fbpx
รัฐประหาร ณ Luhansk : สันติภาพจากปลายกระบอกปืน สันติภาพไม่สถาพร?

รัฐประหาร ณ Luhansk : สันติภาพจากปลายกระบอกปืน สันติภาพไม่สถาพร?  

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

21 พฤศจิกายน 2017. รัฐประหาร. Luhansk.

 

กองกำลังติดอาวุธกลุ่มหนึ่ง ผูกริบบิ้นสีขาวและสวมหน้ากากอำพรางใบหน้า ได้ทำรัฐประหาร และเข้ายึดอาคารฝ่ายบริหารของหน่วยทางการเมืองที่เรียกตนเองว่า “สาธารณรัฐประชาชน Luhansk”

Igor Plotnitsky “ประธานาธิบดี” ของ Luhansk ได้ขึ้นเครื่องบินหลบหนีออกไปยังประเทศรัสเซีย

การรัฐประหารครั้งนี้สะท้อนการต่อสู้เชิงอำนาจภายใน Luhansk ระหว่าง Plotnitsky กับ Igor Kornet รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งควบคุมกองกำลังตำรวจ รวมทั้งตำรวจลับอย่าง Berkut ด้วย

ประธานาธิบดี  Plotnitsky สั่งปลด Kornet ออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาการใช้อำนาจมิชอบ จากการที่ Kornet เข้าครอบครองแมนชั่นหรูหลังหนึ่งเป็นของส่วนตัว โดยประธานาธิบดีได้ออกคำสั่งให้เขาคืนแมนชั่นดังกล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ของ Luhansk

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น รัฐประหารก็เกิดขึ้นในที่สุด

 

ที่มาภาพ : BBC

 

ในช่วงแรก ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติมองว่ากองกำลังรบพิเศษชาวรัสเซียน่าจะอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนี้ แต่ในทางปฏิบัติ กองกำลังติดอาวุธนั้นกลับมาจากหน่วยทหารร่วมรบในเพื่อนบ้านอย่าง Donetsk รายงานขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปหรือ OSCE เสนอว่า กองกำลังดังกล่าวมาจากเมือง Debaltseve ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน Donetsk

Kornet เองก็ยอมรับว่าเขาได้รับความช่วยเหลือจาก “มิตรสหายของเขา และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชน Donetsk” กองกำลังติดอาวุธดังกล่าวร่วมกับทหารของ Luhansk ได้จับกุมและกักบริเวณผู้ที่พวกเขาเรียกว่า “สายลับของยูเครน” 10 นาย โดยอ้างว่าสายลับเหล่านี้ได้แทรกแซงเข้ามาในรัฐบาลของ Luhansk และกรอกหูประธานาธิบดี Plotnitsky ด้วย “ข้อมูลที่บิดเบือนต่างๆ นานา”

OSCE ยังรายงานว่า การรัฐประหารครั้งนี้อาศัยเพียงกองกำลังประมาณ 100 คน และรถถัง 4 คันในการยึดศูนย์กลางของ Luhansk เท่านั้น นี่ย่อมสะท้อนถึงความอ่อนแอของรัฐบาลกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน Luhansk ในขณะที่ Plotnitsky เองก็ล้มเหลวที่จะระดมทหารที่ภักดีต่อเขาเพื่อต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้

Kirill Mikhailov นักวิจัยประจำ Conflict Intelligence Team ซึ่งทำวิจัยด้านความขัดแย้งต่างๆ ที่ทหารรัสเซียเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันในภูมิภาคยูเรเชีย กล่าวว่า “มันแสดงให้เห็นว่า Plotnitsky ไม่มีกองกำลังทหารสำคัญที่พร้อมยอมตายเพื่อเขา เว้นแต่องค์รักษ์ส่วนตัวของเขาเพียงไม่กี่คน”

หลังการรัฐประหาร ฝ่ายตรงข้ามของประธานาธิบดี ได้ออกมาโจมตี Plotnitsky ด้วยข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชัน ความไม่เป็นที่นิยม (โดยเฉพาะในหมู่ทหารของ Luhansk) และการดำเนินธุรกิจที่พัวพันกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของยูเครน (oligarchs) แม้กระทั่งชาติกำเนิดของ Plotnitsky เองก็ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากเขาเกิดและเติบโตในยูเครนภาคตะวันตก แม้ว่าเขาจะย้ายมาอยู่อาศัยที่ Luhansk ตั้งแต่ปี 1991 ก็ตาม

