fbpx
จุดจบของระเบียบเสรีนิยม ณ สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

จุดจบของระเบียบเสรีนิยม ณ สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

ในกระแสที่ ‘ลมฝ่ายขวา’ พัดแรง หนึ่งในคำถามที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด (จนหลายคนเริ่มจะเบื่อ) คือ ระเบียบโลกและคุณค่าแบบเสรีนิยม (liberal order) ซึ่งเป็นระเบียบหลักของการเมืองระหว่างประเทศตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วหรือยัง?

มีตัวอย่างมากมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนความถดถอยของระเบียบและคุณค่าแบบเสรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์ การโหวต Brexit ของชาวสหราชอาณาจักร การได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นของพรรคฝ่ายขวาในยุโรป การผงาดขึ้นของรัฐบาลอำนาจนิยมอย่างรัสเซียและจีนในเวทีโลก ฯลฯ ในฐานะคนที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบมือสมัครเล่น ผมคิดว่าตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีและมีน้ำหนักทั้งสิ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็รู้สึกว่ามันยังไม่ค่อย ‘ถึงใจ’ ยังไงพิกล

กระทั่งได้มาอ่านดราม่าของ ‘สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริจด์’ (Cambridge University Press: CUP) จึงเริ่มรู้สึกจริงๆ ว่า คุณค่าแบบเสรีนิยมกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2017 CUP ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า สำนักพิมพ์ได้ทำการเซ็นเซอร์บทความกว่า 300 ชิ้นของวารสาร The China Quarterly ในเว็บไซต์ที่เผยแพร่ในจีนตาม ‘คำแนะนำ’ ของรัฐบาลปักกิ่ง โดยทางสำนักพิมพ์ให้เหตุผลว่า การเซ็นเซอร์เป็นไปในลักษณะรายชิ้นไม่ใช่การเซ็นเซอร์ทั้งฉบับ ทั้งนี้เพื่อรับประกันว่าสิ่งพิมพ์อื่นๆ ทั้งบทความและหนังสือของสำนักพิมพ์จะยังได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่ในตลาดจีน

เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มากในแวดวงวิชาการจีนศึกษา เพราะวารสาร The China Quarterly เป็นวารสารชั้นนำของโลกด้านนี้ คุณผู้อ่านคงเดาได้ไม่ยากว่า หัวข้อที่รัฐบาลจีนเซ็นเซอร์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์เทียนอันเหมิน การปฏิวัติวัฒนธรรม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง ความขัดแย้งในซินเจียงและทิเบต และเรื่องของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

เรื่องนี้นับว่าเป็นตลกร้าย เพราะการศึกษาเกี่ยวกับจีนโดยไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการอยากผอม แต่ไม่ยอมออกกำลังกายและควบคุมอาหาร

(ว่ากันว่า ในตลาดจีน ผู้อ่านวารสารแบบนี้เอาเข้าจริงก็มีแต่ชนชั้นนำระดับสูงของจีนเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ที่สำคัญคือ พวกเขาไม่ได้อ่านเพื่อจับผิดข้อเขียนในวารสารเสียทีเดียว แต่อ่านเพื่อทำความเข้าใจประเด็นร่วมสมัยของจีน และเพื่อประเมินว่าปัญญาชนตะวันตกมีท่าทีต่อจีนอย่างไร)

แถลงการณ์นี้สร้างความช็อกให้กับชุมชนวิชาการในระดับโลกเป็นอย่างมาก ความช็อกแปรเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจ จนทำให้หลายคนออกมาโจมตี CUP อย่างตรงไปตรงมาและใช้ถ้อยคำที่รุนแรง อาทิ John Garnaut ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่พูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “เป็นการยอมจำนนที่พิเศษ” หรือ Andrew Nathan แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่วิจารณ์ว่า การตัดสินใจของ CUP นับเป็นการทำลายความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือของสำนักพิมพ์ ในขณะหนังสือพิมพ์ The Guardian ใช้วลี “ขายจิตวิญญาณให้กับจีน” ในการพาดหัวข่าวเรื่องนี้

ความไม่พอใจไม่ได้จบลงแค่คำวิจารณ์ นักวิชาการกว่า 300 คนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ CUP ยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง การประท้วงอย่างกว้างขวางทำให้มหาวิทยาลัยเคมบริจด์ในฐานะต้นสังกัดของ CUP ออกมายืนยันว่าจะนำบทความที่ถูกเซ็นเซอร์กลับเข้าสู่ระบบทั้งหมด เป็นอันว่าเรื่องราวดราม่าจบลงภายในเวลาไม่กี่วัน

