fbpx
Dust Atlas (5) : ยุคเท่าทันฝุ่น

Dust Atlas (5) : ยุคเท่าทันฝุ่น

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

 

พฤษภาคม อากาศทั่วโลกกำลังสดชื่น เมืองหนาวตอบรับฤดูใบไม้ผลิ เมืองร้อนฉ่ำชื่นจากฝน ฝุ่นละอองเข้าสู่ช่วงพักผ่อน ทว่าบางวันผู้คนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ก็รู้สึกได้ว่าในน้ำฝนมีฝุ่นละอองผสมอยู่ รถยนต์ที่จอดตากฝนไว้เกิดรอยด่างดวง น้ำที่ขังท่วมถนนยามฝนตกทั้งข้นคลั่กและยังสร้างสัมผัสคันยิบๆ เรียกร้องความสนใจเบาๆ

ฝุ่นหน้าฝนราวกับจะสะกิดเราว่าช่วงนี้เจอกันพอให้ระคายเคืองเล็กน้อย แล้วค่อยพบกันใหม่ในรูปแบบของหมอกควันปีหน้า เพราะเมื่อได้รู้จักกันแล้ว อย่างไรก็ไม่แคล้วได้สานสัมพันธ์กันต่อไป

พ.ศ. 2561 นับเป็นหมุดหมายที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอยู่กับฝุ่นอย่างเต็มตัว หลังเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เกิดวิกฤตค่าฝุ่น PM 2.5 เกินขีดอันตรายและเกิดหมอกควันพิษ (smog) แผ่ความร้อนอึดอัดอบอ้าว ขังอากาศซึ่งอันตรายต่อทางเดินหายใจอยู่ร่วมสองเดือน หลายมหานครทั่วโลกเคยเจอเรื่องนี้มาก่อน ทว่ากรุงเทพฯ กำลังเริ่มเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ

เราจะก้าวไปกับประสบการณ์ที่หมอกควันจะเวียนมาเป็นวัฏจักรทุกปี เครื่องปรับอากาศที่กรองฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นของใช้ประจำบ้าน หน้ากากกันมลพิษจะมีขายในเซเว่น ฯลฯ ได้อย่างไร หรือมีวิธีใดช่วยหยุดยั้งมลพิษตั้งแต่ตอนยังไม่เติบโตเกินกว่ากำราบได้ 101 Spotlight  ชวนสำรวจความคิดผู้คนที่ต่อสู้กับปัญหาฝุ่น ตลอดจนหนทางใหม่ๆ และความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจมีส่วนช่วยให้เราไม่ต้องพบกับ PM 2.5 ในปีหน้าและปีต่อๆ ไป

 

สะกดรอยลายนิ้วมือของฝุ่น ต้นทางแก้ปัญหา

สะกดรอยลายนิ้วมือของฝุ่น ต้นทางแก้ปัญหา

“PM 2.5 มีอยู่ในกระบวนการอุตสาหกรรมซึ่งมีการเผาทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีทางรู้ว่ามลพิษออกมาจากที่ไหน จนกว่าเราจะทำเรื่อง ‘อัตลักษณ์ทางเคมี’ (finger print)  โดยดูว่ามลพิษที่ออกมามีองค์ประกอบของสารจากแหล่งกำเนิดไหนเยอะ”  รศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงเครื่องมือช่วยให้สะกดรอยที่มาของมลพิษได้

“สมมติเราจะย้อนรอยที่มาของ PM 2.5 เราจะไปดูว่าในฝุ่นหนึ่งหน่วย ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เหมือนรวบรวมลายนิ้วมือของมนุษย์ ฝุ่นนี้มีเหล็กเยอะ มาจากโรงเหล็ก ฝุ่นนี้มีองค์ประกอบชีวมวลเยอะ อาจมาจากโรงเผาชีวมวล หรือมาจากบอยล์เลอร์ของโรงงานนี้ เราสามารถหาอัตลักษณ์และเปรียบเทียบได้ โดยมีกระบวนการทางคณิตศาสตร์ครับ ด้วยความที่องค์ประกอบเหล่านี้ถูกสร้างด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เราจึงดูปลายทางแล้วเราไล่ย้อนต้นทางได้ ว่ามลพิษแต่ละชนิดมาจากแหล่งไหนกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องมาจากแหล่งเดียวกันร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ เช่น อาจมาจากการเผาไหม้ในโรงปูน 50% อาจจะมาจากการเผาไหม้ในโรงหลอมเหล็ก 50% เราสามารถย้อนรอยกลับไปได้”

ในต่างประเทศ นโยบายเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศมากมายต้องอาศัยการระบุอัตลักษณ์ทางเคมีช่วยควบคุม เช่นนโยบาย Cap and Trade การค้าขายคาร์บอนเครดิต การประเมินศักยภาพพื้นที่ในการรองรับมลพิษ และเวชศาสตร์ป้องกันมลพิษต่างๆ ฯลฯ  ซึ่งหากมีฐานข้อมูลอัตลักษณ์ทางเคมีที่เพียงพอ เมื่อเกิดกรณีพิพาท หรือเกิดการปลดปล่อยมลพิษเกินขนาด จะทำให้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและผู้ปลดปล่อยมลพิษได้ง่าย

