fbpx
Exclusive interview : อเล็ก รอสส์ ตอบคำถามเรื่องอนาคตของโลก สหรัฐ ไทย และเส้นทางการเมืองของเขา

Exclusive interview : อเล็ก รอสส์ ตอบคำถามเรื่องอนาคตของโลก สหรัฐ ไทย และเส้นทางการเมืองของเขา

สมคิด พุทธศรี และ จิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

 

‘อดีตที่ปรึกษาอาวุโสด้านนวัตกรรมของฮิลลารี คลินตัน และมันสมองคนสำคัญผู้ร่วมวางยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมให้กับบารัค โอบามา’

นี่คือคำแนะนำตัว อเล็ก รอสส์ (Alec Ross) ที่ปรากฏให้เห็นแทบทุกสื่อที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตและความคิดของเขา ไม่ว่าจะในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทีมงานคนสำคัญของบารัค โอบามา และฮิลลารี คลินตัน หรือผู้เขียนหนังสือ The Industries of the Future ซึ่งติดอันดับหนังสือขายดีประจำปี 2016 และได้รับการตีพิมพ์กว่า 18 ภาษาทั่วโลก

แล้วหนุ่มวัย 40 ต้น ก็กลายเป็น 1 ใน 100 นักคิดระดับโลกของนิตยสาร Foreign Policy และ 1 ใน 10 ตัวละครสำคัญผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการเมืองอเมริกันของ Huffington Post

เมื่อ 101 ร่วมกับ dtac จัดงานเทศกาลความรู้รูปแบบใหม่ Shift Happens : พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้  อเล็ก รอสส์ จึงเป็นชื่อต้นๆ ที่เราหมายมั่นปั้นมืออยากเชิญมาขึ้นเวทีให้ได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง เว็บไซต์ส่วนตัวของเขาก็เปลี่ยนไป  จากเดิมที่เน้นเนื้อหาเรื่อง ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ กลายมาเป็นเว็บรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ในปี 2018

“ผมตัดสินใจลงเลือกตั้งหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง เพราะคิดว่า พรรคเดโมแครต รวมถึงการเมืองอเมริกัน ต้องการคนหน้าใหม่และไอเดียใหม่”

รอสส์ บอกกับ 101 ด้วยสายตามุ่งมั่น ในการสัมภาษณ์พิเศษสารพัดเรื่อง จากเรื่องที่เขายังไม่ได้ ‘เขียน’ ไว้ในหนังสือ ตั้งแต่เรื่องประเทศกำลังพัฒนากับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากอุตสาหกรรมใหม่ ด้านมืดของเทคโนโลยี จนถึงเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองแห่งอนาคตที่เขากำลังจะลงมือ ‘เขียน’ บันทึกการเมืองบทใหม่ด้วยตัวเอง

‘นักการเมืองดาวรุ่งแห่งพรรคเดโมแครตที่ทุกคนต้องจับตามอง’

นี่คือคำแนะนำตัว ‘อเล็ก รอสส์’ ใหม่ ที่เราอยากใช้แทนของเดิม

 

 

“เราไม่มีทางรู้ว่าเด็กคนไหนจะกลายมาเป็นคนพิเศษ ดังนั้น เราจึงต้องสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้ทุกคนมีโอกาสเป็นคนพิเศษ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้คนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ก็สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้”

ในหนังสือ The Industries of the Future คุณพูดถึงอุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่สุดล้ำเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังให้คำแนะนำเชิงนโยบายไว้ชุดหนึ่งซึ่งเหมาะกับประเทศพัฒนาแล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าคุณสวมบทเป็นที่ปรึกษาให้กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย อะไรคือคำแนะนำของคุณต่อประเทศเหล่านี้

การลงทุนด้านการศึกษาคือคำตอบ ถ้าคุณดูการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาจะเห็นเลยว่า มันเกิดจากคนหนุ่มสาวเป็นหลัก บิล เกตส์ เริ่มต้นไมโครซอฟท์เมื่ออายุ 20 ปี มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กทำเฟซบุ๊กตอนอายุ 19 ปี เจฟ เบซอสเริ่มทำอเมซอนตอนอายุประมาณ 30 ปี ส่วนสตีฟ จ็อบส์ ก็เริ่มลงมือทำแอปเปิลเมื่ออายุ 20 กว่าๆ ความยิ่งใหญ่และทรงพลังของบรรษัทที่เรารู้จักทุกวันนี้เริ่มต้นจากผู้ประกอบการหนุ่มๆ สาวๆ ทั้งนั้น

หากผมเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลไทย ผมจะแนะนำว่า อย่ากังวลหรืออย่าใส่ใจกับคนที่อายุเกิน 25 ปีไปแล้ว แต่ให้ใส่ใจกับเด็กอายุ 5 ขวบ ลงทุนด้านการศึกษากับคนรุ่นนี้ให้มาก เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ต้องฝึกทักษะและเตรียมพวกเขาให้พร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการในอีก 20 ปีข้างหน้า

ตัวอย่างรูปธรรม เช่น การให้เด็กทุกคนได้เรียนการเขียนโปรแกรมและวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพราะภาษาคอมพิวเตอร์จะเป็นไวยากรณ์สำคัญ และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโลกอนาคต ถ้าผมเป็นรัฐบาลไทย ผมต้องมั่นใจว่าเด็กไทยในอนาคตจะมีทักษะที่เข้มแข็งในด้านนี้

ในระยะสั้น ไม่มีทางเลยที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย รวมถึงอีกหลายประเทศ จะกลายมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและ ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ เราต้องมองในระยะยาวเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ ทุกอย่างต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้

 

เมื่อยกตัวอย่างชาว ซิลิคอน วัลเลย์ อย่างบิล เกตส์ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรือสตีฟ จ็อบส์ คนเหล่านี้ไม่ใช่คนปกติธรรมดา แต่เป็นคนที่พิเศษมากๆ การตั้งความหวังให้ทุกคนเป็นแบบนี้เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหรือ

ถ้าพูดถึงความพิเศษและความธรรมดาในความหมายแบบนี้ คงต้องยอมรับว่า คนธรรมดาไม่สามารถเปลี่ยนอนาคตได้ แต่ประเด็นคือ เราไม่มีทางรู้ว่าเด็กคนไหนจะกลายมาเป็นคนพิเศษ ดังนั้น เราจึงต้องสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้ทุกคนมีโอกาสเป็นคนพิเศษ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้คนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ก็สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้

อาจจะเป็นความบังเอิญที่คุณถามเรื่องนี้ ถ้าคุณเข้าไปในเว็บไซต์ของผม ประโยคแรกที่จะเห็นคือประโยคที่ว่า ‘พรสวรรค์มีอยู่ทุกที่ แต่โอกาสกลับมีอยู่แค่บางที่ และเราต้องเปลี่ยนมัน’ (Talent is everywhere but, opportunity is not. We must change that.)

 

บางคนบอกว่า การศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่อีกต่อไปแล้ว คนอย่าง บิล เกตต์ หรือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่คุณยกตัวอย่างเมื่อสักครู่ต่างเลิกเรียนกลางคันเพื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง

ลองคิดดูให้ดีว่า พวกเขาเลิกเรียนเมื่อไหร่?  บิล เกตส์ เลิกเรียนตอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เขาเรียนจบที่ Lakeside School ด้วยคะแนนดีเยี่ยม ซัคเคอร์เบิร์กเลิกเรียนตอนอยู่ฮาร์วาร์ดเช่นเดียวกัน แต่เขาเรียนจบ Phillips Exeter Academy ในฐานะนักเรียนดีเด่น และยังได้เข้าร่วม Johns Hopkins Center for Talented Youth อีกด้วย เซอร์เกย์ บริน และแลร์รี เพจ สองผู้ก่อตั้งกูเกิลก็เลิกเรียนขณะอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แต่คุณสามารถเดาได้เลยว่า คนที่เข้าเรียนที่นี่ได้ย่อมเป็นคนที่ได้รับการศึกษาคุณภาพสูงในวัยเด็กและวัยรุ่น

ชีวประวัติของคนเหล่านี้ยืนยันว่า การศึกษายังคงสำคัญอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน บรรดาบุคคลที่มักถูกยกเป็นตัวอย่างล้วนเข้าเรียนในโรงเรียนที่แทบจะดีที่สุดของประเทศกันทั้งนั้น

