fbpx
'จ๋ามตอง' มอง 'ซู จี' : เกมการเมืองพม่าและรัฐฉานภายใต้รัฐบาลพรรค NLD

‘จ๋ามตอง’ มอง ‘ซู จี’ : เกมการเมืองพม่าและรัฐฉานภายใต้รัฐบาลพรรค NLD

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

เมื่อเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2002 กลุ่มสตรีไทใหญ่ หรือ Shan Women’s Action Network (SWAN) ได้ออกรายงาน ‘License to Rape’ เพื่อเผยแพร่สถานการณ์การข่มขืนผู้หญิงไทใหญ่จำนวน 625 คน โดยทหารพม่าในช่วงปี ค.ศ. 1996-2001 รายงานฉบับนี้โด่งดังเผยแพร่ไปทั่วโลก และมีการแปลเป็นไทยในชื่อ ‘ใบอนุญาตข่มขืน’

จ๋ามตอง คือ หนึ่งในตัวแทนสตรีไทใหญ่ที่ออกมาร่วมเผยแพร่รายงานฉบับนี้ และทำงานติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นับตั้งแต่พรรค NLD ของนางออง ซาน ซู จี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปและขึ้นมาบริหารประเทศในช่วงสองปีที่ผ่านมา กระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนางออง ซาน ซู จี ด้านสิทธิมนุษยชนในสายตานานาชาติถูกมองไปในทางลบ จนทำให้ภาพลักษณ์ของเธอเปลี่ยนจาก ‘นางฟ้า’ เป็น ‘ซาตาน’ ในชั่วเวลาไม่นาน

จ๋ามตอง มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ในฐานะตัวแทนผู้หญิงไทใหญ่ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมายาวนานกว่า 15 ปี พบกับคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

จ๋ามตอง | ภาพจากสาละวินโพสต์
จ๋ามตอง | ภาพจากสาละวินโพสต์

สถานการณ์ในพื้นที่รัฐฉานหลังการเลือกตั้งช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่รัฐฉานทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังมีการสู้รบกันอยู่ ทั้งระหว่างกลุ่มที่เซ็นสัญญาหยุดยิงและไม่หยุดยิง และมีการใช้อาวุธที่หนักกว่าเดิมจากทางฝ่ายกองทัพพม่า ไม่ใช่แค่ปืนใหญ่เหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นการโจมตีทางกองทัพอากาศ วางระเบิด การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเหมือนเดิม การยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านยังเหมือนเดิม

รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี มีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

รัฐบาล NLD ยังคงใช้แผนสันติภาพโรดแมพเดิมของรัฐบาล เตง เส่ง ที่ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 2011 เรื่องสัญญาปางโหลง ครั้งที่ 21 และไม่ได้ออกมาแสดงความกังวลใจเรื่องเหล่านี้แม้ว่าจะมีการสู้รบเกิดขึ้นทุกภาคในรัฐฉาน และการละเมิดสิทธิยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม ทั้งที่สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างสันติภาพจะต้องเริ่มจากยุติการโจมตีของทหารพม่า เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในขบวนการสร้างสันติภาพในพม่า ตอนนี้หลายคนก็เป็นห่วงว่าทำไมไม่มีการพูดถึงเลย

ที่ผ่านมามีชาวบ้านถูกจับเพราะมีการติดต่อกับองค์กรที่เซ็นสัญญาหยุดยิงแล้ว อาทิ มีคนถูกจับที่เมืองหัวปงแล้วถูกตั้งข้อหา 15 ข้อหา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ปล่อย หรืออย่างในเมืองสีป้อเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก็ถูกทหารพม่าจับอีกสี่คน และถูกส่งไปขังคุกที่เมืองล่าเสี้ยวทางภาคเหนือเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา (อ้างอิงจาก www.shanhumanrights.org)

พรรคการเมืองไทใหญ่สามารถทำอะไรได้บ้างในสภา

พรรคการเมืองไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานในสภารัฐฉานยังเป็นส่วนน้อย ตัวแทนในสภาเนปยีดอก็มีแค่ไม่กี่เสียง ส่วนมากยังเป็นพรรคการเมืองทหาร หรือ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) และพรรค NLD ที่บอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญปี 2018 ตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร

ฟังเหมือนพรรค NLD ไม่มีอำนาจในการควบคุมกองทัพใช่ไหม

ใช่ค่ะ พรรค NLD ไม่มีอำนาจในการควบคุมกองทัพที่ไปละเมิดสิทธิชาวบ้าน ทำให้ยังมีการสู้รบหรือการโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เหมือนเดิม ทั้งที่จริงๆ แล้วในกระบวนการสร้างสันติภาพ พรรค NLD มีบทบาท ในเรื่องการพิจารณาว่าจะให้กลุ่มไหนมาประชุมเพื่อให้การเจรจาสันติภาพดำเนินไปได้ ทั้งคณะกรรมการต่างๆ และตัวแทนกองทัพ แต่ก็ยังไม่ได้คืบหน้าไปไหนเพราะทหารพม่ายังคงโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนเดิม

ทหารไทใหญ่และค่ายผู้อพยพบนดอยไตแลง ชายแดนไทย-พม่า | ภาพจากสาละวินโพสต์
ทหารไทใหญ่และค่ายผู้อพยพบนดอยไตแลง ชายแดนไทย-พม่า | ภาพจากสาละวินโพสต์

ซู จี กลัวอำนาจของกองทัพมากไปหรือเปล่า

จริงๆ แล้ว เขาสามารถออกมาพูดได้ ถ้าเขาอยากจะทำ ส่วนของกองทัพคนที่มีอำนาจสูงสุดคือ มิน อ่อง หล่าย ในกระบวนการเจรจาก็มีตัวแทนของกองทัพพม่าอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่เป็น JMC (Joint Monitoring Committion) ทหารพม่าก็รวมอยู่ตรงนั้น ในทางปฏิบัติทหารพม่าก็ยังมีอำนาจเหมือนเดิม ทั้งในสภาและนอกสภา

เวลามีการสู้รบ จับกุม ละเมิดสิทธิ ทางพรรค NLD ก็จะออกมาบอกว่า ต้องผ่านกลไกที่ตั้งคณะกรรมการร่วมที่เฝ้ามองเรื่องสันติภาพก่อน ทำให้การดำเนินเรื่องยาวนานเกินไป หลายเรื่องจึงยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเขาบอกว่ามันมีกลไกนี้อยู่แล้ว เวลามีชาวบ้านถูกทหารพม่าจับตัว แล้วไม่ยอมปล่อยสักที พอทำเรื่องร้องเรียนไป ถ้าทหารพม่าปฏิเสธเรื่องก็จะค้างอยู่อย่างนั้น ประชาชนก็ถูกจับขังไว้นานมากเพราะทหารพม่าไม่ปล่อยชาวบ้าน กลไกการสร้างสันติภาพในปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาชาวบ้านหรือประชาชนได้ โดยเฉพาะกลไกที่ละเมิดสิทธิของชาวบ้านที่ไปพูดคุยหรือติดต่อกับกลุ่มทำสัญญาหยุดยิง

ดูเหมือนกองทัพพม่ายังมีอำนาจอยู่มากเหมือนเดิมใช่ไหม

ใช่ค่ะ ขบวนการสันติภาพต้องผ่านการเห็นชอบโดยทหารพม่า แม้แต่การกำหนดวันเวลาประชุม และดูเหมือนกองทัพพม่าจะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติมากขึ้น แม้จะยังมีปัญหาอยู่ แต่หลายประเทศก็ยังอยากสนับสนุนไปเรื่อยๆ

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ยังมีการสู้รบกับทุกกลุ่มในทั่วทุกภาค ทำให้ในพื้นที่ภาคเหนือมีผู้หนีภัยการสู้รบ หรือผู้พลัดถิ่นภายในประมาณ 600-800 คน บางคนหลบหนีออกมาจากบ้าน พอการสู้รบหยุดก็ต้องกลับไปบ้านเพราะเป็นห่วงเรือกสวนไร่นา ไม่ได้อยากไปอยู่ไกลๆ บางพื้นที่ก็มีผู้พลัดถิ่นภายในมากถึง 3,000 คน บางคนต้องอพยพหนีหลายครั้ง กลุ่ม Shan Human Right Foundation ยังคงเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการถูกซ้อม ทรมาน จับชาวบ้าน ทุบตี

