fbpx
จากเพศที่หนึ่ง ถึงเพศบรรพชิต : ลอกคราบ ‘มะลิลา’ กับ อนุชา บุญยวรรธนะ

จากเพศที่หนึ่ง ถึงเพศบรรพชิต : ลอกคราบ ‘มะลิลา’ กับ อนุชา บุญยวรรธนะ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

เจ็บปวด หมิ่นเหม่ งดงาม คือคำนิยามที่ผุดขึ้นมาในหัวของผมหลังจากชมภาพยนตร์เรื่อง ‘มะลิลา’

เท่าที่จำความได้ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ตัดสินใจเดินเข้าโรงหนังเพื่อดูหนังชายรักชาย อาจเพราะตัวอย่างหนังและตัวนักแสดงนำ ที่กระตุ้นและท้าทายความเชื่อส่วนตัวบางอย่าง รวมถึงรางวัลที่ห้อยท้ายมากมายก่อนเข้าฉายในประเทศไทย

เกย์ พระธุดงค์ พิธีบายศรี หลอมรวมเป็นเรื่องราวที่หมิ่นเหม่หลายระดับ ยากแก่การตัดสิน กลิ่นดอกมะลิลอยปนกลิ่นศพ

ดูจบแล้วพบคำถามมากกว่าคำตอบ

“หายากนะ ผู้ชายแท้ๆ ที่จะเข้าไปดูหนังของฉันเนี่ย”

เธอเริ่มต้นบทสนทนาด้วยท่าทีแปลกใจ หลังจากผมเล่าให้ฟังว่าไปดูหนังเรื่องนี้มา และมีประเด็นบางอย่างที่อยากคุยกับเธอ

ผมเรียกเธอว่า ‘นุชี่’ ซึ่งเป็นชื่อที่ทุกคนเรียกกัน ทว่าชื่อจริงของเธอนั้นคืออนุชา

ภายใต้ร่างสูงโปร่ง ผมยาวสลวย ผมรู้สึกว่าเธอเป็นคนที่สวยเท่ จริตอ่อนโยนกับความเยือกเย็นผสมกันในสัดส่วนที่มีเสน่ห์

อาชีพและความสนใจหลักคือการทำหนัง ตั้งต้นตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

เพศ สังคม ศาสนา คือประเด็นที่ปรากฏอยู่ในงานของเธอเสมอ นับจาก ‘Scarlet Desire’ หนังสั้นเรื่องแรกเมื่อ 17 ปีก่อน จนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง ‘มะลิลา’ ซึ่งเธอนิยามว่าเป็นหนังประเภท นิช-ในนิช-ในนิช

ภายในห้องทำงานที่รายล้อมไปด้วยน้ำหอมวินเทจและผนังปูนเปลือย ผมชักชวนเธอเปลือยกลีบมะลิลา

คำเตือน—เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยสาระสำคัญที่ไม่ได้อยู่ในหนัง แต่อยู่ในใจของผู้กำกับหนังเรื่องนี้

 

อนุชา บุญยวรรธนะ

จากประสบการณ์การทำหนังที่ผ่านมา คุณพบอุปสรรคอะไรบ้างในการทำหนังชายรักชาย

เรามองว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้างกับเพศทางเลือกนะ เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ แต่การที่ผู้ชายแท้ๆ จะเดินเข้าไปดูหนังเกย์ ก็อาจเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวด้วย

เรารู้สึกว่าในสังคมไทย ผู้ชายจะให้การยอมรับเพศทางเลือกในขอบเขตที่ว่าคนเหล่านี้ไม่ไปทำอะไรให้เขาเดือดร้อน หรือทำอะไรที่มันดูรกหูรกตามากนัก ถ้าแบบนี้ก็รับได้ อยู่ร่วมกันได้ แต่ถามว่ามีสักกี่คนที่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของเพศทางเลือกอย่างถ่องแท้ เราว่ามีน้อยมาก เช่นเดียวกับการยอมรับว่าหนังเกย์ก็เหมือนหนังทั่วๆ ไป ไม่ต่างจากหนังประเภทอื่น ทุกวันนี้คงมีน้อยคนที่มองแบบนั้น

หมายความว่ากลุ่มคนดูที่เป็นผู้ชายทั่วไป อาจไม่สนใจหนังประเภทนี้สักเท่าไหร่

เท่าที่ดูจากกระแส เราคิดว่าผู้ชายหลายคนรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจนะ แต่การตัดสินใจว่าจะไปดูหรือไม่ ก็ยังมีกำแพงบางอย่างอยู่