นอกจากนี้ ฝ่ายตรงข้ามยังได้ออกมาเปิดโปงว่าประธานาธิบดี Plotnitsky นั้นอยู่เบื้องหลังการสังหารผู้บัญชาการทหารคนสำคัญบางคนที่เป็นปฏิปักษ์กับเขาในช่วงปี 2015-2016 และดำเนินคดีฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงหลังความพยายามในการรัฐประหารในปี 2016

รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งรัฐ Leonid Pasechnik เปิดเผยวิดีโอสัมภาษณ์สมาชิกจำนวนหนึ่งของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ถูกกักตัวไว้ภายใต้รัฐบาล Plotnitsky อัยการบางท่านกล่าวว่า ความพยายามในการรัฐประหารเป็นการกุเรื่องขึ้นมาของ Plotnitsky เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น อัยการอีกท่านหนึ่งยังเปิดโปงด้วยว่า อดีตนายกรัฐมนตรี Gennady Tsypkalov ซึ่งถูกจำคุกภายหลังการรัฐประหารที่ล้มเหลวครั้งนั้น ไม่ได้ผูกคอตายเอง แต่ถูกทรมานจนเสียชีวิต

ในวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งรัฐ Leonid Pasechnik กล่าวว่า เขาได้เข้าควบคุมอำนาจรัฐแทนที่ Plotnitsky และมีแถลงการณ์จากเว็บไซต์ของ Luhansk Information Centre กล่าวว่าประธานาธิบดี Igor Plotnitsky ได้ประกาศลาออก “เนื่องจากเหตุผลทางด้านสุขภาพ จากอาการบาดเจ็บในช่วงระหว่างสงครามและผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา”

อาจกล่าวได้ว่า ในการแย่งชิงอำนาจกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างสร้างความสมเหตุสมผลหรือความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตนทั้งสิ้น การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ความขัดแย้งหรือสงครามในยูเครนภาคตะวันออกกลายเป็นพื้นที่มิคสัญญีมากขึ้น

 

รัสเซียกับรัฐประหารใน Luhansk

 

จนถึงวันที่ผมส่งต้นฉบับ เรายังไม่เห็นท่าทีของมหาอำนาจอย่างรัสเซียอย่างชัดแจ้ง แต่หลายฝ่ายมองว่าคงยากที่จะเชื่อว่ารัฐประหารครั้งนี้จะเกิดขึ้นโดยที่รัสเซียไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น

การรัฐประหารจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับ “ไฟเขียว” จากรัสเซีย ทั้งนี้เนื่องจากตั้งแต่วิกฤตการณ์ไครเมียในปี 2014 รัสเซียให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนของทั้งสอง “สาธารณรัฐ” นั่นคือ Donetsk และ Luhansk อย่างน้อยก็อย่างไม่เป็นทางการ และทั้งสองหน่วยทางการเมืองก็พึ่งพิงทางการเงินและการทหารจากรัสเซียอย่างเต็มที่

คนสนิทในเครือข่ายอำนาจ Putin อย่างเช่น Vladislav Surkov ก็มีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งในภูมิภาค Donbas นี้ โดยมีรายงานข่าวว่าเขาเดินทางเข้าออกทั้ง Donetsk และ Luhansk อย่างต่อเนื่อง และติดต่ออย่างใกล้ชิดกับบรรดาผู้นำของทั้งสองหน่วยทางการเมืองนี้

จนถึงขณะนี้ มีคำอธิบายหรือ “เรื่องเล่า” ออกมาจำนวนหนึ่ง คำอธิบายแรกนั้นมาจากทางฝ่ายยูเครน ซึ่งกำลังพยายามยึดคืนดินแดนทั้งสองบริเวณด้วยวิธีการทางการทูตและทางการทหาร คำอธิบายนี้เสนอว่า ความขัดแย้งภายใน Luhansk รอบนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งภายในของรัฐบาลรัสเซียเอง โดยประธานาธิบดี Plotnitsky นั้นเป็นคนของ Surkov ในขณะที่ Kornet เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ของหน่วยสืบราชการลับอย่าง FSB

