fbpx
10 Years Thailand : เมืองไทย 10 ปีข้างหน้า ในสายตาคนทำหนังอิสระ

10 Years Thailand : เมืองไทย 10 ปีข้างหน้า ในสายตาคนทำหนังอิสระ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

ในวันเวลาที่คนไทยยังไม่มีสิทธิ์ร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศ และการจินตนาการถึงสภาพบ้านเมืองในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ดูเป็นเรื่องยากเกินคาดเดา คงจะดีไม่น้อย หากเราทุกคนสามารถส่งเสียงหรือบอกเล่าถึงสังคมที่ใฝ่ฝันได้

ทว่าตลกร้ายที่คล้ายจะอยู่คู่กับสังคมไทยเสมอมา คือทุกครั้งที่เกิดวิกฤตหรือปัญหา เรามักจะวิ่งย้อนกลับไปหาอดีต มากกว่าเดินไปหาอนาคต โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คนจำนวนไม่น้อยอาจหลงลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า พวกเขาสามารถร่วมกันกำหนดชะตากรรมของประเทศนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอัศวินขี่ม้าขาว

10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภาพยนตร์สัญชาติไทยเรื่อง 10 Years Thailand เปิดตัวและเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ (World Premiere) ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ในหมวดหมู่ Special Screenings

สิ่งที่น่าสนใจคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงเมืองไทยในอนาคต ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ บอกเล่าความไม่ปกติของสังคมไทยให้ชาวโลกรับรู้

โปสเตอร์เรื่อง Ten Years Thailand (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก 10 Years Thailand)
โปสเตอร์เรื่อง Ten Years Thailand (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก 10 Years Thailand)

10 Years Thailand เป็นโปรเจ็กต์ที่สานต่อมาจากความสำเร็จของภาพยนตร์ 10 Years Hongkong (2015) ซึ่งประกอบไปด้วยหนังสั้น 5 เรื่องจากผู้กำกับชั้นนำ ที่มาร่วมกันทำหนังสะท้อนภาวะสังคมการเมืองฮ่องกงในอีก 10 ปีข้างหน้า สอดรับกับแรงกระเพื่อมที่ต่อเนื่องมาจาก Umbrella Movement

ความสำเร็จที่ว่านี้ จุดประกายให้คนทำหนังไทยกลุ่มเล็กๆ ริเริ่มโปรเจ็กต์ 10 Years Thailandขึ้นมา เพื่อทำหนังที่สะท้อนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ควบคู่ไปกับการจินตนาการถึงสภาวะบ้านเมืองในอีก 10 ปีข้างหน้า

ผลลัพธ์ที่ได้คือภาพยนตร์ขนาดยาว ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหน้าที่รัฐที่สั่งปลดงานศิลปะในแกลลอรี่ , เมืองที่เต็มด้วยแมวนักล่า , ผู้ควบคุมท้องฟ้าจำลอง , ชายหนุ่มผู้เร่ขายเครื่องช่วยนอนหลับ และถ้ำลึกลับที่มีพระสงฆ์เป็นผู้ดูแล

สำหรับเวอร์ชันที่ได้รับเลือกให้ไปฉายที่เมืองคานส์ ประกอบด้วยหนังสั้น 4 เรื่อง คือ Sunset โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ , Catopia โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง , Planetarium โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล และ Song of the city โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ส่วนเรื่อง The Cave ของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่กำลังอยู่ในกระบวนการถ่ายทำนั้น จะแยกฉายเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวช่วงปีหน้า

แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น เราชวนตัวแทนผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของโปรเจ็กต์นี้ ประกอบด้วย คัทลียา เผ่าศรีเจริญ (โปรดิวเซอร์), อาทิตย์ อัสสรัตน์ (โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ), จุฬญาณนนท์ ศิริผล (ผู้กำกับ) และ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (ผู้กำกับ) มาล้อมวงสนทนาเรียกน้ำย่อย ว่าด้วยความน่าสนใจของโปรเจ็กต์นี้ รวมถึงมุมมองที่พวกเขามีต่อสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ในฐานะคนทำหนัง และในฐานะคนไทยที่อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี

(จากซ้ายไปขวา) คัทลียา เผ่าศรีเจริญ, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, อาทิตย์ อัสสรัตน์, จุฬญาณนนท์ ศิริผล
(จากซ้ายไปขวา) คัทลียา เผ่าศรีเจริญ, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, อาทิตย์ อัสสรัตน์, จุฬญาณนนท์ ศิริผล