ผู้ชายบางคนอาจอยากดู แต่ลึกๆ อาจรู้สึกว่า อย่าเลย เพราะมันดูเป็นหนังเกย์ การเดินเข้าโรงไปดูอาจทำให้เขารู้สึกไม่สบายตัว หรืออาจกลัวว่าถ้าเข้าไปดูจริงๆ กูจะรับไหวไหม เพราะจากหนังตัวอย่างที่ออกมา มันเห็นอยู่แล้วว่าต้องมีภาพผู้ชายจูบกัน มีอะไรกัน แล้วกูจะดูภาพแบบนั้นไหวรึเปล่า เราว่ามันง่ายมากกับการที่เขาจะเปลี่ยนใจ ไม่เข้าไปดู ซึ่งเราก็เข้าใจ สุดท้ายแล้วการดูหนังสักเรื่องก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวด้วย ซึ่งเราไม่สามารถไปกะเกณฑ์อะไรได้

ทีนี้พอผู้ชายไม่ดู ก็จะพาให้ผู้หญิงไม่ดูตามไปด้วย (หัวเราะ) เพราะส่วนใหญ่เวลาคนไปดูหนัง ก็จะไปดูกับแฟนบ้าง กับเพื่อนบ้าง พอมันมีกำแพงแบบนี้ ก็อาจทำให้คนที่อยากดูหนังเรื่องนี้มันหายไป ทั้งที่เขาอยากดู

แง่หนึ่งก็ยากเหมือนกัน อย่างเราเป็นเพศทางเลือก เป็นกะเทย เป็นเกย์ เวลาดูหนังรักชายหญิง เราดูได้ แต่การจะให้คนที่เป็นชายจริงหญิงแท้มาดูหนังของเรา หรือมองเพศเราเสมือนเรื่องปกติ คงเป็นเรื่องยาก อาจใช้เวลาอีกเป็นร้อยปีกว่าที่ความคิดคนจะพัฒนา และสังคมก็ต้องเปลี่ยนแปลงอีกเยอะมาก กว่าจะไปถึงขั้นนั้น

แล้วหลังจากหนังเข้าฉาย คุณคิดว่ามันสามารถทลายกำแพงที่ว่ามาได้บ้างไหม

ก็เซาะๆ ได้นิดนึง แง่หนึ่งเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่บางอย่างกับสังคมไปแล้ว โดยที่คนไม่ต้องเข้ามาดูหนังก็ได้ อย่างน้อยคนที่ได้เห็นตัวอย่างหนัง ได้อ่านรีวิวหรือบทวิจารณ์ ก็น่าจะเห็นประเด็นบางอย่างที่เราอยากนำเสนอแล้ว

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า การที่คนรู้ว่าเวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) ซึ่งเป็นไอดอลของผู้ชายหลายคน และเป็นขวัญใจของผู้หญิงมากมาย รับเล่นบทชายรักชายในหนังเรื่องนี้ ก็น่าจะทำให้เขาฉุกคิดอะไรบ้างว่าตอนนี้โลกมันไปถึงไหนแล้ว หรือเราควรมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องปกติได้แล้ว

ในมุมของนักแสดง โดยเฉพาะบทของเวียร์ พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าทำไมเขาถึงตอบรับเล่นบทนี้

พอดีลกันได้ว่าเป็นการแสดง ก็จบเลย ต้องยอมรับตัวของเวียร์เองก็เป็นผู้ชายที่เปิดกว้างด้วย

ตอนที่เราชวนเขามาเล่นบทนี้ เขาก็เห็นว่าเป็นบทที่ดี มีคุณภาพ เขาก็เลยรับ เหมือนเขามองว่ามันคือความท้าทายในชีวิตการแสดงของเขา และมันไม่เห็นเสียหายอะไร

แล้วถ้าพูดถึงเรื่องภาพลักษณ์ เขาก็ไม่มีอะไรต้องกังวล คนไม่กังขาอยู่แล้วว่าเวียร์จะเป็นเกย์รึเปล่า ส่วนตัวเขาเองก็ไม่ได้สนใจว่าคนจะมองยังไงด้วย เวียร์เคยพูดกับเราว่า เพศอะไรก็คนเหมือนกัน เท่ากัน ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ชายแล้วจะดีกว่าเพศอื่น พอเขาเห็นว่าบทนี้น่าสนใจ และเขาเชื่อมั่นในทีมงาน เชื่อมั่นในผู้กำกับ ก็โอเค จบ

