fbpx
ชะโงกดูเงา Black Mirror

ชะโงกดูเงา Black Mirror

‘นรา’ เรื่อง

ผมได้ยินคำร่ำลือถึงสรรพคุณความยอดเยี่ยมของซีรีส์เรื่อง Black Mirror มานานพอสมควรแล้ว แต่เพิ่งสบโอกาสเหมาะได้ดูเมื่อเร็วๆ นี้ และก็เป็นไปตามระเบียบคือ ทันทีที่ดูตอนแรกจบลง ก็เกิดอาการติดพันจนกระทั่งต้องตามดูจนจบครบถ้วนทั้งหมด ภายในเวลาอันรวดเร็ว

Black Mirror เป็นซีรีส์ฮิตจากอังกฤษ สร้างสรรค์โดยชาร์ลี บรูคเกอร์ (ซึ่งรับเหมาหน้าที่คิดพล็อตและเขียนบทเองแทบทั้งหมด) เริ่มสร้างและเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบันได้ผ่านมาแล้ว 4 season จำนวน 18 ตอน (ไม่นับ The White Christmas ซึ่งเป็นตอนพิเศษปิดท้าย season 2 ที่ได้รับคำชมท่วมท้นล้นหลาม และเป็นตอนเดียวที่ผมยังไม่ได้ดู) ความยาวเฉลี่ยตกตอนละ 1 ชั่วโมง (และมีบางตอนยาวร่วม ๆ 80 นาที เกือบจะเท่ากับหนังที่ออกฉายตามโรง)

Black Mirror เป็นงานในแบบ anthology แต่ละตอนจบลงสมบูรณ์ในตัว ไม่ได้มีเนื้อหาต่อเนื่องกัน  เทียบเคียงง่าย ๆ ก็เหมือนหนังสือประเภทรวมเรื่องสั้น ซึ่งแยกจากกันเป็นเอกเทศ โดยมีแก่นเรื่องหรือแนวคิดบางอย่างทำหน้าที่เชื่อมโยงกัน

แนวคิดหลักๆ ใน Black Mirror เกือบทุกตอน พูดถึงความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้ และผลกระทบของมันที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมต่างๆ นานาทั้งด้านดีด้านร้ายของมนุษย์ (ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดในซีรีส์ชุดนี้ โน้มเอียงไปทางด้านลบ สมดังชื่อเรื่อง)

Black Mirror

ด้วยรูปแบบเช่นนี้ Black Mirror จึงมีข้อได้เปรียบหลายๆ ประการ แรกสุดคือ ความหลากหลาย ซีรีส์ชุดนี้บางตอนมาทางหนังตื่นเต้นระทึกขวัญ บางตอนเป็นตลกร้ายและเสียดสี บางตอนเป็นเรื่องรักซาบซึ้งโรแมนติก บางตอนเป็นแอ็คชันไล่ล่า บางตอนมีกลิ่นอายแบบหนังสยองขวัญ ฯลฯ

พูดง่ายๆ เป็นซีรีส์ที่ครอบคลุมประเภทและแนวทางของหนังเอาไว้อย่างเปิดกว้าง ส่งผลให้เกิดความน่าสนใจต่อมา นั่นคือ เมื่อดูจบตอนหนึ่งและขึ้นตอนใหม่ ผู้ชมไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเจอะเจอกับเรื่องราวแบบไหน สามารถสร้างออกมาได้เรื่อยๆ (ตราบใดที่ยังมีไอเดียฉลาดเฉียบคมไม่ตกหล่นจากมาตรฐานที่ทำเอาไว้) โดยไม่เกิดปัญหาเรื่องความซ้ำซากเหมือนดังเช่นซีรีส์ที่เป็นเรื่องยาวๆ หลายสิบตอนจบ (ซึ่งมักจะเกิดอาการแผ่วปลายหลังจากลากยาวไปหลายๆ season)

