fbpx
พลเรือนควบคุมทหาร : หนทางสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ

พลเรือนควบคุมทหาร : หนทางสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง

“It is not reasonable for an armed man to obey an unarmed one.

นิคโคโล แมคเคียเวลลี

 

ในวรรณกรรมเรื่อง The Prince แมคเคียเวลลีกล่าวไว้ว่า มันช่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ที่คนถืออาวุธจะเชื่อฟังคนไร้อาวุธ อย่างไรก็ตาม โลกความเป็นจริงนั้นต่างจากมุมมองของแมคเคียเวลลี – ไม่ใช่ทุกประเทศที่กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน

รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร (civil-military relation) ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน (civilian control) ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง ทหารกลับมีบทบาทสูง ประเทศเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ในบางประเทศ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่อง จนกระทั่งทหารกลายเป็นฉากหลังของการเมืองในที่สุด

 

“หากกองทัพมีอำนาจทางการเมืองเหนือรัฐบาลพลเรือน … เป้าหมายของการบริหารประเทศจะกลายเป็นความมั่นคงของ ‘กองทัพ’ แทนที่ความมั่นคงของ ‘ประชาชน’ “

 

การควบคุมทหารโดยพลเรือน

 

การควบคุมทหารโดยพลเรือน คือการที่รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ในขณะที่กองทัพมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้รับจากรัฐบาลพลเรือน ที่มีฐานความชอบธรรมมาจากประชาชน และรับผิดรับชอบ (accountable) ต่อประชาชน

การควบคุมทหารโดยพลเรือนเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองโดยกองทัพ หากอำนาจการตัดสินใจด้านความมั่นคงเป็นของรัฐบาลพลเรือน การดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงก็จะต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนเป็นตัวแทนทางการเมืองของประชาชน

ในทางตรงกันข้าม หากกองทัพ ซึ่งให้คุณค่ากับการรักษาความมั่นคงของประเทศในแบบทหาร มีอำนาจทางการเมืองเหนือรัฐบาลพลเรือน การดำเนินนโยบายต่างๆ ก็จะเป็นไปเพื่อให้เกิดความมั่นคงตามนิยามกองทัพเป็นหลัก เพราะไม่มีกลไกที่จะทำให้ทหารเกิดความรับผิดรับชอบต่อประชาชน ต่างจากในกรณีของรัฐบาลพลเรือน อีกนัยหนึ่งก็คือ เป้าหมายของการบริหารประเทศจะกลายเป็นความมั่นคงของ ‘กองทัพ’ แทนที่ความมั่นคงของ ‘ประชาชน’

หากเราต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ปราศจากการแทรกแซงโดยกองทัพ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน สองคำตอบสำคัญที่ถกเถียงกันในทางวิชาการ คือ ‘ความเป็นทหารอาชีพ’ และ ‘แรงจูงใจของกองทัพ’

 

“เราไม่อาจสรุปได้ว่า ความอ่อนแอของสถาบันการเมืองพลเรือนโดยเปรียบเทียบนั้นเป็น ‘เหตุ’ ของการแทรกแซงทางการเมือง เพราะสถาบันทางการเมืองของพลเรือนที่อ่อนแอนั้นอาจเป็น ‘ผล’ มาจากการที่ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง และไม่เปิดโอกาสให้การเมืองพลเรือนพัฒนา”

 

คำตอบแรก: ความเป็นทหารอาชีพ

 

งานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารที่มีอิทธิพลที่สุดชิ้นหนึ่ง คืองานของแซมมวล พี. ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของแนวคิดคลื่นลูกที่ 3 ของประชาธิปไตย

ฮันติงตันเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นทหารอาชีพไว้ในหนังสือ The Solider and the State ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ว่า การควบคุมกองทัพโดยพลเรือนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทหารมีความเป็นทหารอาชีพ เพราะความเป็นทหารอาชีพจะทำให้ทหารมีความรับผิดชอบต่อสังคม และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความเห็นชอบจากตัวแทนของสังคม ซึ่งก็คือรัฐบาลพลเรือนเท่านั้น

นอกจากนี้ ความเป็นทหารอาชีพจะทำให้กองทัพไม่แทรกแซงการเมือง เพราะความหลากหลายของผลประโยชน์ทางการเมืองอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการบริหารจัดการความรุนแรง ลดทอนความเป็นหนึ่งเดียวของกองทัพ ตลอดจนทำให้ค่านิยมที่สำคัญที่สุดของกองทัพ ซึ่งได้แก่ ความจงรักภักดีและการเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ถูกแทนที่ด้วยค่านิยมอื่น