ปี 2558 มีเหตุการณ์การสืบหา ‘อัตลักษณ์ทางเคมี’ ที่โด่งดังจากกรณีเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร โดย ผศ.ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ว่าสารไซยาไนด์ที่พบในนาข้าวใกล้เหมืองทองคำอัครา ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ จากผลการวิเคราะห์พบว่าอัตลักษณ์ของไซยาไนด์ในนาข้าวคล้ายกับไซยาไนด์ที่อยู่ในบ่อกักเก็บไซยาไนด์ของเหมืองชื่อบ่อ TSF1 ซึ่ง ผลการสรุปนี้นำไปสู่น้ำหนักในการพิจารณาสั่งปิดเหมืองทองคำ

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วยให้ภาพว่าเราจะนำหลักการเดียวกันนี้มาใช้ในการควบคุมฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมืองได้อย่างไร “ในต่างประเทศมีการวิเคราะห์ว่า ถ้าน้ำมันชนิด A , B, C ปล่อยมลพิษออกมา มลพิษตรงนี้มีอัตลักษณ์จาก A, B, C  สัดส่วนเท่านี้ๆ สมมติถ้าทำในกรุงเทพฯ เราสามารถทำแบบจำลองของมลพิษกับรถยนต์ได้เช่นกันว่ารถมีกี่ประเภท ใช้น้ำมันแบบไหน ปล่อยมลพิษแบบไหน ฯลฯ

“ที่สำคัญเราต้องมีห้องสมุดของการทำลายนิ้วมือเยอะๆ หรือมีข้อมูลเยอะๆ นั่นเอง เพื่อมายืนยันรับรองอัตลักษณ์ การตรวจแบบนี้ ต้องใช้ทั้งแรงคน ค่าใช้จ่าย เวลา ต้องมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบมาตรฐานการตรวจวัด การเปรียบเทียบ ถ้าเรามีข้อมูลเหล่านี้เยอะๆ ก็จะเสริมซึ่งกันและกัน จริงๆ เรามีหลายหน่วยงานทำอยู่ ภาคอุตสาหกรรมที่ทำ CSR และชูเรื่องความซื่อสัตย์และธรรมาภิบาลก็มีข้อมูลตรงนี้ ถ้าทุกฝ่ายมีข้อมูลอะไรก็เปิดเผยเป็น Open Data ให้ดูได้ เราก็จะหาอัตลักษณ์ของมลพิษได้ง่ายขึ้น” ศิริมากล่าว

เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานและระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต

เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานและระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต

“ลักษณะเฉพาะของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลมและแสงอาทิตย์ แม้จะมีมลพิษต่ำ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ แต่มีความผันผวนในระยะสั้นสูง เช่นมีเมฆบัง หรือลมพัดบ้างไม่พัดบ้าง บางครั้งผลิตได้ในเวลาที่ไม่มีความต้องการ เช่น ผลิตพลังงานลมได้ตอนกลางคืน แต่ความต้องการใช้ไฟในตอนนั้นต่ำแล้ว เราก็ต้องทิ้งพลังงานนั้นไป เพราะเราไม่สามารถกักเก็บพลังงานนั้นไว้ได้” ดร. วิชสินี วิบุลย์ผลประเสริฐ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  กล่าวถึงอุปสรรคของการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ในงานเสวนาเรื่อง “ทางเลือกพลังงานไฟฟ้าไทย ถ้าไม่พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 4 เมษายน 2561 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ TDRI

โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนับเป็นอีกแหล่งปลดปล่อยสำคัญของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดในประสบการณ์ของทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ จีน อเมริกา และในหลายประเทศซึ่งก้าวมาถึงจุดที่ปิดโรงไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหามลพิษ และลงทุนในสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าก็ยังคงหลงเหลือโรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนหนึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำรอง เพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่าข้อถกเถียงสำคัญที่ทำให้ไทยพัฒนาไปสู่การใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานฟอสซิลไม่ได้ คือโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าฐานที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง เชื้อเพลิงถ่านหินมีปริมาณสำรองจำนวนมากสามารถใช้ได้ถึง 200 ปี ราคาถ่านหินมีเสถียรภาพและไม่แพง ส่วนโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีข้อด้อยสำคัญคือยังไม่สามารถรับรองยืนยันถึงความเสถียรของพลังงานได้

อย่างไรก็ตามข้อด้อยเหล่านี้กำลังค่อยๆ หมดไปเมื่อเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System: ESS) ซึ่งพัฒนาขึ้นเมื่อหลายปีก่อนมีราคาถูกลง และได้ปรับปรุงข้อจำกัดของเทคโนโลยีให้ลดลงเรื่อยๆ “ระบบกักเก็บพลังงานถือเป็นจุดพลิกโฉมของพลังงานไฟฟ้า และเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปยังระบบการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนได้ ตอนนี้ระบบกักเก็บพลังงานมีคุณสมบัติสำคัญที่สุด คือความสามารถในการโยกย้ายพลังงานไฟฟ้าระหว่างเวลา ทำให้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าช่วงเวลาที่มีมูลค่าต่ำ หรือช่วงต้นทุนการผลิตต่ำไว้ใช้ในช่วงที่มีมูลค่าสูงได้ แต่เดิมเรากักเก็บพลังงานไฟฟ้าไม่ได้ ไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนจึงมีปัญหาของการรักษาเสถียรภาพระบบ แต่ระบบกักเก็บพลังงานมาจะช่วยรักษาเสถียรภาพในระยะสั้นของพลังงานหมุนเวียนได้”  วิสิชนีกล่าว

