fbpx
Digital Transformation : โอกาส ความท้าทาย ความพร้อม และการปรับตัวของไทย

Digital Transformation : โอกาส ความท้าทาย ความพร้อม และการปรับตัวของไทย

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนอย่างมหาศาล แต่หากถามว่า ผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นบวกหรือลบ อาจตอบได้ไม่ง่ายนัก

เพราะเราต่างรู้ดีว่า digital transformation เป็นได้ทั้ง ‘โอกาส’ และ ‘ความท้าทาย’ ของประเทศไทย คำตอบจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวของไทยเอง

กระนั้น ความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวย่อมไม่ใช่การเติมเลข ‘4.0’ หลังคำว่า ‘ไทยแลนด์’ แล้วประกาศว่าจะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ในขณะที่วิธีคิด นโยบาย และกลไกรัฐยังเป็นอนาล็อกอยู่เหมือนเคย

การทำความเข้าใจสถานการณ์ดิจิทัลในประเทศไทยอย่างรอบด้าน กำหนดนโยบายบนฐานความรู้ และเลือกดำเนินนโยบายอย่างชาญฉลาดน่าจะเป็นคำตอบที่ ‘เหมาะสม’ มากกว่า หากต้องการเตรียมความพร้อมและความสามารถในการปรับตัว ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้

กล่าวให้ถึงที่สุด การเปลี่ยนเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็น ‘โอกาส’ ของประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ใครคือผู้ได้ประโยชน์ ใครคือผู้มีโอกาสถูกทิ้ง และถึงที่สุดแล้ว รัฐควรมีบทบาทอย่างไรเพื่อสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเกิดประโยชน์แก่ผู้คนอย่างถ้วนหน้า

 

12 ภาคการผลิตกำลังถูก ‘เขย่า’

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอว่า มี 12 อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะถูก ‘เขย่า’ (disrupted) จากการปฏิวัติดิจิทัลอย่างรุนแรง ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ภาคการศึกษา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมสุขภาพ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมการขนส่ง และการให้บริการของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การถูกเขย่าในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงถูกเขย่าค่อนข้างมากและผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้ว ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกกรรมนี้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงภายใน 5 ปี และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงอุตสาหกรรมการผลิตสูง

เมื่อวิเคราะห์ลงไปในระดับอุตสาหกรรมพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมก็มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น ในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง แม้ในภาพรวมจะได้รับผลกระทบค่อนอย่างรุนแรง แต่ว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่การผลิตสื่อโฆษณานอกบ้าน (out of home) อย่างป้ายโฆษณายังมีกำไรเติบโต

“ในปี 2556 บริษัทสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท แต่ในปี 2559 กลับกลายเป็นขาดทุนราว 2,000 ล้านบาท … แม้ธุรกิจโฆษณานอกบ้านจะกำไรเป็นเรื่องเป็นราว แต่เม็ดเงินที่ป้อนเข้ามาไม่เพียงพอกับเม็ดเงินที่หายไปกับเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือยูทูป” สมเกียรติเล่าถึงสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

“บทเรียนจากอุตสาหกรรมสื่อสะท้อนว่า คนยังบริโภคสื่ออยู่ แต่เม็ดเงินจะหายไป ในอนาคตบริการต่างๆ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ในลักษณะคล้ายกัน เช่น ในกรณีฟินเทคที่คนอาจจะหันไปใช้บริการทางการเงินของอาลีเพย์ วีแชท หรือบริการของบริษัทตะวันตก จะเห็นว่า ผู้บริโภคยังคงต้องทำธุรกรรมทางการเงินอยู่ แต่เม็ดเงินไม่ได้ตกอยู่กับบริษัทไทยอีกต่อไป”

นอกจากนี้ สมเกียรติยังเห็นว่า มีบางอุตสาหกรรมที่ถูกเขย่าน้อยเกินไป โดยเฉพาะภาคการศึกษาและการให้บริการของภาครัฐ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษาและการบริการของภาครัฐจะเป็นฐานสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมอื่นๆ สามารถปรับตัวได้ดีขึ้นด้วย

ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ถูกเขย่า ความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลคือ งานกำลังหดหายไป เมื่อหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทดแทนงานของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีการคาดการณ์ว่า ในระยะยาว 70 % ของงานที่มีทั้งหมดในปัจจุบันจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี

แม้ทุกประเทศจะต้องเจอกับปัญหาการถูกเทคโนโลยีแย่งงาน แต่ความสามารถในการปรับตัวในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน งานวิจัยจากธนาคารโลกชี้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปรับตัวได้ยาก เพราะมีปัญหาในเรื่องคุณภาพการศึกษา

 

อำนาจของข้อมูลในการยกระดับการผลิต

 

ในยุคของเศรษฐกิจฐานความรู้ ข้อมูลจะมีบทบาทในการเพิ่มผลิตภาพอย่างมาก ซึ่งนี่คือโอกาสสำคัญของทุกประเทศ รวมถึงไทยด้วย เช่น ในภาคเกษตร การใช้ข้อมูลร่วมกับที่ดินที่มีอยู่สามารถนำไปสู่การทำ ‘เกษตรแม่นยำ’ (precision agriculture) ในภาคการผลิต การนำข้อมูลไปใช้เพื่อออกแบบการผลิตที่เฉพาะเจาะจงแบบจำนวนมาก (mass customization) จะช่วยยกระดับการผลิตได้ หรือแม้แต่ในภาคการเงิน การนำข้อมูลไปใช้จัดการเงินทุนก็ทำให้ทุนมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นได้ เป็นต้น

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชี้ว่า การนำเทคโนโลยีและการนำข้อมูลมาใช้สร้างธุรกิจใหม่เกิดขึ้นค่อนข้างมากในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยคงทำได้แค่บางส่วน อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่จะทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว (quick win strategy) คือการนำเทคโนโลยีไปช่วยให้เกิดการลดความสูญเปล่าในการผลิต หรือที่เรียกว่า ‘การผลิตแบบลีน’ (lean manufacturing) รวมถึงการใช้ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐจะมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความตื่นตัวให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ ภาครัฐควรเปิดเผยข้อมูลให้เอกชนนำไปใช้ด้วย เพราะเอกชนสามารถใช้ข้อมูลเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ได้” สมเกียรติกล่าวถึงนโยบายรูปธรรมที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้สำเร็จ

 

โจทย์ด้านความสมดุล 3 โจทย์

 

เพื่อให้เศรษฐกิจไทยอยู่รอดได้ในโลกดิจิทัล ซึ่งต้องแข่งขันด้วยความเร็วและความยืดหยุ่น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชี้ว่า มีโจทย์ด้านความสมดุลอย่างน้อย 3 เรื่องที่เราต้องขบคิดร่วมกัน

สมดุลที่หนึ่ง สมดุลระหว่างการเปิดเสรีและความเป็นธรรม เช่น ในกรณีของบริการแอร์บีเอ็นบี ด้านหนึ่งผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีคำถามว่าผู้ให้บริการโรงแรมเผชิญกับการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการโรงแรมต้องจดทะเบียน ต้องขอใบอนุญาต เสียค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่ในขณะที่ผู้ให้บริการแอร์บีเอ็นบีไม่ต้องบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้เลย ดังนั้น ต้นทุนของทั้งสองฝั่งย่อมแตกต่างกัน

สมดุลที่สอง ความปลอดภัยและนวัตกรรม ถ้ารัฐห่วงเรื่องความปลอดภัยและเน้นการจำกัดควบคุม นวัตกรรมใหม่ย่อมเกิดได้ยาก เช่น ถ้ารัฐควบคุมการใช้โดรน เพราะเกรงว่าคนจะนำโดรนไปใช้เป็นอาวุธ ธุรกิจที่ต้องการทดลองใช้โดรนส่งของย่อมหายไป

