fbpx
อ่าน critical juncture ของไทย ผ่านเรื่องเล่าของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

อ่าน critical juncture ของไทย ผ่านเรื่องเล่าของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

สวัสดีครับ อยากถามท่านผู้อ่านเหมือนกันว่า จำได้ไหมครับว่าเดือนที่แล้วผมเขียนเรื่องอะไรค้างไว้ จำไม่ได้ใช่ไหมครับ อ้อ มีเสียงบอกว่า มีอะไรน่าจำ? ไม่เป็นไรครับ เพียงท่านกรุณาติดตามอ่านบทความผม ผมก็ดีใจแล้ว เดือนก่อน ผมเขียนเรื่องเครื่องมืออ่านสถานการณ์ และกล่าวถึงเครื่องมือ 2 สำรับ ไว้สำหรับอ่านสภาพปัญหาสำรับหนึ่ง และอีกสำรับไว้สำหรับอ่านคน แต่เขียนค้างไว้ไม่ทันได้สาธิตวิธีใช้

บทความเดือนนี้ ผมจึงจะหยิบเครื่องมือชนิดหนึ่งจากสำรับแรกมาสาธิตวิธีอ่านสภาพปัญหาเพื่อมองสถานการณ์ให้ท่านเห็นเป็นตัวอย่างนะครับ แต่แรกตั้งใจว่าจะใช้สถานการณ์วิกฤตบนคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นกรณีศึกษา แต่วิกฤตนั้นเกิดซาไปจากกระแสข่าวเสียแล้ว ถ้าจะรอไว้ก่อนก็คงไม่เสียหาย และเผอิญเดือนนี้เป็นเดือนมิถุนายนมหาศรีสวัสดิ์ อันเป็นเดือนที่คึกคักไปด้วยกิจกรรมวิชาการเพื่อรำลึกถึงจุดตั้งต้นประชาธิปไตยของไทย ผมเลยจะขอคั่นรายการ ไม่ใช้ปัญหาบนคาบสมุทร แต่ใช้เรื่องเล่าความหลังเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ[1] มาเป็นกรณีสาธิตแทน

เครื่องมืออ่านสถานการณ์จากสภาพปัญหาที่ผมจะนำมาสาธิตคราวนี้เรียกว่า critical juncture ครับ หลายท่านที่เรียนการเมืองเปรียบเทียบมาคงรู้จักเครื่องมือนี้แล้ว ส่วนท่านที่สงสัยว่าอะไรคือ critical juncture โปรดอดใจรอ แต่ถ้าคิดว่าต้องขอรู้ก่อนที่จะตัดสินใจอ่านบทความนี้ต่อ จะข้ามไปอ่านตอนท้ายก่อนแล้วย้อนมาตั้งต้นตรงนี้ก็ไม่ว่ากัน

แต่ผมคิดว่าจะน่าสนใจกว่าที่จะเริ่มด้วยเรื่องเก่าแต่หนหลังของอาจารย์ธเนศฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช คุณมีชัย วีระไวทยะ คุณกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และรายการวิทยุสมัยปี 2512/2513 กับมูลเหตุที่ทำให้อาจารย์ธเนศฯ นับแต่ปีนั้นมา ไม่ฟังรายการวิทยุไทยอีก

อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณเป็นใคร ผมจำเป็นต้องแนะนำไหมครับ? ท่านอื่นๆ ที่ผมเอ่ยนามมา การแนะนำก็คงไม่จำเป็นเช่นกันกระมัง ใช่ไหมครับ? ดังนั้น ขอพาท่านย้อนเวลาไปที่ปี พ.ศ. 2512 กันเลยดีกว่า

 

เมื่ออาจารย์ธเนศฯ (หนุ่ม) ออกรายการวิทยุ

 