จากข้อมูลปี 2559 ของ International Energy Agency ระบุว่า ไทยมีแสงแดดตลอดทั้งปี ตรงกันข้ามกับประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษที่ต้นทุนแสงต่ำกว่ามาก แต่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้มากกว่าไทยหลายเท่าตัว ซึ่งสะท้อนว่าไทยไม่ได้นำต้นทุนทางพลังงานหมุนเวียนมาใช้แม้จะมีศักยภาพมากก็ตาม วิสิชนีเสนอผลงานวิจัยว่าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีบทบาทลดลงในอนาคต หากนำระบบกักเก็บพลังงานซึ่งต้องลงทุนในแบตเตอรีมาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่แล้วในระบบ หากระบบกักเก็บพลังงานนี้ดำเนินไปถึงปีที่ 10 จะเข้าสู่จุดคุ้มทุน ทั้งการคุ้มทุนด้วยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ และคุ้มทุนเพราะสามารถชลอการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้ากังหันแก็สได้

ระบบนี้ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคครัวเรือน โดยเฉพาะหากกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไปในชุมชนต่างๆ ให้ชุมชนผลิตและบริหารจัดการไฟฟ้าด้วยตนเอง

“เราสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้กับโครงข่ายไฟฟ้าย่อยๆ โดยกระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้าเป็นตาราง (grid) ในเครือข่ายย่อยๆ ในชุมชนหรือในกลุ่มตึก ใกล้ๆ กัน ผู้ใช้ไฟฟ้าจะไม่ใช่ผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเดียวแล้วแต่จะมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีผลิตพลังงานใหม่ๆ ด้วยเช่นโซลาร์รูฟท็อป โครงข่ายย่อยๆ นี้จะมีบทบาทในการนำซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการไฟฟ้าให้กันเองด้วยช่วยให้ชุมชนและธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจไฟฟ้าได้มากขึ้น และมีแหล่งไฟฟ้าของตัวเอง”

ปัจจุบันนี้ระบบจัดเก็บพลังงานมีหลายขนาด และติดตั้งได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ สถานประกอบการขนาดเล็ก ครัวเรือน ในระบบสายส่งไฟฟ้า ระบบจัดเก็บพลังงานได้เปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้าไปแล้วหลายประเทศทั่วโลก ในจีนแพล็ตฟอร์มอาลีบาบาขายเครื่องจัดเก็บพลังงานให้คนทั่วไปซื้อไปติดตั้งที่บ้านร่วมกับแผงโซลาร์เซลล์เป็นเรื่องธรรมดาราวกับขายเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นหนึ่ง ในออสเตรเลียมีระบบแบตเตอรีลิเธียมไอออน ช่วยกักเก็บไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยเก็บพลังงานไฟฟ้าจากฟาร์มกังหันลม Hornsdale ได้ถึง 100 เม็กกะวัตต์ และจ่ายไฟได้อย่างมีเสถียรภาพยิ่งกว่าโรงไฟฟ้าแบบเก่า

อย่างไรก็ตามแนวทางของรัฐและภาคอุตสาหกรรมโต้แย้งแนวคิดนี้แทบทั้งหมด และยืนยันว่าภาคอุตสาหกรรมต้องการไฟฟ้าที่มากเกินกว่าที่พลังงานสะอาดจะผลิตได้ เจน นําชัยศิริ รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าถ่านหินยังจำเป็นและเหมาะสมกับการนำมาผลิตไฟฟ้าอยู่ ส่วนความกังวลของสังคมเรื่องมลพิษสามารถใช้เทคโนโลยีจัดการได้แต่ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจะสูงขึ้นทำให้ค่าไฟฟ้าจะแพง ซึ่งหากไม่ยอมรับถ่านหินหรือมองว่าเป็นพลังงานที่ไม่สะอาด คงต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น สอดรับกับแนวทางของรัฐที่ประกาศเดินหน้าพลังงานฟอสซิล และประกาศนโยบายชลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 5 ปี ไปเมื่อเร็วๆ นี้

รถยนต์ไฟฟ้ามีอนาคตหรือ ?

รถยนต์ไฟฟ้ามีอนาคตหรือ ?

การยกระดับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์พลังงานน้ำมันไปเป็นเครื่องยนต์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น  มีผลต่อการลดหรือเพิ่มการปลดปล่อยฝุ่น PM 2.5 อย่างไร นับว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก เช่น หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเปรียบเทียบรถที่มีมาตรฐานสูงเหล่านี้กับรถเก่า ฝุ่นละเอียดที่สร้างขึ้นมาจะสร้างมากกว่ารถเก่า รถเก่าอาจจะสร้างฝุ่นขนาด PM 10 เพราะเผาไหม้ไม่ค่อยราบรื่นมีสะดุด แต่รถใหม่ซึ่งมีเครื่องยนต์ใหม่กว่า มีการเผาไหม้หมดจดและละเอียดกว่า จะสร้าง PM  2.5 ได้มากกว่า เพียงแต่ที่ผ่านมาไทยไม่เคยมีมาตรฐานจำกัดการปลดปล่อย PM 2.5 จากเครื่องยนต์ จำกัดถึงเพียงแค่ PM 10 เท่านั้น จึงทำให้ยังไม่มีข้อมูลมายืนยันในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามจากรายงานของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงจากค่าเฉลี่ยรายปีของปี 2556 ที่สูงถึง 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นผลจากการนำน้ำมันและรถยนต์มาตรฐาน Euro 4 มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ส่งผลให้มีการลดการระบายมลพิษ รวมทั้ง PM 2.5 จากรถยนต์ทั้งรถเก่าและรถใหม่ และการเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน Euro 4 ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพของประชาชนสูงถึง 56,700 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันสถิติผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจกลับเพิ่มสูงขึ้นทุกปีสวนทางกับผลรายงานคุณภาพอากาศ

