fbpx
ดาบในมือผู้นำ

ดาบในมือผู้นำ

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

ใครเคยเยี่ยมชม National Museum of American History หนึ่งในพิพิธภัณฑ์สังกัด Smithsonian Institution กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. น่าจะเคยเห็นงานประติมากรรมแกะสลักหินอ่อนชิ้นนี้ตั้งตระหง่านอยู่บนชั้นสอง

ดูออกไหมครับว่านี่คือ จอร์จ วอชิงตัน ผู้นำการปฏิวัติอเมริกันเพื่อประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ประธานการประชุมร่างรัฐธรรมนูญที่ฟิลาเดลเฟียในช่วงฤดูร้อนปี 1787 บิดาผู้ก่อร่างสร้างประเทศ และประธานาธิบดีคนแรกสหรัฐอเมริกา

ผลงานชิ้นนี้มีจุดกำเนิดในวาระ 100 ปีชาตกาลของจอร์จ วอชิงตัน เมื่อปี 1832 รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาว่าจ้าง Horatio Greenough ประติมากรอเมริกันให้สร้างงานประติมากรรมของวอชิงตันเพื่อจัดแสดงใน US Capitol Rotunda ห้องโถงกลมใต้หลังคาโดมตึกรัฐสภา

Greenough ใช้เวลา 9 ปีกว่าจะทำสำเร็จ แต่ผลงานของเขาได้รับเสียงวิจารณ์หนาหูมาก เพราะ Greenough เลือกที่จะสร้างสรรค์ภาพวอชิงตันล้อสไตล์เทพกรีกโบราณ เปลือยอก มือขวาชี้นิ้วขึ้นสวรรค์ มือซ้ายถือดาบ ขัดกับภาพจำของสังคมอเมริกันที่มีต่อ(สห)รัฐบุรุษคนนี้ มิพักต้องพูดถึงว่านี่เป็นงานประติมากรรมจอร์จ วอชิงตันชิ้นแรกอย่างเป็นทางการในนามประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

สุดท้ายงานสลักหินอ่อนหนัก 12 ตันชิ้นนี้ก็ไม่สามารถฝ่าด่านเสียงวิจารณ์เข้าไปนั่งอยู่ในอาคารรัฐสภาแห่งชาติได้ตลอดรอดฝั่ง ต้องย้ายไปตั้งอยู่ที่สวนฝั่งตะวันออกนอกตึกรัฐสภา ต่อมาย้ายไปที่ Patent Office ตามด้วย Smithsonian Castle จนมาอยู่ที่ National Museum of American History ในที่สุด

Greenough ตั้งใจสร้างวอชิงตันโดยมีต้นแบบจากประติมากรรมกรีกโบราณ Zeus Olympios ของ Phidias หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ เหตุที่เลือกกรีกโบราณเพราะเป็นต้นธารประชาธิปไตย เขาหมายให้วอชิงตันเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ

ทำไมผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะอเมริกันที่ชอบที่สุดของผม? นอกจากความกล้าหาญชาญชัยของศิลปินในการตีความวอชิงตันแบบแหวกแนวไม่เหมือนใครแล้ว คำตอบอยู่ตรง ‘มือซ้าย’ ครับ

สังเกตดาบในมือซ้ายของวอชิงตันไหมครับ เขาถือดาบไว้ ไม่ใช่เพื่อทำสงครามกับรัฐอื่นหรือฟาดฟันประชาชน แต่วอชิงตันหันด้ามดาบยื่นให้ประชาชน

ไม่ใช่คมดาบ

นี่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนหลังสงครามปฏิวัติอเมริกา (1775-1783) จนปลดแอกจากอังกฤษสำเร็จ

ว่ากันว่าในยุคหลังสงคราม ความนิยมของวอชิงตัน ในฐานะผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายอาณานิคม พุ่งสูงมาก เพราะความสามารถด้านการทหาร และการเมือง รวมทั้งความเป็นผู้นำ วอชิงตันซึ่งช่วงนั้นอายุประมาณ 45 ปี นำทัพอเมริกาจากอาณานิคม 13 แห่ง ซึ่งมีกำลังคนน้อยกว่าอังกฤษ 10 เท่า กำลังอาวุธก็ทาบกันไม่ติด แถมจำนวนมากเป็นชาวบ้านที่ไม่ได้ผ่านการฝึกทหารแบบเป็นเรื่องเป็นราวด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็เอาชนะสงครามมหาอำนาจใหญ่ของโลกอย่างอังกฤษได้ด้วยฝีมือด้านการทหารและการทูต

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงหลังสงคราม ประชาชนและทหารจำนวนหนึ่งจึงเรียกร้องให้สถาปนาจอร์จ วอชิงตันเป็นกษัตริย์หรือจักรพรรดิ์ในอเมริกายุคเอกราชสมบูรณ์ แต่วอชิงตันไม่ยอมรับ กลับบอกให้สนับสนุนรัฐบาลพลเรือนตามระบบ แล้วลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพ ทิ้งยศฐาบรรดาศักดิ์กลับไปอยู่ไร่ชนบทของตัวเองที่เมาท์เวอร์นอน รัฐเวอร์จิเนีย

การตัดสินใจสละอำนาจในตำแหน่งจอมทัพว่าเจ๋งแล้ว ต่อมาวอชิงตันยังตัดสินใจสละอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก

ในช่วงท้ายของการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ผู้คนจำนวนมากเรียกร้องให้วอชิงตัน ซึ่งแปดปีก่อนหน้านี้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาอย่างไร้คู่แข่งด้วยคะแนนเอกฉันท์ เป็นประธานาธิบดีต่อไปเรื่อยๆ

ในเวลานั้นยังไม่มีกฎเกณฑ์จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่วอชิงตันกลับตัดสินใจแบบเดียวกัน คือเลือกที่จะทิ้งอำนาจ กลับไปเป็นสามัญชนคนธรรมดา อยู่บ้านไร่เมาท์เวอร์นอนของตัวเองจนวาระสุดท้าย ปล่อยให้ระบบการเมืองตามรัฐธรรมนูญเดินหน้าของมันต่อไป แสดงให้เห็นว่าสถาบันนั้นยิ่งใหญ่กว่าตัวบุคคล และตั้งบรรทัดฐานเป็นแบบอย่างให้ผู้นำรุ่นหลังไว้

ประติมากรรม Enthroned Washington ชิ้นนี้ จึงจับแก่นภายในของวอชิงตันและประชาธิปไตยไว้อยู่หมัด ในมือข้างนั้น ด้วยท่าจับดาบเล่มนั้น.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save