fbpx
Advice for a Young Investigator ก่อนที่ศิษย์จะไปไกลกว่าครู ครูต้องยอมให้ศิษย์ไป

Advice for a Young Investigator ก่อนที่ศิษย์จะไปไกลกว่าครู ครูต้องยอมให้ศิษย์ไป

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

ถ้าใครได้ชมภาพยนตร์สตาร์วอร์สภาคล่าสุด ‘The Last Jedi’ (2017) ฉากหนึ่งที่ตรึงใจผู้ชมหลายคน คือตอนที่ปรมาจารย์โยดาผู้ล่วงลับกลับมาให้คำแนะนำแก่ลุค สกายวอร์คเกอร์ ซึ่งกำลังสิ้นศรัทธาในแนวทางของเจได และหันหลังให้กับการร้องขอความช่วยเหลือของเรย์ ผู้ขอฝากฝังตัวเป็นศิษย์

โยดาชี้ให้ลุคเห็นถึงภารกิจสำคัญของการเป็นครู และกล่าวทิ้งท้ายแบบคูลๆ ว่า

“ศิษย์ต้องไปไกลกว่าตัวเรา นั่นคือหน้าที่ที่แท้จริงของอาจารย์” (“We are what they grow beyond. That is the true burden of all masters.”)

คำกล่าวของโยดาชวนให้ผมนึกถึงสารทำนองเดียวกันที่กล่าวไว้เมื่อราวหนึ่งศตวรรษที่แล้ว โดย ซานติอาโก รามอน อี กาฆาล (Santiago Ramón y Cajal, 1852-1934) นายแพทย์ชาวสเปน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ประจำปี 1906

หากใครเป็นนักเรียนวิทยาศาสตร์หรือติดตามประวัติศาสตร์ของการศึกษาวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์อยู่บ้างคงคุ้นชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะคุณูปการจากการสำรวจโครงสร้างของระบบประสาท ผนวกกับทักษะทางศิลปะในการสเก็ตภาพเซลล์ประสาทอย่างละเอียดงดงาม ทำให้กาฆาลได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งยังทำให้เขามีดาวเคราะห์น้อยเป็นชื่อของตัวเองด้วยอีกหนึ่งดวง!

Santiago Ramón y Cajal
Santiago Ramón y Cajal | ภาพจาก Wikimedia Commons

นอกจากความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ กาฆาลยังผลิตงานเขียนในประเภทและประเด็นอื่นๆ อยู่สม่ำเสมอ หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ และผมคิดว่าประเด็นยังคงทันสมัยอยู่มาก คือหนังสือเรื่อง Advice for a Young Investigator (1999) ซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากปาฐกถาของกาฆาล ณ ราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์ (Academia de Ciencias Exactas, Físicas y Naturales) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1897 … ครับ กว่า 120 ปีมาแล้ว

เนื้อหาส่วนใหญ่ในข้อเขียนขนาดกะทัดรัดชิ้นนี้ว่าด้วยคำแนะนำทั้งทางวิชาการและความคิดจิตใจสำหรับคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังจะเลือกหรือได้เลือกเดินเข้ามาสู่เส้นทางของการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่หลายส่วนของหนังสือยังสื่อสารถึงบทบาทของครูในการปลุกปั้นคนรุ่นใหม่เหล่านั้นให้ถูกที่ถูกทางด้วย

กาฆาลพูดไว้ชัดๆ แบบเดียวกับโยดาเลยครับว่า บทบาทที่แท้จริงและสำคัญที่สุดของครูบาอาจารย์ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการผลักดันให้ศิษย์ไปไกลกว่าตัวเอง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประโยคที่พูดง่ายนี้ทำยากไม่ใช่เล่น เพราะการผลักดันให้ศิษย์พัฒนาไปไกลกว่าเรา ต้องเริ่มจากการที่ครู ‘ยอม’ ให้ศิษย์ไป พูดอีกอย่างคือ ไม่เพียงครูต้องช่วยชี้แนะเพื่อส่งเสริมให้ศิษย์ก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น แต่เพื่อให้ศิษย์ไปไกลกว่าเรา หลายครั้งครูยังต้องลดทิฐิมานะที่มีต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้องที่สุด และยอมให้ศิษย์คิด สงสัย ท้าทาย กระทั่งเสนอคำตอบที่ดีกว่าหรือหักล้างความเชื่อดั้งเดิมของตัวเองได้ด้วย