ท่ามกลางข้อถกเถียงเหล่านี้ ทวีปยุโรปและอีกหลายประเภทที่พัฒนาแล้วได้เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถไฟฟ้า เพื่อลดการปลดปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์ และหลายประเทศได้ทำสถานีชาร์จแบตเตอรีรถยนต์โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซี่งไทยมีแผนทีจะปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเช่นกัน

ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์มากที่สุดเป็นอันดับ 12 ของโลก แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน คนไทยมีความพร้อมเรื่องนี้แค่ไหนอย่างไร ในงานเสวนา  “Open Forum: เปิดโลกเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า EP 1: ความปลอดภัย” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ได้มีผู้กำหนดนโยบาย และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ธิบดี หาญประเสริฐ อุปนายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทยแสดงถึงความกังวลใจที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงต่อนิเวศของผู้เกี่ยวกับรถยนต์ทั้งระบบ เช่นดีลเลอร์นำเข้าชิ้นส่วนรถ ช่างติดฟิล์ม ช่างซ่อมรถ ฯลฯ ซึ่งรถไฟฟ้าจะมีการซ่อมบำรุงน้อยลงและพึ่งพาเทคโนโลยีจากผู้ผลิตไม่กี่แห่ง หากไทยก้าวเร็วเกินไปในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า จะมีคนอีกมากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ธิบดีเสนอว่ารัฐควรเริ่มสนับสนุนจากการผลิตรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีโนว์ฮาวอยู่แล้วและผลิตได้เลย ผลิตรถยกของไฟฟ้าใช้ในอุตสาหกรรม หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้าเพื่อส่งออก และสนับสนุนให้ SME ผลิตชิ้นส่วนของรถไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งเป็นการค่อยๆ ปูพื้นฐานความเชี่ยวชาญในทางเทคโนโลยี

“เทคโนโลยีคนไทยมีแค่ไหน เรามีแค่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่รู้ทฤษฎีรองรับได้ แต่สำหรับอุตสาหกรรม เหล็ก พลาสติกแต่ละยี่ห้อ มันมีโนว์ฮาวลึกๆ ซ่อนอยู่ เหล็กเยอรมันดีกว่าญี่ปุ่น ญี่ปุ่นดีกว่าเกาหลี  รถพลาสติกของเกาหลี 7-8 ปีคุณเดินชนก็แตกแล้ว หรือสายพานบางอย่างต่อให้รถยุโรปก็เถอะ จะทนเท่ารถญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์แต่ละตัวจะเป็นโนว์ฮาวทางอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีที่ลึกซ่อนอยู่

“ถามว่าคนไทยมีเทคโนโลยีนั้นมั้ย รู้ว่าผสมเหล็กเป็นอย่างนี้ จานเบรกเป็นอย่างนี้ ผ้าเบรกเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเอาชิ้นส่วนของแต่ละค่ายมาใช้ด้วยกัน มันจะไม่ได้ผลตามที่ควรจะเป็น นี่คือข้อเท็จจริงทางอุตสาหกรรม พอเราผลิตรถไฟฟ้า เราซื้อแบตเตอรี แน่นอนครับเจ้าใหญ่ในโลกมีไม่กี่เจ้า คือพานาโซนิกของญี่ปุ่น ของเกาหลีซัมซุง แล้วก็ YDOP เราก็ไปฟังมาว่ามีแบ็ตลิเธียมแล้วนะ เดี๋ยวก็มีลิเธียมฟอสเฟต ลิเธียมไททาเนท แล้วคุณจะเริ่มลงทุนวันนี้หมื่นล้าน คุณจะเริ่มตรงไหน ถ้าคุณเริ่มตรงซื้อแบตเตอรี อาจกลายเป็นว่าอีก 2 ปี เขาไม่ใช้แล้ว

“เพราะฉะนั้น ในการที่จะเริ่ม ทำง่ายๆ ครับ เราไปมองรถทั้งคันเป็นคำตอบสุดท้ายของประเทศมันไม่ใช่นะ ผมพยายามหาทางออกให้รัฐบาลว่า คุณทำเซ็นเซอร์สิ คุณพัฒนา SME ไทยให้ทำเซ็นเซอร์ได้มั้ย ทำรีเลย์ได้มั้ย ทำไมคุณต้องซื้อรีเลย์ (อุปกรณ์ทำหน้าที่เป็นสวิตช์ควบคุมวงจรไฟฟ้า) ของบอส ทำไมคุณไม่ซื้อรีเลย์นายสมชาย แล้วพัฒนารีเลย์นายสมชายให้มีมูลค่าเท่าบอส แล้วขายไปทั่วโลก คุณส่งเสริมไปเลย จะให้อัดความรู้อะไร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถเยอะไปหมด คุณทำสิ ให้ SME ไทย 3-5 ปีวางแผนระยะยาว พัฒนาทุกมิติ ทั้งสายไฟ สวิทช์ชิง เซ็นเซอร์ และทุกอย่าง พอถึงจุดหนึ่งเรามีผู้ผลิตที่แข็งแรงระดับหนึ่ง ยังไงก็มาใช้เครื่องไทย ยังไงก็เป็นของไทย”

มานิตย์ กู้ธนพัฒน์ กรรมการสภาวิศวกรเสริมว่า  “ตัวมอเตอร์รถไฟฟ้าคนไทยทำได้ แต่แบตเตอรี เราต้องซื้อเวลาประมาณ 10 ปี จีนก็ต้องซื้อ ตอนนี้ไม่ใช่แค่ลิเธียม มันจะไปโฟลว์แบตเตอรีแล้วนะครับ ซึ่งทุกเจ้าพัฒนามาเกิน 10 ปีทั้งสิ้น”