ขอเริ่มต้นจากพี่บี๋ (คัทลียา) ในฐานะโปรดิวเซอร์ อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์ 10 Years Thailand ให้ฟังก่อนคร่าวๆ

คัทลียา : ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่า ตัวโปรเจ็กต์แรกเริ่มคือ Films for free เป็นไอเดียที่พวกเราอยากทำหนังสักเรื่องขึ้นมาเพื่อทดสอบว่า ในสภาวะที่ไม่ปกตินี้ ยังมีอิสระอะไรสำหรับคนทำงานภาพยนตร์อย่างพวกเราอยู่บ้าง โมเดลตั้งต้นจะใช้การระดมทุนเป็นหลัก ซึ่งพอถึงเวลาจริงๆ ก็มีปัญหาอยู่พอสมควร เพราะสุดท้ายมันได้ไม่ถึงเป้าที่เราตั้งไว้

ระหว่างนั้น เราก็ได้ยินเรื่องเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ 10 years ของฮ่องกงมาสักพัก ซึ่งคุณจุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์ เขาเคยคุยกับโปรดิวเซอร์ทางฮ่องกงมาก่อนบ้างแล้ว ก็รู้สึกว่าน่าสนใจถ้าจะเอามาทำในแบบของไทย ทีนี้เราเลยกลับมาคิดกันใหม่ว่า น่าจะเอาโปรเจ็กต์ Films for free ที่ค้างไว้อยู่ มาปรับเป็น 10 years thailand ซึ่งพูดถึงประเด็นที่เราอยากนำเสนอเหมือนกัน

แล้วในมุมของผู้กำกับล่ะครับ พอได้โจทย์ 10 years มา อยากรู้ว่าแต่ละคนตั้งต้นจากอะไร หยิบเอาประเด็นไหนมาเล่า

อาทิตย์ : ไอเดียของผมมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ถ้าใครยังจำได้ ประมาณปีที่แล้ว มีข่าวเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปขอตรวจงานศิลปะ ที่หอศิลป์ฯ แล้วสั่งให้ศิลปินดึงภาพบางภาพลง ทีนี้มันมีคนที่ถ่ายรูปเหตุการณ์นั้นไว้ แล้วโพสต์ลงโชเชียล มีรูปหนึ่งเป็นรูปทหารยืนอยู่ในหอศิลป์ กำลังยืนดูงานศิลป์อยู่ สำหรับผมรูปนี้มีพลังมาก ก็เลยตั้งต้นเขียนบททั้งหมดจากรูปนี้เลย ชื่อเรื่องว่า Sunset

จุฬญาณนนท์ : หนังของเราชื่อ Planetarium ชื่อภาษาไทยคือ ท้องฟ้าจำลอง ซึ่งไอเดียก็มาจากผลงานเก่าๆ ที่เราทำมาตลอด ตั้งแต่ช่วงปี 2009-2010 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

เรารู้สึกว่างานที่เราทำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันคู่ขนานไปปัญหาของการเมืองไทยอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อเราได้โจทย์นี้มา จึงเกิดไอเดียว่า การมองย้อนไปในอดีตเพื่อตั้งคำถามกับอนาคต มันน่าจะเอางานที่เราเคยทำมาเชื่อมโยงเป็นผลงานชิ้นนี้ได้

ส่วนประเด็นที่เราสนใจ และพยายามนำเสนอในหนังเรื่องนี้ จะเกี่ยวกับความเป็น image ของสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่ขณะเดียวกันเรากลับถูก image นั้นควบคุมอยู่โดยไม่รู้ตัว ซึ่งภาพที่เราเสนอออกมาในเรื่องนี้ เป็นภาพที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ สิ่งที่อยู่นอกโลกที่เรามองไม่เห็น แต่ภาพเหล่านั้นมันถูกสร้างและทำให้เราเห็น ผ่านการควบคุมของศูนย์กลางอำนาจอีกที โคตร abstrct เลย (หัวเราะ)