ตัวอย่างเช่น ในช่วง พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2555 ที่กองทัพอียิปต์เข้าเป็นรัฐบาลรักษาการหลังการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัก ทิศทางการบริหารประเทศของกองทัพเป็นไปอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ มีการปรับเปลี่ยน road map สำหรับการกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการแสดงอำนาจท้าทายประชาชน จนต้องกลับมาขอโทษภายหลัง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากความแตกแยกภายในกองทัพ เนื่องจากแนวคิดและผลประโยชน์ทางการเมืองมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ กองทัพอียิปต์ยังใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง โดยกลุ่มผู้เห็นต่างนี้ยังรวมไปถึงทหารอียิปต์ส่วนหนึ่งด้วย เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อกองทัพเข้าแทรกแซงการเมือง ค่านิยมการเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาของทหารได้ถูกแทนที่ด้วยค่านิยมทางการเมือง และทำให้กองทัพขาดความเป็นหนึ่งเดียวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความเป็นทหารอาชีพไม่ได้ป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพเสมอไป ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ทหารก็ยังคงแทรกแซงการเมืองแม้ว่าจะมีความเป็นทหารอาชีพก็ตาม

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้นักรัฐศาสตร์อีกคนหนึ่งคือ แซมมวล อี. ไฟเนอร์ (Samuel E. Finer) เสนอแนวคิดที่แทบจะตรงกันข้ามกับฮันติงตันในหนังสือเรื่อง The Man on Horseback (ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2505) ว่า ความเป็นทหารอาชีพต่างหากที่เอื้อให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา เพราะสถาบันทางการเมืองของพลเรือนเพิ่งจะเริ่มก่อร่างสร้างตัว กองทัพที่เกิดขึ้นมานานกว่าจึงเป็นสถาบันที่เข้มแข็งกว่า ความเข้มแข็งโดยเปรียบเทียบดังกล่าวทำให้ทหารมีสำนึกในการเป็นผู้รับใช้ ‘รัฐ’ มากกว่าเป็นผู้รับใช้ ‘รัฐบาล’ เช่นกรณีของกองทัพตุรกี ที่มองว่าตัวเองเป็นผู้คุ้มครองรัฐนับตั้งแต่การสถาปนารัฐตุรกีสมัยใหม่

แนวคิดของทั้งฮันติงตันและไฟเนอร์แสดงให้เห็นว่า ความเป็นทหารอาชีพอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน

แม้เราจะเห็นการแทรกแซงทางการเมืองของทหารได้บ่อยกว่าในประเทศที่กองทัพเข้มแข็งแต่สถาบันทางการเมืองของพลเรือนอ่อนแอ แต่เราก็ไม่อาจสรุปได้ว่า ความอ่อนแอของสถาบันการเมืองพลเรือนโดยเปรียบเทียบนั้นเป็น ‘เหตุ’ ของการแทรกแซงทางการเมือง เพราะสถาบันทางการเมืองของพลเรือนที่อ่อนแอนั้นอาจเป็น ‘ผล’ มาจากการที่ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง และไม่เปิดโอกาสให้การเมืองพลเรือนพัฒนา

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือประเทศไทยเอง ที่ทหารเข้ามามีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนบ่อยครั้งและต่อเนื่องตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง พ.ศ. 2490  สถาบันการเมืองของพลเรือนที่ยังไม่พัฒนาในไทยจึงน่าจะเป็น ‘ผล’ มากกว่า ‘เหตุ’ ของการแทรกแซงทางการเมืองโดยกองทัพ

 

“ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพก็คือกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ที่เป็นตัวแสดงทางการเมือง”

 

คำตอบที่สอง: แรงจูงใจของกองทัพ

 

เพื่อตอบคำถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ นอกจากความเป็นทหารอาชีพ ปัจจัยที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอคือ ‘แรงจูงใจ’ ของกองทัพในการแทรกแซงการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะหลัง

แรงจูงใจในการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพที่พบบ่อยคือ (1) ภัยคุกคามจากภายนอก ซึ่งมักเกิดจากภาวะสงคราม และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (2) ปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ จากความแตกต่างด้านศาสนา ภาษา ชนชั้น เชื้อชาติ อุดมการณ์ ตลอดจนการแบ่งแยกดินแดน และ (3) ความไร้เสถียรภาพของการเมืองพลเรือน ทั้งปัญหาด้านความชอบธรรม ความไร้ประสิทธิภาพ คอร์รัปชั่น นโยบายของรัฐบาลพลเรือน และการแทรกแซงกิจการทหาร

