fbpx
ท้องฟ้าจำลอง ของ เข้-จุฬญาณนนท์

ท้องฟ้าจำลอง ของ เข้-จุฬญาณนนท์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

คุณเคยเข้าท้องฟ้าจำลองไหม?

หมู่ดาวพร่างพราวที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า แสงเหนือและกาแลกซี่ที่ห่างออกไปหลายล้านปีแสง ส่องสว่างอยู่กลางแผ่นฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นมา สวยงามจับใจแม้รู้ว่าปลอม…

แต่จะเป็นอย่างไร หากสังคมที่เราอยู่ โลกที่เราอาศัย กระทั่งภาพบางภาพที่เราเห็น อาจเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเช่นกัน

เข้-จุฬญาณนนท์ ศิริผล บรรจุข้อสงสัยที่ว่านั้นลงไปในหนังสั้นที่ชื่อว่า Planetarium หรือ ท้องฟ้าจำลอง หนึ่งในสี่เรื่องที่อยู่ในโปรเจ็กต์ ‘10 Years Thailand’ ภาพยนตร์ขนาดยาวว่าด้วยอนาคตสังคมไทยที่ไปเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งล่าสุด

ในแวดวงภาพยนตร์และศิลปะ จุฬญาณนนท์นับเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่โดดเด่นในการสร้างสรรค์งานทดลอง หลงใหลในศาสตร์ของภาพเคลื่อนไหวและสื่อผสม ควบคู่ไปกับการสื่อสารประเด็นทางสังคมการเมือง การันตีด้วยผลงานหนังสั้นและสารคดีที่กวาดรางวัลจากหลายเวที

ในวาระที่ผลงานของเขาไปไกลถึงเมืองคานส์ เราชวนเขาและทีมงาน 10 Years Thailand มาล้อมวงสนทนา ว่าด้วยความน่าสนใจของโปรเจกต์นี้ รวมถึงมุมมองที่พวกเขามีต่อสังคมไทย

ต่อไปนี้คือผลึกความคิดจาก เข้-จุฬญาณนนท์ ผู้เปรียบได้กับน้องคนสุดท้องของบรรดาผู้กำกับรุ่นพี่ที่มาร่วมกันสร้างสรรค์โปรเจกต์นี้

เข้-จุฬญาณนนท์

ที่มาของเรื่อง Planetarium หรือ ท้องฟ้าจำลอง

ประเด็นที่เราสนใจและพยายามนำเสนอในหนังเรื่องนี้ จะเกี่ยวกับความเป็น image ของสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่ขณะเดียวกันเรากลับถูก image นั้นควบคุมอยู่โดยไม่รู้ตัว ซึ่งภาพที่เราเสนอออกมาในเรื่องนี้ เป็นภาพที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ สิ่งที่อยู่นอกโลกที่เรามองไม่เห็น แต่ภาพเหล่านั้นมันถูกสร้างและทำให้เราเห็น ผ่านการควบคุมของศูนย์กลางอำนาจอีกที

เรารู้สึกว่าในยุคปัจจุบัน ความเป็น image มันมีพลังมาก โดยเฉพาะในโลกของการสื่อสารที่ทุกคนมีอุปกรณ์ที่สามารถสร้างภาพได้ ถ่ายรูปได้ ถ่ายวีดีโอได้ มีแพลตฟอร์มทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้สื่อสารและเผยแพร่ภาพเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว

พอได้โจทย์ที่เกี่ยวกับสังคมไทยอีกในอีกสิบปีข้างหน้า เราเลยมองว่าเหตุการณ์ในปัจจุบัน อาจกลายเป็นสิ่งตกค้างไปสู่อนาคตได้ จากปัจจุบันที่เรามีเสรีภาพในการสร้างภาพและสื่อต่างๆ อยู่ประมาณหนึ่ง ผ่านอุปกรณ์และเครือข่ายทันสมัย แต่ในอนาคตอีกสิบปี วิธีการสร้างภาพมันอาจย้อนกลับไปสู่การรวมศูนย์อีกครั้งก็เป็นได้