แต่อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้นว่า เรื่องนี้เป็นมากกว่าดราม่าภายในแวดวงวิชาการ เพราะ CUP ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในฐานะสำนักพิมพ์แห่งแรกของโลกเท่านั้น แต่ยังมีสถานะเป็นสำนักพิมพ์วิชาการชั้นแนวหน้าที่ได้รับการยกย่องให้เป็นป้อมปราการสำคัญของการปกป้องเสรีภาพทางความคิดและการแสดงความคิดเห็นในระดับโลกด้วย ไม่ต้องพูดถึงว่า มีหนังสือวิชาการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหลายร้อยเล่มถูกตีพิมพ์ภายใต้แบรนด์สำนักพิมพ์แห่งนี้

การตัดสินใจเซ็นเซอร์ของ CUP จึงทิ้งคำถามให้เราขบคิดถึงเรื่องที่ใหญ่กว่าดราม่าในแวดวงมหาวิทยาลัย

ผมคิดว่า การตัดสินใจของ CUP สะท้อนความถดถอยของคุณค่าแบบเสรีนิยมอย่างน่าสนใจ ในฐานะป้อมปราการของเสรีนิยม การตัดสินใจของ CUP ได้สร้าง ‘มาตรฐานใหม่’ ให้กับทั้งฝ่ายเสรีนิยมและรัฐบาลจีน กล่าวคือ ฝ่ายเสรีนิยมมีแนวโน้มที่จะเปิดพื้นที่ให้กับการเซ็นเซอร์เพื่อแลกกับผลกระโยชน์รูปธรรมอื่นๆ มากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลจีน (และรัฐบาลอำนาจนิยมอื่นๆ) ก็จะเชื่อและใช้วิธีการนี้แบบหนักข้อมากขึ้น

เหตุผลที่ CUP ใช้เป็นข้ออ้างในการเซ็นเซอร์คือ หากรัฐบาลจีนประกาศแบนสิ่งพิมพ์ทุกชิ้นของ CUP คนในประเทศจีนหลายล้านคนย่อมเสียโอกาสในการเข้าถึงงานวิชาการชั้นดี นอกจากนั้นยังเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลแบนการทำวิจัยในประเทศจีนอีกด้วย ยิ่ง CUP อธิบายเหตุผลของการตัดสินใจอย่างหนักแน่นและมีน้ำหนักมากแค่ไหน ผมกลับยิ่งเห็นถึงความถดถอยชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น เพราะเท่ากับว่า การตัดสินใจของ CUP ผ่านการคิดและพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนมาพอสมควรแล้ว

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ CUP ได้ตระหนักเป็นอย่างดีแล้วว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างการยืนยันเสรีภาพในการแสดงความเห็นกับการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ พวกเขาเลือกอย่างหลัง ในแง่นี้ คุณค่าแบบเสรีนิยมจึงไม่ได้สำคัญที่สุดอีกต่อไปแล้ว กระทั่งในพื้นที่ที่มันเคยและควรที่จะสำคัญที่สุด (แม้ในการประกาศคืนบทความที่ถูกเซ็นเซอร์กลับเข้าระบบ CUP จะยืนยันว่าเสรีภาพทางวิชาการคือหลักการที่สำคัญที่สุดก็ตาม)

กล่าวให้ถึงที่สุด ผมคิดว่า สิ่งที่สั่นคลอนคุณค่าแบบเสรีนิยมมากที่สุดในบริบทปัจจุบันคือ ความคิดแบบปฏิบัตินิยม (pragmatism) ซึ่งจะว่าไปก็เป็นแนวคิดที่จีนสมาทานและพยายามส่งออกไปทั่วโลก ในแง่นี้ การที่ CUP ไม่ยืนหยัดในคุณค่าแบบเสรีนิยม จึงเท่ากับการยอมรับคุณค่าแบบปฏิบัตินิยมที่จีนส่งต่อมายังพวกเขาโดยปริยาย

พูดแบบนี้ ไม่ได้จะตัดสินว่า CUP ทำผิดหรือถูก เท่ากับกำลังจะบอกว่า คุณค่าแบบเสรีนิยมกำลังเผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้นภายใต้โลกใหม่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถาบันและองค์กรชั้นนำระดับโลกต่างต้องเผชิญทางแพร่งนี้อยู่เนืองๆ จีนเคยใช้มาตรการนี้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Bloomberg และ Facebook มาก่อนแล้ว ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างก็ยอมเซ็นเซอร์เนื้อหาของตัวเองเพื่อแลกกับการเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมหาศาล แต่ก็มีกรณีของนิตยสาร The Economist และ The New York Times ที่ยอมทิ้งตลาดเพื่อยืนยันหลักการที่ตนเองเชื่อถือ

นโยบายแบบปฏิบัตินิยมส่งผลต่อระเบียบโลกแบบเสรีนิยมแล้วเช่นกัน ดังจะเห็นว่า ไมตรีที่จีนมีต่อรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศได้กดดันให้รัฐบาลตะวันตกปรับเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อรัฐบาลเผด็จการเหล่านั้น

หากคุณค่าแบบเสรีนิยมไม่สามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ จุดจบย่อมรออยู่ไม่ไกล

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save