fbpx
พ่อของเธอ เพื่อนของเขา : จนกว่าเราจะพบกันใหม่ (ในสถานการณ์ปกติ)

พ่อของเธอ เพื่อนของเขา : จนกว่าเราจะพบกันใหม่ (ในสถานการณ์ปกติ)

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

“…สิ่งใดที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น พลเมืองทุกคนถูกบังคับให้ประพฤติตาม แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องชอบธรรม ใครบัญญัติกฎหมาย คนนั้นก็มักบัญญัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัว ถ้าคนส่วนน้อยบัญญัติกฎหมาย คนส่วนมากก็มักไม่ได้รับความชอบธรรม ถ้าประชาชนแท้ๆ ได้บัญญัติกฎหมาย ประชาชนจึงจะได้รับความชอบธรรม แต่ก็อาจกระทบผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย…”

จาก จนกว่าเราจะพบกันอีก – ศรีบูรพา

-1-

ในวันเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ใช้อำนาจออกประกาศ คำสั่ง บังคับใช้กฎหมายหลายต่อหลายฉบับ ด้วยหวังว่าจะควบคุมบ้านเมืองให้กลับสู่ความสงบ

คนจำนวนหนึ่ง ได้รับผลกระทบจากข้อหาสร้างความวุ่นวาย ทำลายความมั่นคงของชาติ

ถูกเรียกปรับทัศนคติ บุกเข้าจับกุม หนักหน่อยก็โดนอุ้มเข้าค่ายทหาร

ข่าวสารถูกปิด บิดเบือน เสมือนว่าเหตุการณ์เหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้น

สื่อที่พยายามทำหน้าที่ตรวจสอบ ตั้งคำถาม ถูกประณามว่าสร้างความแตกแยก

จึงไม่แปลกอะไร ที่หลายคนจะยังรู้สึกว่าประเทศไทยสงบสุขดี

และยิ่งไม่แปลกอะไร ที่ใครหลายคนจะมองว่ารัฐบาล คสช. คืออัศวินขี่ม้าขาว เข้ามาช่วยกู้วิกฤตความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาราวๆ สิบปี

คำถามที่น่าคิดก็คือ ภายใต้ภาวะแห่งการคืนความสุขตลอดสามปีมานี้ เราเคยได้ยินเสียงของคนที่ ‘ไม่มีความสุข’ มากน้อยแค่ไหน

ความเงียบ-สงบที่เรามองเห็นจากภายนอกนั้น เกิดจากการเปิดกว้าง หรือปิดกั้นกันแน่

ถ้าเพียงแต่เราไม่ใจแคบจนเกินไป ย่อมไม่ยากที่จะมองเห็น หรือได้ยินเสียงของคนเหล่านั้น

ในฐานะคนที่เคยรับรู้ชะตากรรมของคนธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ‘คืนความสุข’ อยู่บ้าง สิ่งที่ผมจะบอกเล่าต่อไปนี้ อาจช่วยจุดประกายให้ใครหลายคนได้เห็นความจริงอีกชุดในมุมที่ต่างออกไป

เป็นเรื่องเล่าที่ไม่ได้อยู่ในรายการเดินหน้าประเทศไทย ไม่เคยปรากฏในสื่อกระแสหลัก แต่ประจักษ์แจ้งอยู่ในสมองและหัวใจของคนไทยกลุ่มหนึ่ง—ซึ่งถูกทำให้เป็นอื่น

 

-2-

เธอเป็นนักข่าว และเป็นลูกสาวของนักเขียน

ผมเจอเธอครั้งแรกราวสองปีก่อน ในงานเสวนาที่ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่ง

ตอนแรกผมรู้แต่เพียงว่าเธอเป็นนักข่าวจากมติชน และเป็นคนที่มีสีหน้าเรียบเฉยที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยเจอ

ครั้นเมื่อไถ่ถามชื่อเสียงเรียงนาม จึงได้ความว่าเธอชื่อ ‘เตย’ – วจนา วรรลยางกูร เป็นลูกสาวคนสุดท้องของ วัฒน์ วรรลยางกูร

หากใครพอจำได้ เมื่อคราวที่คสช. ยึดอำนาจใหม่ๆ มีการล่ารายชื่อนักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหว จำนวนหนึ่งไปปรับทัศนคติ

วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นหนึ่งในนั้น

จากนักเขียนมือดีที่สร้างชื่อมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ ผลิตงานเขียนสู่สายตานักอ่านหลายสิบเล่ม ทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดี และเคยมีชื่อติดโผรางวัลซีไรต์อยู่หลายครั้ง

หลังรัฐประหารปี 2549 วัฒน์ประกาศจุดยืนชัดว่าไม่เอารัฐประหาร ยืนยันหลักการประชาธิปไตยที่ยึดถือมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา วางปากกาแล้วไปขึ้นเวทีปราศรัย ใส่เสื้อแดงอย่างเปิดเผย

ในฐานะลูกสาว เตยเคยถามพ่อว่าทำไมต้องไปขึ้นเวที หน้าที่ของพ่อคือเขียนหนังสือไม่ใช่หรือ

“เขาบอกว่านี่ก็เป็นงานของเขาเหมือนกัน เหมือนเขาคิดว่างานเขียนมันไม่เร็วพอ เวลาไปพูดที่นั่นที่นี่ มันได้เข้าถึงคนฟัง เข้าถึงชาวบ้านโดยตรง เป็นสิ่งเขาเลือกแล้ว และเขาก็รู้ตัวด้วยว่าสักวันจะต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้”

เพื่อนในวงน้ำหมึกที่เคยคบหาพากันหลบหาย เช่นเดียวกับสมาคมนักเขียนที่ไม่ยินดียินร้าย ขณะเดียวกันก็กลายเป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาลทหาร

24 พฤษภาคม 2557 สองวันหลังการยึดอำนาจของ คสช. แทนที่วัฒน์จะเดินเข้าไปรายงานตัว เขาตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ

“การออกมานอกราชอาณาจักรไทย ทำให้เราได้ยืนยันความเป็นเสรีชน ยืนยันความเป็นมนุษย์ที่ไม่ยอมรับอำนาจ อธรรม และยืนยันการใช้เสรีภาพของกวี โดยยอมแลกกับความลำบากของชีวิตที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นความลำบากที่รับได้ คาดเดาได้… ถ้าคนส่วนมากเขายังอยากอยู่ใต้ระบบป่าเถื่อน ก็ให้เขาอยู่กันไป แต่เราไม่ เรื่องพวกนี้บังคับใครไม่ได้ แม้ออกมาแล้วต้องป่วยต้องตาย ก็เรื่องของเรา” คือเหตุผลสั้นๆ ที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร Writer

สามปีผ่านไป ข่าวคราวของเขาค่อยๆ หายไปกับกาลเวลา และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้กลับบ้านในเร็ววัน

 

วัฒน์ วรรลยางกูร / นักเขียน

-3-

21 พฤษภาคม 2560 หนึ่งวันก่อนวันครบรอบสามปีรัฐประหาร หลังเสร็จสิ้นจากงานเสวนาที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ผมกับเตยออกมานั่งคุยกันต่อที่ร้านกาแฟเล็กๆ บนถนนพระสุเมรุ

“เขาก็อยู่ไปวันๆ ปลูกผัก อ่านหนังสือเยอะมาก แต่ไม่ค่อยได้เขียนแล้ว”

ทุกครั้งที่เจอหน้ากัน ผมมักถามถึงพ่อเธอเสมอ เช่นเดียวกับครั้งนี้

ตลอดระยะเวลาสามปี เธอเดินทางไปหาพ่อบ้างตามโอกาส สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเหล้า หนังสือ และเงินจำนวนหนึ่งที่เพื่อนๆ ของพ่อยัดใส่มือมาให้

“เริ่มชินแล้วมั้ง” เธอหมายถึงทั้งพ่อ ตัวเธอเอง และพี่ชายอีกสองคน

“เหมือนย้ายบ้านใหม่ ตอนแรกยังไม่ค่อยชินหรอก แต่พออยู่ไปนานๆ ก็ชินเอง ประเด็นคือเราไม่ได้อยากย้าย แต่ถูกบังคับให้ย้าย”