แล้วในแง่ของการแสดง การกำกับ มีวิธีการอย่างไรที่ทำให้แสดงได้สมจริงและเป็นธรรมชาติขนาดนั้น

มันอยู่ในกระบวนการเวิร์กช็อปการแสดง ที่จะทำให้เขาเชื่อได้ว่านี่คือคนรักของเขาจริงๆ เราจะมีการซ้อมฉากที่ไม่ปรากฏในหนัง เช่น ฉากที่เป็นปูมหลังของตัวละคร เขาเจอกันยังไง รักกันยังไง มีความทรงจำร่วมกันอย่างไร เพื่อที่เวลาเข้าฉากจริง เขาจะได้ดึงความทรงจำเหล่านี้มาใช้ ซึ่งเมื่อเขาเชื่อว่านี่คือคนรักของเขา ถึงเวลาเราก็แค่ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไป ในเมื่อนี่คือคนรัก การจูบกัน สัมผัสกัน ก็ย่อมทำได้

หรือฉากการปลงอสุภะ ที่ต้องจ้องมองศพ เราก็พานักแสดงไปเวิร์กช็อปก่อน พาไปที่วัดแห่งหนึ่ง ให้ไปนั่งทำกรรมฐานอยู่กับศพ ทั้งนักแสดงทั้งผู้กำกับ พระท่านก็เปิดโลงให้ดู แล้วก็นั่งอยู่กับศพแบบหนึ่งต่อหนึ่ง

แต่นอกเหนือจากการเวิร์กช็อปปูมหลังของตัวละคร ซึ่งเราทำกันแบบละเอียดมาก หลายฉากมาก เรายังใช้เรื่องบรรยากาศเข้ามาช่วยด้วยอีกทาง เรารู้สึกว่านักแสดงหลักทั้งสองคน คือเวียร์ และ โอ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) เขามีคุณสมบัติหนึ่งที่เหมือนกันคือความเซ็นซีทีฟ สองคนนี้ค่อนข้างเซ็นซิทีฟกับทุกสิ่ง ฉะนั้นบรรยากาศการถ่ายทำ จึงต้องเอื้อให้เขารู้สึกในสิ่งเหล่านั้นได้ด้วย เช่น ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังเดินอยู่ในสวนมะลิของเขา นอนอยู่ในที่ที่เป็นของเขา เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกและแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ

จริงๆ แล้วการแสดงที่เห็นในเรื่องนี้ มันเกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานมาก ก็คือการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ตอนเธอเดินอยู่ตรงนี้เธอได้กลิ่นอะไร ได้ยินเสียงอะไร รู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ค่อยๆ เร้าให้เขาดึงเอาความทรงจำ ดึงเอาความรู้สึกในฉากนั้นๆ ออกมา

 

นอกจากกำแพงเรื่องเพศ หนังเรื่องนี้ยังพูดถึงเรื่องศาสนา ซึ่งถือเป็นอีกกำแพงที่ใหญ่เหมือนกัน เป็นความตั้งใจแต่แรกเลยไหม ว่าจะท้าทายกำแพงเหล่านี้

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เรารู้สึกว่า มะลิลา เป็นหนังที่นิช-ในนิช-ในนิช คือมีความเฉพาะทางซ้อนกันอยู่หลายชั้นมาก ชั้นแรกคือเป็นหนังชายรักชาย ซึ่งกลุ่มคนดูก็น้อยมากอยู่แล้ว ชั้นถัดมาคือเรื่องศาสนา ชั้นสุดท้ายคือเป็นหนังอาร์ต

แต่ถามว่าสุดท้ายแล้ว มันดูยากขนาดนั้นไหม ก็ไม่ขนาดนั้น เราว่าคนดูทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ เพียงแต่มันเป็นหนังที่คนอาจไม่คุ้นเคยเท่าไหร่

อนุชา บุญยวรรธนะ

การหยิบประเด็นเรื่องเพศทางเลือกกับศาสนาพุทธมาชนกัน ได้ไอเดียมาจากไหน

ส่วนหนึ่งก็เป็นประสบการณ์จริงจากชีวิตเราด้วย แนวคิดหนึ่งที่หนังเรื่องนี้นำเสนอ ก็คือเรื่องความลื่นไหลทางเพศ

จากที่เราประสบมา เรารู้สึกว่าผู้ชายไทยหลายคน เป็นพวกที่มีความลื่นไหลทางเพศโดยไม่รู้ตัว ผู้ชายบางคนที่เคยเป็นแฟนเรา เขาก็เคยมีแฟนเป็นผู้หญิงมาก่อน ผู้ชายบางคน อาจเคยมีอะไรกับกะเทย แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายอยู่

