fbpx
computational propaganda ภัยคุกคามใหม่ของประชาธิปไตย

‘computational propaganda’ ภัยคุกคามใหม่ของประชาธิปไตย

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นในบัญชีทวิตเตอร์ของเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นนักคิด นักเขียน และสถาบันสื่อที่ผมรู้จักหลายบัญชี นั่นคือ อยู่ดีๆ บัญชีก็มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติในชั่วข้ามคืน บางบัญชีมีคนติดตามเพิ่มขึ้นกว่า 10-15 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนบางบัญชีมีคนติดตามเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 คนในคืนเดียว

ที่ผิดปกติไปกว่านั้นคือ ผู้ติดตามหน้าใหม่จำนวนมาก ส่วนใหญ่ใช้ชื่อ ‘ไทย’ แต่มักมีชื่อบัญชียาวๆ แปลกๆ ไม่ได้ความหมาย หนังสือพิมพ์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อที่มีผู้ติดตามทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นผิดปกติถึง 3 เท่า ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างชื่อที่ติดตาม เช่น @Fah12113 หรือ @Thanaphorn_1230 ในขณะที่มีชื่อบัญชีมีชื่อว่า @hjZuotIwLtiSojc และ @hIrQMl1B71tIYKF เป็นต้น

และที่ผิดปกติอย่างยิ่งเลยก็คือ บัญชีเกือบทั้งหมด ‘ไม่มีใบหน้า’ ไม่เคยทวิตใดๆ และไม่มีผู้ติดตามเลยแม้แต่คนเดียว

เพื่อนคนหนึ่งแคปหน้าจอส่งมาให้ ผมดูแล้วก็ยังแอบหลอนอยู่ลึกๆ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัด บ้างก็ว่า บัญชีเหล่านี้เป็นสแปมของทวิตเตอร์ เดี๋ยวทวิตเตอร์ก็จะมาลบ และระงับบัญชีเหล่านี้ไปเอง แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์เชื่อว่าบัญชีเหล่านี้ไม่ใช่สแปม แต่เป็น ‘ทวิตเตอร์ปลอม’ ที่กำลังระบาดอยู่

Maya Gilliss-Chapman ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีชาวกัมพูชา ซึ่งทำงานในซิลิคอน วัลเลย์ เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเตือนในเรื่องนี้ เรื่องมีอยู่ว่าในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา Maya สังเกตเห็นถึงความผิดปกติของบัญชีทวิตเตอร์ของเธอ ซึ่งอยู่ดีๆ มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 คน หรือมากกว่า 227 % ด้วยความที่เธอเคยทำงานในบริษัทจำกัดอีเมลขยะและสแปมมาก่อน เธอจึงทำการสืบค้นข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจนมาพบความจริงที่น่าตกใจว่า บัญชีทวิตเตอร์ของเหล่าคนดังในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ไทย เวียดนาม พม่า และและฟิลิปปินส์ ต่างพบเจอปัญหานี้เหมือนกัน

ที่น่าสนใจคือ ผู้ติดตามหน้าใหม่ในแต่ละประเทศจะมีการตั้งชื่อให้เป็นท้องถิ่น ก่อนที่จะไปกดตามคนดังในประเทศนั้นๆ

เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของทวิตเตอร์ด้วยเช่นกัน โดยตัวแทนของทวิตเตอร์แถลงว่า “วิศวกรของทวิตเตอร์ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ และจะจัดการทุกบัญชีที่ละเมิดกฎของทวิตเตอร์” อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในที่ใกล้ชิดกับการตรวจสอบของทวิตเตอร์ว่า บัญชีเหล่านี้เป็น “ผู้ใช้ใหม่” (new organic user) ที่น่าจะถูกชี้นำให้ไปติดตามบัญชีของคนดังและผู้มีอิทธิพลทางความคิดทั่วเอเชีย  แหล่งข่าวยังยืนยันด้วยว่า ณ ปัจจุบัน การสร้างบัญชีเหล่านี้ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานปกติ

แม้จะยังไม่ข้อสรุปว่า ต้นสายปลายเหตุของปรากฏการณ์นี้คืออะไร แต่ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงไม่น้อยที่บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อเป้าประสงค์ในการแทรกแซงข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์

เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักการตลาดว่า มีการใช้ทวิตเตอร์ปลอมเพื่อทำการตลาดและสื่อสารในเชิงพาณิชย์สักพักใหญ่แล้ว แถมได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการ ‘เป่าหู’ (manipulate) ผู้บริโภค ถือเป็น ‘ศาสตร์มืด’ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่า ควรนำมาใช้หรือไม่ อย่างไร