ทอดสายตาไปบนถนน แววตาเธอหม่นลงเล็กน้อย

ในฐานะลูก แม้เข้าใจและเคารพในเจตจำนงของพ่อ แต่การทำใจและยอมรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอีกเรื่อง

“พ่อเราไม่อยู่บ้าน ครอบครัวเราไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็ต้องโกรธอยู่แล้ว และเราคิดว่าไม่ได้มีแค่เราที่โกรธ แต่มีอีกเป็นร้อยเป็นพันครอบครัวที่โกรธ

“คนจำนวนมากโดนคุกคาม บางคนถูกกระทำแต่ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำ มันเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราในฐานะครอบครัว ยังไงก็เจ็บปวด”

แม้จะสิ้นหวังกับภาวะที่เผชิญอยู่ แต่เธอมองว่าสถานการณ์ของครอบครัวเธอไม่ได้ย่ำแย่เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับของใครอีกหลายคน

“อย่างน้อยก็ดีที่พ่อเรายังใช้ชีวิตตามปกติได้ มีหลายคนในสังคมนี้ที่ต้องไปอยู่ในคุก โดนข่มขู่ ทำร้าย หรือหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม

“ถ้ามองในแง่ดี สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ก็ดีมากๆ สำหรับพ่อเราแล้ว ชีวิตมันสิ้นหวังขนาดที่ว่า จะต้องมาดีใจเพราะพ่อไม่ติดคุก หรือไม่โดนอุ้มหาย”

จากการทำงานในสนามข่าวมาหลายปี เธอรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคมนี้ โดยเฉพาะในวันเวลาที่ประเทศปกครองด้วยคณะรัฐประหาร และพ่อเธอจัดอยู่ในกลุ่มคนที่รัฐไม่โปรดปรานเท่าไหร่

“รัฐประหารช่วงแรกๆ คือการใช้กำลัง ใช้อำนาจ เพื่อสร้างความหวาดกลัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มใช้เครื่องมือและกลไกที่ใหญ่ขึ้น ผ่านองค์กรต่างๆ ผ่านกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้ระบบนี้แข็งแรงกว่าเดิม เพราะสามารถนำมาอ้างความชอบธรรมในการกระทำต่างๆ ได้”

“แต่เห็นหลายคนเขาก็ยังมีความสุขดี ใช้ชีวิตได้ตามปกติ” ผมแย้ง

“เราว่าจนถึงตอนนี้ ไม่ว่าฝ่ายไหน ก็ยากที่จะพูดว่าทุกอย่างยังโอเคอยู่ เพราะสถานการณ์ลามไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ซึ่งคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะยอมรับมันรึเปล่า ถ้าคุณบอกว่า ชีวิตฉันยังดีอยู่ ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร เดี๋ยวคุณก็จะรู้เองว่ามันหนักขึ้นเรื่อยๆ

“นี่พูดในแง่ที่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบนะ ยังไม่พูดถึงว่า ในสามปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ทางการเมืองทำลายชีวิตใครบ้าง … คุณอาจไม่เคยรู้ว่ามีกี่ครอบครัวที่ต้องพลัดพรากกัน คุณอาจมองว่ามันเป็นความทุกข์ของคนอื่น คุณอาจไม่สนใจก็ได้ แต่คุณอย่าปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น” เธอพูดเรียบๆ ด้วยแววตาแข็งกร้าว

“แล้วเกี่ยวไหมว่า เรื่องราวแบบนี้ถ้าไม่เจอกับตัวเอง ก็ไม่มีทางเข้าใจ”

“ไม่เกี่ยว” เธอสวนทันควัน

“ต่อให้ครอบครัวเราไม่ได้เจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่สิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกได้ ก็คือความเห็นอกเห็นใจคนอื่นไง เวลาคุณไปเจอหมาบาดเจ็บ เจอขอทาน คุณยังเห็นอกเห็นใจได้เลย แล้วทำไมกับเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมสังคมที่เจอความอยุติธรรม เจอการคุกคาม หรือเจอเหตุการณ์ที่ไม่ควรเจอ คุณจะไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ … แล้วบางคนกลับสมน้ำหน้า ซ้ำเติมคนที่เจอชะตากรรมแบบนี้อีกด้วย” ประโยคสุดท้ายคล้ายเป็นการตัดพ้อ