อย่างตัวเอกในเรื่องมะลิลา ก็เคยมีลูกมีเมียมาก่อน

ใช่ คำถามคือกรณีแบบนี้ หมายความว่าเขาเป็นเกย์ เป็นผู้ชาย หรือเป็นอะไร

ในมุมของเรา เรามองว่าเรื่องเพศมันมีความเปลี่ยนแปลง ลื่นไหล อยู่เสมอ วันนี้คุณอาจเป็นผู้ชายที่ชอบผู้หญิง แต่วันหนึ่งคุณอาจรู้สึกชอบผู้ชายขึ้นมาก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผิด ฉะนั้นการไประบุหรือนิยามว่าใครเป็นอะไร อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญด้วยซ้ำในยุคนี้ ในหนังก็แสดงให้เห็นมุมนี้เหมือนกัน ว่ามันเกิดขึ้นได้

แล้วพอตัวเอกตัดสินใจบวช เขาก็เปลี่ยนเพศอีกครั้ง คือเป็นสมณเพศ หรือเพศบรรพชิต ซึ่งส่วนตัวเรามองว่าเป็นเพศวิถีอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากเพศชาย ห้ามมีกิจกรรมทางเพศ ต้องอยู่ในกรอบของศีลต่างๆ นานา ฉะนั้นผู้ชายทุกคนที่เคยบวช ล้วนผ่านการลื่นไหลทางเพศมาแล้วทั้งสิ้น

การนำเสนอตัวละครเกย์ที่บวชเป็นพระ มีอะไรต้องระมัดระวังไหม

จากกระแสโดยรวมที่ออกมา เรารู้สึกว่าคนที่ได้ดูก็ไม่ค่อยมีใครติดใจนะ เรื่องเกย์บวชเป็นพระ เพราะเขารู้สึกว่าแบบนี้มันทำได้ ไม่ผิด เพื่อนเราหลายคนที่เป็นเกย์ เป็นกะเทย ก็บวชเป็นพระได้ ถ้าเขาปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ได้ทำอะไรเสื่อมเสีย เขาก็บวชได้ เป็นเพศบรรพชิตได้

ส่วนเรื่องเสื่อมเสีย มันเป็นเรื่องรายบุคคล อย่างพระที่เอาเมียไปซุกในวัด หรือพระเกย์ที่มีอะไรกับเด็กผู้ชาย แบบนั้นก็ถือว่าผิด ต้องอาบัติ แต่คนที่เขาปฏิบัติดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย หรือเป็นเกย์ ก็ไม่มีปัญหาอะไร

เรารู้สึกว่าภาพที่ปรากฏในหนัง กระทั่งในตัวอย่างที่ปล่อยออกมา สิ่งที่ชัดเจนคือเวียร์เล่นเป็นพระธุดงค์ พอเป็นพระธุดงค์มันจบเลย เหมือนว่ามันล้างทุกอย่างไปหมดเลย โอเค คุณอาจเป็นเกย์มาก่อน แต่คุณกลายเป็นพระธุดงค์แล้ว คนก็อาจยอมรับได้ว่า ถึงคุณจะเป็นเกย์ หรือเป็นเพศอะไรมา แต่พอคุณเปลี่ยนมาเป็นเพศบรรพชิต และทำตัวอยู่ในศีลในธรรม มันก็น่าจะโอเค สังคมยอมรับได้ แต่ถ้าคุณเกิดทำตัวไม่อยู่ในศีลในธรรม สังคมก็อาจรับไม่ได้

ถ้ามองแง่นี้ เราว่าหนังประสบความสำเร็จนะ เพราะมันชัดตั้งแต่แรกว่าเรื่องนี้มีทั้งพระ ทั้งเกย์ แต่ไม่มีใครที่ออกมาด่า หรือตีตราว่าผิด ว่าไม่ดี แล้วถ้าว่ากันตามหลักการ สิ่งที่ปรากฏในเรื่องนี้ ไม่มีจุดไหนที่ผิดศีลเลย อย่างฉากที่พระกอดกับศพ ซึ่งเป็นคนรักผู้ชายของเขา ถ้าเปลี่ยนคนรักเป็นผู้หญิง เราว่าอาจถูกแบนได้ แต่พอเป็นผู้ชาย เอ๊ะ มันก็ได้นี่หว่า (หัวเราะ)

 

การถ่ายทอดประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว มีวิธีการเล่าเรื่องอย่างไรให้คนดูไม่รู้สึกว่าถูกชี้นำ หรือถูกยัดเยียดความคิดบางอย่าง

