fbpx
ศิลปะกับการเมืองและการต่อต้านเผด็จการทหาร : ประสบการณ์ของพม่า

ศิลปะกับการเมืองและการต่อต้านเผด็จการทหาร : ประสบการณ์ของพม่า

ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ แต่ประสบการณ์เข้าๆ ออกๆ พม่าหลายปีมานี้ทำให้ผู้เขียนอดคิดถึงศิลปะและตัวศิลปินกับการต่อต้านอำนาจของรัฐไม่ได้ นี่ยังรวมถึงความพยายามของศิลปินในการนำเสนอประเด็นทางสังคมใหม่ๆ และความพยายามนำพม่าออกจากกรอบคิดเดิมๆ ที่ไม่พ้นเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเชื่อกันว่า “บริสุทธิ์และดีงาม”

ศิลปะกับศิลปินในที่นี้ หมายถึงจิตรกร นักวาดการ์ตูน นักแสดง จนถึงนักร้อง แม้เราไม่อาจเหมารวมได้ว่าศิลปินทุกคนและศิลปะทุกแขนงต้องออกมาต่อต้านเผด็จการ แต่อย่างน้อยในสังคมพม่าก็มีศิลปินจำนวนหนึ่งที่อุทิศตนให้กับประเด็นทางการเมืองและสังคม บางส่วนประสบความสำเร็จระดับโลก ชื่อเสียงของพวกเขาทำให้ผู้คนจากทั่วโลกเห็นความโหดร้ายของระบอบเผด็จการในพม่า แถมยังกระตุ้นให้คนในสังคมพม่าจำนวนมากตั้งคำถามว่าเมื่อเผด็จการได้เปลี่ยนรูปร่างไปแล้ว สังคมพม่าจะไปทางไหนต่อ

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับศิลปิน 3 กลุ่ม 3 แบบ ประกอบไปด้วยศิลปินเพลงฮิปฮอป ศิลปินตลก และศิลปินนักวาดภาพมือฉมัง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสร้างงานศิลปะออกมาต่างกัน แต่เผชิญประสบการณ์ชีวิตไม่ต่างกันนัก ทั้งหมดเคยเป็นนักโทษการเมือง เมื่อพ้นโทษก็ได้สร้างงานในแบบของตนเองพร้อมทั้งสร้างเสริมพลังของคนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักถึงคุณค่าของสิทธิมนุษยชน

ศิลปินในพม่าเน้นบทบาททางสังคมของตนมาก ทำให้เราไม่สามารถมองศิลปะในพม่าในแง่มุมอื่นได้ นอกจากศิลปะมีหน้าที่รับใช้สังคมและเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน

ศิลปินกลุ่มแรกที่อยากจะแนะนำให้รู้จักเป็นศิลปินฮิปฮอปที่ประสบความสำเร็จมากในทศวรรษ 2000

ดนตรีฮิปฮอปมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจในพม่า เริ่มจากวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของเซยา ตอ (Zeya Thaw) นักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์, อันเนกา (Annega), ยัน ยัน ชาน (Yan Yan Chan) และเฮง ซอ (Hein Zaw) ตั้งวงดนตรีฮิปฮอปในนาม Acid ขึ้นในปี 2000  พวกเขาออกอัลบั้มแรกชื่อ Beginning และได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม เรียกได้ว่าเป็นการเปิดสหัสวรรษใหม่ของวงการดนตรีในพม่าที่ถูกผูกขาดโดยดนตรีป๊อปโลกสวย วงฮาร์ดร็อค และเพลงแปลง (เพลงที่นำทำนองเพลงจากต่างประเทศที่กำลังได้รับความนิยมมาใส่เนื้อร้องพม่า)

สมาชิกวง Acid
สมาชิกวง Acid

ความโด่งดังของ Acid ไม่ได้มาจากหน้าตาของนักร้องหรือการนำเสนอดนตรีแนวใหม่เท่านั้น แต่อยู่ที่เนื้อหาของเพลงที่แม้จะร้อยเรียงกันอย่างงดงามแบบบทกวี แต่ก็ดุดันและโจมตีรัฐบาลทหารพม่าชัดเจน พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาสังคมอย่างความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กัดกินสังคมพม่ามาหลายสิบปี แรงบันดาลใจของ Acid มาจากเพลงแร็ปสะท้อนสังคมของศิลปินอเมริกันอย่างทูแพค ชาร์เคอร์ (Tupac Shakur)[1] อันที่จริงแล้ว เพลงของ Acid ไม่ได้มีแต่เรื่องการเมืองเท่านั้น พวกเขายังคงต้องสร้างยอดและอยู่รอดในทางธุรกิจด้วยเพลงรักและเพลงฮิปฮอปที่ติดหูไปพร้อมๆ กันด้วย