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายกล่าวว่าเทคโนโลยีที่ราคาถูกลงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เกิดจากทิศทางการสนับสนุนของรัฐเป็นสำคัญ หากตั้งใจจะเดินหน้าการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุน การอุดหนุน และส่งเสริมทุนความรู้ และการลงทุนเพื่อทดลองผลิตจนได้เทคโนโลยีที่ทุกคนเอื้อมถึง ตลอดจนการสร้างงานในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า ทั้งการผลิต การจัดหาพลังงาน การซ่อมบำรุง ฯลฯ จะตามมาเอง

จัดการขยะอย่างไรให้ได้พลังงานสะอาด

จัดการขยะอย่างไรให้ได้พลังงานสะอาด พิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ประเทศไทยมีเตาเผาขยะไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการเผาในที่โล่ง  (Open Burn) ต้องเอาขยะมากองกลางแจ้งก่อนแล้วค่อยเผา  (Open Dump) การเผาลักษณะนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเผาไหม้จะไม่สมบูรณ์  สิ่งที่ถูกปลดปล่อยจากบ่อขยะคือฝุ่นทุกขนาด รวมทั้ง PM 2.5 ด้วยครับ” พิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมลพิษจากบ่อขยะ โดยเขากล่าวว่าขยะที่ทิ้งอย่างปะปนกันจะสร้างฝุ่น PM 2.5 แต่ขยะที่ทิ้งอย่างถูกต้องจะสร้างพลังงานได้

“การเกิดฝุ่นในบ่อขยะจะไม่กระจายไปเยอะ เพราะว่าเป็นฝุ่นหนัก แต่ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะเบา เดินทางได้ไกล และเราไม่มีทางเห็นด้วยตา ฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้มากกว่า เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์บ่อขยะไหม้ที่แพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ เราได้เห็นควันไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ควันเดินทางต่อไปได้อีก 20 กิโลเมตรในนั้นมี PM 2.5 และไดออกซินอยู่ด้วยแน่นอนเพราะเป็นการเผาไหม้พลาสติกแบบไม่สมบูรณ์ ตอนนี้ก็เกิดการเผาไหม้ในบ่อขยะทั่วประเทศทุกวันครับ แค่ไม่เป็นข่าว”

พิชญกล่าวว่าไฟจะไหม้ในบ่อขยะได้ มีเชื้อเพลิงหลักๆ สองอย่างคือขยะพลาสติกและแก็สมีเทน โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น บ่อขยะคายความร้อนแล้วทำปฏิกิริยากับแก็สมีเทน หรือการลักลอบจุดไฟเผาในบ่อขยะแล้วไม่ดับแต่ลามไปเรื่อยๆ ซึ่งผู้ทำงานใกล้บ่อขยะเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นคนเก็บขยะ นักดับเพลิง หรือผู้อยู่ในรัศมีที่ควันจากการเผาไหม้ไปถึง

เมื่อถามพิชญว่าโรงไฟฟ้่าพลังงานขยะ ซึ่งเป็นระบบการกำจัดยะขแบบปิด เป็นทางออกของเรื่องนี้ได้หรือไม่ พิชญกล่าวว่า “ในบ้านเราการเผาขยะที่ไปทำไฟฟ้าทำได้นะครับ แต่เราต้องควบคุมว่าที่ขอตอนออกแบบ กับที่สร้างเป็นไปตามที่ขอจริงๆ มีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยกำจัดมลพิษจริงๆ เพราะในขั้นตอนของการคำนวณการออกแบบ ปกติราชการหรือมีมาตรฐานว่า ต้องมีที่ดักฝุ่น ต้องมีที่ดักสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เตาเผาจะต้องมีสองห้องเผา มีอุณหภูมิตามเกณฑ์ เกณฑ์ราชการมีครบอยู่แล้วครับ

“แต่ทีนี้พอขั้นต่อไป ในทางปฏิบัติการจริง มีทั้งเรื่องการติดตั้งจริง การเดินระบบจริง ถ้าจะทำให้ดีต้องมีคนตรวจสอบ ว่าที่เขาสัญญาในกระดาษทำจริงหรือเปล่า และถึงแม้ติดตั้งครบทุกอย่าง แต่เดินระบบด้วยบุคลากรที่มีประสบการณ์มีความรู้หรือไม่ มีวิศวกรควบคุมมั้ย  มีการทดสอบความร้อนก่อนการเดินระบบหรือเปล่า มีการแยกขยะหรือเปล่า การแยกขยะเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าแยกไม่ดี 1. จะไม่คุ้ม 2. ในทางเทคนิคเป็นไปไม่ได้ที่จะเผาของที่ปนกันแล้วให้มันดี การแยกขยะสำคัญมาก คือการจัดการทางทรัพยากรที่ดีที่สุด

“ยกตัวอย่างขวด สมมติแยกเป็นขวดสิงห์กับเนสท์เลได้จะยิ่งดี ถ้าเราแยกขนาดนั้นได้ ทุกอย่างจะไม่มีของเสีย (waste) มีเจ้าของบริษัทที่แยกขยะในระบบเคยพูดว่าของเสียในโลกจริงๆ ไม่มี มีแต่ของที่อยู่ผิดที่ ถ้าอยู่ผิดที่จับให้อยู่ถูกที่ก็กลายเป็นทรัพยากรกลับมาได้ใหม่หมด”