ในฐานะศิลปิน เราบอกว่าเรานับถือศาสนาพุทธก็จริง แต่เราจะเลื่อมใสไม่ได้ เพราะมันจะปิดการวิพากษ์วิจารณ์ ถามว่าเราทำหนังเรื่องนี้เพื่อเชิดชูศาสนาพุทธรึเปล่า ถ้าคนที่ได้ดู ก็จะรู้สึกว่าไม่ขนาดนั้น หนังยังเปิดให้คนดูวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงตัวหนังเอง ก็วิพากษ์วิจารณ์ศาสนาพุทธไปในตัวด้วย

เราคิดว่าคนทำหนัง คนที่เป็นศิลปิน ต้องทำหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างในเรื่องนี้เราก็วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่ใหญ่เหมือนกัน คือตั้งคำถามว่าศาสนายังเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ ในเรื่องมีการพูดถึงสงคราม มีคนเอาศพมาทิ้ง แต่ศาสนากลับทำอะไรไม่ได้ นอกจากเอาผลพวงของสงครามมานั่งพินิจเพื่อปลดปลงตัวเอง

คำถามคือศาสนาสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นไหม หรือการทำพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบายศรี หรือการบวช สุดท้ายแล้วมันเป็นประโยชน์ต่อชีวิตจริงหรือไม่

 

ที่บอกว่า ศิลปินต้องไม่เลื่อมใส อยากให้ขยายความหน่อย

ในฐานะคนทำหนัง แม้เราจะเห็นด้วยหรือเลื่อมใสกับแนวคิดบางอย่าง แต่เวลาทำงาน เราจะเอาตัวไปจมอยู่กันมันไม่ได้ ต้องก้าวออกมาแล้วมองมันหลายๆ มุม ต้องคิดโต้แย้งกับมัน หนังมันถึงจะก่อให้เกิดการถกเถียงตีความ และเกิดเป็นคุณค่าต่อสังคมขึ้นมา แต่สมมติถ้าเราพยายามเสนอหลักธรรมหรือเชิดชูแนวคิดบางอย่าง หนังก็อาจขาดคุณค่าไปอย่างน่าเสียดาย

 

ว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่ศิลปินหรือคนทำหนังทุกคนที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้

ก็แล้วแต่แนวด้วย แต่เราว่างานศิลปะที่ดีควรก่อให้เกิดการถกเถียงหรือมองได้หลายแง่มุม ไม่ใช่ทำมาเพื่อเชิดชูบางสิ่งบางอย่าง หรืออาจเชิดชูก็ได้ เพียงแต่มันต้องก่อให้เกิดการถกเถียงได้ด้วย

แต่การถอยออกมามอง ก็ต้องอาศัยการรู้เท่าทันตัวเองพอสมควร เช่น ถ้าเราอินกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ แล้วอยากทำเรื่องนั้นมาก การถอยออกมาอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

สุดท้ายเราไม่สามารถระบุหรือกำหนดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ว่าจะไม่ชี้นำ เพราะในกระบวนการทำหนัง แต่ละฉาก แต่ละตอน มันคือการคัดเลือกของเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราก็ต้องเปิดช่องว่างให้มีการถกเถียงได้

หนังเรื่องนี้ บางคนอาจมองว่าเราเอียงไปทางพุทธก็ได้ แต่เราก็นำเสนอในสิ่งที่เราเคยพบเจอมา ซึ่งเป็นความจริงในแง่มุมของเรา ไม่ใช่ความจริงสูงสุด ส่วนใครดูแล้วจะคิดอย่างไรก็ปล่อยไป

อนุชา บุญยวรรธนะ

สังเกตว่างานของคุณ นอกจากจะตั้งต้นจากความชอบและประสบการณ์ของตัวเองแล้ว ยังมีแง่มุมที่ตั้งคำถามกับสังคมด้วย อยากรู้ว่าบาลานซ์สองสิ่งนี้ยังไง

สำหรับเรา เราไม่ต้องบาลานซ์ เพราะเราคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของศิลปินอยู่แล้ว

เวลาเราทำหนัง เราคิดถึงประเด็นทางสังคมอยู่แล้ว เพียงแต่มันต้องเป็นเรื่องที่เราชอบด้วย ถ้าเราไม่ชอบเราจะทำหนังไปเพื่ออะไร เมื่อศิลปินสักคนตั้งใจทำงานศิลปะสักอย่าง เขาก็ต้องเลือกสิ่งที่ดี เลือกสิ่งที่เขาชอบ และให้อะไรบางอย่างกับคนดู แต่คงไม่ใช่การทำเพื่อสนองนี้ดตัวเองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