สมาชิกรัฐสภายูเครน (Rada) และที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยอย่าง Anton Herashchenko เขียนในบล็อกของตนเองว่า “มีความเป็นไปได้สูงว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะเห็นพ้องกันว่าจะจัดสรรผลประโยชน์อย่างไร” เรื่องเล่าแรกนี้ได้รับความนิยมในหมู่คนยูเครนค่อนข้างมาก

คำอธิบายที่สอง คือ Plotnitsky และนโยบายของเขาได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในมอสโคว โดยมีสัญญาณต่างๆ ออกมา เช่น ในช่วงปีก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวหลายสำนักของรัสเซียระบุว่า รัฐบาลรัสเซียได้ยุติการให้เงินสนับสนุนแก่ Luhansk จนทำให้รัฐบาล Luhansk ต้องหยุดจ่ายเงินบำนาญและค่าจ้างพนักงานของรัฐไปชั่วระยะหนึ่ง แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า Plotnitsky นั้นสูญเสียความไว้วางใจจากรัฐบาลรัสเซีย เนื่องจากเขาล้มเหลวที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาลของเขาได้ ทั้งนี้ เสถียรภาพคือหัวใจสำคัญของระบอบการเมืองในภูมิภาคยูเรเชีย

อีกคำอธิบายหนึ่งเสนอว่า การรัฐประหารครั้งนี้ซึ่งมีกองกำลังของ Donetsk เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะนำไปสู่การรวมหน่วยทางการเมืองสองหน่วย คือ Donetsk และ Luhansk เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพหรือสถานะเดิม (status quo) ให้แก่ยูเครนภาคตะวันออก และคานอำนาจกับยูเครน

มีเรื่องตลกในโลกโซเชียลมีเดียว่า “Donetsk ส่งกองกำลังของตนมายัง Luhansk เพื่อที่จะปกป้องประชาชนที่พูดภาษา Donetsk” แต่สิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนก็คือเริ่มมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้กำหนดนโยบายของรัสเซียถึงข้อดี-ข้อเสียของการผนวกรวม “สาธารณรัฐประชาชน” ทั้งสองหน่วยเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางด้านการเงิน

แต่ถ้าหากเป็นเช่นนั้น การรักษาสถานะเดิมเอาไว้ย่อมสร้างความซับซ้อนให้แก่เสถียรภาพของรัฐบาลยูเครน และกระบวนการสันติภาพที่ Minsk ที่กำลังดำเนินอยู่

 

2014-ปัจจุบัน. ปัญหายูเครนภาคตะวันออก.

 

วิกฤตการณ์ใน Luhansk นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากสุญญากาศทางการเมือง หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหายูเครนภาคตะวันออก

คำถามชวนคิดต่อคือ “ปัญหายูเครนภาคตะวันออก” มีที่มาที่ไปอย่างไร

หากย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2013 และต้น 2014 เราคงพอจำวิกฤตการณ์ยูเครนอันเกิดมาจากการชุมนุมประท้วง ณ จัตุรัสเอกราช (Maidan Square) ต่อต้านรัฐบาล Viktor Yanukovych หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของการประท้วง Euromaidan (21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 ถึง 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014) โจทย์สำคัญคือ ยูเครนจะอยู่กับโลกตะวันตกหรือโลกรัสเซีย

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ต่อต้านรัสเซีย ณ กรุงเคียฟได้สร้างกระแสความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในยูเครนภาคตะวันออกและทางตอนใต้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย หมุดหมายสำคัญคือ การลงประชามติแยกไครเมีย (Crimea) ออกไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในเดือนมีนาคม 2014 และต่อมารัสเซียได้ลงนามในสนธิสัญญารับ Crimea เข้ามาเป็นจังหวัดหนึ่ง (Oblast) ของรัสเซีย

การลงประชามติครั้งนี้ถูกโต้แย้งจากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็นไปภายใต้ปากกระบอกปืนของรัสเซียหรือไม่ และทำผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญของยูเครนหรือไม่ รวมทั้งเป็นการละเมิดหลักอำนาจอธิปไตยอันแบ่งแยกมิได้หรือไม่ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ประณามการแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว และได้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อชนชั้นนำชาวรัสเซียที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 เป็นต้นมา

ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ในบริเวณยูเครนภาคตะวันออก โดยเฉพาะภูมิภาค Donbas ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กที่สำคัญ เช่น Donetsk และ Luhansk ประชาชนจำนวนมากเป็นชาวรัสเซียหรือชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย ต่างไม่พอใจและลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลใหม่ที่กรุงเคียฟ

