fbpx
ประเทศ “กำลังพัฒนา” ต้องพัฒนาไปถึงเมื่อไหร่

ประเทศ “กำลังพัฒนา” ต้องพัฒนาไปถึงเมื่อไหร่

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

เมื่อคุณตอบคำถาม “เคยได้ยินว่า ‘ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา’ มากี่ปีแล้ว” ผมก็จะรู้อายุของคุณทันทีครับ เพราะนับแต่มีการวัดรายได้ประชากรต่อหัวเป็นต้นมา ไทยก็อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (developing country) มาโดยตลอด ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปอยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้วเสียที

แต่เคยสงสัยไหมครับ ว่าที่เรียกกันว่า “กำลังพัฒนา” เนี่ย มันหมายถึงการพัฒนาอะไรกันแน่ จึงจะทำให้ชาวโลกยอมนับให้เราเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” (developed country) เสียที ต้องมีจีดีพีเติบโตแค่ไหน ต้องเป็น “เศรษฐกิจแห่งความรู้” ให้ได้ก่อนหรือไม่?

 

รู้จักประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) กันไหมครับ?

อิเควทอเรียลกินีเป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยที่สุดในทวีปแอฟริกา รายได้ประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็วนับจากกลางทศวรรษ 1990 (เติบโตสูงกว่าจีนถึงสองเท่ามาตลอด) จนในปี 2010 มีรายได้ประชากรต่อหัวกว่า 20,000 ดอลลาร์ (เทียบกับไทยที่อยู่ประมาณ 5,000 ดอลลาร์!) แต่ทำไมคนไทยและชาวโลกกลับแทบไม่เคยได้ยินชื่อประเทศนี้เลย ถ้าเราเรียกการเติบโตแบบก้าวกระโดดของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ว่าเป็น “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ” ไฉนไม่เคยมีใครมอบสมญานามนี้ให้อิเควทอเรียลกินีเลย

นั่นเป็นเพราะ ‘การเติบโตทางเศรษฐกิจ’ (economic growth) เป็นคนละเรื่องกับ ‘การพัฒนาเศรษฐกิจ’ (economic development)

คนส่วนใหญ่ไม่สนใจถอดบทเรียนของอิเควทอเรียลกินีก็เพราะเป็นการเติบโตที่ตั้งอยู่บนฐานของทรัพยากรธรรมชาติ หลังค้นพบแหล่งน้ำมันปริมาณมหาศาล รายได้ต่อหัวของประเทศก็ก้าวกระโดด ทั้งที่ระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเลย หากวันหนึ่งน้ำมันหมดลง รายได้ของอิเควทอเรียลกินีก็จะกลับมาต่ำเช่นเดิม

ลองเปรียบเทียบกับเยอรมนีสิครับ เมื่อคราวแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง รายได้เฉลี่ยของเยอรมนีต่ำลงเรี่ยดิน แต่ทำไมไม่เคยมีใครจัดเยอรมนีเป็นประเทศกำลังพัฒนาเลย นั่นก็เพราะทุกคนรู้ดีว่าเยอรมนีจะฟื้นคืนเศรษฐกิจได้อีกครั้งเมื่อกลไกในระบบกลับมาเข้าที่เข้าทาง การเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นคนละเรื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ฮาจุน ชาง นักเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นิยาม “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ว่าเป็นกระบวนการเติบโตที่มีรากฐานมาจากการเพิ่มความสามารถทางการผลิต ประเทศที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติหรือแรงงานราคาถูกย่อมผันผวนไปตามราคาสินค้าในตลาดโลกและเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

ที่ว่ามานี้อาจฟังดูธรรมดาๆและเหมือนเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว … ไม่เลยครับ … ถ้าเราไม่จับนิยามนี้ไว้ให้แม่น สุดท้ายประเทศจะลอยหลงไปกับเรื่องตื่นเต้นใหม่ๆ ที่ฟังดูดี อาทิ การเปิดเสรีการเงิน การพัฒนาภาคบริการ หรือการมุ่งเป็นเศรษฐกิจแห่งความรู้ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่แก่นของการพัฒนาประเทศเลย ทั้งยังอาจเป็นการเดินผิดทางด้วยซ้ำ

ในทางทฤษฎี เราสามารถเพิ่มความสามารถทางการผลิตได้ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ แต่ในทางปฏิบัติ การพัฒนาเศรษฐกิจตลอดประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลกล้วนเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมเฉดใดก็ตาม

เมื่อเทียบกับภาคเกษตร นอกจากภาคอุตสาหกรรมจะมีข้อจำกัดทางปัจจัยธรรมชาติน้อยกว่าแล้ว ก็ยังสามารถนำเครื่องจักรกลและกระบวนการใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพได้ง่ายกว่า เช่น ยังไม่มีใครสามารถลดเวลาปลูกข้าวสาลีจาก 6 เดือนมาเป็น 6 นาทีได้ แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงระดับนี้เกิดขึ้นในการผลิตภาคอุตสาหกรรมแล้วครับ