พิชญกล่าวว่าการแยกขยะนั้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ เช่น หากทำได้ดีขยะพลาสติกจะถูกแปรรูปเป็นน้ำมันได้

“หลุมขยะพวกนี้พอฝังไปนานๆ 10-20 ปี เขาจะขุดหลุมขึ้นมา พวกอินทรีย์สารจะย่อยสลายไปหมดแล้ว เหลือขยะที่ไม่ย่อยอย่างพลาสติก ซึ่งจะถูกนำมาเผาในระบบปิดความร้อนสูงเพื่อหลอมตัวเป็นน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของมัน โดยจะมีหอกลั่น ที่แยกน้ำมันที่ได้ในอุณหภูมิที่แตกต่างกันออกมา เช่นเป็นดีเซลหรือน้ำมันเตา แต่วิธีนี้ขยะเมืองไทยทำไม่ได้ เพราะเราทิ้งทุกอย่างรวมกัน ทำให้มีความชื้นสูง มีการปนเปื้อนสูง สกปรกมาก เวลาเข้าเตาเผา ความร้อนที่จะใช้ได้จึงต้องสูงมากเพื่อให้ความชื้นระเหยออกให้หมดก่อน และในเมืองไทยคุณต้องเอารถมาขนขยะพลาสติกไปทำน้ำมัน ต้องใช้น้ำมันเติมรถขนขยะอีกหลายเที่ยวอีกต่างหาก ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมแทบไม่ได้เลย”

TAQM และการบูรณาการแก้ปัญหาอากาศ

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล

แม้วันนี้โลกจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าหลายอย่างให้เลือกใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น มีองค์ความรู้ในการพาเราออกจากทางออกจากปัญหา แต่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดบุคลากรที่จะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นจริงได้ เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ขึ้น ได้มีคนมากมายรวมตัวกัน เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครื่องตรวจสอบค่าฝุ่นและสร้างแอพพลิเคชันที่นับรวม PM 2.5 ไว้ด้วยเพื่อแจ้งเตือนกันและกัน การพยายามผลักดันกฎหมายและสิทธิในอากาศสะอาด ฯลฯ  และบางกลุ่มเลือกที่จะเป็นผู้บูรณาการความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน

“ศูนย์เครือข่ายจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย (Thailand Network Center on Air Quality Management-TAQM) เกิดขึ้นเพราะเราขาดบูรณากรเรื่องอากาศ ซึ่งเราอาสาเป็นบูรณากรคนนั้น การแก้ปัญหาอากาศ ไม่ได้ต้องการเฉพาะอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศ แต่ต้องบูรณาการหลายส่วน เพราะวิธีแก้เรื่องมลพิษทางอากาศที่ดีที่สุดคือแก้ที่แหล่งกำเนิด” รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเป็นมาของ TAQM หน่วยงานที่นำองค์ความรู้ด้านการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศมาถ่ายทอดและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ โดยรวมทั้งคณาจารย์จากหลากหลายศาสตร์ หลากหลายมหาวิทยาลัย ผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านคุณภาพอากาศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

“อย่างแรกที่พวกเราทำได้คือสอน บรรยาย เพราะใน TAQM ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ เราเลยอยากถ่ายทอดความรู้ ถ้าคุณอยากให้เราอบรมอะไร หรืออยากให้ความรู้อะไรส่วนไหน แจ้งเราได้ เราพยายามจะหาคน แล้วพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา”

TAQM เปิดตัวเมื่อ 11 ตุลาคม 2560 หนึ่งในผลงานของ TAQM คือการจัดอบรมเรื่องการควบคุมการปลดปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากโรงงานอุตสาหกรรม หนึ่งในต้นตอของมลพิษหลายชนิดรวมทั้ง PM 2.5 โดยร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และช่วงวิฤตฝุ่น PM 2.5 เมื่อต้นปี TAQM ยังมีบทบาทช่วย ‘เคลียร์ความเข้าใจผิด’ ของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับฝุ่นที่ไหลเวียนในสังคม และให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ด้วยหลักวิชาการอย่างละเอียด

TAQM รายงานถึงต้นกำเนิดของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ช่วงวิกฤตฝุ่นว่า เกิดจากต้นเหตุหลักๆ คือ (1) ไอเสียจากรถยนต์หรือจากการจราจร (2) อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3) การเผาในที่โล่งและในที่ไม่โล่ง จากทั้งในกรุงเทพฯ และจากพื้นที่โดยรอบหากทิศทางลมพัดพามาสู่เมือง โดยมีงานวิจัยล่าสุดที่ TAQM เชื่อว่าสาเหตุที่สำคัญที่สุดของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากการจราจรที่ติดขัดซึ่งปลดปล่อยไอน้ำมันดีเซลออกมา (อ่านรายงานของ TAQM ทั้งหมดได้ ที่นี่)

ทีมงานของ TAQM มีความตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤต โดยก่อนพัฒนามาเป็น TAQM ปี 2560 ศิริมาและคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลิตและติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่า PM 2.5 ที่จังหวัดน่านกว่า 95 เครื่อง ซึ่งสามารถเช็กค่าได้ทั้งบนแอ็พพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ และที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่นอกอาคารและแวะเวียนมาดูได้ง่ายๆ