อย่างเรื่องมะลิลา เราก็ไม่ได้ทำเรื่องของเราเองทั้งหมด ตัวละครเอกที่ชื่อ พิช ก็ไม่ใช่ตัวแทนเรา ไม่ใช่ว่าเราอยากได้กับเวียร์ แล้วก็ให้เวียร์มาปล้ำกับเราผ่านละคร (หัวเราะ) ในทางกลับกัน มันมีความเป็นตัวเราอยู่ในตัวละครทุกตัว แล้วแต่ว่าจะเป็นมุมไหน ส่วนที่เหลือก็ประกอบสร้างขึ้นมาจากคนที่เราเคยรู้จัก รวมไปถึงจากตัวนักแสดงเอง ที่ช่วยหลอมให้เกิดตัวละครตัวหนึ่งขึ้นมา

จากกระแสที่ออกมา ถือว่าเป็นไปตามคาดหวังไหม หรือมีอะไรที่น่าแปลกใจรึเปล่า

เราว่ากระแสด้านลบมันน้อยกว่าที่คิดนะ เมื่อเทียบกับหนังเกย์ก่อนหน้านี้ที่เข้าตามโรงใหญ่ๆ ถ้าลองเข้าไปดูกระแสตามเพจต่างๆ จะพบว่า 90% เป็นกระแสทางลบหมดเลย แต่เรื่องนี้กลับตรงกันข้าม คือคอมเมนต์ด้านลบมีแค่ประมาณ 10%

แต่แง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เป็นเพราะหนังเราได้ไปฉายต่างประเทศและได้รางวัลมาด้วย กระแสถึงออกมาในทางนี้ สมมติว่าถ้าเราไม่ได้รางวัล กระแสลบคงมากกว่านี้ รวมถึงตัวนักแสดงนำก็มีส่วน เพราะทุกคนก็รู้ว่าทั้งสองคน ไม่ใช่คนที่รับงานสะเปะสะปะ แล้วการที่ดาราระดับนี้กล้ารับบทแบบนี้ มันก็บอกเป็นนัยๆ เหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้ต้องไม่ธรรมดา ต้องเป็นบทที่เขาเลือกแล้ว

ด้วยปัจจัยที่ว่ามา จึงทำให้คนที่อาจมีอคติ เลือกที่จะสงบปากสงบคำ หรือรู้สึกว่ายังไม่อยากตัดสินหนังในเวลานี้ เหมือนรอดูก่อนว่ากระแสโดยรวมเป็นยังไง พูดง่ายๆ ว่ายังไม่กล้าด่า ไม่ใช่ว่าเห็นปุ๊บก็บอกว่าต่ำ ทำไมมีแต่หนังแบบนี้ออกมาอีกแล้ว อะไรทำนองนี้

หรือบางคนที่เขาเปิดใจ อาจมองอีกแง่ว่าจริงๆ มันอาจเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ คนที่ก่อนหน้านี้เคยรับไม่ได้ หรือมีอคติกับเรื่องชายรักชาย เขาอาจเริ่มคิดใหม่ว่า หรือเดี๋ยวนี้มันเริ่มรับได้แล้ววะ แล้วมันก็น่าจะดีด้วยรึเปล่าวะ เพราะหนังได้รางวัลมา

 

ถ้ามองแง่นี้ ถือว่ารางวัลก็มีผลมากเหมือนกัน ในแง่การสร้างความรับรู้ที่เป็นบวก

ใช่ ถ้าพูดถึงกลุ่มคนดูที่เป็นผู้ชาย ถึงแม้เขาจะรู้ว่าเป็นหนังเกย์ แต่เขาอาจรู้สึกว่า ลองดูหน่อยได้ เพราะมันได้รางวัลมา ถ้าไม่มีรางวัลเลย หนังเรื่องนี้อาจเป็นหนังเฉพาะกลุ่มมากๆ อาจมีแค่สาววาย กับเกย์ ที่เข้ามาดู แต่พอได้รางวัล มันก็มีส่วนช่วยให้ฐานคนดูกว้างขึ้นนิดนึง