ปี 2512 อาจารย์ธเนศฯ ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และกำลังเริ่มสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง ที่อยู่ภายใต้ระบอบสฤษดิ์-ถนอมมาตั้งแต่อาจารย์ยังเด็ก หนึ่งปีก่อนหน้านั้นเพิ่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างกันยาวนานที่สุดฉบับหนึ่งของไทย อันนำมาสู่การจัดเลือกตั้งทั่วไปตอนต้นปี 2512

บรรยากาศทางการเมืองปี 2516 และหลังจากนั้นเป็นที่รับทราบกันอยู่มากแล้ว แต่ช่วง 4-5 ปีก่อนจะถึงปี 2516 สภาวะวิสัยทางการเมืองเป็นเช่นไร นอกเหนือจากกองทัพและกลไกอำนาจรัฐในระบบราชการแล้ว มีพลังการเมืองของฝ่ายใดอีกบ้างที่เหลืออยู่ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 มอบอำนาจการปกครองคืนสู่ประชาชนและเริ่มเปิดสังคมการเมืองที่ปิดมานานกว่าทศวรรษออกสู่การแข่งขันผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง (ก่อนที่จะถูกปิดอีกโดยการรัฐประหารรัฐบาลตัวเองของจอมพลถนอม)

เรื่องเล็กๆ ที่อาจารย์ธเนศฯ ได้หรือเกือบจะได้ออกรายการวิทยุในปีนั้น บอกอะไรเราได้ไม่น้อยเกี่ยวกับขอบฟ้าความเป็นไปได้ และข้อจำกัดที่แตกต่างไม่เหมือนกันต่อแต่ละฝ่าย ที่มีอยู่เป็นอยู่ในสภาวะวิสัยทางการเมืองในแต่ละช่วงในแต่ละขณะ

อาจารย์ธเนศฯ ซึ่งเข้ามาเป็นนักศึกษาปีหนึ่งที่คณะรัฐศาสตร์ มธ. ในปี 2511 เล่าว่าพอรัฐธรรมนูญประกาศใช้และมีการเลือกตั้ง “พวกนักศึกษาที่สนใจการเมืองเริ่มมีชีวิตชีวาขึ้น…พากันไปช่วยรณรงค์หาเสียงให้แก่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่คิดว่าจะเป็นนักการเมืองคุณภาพ… สองคนที่เราสนับสนุนและถือเป็น “รักแรก” กับการเมืองไทยในระบบประชาธิปไตยก็คือ คุณมีชัย วีระไวทยะ กับคุณประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร…”

อาจารย์ธเนศฯ เล่าถึงคุณมีชัยว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ตอนนั้นนอกจากจะทำงานที่สภาพัฒน์ฯ แล้ว ยังเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เป็นอาจารย์พิเศษที่คณะรัฐศาสตร์ มธ. ที่เป็นเหตุให้ได้มาสอนอาจารย์ธเนศกับเพื่อนๆ และคุณมีชัยยังเป็นนักจัดรายการวิทยุเพลงสากลใช้ชื่อว่า ‘นิโคล่า’ จัดรายการเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงเดียวกับเจ้าของภาษา

อยู่มาวันหนึ่ง ‘นิโคล่า’ ก็ชวนนักศึกษาที่เขาสอนไปออกรายการวิทยุที่เขาจัด นอกจากอาจารย์ธเนศฯ แล้ว นักศึกษาคนอื่นที่ได้ออกรายการวิทยุเป็นครั้งแรกด้วยกันคราวนั้นยังมี จรัล ดิษฐาอภิชัย และปรีดี บุญซื่อ ในรายการ คุณมีชัยชวนนักศึกษาคุยและแสดงความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับสังคมไทยและการศึกษาไทยในขณะนั้น

ความรู้สึกที่ได้ไปออกรายการวิทยุครั้งแรก อาจารย์ธเนศฯ บอกว่าแม้ที่พูด “ไม่มีอะไรแรงเกินกว่าเหตุ” แต่ในอีกทางหนึ่งก็ทำให้อดรู้สึก “ใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้างในวันต่อมา” ไม่ได้