“เราใช้เครื่องตรวจวัดง่ายๆ แต่ค่าที่ได้จากเซ็นเซอร์ของเรากับค่าของกรมควบคุมมลพิษไม่เหมือนกัน จะห่างกันเล็กน้อย เพราะเครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษเป็นแบบมีมาตรฐานซึ่งมีราคาแพง การใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดทำให้ประหยัดต้นทุนของส่วนงานตรวจติดตาม ที่น่านเราติด 95  ตัวเพื่อให้อย่างน้อย เครื่องได้แจ้งค่าสีเขียว สีแดง สีเหลืองตามระดับความอันตรายของอากาศ ให้คนรู้ฉันจะเตรียมตัวยังไง จะใส่หน้ากากไปทำงานมั้ย ก็พอช่วยได้”

เมื่อถามศิริมาถึงเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ที่สตาร์ทอัพ ชุมชน ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ฯลฯ พัฒนาขึ้นใช้เองเพราะเครื่องของรัฐไม่ครอบคลุมทุกที่และมีไม่เพียงพอว่าว่าค่าเหล่านี้เชื่อถือได้หรือไม่ ศิริมาตอบว่า

“มีสิ่งที่ต้องระวังเหมือนกัน ถ้าใช้เครื่องตรวจวัดที่ใช้เทคโนโลยีที่ง่ายจนห่างไกลจากมาตรฐานการผลิตจนเกินไป ค่าจะเยอะจนคนกังวลว่าฉันต้องกลั้นหายใจไหม ถ้ามีคุณภาพระดับกลางๆ หรือดี แต่ยังอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ถูกรับรองว่าเป็นวิธีมาตรฐาน อย่างเราเองที่ทำเซ็นเซอร์ที่น่าน ก็ไม่ได้อยู่ในระดับมาตรฐาน ช่วยเฝ้าระวังได้ แต่ไม่สามารถใช้รายงานตามกฎหมาย”

การขาดแคลนสถานีตรวจวัดอากาศซึ่ง ‘สามารถใช้รายงานตามกฎหมาย’ ได้ นั้นนำไปสู่ปัญหาใหญ่มากกว่าที่คิด ศิริมากล่าวว่านี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพอากาศของประเทศไทยไม่ค่อยได้บังคับใช้

“กฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศบ้านเรามีเกือบหมด มีเยอะกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำ ทั้งพระราชบัญญัติ กฤษฎีกา ไม่ได้ล้าหลัง บางกฎหมายล้ำมาก อังกฤษยังไม่มีเลย กฎหมายคุม PM 2.5 เราก็มี แต่ถามว่ามีคนตรวจให้อากาศได้ค่ามาตรฐานตามกฎหมายไหม มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพียงพอไหม ในกรุงเทพฯ มีสถานีตรวจแค่ 6 สถานี เพิ่งจะตั้งอีก 20 สถานี แต่ละสถานีต้องมีคนดูแลซ่อมบำรุง ต้องใช้ทรัพยากรเยอะเหมือนกัน”

ปัญหาการมีทุกอย่างพร้อมในกฎหมายแต่ขาดการบังคับใช้ นับเป็นปัญหาคลาสสิกของสังคมไทย แต่ TAQM ก็ยังไม่ย่อท้อที่จะผลักดันให้มาตรการทางกฎหมายใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การเสนอให้กรมควบคุมมลพิษใช้ดัชนีสุขภาพอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศ  (Air Quality Health Index : AQHI) แจ้งเตือนคุณภาพอากาศต่อประชาชน แทนดัชนีวัดคุณภาพอากาศ  (Air Quality Index : AQI) ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน โดย TAQM กล่าวว่าค่า AQI มีช่องโหว่คือมลพิษแต่ละประเภทมีผลกระทบไม่เท่ากัน ดังนั้นวิธีที่ถูกต้องกว่าคือควรเอาความแรงของผลกระทบมาร่วมคำนวณด้วย จึงได้เป็นค่า AQHI และควรนับรวม PM 2.5 ไว้ในค่า AQHI ด้วย

“ถ้าจะใช้ค่า AQHI ถามว่ายากไหม ยาก คุณจะต้องรู้ข้อมูลผลกระทบของมลพิษที่ส่งผลต่อคน ซึ่งต้องเชื่อมต่อกับข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลของมูลนิธิต่างๆ ข้อมูลเชิงการแพทย์ เชิงสถิติ ฯลฯ  ต้องใช้เวลาทำข้อมูลตรงนี้อย่างน้อย  3-5 ปี แต่ถ้าไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้ เท่ากับเราปล่อยให้ช่วงเวลาที่จะได้เก็บข้อมูลหายไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้เก็บ ปีหน้าฝุ่นก็มาอีก โดยที่เราไม่ได้ตั้งรับอะไร

“เราไม่เคยมีข้อมูล แต่ตอนนี้ทุกหน่วยงานรู้แล้วว่าต้องทำอะไร เชื่อว่าคนไทยรอได้ ถ้าเก็บข้อมูลไป  3-5 ปี แล้วบอกว่าระหว่างนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อจะหาค่า AQHI ประชาชนก็คงไม่ว่าอะไร แต่ที่สำคัญคือเราน่าจะลงมือทำตั้งแต่วันนี้”

ศิริมากล่าวว่าแม้ว่าคนไทยอาจต้องรอการนำค่า AQHI มาใช้แทน AQI สักพัก (หากรัฐต้องการเริ่มต้น) แต่สิ่งที่ทำได้เลย ณ ปัจจุบันนี้ คือการขอให้กรมควบคุมมลพิษบรรจุค่า PM 2.5 เข้าไปในค่า AQI ซึ่งจะทำให้เกิดการเฝ้าระวังสุขภาพที่ยกระดับสูงขึ้น และนำไปสู่มาตรการการแก้ไขปัญหามลพิษที่จริงจังยิ่งขึ้น