“คนเห็นคนไม่เท่ากัน ว่างั้น?” ผมชวนคุยต่อ

“มันเป็นหลักการง่ายๆ มากเลย แค่คุณเห็นคนอีกคนเป็นมนุษย์รึเปล่า ถ้าคุณเห็น คุณจะปฏิบัติกับเขายังไง ไม่ต้องอ้างหลักวิชาการอะไรด้วยซ้ำ เพียงแต่สังคมของเราไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักง่ายๆ นี้”

หลักที่เธอว่า ถ้าพูดกันแบบสวยหรูหน่อย ก็คือหลักสิทธิมนุษยชน การมองเห็นและปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ อย่างเห็นอกเห็นใจ ไม่ลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าของกันและกัน

น่าคิดเหมือนกันว่า คนไทยเราให้ความสำคัญกับหลักการง่ายๆ นี้มากน้อยแค่ไหน

อะไรที่ทำให้เรามองข้ามความเป็นมนุษย์ แล้วหยิบอาวุธมาฆ่าฟันกันได้ลงคอ

รัฐแบบไหนกันที่ใช้อาวุธล้อมปราบประชาชนของตัวเอง

 

เตย – วจนา วรรลยางกูร / ผู้สื่อข่าวโต๊ะประชาชื่น หนังสือพิมพ์มติชน

 

-4-

เพลง Blowing in the wind ของ Bob Dylan แว่วมาจากลำโพง แสงตะวันถูกแทนที่ด้วยแสงไฟ กาแฟร้อนหมดถ้วยไปสักพักแล้ว เราลุกไปสั่งเบียร์โดยไม่ต้องนัดหมาย

บทสนทนาผ่อนคลายลงตามบรรยากาศ

ผมถามเธอว่าในวันเวลาที่สิ้นหวัง ยังมีอะไรที่พอเป็นความหวังอยู่บ้างไหม

“เงินเดือน” เธอตอบแบบไม่ต้องคิด แถมหัวเราะปิดท้าย เป็นหัวเราะที่นานๆ ผมจะได้เห็นสักที

“เอาจริงๆ มั้ย … นี่แหละแย่ที่สุดในชีวิตเราแล้ว” จู่ๆ เธอก็เปลี่ยนโหมดกะทันหัน

“ก่อนหน้านี้ยังมีช่องให้หายใจบ้าง แต่ทุกวันนี้สถานการณ์มันบีบรัด มีความพยายามปิดทุกช่องทางการแสดงออก คุมไปถึงโครงสร้าง ถึงกฎหมาย

“อาจเพราะเราได้เข้ามาทำงานตรงนี้ด้วย ยิ่งทำให้เห็นถึงความย่ำแย่ รู้สึกชีวิตไม่มีความหวังเลย ค่อยๆ พังไปทีละอย่าง”

เธอหยุดคิดครู่หนึ่ง แล้วพูดต่อ

“แต่ถ้าให้มองในแง่ดี ก็เพราะความพังนี่แหละ ที่ทำให้คนที่สนับสนุนทหาร หรือกลไกนอกระบบ เริ่มได้เห็นความจริงบ้างแล้วว่า ไม่มีระบบทหารที่ไหนที่ทำให้ชีวิตคุณดีหรือมีความสุขจริงๆ ได้”

จากการได้คุยกับใครหลายคน สิ่งที่ผมได้ยินบ่อยในช่วงหลัง ก็คือเสียงบ่นรัฐบาล ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างปากท้องและเศรษฐกิจ ไปจนถึงนโยบายแปลกๆ และการบริหารที่ไม่ชอบมาพากล

ความน่าสนใจคือคำพูดหรือบทสนทนาทำนองนี้ มักปรากฏอยู่แต่ในที่ลับๆ บ้างก็พูดกันในระดับเสียงกระซิบ

การวิพากษ์รัฐบาลกลายเป็นเรื่องที่ต้องระแวดระวัง ทั้งที่ควรเป็นเรื่องปกติ

“แค่หวังให้สถานการณ์เป็นปกติยังยากเลย” เตยทิ้งท้าย ก่อนจะย้ายประเด็นไปคุยเรื่องอื่น

 