“คนรุ่นหลังๆ คงนึกไม่ออกว่าการพูดแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างอิสระออกวิทยุ ไม่ได้โจมตีวิพากษ์ใครรุนแรงอย่างเสียๆ หายๆ จะเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัว และทำให้คนพูดต้องรู้สึกเสียวสันหลังนั้นเกิดได้อย่างไร”

อาจารย์ธเนศฯ บอกว่าความกลัวแบบนี้มิได้เกิดเพียงเพราะการจำกัดปิดกั้นเสรีภาพมายาวนาน ควบคู่กับการใช้อำนาจในระบอบเผด็จการบีบบังคับไว้ แต่ยังเกิดจากผลในทางจิตวิทยาที่การตกอยู่ในสภาพปิดกั้นของระบอบเผด็จการแบบนั้นสร้างขึ้นต่อจิตสำนึก/ใต้สำนึก ที่ทำให้ “ประชาชนคนธรรมดาต้องบังคับใจและความคิดของตนเองเอาไว้ …การบังคับปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้เปลี่ยนผ่านจากการบังคับโดยรัฐและหน่วยงานของรัฐ มาเป็นการจำต้องบังคับตนเองโดยสำนึกของชาวบ้านเอง เรียกว่า ‘เซ็นเซอร์ตัวเอง’…”

แต่เมื่อเลิกกลัว เมื่อ “ปราการแห่งความกลัว” ถูกทำลายลงไป “ในนาทีแห่งการสำนึกถึงเสรีภาพนั้นเอง” ที่อาจารย์ธเนศฯ เล่าว่า “เพียงเราเขียนประโยคประท้วงสังคมและรัฐบาลเพียงวรรคเดียวบนผนังเหนือโถปัสสาวะผู้ชายในห้องน้ำที่ตึกห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย” ก็ทำให้เกิดความรู้สึกได้ว่าประโยคเดียวที่เขียนนั้นสามารถทำให้ “เกิดการสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งในตึก และในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น และกระทั่งถึงรัฐบาลได้” ถึงปานนั้นนั่นเทียว

จึงน่าเทียบกับปัจจุบันเหมือนกัน ในยุคที่ไม่มีใครกลัวใครและกูก็ไม่กลัวมึงอย่างสมัยนี้ ที่มีช่องทางการเขียนประท้วงสังคมประท้วงรัฐบาลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องไปแอบเขียนเหนือโถเยี่ยวในห้องน้ำชายอีกต่อไป พลังที่ถูกปลดปล่อยออกมาได้ในหลากหลายช่องทางโดยไม่ต้องอั้นไว้ จะผลิตกระแสออกมาในลักษณะใด จะเหมือนกับหรือยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาหรือเปล่า

เมื่อออกรายการได้ครั้งแรก ก็มีครั้งที่ 2 ตามมา คราวนี้เข้าปี 2513 อาจารย์ธเนศฯ เป็นนักศึกษาปี 3 แล้ว และกำลังคลุกคลีอยู่กับพรรคพวกนักศึกษาที่สนใจปัญหาบ้านเมืองด้วยกัน เรียกกันว่าพวก “สภาหน้าโดม” วันหนึ่งนักจัดรายการเพลงที่เป็นที่รู้จัก และมีคนติดตามฟังจำนวนมากคือ คุณกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็มาเมียงมองแถวสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพื่อหานักศึกษาที่สนใจปัญหาสังคมไปร่วมพูดคุยในรายการเพลงหลังเที่ยงคืนที่คุณกุลชาติจัด ในที่สุดก็ได้พวกสภาหน้าโดมไปหลายคนรวมทั้งอาจารย์ธเนศฯ ด้วย นัดหมายไปอัดเสียงออกรายการกันที่ห้องอัดแห่งหนึ่ง

