fbpx
ธุรกิจประกันเอาเปรียบผู้บริโภคจริงหรือ?

ธุรกิจประกันเอาเปรียบผู้บริโภคจริงหรือ?

อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ เรื่อง

ผมได้อ่านบทความของคุณบรรยง พงษ์พานิช เรื่อง “ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นการพนันไหม? …เจ้ามือ (บริษัทประกัน) เอาเปรียบมากไหม?” ตีพิมพ์ในสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า แล้วรู้สึกชอบมาก เพราะคุณบรรยงอธิบายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยได้อย่างน่าสนใจ เปรียบเทียบการซื้อประกันกับการพนันให้คนอ่านทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เหมาะที่จะเป็น “เศรษฐศาสตร์ประกันภัย 101” ก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าควรจะมาเล่าให้ผู้อ่านฟังเพิ่มเติมในประเด็นที่คุณบรรยงได้เกริ่นไว้ว่าทำไมเบี้ยประกันจำเป็นต้องแพง จนทำให้ผู้บริโภคหลายคนเกิดความไม่พอใจเอาได้ง่ายๆ และอาจคิดไปว่าบริษัทประกันภัยจงใจที่จะขูดรีดผู้บริโภค น่าคิดต่อว่าเรามีวิธีที่จะลดราคาเบี้ยประกันได้หรือไม่ การส่งเสริมการแข่งขันระหว่างธุรกิจประกันในไทย โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ เป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร?

 

ธุรกิจประกันภัย ทำไมถึง “ดูเหมือน” เอาเปรียบ?

บทความของคุณบรรยงได้ยกตัวอย่างถึงความไม่ยุติธรรมของบริษัทประกันภัยของไทยไว้ว่า

“ถ้าซื้อประกันไฟไหม้บ้านในเมืองไทย ถ้ามองในแง่สถิติ ก็เท่ากับว่าวางเงินไปร้อยบาท ก็เหลือมูลค่าคาดหวัง (expected value) แค่ 27-32 บาทเท่านั้น มันเป็นการพนันที่เจ้ามือเอาเปรียบ (house edge) สูงถึง 68-72% ทีเดียว นับว่าเป็นอัตราเสียเปรียบมากที่สุดในบรรดาการพนันทั้งหลายแหล่

เมื่ออ่านดูแล้ว รู้สึกค่อนข้างน่าเป็นห่วง

นอกจากนั้น คุณบรรยงได้เปรียบเทียบตัวเลขสถิติเดียวกันกับต่างประเทศ พบว่าตัวเลขในบ้านเราจะดูแย่กว่ากันมาก เนื่องจาก

“อัตราสินไหมจ่าย (loss ratio) เฉลี่ยของประกัน[อัคคีภัย]ของ[ต่างประเทศ] อยู่ที่ 62% ถ้าเป็นประกันรถเขาจะมีเคลมอยู่ที่ 72-75% ของเบี้ยประกันเลยทีเดียว … [ทั้งนี้] เพราะเขามีการแข่งขันที่เข้มข้นเลยต้องมีการตลาด การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ และตลาดเขาใหญ่ อัตราค่าเบี้ยประกันไฟประกันรถต่อทุนประกันของเขาเฉลี่ยตกแค่หนึ่งในสี่ของเราเท่านั้นเอง”

ทำไมเบี้ยประกันถึงมีราคาแพง?

หลายคนอาจรู้สึกว่าเบี้ยประกันมีราคาแพง จ่ายไปแล้วไม่คุ้มค่า แต่เบี้ยประกันจำเป็นต้องมีราคาแพง เพราะการซื้อกรมธรรม์มีต้นทุนแฝงอีกมากที่ผู้เอาประกันยังมองไม่เห็น ต้นทุนเหล่านั้นสะท้อนอยู่ในราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย จนทำให้เกิดความไม่พอใจ คิดว่าถูกเอาเปรียบจากบริษัทประกัน

ธุรกิจประกันภัยเผชิญปัญหาสำคัญที่แก้ไม่ตก นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ความไม่สมมาตรของข้อมูล” (asymmetric information) ปัญหานี้ส่งผลให้เบี้ยประกันต้องมีราคาสูง มิเช่นนั้นธุรกิจประกันเองก็จะอยู่ไม่รอด และตลาดการประกันภัยจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