-5-

นอกจากเตย ผมยังรู้จักนักข่าวรุ่นราวคราวเดียวกันอีกคน

ครั้งแรกที่เจอกัน ผมหลงผิดว่าเขาเป็นนักข่าวรุ่นใหญ่ ด้วยท่าทีเคร่งขรึม หน้าตาขึงขัง ยิ่งได้รู้ว่าเขามาจาก ‘ประชาไท’ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกเกรงขาม

ทว่าเมื่อได้ทำความรู้จักกัน จึงรู้ว่าเขาเป็นนักข่าววัยกระเตาะ และภายใต้บุคลิกดุดัน ธาตุแท้ของเขานั้นเป็นผู้ชายขี้อายและอ่อนโยน

อ๊อตโต้ – ทวีศักดิ์ เกิดโภคา เริ่มทำงานที่สำนักข่าวประชาไทตั้งแต่ปลายปี 2557 ติดตามประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ต่อมาในปี 2559 จึงขยับขยายไปสู่ประเด็นการเมือง ตั้งแต่เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ รวมถึงการติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมกลุ่มต่างๆ

10 กรกฎาคม 2559 เขาติดสอยห้อยตามกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ไปยังสถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อทำข่าวการรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวพร้อมๆ กับนักกิจกรรมที่นั่งมาในรถคันเดียวกัน

แม้จะยืนยันว่าเป็นผู้สื่อข่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวหรือรณรงค์ใดๆ ทั้งสิ้น ทว่าสุดท้ายก็ไม่พ้นข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ

นอนคุก 1 คืน ก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 140,000 บาท

“การที่พวกเขาเลือกจับกุมผมด้วย อาจเป็นหนึ่งในความพยายามควบคุมการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และพยายามแสดงให้สื่อสำนักอื่นได้เห็นว่าโทษของการรายงานเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างไร แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากที่ได้รับการประกันตัวออกมา ผมยังคงปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวเช่นเดิม” นี่คือข้อสังเกตส่วนหนึ่งที่เขาเขียนลงบันทึกหลังถูกจับ

สำหรับใครที่คิดว่าสิ่งที่เขาได้รับนั้นเป็นเรื่องสมควร ผมอยากให้ลองทบทวนดูอีกครั้ง ว่าเหตุใดการรายงานข่าวจึงเป็นความผิด เช่นเดียวกับการรณรงค์ให้ ‘โหวต NO’ ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ต่างจากการรณรงค์ให้ ‘โหวต YES’ ที่เห็นกันกลาดเกลื่อน

ในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพ ผมมองว่าการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ ไม่มีจุดประสงค์อื่นใด นอกจากการตั้งใจปิดกั้นและคุกคามสื่อ

คำถามที่น่าคิดต่อก็คือ ในสภาวการณ์เช่นนี้ สื่อที่ถูกรัฐปิดกั้นจะทำงานกันอย่างไร

 

อ๊อตโต้ – ทวีศักดิ์ เกิดโภคา / ผู้สื่อข่าวประชาไท (ภาพถ่ายโดย จามร ศรเพชรนรินทร์)

 

-6-

“ถ้าคุณเป็นนักข่าว แต่คุณไม่พูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณจะเป็นนักข่าวทำไม”

หลังเสร็จสิ้นจากงานประจำ ผมนั่งคุยกับอ๊อตโต้ในค่ำวันหนึ่ง

เริ่มจากการไถ่ถามถึงเหตุการณ์ที่เขาโดนจับเมื่อหลายเดือนก่อน ต่อด้วยเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ กับเพื่อนของเขา—ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘ไผ่ ดาวดิน’

จากการแชร์บทความพระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์บีบีซีไทย ส่งผลให้ไผ่ถูกจับกุมด้วยข้อหากระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14

ถูกจับคนเดียว ทั้งที่มีผู้แชร์บทความนี้อีกเป็นพันคน

จนถึงวันนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าไผ่จะได้รับอิสรภาพ เช่นเดียวกับสิทธิในการประกันตัว ซึ่งผู้ต้องหาทุกคนพึงมี