อาจารย์ธเนศฯ เล่าว่าจำวันอัดเสียงเพื่อไปออกรายการวันนั้นได้แม่น เพราะเมื่ออัดเสียงเสร็จออกมาเวลาสองทุ่ม ก็พอดีกับเป็นเวลาข่าวโทรทัศน์ภาคค่ำ ที่สมัยนั้นข่าวมีตอนสองทุ่ม วันนั้นโทรทัศน์จัดรายการพิเศษเรียกว่ารายการ “มีท เดอะ เพรส” เป็นรายการแบบใหม่ที่คนเฝ้ารอชม เพราะเป็นครั้งแรกที่จัดให้มีการซักถามผลงานรัฐบาล โดยคนภายนอกที่ไม่ได้อยู่ใต้กำกับของรัฐบาล หรือระบบราชการ เป็นทำนองส่งเสริมบรรยากาศเริ่มต้นประชาธิปไตย

รายการคืนนั้น ฝ่ายรัฐบาลส่งรองนายกรัฐมนตรี นายพจน์ สารสิน มาออกรายการ ส่วนคนที่ทำหน้าที่ซักถามกิตติมศักดิ์คือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จากสยามรัฐ ปรากฏว่าด้วยชั้นเชิงลีลาของคุณชายหยิบยกเรื่องคาใจชาวบ้านหลายต่อหลายเรื่องมาถามคุณพจน์ ต้อนจนคุณพจน์จนมุมตอบไม่ได้ไปไม่เป็น ถูกใจคนดูทางบ้านเป็นอันมาก

อาจารย์ธเนศฯ พูดถึงความรู้สึกในขณะนั้นว่า “พวกเรายืนดูหน้าร้านอาหารด้วยความสนุกและสะใจยิ่งนัก ยังคิดว่าถ้าเราพูดได้ตรงและมีน้ำหนักอย่างอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ได้บ้างก็คงดี เราแยกย้ายกันกลับด้วยความดีใจระคนความตื่นเต้นที่จะได้ยินการวิเคราะห์ปัญหาบ้านเมืองของพวกเราออกวิทยุในอีกไม่กี่ชั่วโมง…พวกเราหัวใจพองด้วยความรู้สึกมองโลกในแง่ดีว่า ในที่สุด ม่านฟ้าการเมืองไทยแบบประชาธิปไตยที่มีความหมาย กำลังจะถูกเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในยุคสมัยของเรา”

พอถึงเที่ยงคืนคืนนั้น เสียงทุ้มนุ่มชวนฟังอันเป็นเอกลักษณ์ของคุณกุลชาติก็บอกผู้ฟังว่ารายการคืนนี้มีพิเศษตรงที่จะมีการพูดคุยปัญหาบ้านเมืองกับนักศึกษากลุ่มหนึ่งด้วยทำให้อาจารย์ธเนศฯ ที่รอฟังอยู่อย่างใจจดจ่อ “แทบกลั้นหายใจด้วยความตื่นเต้น” เพราะ “ไม่น่าเชื่อว่าในที่สุดการสนทนาการเมืองสามารถออกวิทยุเอฟเอ็มของทางการได้”

แต่เมื่อรายการเริ่มไปได้เพียงไม่นานนัก คลื่นสัญญาณรบกวนก็ดังแทรกซ่าเข้ามาจนฟังเสียงคนพูดไม่รู้เรื่อง ฟังต่อไปไม่ได้ ปรับคลื่นอย่างไรก็ไม่เป็นผล ก่อนที่เสียงทั้งหมดจะเงียบหายไป “ทุกอย่างเงียบหายไป เหลือแต่คลื่นในอากาศตามธรรมชาติ ผมรออยู่พักใหญ่ เมื่อแน่ใจ…ผมปิดวิทยุพร้อมกับหัวใจที่เหี่ยวฝ่อ ผมปิดวิทยุและไม่เปิดฟังอีกเลยจนกระทั่งเมื่อหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด ที่เริ่มยุคใหม่ของเสรีภาพในวิทยุกระจายเสียงในแผ่นดินนี้บ้าง”

