fbpx

แผนการใหญ่ A.I. 2030: จีนต้องการอะไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

จีนประกาศแผนการใหญ่เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกด้าน A.I. ให้ได้ภายใน ค.ศ. 2030  เรื่องนี้พี่จีนเอาเป็นเอาตายหรือแค่ฝันสวยๆ ไว้ก่อน? และจีนต้องการอะไรกันแน่จาก A.I.?

 

A.I. (Artificial Intelligence) หมายถึง การที่คอมพิวเตอร์ ‘คิด’ ได้เหมือนมนุษย์ (หรือฉลาดกว่ามนุษย์อีก) ซึ่งเป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน เพราะการสอดประสานระหว่าง ‘สามพลัง’ คือ พลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (Computational Power) พลังของข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big Data) และพลังของขั้นตอนวิเคราะห์คำนวณ (Algorithm)

ยกตัวอย่างเช่น ‘Self-Driving Car’ — รถสามารถขับหมุนพวงมาลัยตามท้องถนนเองได้เลย (โดยไม่ต้องใช้คนขับ) ที่เป็นไปได้เพราะมีการเก็บข้อมูลการจราจร ข้อมูลเส้นทาง และข้อมูลว่าคนจะขับอย่างไรในสถานการณ์แบบไหนในปริมาณมหาศาล แต่ถ้าเป็นในอดีต ถึงมีข้อมูลเหล่านี้ ก็ใช้ทำอะไรไม่ได้ เพราะพลังคอมพิวเตอร์ไม่แรงพอ แต่ปัจจุบันพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์แรงพอที่จะตัดสินว่าจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เดินหน้าหรือเบรกในทุกๆ เสี้ยววินาที ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยการใส่ขั้นตอนวิเคราะห์คำนวณที่ชาญฉลาดให้แก่คอมพิวเตอร์

A.I. สามารถปรับใช้ได้กับทุกเรื่องทุกวงการ ตั้งแต่ธุรกิจค้าขายทั่วไป  ทราบไหมครับว่า การบริการลูกค้าในเว็บของอาลีบาบาในปัจจุบัน เกือบทั้งหมดทำด้วย A.I. ไม่ต้องใช้พนักงาน (A.I. เลือกว่าหน้าแรกจะโชว์สินค้าอะไรให้ลูกค้าแต่ละคน โดยประมวลจากข้อมูลการช็อปในอดีตของลูกค้าคนนั้น, เลือกว่าจะโชว์โฆษณาอะไร, มี chatbot ตอบคำถามพื้นฐานของลูกค้า, สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ทันที โดยประมวลจากเครดิตการใช้จ่ายในอดีตของลูกค้า, คำนวณเส้นทางที่จะส่งของไปถึงบ้านให้เร็วที่สุด ฯลฯ) ดังนั้น จริงๆ แล้วอาลีบาบาไม่ใช่บริษัท E-Commerce หรอกครับ แต่เป็นบริษัท A.I. มากกว่า

A.I. ใช้ได้ในโรงงาน เช่นให้เครื่องจักรทำงานด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ต้องจ้างแรงงาน, ใช้ได้ในทางการแพทย์ เช่นให้คอมพิวเตอร์บอกว่าควรรักษาอาการแบบนี้ (ในคนที่มีพันธุกรรมแบบนี้) อย่างไร, ใช้ได้ในทางการเงิน เช่นให้โปรแกรมจัดการบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดได้อย่างฉลาดกว่าเจ้าตัวคิดเอง, ใช้ได้ในการรักษาความสงบเรียบร้อย เช่นตำรวจจีนตอนนี้เริ่มทดลองใส่แว่นตาที่สามารถจับทะเบียนรถและใบหน้าผู้ต้องสงสัยได้, และใช้ได้ในการทหาร เช่นเครื่องบินรบที่ขับและยิงศัตรูได้เองโดยไม่ต้องใช้คน

แล้วจีนมีความได้เปรียบในเรื่อง A.I. แท้จริงแค่ไหนครับ?  ก็กลับมาดูที่ ‘สามพลัง’ ข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ จะพบว่าสหรัฐฯ ยังถือแต้มต่อเหนือจีนอยู่ในเรื่องพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (Computational Power) เพราะเทคโนโลยีไมโครชิปที่ดีที่สุดยังเป็นของสหรัฐฯ ส่วนพลังของขั้นตอนวิเคราะห์คำนวณ (Algorithm) สหรัฐฯ ก็ยังเหนือกว่าจีนเช่นกัน เพราะนักคณิตศาสตร์ นักสถิติ และนักคอมพิวเตอร์ที่เก่งที่สุดยังอยู่ในสหรัฐฯ และสหรัฐฯ มีความก้าวหน้าในเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐานมากกว่าจีนที่เก่งเรื่องการประยุกต์