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ในยุคที่การแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องยากลำบาก โดยเฉพาะหลังปี 1988 เมื่อนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำประท้วงรัฐบาลทหารจนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเหตุการณ์ ‘8888’  รัฐบาลสั่งปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และสอดส่องกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาเป็นพิเศษ เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคมและการเมืองของ Acid ผ่านตาหน่วยงานด้านการเซ็นเซอร์สื่อของรัฐบาลพม่าที่เข้มงวดอย่างมากไปได้อย่างไร

เนื่องจากฮิปฮอปหรือแร็ปเป็นดนตรีแนวใหม่มากสำหรับพม่า ศิลปินในยุคแรกจึงใช้สัญลักษณ์และการเปรียบเปรยมากมายในเนื้อเพลง ทำให้เจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์ที่เป็นทหารไม่เข้าใจความหมายซ่อนเร้น จะมีก็แต่ศิลปินและบรรดาแฟนานุแฟนเท่านั้นที่จะ ‘เก็ต’ เนื้อหาซ่อนเร้นทางการเมืองเหล่านี้ แต่ถึงกระนั้น วง Acid ก็ต้องสู้รบกับกองเซ็นเซอร์มาตลอด ปรัชญาการทำเพลงของ Acid คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้สมาชิกในวงติดคุก เพราะเท่ากับว่าพวกเขาจะเคลื่อนไหวในแบบของตนเองไม่ได้[2]

ในเวลาต่อมา บทบาททางการเมืองของศิลปินกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อ เซยา ตอ ผู้นำวง Acid เข้าไปร่วมก่อตั้ง Generation Wave ขบวนการคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสังคมในปี 2007

ในยุคแรก Generation Wave มีสมาชิกราว 50 คน และเป็นคนหนุ่มสาววัย 15-25 ปีทั้งหมด[3] แนวทางของ Generation Wave ยังไม่ทิ้งวัฒนธรรมแบบฮิปฮอปและสตรีทอาร์ตที่พวกเขาชื่นชอบ คือการพ่นงานกราฟฟิตี้ (graffiti) ไปทั่วเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง โปรยใบปลิว และเลือกใช้สโลแกนที่จดจำง่าย เช่น แจกสติ๊กเกอร์ที่เขียนว่า CNG ให้คนไปติดไว้หลังรถ (CNG นอกจากหมายถึงรถติดก๊าซ NGV แล้วยังมีความหมายว่า Change New Government หรือเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ด้วย)

กราฟฟิตี้ฝีมือของกลุ่ม Generation Wave ที่ครั้งหนึ่งมีให้เห็นทั่วไปในเมืองย่างกุ้งและเมืองใหญ่อื่น ๆ
กราฟฟิตี้ฝีมือของกลุ่ม Generation Wave ที่ครั้งหนึ่งมีให้เห็นทั่วไปในเมืองย่างกุ้งและเมืองใหญ่อื่น ๆ

แน่นอนว่า อิทธิพลของ Acid ต่อด้วยการเกิดขึ้นของ Generation Wave สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลสล็อร์ก (SLORC) ที่ในเวลานั้นมีพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย เป็นผู้บัญชาการใหญ่ เป็นเหตุให้มีการไล่ล่าจับกุมสมาชิก Generation Wave และสมาชิกวง Acid ตั้งแต่ปี 2008 บางส่วนหนีมาตั้งหลักที่ประเทศไทย ขณะที่สมาชิกมากกว่า 1 ใน 3 ถูกจับกุม

เซยา ตอ หัวหน้าวง Acid และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Generation Wave ถูกจับและถูกตัดสินจำคุก 5 ปี เขาได้รับการปล่อยตัวออกมาในปี 2011 ในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในพม่า เพราะเป็นปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งซ่อม หลังการเลือกตั้ง พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของออง ซาน ซู จี มีที่นั่งในรัฐสภาพม่าเป็นครั้งแรก ความสนใจการเมืองของเซยา ตอ ผลักดันให้เขาเข้าร่วมกับพรรค NLD และได้รับเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างที่หวัง[4]

เซยา ตอ ในฐานะส.ส.ของพรรค NLD (ภาพจาก Myanmar Times)
เซยา ตอ ในฐานะส.ส.ของพรรค NLD (ภาพจาก Myanmar Times)