ข้อดีต่อมา กรอบกำหนดเรื่องความยาวในการเล่าที่แน่ชัด ส่งผลให้การดำเนินเรื่องจำเป็นต้องเล่าอย่างกระชับรัดกุมฉับไว (เทียบเคียงง่ายๆ ก็เหมือนการทวีตข้อความใน twitter ด้วยสำนวนโทรเลขให้ได้ใจความครบถ้วน)  Black Mirror จึงปลอดพ้นจากการยื้อและเถลเฉไฉออกนอกลู่นอกทาง เหมือนดังที่ซีรีส์จำพวกเรื่องยาวมักทำให้ผู้ชมขัดอกขัดใจอยู่เนืองๆ รวมทั้งไม่ต้องกระวนกระวายกับการจบแบบทิ้งค้างเร่งเร้าให้เกิดความกระหายใคร่รู้เหตุการณ์ตอนต่อไป ปีต่อไป โดยที่ต้องรอคอยด้วยอาการคาดเดากันอย่างเนิ่นนาน จนเมื่อเริ่ม season ใหม่ ก็ลืมเลือนรายละเอียดตอนที่เคยดูมาแล้ว ต้องมานั่งทบทวนรื้อฟื้นกันอีกยกใหญ่

แต่ข้อเสียเปรียบของการเป็นเรื่องเล่าแบบจบในตอนก็มีอยู่เหมือนกัน นั่นคือ ผู้ชมต้องมาเริ่มปรับความรู้สึกทุกครั้งที่เริ่มตอนใหม่กันอยู่ตลอดเวลา ถัดมาเป็นเรื่องของเนื้องานที่ยากจะรักษาระดับให้ดีเท่าเทียมกันในทุกๆ ตอน ผลที่ปรากฏจึงมีทั้งตอนที่เข้มข้นจนนั่งแทบไม่ติด ปนเปคละเคล้าไปกับตอนที่ไม่ค่อยจะดึงดูดมากนัก

ซีรีส์เรื่อง Black Mirror ก็หนีไม่พ้นปัญหานี้ มีทั้งตอนที่โดดเด่นน่าประทับใจมากๆ และตอนที่อาจจะย่อหย่อนไปบ้าง แต่ปัจจัยสำคัญที่ผมคิดว่าช่วยได้มากในการทำให้ผมเกิดอาการติดหนึบก็คือ แม้กระทั่งตอนที่ค่อนข้างจะดูเนือย ผมก็ยังอยากรู้ว่าจะมีการหยิบจับเทคโนโลยีอะไรมาเล่น และสะท้อนเนื้อหาในแง่มุมใด

Black Mirror

ประเมินโดยความรู้สึกส่วนตัว ความสนุกความบันเทิงของ Black Mirror อยู่ในมาตรฐานดีถึงดีมากเช่นเดียวกับซีรีส์ดังๆ ทั่วไป เป็นส่วนที่ได้รับเท่าๆ กับที่คาดหวังล่วงหน้าไว้ก่อนอยู่แล้ว สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับผมในการติดตามซีรีส์ชุดนี้ คือ ไอเดียและจินตนาการฉลาดๆ ในการผูกเรื่องที่มีลักษณะ ‘สมมติว่าถ้าเป็นเช่นนี้หรือมีสิ่งนี้’ มันจะนำไปสู่ผลลัพธ์เช่นไรได้บ้าง

ไอเดียและจินตนาการใน Black  Mirror นั้นดี น่าทึ่ง และน่าสนใจทุกตอน แต่สิ่งที่ดียิ่งกว่า คือ เนื้อหาสาระ

ผมขออนุญาตผู้อ่านไว้ตรงนี้นะครับว่า ผมเลือกพูดถึง Black Mirror โดยเว้นข้ามการเล่าเรื่องย่อ สาเหตุหนึ่งคือ จำนวนเรื่องมีเยอะเกินกว่าจะสาธยายได้หมดครบถ้วน แต่ประการต่อมาซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าก็คือ พล็อตส่วนใหญ่เน้นไปที่ความลับและการหักมุม การดูแบบไม่รู้เรื่องย่อใดๆ เลย น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ได้รับอรรถรสมากสุด