แต่ที่จีนเหนือกว่าสหรัฐฯ ก็คือ พลังของข้อมูลปริมาณมหาศาลครับ ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าตรงนี้มีโอกาสจะพลิกเกม เพราะจุดเด่นหนึ่งของ A.I. คือเราสามารถเขียนขั้นตอนวิเคราะห์คำนวณให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ถูกผิดและปรับปรุงตัวเองได้ ดังนั้น ถ้าเรามีข้อมูลปริมาณมหาศาล A.I. ก็จะเรียนรู้ได้ดีขึ้นและฉลาดขึ้น เหมือนกับเคล็ดลับของ Alpha Go ของ Google ที่วันนี้โค่นแชมป์โลกหมากกระดานได้ ก็เพราะมีข้อมูลการเดินหมาก 30 ล้านแบบ และเดินหมากฝึกฝนสู้กับตัวเองตามที่ถูกโปรแกรมไม่รู้กี่ล้านครั้ง

ในปัจจุบัน จีนเป็นประเทศออนไลน์สมบูรณ์แบบ และมีข้อมูลคุณภาพที่ถูกเก็บไว้ในรูปดิจิทัลปริมาณมหาศาล ด้วยประชากรที่มากที่สุดในโลก แถมยังไม่มีกฎเกณฑ์เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่รัดกุมเหมือนในโลกตะวันตก ทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการพัฒนา A.I. ให้ฉลาดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น แผนการใหญ่ที่รัฐบาลกลางของจีนประกาศ ก็ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต่างหันมาสนใจทำโครงการทดลองปรับใช้ A.I. ในเมืองของตน ทำให้เกิดตัวอย่างการนำ A.I. ไปปรับใช้หลากหลายรูปแบบกว่าในสหรัฐฯ เช่น เมืองหนึ่งเพิ่งมีไอเดียจะลองใช้ A.I. คำนวณเปิดปิดไฟจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกเวลารถฉุกเฉินของโรงพยาบาลวิ่งบนถนน, อีกเมืองตั้งเขตทดลองให้ Self-Driving Car วิ่ง, ดังนั้น โอกาสที่จะได้ทดลองอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ แถมด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ก็น่าจะเป็นตัวดึงดูดให้คนเก่งเรื่อง A.I. สนใจเข้ามาทำงานในจีน

มีนักวิเคราะห์มองว่า แผนการใหญ่ A.I. ของรัฐบาลจีนเหมือนลิสต์ความฝันส่งให้ซานตาครอส แต่แทบไม่มีวิธีการไปสู่จุดหมายเลย แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายของแผนการใหญ่ของรัฐบาลกลาง คือต้องการส่งสัญญาณให้เกิดการทดลองและร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของจีน (Baidu, Tencent, Alibaba) เพื่อให้เกิดการทดลองไอเดีย การนำข้อมูลมหาศาลไปใช้พัฒนา A.I. และนำ A.I. กลับมาให้รัฐบาลใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และควบคุมสังคมด้วย

จึงกลับมาที่ประเด็นสุดท้ายว่า จีนต้องการอะไรจาก A.I.? คำตอบคือ จีนมองว่านี่คือกุญแจตัดสินอนาคตในทุกเรื่องของจีนครับ ในเรื่องเศรษฐกิจ A.I. จะสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ลดต้นทุนธุรกรรม สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ และสร้างประโยชน์แก่ทั้งตัวธุรกิจและผู้บริโภค นอกจากนั้น ข้อมูลเศรษฐกิจ ข้อมูลธุรกิจ และข้อมูลผู้บริโภคปริมาณมหาศาล ยังจะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายเศรษฐกิจได้ตรงจุดและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