สมดุลที่สาม ความเป็นส่วนตัวและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ตัวอย่างรูปธรรมในกรณีนี้ คือ การให้บริการของกูเกิลที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะกูเกิลรู้จักผู้บริโภคเป็นอย่างดีจากการเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีความเสี่ยงว่าข้อมูลส่วนตัวอาจถูกเก็บนำไปใช้ด้วย

“นี่คือโจทย์เรื่องความสมดุลที่เราต้องขบคิดกันให้แตก ซึ่งเราไม่ควรมองประเด็นเหล่านี้อย่างตายตัว หรือมีแค่สูตรเดียว แต่ควรเปิดให้มีการทดลองเพื่อหาแนวทางใหม่ โดยหนึ่งในวิธีที่สามารถรักษาสมดุลได้ คือ การ ‘สร้างสนามทราย’ (Regulatory Sandbox) เช่น การทดลองให้มีการใช้รถไร้คนขับในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา หรือการกำหนดเขตใช้โดรนได้อย่างเสรีในจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น วิธีการนี้จะช่วยให้เกิดการทดลองสิ่งใหม่ๆ แต่เมื่อเกิดอันตรายก็สามารถจัดการควบคุมได้ในระดับหนึ่ง” สมเกียรติอธิบายถึงแนวนโยบายที่ควรจะเป็น

สมเกียรติทิ้งท้ายว่า การปฏิรูปภาครัฐ เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวจากการถูกเขย่าจากเทคโนโลยีได้ นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบ (regulatory guillotine) ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้เทคโนโลยีใหม่ของเอกชน

ในส่วนของความท้าทายด้านแรงงาน การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ และการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง คือเงื่อนไขที่จำเป็นในการทำให้แรงงานไทยสามารถปรับตัวเข้ากับตลาดในอนาคตได้

 

ความเหลื่อมล้ำทางอินเทอร์เน็ต: ปัญหาที่รออยู่

 

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรม และที่ปรึกษาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เมื่อมองจากมุมโครงสร้างพื้นฐาน ความเหลื่อมล้ำทางอินเทอร์เน็ตจึงเป็นปัญหาสำคัญ

ที่ผ่านมา แม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยจะมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่มาจากอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นหลัก ทว่าอินเทอร์เน็ตบ้านที่มีเสถียรภาพและความเร็วที่ดีกว่ากลับเติบโตไม่มากนัก

เมื่อพิจารณาความครอบคลุมของสัญญาณมือถือพบว่า ในเชิงพื้นที่ สัญญาณโทรศัพท์ของผู้ให้บริการ 3 รายใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 97.59% 75.55% และ 65.57% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ส่วนในเชิงประชากรครอบคลุม 98.72% 86.02% และ 81.48% ข้อสังเกตสำคัญคือ ความครอบคลุมของผู้ให้บริการอันดับหนึ่งและอันดับสองยังต่างกันค่อนข้างมาก นั่นหมายความว่า ในบางพื้นที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผู้บริการได้เพียงเจ้าเดียว ซึ่งทำให้การแข่งขันไม่สูงมากนัก

ในมิติด้านราคาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ก้าวหน้ากว่าไทย เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ค่าบริการโทรศัพท์ (ค่าโทรศัพท์และข้อความ) ค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้าน และค่าบริการอินเทอร์เน็ตของไทยอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว แต่ในมิติของราคากลับไม่ได้ก้าวหน้ามากนัก

สุพจน์ชี้ให้เห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กสทช.และรัฐบาลต่างพยายามดำเนินนโยบายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นระยะ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มาตรการส่วนใหญ่กลับมีปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่มีความต่อเนื่อง ในขณะที่บางนโยบายก็ถูกยกเลิกเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล

“ล่าสุดมีโครงการเน็ตประชารัฐเป็นโครงการใหม่ ซึ่งจะมีการนำสายไฟเบอร์ลากไปยังหมู่บ้านต่างๆ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน แล้วให้มีจุดบริการฟรีไวไฟหนึ่งจุด คำถามคือ ไวไฟ 1 จุดนั้นจะให้บริการไปได้ไกลแค่ไหน ไม่ต้องพูดถึงว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ให้ก็ต่ำกว่าความเร็วเฉลี่ยทั่วไป” สุพจน์ยกตัวอย่างปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการใหม่ของรัฐบาล

สุพจน์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ยิ่งเทคโนโลยียิ่งก้าวหน้าขึ้นมากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะข้อมูลและแอปพลิเคชันใหม่ต้องการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงมากขึ้น ดังนั้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการยกระดับเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลาด้วย มิเช่นนั้น คนในพื้นที่ห่างไกลจะยิ่งเสียโอกาสและเสียเปรียบคนเมืองที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีกว่า

 

รัฐกับบทบาทผู้อำนวยความสะดวก

 

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เสนอว่า ในโลกดิจิทัล รัฐมีบทบาทลดลงอย่างมากในชีวิตประจำวันของผู้คน แม้ผู้คนต้องการให้รัฐเข้ามาปกป้องทางเศรษฐกิจมากเพียงใด แต่รัฐก็ไม่สามารถตั้งกำแพงกีดกันต่างชาติได้เหมือนที่ผ่านมา ในอีกด้านหนึ่ง บรรษัทเทคโนโลยีข้ามชาติกลับมีอิทธิพลมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะไว้ใจบรรษัทเหล่านี้แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับบรรษัทต่างๆ เลยด้วยซ้ำ สภาวการณ์เช่นนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า รัฐต้องทบทวนบทบาทตัวเองอย่างไรในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

พณชิตเสนอแนวทางปรับตัวของรัฐในสังคมดิจิทัล ดังนี้

ประการแรก การสร้างความโปร่งใส ซึ่งจะช่วยเกิดความไว้วางใจระหว่างรัฐและประชาชนเพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐได้รับความไว้วางใจจากประชาชน รัฐจะสามารถทำงานได้ง่ายและราบรื่นมากขึ้น ในทางกลับกัน หากประชาชนได้รับความไว้วางใจจากรัฐย่อมสามารถแสดงศักยภาพของพลเมืองออกมาได้มากขึ้นด้วย

ประการที่สอง รัฐต้องปรับบทบาทในการให้บริการที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รัฐควรต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้บริการ (service provider) มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (service facilitator) เนื่องจากรัฐมีความสามารถในการปรับตัวช้ากว่าเอกชน แต่มีสามารถลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานได้มากกว่าเอกชน ในขณะที่เอกชนปรับตัวได้เร็วและเหมาะกับการลงทุนในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากกว่ารัฐ การเลือกบทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐไม่เพียงแต่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าไปอย่างราบรื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับเอกชนได้เป็นอย่างดีด้วย

ประการที่สาม รัฐต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีแผนระยะยาว (road map) และแผนที่ไม่มีแนวทางปฏิบัติจริง (execution) เหมือนที่เป็นมาเป็นสิ่งใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง

ประการสุดท้าย รัฐต้องปรับวิธีคิดและยอมรับว่า ความผิดพลาดและการลองผิดลองถูกเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ในบางเรื่อง รัฐไม่จำเป็นต้องรอให้สถานการณ์นิ่งแล้วค่อยตัดสินใจ แต่สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับเอกชนได้เลย นอกจากนี้ รัฐยังมีบทบาทสำคัญในการการยกระดับเรื่องความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สังคมปรับวิธีคิดให้เข้ากับโลกดิจิทัลมากขึ้นด้วย

 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากเวทีสาธารณะ “Digital Transformation: โอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย” จัดโดย Friedrich Ebert Stiftung Thailand (FES), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2560 ณ สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save