ไม่ใช่แต่ศิลปินวัยรุ่นเท่านั้นที่เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมในยุคเผด็จการทหาร ศิลปินบางคน เช่น ซากานาร์ (Zaganar) ชื่อในวงการของหม่อง ธุรา (Maung Thura) ซึ่งแปลว่า ‘แหนบ’ ใช้มุกตลกและเสียงหัวเราะเป็นอาวุธในการต่อสู้กับเผด็จการ

ชาวพม่ารู้จักซากานาร์เป็นอย่างดีและยกย่องให้เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยคนสำคัญ เขาอาจมีผู้รู้จักและนับถือมากใกล้เคียงกับออง ซาน ซู จี เลยทีเดียว

ซากานาร์ (ภาพจาก www.liberation.fr)
ซากานาร์ (ภาพจาก www.liberation.fr)

ผลงานของซากานาร์คล้ายกับวง Acid เพราะเขาเลือกใช้สัญลักษณ์ การล้อเลียน (parody) และมุกตลกเป็นเครื่องมือต่อต้านเผด็จการ การแสดงของเขาไม่ว่าจะเป็นบนเวที ทั้งในรูปแบบของทอล์คโชว์และการแสดงแบบคณะตลกที่เรียกว่า ‘อะเญง’ (anyeint) รวมถึงการปรากฏตัวบนจอเงินและจอแก้ว ได้รับความนิยมอย่างมาก ซากานาร์เชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตยและเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในปี 1988 แต่ถูกจับกุมและถูกส่งไปเรือนจำอินเส่ง (Insein) เรือนจำควบคุมนักโทษการเมืองและมีชื่อเสียงในเชิงลบมากที่สุด

หลังจากนั้นเขาก็เข้าๆ ออกๆ เรือนจำหลายครั้ง แต่เนื่องจากเป็นผู้มีการศึกษาดี เรียนจบจากวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เขาจึงใช้ชั้นเชิงในการพูด ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอยู่บ่อยครั้ง ซากานาร์ยังแชร์อุดมการณ์เดียวกับ Acid พวกเขาเชื่อมั่นว่าพลังของคนหนุ่มสาวจะเป็นรากฐานที่ดีให้กับสังคมในอนาคต ซากานาร์ฝึกคนหนุ่มจำนวนหนึ่งให้เป็นศิลปินตลกในคณะอะเญง

ซากานาร์มิได้ลงไปคลุกคลีกับวงการการเมืองระดับชาติอย่างเต็มตัว (เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ระหว่างชาวพุทธยะไข่กับชาวโรฮิงญาครั้งแรกในปี 2012 แต่คณะกรรมการนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก) ในปัจจุบัน เขาเป็นผู้ก่อตั้ง HOME (The House of Media and Entertainment) องค์กรที่ทำหน้าที่เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในพม่า

ในส่วนของศิลปินประเภททัศนศิลป์ ธีมของศิลปะร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในพม่าเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องการเมือง มีจำนวนน้อยที่นำเสนอเรื่องสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ ศิลปินบางส่วนเคยเป็นนักโทษการเมือง และใช้สื่อผสมผสานเพื่อแสดงออกถึงการปิดกั้นเสรีภาพในยุคเผด็จการทหาร ศิลปินชาวพม่ากลุ่มนี้ได้รับโอกาสในต่างประเทศ บางคนเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และเคยเป็นนักโทษการเมืองมาก่อน

เทง ลิน (Htein Lin) เป็นศิลปินร่วมสมัยที่อาจเรียกได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุดในพม่ายุคปัจจุบัน จนได้รับยกย่องว่าเป็น ‘บรมครู’ (grand master) แห่งวงการศิลปะร่วมสมัยในพม่า[5] ชีวิตของเทง ลิน ไม่ต่างจากศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในโลกตะวันตกนัก เพราะเต็มไปด้วยดราม่า ปม และความขมขื่นนานา

เทง ลิน (ที่สามจากซ้าย) และอดีตนักโทษการเมืองกับศิลปะในชุด A Show of Hands ซึ่งเขาเคยนำไปจัดแสดงที่ Asia Society Museum ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพจาก www.asiasociety.org)
เทง ลิน (ที่สามจากซ้าย) และอดีตนักโทษการเมืองกับศิลปะในชุด A Show of Hands ซึ่งเขาเคยนำไปจัดแสดงที่ Asia Society Museum ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพจาก www.asiasociety.org)

ชีวิตและชะตาชีวิตของเทง ลิน ก็คล้ายๆ กับนักการเมืองและศิลปินอีกหลายชีวิตในพม่าที่ล้วนเคยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ ถูกซ้อมทรมาน และถูกพรากจากคนที่รัก แต่ทุกคนล้วนมีความหวังและความใฝ่ฝันว่าพม่าจะมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม

เทง ลิน นิยามตนเองว่าเป็นศิลปินและนักเขียน ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง[6] เมื่อครั้งอยู่พม่า เขาไม่เคยเรียนในโรงเรียนศิลปะ แต่พัฒนาความชื่นชอบศิลปะร่วมสมัยเมื่อเข้าร่วมการประท้วงในปี 1988 และต้องหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลเข้าไปในฝั่งอินเดีย เขาใช้เวลาถึง 4 ปีในค่ายผู้อพยพชายแดนอินเดีย-พม่า และชายแดนจีน-พม่า เมื่อกลับไปพม่าและเริ่มเลี้ยงชีพโดยการเป็นนักแสดง เขาก็ถูกจับด้วยข้อกล่าวหาว่าดำเนินกิจกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำถึง 6 ปี เทง ลิน เริ่มงานศิลปะด้วยวัสดุที่พอจะหาได้ในเรือนจำ เช่น เสื้อนักโทษที่เขาใช้ทดแทนผืนผ้าใบเพื่อวาดรูป เข็มฉีดยาที่เขาใช้ระบายสีแทนพู่กัน และไหว้วานให้ผู้คุมเรือนจำที่คุ้นเคยกัน (พร้อมกับเงินใต้โต๊ะอีกเล็กน้อย) ซื้อสีน้ำ สีน้ำมัน และสีทาบ้านเข้ามาให้[7] ในช่วงหลายปีที่อยู่ในเรือนจำ เขาแอบนำรูปออกมาได้ถึง 300 รูป รูปที่เทง ลิน วาดในช่วงแรกๆ สื่อให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานของนักโทษการเมืองในพม่า ที่ต้องอยู่ในเรือนจำที่คับแคบและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนักโทษอยู่บ่อยครั้ง

ภาพวาดในยุคแรกๆ ของเทง ลิน ที่วาดลงบนชุดของนักโทษ และใช้สื่อหลากหลายเท่าที่จะหาได้ในเรือนจำ
ภาพวาดในยุคแรกๆ ของเทง ลิน ที่วาดลงบนชุดของนักโทษ และใช้สื่อหลากหลายเท่าที่จะหาได้ในเรือนจำ (ภาพจาก www.charlestoncitypaper.com)

นอกจากภาพวาดและประติมากรรมบางส่วนจากช่วงที่เทง ลินอยู่ในเรือนจำแล้ว ยังมีงานศิลปะอีกบางส่วนที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดี จริงอยู่ว่าปัจจุบันพม่าเริ่มเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว แต่เทง ลิน และศิลปินร่วมสมัยในพม่าก็เห็นพ้องกันว่าศิลปินยังต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมอยู่ ทั้งเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ศิลปะกับสังคม และเรื่องอื่นๆ

งานแสดงครั้งใหญ่ที่สุดของเทง ลิน ใน ปี 2015 มีชื่อว่า ‘A Show of Hands’ เป็นงานที่บอกเล่ามุมมองของเขาเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนักโทษการเมืองในพม่า เขาใช้ปูนปลาสเตอร์หล่อมือของอดีตนักโทษการเมืองในพม่าที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศ และจัดแสดงมือดังกล่าวหลายร้อยชิ้น

ไอเดียนี้เกิดขึ้นตอนที่เขาประสบอุบัติเหตุจนทำให้แขนหัก หมอที่ลอนดอนใช้เฝือกปูนปลาสเตอร์ดามกระดูกเขาให้เชื่อมกัน ทำให้เขาเริ่มสร้างงานศิลปะว่าด้วย ‘การหัก การซ่อมแซม และการรักษา’[8] งานแสดงชิ้นสำคัญนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สำคัญในพม่า กล่าวคือในปี 2012-13 มีนักโทษการเมืองหลายพันคนที่ได้รับอิสรภาพ หลังมีการปฏิรูปการเมืองในสมัยประธานาธิบดีเตง เส่ง เขา ‘ขอมือ’ เพื่อนๆ ของเขาเพื่อมาจัดแสดง เพื่อบอกเล่าความทารุณโหดร้ายที่นักโทษการเมืองในพม่าต้องประสบจากสภาวะการเมือง สังคม และเศรษฐกิจพม่าที่แตกสลาย

ผู้เขียนมีโอกาสพบกับเทง ลิน หลายครั้ง เมื่อครั้งที่พำนักอยู่ที่ลอนดอน เพราะครูสอนภาษาพม่าของผู้เขียนรู้จักคุ้นเคยกับเทง ลิน และภรรยา วิกกี้ โบว์แมน (Vicky Bowman) อดีตเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำพม่าเป็นอย่างดี และมีโอกาสได้ไปชมงานจัดแสดงชุดแรกๆ ของเขา หรือที่รู้จักกันว่าเป็นศิลปะจากในคุก