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ นานาชาติที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเข้าใจว่าไม่มีการสู้รบแล้ว เพราะเขาเห็นว่ามีการเจรจาทางการเมือง ตอนนี้ค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนรัฐฉานมีทั้งหมด 5 ค่าย รวมกับค่ายกุ่งจ่อที่อยู่ในเขตอำเภอเวียงแหง ประเทศไทย รวมเป็น 6 ค่าย ถูกตัดความช่วยเหลืออย่างสิ้นเชิง เพราะเขาคิดว่าคนเหล่านี้ไม่ต้องการความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งเขาเข้าใจผิด การสู้รบยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม คนยังไม่กล้ากลับบ้านเหมือนเดิม และยังมีคนที่หนีมาเพิ่มขึ้นอีก

สถานการณ์ในรัฐฉานแตกต่างจากรัฐอาระกันที่มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาอย่างไร

มันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะกองทัพที่ส่งไปรัฐอาระกันก็เป็นกองพันเดียวกับที่ส่งไปในรัฐฉานกับรัฐคะฉิ่น มันไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางศาสนา เพราะคนไทใหญ่ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธทั้งหมด ชาวไทใหญ่ ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ช่วงปี 1996-1998 ต้องมีผู้อพยพแปดแสนเก้าแสนคน ทุกวันนี้ คนเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถกลับบ้านได้ แล้วนับอะไรกับสถานการณ์ตอนนี้

จริงๆ แล้วมันเป็นระบบเดียวกับที่ใช้ควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์ ปัญหานี้ดำเนินมา 21 ปีแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย และก็มีเรื่องโรฮิงยาเพิ่มมากขึ้น มันเป็นเรื่องเดียวกันที่ใช้ยุทธศาสตร์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาจริงๆ ก็ต้องแก้ไขปัญหาทางการเมือง ถ้ายังไม่มีสันติภาพจริงๆ เขาก็ยังไม่อยากกลับบ้าน

สถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์คือสถานการณ์เดียวกันทั้งประเทศ ไม่ได้ขึ้นว่าเป็นพุทธ คริสต์ มุสลิม มันคือยุทธศาสตร์เดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา แต่เรื่องโรฮิงยามีศาสนาเข้ามา แล้วก็มีภาพถ่ายเผยแพร่สู่ประชาคมโลก

ขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานเมื่อยี่สิบปีก่อน ช่วงปี 1996-1998 หมู่บ้านพันสี่ร้อยกว่าหมู่บ้าน เรามีภาพถ่ายยืนยัน แต่ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียเหมือนยุคนี้ คนก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆ ปัญหานี้เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เกิดกับชาวโรฮิงยากลุ่มเดียว

แผนที่แสดงการสู้รบยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่หยุดยิงระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพไทใหญ่ | ภาพจาก Shan Human Rights Foundation
แผนที่แสดงการสู้รบยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่หยุดยิงระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพไทใหญ่ | ภาพจาก Shan Human Rights Foundation

ถ้าอย่างนั้นทางออกของการแก้ปัญหาในพม่าคือการกลับไปยอมรับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์หรือเปล่า

ใช่ค่ะ หลักๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องการ คือ อยากให้มีการเจรจาทางการเมืองจริงๆ อยากให้มีความเสมอภาค มีการแก้ไขทางการเมืองที่สามารถคุยกัน แล้วให้เป็นสหพันธรัฐ ถ้าไม่มีการเจรจากันก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น เพราะตอนนี้กว่า 70 ปีแล้วก็ยังเป็นเหมือนเดิม

การที่ ซู จี ลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องการประชุมปางโหลงครั้งที่ 21 ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นไหม

ถ้าหากไม่มีการหยุดการสู้รบจริงๆ ปัญหาในพื้นที่ก็ยังเหมือนเดิม ก็จะเป็นแค่เรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจ และเชื่อว่ามีขบวนการนี้อยู่ด้วยจริงๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีการกดดันจากทางฝ่ายของทหารพม่าที่ละเมิดการลงนามสัญญาหยุดยิง เขาก็ยังทำละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปโดยที่ยังไม่ได้แก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ เหมือนกับคนที่มีหน้าที่ประชุมก็ประชุมไป คนที่มีหน้าที่สู้รบก็รบกันไป ความจริงน่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้ก่อน เพื่อให้การสู้รบยุติจริงๆ แล้วถึงจะมีการเจรจาทางการเมืองได้ ขั้นตอนแรกคือการสู้รบต้องยุติก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจ

ตอนนี้ปัญหาจะซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า เพราะเหมือนประชาคมโลกมองว่าไม่มีสงครามการสู้รบแล้ว ปัจจุบันกลุ่มคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต้องทำงานกันยังไง

ตอนนี้ลำบากพอสมควร เพราะนานาชาติยังคงเงียบกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน การโจมตีของกองทหารพม่าในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน

กองทัพพม่าคิดว่าเขาทำอะไรก็ได้ มันทำให้ยากมากสำหรับภาคประชาชนเพราะต้องพยายามให้มีการรณรงค์มากขึ้น เก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อออกมาสู่สาธารณะ การทำให้รัฐบาลสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น มีการผลักดันนโยบายช่วยเหลือ

สถานการณ์สื่อมวลชนในพม่ามีเสรีภาพมากขึ้นไหม

ทุกวันนี้สื่อหลายสำนักถูกจับกุมและฟ้องร้องทางกฎหมายจนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนเผยแพร่ มีบางคนบอกว่าสมัย เตง เส่ง นักข่าวยังไม่ถูกจับเยอะขนาดนี้ คนภายนอกอาจมองพม่ามีเสรีภาพมากขึ้น แต่สถานการณ์ภายในยังไม่เปลี่ยน

มีหลายอย่างที่ดูผิวเผินจากภายนอก เหมือนว่าจะดี เช่น การเดินทางง่ายขึ้น มีการเปิดพื้นที่ให้สื่อมากขึ้น แต่สื่อในพม่าก็ยังถูกคุกคาม หลายสื่อก็ยังต้องเซ็นเซอร์ตนเอง พูดมากก็ไม่ได้ บรรณาธิการหลายคนถูกฟ้อง หรือนักข่าวที่ไปทำข่าวในพื้นที่การสู้รบถูกจับ เช่น นักข่าวของอิรวดี นักข่าวของ DVB ถูกทหารพม่าจับ ถ้าเป็นการรายงานเรื่องทางสังคมทั่วไป ก็ทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกองทัพหรือรัฐบาล การสู้รบ พื้นที่สู้รบยังคงไม่มีเสรีภาพ

เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นางยาง ฮี ลี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติซึ่งมีกำหนดเยือนเมียนมาร์ในต้นปีหน้าเพื่อตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชน แถลงข่าวว่าถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพม่าด้วยเหมือนกัน มองเรื่องนี้อย่างไร

ทุกวันนี้คนมองว่าพม่ามีเสรีภาพมากขึ้น แต่ความจริงคือ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เริ่มมีการระงับวีซ่ากลุ่มที่ต้องการเข้าไปดูเรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่า ทั้งๆ ที่ช่วงห้าปีแรกของรัฐบาล เตง เส่ง ยังไม่เป็นแบบนี้ มีคนตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วทหารพม่าต้องการสร้างภาพลักษณ์แบบนี้ให้นางซู จี เพราะจะได้ลดความน่าเชื่อถือจากนานาชาติและคนในประเทศ ทำให้ดูเหมือนรัฐบาล NLD ปกป้องกองทัพที่ไปทำร้ายประชาชน

ตกลงทุกวันนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่

เมื่อก่อนพรรค NLD ยังไม่ได้ออกมาพูดอะไรมากนัก แต่ตอนนี้พอออกมาพูดก็เหมือนปกป้องกองทัพพม่าไปเลย แล้วสุดท้ายคนที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดก็คือกองทัพพม่า เพราะถ้าคนวิจารณ์พรรค NLD ในทางลบเยอะๆ มันก็ส่งผลดีกับกองทัพพม่า หลายคนรู้สึกว่าพรรค NLD น่าจะมีบทบาทในการปกป้องประชาชนมากกว่านี้ เพราะเป็นรัฐบาลที่ถูกเลือกตั้งมา แต่เขากลับไม่ทำในสิ่งที่เป็นผลดีกับประชาชน ทั้งๆ ที่เขามีทางเลือกและสามารถทำในสิ่งที่แตกต่างจากนี้ก็ได้

