fbpx
อยุธยานอกตำราเรียน

อยุธยานอกตำราเรียน

อันโตนิโอ โฉมชา เรื่อง

 

จากอดีตที่ผ่านมา เราได้รับการปลูกฝังจากตำราเรียนประวัติศาสตร์ ว่าสังคมอยุธยาเป็นสังคมชาวไร่ชาวนา ทำกสิกรรมเป็นอาชีพหลัก มีการแบ่งชนชั้น ใช้ระบบไพร่ขุนมูลนาย พอกรุงแตก พม่าก็เผาทำลายเมืองจนเหลือเพียงซากปรักหักพัง ขนวัสดุและของมีค่าต่างๆ กลับไปยังบ้านเมืองของตน

ทว่าจากหลักฐานชุดใหม่ที่นักวิชาการรุ่นหลังพยายามศึกษา พบว่าสังคมอยุธยามีความซับซ้อนและแตกต่างจากข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในตำราเรียนพอสมควร

ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 เรื่อง “250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา – สถาปนากรุงธนบุรี” จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีการหยิบยกข้อมูลหลักฐานใหม่เกี่ยวกับอยุธยามานำเสนอในหลายประเด็น เผยให้เห็นว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในตำราเรียน เป็นการเขียนประวัติศาสตร์แบบ ‘เข้าข้างตัวเอง’ เพื่อสร้างจิตสำนึกแบบชาตินิยม

101 ขอนำเสนอประเด็นสำคัญจากเวทีย่อย หัวข้อ “เศรษฐกิจและสังคมสยาม: จากอยุธยาถึงกรุงธนบุรี” มาเล่าสู่กันฟัง ร่วมเสวนาโดย คริส เบเคอร์, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, กำพล จำปาพันธ์ และ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ว่าด้วยมุมมองใหม่เกี่ยวกับสภาพสังคมเศรษฐกิจในสมัยอยุธยา และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเหตุการณ์กรุงแตก

 

คนอยุธยาเป็นชาวนาพาร์ทไทม์

 

ตามบทเรียนประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคย มักให้ภาพสังคมอยุธยาว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่ทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่จากหลักฐานที่ คริส เบเคอร์ นำมาเสนอบนเวทีนี้ ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วสังคมอยุธยาเป็นสังคมที่ชาวบ้านเป็น ‘ชาวนาพาร์ทไทม์’ โดยประกอบอาชีพอื่นเป็นหลักระหว่างรอการเก็บเกี่ยว

คริสอธิบายว่า ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้อยุธยาเป็นเมืองที่สามารถเพาะปลูกข้าวได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการดูแลผลผลิตทั้งปี ชาวบ้านแค่หว่านเมล็ดในนาข้าวเมื่อถึงฤดู จากนั้นก็ปล่อยให้ต้นข้าวเติบโตเต็มที่แล้วจึงเก็บเกี่ยว โดยในระหว่างที่รอผลผลิตงอกเงย ชาวบ้านล้วนมีอาชีพอื่นเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือ ค้าขาย ช่างไม้ ช่างเหล็ก ฯลฯ

การประกอบสองอาชีพควบคู่กันแบบนี้เอง ที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงสังคมและเศรษฐกิจของเมืองเล็กเมืองใหญ่ในสมัยนั้น ซึ่งลักษณะเศรษฐกิจแบบนี้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไม่ค่อยพบในส่วนอื่นๆ ของโลก

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากพงศาวดารสมัยอยุธยา พบว่ามีการกล่าวถึง ‘ชาวนา’ เพียงแค่ 20 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 400 กว่าปีที่อาณาจักรดำรงอยู่ ขณะเดียวกัน ‘ภาษีที่ดิน’ ยังเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอีกข้อ กล่าวคือ ดินแดนอื่นๆ ในเอเชียที่มีสังคมเกษตรกรรม เช่น ญี่ปุ่น ชวา หรือจีน ต่างมีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐจัดเก็บภาษีที่ดินจากชาวนา ทว่าในสังคมอยุธยากลับไม่ปรากฏหลักฐานดังกล่าวแต่อย่างใด และถ้าเทียบกับอินเดียในสมัยโมกุล พบหลักฐานว่ามีข้าราชการกว่าครึ่งที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีที่ดิน แต่สยามกลับไม่มีแม้แต่คนเดียว

สังคมเมืองสมัยกรุงศรีฯ ยังไม่มี ‘ชนบท’

 

นอกจากการเป็นชาวนาแบบพาร์ทไทม์ คริสยังชี้ว่า ลักษณะการอยู่อาศัยของชาวอยุธยามีลักษณะที่กระจุกตัวกันบริเวณรอบๆ เมือง ไม่ได้กระจัดกระจายอยู่ตามชนบทอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ

คริสบอกว่าการกระจุกกันของประชากรแบบนี้ มีลักษณะเป็น ‘urban and commercial society’ หรือสังคมเมืองที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการค้าขายเป็นหลัก เมื่อชุมชนต่างๆ กระจุกกันอยู่รอบตัวเมือง จึงไม่จำเป็นต้องมีหมู่บ้านหรือชุมชนกระจายตัวกันไปเพื่อผลิตอาหารเข้ามาหล่อเลี้ยงเมือง บริเวณที่อยู่ระหว่างเมืองต่างๆ จึงมีสภาพเป็นป่าเสียส่วนใหญ่

หลักฐานอีกข้อที่ช่วยยืนยันเรื่องนี้คือ การที่ไม่มีเรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับ ‘หมู่บ้านชนบท’ ในสมัยอยุธยาปรากฏในจดหมายเหตุของชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะของจีน เปอร์เซีย หรือชาวยุโรป นอกจากนี้ ระบบเกณฑ์ไพร่พลในสมัยนั้นยังเอื้อต่อสังคมที่ประชากรอยู่แบบกระจุกตัวกันในเขตเมือง มากกว่ากระจายไปอยู่ตามชนบท

ในส่วนของประชากร ประมาณการว่าในช่วงศตวรรษที่ 17-18 มีประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาราวๆ 8 แสนถึง 1 ล้านคน โดยมีหลากหลายเชื้อชาติปะปนกันอยู่ เนื่องด้วยอยุธยาเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งในโลกตะวันออก

คริสเล่าต่อว่า ในช่วง 50 ปีสุดท้าย สังคมอยุธยามีความเปลี่ยนแปลงแบบ ‘ruralization’ หรือการอพยพสู่ชนบทมากขึ้น เริ่มจากการที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ริเริ่มนโยบายส่งออกข้าวไปเมืองจีน จากแต่เดิมที่เน้นส่งออกให้ปัตตาเวีย (เมืองศูนย์กลางของฮอลแลนด์ในอินดีสตะวันออก) และสิงคโปร์เป็นหลัก ส่งผลให้จำนวนข้าวที่ส่งออกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนชาวบ้านจำนวนมากต้องถูกเกณฑ์มาทำนาเพิ่ม เพราะจำนวนข้าวไม่เพียงพอกับประชากรในเมือง

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจำนวนมากจึงเริ่มอพยพออกจากอยุธยาสู่พื้นที่อื่นๆ ในชนบท เพื่อหลบหนีการเกณฑ์แรงงาน ต่อมาเมื่ออยุธยาถูกพม่าตีแตก มีการย้ายเมืองหลวงมาที่บางกอก การอพยพจากเมืองสู่ชนบทจึงหยุดชะงักลงชั่วคราว และเริ่มปรากฏอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากการกระจายตัวของประชากรในชนบททุกวันนี้ มีลักษณะที่ตรงข้ามกับชนบทสมัยอยุธยาเป็นพื้นที่ป่าอย่างสิ้นเชิง

คริสตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลก เพราะการพัฒนาในยุคสมัยใหม่ มักเป็นการพัฒนาจากชนบทมาเป็นสังคมเมือง แต่สังคมไทยตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ กลับเป็นการพัฒนาจากสังคมเมืองไปเป็นสังคมชนบท

 

มองกรุงแตกใหม่ ใครคือผู้ร้ายตัวจริง?

 

สำหรับเหตุการณ์ช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 เรามักคุ้นเคยกับชุดประวัติศาสตร์ที่เสนอว่าชาวอยุธยาขาดความสามัคคี ไม่มีการเตรียมพร้อมตั้งรับข้าศึก พม่าจึงสามารถตีกรุงแตกได้ในที่สุด

ต่อกรณีนี้ สมฤทธิ์ ลือชัย ได้อธิบายตั้งแต่การเสวนา “250 ปี ปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา: ปริวรรตบทเรียน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ว่าในระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาถูกทหารพม่าปิดล้อมนั้น ฝ่ายสยามมีการเตรียมตัวมาอย่างดี มีการสะสมคลังเสบียงไว้เยอะมาก และมีการส่งทัพออกไป “ตั้งรับแบบรุก” ที่นอกพระนคร (หนึ่งในแม่ทัพที่ออกไปทำหน้าที่นี้ คือพระเจ้าตาก)

แต่แม้ว่าฝ่ายอยุธยาจะเตรียมรับศึกเป็นอย่างดี ฝ่ายพม่าก็มีการวางยุทธศาสตร์มาอย่างดีเช่นกัน โดยกองทัพของพม่าประกอบด้วยชนหลายกลุ่ม ทั้งผู้คนจากล้านนา พิษณุโลก กำแพงเพชร ราชบุรี สุโขทัย สวรรคโลก ตาก มอญ และคาดว่าเกินกว่าครึ่งเป็นคนไทยที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยากับฝ่ายพม่า