ส่วนรายการ “มีทเดอะเพรส” ที่โชคดีกว่า ปรากฏว่าหลังจากคืนนั้นก็ต้องเปลี่ยนชื่อไปเป็น ” ‘มีทเดอะเดธ’ (Meet the Death)” เพราะถูกสั่งถอดทันทีหลังจากรายการคืนนั้นจบ

 

อ่าน critical juncture : เมื่อกระแสสำคัญทางการเมืองและสังคมเคลื่อนบรรจบกัน

 

เรื่องเล็กๆ ที่อาจารย์ธเนศฯ เล่าไว้ข้างต้นนี้ ให้แง่คิด 2-3 เรื่องต่อการอ่านเงื่อนไขความเป็นไปได้ของปัจจุบันที่กำลังเป็นช่วงเวลาที่กระแสอันเป็นเหตุปัจจัยใหญ่ๆ ทางการเมืองและสังคม กำลังประสานเข้าหากัน หรือพลังทางสังคมกำลังเคลื่อนบรรจบกัน คนศึกษาการเมืองเปรียบเทียบเรียกช่วงระยะเวลาแบบนี้ว่า critical juncture

เรื่องแรก อาจารย์ธเนศฯ สรุปให้เองว่า “น่าตลกที่อำนาจเผด็จการอย่างทั่วไปนั้นสามารถทำให้เกิดพลังปฏิกิริยาตอบโต้ได้แรงพอกัน แม้ฝ่ายหลังจะไม่มีอำนาจและกำลังในการทำลายและข่มขู่เหมือนกับทางการก็ตาม แต่มันเป็นอำนาจของความคิดที่เป็นของปัจเจกบุคคล ซึ่งในที่สุด ไม่มีอำนาจและสถาบันไหนบังคับควบคุมได้ทุกเวลานาที”

“สำนึกกบฏจึงไม่ต้องรอรัฐบาลและการเมืองระดับชาติ ไม่มีใครถามหาถึงชนชั้นกลาง หากแต่ความคิดใหม่จะก่อตัวขึ้นได้ในปริมณฑลเล็กๆ และในบริบทของชุมชนวิชาการที่ยังพอมีช่องโหว่ให้มองออกไปข้างนอกได้ และในสำนึกของความเป็นเสรีชน…ทำให้พวกเขาสามารถมองเห็นสิ่งผิดปกติได้ไม่ยากนักถ้ามีสติปัญญาและจิตใจที่เป็นธรรมบ้าง”

มัวแต่เล่าเพลิน เลยยังไม่ทันได้ขยายความให้ท่านว่า critical juncture คืออะไร

critical juncture เป็นเครื่องมือแบบหนึ่งสำหรับอ่านสภาพปัญหา ที่ช่วยให้เราพิจารณาขอบฟ้าความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป เหมาะสำหรับนักยุทธศาสตร์ของรัฐ หรือของขบวนการที่จะลงไปกำกับหรือออกไปขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

คำว่า critical juncture นี้ผมอยากทดลองแปลไว้ว่าจุดบรรจบสำคัญของเหตุหรือของกระแสใหญ่ๆ ที่กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ในความหมายที่ Seymour Martin Lipset และ Stein Rokkan[2]ใช้ คือความหมายว่าเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวทางการเมืองหลังจากโครงสร้างการเมืองเดิมต้องเผชิญวิกฤตจากการบรรจบกันของพลังกดดันหลากหลายกระแส โดยผลของการปรับตัวประสานพลังทางสังคมกลุ่มต่างๆ เพื่อจัดโครงสร้างอำนาจกันใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ได้พาการเมืองมาตามเส้นทางสายหนึ่งแทนที่จะเป็นสายอื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ และการเปลี่ยนเข้าสู่เส้นทางสายนั้นก็สร้างเหตุปัจจัยที่จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเงื่อนไขและพลวัตทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

การปรับตัวประสานพลังต่างๆ เพื่อพาการเมืองออกจากระแสที่สร้างภาวะวิกฤตดำเนินไปตามตรรกะทางการเมืองสำคัญ 2 ด้านควบคู่กัน