 

ที่ผ่านมา ดอกผลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่ได้มีการกระจายอย่างเท่าเทียมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะสร้างปัญหาแบบเดียวกันหรือไม่ และนัยสำคัญของปรากฏการณ์นี้คืออะไร

เป็นเรื่องเศร้าที่ต้องบอกว่า ดอกผลของอุตสาหกรรมใหม่จะยังคงกระจายอย่างไม่เท่าเทียมต่อไป นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเผชิญ

ตัวอย่างเช่น มีเพียงแค่ 5 ประเทศเท่านั้นที่จะเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์โลก ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ทั้งห้าประเทศจะผลิตหุ่นยนต์รวมกันมากกว่า 90% ของหุ่นยนต์ทั่วโลก นอกจากนั้น การกระจายผลได้ภายในประเทศก็ไม่เท่ากันด้วย อย่างในสหรัฐอเมริกา ผลได้ส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย เป็นต้น

อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับโมเดลธุรกิจแบบ ‘ผู้ชนะได้ทั้งหมด’ (Winner-takes-all) ดังนั้น ผลกระทบเรื่องความเหลื่อมล้ำจึงรุนแรง  ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองและสังคมเกิดขึ้น อันที่จริงสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ในสหรัฐอเมริกา การก้าวขึ้นมาของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผลพวงหนึ่งของปรากฏการณ์นี้

 

แล้วทางออกคืออะไร 

เราต้องการสัญญาประชาคมใหม่ที่จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และแรงงานเสียใหม่ เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ ในยุคสังคมเกษตรกรรม ขุนนางและชนชั้นสูงต่างพากันต่อรองกับสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ในยุคสังคมอุตสาหกรรม สัญญาประชาคมใหม่ก็ทำให้เกิดระบบค่าจ้างขั้นต่ำ เงินบำนาญ ประกันสังคม วันหยุดประจำปี ฯลฯ เมื่อเรามาถึงยุคใหม่ การต่อรองเพื่อสร้างสัญญาประชาคมใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็น

หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า ในช่วงระหว่างปี 1800-1840 เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีได้เขย่า (disrupt) และเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนสัญญาประชาคม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คลื่นการปฏิวัติที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก บางประเทศเดินหน้าสู่ระบบคอมมิวนิสต์ ในขณะที่บางประเทศหันเหไปสู่อำนาจนิยมและประชานิยม

หากมองจากมุมประวัติศาสตร์เทคโนโลยี สัญญาประชาคมฉบับปัจจุบันเกิดจากการต่อรองเมื่อ 150 ปีที่แล้ว มันคงถึงเวลาที่จะต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังกันอีกครั้ง

 

 

“การควบคุมทางการเมือง ทางความคิด หรือทางคำพูด เป็นการกีดกั้นความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ไม่สามารถเกิดจากการควบคุมเหล่านี้ได้ เพราะหัวใจสำคัญของนวัตกรรมคือ การปลดปล่อย (liberate)”

คุณเสนอว่า หัวใจสำคัญของการประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ สังคมแบบเปิด ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ การมีธรรมาภิบาลที่ดี มีกฎกติกาที่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส มีสื่ออิสระตรวจสอบผู้มีอำนาจ ในแง่นี้ เราจะอธิบายการทะยานขึ้นมาของจีนอย่างไร เพราะคงยากที่จะบอกว่าจีนมีสังคมแบบเปิด

จีนยังไม่มีนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบขนาดใหญ่ต่อโลก คุณลองบอกบอกชื่อนวัตกรรมของจีนในรอบ 100 ปีนี้มาสักหนึ่งอย่างสิ!