รัฐบาลพรรค NLD ไม่กล้าแข็งกร้าวกับกองทัพเพราะกลัวเป็นอันตรายกับตนเองหรือเปล่า

จริงๆ เรื่องนี้มองได้หลายมุม นางซู จี อาจบอกว่า เขาไม่ได้ปกป้องกองทัพพม่าแต่ทำเพื่อปกป้องตัวเองก็ได้ ทุกวันนี้พรรค NLD ก็อยู่ในจุดที่เหมือนนักการเมืองทั่วไป ต้องดูว่าจะไปทางไหนถึงปลอดภัยที่สุดในการรักษาอำนาจของตนเองไว้ หรือเขาอาจคิดว่า เขาพยายามดีที่สุดแล้วทำได้แค่นี้จริงๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่ความผิดที่เขาไม่ได้ทำมากไปกว่านี้

แต่ในฐานะที่เป็นรัฐบาล แน่นอนว่าคนต้องคาดหวังมากกว่านั้นอยู่แล้ว เพราะเขาอยู่ในจุดที่ต้องทำเพื่อประชาชน ซึ่งเขาสามารถทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ถ้าเขาอยากทำ

คาดหวังอะไรกับนางซู จี บ้าง

จริงๆ แล้วนางซู จี ไม่ได้แสดงจุดยืนในความเงียบ แต่เขาออกมาแสดงจุดยืนปกป้องกองทัพพม่ามากกว่าด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่เขาควรปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชน เพราะนี่คือหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำเพื่อประชาชน มากกว่าปกป้องกองทัพ

รัฐบาลพรรค NLD ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้นไหม

เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตยังไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุด ตรงกันข้าม หลังจากได้รับเลือกตั้งเพียง 100 วัน รัฐบาลประกาศว่าจะสร้างเขื่อนสาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบ และเป็นพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่อย่างมหาศาล

สิ่งที่คืบหน้าและได้รับอนุมัติรวดเร็วที่สุดคือด้านการลงทุน อาทิ โครงการสัมปทานเหมืองแร่ โครงการสร้างเขื่อน ซึ่งโครงการเหล่านี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น เพราะมีการสู้รบเพื่อแย่งชิงทรัพยากรเหล่านี้มากขึ้น บางเขตผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งกั้นแม่น้ำ เช่น น้ำตู แม่น้ำสาขาของอิรวดีในรัฐฉาน สร้างโดยบริษัทพลังงานจากนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มาให้ทุนและสนับสนุนขบวนการสันติภาพด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน คนที่เดือดร้อนมากที่สุดก็คือประชาชนในพื้นที่นั่นเอง

การเปิดรับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างไร

หลายโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบอยู่ ทั้งในพื้นที่ที่มีกลุ่มลงนามหยุดยิงและไม่หยุดยิง ถ้าเขาอยากมีสันติภาพจริงๆ เขาก็ต้องให้หยุดสู้รบในพื้นที่ก่อน เพราะโครงการเหล่านี้จะสร้างความขัดแย้งมากขึ้น แต่เขาก็ไม่อยากรอ ตอนนี้มันเดินหน้าเร็วมาก และมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง แล้วสภาเนปยีดอก็เปิดไฟเขียวให้ ซึ่งสภารัฐฉาน (Shan State Congress-SSC) ไม่ได้มีอำนาจในเรื่องเหล่านี้

เราต้องพูดถึงสันติภาพก่อนพูดถึงการพัฒนา แต่ตอนนี้โครงการพัฒนามาก่อนที่จะมีสันติภาพ ชาวบ้านยังไม่มีสิทธิปกป้องตนเองเลย โครงการเหล่านี้ได้เข้าไปสร้างปัญหาในชุมชนเพิ่มมากขึ้น แล้วในทางกฎหมาย เวลาชาวบ้านยื่นเรื่องร้องเรียนให้ ส.ส. ของตนเอง พอเรื่องไปถึงสภาเนปยีดอก็เงียบไป เพราะสุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญ 2008 ก็อนุญาตให้ขายทรัพยากรในรัฐฉานหรือรัฐอื่นๆ ได้

ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน คิดว่าทางออกควรเป็นอย่างไร

คิดว่าต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชน คนในพื้นที่หรือคนในชุมชนเยอะๆ ขณะเดียวกันก็ต้องมีแรงกดดันจากข้างนอกด้วยเหมือนกันที่จะผลักดันให้มีการหยุดโครงการเหล่านี้ ให้มีการเจรจาจริงๆ หรือมีการรณรงค์ มีข้อมูลที่ออกมาเผยแพร่มากขึ้น ซึ่งบางทีมันก็ลำบาก แต่คิดว่านานาชาติก็เริ่มเห็นแล้วว่าสถานการณ์แย่ลง เพราะแม้แต่ทูตสิทธิมนุษยชนก็ยังเข้าไปไม่ได้

รู้สึกว่าทำงานยากขึ้นไหม

ยากมากขึ้น เพราะความสนใจของนานาชาติตอนนี้ คือ ทุกประเทศที่เข้าไปก็จะมองเรื่องทรัพยากร การตลาด การลงทุน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างพม่าและประเทศของตนเอง เรื่องสิทธิมนุษยชนยังมีอยู่แต่น้อยมาก เราอยากทำให้คนเหล่านี้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามันยากกว่าเดิม

รายงานการข่มขืนผู้หญิงในรัฐฉานระหว่าง ค.ศ. 1996 - 2001 ที่สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั้งโลก
รายงานการข่มขืนผู้หญิงในรัฐฉานระหว่าง ค.ศ. 1996 – 2001 ที่สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั้งโลก
จ๋ามตองเข้าพบจอร์ช บุชที่ทำเนียบข่าว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2005 เพื่อรายงานสถานการณ์การข่มขืนผู้หญิงในรัฐฉาน | ภาพจากทำเนียบขาว
จ๋ามตองเข้าพบจอร์ช บุชที่ทำเนียบข่าว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2005 เพื่อรายงานสถานการณ์การข่มขืนผู้หญิงในรัฐฉาน | ภาพจากทำเนียบขาว

อยากให้สรุปจุดยืนของนางซู จี ในสายตาจ๋ามตอง

ตอนนี้นางซู จี กลายเป็นเกมการเมืองของทหารพม่าไปแล้ว จริงๆ เขาเลือกได้ว่าจะยืนตรงไหน แต่เขาเลือกจะยืนแบบนี้ สุดท้ายก็เข้าทางทหารพม่า กลายเป็นผู้นำที่มาช่วยปกป้องทหารพม่าอีกเกราะหนึ่ง

จริงๆ เขาอาจไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนี้ แต่สุดท้ายเมื่อเลือกยืนอยู่ในจุดนี้ ก็เลยตกเป็นเครื่องมือปกป้องทหารพม่าไปโดยปริยาย

ตอนนี้เขาเป็นรัฐบาล เขาสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง เลือกที่จะยืนข้างประชาชนก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะยืนตรงจุดนี้เอง เขาจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าไม่ใช่นางฟ้าเหมือนเดิมอีกต่อไป

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วคนที่ถูกเลือกตั้งมาก็ต้องทำเพื่อประชาชนใช่ไหม แต่เขาเลือกยืนแบบนักการเมืองทั่วไป

ดูเหมือนว่า เกมนี้สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์เหมือนเดิม และดูดีกว่าเดิมคือ กองทัพพม่า

ใช่ค่ะ เพราะกองทัพพม่ายังคงได้ผลประโยชน์ทั้งในสภาและนอกสภา แต่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม คือ ไม่ต้องถูกประณามจากประชาคมโลกเหมือนเมื่อก่อน แรงกดดันจากนานาชาติก็ไม่มีแล้ว ธุรกิจการค้าก็มีโอกาสมากขึ้น มีช่องทางมากขึ้น มีการซื้ออาวุธระหว่างกองทัพจากหลายประเทศมากขึ้น เครือข่ายธุรกิจก็ยังเป็นเครือญาติทหารพม่าอยู่ คนที่สบายสุดคือทหารพม่า เกมนี้ทหารพม่าคือผู้ชนะสูงสุดนั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save