ด้านแรก คือ การหาทางแบ่งสรรปันส่วนอำนาจระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ในการเมืองในการเข้าใช้อำนาจรัฐที่ขัดกันอยู่ให้ลงตัว

และ ด้านที่สอง คือ การหาทางสร้างและรักษาความชอบธรรมให้แก่โครงสร้างการจัดอำนาจการปกครอง และกลุ่มอำนาจปกครอง

(สำหรับท่านที่คาดหวังว่าควรมีตรรกะที่ 3 เรื่องการตั้งมั่นของระบอบประชาธิปไตย ก็โปรดเติมเพิ่มเข้ามาได้ให้เหมาะแก่ใจของท่านเทอญ)

ในระยะ critical juncture นี้ Ruth และ David Collier ใช้ประสบการณ์ของประเทศในลาตินอเมริกา[3] แสดงให้เห็นว่า แกนหลักที่ก่อให้เกิดการปรับตัวของระบอบการเมือง เป็นไปได้อย่างน้อย 4 รูปแบบด้วยกัน

หนึ่ง รูปแบบแรกมีกลไกอำนาจรัฐเป็นแกนหลักของการปรับตัว พลวัตของรูปแบบนี้ในประสบการณ์ของลาตินอเมริกา Ruth และ David Collier พบว่าเริ่มต้นจากการที่กลไกอำนาจรัฐเข้ากำกับควบคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลง โดยลดทอนหรือจำกัดพื้นที่การต่อรองต่อสู้ทางการเมืองและแทนที่ด้วยกระบวนการและกลไกของระบบการบริหารจัดการของรัฐ หรือสถาบันทางการบางอย่างที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่รวบรวมประมวลข้อเรียกร้องต้องการจากฝ่ายต่างๆ ส่งเข้าสู่ระบบเพื่อการตัดสินใจ แต่ในระยะต่อมาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดการแตกตัวเป็นกลุ่มเป็นขั้วอำนาจใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้อำนาจการควบคุมของกลไกอำนาจรัฐลดพลังและประสิทธิภาพการทำงานลงไป

สอง รูปแบบที่มีพรรคการเมืองเป็นแกนในการปรับตัวออกจากวิกฤต พลวัตการปรับตัวของรูปแบบนี้จะเริ่มต้นด้วยการที่พรรคการเมืองที่เป็นแกนหลักจะระดมประชาชนอย่างกว้างขวางให้เข้ามาสนับสนุนแนวทางปฏิรูปของพรรค และคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้อาณัติในการเข้าใช้อำนาจรัฐ และสกัดหรือลดพลังการต่อต้านจากฝ่ายค้านและผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น

สาม และ สี่ รูปแบบที่มีขบวนการแรงงาน หรือขบวนการของชาวบ้านในชนบทที่เป็นอิสระจากพรรคการเมือง (แต่อาจจะพัฒนาเปลี่ยนไปเป็นพรรคการเมืองในเวลาต่อมาได้เหมือนกัน) เป็นแกนหลักของกระบวนการปรับตัวออกจากวิกฤต ซึ่งก็จะใช้วิธีการระดมเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปเช่นกัน  การระดมโดยขบวนการทั้ง 2 ไม่เพียงมุ่งที่การได้รับชัยชนะในการเมืองทางการของการเลือกตั้ง แต่ยังเป็นการระดมเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อให้เกิดการกระจายผลตอบแทนและจัดสรรทรัพยากรที่มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

 

อ่าน critical juncture ของไทย

 

เมื่อเข้าใจความสำคัญของ critical juncture ตามนัยข้างต้นแล้ว ทีนี้เราก็ย้อนกลับไปพิจารณาประเด็นของอาจารย์ธเนศฯ อีกครั้ง ที่จะนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันของเราด้วยคำถามว่า :