สุดท้ายเราเลยสร้างโลกจำลองขึ้นมา ที่เหมือนว่าจะเป็นโลกอนาคต แต่ขณะเดียวกันก็มีความย้อนอดีตอยู่ เป็นเรื่องราวของกระทรวงหนึ่งที่มีอำนาจในการควบคุมภาพต่างๆ ที่แพร่กระจายอยู่ในสังคม เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีคนที่รู้สึกต่อต้านกระทรวงนี้อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งวิธีแก้ปัญหาก็คือการจับเอาคนเหล่านี้มาบำบัดเยียวยา ด้วยการใส่ชุดภาพที่ถูกต้องเข้าไปในหัวของคนที่ต่อต้านเหล่านั้น เราจึงนิยามหนังเรื่องนี้ว่าเป็น sci-fi ย้อนอดีต

แล้วทำไมต้องเป็นท้องฟ้าจำลอง

คำว่าท้องฟ้าจำลองมันดูมีหลายมิติ หนึ่งคือท้องฟ้าจำลองที่อยู่ตรงเอกมัย ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา ซึ่งมันทำให้เราคิดต่อไปได้อีกว่า ท้องฟ้าหรือหมู่ดาวต่างๆ ที่เราไม่เคยเห็น มันถูกจำลองขึ้นมาเพื่อทำให้เราเห็นได้ภายใต้สถานที่แห่งนี้

พอคิดได้แบบนี้ ก็เชื่อมโยงกับไอเดียหลักที่เราอยากพูดถึงอำนาจของการสร้างภาพพอดี ขณะเดียวกันก็มีมิติที่พูดถึงการศึกษา ดาราศาสตร์ และการปกครองด้วย

การพูดถึงประเด็นสังคมการเมือง ในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้ มีอะไรที่ต้องระมัดระวังไหม หรือต้องใช้กลวิธีในการนำเสนอยังไง

เราคิดว่าการสร้างผลงานออกมา โดยทำให้มันมีมิติที่หลากหลาย ตีความได้หลายแบบ น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการซิกแซก เพื่อให้เล็ดลอดจากการตรวจสอบ หรือนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้โดยไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ ถ้ามองในแง่นี้ งานศิลปะจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญเหมือนกันในการต่อสู้กับการเซ็นเซอร์

คำถามคือ เราจะพูดในสิ่งที่เราไม่กล้าพูดหรือถูกสั่งห้ามพูดยังไง ด้วยวิธีการที่พอจะเป็นไปได้ ผ่านอารมณ์ขันไหม หรือผ่านภาพที่มีความเหนือจริง ใช้สีสันสดใส ใช้สิ่งที่ดูสวยงาม มาจับคู่กับประเด็นหรือเรื่องที่มันดูรุนแรงหรืออันตราย

วิธีการหนึ่งที่เราชอบใช้ คือการทำให้มันดูตลก เราอาจพูดถึงประเด็นที่แรง แต่ความแรงนั้นมีความตลกอยู่ ซึ่งความตลกที่เราใช้ มันไม่ใช่ตลกโปกฮา แบบดูสนุกลุกนั่งสบาย แต่เป็นตลกที่มีความเสียดสีกระแทกแดกดันอยู่ ซึ่งความตลกประเภทนี้ ดูผ่านๆ อาจรู้สึกว่าช่วยทำให้เรื่องดูเบาลง แต่ในทางกลับกัน มันอาจช่วยเสริมความแรงหรือเสริมประเด็นนั้นๆ ให้ชัดขึ้นด้วยก็ได้

 

กลัวไหมกับการที่รัฐใช้มาตรการตรวจสอบควบคุมสื่อต่างๆ รวมถึงสื่ออย่างภาพยนตร์

ส่วนตัวเรารู้สึกกลัวอยู่แล้ว กับการที่จะต้องมาถูกควบคุมตรวจสอบผลงาน ซึ่งมันก็มีอยู่ 2 วิธีที่จะจัดการกับมัน หนึ่ง คือยอมทำตามเขา เพื่อที่งานของเราจะได้ออกสู่สาธารณะ สอง สมมติว่าสิ่งที่เขาบอกว่าอ่อนไหว มันไม่ได้ชัดเจน หรือมีข้อสรุปตายตัวแบบ 1+1=2 เราคิดว่าเราก็สามารถอธิบายได้ว่า สิ่งที่คุณเข้าใจว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันอาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด เรามีที่มาที่ไป เรามี reference ที่เอามาอธิบายได้ว่า สิ่งที่อ่อนไหวตรงนั้น มันไม่ใช่อย่างที่คุณคิด