อีกความตั้งใจหนึ่งในการทำหนังเรื่องนี้คือ เราอยากทำให้คนที่ไม่เคยดู หรือไม่คิดจะดูหนังอาร์ต หนังรางวัล หันมาสนใจหนังประเภทนี้มากขึ้น เราคิดว่าการสร้างฐานคนดู รวมไปถึงวัฒนธรรมการดูหนังประเภทนี้ในประเทศไทย เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งพอทำเรื่องนี้ออกมา เราว่าก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่อาจเป็นชาวบ้านทั่วไป หรือเป็นคนที่ไม่ได้สนใจหนังแบบนี้ กล้าที่จะมาดูหนังของเรา และอาจทำให้เขาเห็นว่า อ๋อ หนังมันก็เล่าเรื่องแบบนี้ได้นี่หว่า หรือมันก็ไม่ได้ดูยากขนาดนั้นนี่หว่า แต่ถามว่าจะสามารถทำให้มันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาได้รึเปล่า ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราคนเดียวคงทำไม่ได้

ในฐานะคนทำหนัง แน่นอนว่าเราก็อยากให้มันทลายกำแพงต่างๆ ไปได้มากกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่าง ตั้งแต่ระบบของโรงหนัง ที่ไม่ได้เอื้อให้หนังประเภทนี้เท่าไหร่ ไปจนถึงรสนิยมของคนดูในปัจจุบัน ที่อาจมีการเปิดกว้างประมาณนึง แต่ไม่ได้กว้างถึงขนาดที่สามารถไปดูหนังเกย์กันได้อย่างปกติ และสุดท้ายถ้ามันไม่มีการสานต่อหรือสนับสนุนจากภาครัฐ มันก็คงเป็นเหมือนพลุที่แตก แล้วก็หายไป

 

อีกส่วนหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชม คือการเก็บรายละเอียด ตั้งแต่การเขียนบท การถ่ายทำ การกำกับการแสดง ไปจนถึงดนตรีประกอบ สำหรับคุณแล้วการใส่ใจรายละเอียดยิบย่อยเหล่านี้ สำคัญอย่างไร

เราไม่แน่ใจว่าผู้กำกับคนอื่นเขามีวิธีการยังไง ละเอียดแค่ไหน แต่เราก็มีความละเอียดในแบบของเรา เราชอบทำให้ทุกอย่างมีความหมาย หนังเรื่องนี้มีหลายเลเยอร์ ตั้งแต่เรื่องของความรักความสัมพันธ์ เรื่องความตาย ปรัชญา สังคม การเมือง พอหนังมันมีหลายเลเยอร์ เราก็ต้องคุมทุกองค์ประกอบ ทุกองค์ประกอบต้องมีความหมาย

หลายคนอาจบอกว่าถ่ายภาพสวยจัง แต่ส่วนตัวเรา เรามองว่ามันเป็นความธรรมดา ความเรียบง่าย แต่มันดูสวยเพราะมันมีความหมาย ซึ่งการทำให้เกิดความหมาย มันต้อง selective ต้องเลือกทุกอย่างที่อยู่ในนั้นอย่างละเอียด แล้วไม่ใช่ทำแค่ภาพเดียว หรือเฟรมเดียว แต่ต้องทำทั้งเรื่อง ความหมายถึงจะเกิด

สมมติเราเซฟเฟรมมาเฟรมนึง ให้ดูเป็นภาพนิ่ง มันจะดูธรรมดามากเลยนะ เวลาที่คนบอกว่าสวย เพราะเขาดูทั้งเรื่อง แล้วมันเกิดเป็นความหมายบางอย่างในใจเขา มันจึงสวย

 

ในฉากสุดท้าย เป็นฉากที่ตัวเอกซึ่งเป็นพระ ปลงชุดออกทีละชิ้น แล้วเดินลงไปในน้ำ เป็นฉากจบที่สวยงาม เรียบง่าย แต่ขณะเดียวกันก็ท้าทายคนดูมากๆ อยากรู้ว่ามีวิธีคิดยังไง และคุณตั้งใจให้มัน ‘หมิ่นเหม่’ ขนาดนั้นรึเปล่า

ใช่สิ แน่นอน (ยิ้ม) หนังเรื่องนี้คือการผสมกันระหว่างความเย้ายวนกับเรื่องจิตวิญญาณ นี่คือคอนเซ็ปต์ที่เห็นอยู่ทั้งเรื่อง ซึ่งฉากสุดท้ายคือจุดพีคที่สุดของการเล่นกับความเย้ายวน หลังจากที่คนดูได้เห็นภาพศพ ภาพความตาย พอได้มาเห็นฉากที่นักบวชค่อยๆ แก้ผ้า คุณยังรู้สึกว่ามันงดงามอยู่ไหม เย้ายวนไหม กระอักกระอ่วนไหม หรือมองว่ามันน่าปลง