สำนึกกบฏและพลังตอบโต้ที่ถูกปลุกขึ้นมาจนก่อเกิดเป็น “การเคลื่อนไหวในขบวนการ 14 ตุลาฯ” ที่ “ทำลายปราการแห่งความกลัวในสังคมการเมืองไทยลงไป” ได้เปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มพลังฝ่ายใดเข้ามามีบทบาทในสังคมการเมืองหลัง 14 ตุลาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพลังที่จะมีฐานทรัพยากรและการจัดองค์กรลงสู่สนามแข่งขันของการเลือกตั้งและเกาะตัวกันขึ้นเป็นผู้ได้ใช้อำนาจรัฐ และที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มอำนาจปกครองแทนที่ระบอบเผด็จการที่ล้มลงไป เมื่อขบวนการนักศึกษาโดยข้อจำกัดของตัวขบวนการเองไม่อาจเปลี่ยนมารับบทบาทของพรรคการเมืองทำงานเป็นตัวแทนผู้ใช้อำนาจของประชาชนในสังคมการเมืองได้ถนัด

พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำชิงชัยกันในการเป็นตัวแทนประชาชนเข้าใช้อำนาจรัฐหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ประกาศใช้ ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคกิจสังคมที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่โดยคุณชายคึกฤทธิ์ ผู้เป็นขวัญใจของคนที่ได้ชมรายการ มีทเดอะเพรส คืนนั้น ที่แย้งย้อนอย่างน่าขันก็คือนายทุนใหญ่ของพรรคกิจสังคมก็คือ พงส์ สารสิน บุตรชายคนโตของพจน์ คู่ปรับคืนนั้นของคุณชายคึกฤทธิ์นั่นเอง

ในขณะที่การเมืองมวลชนด้านหนึ่งมีขบวนการนักศึกษาเป็นแกนนำระดมพลังการเคลื่อนไหว อีกด้านหนึ่งมีขบวนการมวลชนฝ่ายขวาที่มีองค์กรกึ่งรัฐหรือแฝงอำนาจรัฐเป็นกลไกระดม

ส่วนการเมืองในสภา พรรคการเมืองที่มีบทบาทหลักในสังคมการเมืองหลัง 14 ตุลาฯ ถ้าใช้พรรคกิจสังคมและประชาธิปัตย์เป็นตัวอย่างสะท้อน จะพบว่าเป็นการประสานระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นสมาชิกระดับแกนนำอยู่ในทั้งสองพรรค นักการเมืองที่มีฐานอยู่ในท้องถิ่นมาแต่เดิม เช่น ใหญ่ ศวิตชาติ จากนครสวรรค์ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ จากลำปาง หรือที่เป็นรุ่นใหม่เช่น ชวน หลีกภัย จากตรัง และโกศล ไกรฤกษ์ จากพิษณุโลก เป็นต้น และนายทุนระดับชาติ เช่น พงส์ สารสิน และบุญชู โรจนเสถียร ในกิจสังคม รวมถึง เล็ก นานา และพิชัย รัตตกุล ในประชาธิปัตย์

กลุ่มพลังประสาน 3 ฝ่ายกลุ่มนี้เอง หลังจากตกลงจัดการแบ่งปันอำนาจกันลงตัวกับอำนาจที่คุมกองทัพ ที่จะเถลิงขึ้นเป็นกลุ่มอำนาจปกครองของสังคมการเมืองไทยนับแต่ต้นทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา[4]

โดยนัยเดียวกันนี้ คำถามสำหรับอ่านสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นว่า เมื่อการเมืองเปิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อใครบางคนทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน จากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จากการเคลื่อนไหวของขบวนการแต่ละฝ่าย จากการประสานพลังหรือไหลรวมกระแสของเหตุปัจจัยที่รอจังหวะอยู่ ในที่สุดจะเป็นกลุ่มพลังฝ่ายไหนที่จะเถลิงขึ้นเป็นกลุ่มอำนาจปกครองต่อไป และใครฝ่ายไหนที่จะได้ประโยชน์เป็นพิเศษจากการออกแบบสภาวะวิสัยของความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