ชูเกียรติ : หนังของเราถือเป็น bonus track ละกัน เรื่องนี้ชื่อว่า ‘The Cave’ เป็นเรื่องของพระเฝ้าถ้ำ มีถ้ำอยู่แห่งหนึ่งที่ส่งเสียงเรียกให้คนเดินเข้าไปเรื่อยๆ แล้วก็หายเข้าไปในนั้น ทิ้งลูกทิ้งหลานเอาไว้กับพระที่คอยเฝ้าอยู่ปากถ้ำ จนวันเวลาผ่านไปนานๆ ลูกหลานเหล่านั้นโตขึ้น เรื่องราวก็เริ่มยุ่งยากขึ้น เพราะเด็กๆ ก็เริ่มสงสัยว่าในถ้ำนั้นมีอะไร เป็นหนังจักรๆ วงศ์ๆ คนไทยน่าจะดูง่าย ดูสนุก

ทีนี้ถามว่าอยากสื่ออะไร พูดถึงอะไร มันก็พูดถึงสิ่งที่ยึดมั่นพันธนาการความคิดความเชื่อของคนเอาไว้ ซึ่งเราไม่มีทางรู้หรอกว่า การพันธนาการผู้คนให้ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ สุดท้ายแล้วมันดีหรือไม่ดีต่อคนเหล่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหนังที่พูดเรื่องสังคมการเมือง โดยเฉพาะในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้ คือเรื่องการเซ็นเซอร์ ทั้งเซ็นเซอร์ตัวเอง รวมถึงการเซ็นเซอร์จากเจ้าหน้าที่รัฐ อยากรู้ว่าแต่ละคนกังวลเรื่องนี้แค่ไหน

อาทิตย์ : ตลอดหลายปีที่ผมทำหนังมา เวลาที่มีคนพูดถึงเรื่องการเซ็นเซอร์ ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากตัดสินหรือสอนคนดูว่าการเซ็นเซอร์มันถูกหรือผิด เพราะคิดว่าทุกคนก็รู้อยู่แล้ว ตัดสินเองได้อยู่แล้ว แต่ผมสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า สนใจภาวะความรู้สึกของคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น สุดท้ายผมเลยเลือกเล่าเรื่องของคนๆ หนึ่งที่เป็นพลทหาร มีหน้าที่ขับรถตู้พานายทหารชั้นผู้ใหญ่มาตรวจงานศิลปะ ผมอยากรู้ว่าเขารู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นี้

ถามว่าอีก 10 ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเป็นยังไง ผมว่ามันก็เป็นไปได้ว่าจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่แบบนี้อยู่จริง แต่ในฐานะคนเล่าเรื่อง และสไตล์หนังที่ผมทำ ผมไม่ได้มองว่าทหารหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้าย เพราะชีวิตจริงของคนมันมีหลายมิติ แต่มองว่าเขาก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ ศิลปินก็เช่นกัน เจ้าของแกลลอรี่ก็เช่นกัน ทุกคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหนังมันจะไปโฟกัสที่ความรักของตัวเอกในเรื่องที่เป็นพลทหารมากกว่าด้วยซ้ำ

ฉะนั้นส่วนตัวจึงไม่ได้กังวลเท่าไหร่ คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถึงเวลาก็ไม่รู้เหมือนนะ ผมอาจมองโลกในแง่ดีเกินไป

จุ๊ก – อาทิตย์ อัสสรัตน์
จุ๊ก – อาทิตย์ อัสสรัตน์

แล้วสมมติว่าสถานการณ์จริง ถ้าคนทำหนังต้องเจอสภาวะแบบนี้ โดนตรวจสอบหรือเซ็นเซอร์ผลงานโดยไม่คาดหมายแบบนี้ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ตลกร้ายเอามากๆ คุณจะรับมือยังไง

อาทิตย์ : (เงียบคิด) ขอผมคิดก่อนนะ ขอโยนไปให้น้องเข้ (จุฬญาณนนท์) ตอบก่อนละกัน (หัวเราะ)

จุฬญาณนนท์ : ส่วนตัวเรารู้สึกกลัวอยู่แล้ว กับการที่จะต้องมาถูกควบคุมตรวจสอบผลงาน ซึ่งมันก็มีอยู่ 2 วิธีที่จะจัดการกับมัน หนึ่ง คือยอมทำตามเขา เพื่อที่งานของเราจะได้ออกสู่สาธารณะ สอง สมมติว่าสิ่งที่เขาบอกว่าอ่อนไหว มันไม่ได้ชัดเจน หรือมีข้อสรุปตายตัวแบบ 1+1=2 เราคิดว่าเราก็สามารถอธิบายได้ว่า สิ่งที่คุณเข้าใจว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันอาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด เรามีที่มาที่ไป เรามี reference ที่เอามาอธิบายได้ว่า สิ่งที่อ่อนไหวตรงนั้น มันไม่ใช่อย่างที่คุณคิด