 

แต่ในหนังสือของคุณบอกไว้อย่างชัดเจนว่า จีนจะกลายเป็นฐานของอุตสาหกรรมใหม่หลายอุตสาหกรรม เมื่อสักครู่คุณก็เพิ่งบอกเองว่า จีนจะเป็น 1 ใน 5 มหาอำนาจของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

เราต้องแยกกันระหว่างการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและการเป็นฐานการผลิต จีนยังมีลักษณะของการเป็นฐานการผลิตมากกว่า

แต่ถ้าไม่ได้มองแบบขาวดำ ในบางระดับจีนมีศักยภาพที่จะเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมอยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมใหม่ของจีนมักมาจากเมืองอย่างเซี่ยงไฮ้ หรือเซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองที่เปิดกว่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ  ประเทศจีนเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีและพยายามหาโมเดลใหม่ที่ตอบโจทย์เรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ผมยังยืนยันว่า การควบคุมทางการเมือง ทางความคิด หรือทางคำพูด เป็นการกีดกันความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ไม่สามารถเกิดจากการควบคุมเหล่านี้ได้ เพราะหัวใจสำคัญของนวัตกรรมคือ การปลดปล่อย (liberate)

 

หุ่นยนต์และเทคโนโลยีพันธุกรรมจะถูกใช้ในสงครามหรือไม่ อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมีด้านมืดหรือไม่

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว!  ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมีด้านมืด

 

อะไรคือเรื่องที่เราควรกังวล

การมีหุ่นยนต์สังหารคงไม่ต่างอะไรกับอาวุธประเภทอื่น คนที่มองโลกในแง่ร้ายอาจคิดว่า มันจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี ส่วนคนที่มองโลกในแง่ดีก็อาจคิดว่า การพัฒนาอาวุธมีไว้เพื่อป้องปรามคนที่จะใช้อาวุธในทางไม่ดีนั่นแหละ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ มนุษย์ต้องเป็นคนควบคุมหุ่นยนต์ มิใช่หุ่นยนต์ควบคุมมนุษย์ แต่การจะทำเช่นนั้นได้หมายความว่า ต้องมีกฎหมาย ค่านิยม วัฒนธรรม ที่มากำกับวิธีการใช้อาวุธเหล่านี้

 

คุณทำนายไว้ว่า สงครามไซเบอร์จะกลายเป็นสงครามที่ใหญ่ที่สุดในอนาคตอันใกล้ แต่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีเหมือนจะพาเราย้อนอดีตสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้ง ถึงวันนี้ คุณยังคงประเมินสถานการณ์เหมือนเดิมหรือเปล่า

แน่นอน สงครามไซเบอร์เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับวิกฤตินิวเคลียร์ หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปฏิบัติการไซเบอร์มีบทบาทสำคัญต่อการยุติปัญหานิวเคลียร์ในอิหร่านอย่างมาก

ประเด็นมีอยู่ว่า โลกในปัจจุบันยังไม่มีระเบียบ ข้อตกลง กรอบคิด หรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสงครามไซเบอร์ เหมือนกับสงครามนิวเคลียร์ในช่วง 1940-1950 ในแง่นี้ สงครามไซเบอร์จึงไร้ระเบียบ วุ่นวาย และซับซ้อน จะว่าไปส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผิดพลาดของสหรัฐอเมริกาเองที่คิดว่าตัวเองมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี แต่สุดท้ายแล้วความได้เปรียบนี้ก็ดำรงอยู่ไม่นานนัก

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซียที่ช่วยสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐฯ ทำได้แค่วิจารณ์และใช้มาตรการทางการทูต แต่รัสเซียก็ไม่เห็นจะแคร์อะไร

 

ท่ามกลางบริบทการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ก็ทำได้ยากลำบากมากขึ้น ถ้าคุณเป็นที่ปรึกษาให้รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย คุณจะช่วยแนะนำอะไร

สวีเดนเป็นตัวอย่างของประเทศขนาดกลางและเล็กที่สามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศได้อย่างชาญฉลาด พวกเขาเลือกประเด็นที่ตัวเองสนใจเพียงไม่กี่ประเด็น และใช้พลังของเทคโนโลยีในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้อย่างน่าสนใจ

ในทำนองเดียวกัน ผมจะแนะนำรัฐบาลไทยว่า ให้เลือกประเด็นที่คุณสนใจและเห็นว่ามีความสำคัญจริงๆ แสดงจุดยืนในประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจน และใช้โซเชียลมีเดียอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ความเห็นและจุดยืนของไทยปรากฏสู่สายตาประชาคมโลก

 

ประเทศไทยเคยเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น แต่บริบททางสังคมและเศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยนไปมาก นโยบายต่างประเทศของทั้งไทยและสหรัฐอเมริกาก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ถ้ามองผ่านแว่นตานักการทูต คุณเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร

แม้ผมจะเคยเดินทางมาทำงานในไทยหลายครั้งสมัยเป็นที่ปรึกษาของฮิลลารี คลินตัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ผมมีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยไม่มาก ดังนั้น คงพูดได้แค่ภาพรวม

สำหรับประเทศไทย ผมอยากใช้คำว่า ‘น่าสนใจ’ มากกว่า ‘มีความสำคัญ’ ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้ศักยภาพนั้นอย่างเต็มที่ สาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ

สิ่งที่ประชาคมโลกให้ความสนใจคือ การเปลี่ยนผ่านภายในของไทยเป็นอย่างไร พวกคุณเพิ่งมีการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะลงเอยและคลี่คลายอย่างไร ถ้ามองด้วยสายตาของคนนอก ยังมีคำถามปลายเปิดที่รอคอยคำตอบอยู่ เช่น รูปร่างหน้าตาของรัฐบาลในระยะยาวจะเป็นแบบไหน ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ กองทัพ และประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร

บางทีคงต้องถามพวกคุณกลับเหมือนกันว่า คำถามจากคนนอกเหล่านี้เมคเซนส์หรือเปล่า (ยิ้ม)

 

แล้วถ้าขยายมุมมองให้กว้างขึ้นสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยอยู่ตรงไหน

หากใช้คำศัพท์ของผม นั่นคือ ‘สังคมแบบเปิด’ และ ‘สังคมแบบปิด’ ในภาพรวม ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมแบบเปิด ท่ามกลางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ที่ประเทศส่วนใหญ่เป็นสังคมแบบปิด

ผลของการเป็นสังคมแบบเปิดทำให้ในอดีต ไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ มีสาธารณูปโภคที่พร้อมกว่า มีความทันสมัยกว่า นักลงทุนยังคงให้ความสนใจ แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ประชาคมโลกยังคงมีคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันว่าจะนำไทยไปสู่การเป็นสังคมแบบปิดมากน้อยแค่ไหน

 

 

“คำถามหลักก็คือ เราจะสร้างการเมืองที่นับรวมผู้คนให้กว้างขวางมากขึ้น (more inclusive) ได้อย่างไร และทำอย่างไรการเมืองที่นับรวมผู้คนอย่างกว้างขวางหลากหลายสามารถกำหนดอนาคตของพวกเราได้จริง”

คุณเพิ่งประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ ทำไมถึงตัดสินใจลงสนามการเมืองหลังจากทำงานเบื้องหลังมาตลอด

ผมตัดสินใจลงเลือกตั้งหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง เพราะคิดว่าพรรคเดโมแครต รวมถึงการเมืองอเมริกัน ต้องการคนหน้าใหม่และไอเดียใหม่

 

คุณต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไร ไอเดียใหม่ที่คุณว่าหมายถึงอะไร

คำถามหลักก็คือ เราจะสร้างการเมืองที่นับรวมผู้คนให้กว้างขวางมากขึ้น (more inclusive) ได้อย่างไร และทำอย่างไรการเมืองที่นับรวมผู้คนอย่างกว้างขวางหลากหลายสามารถกำหนดอนาคตของพวกเราได้จริง

ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ ทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจายสู่ผู้คนวงกว้างมากขึ้น ทำอย่างไรให้ผู้คนและชุมชนที่มีภูมิหลังหลากหลายสามารถประสบความสำเร็จได้ในโลกอนาคต ทำอย่างไรให้ ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ ไม่ใช่อุตสาหกรรมของคนผิวขาวอย่างเดียว แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ทุกเพศ ทุกสีผิว ทุกชาติพันธ์ุเข้าไปมีส่วนร่วมในความเจริญรุ่งเรืองได้ พูดอีกแบบหนึ่งคือ ผมหวังที่จะสร้างการเมืองให้ “คนที่เหลือมีแรงทะยานขึ้นมาได้” (The rise of the rest)

 

ลองยกตัวอย่างนโยบายรูปธรรมได้ไหม

เป็นคำแนะนำเดียวกับที่ผมแนะนำรัฐบาลไทยเมื่อตอนต้น (หัวเราะ) ผมหมายความอย่างนั้นจริงๆ