“มันคือการเชือดไก่ให้ลิงดู” อ๊อตโต้ตั้งข้อสังเกต พร้อมเท้าความถึงคดีก่อนหน้าอย่างกรณีจับกุม 8 แอดมินเพจ ‘เรารักประยุทธ์ จันทร์โอชา’ รวมถึงการจับ ‘แม่จ่านิว’ ว่าเป็นการสร้างความหวาดกลัว ขณะเดียวกันก็ทำให้กระบวนการทางกฎหมายบิดเบี้ยว เอาแน่เอานอนไม่ได้

จากนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ยืนหยัดเคียงข้างชาวบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ สู่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช. อย่างไม่เกรงกลัว ไม่แปลกอะไรที่ไผ่จะถูกหมายหัวเป็นลำดับแรกๆ

“การจับไผ่ด้วยเรื่องแค่นี้ ส่วนตัวผมคิดว่าไม่มีประโยชน์เลย หนึ่งคือยิ่งสร้างความสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น คนยิ่งตั้งคำถามมากขึ้น สอง ถ้ารัฐบาลบอกว่าอยากปรองดอง แต่คุณยังใช้วิธีการแบบนี้อยู่ เราจะปรองดองกันได้ยังไง มันไม่มีทางสำเร็จ”

ด้วยหน้าที่การงาน อ๊อตโต้ติดตามความเคลื่อนไหวของไผ่มาตั้งแต่ต้น จนกลายเป็นเพื่อนกันในเวลาต่อมา สิ่งที่ผมสงสัยมาสักพักแล้วก็คือว่า ในฐานะนักข่าวที่มีเพื่อนเป็นนักกิจกรรม มันทำให้การทำงานยากลำบากขึ้นไหม

“บางคนตั้งแง่ว่าผมเป็นนักข่าว แล้วไปเป็นเพื่อนกับนักกิจกรรมได้ยังไง คำถามคือ ผมเป็นนักข่าวแล้วผมมีเพื่อนไม่ได้เหรอ นั่นข้อหนึ่ง ข้อสองคือ งานที่ผมเขียนนั้น มันเชียร์พวกเดียวกันเองรึเปล่า ผมก็กล้าบอกเลยว่า ผมรายงานตามข้อเท็จจริง ฝั่งนี้พูดว่ายังไง ก็เขียนไปตามนั้น รัฐพูดว่ายังไง ก็เขียนไปตามนั้น

“สุดท้ายต้องวัดกันที่ผลงาน สมมติว่ามีกรณีที่ชัดเจนว่า ในข่าวเดียวกันนั้น ผมเขียนเกินเลยจากที่สำนักอื่นๆ เขียน เพื่อให้เพื่อนผมดูดี อันนี้ผิดแน่นอน ซึ่งผมไม่เคยทำ” เขาอธิบายและย้ำหลักการทำงานของตัวเอง

ผมถามต่อว่า แล้วเคยกลัวหรือกังวลบ้างไหม กับการรายงานประเด็นที่อ่อนไหวหรือไปกระทบความมั่นคงของรัฐ

“การที่ผมเลือกทำสื่อแบบนี้ มีจุดยืนแบบนี้ ถามว่าเสี่ยงไหม เสี่ยงแน่นอน เสี่ยงที่จะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างตอนนี้ ผมก็เข้าใจว่าผมถูกมอนิเตอร์เฟซบุ๊กอยู่ มีคนแปลกๆ เข้ามาส่อง มากดไลค์ ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะเป็นเรา”

แม้ยอมรับว่ากลัว แต่เขายืนยันว่านี่คือประเด็นที่สื่อจำเป็นต้องทำ

“คุณเป็นสื่อมวลชนไม่ได้หรอก ถ้าคุณยังยอมรับว่าการละเมิดสิทธิเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามันมีการละเมิด แล้วคุณไม่เขียน ไม่รายงาน นั่นแหละที่ไม่ปกติ

“ปัญหาคือตอนนี้ ทุกคนกลับมองว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นเป็นเรื่องเกินเลย ซึ่งตลกดี ไม่รู้ว่ากลายเป็นแบบนี้ไปได้ยังไง”

 

ไผ่ – จตุภัทร บุญภัทรรักษา (ภาพถ่ายโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์)

 