A.I. ยังเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของจีนด้วย ทั้งในส่วนเทคโนโลยีการทหารเพื่อเตรียมรับมือภัยคุกคามจากภายนอก รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อรักษาความมั่นคงภายใน อย่าลืมนะครับว่า รัฐบาลจีนเป็นรัฐบาลเผด็จการที่ต้องหากลไกควบคุมความสงบเรียบร้อยในสังคม ตอนนี้ทั้งเรื่อง A.I. และการเก็บข้อมูล ได้มีการนำมาใช้ในการส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น การทำระบบคะแนนสังคม (Social Credit Scores) ให้พลเมืองจีน, การใช้ A.I. มาช่วยเซ็นเซอร์ความเห็นต่อต้านรัฐบาลในโลกออนไลน์หรือแม้กระทั่งโพสต์เชียร์รัฐบาล (ไม่ต้องจ้างกองทัพนักโพสต์ปริมาณมหาศาลอีกแล้ว), การมีระบบตรวจสอบใบหน้า (Facial Recognition) ที่เมื่อรวมเข้ากับกล้องรักษาความปลอดภัยที่ติดทั่วเมืองปักกิ่งแล้ว สามารถตามจับตัวโจรผู้ร้าย (รวมทั้งศัตรูทางการเมือง) ได้อย่างง่ายดาย

นักวิชาการฝรั่งบางท่านบอกว่า ระวัง A.I. และ Big Data จะนำไปสู่จุดจบของโลกเสรีประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆ ตอนนี้ แม้แต่ในสหรัฐฯ เอง Google และ Facebook ที่มีข้อมูลมหาศาลก็มีพลังอำนาจที่จะโน้มน้าวพฤติกรรมคนได้มากมาย (โดยที่เราเองอาจไม่รู้ตัว)  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในสหรัฐฯ ข้อมูลอยู่ในมือบริษัทเอกชนเอาไว้หากำไร แต่ในจีนข้อมูลอยู่ในมือรัฐบาล และบริษัทเอกชนที่พร้อมร่วมมือกับรัฐบาล  เอกชนจีนเอาไว้หากำไร ส่วนรัฐบาลจีนเอาไว้รักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม

A.I. นี่แหละครับจะเป็นกุญแจควบคุมสังคมของรัฐบาลจีน!! ในด้านหนึ่ง ก็มีโอกาสจะช่วยให้คนทั่วไปอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็สามารถโน้มน้าวพฤติกรรมและแนวคิดตามที่รัฐบาลต้องการ พร้อมทั้งจัดการกับศัตรูและความเห็นต่าง  ในจีนตอนนี้ เริ่มมีการพูดไปถึงความเป็นไปได้ที่ในอนาคต เศรษฐกิจระบบวางแผนจากส่วนกลางจะเป็นไปได้จริง (ในอดีตที่เศรษฐกิจระบบวางแผนพัง เพราะผู้วางแผนโง่และข้อมูลน้อย จึงสู้ปล่อยให้ตลาดกำหนดอุปสงค์อุปทานไม่ได้ แต่ถ้าในอนาคต A.I. ฉลาดมากๆ ก็น่าจะสามารถวางแผนเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพได้) บางคนฝันไปถึงโลกที่ให้หุ่นยนต์ทำงานผลิตของแทนแรงงาน คนจะได้มีเวลาไปใช้ชีวิตสร้างสรรค์และอยู่สบายแบบในโลกพระศรีอาริย์

เรื่องพวกนี้ยังเป็นเรื่องอนาคตที่ดูไกลตัวอยู่ แต่ก็สะท้อนความมั่นใจของรัฐบาลจีนว่า ตนมีความสามารถที่จะจัดการกับปัญหาความวุ่นวายในสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี A.I. ได้ เช่น ปัญหาคนจะตกงานอีกจำนวนมหาศาล เพราะหุ่นยนต์ทำงานแทนคนได้หมด ซึ่งปัญหานี้ในตะวันตกเองยังงงอยู่ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ในเมืองจีน รัฐบาลจีนเชื่อว่าตนจะสามารถผ่อนคลายความขัดแย้งในช่วงเปลี่ยนผ่าน กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆ และจัดการวางแผนการใหญ่ทั้งในเรื่องการศึกษา การสร้างงานแบบใหม่ และสวัสดิการสังคม เพราะรัฐจีนนั้นใหญ่มหึมาและคุมทุกภาคส่วน เขาจึงเชื่อแน่ว่าเอาอยู่

A.I. มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแน่นอนครับ และจีนต้องการจะเป็นผู้นำที่แสดงให้เห็นศักยภาพของ A.I. และโอกาสที่จะนำไปสู่การจัดการเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบใหม่ ส่วนปัญหาที่ว่านี่จะเป็นจุดจบของเสรีภาพหรือจุดเริ่มต้นของแดนศิวิไลซ์นั้น …

 

อาจต้องรอถามหุ่นยนต์ในอนาคตดูครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save