เปรียบให้เห็นภาพก็คือ ครูต้องช่วยศิษย์ลับกระบี่ที่ยังทื่อให้คมกล้า จนท้ายที่สุดกระบี่เดิมที่เคยทำให้ครูบางคนกลายเป็นเจ้ายุทธจักร ก็ไม่อาจเทียบกับกระบี่เล่มใหม่และวรยุทธ์ที่เหนือกว่าของศิษย์ซึ่งตัวเราเป็นผู้ฝึกปรือให้เขาเอง

ในฐานะนักประสาทวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก กาฆาลพบความจริงว่าความก้าวหน้าทางองค์ความรู้ใดๆ ไม่ได้เกิดจากความเคารพศรัทธาที่มีต่อปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่คนใดคนหนึ่ง มิหนำซ้ำ กาฆาลยังเห็นด้วยว่าการเคารพต่อผลงานของผู้ยิ่งใหญ่อย่างเกินพอดีเป็น ‘กับดัก’ ที่ฉุดรั้งสติปัญญาของคนวัยเยาว์ และคงไม่มีผู้ยิ่งใหญ่ไหนจะเป็นกับดักต่อการพัฒนาตัวเด็กได้เท่ากับตัวครูหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่ครูศรัทธาเป็นการส่วนตัว

กาฆาลมองว่า ความชื่นชมต่อผลงานและตัวปรมาจารย์รุ่นเก่าที่มากจนเกินไป นำไปสู่ความเข้าใจผิดๆ ว่าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการสร้างสรรค์ความรู้อื่นๆ เป็นผลของพรสวรรค์ อัจฉริยภาพ และ ‘ดวงตาที่สาม’ ของมนุษย์ที่วิเศษวิโสและมีสติปัญญาเลิศเลอเหนือคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราทุกคนล้วนไม่ต่างจากผืนดินที่ “แม้จะแห้งแล้งที่สุดก็สามารถผลิตพืชผลดกดื่นได้ หากได้รับการปลูกฝังและส่งเสริมให้อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างดี”

นี่จึงเป็นหน้าที่ของครูในการชี้ทางให้ศิษย์เห็นถึงหลุมพรางที่เหนี่ยวรั้งพวกเขาให้คิดว่าตัวเองก็งั้นๆ ไม่ได้มีความสามารถอะไร ไม่มีทางสร้างผลงานหรือค้นพบคำตอบอะไรยิ่งใหญ่ได้ ตรงนั้นตรงนี้ก็มีคำตอบไว้แล้ว หรือที่แย่ที่สุด คือไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสงสัยในองค์ความรู้ดั้งเดิมในตำราเรียน

กลับกัน ครูต้องทำหน้าที่สุมไฟกระหายใคร่รู้ในตัวคนรุ่นใหม่ที่พยายามตั้งคำถามและท้าทายต่อชุดความรู้ดั้งเดิมที่ทั้งสังคมเชื่อกันไปแล้วว่าถูก ไม่ให้มันมอดดับลงง่ายๆ ด้วยฝีมือ ระบบ หรือมายาภาพของความยิ่งใหญ่ที่เกินจริงของคนรุ่นเก่า ซึ่งก็รวมถึงตัวครูเองด้วย

แน่นอนครับว่าเด็กหรือศิษย์ที่มีไฟก็ไม่ได้ทำอะไรถูกไปทั้งหมด เราทั้งหลายที่เคยเป็นเด็กกันมาต่างล่วงรู้ถึงความจริงนี้ดีกว่าใคร