ส่วนภาคบริการก็มีความจำกัดในตัวเองสูง เพราะการเพิ่มประสิทธิภาพมักแลกมาด้วยการลดคุณภาพการบริการลง ลองนึกถึงการที่ประสิทธิภาพของห้างค้าปลีกเพิ่มขึ้นด้วยจำนวนพนักงานที่ลดลงหรือระยะเวลาส่งสินค้าที่ยาวขึ้นสิครับ แม้แต่ภาคการเงินที่เชื่อกันว่าเพิ่มประสิทธิภาพไปสูงมากตอนต้นทศวรรษ 2000 ก็ล่มสลายลง เพราะความซับซ้อนและความเสี่ยงที่สูงเกินไป

อุตสาหกรรมเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้” ของระบบทุนนิยมมาโดยตลอด เป็นทั้งตัวป้อนสินค้าให้ภาคการผลิตอื่นๆ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการจัดการ เช่น ระบบสายพานการผลิตแบบโรงงานที่แม็คโดนัลด์นำไปใช้ประกอบอาหารในร้านหรือที่บรรดาร้านซูชินำมาใช้เสิร์ฟลูกค้า

คำกล่าวที่ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุค “สังคมหลังอุตสาหกรรม” เพื่อกลายเป็น “เศรษฐกิจแห่งความรู้” (knowledge economy) ก็บิดเบือนเช่นกัน

เหตุที่ตัวเลขสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศลดลง ก็เป็นเพราะผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมต่ำลงมาก เมื่อเทียบกับราคาสินค้าเกษตรและบริการ

ลองนึกง่ายๆ ว่าราคาคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือตลอดสิบปีหลังลดลงแค่ไหน เทียบกับการเพิ่มของค่าบริการตัดผมหรือร้านอาหารสิครับ นี่เป็นเพียงมายากลอีกข้อของการใช้ตัวเลขเศรษฐกิจ หากคุณไม่รู้ว่าตัวเลขที่นำมาคิดนั้นมาจาก “ราคาคงที่” หรือ “ราคาปัจจุบัน”

วาทกรรม “เศรษฐกิจแห่งความรู้” นั้นยิ่งขัดกับข้อเท็จจริง ชางย้ำว่า เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแห่งความรู้มาโดยตลอด เพราะความสามารถทางการผลิตเป็นเรื่องการจัดการองค์ความรู้ตั้งแต่เริ่มต้นยุคทุนนิยม ประเทศที่ผู้คนนึกว่าข้ามพ้นอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาคบริการ-การเงิน-การท่องเที่ยวเต็มตัวแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ แท้จริงแล้วก็เป็นประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมต่อหัวสูงระดับต้นๆ ของโลก บางปีสูงกว่าญี่ปุ่นที่คนคิดว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ

ภาคอุตสาหกรรมถูกละเลยและดูแคลนในระยะหลังก็เพราะเราหลงไปกับคำศัพท์และวาทกรรมใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ แต่ลืมไปว่าประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลกสอนเราว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจะสำเร็จยั่งยืนได้ก็ด้วยการเพิ่มความสามารถทางการผลิตอย่างต่อเนื่องครับ สังคมนิยมไม่ใช่ทางออก และทุนนิยมก็มีหลายสูตรหลายเฉด แต่ความเหมือนกันอย่างหนึ่งภายใต้ความหลากหลายของประเทศทุนนิยมก้าวหน้าก็คือ ความสามารถทางการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

 

“แก่น” ของการพัฒนาประเทศตามที่เล่ามาอาจฟังดูไม่เร้าใจชวนตื่นเต้น แต่ก็เป็นประเด็นพื้นฐานที่ต้องจับให้แม่น เพื่อไม่ให้หลักลอยหรือเดินไปอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง  การมีแจ็ค หม่า ไม่ได้ทำให้จีนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ปริมาณบิทคอยน์ไม่ได้ทำให้คนจนหมดไป การพัฒนาเศรษฐกิจมีหลักวิชาของมันอยู่ครับ ไม่ใช่เรื่องระดับปัจเจกและไม่ใช่โชคชะตาฟ้าประทาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องที่ว่าแก่นของการพัฒนาเศรษฐกิจคืออะไรก็เป็นแค่อีกหนึ่งเรื่องใกล้ตัวที่เราไม่เคยได้ขบคิดจริงจัง ประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลกยังมีบทเรียนที่น่าสนใจอีกมาก ฮาจุน ชาง เล่าเรื่อง “ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย” เอาไว้อีกมากมายในหนังสือ Economics: The User’s Guide ซึ่งผมเพิ่งแปลเป็นฉบับภาษาไทยในชื่อ เศรษฐศาสตร์[ฉบับทางเลือก] จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openworlds

ถ้าคุณรู้ว่า สหรัฐอเมริกาและยุโรปร่ำรวยขึ้นจากการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ไม่ใช่เพราะการค้าเสรีอย่างที่เชื่อกันผิดๆ หรือรู้ว่าแท้จริงแล้วมีวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ต่างกันอย่างน้อยเก้าแบบ มุมมองเรื่องเศรษฐกิจของคุณจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลยครับ

แล้วคุณจะเข้าใจมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกหรือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคุณมากกว่าที่คิด แต่ก็เป็นเรื่องที่พวกเราสามารถมีส่วนร่วมได้ไม่ต่างอะไรจากประเด็นสาธารณะทั่วไปในสังคม

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save