติ สังคมแห่งสันติประชาธรรม สังคมที่ยืนยันว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย !

ภาพของนายณัฏฐ์ สัปตตั้งตระกูล ชั้น ม.6 โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ จังหวัดสุราษฎรธานี  ในงานนิทรรศการศิลปะเด็กและเยาวชน หัวข้อ “สันติประชาธรรม” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดร่วมกับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ฉลอง 100 ปีชาตกาลของป๋วย
ภาพของนายณัฏฐ์ สัปตตั้งตระกูล ชั้น ม.6 โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ จังหวัดสุราษฎรธานี  ในงานนิทรรศการศิลปะเด็กและเยาวชน หัวข้อ “สันติประชาธรรม” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดร่วมกับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ฉลอง 100 ปีชาตกาลของป๋วย

บรรณานุกรม

ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ทัศนะทางการเมือง (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559).

___________ . ทัศนะทางการศึกษา (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559).

__________. ทัศนะทางเศรษฐกิจ (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559).

___________ . อัตชีวประวัติ : ทหารชั่วคราว (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559).

___________ . อัตชีวประวัติ : เหลียวหลัง แลหน้า (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559).

ปรีดี พนมยงค์ และป๋วย อึ๊งภากรณ์. มิตรแท้ในยามยาก (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559).

หมายเหตุ

บทความนี้ปรับปรุงจากการบรรยายในเวทีเถื่อนทอล์ค หัวข้อ “สุดขอบของชีวิต ข้อคิดจากอาจารย์ป๋วย ด้วยมุมมองที่ท้าทาย” ณ มหา’ลัยเถื่อน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save