การอ้างปัจจัยเหล่านี้เพื่อเป็นเหตุผลในการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า ทหารเป็นผู้คุ้มครองรัฐที่แยกขาดจากการเมือง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพก็คือกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ที่เป็นตัวแสดงทางการเมือง เพราะบทบาทและอิทธิพลของกองทัพในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคง ทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในเวทีจัดสรรพื้นที่ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

หากเราศึกษาผลประโยชน์ของกองทัพ ทั้งในด้านโครงสร้างหน่วยงาน งบประมาณ และความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ทั้งก่อนและหลังการแทรกแซงทางการเมืองแต่ละครั้ง ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้กองทัพเข้าแทรกแซงการเมือง คือการเสียผลประโยชน์จากการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเรือน

ตัวอย่างเช่น ในตุรกี อำนาจของกองทัพที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ทำให้เกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2503 และนำไปสู่การจัดตั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council: NSC) เพื่อเป็นเครื่องมือให้กองทัพตุรกีมีอำนาจในการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ เหนือรัฐบาลพลเรือน

สำหรับประเทศไทย งบประมาณของกองทัพที่ถูกปรับลดลงในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยหลังการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ก็กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน

ความเป็นทหารอาชีพไม่ได้แปลว่าทหารไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะในความเป็นจริงแล้ว กองทัพเกือบทุกประเทศมีอิทธิพลต่อการออกนโยบายด้านความมั่นคง ทหารจึงเป็นตัวแสดงทางการเมืองเสมอ ดังนั้น การปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารเพื่อทำให้เกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน นอกจากจะต้องเพิ่มความเป็นทหารอาชีพให้ทหารหันมาให้ความสำคัญกับหน้าที่ที่พึงทำของตนในด้านการรักษาความมั่นคงแล้ว ยังต้องออกแบบโครงสร้างผลประโยชน์ของกองทัพให้เหมาะสมด้วย

 

“ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลซูฮาร์โต ทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากลุกฮือเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ”

 

การปฏิรูปเพื่อให้เกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน : กรณีอินโดนีเซีย

 

หนึ่งในประเทศที่พยายามเปลี่ยนแปลงไปสู่การควบคุมกองทัพโดยพลเรือนคือ อินโดนีเซีย

ก่อนหน้านี้ ทหารอินโดนีเซียในยุคของประธานาธิบดีซูฮาร์โตปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักการ “Dwifungsi” (Dual Function) หรือ“บทบาทสองด้าน” ที่ระบุว่า กองทัพอินโดนีเซียต้องรักษาความมั่นคงของชาติจากภัยคุกคามภายนอก และต้องดูแลรักษาระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หลักการดังกล่าวให้อำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่กองทัพอินโดนีเซียอย่างมาก

ในทางการเมืองนั้น ทหารจำนวนมากรับตำแหน่งข้าราชการพลเรือน เป็นคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจปกครองท้องถิ่นในทุกระดับจากโครงสร้างคำสั่งการตามพื้นที่ (territorial command structure) ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น ทหารเข้าควบคุมกิจการที่เป็นของรัฐ มีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และในกิจการเอกชนทุกขนาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ความไม่พอใจของประชาชนต่อซูฮาร์โตก็เพิ่มถึงขีดสุด ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจประกอบกับการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลซูฮาร์โต ทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากลุกฮือเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการใน พ.ศ. 2541

สถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากความต้องการประชาธิปไตย ประกอบกับความรู้สึกต่อต้านของสังคมต่อทหาร ทำให้กองทัพอินโดนีเซียและรัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปเพื่อให้ทหารออกจากการเมือง และกลับเข้าสู่กรมกอง

มาตรการปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซีย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ

(1) มาตรการเพื่อเพิ่มความเป็นทหารอาชีพ เช่น

  • เพิ่มทักษะด้านเทคนิคให้ทหาร
  • ปรับปรุงระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย
  • ยกเลิกบทเรียนด้านสังคมและการเมือง และเพิ่มเติมบทเรียนด้านกฎหมายมนุษยธรรมในหลักสูตรการเรียนการสอนของทหาร
  • เปลี่ยนแปลงบทบาทของกองทัพ โดยยกเลิกหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมาย การฝึกทหารกองหนุน และการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม

(2) มาตรการลดอำนาจของทหารในทางการเมือง เช่น

  • ถอดถอนตัวแทนของทหารออกจากองค์กรนิติบัญญัติ
  • โยกย้ายศาลทหาร จากเดิมที่เคยอยู่ภายใต้กองทัพ ไปอยู่ภายใต้ศาลสูงสุด
  • ออกกฎหมายให้การดำเนินนโยบายกลาโหมอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐสภา
  • ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ทหารมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และให้กองทัพปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน หลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ
  • จัดตั้ง “defense policy community” เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ ได้เข้าร่วมกับผู้ออกนโยบาย กองทัพ และสมาชิกรัฐสภา ในการอภิปรายและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงและการป้องกันประเทศ

 

การปฏิรูปดังกล่าวทำให้อำนาจของสถาบันทหารในโครงสร้างการเมืองที่เป็นทางการ (formal politics) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนอาจกล่าวได้ว่า กองทัพอินโดนีเซียไม่มีอำนาจยับยั้งการตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลพลเรือนแล้ว อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปในอินโดนีเซียยังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ที่ทำให้กองทัพยังคงมีอำนาจและอิทธิพลอยู่พอสมควร ได้แก่

หนึ่ง การคัดค้านจากภายในกองทัพอินโดนีเซีย  ทหารส่วนหนึ่งยังต่อต้านมาตรการลดผลประโยชน์ของกองทัพในโครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นทางการ (informal politics) อย่างรุนแรง ทั้งมาตรการปฏิรูปโครงสร้างคำสั่งการตามพื้นที่ และมาตรการเข้าครอบครองเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็กของทหารโดยรัฐ อย่างไรก็ตาม สัญญาณที่ดีสำหรับการปฏิรูปก็คือ ผู้นำกองทัพอินโดนีเซียเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปบทบาทของกองทัพ และแสดงความเข้าใจว่ากระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สอง งบประมาณทหารมีจำกัด ภายใต้งบประมาณที่จำกัด การเพิ่มความเป็นวิชาชีพและการพัฒนาศักยภาพทหารทำได้ยาก นอกจากนี้ การที่กองทัพไม่ได้รับการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม ยังทำให้ทหารมีแรงจูงใจที่จะเข้ามามีบทบาทในการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลให้กองทัพใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

สาม ทัศนคติของพลเรือนต่อทหาร  นักการเมืองยังคงพึ่งพิงทหารในฐานะผู้สนับสนุนทางการเมืองอยู่ การปฏิรูปจึงยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร ทั้งที่รัฐบาลสามารถดำเนินการเพื่อให้การปฏิรูปก้าวหน้ามากขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหมอย่างชัดเจน และการจัดตั้งคณะมนตรีความมั่นคงโดยมีพลเรือนเป็นผู้นำ

 

“การปฏิรูปกองทัพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

ประสบการณ์ของอินโดนีเซียแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารไปสู่การควบคุมกองทัพโดยพลเรือน อันจะนำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ และปราศจากการแทรกแซงโดยกองทัพนั้น เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลา และจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการปฏิรูปเพื่อเพิ่มความเป็นทหารอาชีพ และออกแบบโครงสร้างผลประโยชน์และอำนาจของกองทัพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งพลเรือนและทหารเอง

หากประเทศไทยต้องการเดินกลับเข้าสู่เส้นทางพัฒนาประชาธิปไตย การปฏิรูปภายในกองทัพและโครงสร้างผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้.

 

อ่านเพิ่มเติม

  1. สุรชาติ บำรุงสุข. 2558. เสนาธิปไตย : รัฐประหารกับการเมืองไทย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน.
  2. Droz-Vincent, P. 2014. “Prospects for “Democratic Control of the Armed Forces”?: Comparative Insights and Lessons for the Arab World in Transition,” Armed Forces & Society, 40(4), 696-723.
  3. Haseman, J. 2006. “Indonesian Military Reform: More Than a Human Rights Issue,” Southeast Asian Affairs, 111-125.
  4. Stepan, A. 1973. “The New Professionalism of Internal Warfare and Military Role Expansion,” Authoritarian Brazil: Origins, Policies, and Future, edited by Alfred Stepan. New Haven: Yale University Press, 47-65.

 

อ้างอิง

  1. Huntington, P. 1957. The Soldier and the State: The Theory and Politics of Civil-Military Relations. London: Harvard University Press.
  2. Finer, S. 1962. The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics. London: Transaction Publishers.
  3. Mietzner, M. 2006. Military Politics, Islam, and the State in Indonesia: From Turbulent Transition to Democratic Consolidation. Washington D.C.: East-West Center Washington.
  4. Sebastian, L. & Gindarsah, L. 2013. “Assessing Military Reform in Indonesia,” Defense & Security Analysis, 29(4), 293-307.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save