สิ่งที่ผมคิดว่าเล่าสู่กันฟังได้ โดยไม่บั่นทอนความสนุกของท่านที่ยังไม่ได้ดู ก็คือ แง่มุมด้านเนื้อหา

แม้จะมีความเป็นเรื่องแบบ Sci-Fi มีกลิ่นอายเป็นนิยายวิทยาศาสตร์เต็มตัว แต่ฉากหลังของเหตุการณ์ส่วนใหญ่ใน Black Mirror (ซึ่งไม่ได้มีการระบุช่วงเวลาที่แน่ชัด) เป็นโลกอนาคตที่ สภาพบ้านเมืองอาคารบ้านเรือน การแต่งกายของผู้คน รายละเอียดด้านชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งหมดล้วนไม่มีอะไรผิดประหลาดแตกต่างไปจากปัจจุบัน (ยกเว้นเพียงแค่ความล้ำยุคไปไกลของวิทยาการหลากหลายสาขา ซึ่งก็ยังคงเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีหลายๆ อย่างในชีวิตจริงทุกวันนี้)

ตรงนี้ทำให้ผมคิดว่า Black Mirror ใช้จินตนาการสมมติให้เทคโนโลยีมีความรุดหน้าไปไกล แต่ท้ายที่สุดก็วกกลับมาสื่อสารสะท้อนภาพพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมยุคปัจจุบัน

เป็นการจินตนาการโลดโผนจัดจ้าน เพื่อขับเน้นหลายสิ่งหลายอย่างให้เกิดภาพที่ชัดและเข้าใจง่ายขึ้น และส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของผู้ชม ทำให้ตระหนักถึงพิษสงหรือผลร้ายโทษภัยได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่น ตอนที่ชื่อ Nosedive พูดถึงยุคสมัยที่ทุกคนสามารถประเมินให้ดาวตัดสินคนที่พบเจอหรือเพื่อนร่วมงาน มีอุปกรณ์ที่คำนวณคะแนนเฉลี่ยโดยรวม (ทุกคนสามารถตรวจสอบดูคะแนนของกันและกันได้หมด) ค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นส่งผลต่อโอกาสและสิทธิต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ทั้งตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม ฐานะความเป็นอยู่ การได้รับบริการหรือสวัสดิการต่างๆ

พูดอีกแบบคือ คะแนนที่แต่ละคนได้รับจะเป็นตัวจำแนกแยกแยะคัดสรรว่า ใครอยู่ในฐานะชนชั้นสูง ใครอยู่ระดับปลายแถวเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ หรือมีสภาพเทียบเท่ากับอาชญากร

ผลพวงที่ติดตามมาทำให้ทุกคนสาละวนคร่ำเคร่งกับการใช้ชีวิตเพื่อทำคะแนนไต่ระดับ ดิ้นรนทุกวิถีทางให้ตนเองได้รับความนิยม

จินตนาการในตอนนี้นำไปสู่เหตุการณ์เลยเถิดบานปลายเยอะแยะมากมาย และมีการเสียดสีเย้ยหยันที่เจ็บแสบ

ค่านิยมและพฤติกรรมของผู้คนใน Nosedive เนื้อแท้แล้วเป็นการขยายความแบบ ‘เล่นใหญ่’ เพื่อสะท้อนค่านิยมใส่ใจให้ความสำคัญแบบเอาเป็นเอาตายกับจำนวนยอดกดไลค์ รีทวีต ผู้ติดตาม เข้ามาดู และการแชร์ ในสารพัดโซเชียลมีเดีย