ในเมื่อหนังพูดถึงเรื่องการไม่ยึดติด แต่ถ้าคุณดูฉากนี้แล้วยังรู้สึกกระอักระอ่วนอยู่ มันเป็นเพราะอะไร นี่เป็นฉากสุดท้ายที่คนดูน่าจะเกิดคำถามบางอย่างในใจ ขณะเดียวกันมันก็ตีความได้หลายอย่าง การที่พระแก้ผ้าลงไปแช่น้ำ หมายความว่าอะไร แค่อาบน้ำเฉยๆ หรือแปลว่าจะสึก หรือมีอะไรมากกว่านั้น ฉากสุดท้ายคือฉากที่รวมคอนเซ็ปต์ทุกอย่างเอาไว้

อนุชา บุญยวรรธนะ

เรื่องนี้ถือเป็นมาสเตอร์พีซของคุณไหม

ยังตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่เราคงไม่สามารถทำหนังที่บริสุทธิ์แบบนี้ได้อีกแล้ว หนังเรื่องนี้เกิดมาจากสิ่งที่เราชอบทั้งหมด แล้วเราก็ตั้งใจทำออกมาให้มันมีความสมบูรณ์ทางศิลปะมากที่สุด ซึ่งเราพอใจกับมันมากๆ

หนังเรื่องต่อไปเป็นแนวไหน คิดไว้บ้างหรือยัง

เราอยากทำหนังการเมือง ทำเป็นแนว thiller มีฉากแอ็คชั่น โป๊นิดๆ ลึกลับหน่อยๆ เราคิดว่าคนไทยน่าจะอยากดูนะ เพราะมันไม่มีหนังไทยที่พูดถึงการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเลย แล้วถ้าทำออกมาให้มันสนุก คนน่าจะอยากดู

ที่บอกว่าอยากทำเรื่องการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สนใจประเด็นไหนเป็นพิเศษไหม

เราอยากทำหนังการเมืองที่ทุกฝ่ายดูได้ ก็คือพูดถึงประเด็นพื้นฐาน การตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง สิทธิในการที่จะเลือก เราว่าคนไทยจำนวนมาก suffer นะ เวลามีคนมาปล้นสิทธิของเขาไป เอาไปปู้ยี้ปู้ยำ แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ เราอยากทำหนังที่ทำให้คนรู้สึกว่า เขาต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิของเขาคืนมา แต่แน่นอนว่ามันคงไม่ใช่หนังการเมืองจ๋า ซีเรียสๆ เราจะไม่ทำแบบนั้นหรอก ตอนนี้ยังไม่อยากพูดเยอะ รอดูทีเดียวดีกว่า (ยิ้ม)

คำถามสุดท้าย ขอย้อนกลับมาที่เรื่องมะลิลา จากช่วงแรกที่คุณบอกว่า หนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว โดยที่คนอาจไม่ต้องดูด้วยซ้ำ อยากให้ช่วยขยายความหน่อย เพราะดูเป็นวิธีคิดที่แปลกเหมือนกัน

ใช่ แต่เราคิดว่าคนที่อยากดู สุดท้ายเขาก็จะได้ดูอยู่ดี เพราะเดี๋ยวหนังก็ต้องถูกเผยแพร่ในช่องทางอื่น ถ้าเขามีความอยากดูอยู่แล้ว วันใดวันหนึ่งเขาก็จะได้ดู อาจดูผ่านทีวี ผ่านสตรีมมิ่ง หรือดูจากไฟล์เถื่อนที่หลุดออกมา เวลาหลุดมาแต่ละทีนี่คนดูเป็นล้านนะคะ (หัวเราะ) แต่ในโรงนี่แค่หลักหมื่น

ในที่สุดหนังมันต้องไปถึงคนดูอยู่วันยังค่ำ และเราเชื่อว่าหนังเรื่องนี้ มีคนอยากดูเยอะ มีคนรู้จักเยอะ แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่ได้เข้าไปดูในโรง

อนุชา บุญยวรรธนะ


ผลงานที่ผ่านมา ของ อนุชา บุญยวรรธนะ

  1. Scarlet Desire (2001, 17 นาที)
  2. The White Diary (2002, 32 นาที)
  3. ตามสายน้ำ / Down the river (2004, 50 นาที)
  4. The Sun Lover (2006, 7 นาที)
  5. เบญกาย (2008, 5 นาที)
  6. Erotic Fragments No. 1, 2, 3 (2012, 5 นาที)
  7. อนธการ / The Blue Hour (2015, 97 นาที)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save