ทุกวันนี้มีโรงเรียนเพียงแค่ 40% ในรัฐแมรีแลนด์ที่สอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้กับเด็ก โรงเรียน 40% ที่ว่าล้วนแต่เป็นโรงเรียนของคนรวยและคนชั้นกลางทั้งนั้น สิ่งที่ผมจะทำคือการทำให้โรงเรียนทั้งหมดในแมรีแลนด์สอนวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นวิชาพื้นฐานให้กับเด็ก

ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หากใครไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะไม่สามารถหางานที่ดีทำได้ ยิ่งถ้ามาจากชุมชนหรือครอบครัวที่ยากจนด้วยแล้ว ทางเลือกในการทำงานก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก และสุดท้ายคงต้องไปทำงานไร้ทักษะที่ได้ค่าแรงไม่สูงนัก เช่น พนักงานทำความสะอาด หรือบริกร การทำอาชีพเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่ผมคาดหวังคือ การที่เด็กเหล่านี้จะมีทางเลือกและโอกาสที่ดีกว่านี้ในอนาคต

 

อะไรคือจุดอ่อนของพรรคเดโมแครตในปัจจุบัน 

เราไม่มีไอเดียใหม่ ผู้นำพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่คือนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาอาจจะเข้าใจเศรษฐกิจและการเมืองในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างดี แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่เข้าใจเศรษฐกิจการเมืองของวันนี้และวันพรุ่งนี้

พรรคเดโมแครตต้องการคลื่นของคนรุ่นใหม่มาช่วยปฏิรูปพรรค เราต้องการคนหน้าใหม่ ต้องการไอเดียใหม่ในการต่อสู้กับฝ่ายขวา

 

คุณแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ชื่นชอบประธานาธิบดีทรัมป์ ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้วคุณประหลาดใจไหมที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง

ทุกคนประหลาดใจ ตัวผมเองก็ประหลาดใจ แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ความวิตกกังวล

 

อะไรคือสิ่งที่น่ากังวลที่สุด 

การกลับมาของแนวคิดชาตินิยมและประชานิยม ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาจะรู้ดีว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งประเทศนี้คือ ความคลั่งและอคติที่มีต่อคนเห็นต่าง (bigotry) และมันไม่เคยหายไปไหนเลย เรามีสงครามกลางเมืองเพราะเห็นต่างกันเรื่องระบบทาส แม้สงครามจะจบลงไปแล้ว แต่ลึกๆ ยังมีเชื้อที่รอปะทุอยู่ สิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ ทำคือการเติมฟืนและโหมกระพือให้ไฟพัดแรงขึ้นอีกครั้ง

ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือเหตุการณ์จลาจลที่ “ชาร์ลอตส์วิลล์” ถ้าเป็นเมื่อ 5 ปีหรือ 10 ปีก่อน สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน มันเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยด้วยซ้ำ ทรัมป์มีส่วนสำคัญในการสร้างเงื่อนไขให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น การเล่นการเมืองแบบสุดโต่งของเขามีส่วนทำให้การเหยียดผิวกลายเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม

 

โอกาสที่ทรัมป์จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีมีมากแค่ไหน 

หลายคนพูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ผมคิดว่ามีโอกาสน้อยมากที่ทรัมป์จะหลุดจากตำแหน่งด้วยการถอดถอน เพราะว่าพรรครีพับลิกันยังคงมีที่นั่งในสภามากกว่า แน่นอนว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ส่วนหนึ่งมาจากทางรีพับลิกัน แต่สุดท้ายสิ่งที่พวกเขาต้องแคร์มากที่สุดคือฐานเสียง ถ้าผู้คนยังคงสนับสนุนทรัมป์ในระดับที่เป็นอยู่ การถอดถอนทรัมป์คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น นี่คือความเป็นจริงทางการเมืองที่คุณต้องยอมรับ

 

คำถามสุดท้าย คุณมีโอกาสชนะเลือกตั้งไหม

มีสิ! (ยิ้ม) ไม่งั้นผมคงไม่ลงเลือกตั้ง สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ไม่ใช่แค่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผมต้องการนำไอเดียใหม่ๆ เข้าไปเปลี่ยนแปลงการเมืองสหรัฐอเมริกา

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018