นอกจากนี้ ในเอกสารทั้งของฝ่ายสยามและพม่าร่วมสมัย ต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าชาวบ้านที่อยู่รอบนอกยังใช้ชีวิตตามปกติ แม้จะมีค่ายทหารพม่ามาตั้งอยู่รอบๆ เมือง ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายพม่ายังมีหน่วยเกลี้ยกล่อมชาวบ้านให้ไปเข้ากับฝ่ายตนด้วย ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ เมืองที่ไม่สามารถดำเนินเศรษฐกิจหรือค้าขายได้ดังเดิม พากันเข้าร่วมกับฝ่ายพม่าอย่างลับๆ คอยปลูกข้าวให้กองทัพพม่าในระหว่างการล้อมกรุงเป็นเวลา 2 ปี

กำพล จำปาพันธ์ และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้ร่วมเสวนา เสริมประเด็นนี้ว่า ช่วงปลายอยุธยา เมืองบางกอกเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น โดยถือเป็นเมืองสำคัญอันดับ 2 รองจากอยุธยา เพราะเป็นเมืองปากแม่น้ำที่มีส่วนสำคัญในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ประกอบกับการผลักดันนโยบายการค้ากับจีนในช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทำให้มีชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มักเลือกปักหลักอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเมืองบางกอก จนเกิดเป็นชุมชนบ้านเรือนขนาดใหญ่ และมีการทำมาค้าขายที่คึกคักมากขึ้น

ในเวลาต่อมา ผู้คนจากเมืองอื่นก็เริ่มย้ายถิ่นฐานมาอยู่บางกอกเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนประชากรของกรุงศรีอยุธยาก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเหตุผลที่ประชากรส่วนใหญ่ต้องออกจากพระนครนั้น เป็นเรื่องของเศรษฐกิจและศูนย์กลางการทำมาหากินที่เปลี่ยนไป ฝ่ายพม่าอ่านเกมขาดว่าอยุธยาเป็นศูนย์กลางค้านานาชาติ มีพ่อค้าจากทุกสารทิศเข้ามาค้าขาย จึงวางแผนการปิดล้อมเมืองไม่ให้มีการสัญจรไปมาโดยง่ายดังแต่ก่อน

ด้วยเหตุนี้ การค้าขายที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอยุธยาจึงฝืดเคือง ดังคำให้การของคุณหลวงวัดประดู่ทรงธรรมในสมัยนั้น ที่ว่า “ก่อนพม่าจะล้อมเมือง เคยมีเรือเป็นร้อยเป็นพันลำเข้ามา แต่ปัจจุบันจะมีมาสักสิบลำเห็นคงยาก”

อาจารย์ศิริพจน์ เล่าต่อว่า หลังจากที่อยุธยาเสียกรุง บ้านเมืองได้รับความเสียหายก็จริง แต่ไม่ได้หนักหนาอย่างที่หนังสือประวัติศาสตร์มักจะพรรณนาไว้อย่างเลวร้าย

“ที่จริงแล้วตัวเมืองไม่ได้เสียหายขนาดนั้น และชาวบ้านจำนวนมากยังคงอาศัยอยู่บริเวณรอบตัวเมืองหลังเสียกรุง นอกจากนี้ โบราณสถานหลายแห่งที่กลายเป็นซากปรักหักพัง ก็เป็นเพราะชาวบ้านและทางการมาขนย้ายอิฐหรือวัสดุต่างๆ ไปใช้ก่อสร้างในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่ฝีมือทหารพม่าอย่างที่เราคิดกัน” ศิริพจน์ อธิบาย

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังเสียกรุง ก็คือโครงสร้างประชากรของอยุธยาที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จากการที่คนนับแสนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย รวมถึงการอพยพไปอยู่เมืองอื่นๆ โดยรอบ ทำให้อยุธยาสูญเสียความสำคัญทางเศรษฐกิจ เหลือเพียงชุมชนเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย นั่นจึงอธิบายได้ว่าทำไมพระเจ้าตากสินจึงเลือกเมืองบางกอกเป็นพระนครแห่งใหม่ แทนที่จะกลับไปอยุธยา โดยเมืองบางกอกในสมัยนั้นไม่ได้มีการแบ่งเป็นฝั่งธนบุรีกับฝั่งกรุงเทพอย่างในปัจจุบัน แต่คนสมัยนั้นเรียกเมืองนี้อย่างรวมๆ ว่า ‘บางกอก’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023