-7-

นอกจากการมีคนใกล้ชิดเป็นนักโทษการเมืองเหมือนกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตว่าเตยและอ๊อตโต้ มีเหมือนกันในฐานะคนทำสื่อ ก็คือการยืนยันหลักการเรื่องเสรีภาพ และให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

ทว่าในวันเวลาที่สื่อแต่ละสำนัก ต่างมีธงเป็นของตนเอง หลักอีกข้อที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้อถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง ก็คือเรื่องของความเป็นกลาง

“สมมติว่า ฝั่งหนึ่งเป็นรัฐที่พูดอะไรก็ได้ สามารถควบคุมสื่อให้นำเสนอสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ทุกวัน ขณะเดียวกันก็ใช้สื่อนั้นย่ำยีอีกฝ่าย การที่เราไม่ให้พื้นที่กับเขา เพราะรู้สึกว่าเขามีพื้นที่เยอะแล้ว อย่างนี้เราเป็นกลางไหม?” เตยโยนคำถามใส่หน้าผม

ผมเลยถามต่อว่า แล้วความเป็นกลางของเธอคือแบบไหน หรือยังจำเป็นอยู่ไหมในการทำงานสื่อ

“สิ่งที่เราพยายามทำคือการให้พื้นที่กับคนที่ไม่ได้พูด ไม่รู้หรอกว่าเป็นกลางไหม แต่ที่แน่ๆ คือต้องเป็นธรรม เวลาเราเขียนงาน เรารู้สึกว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน”

สำหรับอ๊อตโต๊ ผมชวนเขาถกประเด็นนี้เช่นกัน ทัศนะของเขานั้นคล้ายๆ กับเตย

“สังเกตว่าทุกวันนี้มันมีความจริงหลายชุด ประเด็นก็คือคุณ (รัฐ) ดันพูดได้อยู่ฝ่ายเดียวไง ว่าสิ่งที่คุณพูดคือความจริง ในขณะที่คุณกดคนอื่นไว้ไม่ให้พูด นี่คือปัญหา

“เราจะพิสูจน์ยังไงว่าสิ่งที่คุณพูดเป็นความจริง เพราะเวลาคนอื่นออกมาพูด คุณก็จับ แบบนี้มันเป็นความจริงแบบผูกขาด”

สำหรับผม ผมมองว่าในสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจพยายามปิดกั้นและคุกคามสื่ออย่างเลือกปฏิบัติ การจะสร้างความเป็นกลางให้เกิดขึ้นได้ มีอยู่ทางเลือกเดียวเท่านั้น ก็คือให้น้ำหนักกับคนที่เสียงเบากว่า — เพราะตาชั่งมันไม่สมดุลตั้งแต่แรก

 

-8-

นอกเหนือจากกรณีของไผ่ และ วัฒน์ วรรลยางกูร ยังมีข้อมูลของคนที่ถูกคุกคาม ข่มขู่ จับกุมคุมขัง กระทั่งทำร้าย อีกมากมายที่ไม่เคยได้รับการบอกเล่า

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) บันทึกไว้ว่า ภายใต้การปกครองของ คสช. ตลอดระยะเวลาสามปี (ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2560) มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,319 คน ถูกจับกุมอย่างน้อย 595 คน และมีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารอีกอย่างน้อย 300 คน

“ไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” ผมเชื่อว่าใครหลายคนคิดแบบนี้

ทว่าเรื่องทั้งหมดที่ผมเล่ามา ก็คือเรื่องของคนที่ยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ต้องกลายเป็นนักโทษเพียงเพราะความคิดที่แตกต่าง

บนเส้นทางปรองดองที่ยังมองไม่เห็นจุดหมาย ใครหลายคนไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิด

ถ้าเพียงแต่เราไม่ปิดหู ปิดตา ย่อมรับรู้ได้อย่างไม่ยากเย็นว่า ภายใต้ภาวะคืนความสุขนี้ มีหลายต่อหลายสิ่งที่ผิดวิสัย และเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ผู้มีอำนาจมักใช้จัดการกับประชาชนที่แตกแถวมาทุกยุคทุกสมัย ก็คือสิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย

ดังที่ ‘ศรีบูรพา’ นักโทษทางความคิดคนแรกๆ ของไทยได้รจนาไว้ตั้งแต่หลายทศวรรษที่แล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save