กาฆาลเองก็ไม่ได้มองข้ามปัญหาของความผิดพลาด ความร้อนวิชา รวมถึงผลพวงที่ตามมาจากการท้าทายสิ่งเก่าโดยที่ตัวเราเองยังไม่มีพื้นฐานที่ดีพอ เพียงแต่เขาเห็นว่าปัญหานั้นเป็นธรรมดาและออกจะเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะถึงที่สุด “เราทุกคนต่างต้องเคยชื่นชอบในคำโกหกที่ตัวเองสร้างขึ้น มากกว่าข้อเท็จจริงที่ค้นพบโดยคนอื่นมาแล้วทั้งนั้น”

พูดอย่างซามูเอล เบ็คเก็ตต์ นักเขียนไอริชก็คือ “พลาดแล้ว ลองใหม่ ก็ยิ่งพลาดได้ดีขึ้น” (“Try Again. Fail again. Fail better.”) เพราะเราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้เสมอ

ปัญหาจริงๆ คือเราจะรู้ตัว มองเห็น และกล้าพอจะยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองได้อย่างไรและเมื่อใดต่างหาก กาฆาลมองว่า ยิ่งเรามองเห็นปัญหาของตัวเองตั้งแต่วัยเยาว์ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่เราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงและยอมรับกับคำโกหก (การตีความผิดๆ) ของตัวเองได้ง่ายกว่า

การกล้าท้าทายและยอมรับความผิดพลาดของคนร้อนวิชา ย่อมดีกว่าเสมอเมื่อเทียบกับการเรียนรู้อย่างสยบยอมและอุทิศเวลาในชีวิตอย่างสูญเปล่าไปกับการชื่นชมผู้ยิ่งใหญ่ และปกป้องข้อผิดพลาดของครูบาอาจารย์ของตัวเอง

ในแง่นี้ บทบาทของครูจึงควรเป็นการคอยประคับประคองอย่างเป็นมิตร ให้คำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนบทเรียนจากความผิดพลาดของตัวเอง เพื่อทางหนึ่งให้ศิษย์เห็นเป็นตัวอย่าง แต่อีกทางก็เพื่อไม่ให้พวกเขาหมดแรงกำลังไปเสียระหว่างทาง

แต่แน่นอนว่าก่อนจะทำเช่นนั้นได้ ครูเองต้องกล้ายอมรับเสียก่อนว่าตัวเองผิดได้ เคยผิด และอาจกำลังผิด

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือครูต้องมองเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก ไม่ใช่ด่วนตัดสินคุณค่าในตัวเด็กไปแล้วว่าโง่หรือฉลาด เพียงเพราะสิ่งที่พวกเขากำลังเป็นอยู่ตอนนี้ การมองทะลุถึงศักยภาพหมายถึงเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้ บางคนที่อาจดูหัวแข็ง กวนบาทา ชอบตั้งคำถามยากๆ หรือสงสัยอะไรที่เราไม่เห็นว่าน่าสงสัย อาจเป็นเด็กที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและพลังในการแสวงหาความรู้นอกตำรามากกว่าเด็กเรียนดีและดูเคารพนบนอบต่อเราด้วยซ้ำไป

หนังสือ Advice for a Young Investigator (1999) โดย Santiago Ramón y Cajal
หนังสือ Advice for a Young Investigator (1999) โดย Santiago Ramón y Cajal

ทั้งหมดนี้ฟังดูเข้าท่าใช่ไหมครับ หลายคนอ่านไปคงพยักหน้าเห็นด้วย แต่อย่างที่บอกครับ ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ

การยอมให้ศิษย์ไปไกลกว่าครูเป็นของยากเสมอในหลายเหตุผล ยากที่หนึ่งคือ เรามักมีแนวโน้มจะพึงใจกับศิษย์ที่ดูภักดีมากกว่าศิษย์ที่ดูพยศ เรารักคนที่ดูหัวอ่อนมากกว่าคนที่ดูก้าวร้าว แม้ว่าบางครั้ง เด็กที่ครูเห็นว่าก้าวร้าวจะเป็นแค่เด็กที่ชอบตั้งคำถามและสงสัยในเรื่องราวพื้นฐานในชีวิตที่เราโตและเชื่องเกินกว่าจะสงสัย