เรารู้สึกว่างานศิลปะที่น่าสนใจ มันจะไม่ได้นำเสนอแบบตรงไปตรงมาอย่างการออกมาประท้วง แต่มันเหมือนการโยนวัตถุบางอย่างให้คนดู แล้วคนดูก็สามารถมองมันได้ในมิติที่หลากหลาย นี่คือเสน่ห์ของงานศิลปะ

ฉะนั้นเราเลยคิดว่าการสร้างผลงานออกมา โดยทำให้มันมีมิติที่หลากหลาย ตีความได้หลายแบบ น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการซิกแซก เพื่อให้เล็ดลอดจากการตรวจสอบ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้โดยไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ ถ้ามองในแง่นี้ งานศิลปะจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญเหมือนกันในการต่อสู้กับการเซ็นเซอร์

วนกลับมาที่พี่อาทิตย์ ได้คำตอบรึยังครับ

อาทิตย์ : (หัวเราะ) นั่นแหละครับ สิ่งที่ผมรู้สึกคือ ภาวะแบบนี้มันบีบให้เราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองในระดับนึง ผมนึกถึงประเทศมาเลเซีย ที่ล่าสุดรัฐบาลออกกฎมาว่าจะจับคนเผยแพร่ fake news ซึ่งหากมองเผินๆ มันก็ดูโอเคนะ หมายความว่าถ้าคุณไม่ได้ทำผิด ไม่ได้เผยแพร่ คุณก็ไม่ต้องกลัวอะไร

แต่ประเด็นคือ ความจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้นไง เพราะมันขึ้นอยู่กับการตีความอีกทีว่าอันไหนคือ fake news ซึ่งคนที่มีอำนาจตีความก็คือคนบังคับใช้กฎหมาย ฉะนั้นการออกกฎแบบนี้จึงมีแนวโน้มที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ง่ายมาก

ถ้าเทียบกับเรื่องราวในหนังที่ผมทำ ศิลปินก็จะบอกว่า รูปนี้ไม่เห็นมีอะไรเลย ไม่เห็นเสี่ยงตรงไหนเลย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะบอกว่า คุณคิดว่ามันไม่มีอะไรก็จริง แต่มีคนอื่นที่เขาเห็นแล้วเขาคิดว่ามันมีอะไร เขาไม่ชอบ.. อะไรทำนองนี้ สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผมอยากให้คนดูได้จากหนังก็คือ สุดท้ายแล้วระบบแบบนี้มันทำลายทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งศิลปิน ทั้งผู้หมวด ทั้งพลทหาร ทั้งเจ้าของแกลลอรี่

พี่มะเดี่ยวล่ะครับ มองเรื่องนี้ยังไง

ชูเกียรติ : เรามองเป็นความท้าทายมากกว่า ว่าถ้าหากเขาไม่ให้เราพูดเรื่องนี้ แล้วเราจะมีวิธีที่จะพูดถึงมันได้ยังไงบ้างในฐานะที่เรามีภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ ก็ต้องหาวิธีซิกแซกไป ซึ่งผลสุดท้ายก็อาจคล้ายๆ กับเรื่องของพี่อาทิตย์ก็ได้ คือมีคนเดินมาบอกว่าคุณไม่คิด แต่คนอื่นเขาคิด

แต่ทั้งนี้ ถ้าเรามีเจตนาที่ดีในการทำงาน เราคิดว่าเราก็อธิบายได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าพออธิบายแล้วเขาจะฟังรึเปล่า

จริงๆ แล้วการที่เราร่วมกันทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ประเด็นหนึ่งที่เราต้องการสื่อ คือเรื่อง Freedom of expression หรือการมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งหลายคนก็อาจถามย้อนมาว่า ทุกวันนี้ไม่มีเสรีภาพตรงไหน ยังอิสระไม่พออีกเหรอ จะพูดอะไรอีก

แน่นอนว่าเราไม่ใช่หมูใช่หมา เราควรพูดได้ บอกได้ ว่าเราขาดอะไร เราต้องการอะไร วันหนึ่งถ้าเรารู้สึกว่าเราขาดสิ่งนี้ แล้วมีคนมาบอกว่าพอแล้ว ไม่ต้องพูดแล้ว มันก็คงไม่ใช่