การหันมาพิจารณาการปรับตัวที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2520 ด้วยเครื่องมืออ่านสถานการณ์แบบ critical juncture นอกเหนือจากจะได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเองแล้ว ยังน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตั้งหลักคิดในเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่างๆ ในเวลานี้ว่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในจุดบรรจบกระแสและพลังของทศวรรษ 2550 เกิดการปรับตัวอย่างลงตัวได้อย่างไร หรือไม่ ในทศวรรษ 2560

เราจะได้รู้กันในไม่ช้า.

 

อ้างอิง

[1] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, กบฏวรรณกรรม : บทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และการเมืองในวรรณกรรม (กรุงเทพฯ : สมมติ, 2556).

[2] Seymour M. Lipset and Stein Rokkan. 1967. “Cleavage Structures, Party Systems, and Voter Alignments,” in Seymour M. Lipset and Stein Rokkan, eds., Party Systems and Voter Alignments. Cross-National Perspectives (New York: Free Press), 1– 64.

[3] Ruth Berins Collier and David Collier, Shaping the Political Arena: Critical Junctures, the Labor Movement and Regime Dynamics in Latin America (Princeton, NJ.: Princeton University Press, 1991). อ่านบทแรกได้ ที่นี่

[4] ในกรณีของไทย อาจพูดได้ว่าการปรับตัวของการเมืองไทยออกจากกระแสวิกฤตในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีกองทัพและพลเอกเปรมเป็นหลักร่วมกับพรรคการเมืองจัดเข้าในประเภทแรกตามการแบ่งของ Ruth and David Collier ข้างต้น

ทศวรรษ 2520 เริ่มต้นด้วยแผนพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร และจบลงพร้อมกับการยุติสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบในต้นทศวรรษ 2530 เมื่อพลเอกเปรมไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป แต่หลังจากนั้นไม่นานนักกระแสวิกฤตก็ก่อตัวขึ้นมาใหม่อีกรอบและสร้างพลังกดดันการเปลี่ยนแปลงในการเมืองของรัฐราชการไทย การพิจารณาระยะเวลา 15 ปี จากปี 2520 ไปจนถึงรัฐประหาร 2534 และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 พอจะทำให้เห็นและประเมินความสำเร็จ ข้อจำกัด และความล้มเหลวในการปรับตัวของยุคประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างมีนัยสำคัญได้

และอาจพิจารณาหาบทเรียนจากอดีตว่า ถ้าการปรับตัวในทศวรรษหน้าจะต้องเป็นไปในรูปที่มีกลไกอำนาจรัฐเป็นแกนนำในการปรับตัว เช่นที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบอีก ฝ่ายอื่นๆ จะตั้งรับหรือเข้าไปมีส่วนร่วมหรือคัดท้ายการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในลักษณะใดได้บ้าง และในขณะเดียวกันจะมีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่แกนหลักของการปฏิรูปจะเปลี่ยนมานำโดยพรรคการเมือง ขบวนการแรงงาน และขบวนการชาวบ้าน หรือการประสานกันระหว่างกลุ่มก้อนเหล่านี้ และจะจัดการอย่างไรในกรณีที่เกิดแรงต่อต้านจากกลุ่มพลังของฝ่ายอำนาจเดิม

อนึ่ง คนที่สนใจการเมืองไทยช่วงระยะเวลาของจุดบรรจบที่เป็น critical juncture ที่อาจารย์ธเนศฯ เล่าถึงข้างต้น นอกจากงาน “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” ของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติแล้ว งานวิทยานิพนธ์ของ David Morell (1974) ก็ให้ภาพที่ละเอียดลออดี

งานวิทยานิพนธ์ฉบับนั้นของ Morell มีชื่อที่ชวนสังเกตว่า Power and Parliament in Thailand: The Futile Challenge.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save