‘ศาสตร์มืด’ ในโลกของการตลาด กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรงและน่ากังวลมากขึ้น เมื่อเทคนิคนี้ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง เมื่อไม่นานมานี้สถาบันอินเทอร์เน็ตศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Internet Institute) ได้ริเริ่มโครงการ ‘Computational Propaganda’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งศึกษาการแพร่กระจายข้อมูลคุณภาพต่ำและข้อมูลเท็จผ่านอัลกอริทึมและระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหวังผลทางการเมือง โดยมีการใช้ทวิตเตอร์ปลอมเป็นกรณีศึกษาสำคัญ

คงไม่เกินจริงนัก หากจะบอกว่า ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์กำลังกลายเป็นเบ้าหลอมทางการเมืองของผู้คนจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่เสพข่าวและคอนเทนต์ทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังสร้างและส่งผ่านทางความคิดทางการเมืองของตัวเองผ่านแพล็ตฟอร์มนี้ด้วย ยิ่งมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น มีวิกฤตทางการเมือง การประท้วง หรือการเลือกตั้ง การเสพสื่อและมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

กล่าวเฉพาะสำหรับคนหนุ่มสาวที่เป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (digital native) โซเชียลมีเดียแทบจะกลายเป็นช่องทางหลักเพียงช่องทางเดียวที่พวกเขามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งในแง่ของการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง (ผ่านการแสดงความคิดเห็นและการถกเถียงออนไลน์) ผลการสำรวจของ Pew Journalism and Media พบว่า ในสหรัฐอเมริกา กว่า 66% ของผู้ใช้เฟซบุ๊กและ 59% ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ ใช้โซเชียลมีเดียข้างต้นเป็นแหล่งอ้างอิงหลักในการเสพข่าว ในทำนองเดียวกัน การศึกษาของ Oxford University’s Reuters Institute for the Study of Journalism ซึ่งทำการสำรวจพฤติกรรมของคนหนุ่มสาวกว่า 50,000 คนจาก 26 ประเทศทั่วโลกก็พบว่า เกินกว่าครึ่งใช้โซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก ยูทูป ว็อทส์แอพ และทวิตเตอร์) เป็นแหล่งข้อมูลหลักในการรับข่าวสาร ในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการสำรวจข้อมูลอย่างเป็นระบบ แต่ผลสำรวจในเบื้องต้นก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน

ข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในโซเชียลมีเดียจึงมีผลอย่างยิ่งต่อชีวิตและตัวตนทางการเมืองของผู้คนจำนวนมาก หากใครหรือองค์กรใดสามารถที่จะแทรกแซงการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารทางการเมืองในโซเชียลมีเดียเพื่อ ‘เป่าหู’ ผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บุคคลหรือองค์กรนั้นย่อมได้เปรียบในสนามการเมือง

นี่ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานนะครับ แต่มีบุคคลหรือองค์กรที่ทำจริง เห็นผลจริงกันมาแล้ว

โครงการ Computational Propaganda ได้ทำวิจัยในเรื่องนี้ไว้เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมกรณีศึกษาในหลายสิบประเทศทั่วโลก และมีการวิเคราะห์ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ และความมั่นคง เป็นต้น หากผมเข้าใจไม่ผิด วาระเบื้องหลังของโครงการวิจัยชุดใหญ่ชุดนี้คือ ความกังวลที่มีต่อประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดยหลักการ ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพและการเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรีเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการมีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่มีคุณภาพ เดิมเชื่อกันว่า โซเชียลมีเดียจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพและแข็งแรง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

พูดมาถึงขนาดนี้หลายคนคงเดาได้ไม่ยากนักว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นในโครงการวิจัยชุดนี้ เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ที่สมาทานคุณค่าแบบประชาธิปไตย

ผลการวิจัยพบว่า ในทุกพื้นที่ที่มีการทำวิจัย โซเชียลมีเดีย (โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์) ล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายเนื้อหาทางการเมืองที่มีคุณภาพต่ำ เป็นเท็จ หรือไม่ก็เป็นข้อมูลที่ตั้งใจบอกความจริงไม่หมดเพื่อหวังผลบางอย่าง การแพร่กระจายของเนื้อหาคุณภาพต่ำเหล่านี้รุนแรง รวดเร็ว และส่งผลเป็นวงกว้างราวกับเป็นโรคระบาดทางการสื่อสาร โดยมี ‘bot’ และบัญชีปลอมที่ทำงานร่วมกับอัลกอริทึม ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าทำงานอย่างไร เป็นพาหะสำคัญ

แม้จะค้นพบแนวโน้มของ computational propaganda เหมือนกันในทุกประเทศ แต่ลักษณะที่เกิดขึ้นก็มีความแตกต่างกันออกไป ผมขอยกบางตัวอย่างที่น่าสนใจมาเล่าต่อในที่นี้

ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ชัดเจนที่สุด นอกจากปัญหาการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซียที่เชื่อกันว่าส่งผลให้โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2016 แล้ว งานวิจัยในโครงการนี้ยังพบด้วยว่า องค์กรทางการเมืองของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการสื่อสารที่ล่อแหลมมากขึ้น เช่น กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ใช้วิธีการ ‘เช่า’ เครือข่ายของบัญชีโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่เพื่อผลักดันวาระของตนสู่สาธารณะ เป็นต้น นอกจากนี้ นักวิจัยยังแสดงความกังวลด้วยว่า เหล่าบรรดานักสื่อสารประเมินผลกระทบของการใช้ ‘bot’ ในการสื่อสารทางการเมืองน้อยเกินไป

นักวิจัยพบแนวโน้มที่ไม่สู้ดีนักของประเทศในยุโรปเช่นเดียวกัน เช่น ในอังกฤษ บางหน่วยของกองทัพก็เริ่มยอมให้มีการทดลองใช้วิธีการสื่อสารแบบ ‘ดุน’ (nudge) ต่อสาธารณะบ้างแล้ว ซึ่งแม้จะชัดเจนว่า การสื่อสารแบบนี้ผิดหรือไม่ แต่ก็นับว่าผิดวิสัยจากแนวปฏิบัติที่เคยทำมา ในส่วนฝรั่งเศส การที่เฟซบุ๊กลบบัญชีปลอมกว่า 30,000 บัญชีในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2017 ก็เป็นภาพสะท้อนปัญหาที่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยกำลังเผชิญได้เป็นอย่างดี

ในประเทศที่กำลังเผชิญกับกระแสขวาจัดอย่างโปแลนด์ นักวิจัยพบว่า กลุ่มขวาจัดเป็นผู้กุมสภาพในการสนทนาทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย โดยเป็นผู้ผลิตเนื้อหาทางการเมืองประมาณ 20% ของเนื้อหาทั้งหมด ว่ากันว่าการทำบัญชีปลอมได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในโปแลนด์ไปแล้ว ที่น่าสนใจคือ การสื่อสารในโปแลนด์ไม่ได้ทำกันแบบซื่อๆ มั่วๆ แต่มีการวางกลยุทธเป็นอย่างดี โดยกองทัพไซเบอร์จะมุ่งเน้นฟีดข้อมูลไปยังกลุ่มที่มีชื่อเสียงและอิทธิพลต่อสังคม (influencers) เป็นรายๆ ด้วยหวังว่า เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีความคิดที่เปลี่ยนไป กลุ่มผู้ติดตามของพวกเขาจะเปลี่ยนไปด้วย

ในบรรดาประเทศต่างๆ ผมคิดว่า ผลการศึกษาในกลุ่มประเทศอำนาจนิยมให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากที่สุด ประเทศในกลุ่มนี้ลงทุนในเทคโนโลยีและเทคนิคในการควบคุมสังคมอย่างกว้างขวาง  ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีคือรัสเซีย ซึ่งทีมวิจัยยกย่องให้เป็นประเทศ ‘จุดเริ่มต้นของการได้รับข้อมูลที่ผิดในโลกดิจิทัล’ ทั้งนี้ทีมวิจัยพบว่า 45% ของบัญชีทวิตเตอร์ที่พูดเรื่องการเมืองในรัสเซียเป็นทวิตเตอร์ปลอม หรือไม่ก็ ‘bot’ ที่ควบคุมโดยภาครัฐ หรือองค์กรที่สนับสนุนรัฐ ในจีน รัฐบาลจะควบคุมข้อมูลทางการเมืองอย่างเข้มงวดในประเด็นที่อ่อนไหวมากๆ ไม่กี่ประเด็นเท่านั้น แต่กับประเด็นส่วนใหญ่ รัฐบาลจะมีกองทัพนักโพสตีคอยเบี่ยงเบนความสนใจในโลกออนไลน์ เมื่อรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ (หากสนใจกลยุทธ์ในการบริหารโลกออนไลน์ของรัฐบาลจีน โปรดอ่านบทความของ อาร์ม ตั้งนิรันดร)

ข่าวร้ายอีกประการหนึ่งของประชาธิปไตยคือ ในทุกประเทศที่มีการทำวิจัยภาคประชาสังคมล้วนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี และได้พยายามอย่างยิ่งที่จะจัดการกับเนื้อหาทางการเมืองคุณภาพต่ำและเป็นเท็จ แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

น่าเสียดายที่โครงการวิจัยนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงประเทศไทย แต่คุณผู้อ่านลองเดาดูไหมครับว่า ด้วยนิสัยแบบรัฐไทย รัฐบาลเราน่าจะมีท่าทีอย่างไร

ส่วนผมนั้นสารภาพตามตรงว่า ผมจะไม่แปลกใจเลย ถ้ามีการค้นพบภายหลังว่า บัญชีผีทั้งหลายที่พูดถึงตอนต้น รัฐบาลทหารมีส่วนเอี่ยวด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save