ในเมื่อเรารู้สึกว่า เราควรมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ เราควรมีทรัพยากรที่เท่าเทียมกันกว่านี้ เราก็ควรพูดได้ สมมติว่าจู่ๆ ถ้ามีใครมาสร้างโรงงานอยู่ข้างบ้านคุณ โดยที่โรงงานนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนมีอำนาจเป็นเจ้าของ แล้วเขาก็ปล่อยสารพิษทำให้น้ำเน่าเสีย ทำอากาศเป็นพิษ หรือป่าไม้ถูกทำลาย อย่างน้อยเราควรพูดได้ แต่ปัญหาที่เราเจอทุกวันนี้คือ เราพูดไม่ได้ เมื่อพูดไม่ได้ มันก็บีบให้เราต้องเข้าหาคนที่มีอำนาจ ที่อาจช่วยเราแก้ปัญหาได้ ซึ่งสุดท้ายก็ยิ่งทำให้ระบบมันผิดเพี้ยน

แต่ถ้าย้อนกลับไปที่พื้นฐาน ว่าเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูด แล้วก็มีคนที่พร้อมจะฟัง แล้วนำสิ่งเหล่านี้ไปจัดการแก้ไข มันก็เป็นสิ่งที่ดีและเราทุกคนควรจะมีไม่ใช่หรือ

จริงๆ พวกเราทุกคนทำหนังด้วยเจตนาที่ดีทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครที่อยู่ดีๆ ก็อยากจะไปด่าทอหรือวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นหรอก เพียงแต่เรารู้สึกว่าช่วงนี้มันหายไป เวลาเราพูดอะไรขึ้นมาสักอย่าง หรือเวลาเราออกไปชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิ่งที่เราควรมีควรได้ เขาก็ไปไล่จับเรา ขัดขวางเรา

มะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
มะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

ประเด็นต่อมาที่อยากชวนคุย คือมุมมองต่อสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าของแต่ละคน อยากรู้ว่าใครคิดอย่างไรกันบ้าง

คัทลียา : สำหรับเรา เมื่อพูดถึงเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้านับจากตรงนี้ นอกจากจะรู้สึกว่ามันเร็วมากแล้ว เรายังรู้สึกว่าแทบจะวางแผนอะไรไม่ได้เลย แม้กระทั่งแผนส่วนตัวของเราเอง เพราะเราไม่รู้ว่าถ้าวางแผนไปแล้ว ในภาพใหญ่ของสังคม จะมีอะไรที่เป็นหลักประกันได้ว่าแผนของเราจะไม่ล่ม เราไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ไม่รู้ว่าการคาดการณ์ของเราจะถูกหรือไม่ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เราอึดอัดมากอยู่ช่วงหนึ่ง

หรือการที่เราอยากออกไปร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก เวลาที่คุณมีประเด็นที่อยากเรียกร้อง อยากทวงถาม คุณก็ควรจะออกไปได้ ออกไปในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นคนทำหนัง ไม่ได้เป็นโปรดิวเซอร์ เราแค่ออกไปแสดงจุดยืนของเรา ซึ่งไม่ว่าใครก็ควรทำได้ สังคมควรเป็นแบบนั้น แต่คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ อะไรกันที่ทำให้เรารู้สึกกลัว หรือไม่อยากออกไป

คำตอบที่ได้คือ เพราะว่าเรารู้สึกถึงความไม่ปกติ รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เราไม่รู้สึกว่าเราจะออกไปทำกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างสบายใจ ซึ่งเรากลัวมากว่าพอนานเข้าๆ วันหนึ่งเราจะชินกับมัน

ชูเกียรติ : ส่วนตัวเราคิดว่า บ้านเรามักมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง คือเวลาที่เกิดปัญหาบ้านเมืองแต่ละครั้ง เรามักจะย้อนกลับไปคิดถึงอดีต มากกว่าคิดถึงอนาคต

ตอนนี้เราก็กำลังทำรีเสิร์ชกันอยู่ เราจะสนใจเรื่องการวนลูปของหนังหรือละครที่เป็นที่นิยมขึ้นมาในช่วงที่บ้านเมืองมีปัญหา อย่างล่าสุดที่เห็นชัดๆ ก็มีเรื่องออเจ้า หรือถ้าย้อนไปช่วงต้มยำกุ้ง ก็มีหนังอย่าง บางระจัน ออกมา หลังจากนั้นก็มี โหมโรง หรือละครอย่าง ผู้กองยอดรัก ที่มักจะถูกนำมารีเมคเป็นช่วงๆ