“เราอยู่ตรงนี้ รู้ว่าบ้านเรามีหลายฝ่ายมากที่มีองค์ความรู้ พร้อมแก้ปัญหา แต่ต่างคนต่างทำ TAQM เกิดขึ้นมาจากการที่เราเห็นว่า เฮ้ย! ไอ้นี่ก็มี นั่นก็มี แต่ทำไมการแก้ปัญหาไม่เกิด เราต้องเรียนรู้ ดิ้นรนให้ผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน ด้วยการให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับปัญหาที่มีอยู่ แล้วทุกๆ คนมีส่วนร่วมใช้ความพยายาม เข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่ามันจะยั่งยืน เรายอมช้านะ แต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง” ศิริมาทิ้งท้ายถึงวิสัยทัศน์ของ TAQM ซึ่งยืนยันว่าพร้อมเป็นบูรณากรและเชื่อมต่อกับทุกฝ่ายที่พร้อมแก้ปัญหาคุณภาพอากาศในสังคมไทย

 

ก่อนท้องฟ้าจะสดใส บทส่งท้ายการเดินทาง

แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังมีอีกหลายแนวทาง ที่เชียงใหม่ขณะนี้ได้มี “ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเชียงใหม่” เป็นของตนเอง (ดูผลแบบ real time ได้ที่นี่)  ซึ่งกว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือข้ามวงการของคนมากมายทั้งแพทย์ พยาบาลในจังหวัด ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวแทนหอการค้าจังหวัด นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการ และภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ร่วมขับเคลื่อนจนคนเชียงใหม่มี Dust Boy เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศหน่วยเล็กๆ กระจายอย่างทั่วถึง และมีดัชนีการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศภายในจังหวัดที่ดูแล้วเข้าใจง่าย และรวมค่า PM 2.5 เอาไว้ในการแจ้งเตือน

ที่กรุงเทพฯ แอพพลิเคชันรายงานการเดินทางของรถเมล์ Via Bus ซึ่งพัฒนาร่วมกันระหว่างนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ แล้วได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ประชาชน และเอกชนหลายฝ่ายทำให้แอ็พพลิเคชันการเดินทางด้วยรถเมล์ไม่ใช่เรื่องทารุณเกินไปนัก เพราะอย่างน้อยสามารถตรวจสอบจากแอ็พพลิเคชันได้ว่ารถเมล์เดินทางมาถึงจุดไหนแล้ว และคำนวณเวลาได้ว่าต้องใช้เวลารอรถและการเดินทางนานเท่าไหร่

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดจากปัจจัยมากมาย สะสมมาเนิ่นนานหลายปี ตั้งแต่ปัญหาที่มองเห็นได้ด้วยตาอย่างการซื้อรถมาขับ ผังเมืองถูกล้อมด้วยป่าตึกกักขังมลพิษให้ลอยวน การปลดปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรม ขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อให้คนเดินเท้า ฯลฯ ไปจนถึงต้นเหตุที่มองไม่เห็น เช่นค่านิยมการใช้รถยนต์ การไม่บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ การขาดการบูรณาการในการแก้ปัญหาร่วมกัน การปกปิดข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม การไม่มีพื้นที่สิทธิมนุษยชนไว้คุ้มครองประชาชนที่ต้องการตรวจสอบรัฐและเอกชนเมื่อเกิดการสมคบหยวนยอมให้ปล่อยมลพิษโดยขาดการควบคุม การขาดการจัดทำฐานข้อมูลทั้งทางการแพทย์และฐานข้อมูลมลพิษซึ่งจะแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาต่อไป ฯลฯ

การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงไม่อาจแก้ด้วยแค่การหาหน้ากากมาใส่ ห้ามออกมากำลังกลายกลางแจ้ง แต่ต้องวางระบบที่จับต้องได้มากมาย และอาศัยความตั้งใจจริง เพื่อจะได้ท้องฟ้าสดใสคืนมาในฤดูหมอกควันปีหน้านี้

ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ชวนย้อนรอยทางอ่านสารคดีชุด Dust Atlas ทางของฝุ่น PM 2.5 ตอนที่ 1-4 ได้ที่

Dust Atlas (1) : ฝุ่นและราคาชีวิตของคนไทย

เกิดอะไรขึ้นเมื่อฝุ่น PM 2.5 มาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2561 มีเครื่องมือใดประเมินความเสียหายจากปัญหานี้ ทั้งทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจ

Dust Atlas (2) : เมื่อฝุ่นสัญจร 

ประวัติศาสตร์ของฝุ่นละเอียดแบบคลาสสิกนับตั้งแต่ The Great Smog of London ฝุ่นยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ฝุ่นซึ่งเป็นผลพวงจากยุคพัฒนา หมอกควันในภาคเหนือ ฯลฯ

Dust Atlas (3) : ฝุ่นในดินแดนคอมมิวนิสต์และโลกเสรี

แกะรอยการเช็ดฝุ่นออกจากท้องฟ้าได้สำเร็จของจีน และจุดแข็งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา

Dust Atlas (4) : ฝุ่น PM 2.5 และสิทธิมนุษยชน

ชวนสำรวจเส้นทางการใช้สิทธิมนุษยชนสารพัดรูปแบบ เพื่อเช็ดฝุ่นและควันพิษออกจากท้องฟ้ายุโรป. พร้อมแนะนำมลพิษทางอากาศน้องใหม่ ‘ฝุ่น จากไมโครพลาสติก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save