เมื่อ 40 ปีก่อน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Michael Rothschild และ Joseph E. Stiglitz ได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านงานวิจัยชิ้นคลาสสิกแล้วว่าการตั้งราคาเบี้ยประกันให้ยุติธรรมแบบ “เจ้ามือไม่โกง” นั้น ทำไม่ได้ เนื่องจากความไม่สมมาตรของข้อมูลนั่นเอง[1]

ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่

(1) ปัญหา moral hazard อธิบายง่ายๆ คือ หลังจากผู้เอาประกันทำสัญญาประกันแล้ว มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เพราะเกิดความรู้สึกว่า “ฉันจะทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวประกันก็มาจ่าย” และ “ฉันต้องใช้ประกันให้คุ้ม เพราะจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันไปตั้งเยอะแล้ว”

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้บริษัทประกันต้องรับมือกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนบ่อยขึ้นโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น กรณีประกันสุขภาพ หลายกรณีผู้ป่วยขอให้หมอจ่ายยาแพง เพราะเชื่อว่ายาแพงมีคุณภาพดีกว่า หรือขอให้หมอตรวจโน่นตรวจนี่เพิ่มขึ้นทั้งที่ไม่จำเป็น ท้ายที่สุด ราคาเบี้ยประกันก็ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนส่วนเกินเหล่านี้

(2) ปัญหา adverse selection สมมติว่ามีผู้เอาประกันสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีความเสี่ยงสูง อีกกลุ่มหนึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และผู้เอาประกันทั้งสองกลุ่มต่างรู้ดีแก่ใจว่าตนอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงหรือกลุ่มความเสี่ยงต่ำ แต่บริษัทประกันไม่ทราบ เพราะไม่สามารถประเมินความแตกต่างจากการดูภายนอกอย่างผิวเผินได้ บริษัทประกันจึงไม่สามารถแยกแยะว่าผู้เอาประกันเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงหรือต่ำที่จะเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต

เมื่อบริษัทตั้งราคาเบี้ยประกัน จึงตั้งราคาให้ “กลางๆ” ไว้ก่อน ทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำต้องจ่ายราคาแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จนในที่สุดก็ตัดสินใจไม่ซื้อประกัน ตลาดประกันจึงมีแต่กลุ่มความเสี่ยงสูง ราคาเบี้ยประกันก็ต้องเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย ตัวอย่างในกรณีนี้ ได้แก่ ตลาดประกันชีวิตแบบบำนาญ (annuity market) เป็นต้น

 

ธุรกิจประกันภัย ลงทุนหนัก ค่าใช้จ่ายสูง

เพื่อแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลข้างต้น ธุรกิจประกันภัยจึงต้องมีการลงทุนในการพิจารณาผู้เอาประกัน (underwriting) เพื่อให้บริษัทประกันมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เอาประกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ผู้เอาประกันมีความเสี่ยงสูงหรือความเสี่ยงต่ำ โดยอาจดูจากอายุ (อายุยิ่งมาก ความเสี่ยงยิ่งมาก) หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต (คนสูบบุหรี่มีความเสี่ยงมากกว่า) ราคาเบี้ยประกันก็จะสะท้อนความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มลูกค้า

การลงทุนที่จำเป็นมากในปัจจุบัน ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (big data processing) เพื่อทำนายความเสี่ยงของผู้เอาประกันในอนาคต รวมถึงการลงทุนให้ผู้เอาประกันใช้เครื่องตรวจจับพฤติกรรมการขับรถยนต์ (car tracking device) เพื่อให้ทราบว่าผู้เอาประกันมีความเสี่ยงที่จะก่ออุบัติเหตุมากน้อยเพียงใด เป็นต้น ต้นทุนในการลงทุนเหล่านี้สะท้อนอยู่ในต้นทุนการบริหารจัดการ และส่งผลต่อราคาเบี้ยประกันในที่สุด