เรารู้สึกว่าเวลาที่คนในสังคมเจอวิกฤตอะไรบางอย่าง เขามักจะย้อนกลับไปหาความยิ่งใหญ่ในอดีต หรือเรื่องราวบางอย่างที่เคยดี แล้วก็จุดเป็นกระแสขึ้นมาทั้งบ้านทั้งเมือง เพื่อหลีกหนีความจริงที่กำลังเผชิญอยู่ แต่กลับไม่ค่อยมองอนาคตกันเท่าไหร่

ที่ผ่านมา มันแทบไม่มีหนังเกี่ยวกับอนาคตเลยนะ อย่างตัวเราเอง ทำงานกับค่ายใหญ่มานาน เห็นชัดเลยว่าการทำหนังเกี่ยวกับอนาคตนี่แทบจะเป็นสิ่งต้องห้ามเลย เช่นพวก Sci-fi ต่างๆ มนุษย์ต่างดาว หรืออะไรที่มันเกี่ยวกับบ้านเมืองเราในอนาคต

พอทำเรื่องนี้ออกมา เราก็คิดหนักเหมือนกันว่า จะนำเสนอหนังเรื่องนี้ยังไงให้คนจำนวนมากเกิดความรู้สึกว่าอยากดู อย่างกรณีของฮ่องกง ที่เขาอยากไปดูหนังเรื่องนี้กันเพราะมันพูดอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่อย่างของไทย ถ้าเราบอกว่าหนังเรื่องนี้ทำขึ้นมาเพราะจะเสนอให้เห็นอิทธิพล บลาๆๆ เดี๋ยวทักษิณจะกลับมา โน่นนั่นนี่ คนก็จะแบบ เออ งั้นกูกลับไปดูออเจ้าต่อดีกว่า (หัวเราะ)

แต่การได้รับเลือกให้ไปฉายที่คานส์ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ช่วยยืนยันว่ามันไม่ใช่หนังที่จู่ๆ เราก็มโนกันขึ้นมาเองว่ามันดี อย่างน้อยมันก็มีสถาบันนี้มารองรับอยู่นะ

จุฬญาณนนท์ : เราคิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เรายังสามารถทำงานแบบที่เราทำอยู่ตอนนี้ได้ เพราะเรายังมีโปรเจ็กต์อีกมากมายที่อยากทำ ทั้งงานที่เป็นหนัง หรืองานศิลปะแบบอื่นๆ

ขณะเดียวกัน งานที่ผ่านมาของเราก็มักพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่แล้ว ซึ่งเราก็คงรักษาแนวทางนี้ต่อไป ฉะนั้นเราเลยมองภาพสังคมในอนาคตไปพร้อมๆ กับงานที่เรากำลังจะทำ

ส่วนเรื่องสังคม อันนี้ไม่แน่ใจว่าคนอื่นมองยังไง แต่เราก็คาดหวังถึงสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะจากอดีตที่ผ่านมา เราก็น่าจะได้บทเรียนจากการที่อำนาจมันถูกรวมศูนย์อยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ว่าสุดท้ายแล้วมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งการที่เรามีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดมากขึ้น มีการกระจายอำนาจมาสู่ประชาชนมากขึ้น ก็น่าจะดีกว่ารึเปล่า นั่นคือระดับพื้นฐานที่สุดที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าเทียบกับสถานการณ์ตอนนี้ เราอาจยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งเลยด้วยซ้ำ

เข้ – จุฬญาณนนท์ ศิริผล
เข้ – จุฬญาณนนท์ ศิริผล

แล้วพี่อาทิตย์ล่ะครับ มองอนาคตของตัวเองกับอนาคตของสังคมยังไง

อาทิตย์ : ผมเป็นคนที่เสพติดเรื่องส่วนตัว วันๆ ก็จะห่วงแต่อะไรที่อยู่ในรั้วบ้านเรา อยู่กับครอบครัว เลี้ยงลูกไป ถึงแม้ว่าเราจะเปิดเฟซบุ๊กมาแล้วเห็นเรื่องอื่นๆ เราก็แค่อ่าน แล้วเราก็รับรู้ว่าประเทศนี้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง แต่สุดท้ายถ้าปัญหามันยังไม่เข้ามาอยู่ในรั้วบ้านเรา สำหรับผมก็เป็นเรื่องง่ายมากที่จะปล่อยมันผ่านไป