เทง ลินอาจโชคดีกว่าศิลปินพม่าหลายๆ คน ตรงที่เขามีโอกาสได้ทำงานศิลปะนอกพม่า ประสบการณ์ 6 ปีของเขาในลอนดอนนำพาให้เขาไปพบกับแกลลอรี่ชั้นนำ หน่วยงานที่ทำงานด้านศิลปะกับสิทธิมนุษยชน และนักสะสมศิลปะจากทั่วโลก งานของเทง ลินถูกกว้านซื้อโดยแกลลอรี่ในต่างประเทศ

เนื่องจากงานของเขากล่าวถึงสิทธิมนุษยชนและปัญหาทางการเมืองของพม่าเป็นหลัก เขาจึงได้รับความสนใจจากผู้นิยมศิลปะและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เทง ลินจึงกลายเป็นกระบอกเสียงประกาศให้โลกรู้ถึงความป่าเถื่อนในสังคมที่ถูกเผด็จการทหารครอบงำมาหลายสิบปี และไม่แปลกที่ใครหลายคนจะเรียกเขาว่า ‘อ้ายเหว่ยเหว่ย แห่งพม่า’

ผู้เขียนเคยได้ยินศิลปินและภัณฑารักษ์บางคนพูดว่า “ศิลปะคือการเมืองในพม่า”[9] กล่าวคือศิลปินเกือบทั้งหมดเลือกสร้างสรรค์งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมือง พวกเขาใช้งานศิลปะและจินตนาการที่ไม่สิ้นสุดบอกเล่าประสบการณ์อันแสนบอบช้ำ และส่งข้อความให้ชาวโลกเห็นความระยำตำบอนของระบอบเผด็จการทหาร

นี่คือหน้าที่ของศิลปะเพื่อชีวิตและเพื่อสังคม ซึ่งอยู่คู่กับสังคมพม่ามาช้านาน

แม้ในปัจจุบันการเมืองและสังคมพม่าจะเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ศิลปินในพม่าก็ยังไม่หยุดกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นว่ายังมีปัญหาอีกมากมายในสังคมที่รอการแก้ไข และประชาธิปไตยมิได้เป็นเพียงการเปลี่ยนรัฐบาลหรือการปฏิรูปการเมืองแบบผิวเผิน ศิลปะคอยเตือนให้สังคมตระหนักรู้อยู่เสมอว่าความคิดและจินตนาการยังเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างสังคมสมัยใหม่ หลังยักษ์ใหญ่อย่างพม่าหลับใหลมานานถึง 5 ทศวรรษ

เชิงอรรถ

[1] “Rapping on the frustrations of life in Burma,” Mizzima, 26 May 2011: http://archive-1.mizzima.com/edop-38165/features-1591/5327-rapping-on-the-frustrations-of-life-in-burma

[2] “Acid – Myanmar’s hip-hop godfathers – to reunite at the Clubhouse tonight,” Coconuts Yangon, 22 September 2017: https://coconuts.co/yangon/lifestyle/acid-myanmars-hip-hop-godfathers-reunite-clubhouse-tonight/

[3] “‘Generation Wave’ youths challenge Burmese junta,” The Observers, 9 January 2010: http://observers.france24.com/en/20100901-generation-wave-youths-challenge-burmese-junta-burma-graffiti

[4] Nyein Ei Ei Htwe and Myo Satt, “Veteran Myanmar rappers pass the ACID test,’ Myanmar Times, 3 August 2015: https://www.mmtimes.com/lifestyle/15799-veteran-myanmar-rappers-pass-the-acid-test.html

[5] Lae Phyu Pya Myo Myint, “Myanmar: the deal of the art,” The Myanmar Times, 13 July 2017: https://www.mmtimes.com/lifestyle/26793-myanmar-the-deal-of-the-art.html

[6] ดูประวัติและที่มาของงานเทง ลินได้ที่เว็บไซต์ของเขา: http://www.hteinlin.com/about/

[7] Jane Perlez, “From a Burmese Prison, a Chronicle of Pain in Paint,” The New York Times, 23 August 2013: http://www.nytimes.com/2007/08/13/world/asia/13prisoners.html

[8] “A Show of Hands by Htein Lin”: http://www.hteinlin.com/a-show-of-hand/

[9] “BRANDNEW 2017 Art Project – Haymann Oo (Curator)”: https://www.youtube.com/watch?v=4 tBAncu95 MU&feature=youtu.be

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save