นอกจากนั้น ราคาเบี้ยประกันภัยยังมีการขึ้นลงเป็นวัฏจักร หรือที่เรียกว่า “วงจรรับประกันภัย” (underwriting cycle) กล่าวคือ ในช่วงปีหลังจากวิกฤตภัยพิบัติใหญ่ ซึ่งบริษัทประกันต้องจ่ายค่าสินไหมมากเป็นพิเศษ บริษัทก็จำเป็นต้องขึ้นราคาเบี้ยประกัน เพื่อนำมาทดแทนเงินทุนสำรองที่ร่อยหรอลงจากปีก่อนหน้า

จากประเด็นในบทความของคุณบรรยงที่อ้างถึงในตอนต้นนั้น อาจเป็นไปได้ว่าตัวเลขอัตราสินไหมจ่าย (loss ratio) ที่ยกมาอาจเป็นตัวเลขที่อยู่ในช่วงวงจรราคาขาขึ้น ภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานครและภาคกลางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากเป็นตัวเลขในปีอื่นหรือตัวเลขเฉลี่ยสิบปีอาจให้ภาพที่แตกต่างออกไป ในขณะที่วงจรรับประกันภัยของสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ในช่วงขาลงมานานมากเกือบ 20 ปีแล้ว จึงน่าไม่แปลกใจที่ธุรกิจประกันภัยในสหรัฐอเมริกาจะแข่งขันกันสูงในปัจจุบัน เพราะมีทุนสำรองในระดับสูงนั่นเอง

ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ราคาเบี้ยประกันยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ความต้องการป้องกันความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ที่บริษัทประกันจะต้องคุ้มครอง การทะยานขึ้นของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ ที่ทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลโดยทั่วไปแพงขึ้น การที่ผู้เอาประกันมีอายุยืนยาวขึ้นทำให้ต้องจ่ายเงินนานขึ้น การเกิดขึ้นของความเสี่ยงรูปแบบใหม่ในปัจจุบัน เช่น ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาภัยธรรมชาติ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น และกระทบต่อผู้เอาประกันและสินทรัพย์ภายใต้การคุ้มครองจำนวนมากขึ้น

ผู้เขียนคิดว่าต้นทุนการดำเนินธุรกิจประกันภัยอีกส่วนที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงคือ ความสามารถในการระดมทุนสำรองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติร้ายแรง ส่วนนี้คือต้นทุนแฝงที่เกิดจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งภายในและภายนอกอุตสาหกรรม เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการล้มละลาย (solvency risk) ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงการประกันภัยต่อ (การประกันภัยระหว่างบริษัทประกันด้วยกันเอง) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประกันภัยต่อในต่างประเทศ การได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทแม่ในต่างประเทศกรณีที่ความเสี่ยงของบริษัทลูกในประเทศมีสูง ความสามารถในการออกตราสารหนี้และตราสารทุนให้กับนักลงทุนโดยทั่วไป เป็นต้น

เพราะหากบริษัทประกันภัยไทยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเหล่านี้ได้ หรือแม้เข้าถึงได้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงแล้ว ท้ายที่สุด บริษัทก็จำเป็นจะต้องตั้งราคาเบี้ยประกันแพงๆ เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาป้องกันความเสี่ยงจากการล้มละลายของบริษัทในกรณีที่เกิดภัยพิบัติไม่คาดคิด

 

การถือหุ้นโดยต่างชาติอาจไม่ใช่คำตอบเดียว

นโยบายสำคัญที่คุณบรรยงเสนอไว้ในบทความ คือ การให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น (จาก 49% เป็น 75%) การให้ต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาในไทยได้สะดวกขึ้น หรือการปรับปรุงธรรมาภิบาลองค์กร (corporate governance) ทั้งหมดนี้อาจช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบริษัทประกันในไทยและส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลดีต่อผู้เอาประกันในวงกว้างได้

ผู้เขียนเห็นด้วยในเรื่องการพัฒนาธรรมาภิบาล เพราะจากงานวิจัยหลายชิ้น รวมถึงงานวิจัยของผมเอง[2] ได้แสดงให้เห็นว่าธรรมภิบาลองค์กรถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการขององค์กรให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกมากที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม InsureTech การส่งเสริมการจัดตั้ง Captive Insurance ในไทย เพื่อให้ธุรกิจทั่วไปสามารถตั้งบริษัทประกันสำหรับความเสี่ยงของตัวเองได้ และเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำเข้ามาในระบบมากขึ้น