สิ่งที่เราคิดในหัว กับสิ่งที่เรารู้สึกในใจ มันต่างกัน จะเรียกว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าผมก็เหมือนกับคนอีกจำนวนมากในสังคมนี้ เคยมีฝรั่งถามผมว่า ทำไมในขณะที่ปัญหาบ้านเมืองมันใหญ่ขนาดนี้ แต่กลับไม่เห็นมีคนออกมาประท้วงหรือพยายามทำอะไรสักอย่างเลย ผมก็ตอบไปทำนองนี้แหละ ว่าสุดท้ายถ้าปัญหานั้นไม่ได้เข้ามาถึงภายในรั้วบ้านเขา เขาก็จะไม่ทำอะไร ผมรู้สึกว่าผมก็เป็นหนึ่งในคนประเภทนี้

ผมรู้แหละว่าสังคมเรามีปัญหาอะไร อย่างช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ไม่ปกติ เอาเข้าจริงไม่ปกติมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว ถึงตอนนี้ก็ 12 ปีแล้ว แต่ว่าตราบใดที่ข้างในบ้านผมยังปกติอยู่ ผมยังใช้ชีวิตตามปกติได้อยู่ ผมก็เห็นแก่ตัวไปเรื่อยๆ อันนี้ยอมรับเลยนะ ซึ่งบางทีก็แอบคิดเหมือนกันว่า เราทำได้แค่นี้เหรอวะ

แล้วในฐานะคนทำหนัง คุณคิดว่าหนังที่คุณทำออกมา สามารถสะท้อนปัญหาเหล่านั้นได้บ้างไหม

อาทิตย์ : คิดครับ อย่างหนังเรื่องต่อไปที่กำลังจะทำ ก็จะพูดถึงเรื่องของคนอย่างผมนี่แหละ กับเพื่อนอีกสองสามคน ที่ในหัวเขาเนี่ย คิดเยอะแยะไปหมด มีอุดมการณ์ มีความเห็นว่าสังคมควรจะเป็นแบบไหน ทุกวันนี้มันไม่ดียังไง เราควรจะทำแบบนี้นะเพื่อให้มันดีขึ้น เออ แต่ตอนนี้ขอเวลาแป๊บนึงนะ เลี้ยงลูกก่อน แป๊บนึงนะ ขอไปกินเหล้ากับเพื่อนก่อน พูดง่ายๆ ว่าสุดท้ายเราให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวมากไป จนทำให้เรื่องเกี่ยวกับสังคมที่อยู่ในหัว ก็อยู่ในหัวอย่างนั้นแหละ ไม่ได้เดินไปหามันหรือทำให้มันเป็นจริงสักที

มะเดี่ยว : แต่ในมุมของคนที่ดูหนังพี่อาทิตย์มา เราว่ามันก็พูดถึงสังคมตลอดนะ ซึ่งพี่อาจไม่รู้ตัวก็ได้

อาทิตย์ : ก็อาจจะใช่ แต่เราก็ทำในแบบของเรา อาจเพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าสูงด้วยมั้ง เราชอบทำเรื่องเล็กๆ ชอบทำเรื่องวัยรุ่นจีบกัน ชอบทำเรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งสุดท้ายเรื่องเล็กๆ เหล่านั้นมันก็คงสะท้อนบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสังคมใหญ่อยู่ดี หน้าที่เราก็แค่นี้แหละ

ในฐานะคนทำหนัง เราก็คงสะท้อนได้ประมาณนี้ เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่หรือมีอำนาจที่จะเปลี่ยนอะไรได้ขนาดนั้น ถ้าเปลี่ยนได้มันก็ดี แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือสะท้อนมันออกมา เล่ามันออกมา ในแบบที่เรารู้ ส่วนคนอื่นเขาก็คงสะท้อนในแบบของเขา ซึ่งเราคิดว่าในท้ายที่สุด ถ้าหลายๆ เสียงที่สะท้อนออกมา พอมารวมกันแล้ว ก็อาจช่วยเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้ 

 