Luhansk และ Donetsk ได้ประกาศเอกราชแยกตัวเป็นสาธารณรัฐประชาชนอิสระ และจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นมาด้วยการสนับสนุนทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการเงินจากกองกำลังติดอาวุธชาวรัสเซีย แต่ไม่ได้รับการรับรองจากประชาคมระหว่างประเทศ

ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งปัจจุบัน เราเห็นการปะทะและเผชิญหน้าทางการทหารระหว่างฝ่ายกองทัพของรัฐบาลยูเครนกับกองกำลังของฝ่ายต่อต้าน ทั้งใน Donetsk และ Luhansk ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยูเครนเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “กลุ่มแบ่งแยกดินแดน” ในภาคตะวันออกของยูเครน

ฝ่ายยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวประณามรัฐบาลรัสเซียว่าอยู่เบื้องหลังกองกำลังติดอาวุธดังกล่าว ในขณะที่รัฐบาลรัสเซียก็ประณามการใช้ความรุนแรงโดยรัฐบาลยูเครนและการสนับสนุนจากโลกตะวันตก

แม้ว่าจะมีกรอบการเจรจาสันติภาพที่ Minsk ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านในภาคตะวันออก รวมทั้งชาติมหาอำนาจ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ความรุนแรงและสงครามยังคงดำเนินต่อไปในภูมิภาคตะวันออกของยูเครน ระลอกล่าสุดคือ หลังจากการรัฐประหารที่ Luhansk ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดี Petro Poroshenko ได้อาศัยความไร้เสถียรภาพใน Luhansk ส่งทหารเข้ามาเพื่อยึดคืนพื้นที่ จนนำมาสู่การปะทะกันในหมู่บ้าน Krymske  แต่กลับเผชิญกับการตอบโต้กลับอย่างรุนแรงจากฝ่ายกลุ่มแบ่งแยกดินแดน มีรายงานข่าวว่าทหารยูเครนเสียชีวิต 5 นาย

โดยรวมแล้ว สหประชาชาติประเมินว่า จากความขัดแย้งในยูเครนภาคตะวันออกตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตประมาณมากกว่า 10,000 คน และผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศมากกว่า 1,600,000 คน

 

สันติภาพจากปลายกระบอกปืน?

 

การรัฐประหาร ณ Luhansk ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักมากเท่าใดนัก เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ในยูเครนภาคตะวันออกที่ยังดำเนินอยู่ตั้งแต่ปี 2014 จนกระทั่งปัจจุบัน บทความนี้พยายามแสดงให้เห็นพลวัตของความขัดแย้งภายในหน่วยทางการเมืองที่ยังมีความลักลั่นในการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือ เป็นหน่วยทางการเมืองที่พยายามแบ่งแยกดินแดนออกมาจากรัฐชาติดั้งเดิม แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากประชาคมระหว่างประเทศ

เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของการรัฐประหารครั้งนี้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่เราอาจจะเรียกว่า “วิกฤตการณ์ยูเครนภาคตะวันออก” และประเด็นปัญหาใจกลางของยูเรเชีย นั่นคือ ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัฐมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนด กำกับและชี้ชะตากรรมของกระบวนการสันติภาพที่ Minsk

อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ของกระบวนการสันติภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือ อำนาจจากปลายกระบอกปืน (ไม่ว่าจะในรูปของการแบ่งแยกดินแดนด้วยกำลัง และการรัฐประหารใน Luhansk รวมทั้งการตอบโต้ทางการทหารของยูเครนนั้น) ไม่สามารถก่อให้เกิดเสถียรภาพและสันติภาพได้อย่างที่บางฝ่ายคาดคิด แต่กลับก่อให้เกิดมิคสัญญี ซึ่งส่งผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของผู้คน ระเบียบและสันติภาพทั้งระดับภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

ในปัจจุบัน ปัญหายูเครนภาคตะวันออกนั้นค่อยๆ กลายเป็นความขัดแย้งแช่แข็ง เช่นเดียวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยูเรเชีย เช่น Transdniestria, Nagorno-Karabakh หรือ Chechnya นั่นคือ เป็นความขัดแย้งที่ไม่รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศและสื่อสาธารณะมากนัก แต่เป็นความขัดแย้งที่ยังดำเนินต่อไปอย่างดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save