จินตนาการติดลบเกือบทุกตอนใน Black Mirror สามารถเทียบเคียงกับชีวิตจริงได้หมด นอกจากจะสนุกไปกับเนื้อเรื่องและการบอกเล่าแล้ว ผมยังเพลิดเพลินมากกับการนึกคิดเทียบเคียงว่าอะไรตรงกับอะไร

Black Mirror

เท่าที่ยังพอจำได้ มันมีทั้งการสะท้อนถึงสังคมที่พากันรุมแห่แสดงความคิดเห็นประณามคนที่กระทำสิ่งผิดพลาดจนเกิดเป็นเหตุการณ์ดรามา กลายเป็นจำเลยของสังคมอย่างสาดเสียเทเสีย ด้วยอารมณ์สะใจเมามัน (จนเกือบๆ ขาดสติ) และแสดงตนเป็นคนดีพิทักษ์จรรโลงศีลธรรมความถูกต้อง (แต่สิ่งที่แสดงออกนั้นกลับโหดร้ายเลือดเย็นขาดไร้ซึ่งเมตตาเป็นอย่างยิ่ง), การใช้ความรู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ลักลอบเจาะหาความลับที่น่าอับอายของผู้อื่น แล้วนำมาข่มขู่กรรโชก, ความจอมปลอมเสแสร้งของรายการบันเทิงจำพวกเรียลลิตี การประกวดร้องเพลง การแสดงความสามารถเพื่อแจ้งเกิดเป็นคนดังในชั่วพริบตา (แง่มุมนี้ยังแตะต้องไปถึงการหยิบฉวยทุกอย่างมาทำเป็นโชว์ยอดนิยมได้หมดอย่างไม่ลืมหูลืมตา รวมทั้งเสียดสีอิทธิพลของสื่อที่นำพาผู้คนไปสู่การบริโภคอันฉาบฉวยอย่างไม่บันยะบันยังและเกินความจำเป็น), การโฆษณาชวนเชื่อปลูกฝังทางความคิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเกลียดชัง ทำให้มองเห็นผู้คนที่ถูกขีดเส้นแบ่งให้แตกต่างจากพวกพ้องตนเอง กลายเป็นอีกเผ่าพันธ์ุหนึ่ง ซึ่งน่าเกลียดน่ากลัว เป็นอันตราย จนสามารถกำจัดฆ่าทิ้งได้โดยไม่รู้สึกผิดบาป (ประเด็นนี้นำเสนอผ่านวิธีเล่าเรื่องในเชิงอุปมาอุปไมย ผ่านการติดตั้งเครื่องมือบางอย่างเข้าไปในร่างกาย ซึ่งให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน) เป็นต้น

นอกจากเนื้อหาว่าด้วยการใช้จินตนาการสร้างโลกในยุคสมัยสมมติ และการรุดหน้าของเทคโนโลยี เพื่อสะท้อน (บางทีก็เสียดสี) พฤติกรรมและความเป็นไปในสังคมปัจจุบันแล้ว หลักใหญ่ใจความของ Black Mirror ยังเน้นไปที่เรื่องของมนุษย์กับเทคโนโลยีในสองสามประเด็นใหญ่

ประเด็นแรกคือ เทคโนโลยีเหมือนดาบสองคม สามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลได้ทั้งด้านบวกสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือกลายเป็นอาวุธที่ใช้ทำร้ายทำลายผู้อื่น ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและจริยธรรมของมนุษย์ที่ใช้สอยมัน ว่าจะเลือกให้นำพาไปสู่เป้าหมายเช่นไร แน่นอนว่าส่วนใหญ่ที่ปรากฏในซีรีส์ มุ่งแสดงไปที่ความชั่วร้ายของมนุษย์

ถัดมาคือ การพยายามคิดค้นสร้างเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ (เช่นการสร้างโลกเสมือนจริงหลังความตาย, การสร้างระบบคำนวณเลือกคู่แท้สำหรับชายหญิง, การสร้างแบบจำลองคนที่เสียชีวิตไปแล้ว) แต่ท้ายที่สุดเทคโนโลยี ‘ฝืนธรรมชาติ’ เหล่านี้ก็ไม่สามารถแตะต้องไปถึงความมีชีวิตจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกของมนุษย์