ยากที่สองคือในสังคมแถบนี้ โดยเฉพาะในที่ที่คำขวัญวันครูมีแต่คำว่า ‘บูชาครู’ ต่อเนื่องกันมาเกือบสองทศวรรษ ศิษย์ดูจะรักการเดินตามหรือบูชาครู เช่นเดียวกับที่ครูรักที่จะถูกตามและถูกบูชา การพยายามก้าวไปให้ไกลกว่าครู ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การสู้รบตบมือทางปัญญากับครูหรือปรมาจารย์บางคน จึงนำไปสู่อันตรายจากข้อครหาว่า “ไม่เคารพครู” แต่เราเคารพครูได้วิธีเดียว คือเดินตามต้อยๆ และคอยปกป้องครูแม้รู้ทั้งรู้ว่าครูทำผิดเท่านั้นหรือ?

บางทีการเคารพ (คารวะ) อาจเป็นคนละเรื่องกับการสักการะบูชา การเคารพแบบ respect คือการมองย้อนกลับไปข้างหลัง (re- ‘ข้างหลัง’ + specere ‘มอง’) ศิษย์ที่จะเคารพครูได้จริงๆ ก็ต้องเป็นศิษย์ที่อยู่ข้างหน้า เป็นศิษย์ที่ก้าวไปไกลแต่ไม่ลืมว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร พูดในแง่นี้ การสำนึกเสมอว่าตัวเองยืนบนไหล่ยักษ์ หรือความสำเร็จของตัวเราไม่ได้เกิดขึ้นเพราะลำพังความชาญฉลาดส่วนตัวของเรา หากแต่ยังสัมพันธ์ผู้คนมากมายที่คอยประคับประคองและให้โอกาสในต่างกรรมต่างวาระ ก็อาจจะเป็นหนทางพื้นฐานที่สุดในการแสดงความเคารพต่อสิ่งอื่นด้วย

กาฆาลบอกเหมือนกันครับว่า การทำตามครูไม่ใช่เรื่องผิดเลย การเคารพครูบาอาจารย์มีความสำคัญ ดังนั้นครูจึงควรเป็นแบบอย่างให้ศิษย์ และตัวอย่างที่ครูควรแสดงให้ศิษย์เห็นมากที่สุด ก็คือการมีความหวังและมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาในตัวคน ขณะเดียวกันก็พร้อมจะปล่อยให้ศิษย์โบยบินไปไกลกว่าที่ตัวครูจะไปถึง

ครูที่ดีสำหรับกาฆาลจึงไม่ใช่ครูที่ศิษย์พากันเข้าหา กราบไหว้บูชา และสักการะดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีวันทำผิดและไม่อาจตั้งคำถามได้ และไม่มีทางเป็นครูที่เอาแต่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าสำนัก ให้โอกาสเฉพาะกับศิษย์ที่ว่านอนสอนง่าย และฉุดรั้งคนเหล่านี้เอาไว้ไม่ให้ไปเกินครู ทั้งนี้ก็เพราะ “เกียรติอันสูงสุดของการเป็นครูไม่ใช่การปั้นศิษย์ให้คิดและทำเหมือนตัวเอง หากแต่เป็นการสร้างนักเรียนที่จะก้าวข้ามตัวเขาไป”

คงไม่เกินจริงไปหรอกครับที่พูดกันว่า ครุ ครู แปลว่า ‘หนัก’ แต่ความหนักของครูไม่ควรเกิดจากภาระงานเอกสารกองพะเนิน กิจกรรมเชิงพิธีกรรม และการสอนที่เป็นไปเพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มากเกินพอดี จนดึงเอาเวลาชีวิตของคนเป็นครูออกไปจากภารกิจสำคัญที่สุดของตัวเขาเอง

ครูควรเป็นงานหนักก็เพราะการประคับประคองและส่งแรงเพื่อให้ใครบางคนไปไกลกว่าจุดที่ตัวเราและตัวเขายืนอยู่เดิม ไกลกว่าจุดที่ตัวเราและตัวเขาเคยคิดไว้ว่าเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save