การส่งเสริมการกระจายความเสี่ยงออกไปยังนอกอุตสาหกรรมประกันภัยก็น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุน ตัวอย่างนโยบายที่สำคัญคือ การออกกฎหมายที่ให้ธุรกิจประกันสามารถออกพันธบัตรหายนภัย (Catastrophe Bond) หรือตราสารที่เชื่อมโยงกับการประกันภัย (Insurance-linked Security: ILS) ดังเช่นที่ทำกันในต่างประเทศ

อธิบายตัวอย่างหลักการง่ายๆ คือ นักลงทุนทั่วไปสามารถพนันได้ว่าพายุลูกใหญ่จะเกิดหรือไม่ หากเกิดขึ้นจริง นักลงทุนก็จะเสียเงินให้กับบริษัทประกัน หากไม่เกิด บริษัทประกันก็จะจ่าย “ดอกเบี้ย” ให้กับนักลงทุน เป็นต้น กองทุนของตราสารเหล่านี้ได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรทั่วไป[3] และความเสี่ยงทางด้านการประกันภัยไม่มีความสัมพันธ์กับตลาดทำให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงในพอร์ตของตัวเองได้ดีขึ้น

เครื่องมือเช่นนี้ทำให้ธุรกิจประกันสามารถกระจายความเสี่ยงให้แก่นักลงทุนทั่วไปได้ แม้ว่าในปัจจุบันตลาด Insurance-linked Security ยังไม่เจริญเติบโตเท่าตลาดประกันภัยต่อ (มูลค่าตลาดราว 1 ใน 4 ของตลาดประกันภัยต่อทั่วโลก)[4] แต่ก็มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งเงินทุนราคาถูกสำหรับธุรกิจประกันไทยในอนาคต

การเปิดเสรีที่เอื้อให้การเข้าถึงตลาดประกันภัยต่อในต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนถูกลง ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา ตามแนวทางนี้บริษัทประกันสามารถกระจายความเสี่ยงออกไปนอกอุตสาหกรรมได้ดีขึ้นเพราะมีแหล่งเงินทุนราคาถูกกว่าในประเทศ ต้นทุนที่ถูกลงก็จะกดดันให้เบี้ยประกันถูกลงได้ด้วย เพราะบริษัทจะแข่งขันเพื่อดึงดูดลูกค้า

สุดท้าย ผู้เขียนมองว่าหากมีการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันเพียงอย่างเดียวและเปิดทางให้ธุรกิจประกันภัยของไทยอยู่ในมือต่างชาติแล้ว เงินเบี้ยประกันก็จะหลั่งไหลออกไปนอกประเทศ ความเสี่ยงอื่นๆ ที่เดิมเคยกระจุกตัวอยู่แต่ในต่างประเทศก็อาจลุกลามมาถึงไทยโดยยากที่จะตั้งตัว เพราะหากบริษัทประกันในต่างประเทศมีปัญหา ผู้เอาประกันในไทยก็จะมีปัญหาตาม ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดกับบริษัท AIG เมื่อปี 2008[5]

หากถึงตอนนั้นแล้วอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยคงเผชิญภัยพิบัติที่ยากจะแก้ไขก็เป็นได้

 

อ้างอิง

[1] ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาได้จากงานวิจัยคลาสสิครางวัลโนเบลของ Rothschild, M., & Stiglitz, J. (1976). Equilibrium in competitive insurance markets: An essay on the economics of imperfect information. The quarterly journal of economics, 629-649.

[2] งานวิจัยฉบับร่าง หัวข้อ Effect of the Sarbanes-Oxley Act on Financial Reporting Quality: Evidence from U.S. Property and Liability Insurance Industry

[3] Mercury investible Catastrophe Risk Index (MiCRIX)

[4] Cummins, J. D. (2008). CAT Bonds and Other Risk‐Linked Securities: State of the Market and Recent Developments. Risk Management and Insurance Review11(1), 23-47.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save