ประการสุดท้าย การพูดถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีก้าวหน้าล้ำยุคหลายๆ อย่าง แต่แล้วโดยตัวของมันเอง มักจะมี ‘ผลข้างเคียง’ ที่เป็นอันตรายหรือให้โทษแนบพ่วงมาด้วยเสมอ

สิ่งที่ผมชอบมากอีกอย่างใน Black Mirror ก็คือ การสะท้อนเนื้อหาสาระในแต่ละตอนนั้น ไม่ได้พูดแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยลำพัง แต่มีลักษณะเหลื่อมซ้อนกันอยู่หลายแง่มุม บางครั้งก็พ่วงเนื้อหาแง่คิดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาด้วยอย่างกลมกลืน ตัวอย่างเช่นตอนที่ชื่อ Arkangel (ตอนนี้กำกับโดยโจดี ฟอสเตอร์) นอกจากจะพูดถึง ‘คุณอนันต์และโทษมหันต์’ ของเทคโนโลยีชิ้นเดียวกันแล้ว มันยังเคียงข้างด้วยประเด็นการเซ็นเซอร์ปิดกั้นการรับรู้ (ด้วยเจตนาดี แต่ส่งผลเสีย) การละลาบละล้วงล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น (แม้ว่าคู่กรณีในเรื่องนี้จะเป็นแม่ลูกกันก็ตาม แต่สิ่งที่ตัวละครทำก็เกินเลยขอบเขตอันสมควรไปมาก) รวมทั้งแง่มุมความขัดแย้งในทางดรามาปกติทั่วไปของหนังที่มีเรื่องราวว่า ด้วยความสัมพันธ์แม่-ลูก

ตอนเด่นๆ หลายตอนใน Black Mirror มีความคาบเกี่ยวโยงใย มีประเด็นหลักประเด็นรอง ประเด็นเสริม หนุนส่งกันในลักษณะนี้อยู่ตลอด

ข้อดีปลีกย่อยอีกอย่างที่เพิ่งนึกได้ ทุกตอนใน Black Mirror มีวิธีการจบเรื่องแบบ ‘ปลายเปิด’ ไม่ได้มีการสรุปเบ็ดเสร็จ หรือกระจ่างชัดหมดจด บางตอนอาจทิ้งท้ายให้ผู้ชมคาดเดาความเป็นไปถัดจากนั้นของตัวละครหลัก บางตอนอาจเป็น loop ที่ย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง บางตอนอาจเฉลยคำตอบที่นำไปสู่การตั้งคำถามใหม่ๆ บางตอนอาจสร้างความคลุมเครือเล็กๆ น้อยๆ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่มีตอนไหนหนักมือทอดทิ้งคนดูจนถึงขั้นเข้าใจยากหรือดูไม่รู้เรื่อง น่าจะเป็นวิธีจบที่สร้างลูกเล่นและเป็นลีลาของซีรีส์เรื่องนี้มากกว่า

ถ้าหากจะพูดแบบสรุปรวบยอด Black Mirror อาจมีเรื่องของเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้เกิดเนื้อเรื่องเหตุการณ์พิสดารสารพัดสารพัน แต่โดยเป้าหมายปลายทางแล้ว ผมคิดว่า มันเป็นที่เสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพพฤติกรรมด้านมืดของมนุษย์ และพูดออกมาได้เด่นชัดจะแจ้ง คมคาย แสบสันต์ และชวนให้ดูแล้วรู้สึกฉุกคิด

ขณะดูผมพบเห็นนิสัยแย่ๆ หลายอย่างของผม ปรากฏอยู่ในหนังหลายๆ ตอนเหมือนกัน

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้น่าดูเป็นที่สุดเลยครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save