ช่วงท้ายก่อนปิดวง อยากให้ทุกคนฝากถึงหนังเรื่องนี้ว่าน่าสนใจยังไง ทำไมคนไทยถึงควรดูหนังเรื่องนี้

อาทิตย์ : อยากให้ไปดูกันครับ ถึงแม้จะไปฉายต่างประเทศ เปิดตัวที่ฝรั่งเศสก่อน แต่สุดท้ายมันเป็นหนังไทย พูดถึงเรื่องการเมืองไทย เกี่ยวกับอนาคตประเทศนี้ ฉะนั้นคนที่ควรจะดู และรู้สึกแคร์จริงๆ ก็คือคนไทยเท่านั้นแหละครับ ถึงแม้ว่าคนต่างชาติเขาจะดูได้ หรือเข้าใจได้ แต่สุดท้ายมันไม่ได้ส่งผลอะไรต่อเขา เท่ากับที่ส่งผลต่อเราที่เป็นคนไทยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้

ชูเกียรติ : หนังสนุกครับ ดูแล้วบันเทิง ไม่ได้เครียดแต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องของเข้ (หัวเราะทั้งวง) มีเรียกเสียงฮา มีประทับใจ มีตื่นเต้น ดูรวมๆ ก็เป็นหนังบันเทิงเรื่องหนึ่งครับ

จุฬญาณนนท์ : เราคิดว่าแต่ละเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย นำเสนอคนละมุมกันเลย แต่จริงๆ แล้วถ้าดูภาพรวมทั้งหมด มันกลับมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ตั้งใจ เราคิดว่าตรงนี้แหละที่กลายเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะเห็น แต่มันกลับปรากฏให้เห็น ในฐานะผู้กำกับ เราอยากให้คนดูย้อนกลับไปตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า เมื่อคุณได้ดูหนังสั้นสี่ห้าเรื่องนี้ที่พูดถึงประเทศไทยในอีกสิบปีแล้ว แล้วในมุมของคุณเอง คุณมองเหมือนหรือต่างอย่างไร หรือมีความรู้สึกต่อหนังสี่ห้าเรื่องนี้อย่างไร แล้วลองมาแลกเปลี่ยนกันดู เพื่อที่จะสร้างไดอะล็อกระหว่างคนทำหนัง ตัวหนังเอง และผู้ชม ให้มีพลวัตมากขึ้น

คัทลียา : ส่วนตัวอยากพูดถึงโปสเตอร์นิดนึง ไอเดียที่คิดไว้คือ เราไม่ควร spoil หนังด้วยการใช้รูปจากในหนังเอามารวมเป็นโปสเตอร์ ก็เลยเลือกใช้ text มาเป็นองค์ประกอบหลักแทน เราชวนคุณมานิตา ส่งเสริม ที่เป็นนักออกแบบหนังสือ และคุ้นเคยกับงาน text มาช่วยออกแบบ ซึ่ง text ที่กระจายอยู่บนโปสเตอร์ มันคือข่าวที่คุณไม่เคยสนใจ กระจัดกระจายกันอยู่ในโปสเตอร์นี้แหละ ถ้าคุณเดินเข้ามาใกล้ แสดงว่าคุณให้ความสำคัญ คุณก็จะได้อ่านมัน แต่ถ้าคุณเห็นว่ามันเป็นแค่โปสเตอร์ธรรมดา คุณก็จะมองผ่านไป

ในนั้นมันจะมีข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองไทย รวมไปถึงข่าวสารที่คนไม่ให้ความสำคัญ ในแง่หนึ่งเราอยากให้โปสเตอร์นี้เป็นพื้นที่ทางศิลปะที่แสดงออกถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย คิดกันไว้ว่าเวอร์ชันไทย อยากทำออกมาสักสิบแบบเลย อยากชวนคนที่ทำงานสองมิติมาตั้งคำถามเดียวกันนี้ ว่าสิบปีในความคิดคุณเป็นยังไง ซึ่งสุดท้ายมันอาจจะมีสักร้อยเวอร์ชันก็ได้ เพราะนอกจากภาพยนตร์ที่เราทำออกมา เรายังอยากส่งต่อคำถามนี้ให้กระจายออกไปในสังคมด้วย


หมายเหตุ : ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ของโปรดิวเซอร์ และผู้กำกับแต่ละคนแบบเจาะลึก เร็วๆ นี้ ทาง The101.world กับซีรีส์ 10 Years Thailand

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save