 

ช่วงปี 2558 มีการแบนการฉายหนังของกลุ่ม ‘บางแสนรามา’ ที่คุณได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในกรรมการ จำได้ว่าบนเวทีวันนั้นคุณร้องไห้ด้วย อยากถามความรู้สึกตอนนั้นว่าเป็นยังไง ทำไมถึงร้องไห้

ตอนนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารประมาณปีกว่าๆ เรารู้สึกว่าถูกลิดรอนเสียงหรือสิ่งที่เราควรจะนำเสนอได้อย่างปกติ หนังบางเรื่องที่ผ่านเซ็นเซอร์แล้ว เรียบร้อย จะเอามาฉาย แต่ทางรัฐบอกว่าอย่าฉายดีกว่า ซึ่งสุดท้ายมันไม่ใช่แค่การสั่งให้ตัดหนังเรื่องนั้นออก แต่คือสั่งให้ปิดเทศกาลไปเลย เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย แบบนี้มันมากเกินไป

ก่อนหน้านั้นเราก็ติดตามเหตุการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด เห็นว่าเกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ ละครถูกสั่งให้ตัดฉากนั้นฉากนี้ มีทหารมีตำรวจมาแอบฟังเสวนาวิชาการ เราในฐานะคนทำสื่อ ทำงานสร้างสรรค์ รู้สึกว่ามันถูกบีบ ถูกจำกัดความคิดมากเกินไป แล้วในเทศกาลหนังสั้นครั้งนั้น น้องที่เป็นผู้จัดชวนเราไปเป็นกรรมการ ซึ่งเราก็ตั้งใจทำวีดีโอชิ้นหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้เปิดเทศกาลด้วย

ช่วงที่ร้องไห้คือตอนเราขึ้นไปพูดบนเวที แล้วอธิบายว่าวิดีโอที่เราทำมาเพื่อเปิดเทศกาลนี้มันคืออะไร เหมือนโมเมนต์นั้นมันได้ทบทวนความคิดและสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ความรู้สึกต่างๆ ที่สะสมไว้มันก็ระบายออกมาด้วย จริงๆ ไม่ได้อยากร้องไห้หรือดราม่าเลยนะ แต่ความรู้สึกมันมาเอง (หัวเราะ)

ทำไมคุณถึงเลือกทำหนังประเภทนี้ ซึ่งอาจเรียกแบบรวมๆ ว่าหนังอินดี้ ที่มีคนดูเฉพาะกลุ่มมากๆ

ความเป็นอินดี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องทุน แต่ขณะเดียวกันคนทำก็มีอิสระภายใต้ทุนนั้นๆ อิสระในนี้คืออิสระในการนำเสนอเนื้อหาหรือเรื่องราวที่ไม่ได้เอาใจคนส่วนมาก ไม่ต้องเอาใจตลาด แต่เอาใจตัวคนทำเป็นที่ตั้ง มันจึงมีอิสระมากกว่าว่าเราอยากจะพูดอะไร นำเสนออะไร

แต่ในเมื่อมันเป็นหนัง แน่นอนว่ามันก็ต้องมีการสื่อสาร สิ่งที่เราต้องจัดการคือการบาลานซ์ระหว่างสิ่งที่เราสนใจ หรือสิ่งที่เราอยากพูด กับการทำให้มันเข้าถึงคนดูได้ด้วย

แต่เท่าที่ผ่านมา สังเกตว่าหนังของคุณก็ถือว่าเป็นหนังดูยากและมีความซับซ้อนพอสมควร ทั้งในแง่เนื้อหาและวิธีการนำเสนอ

เรารู้สึกว่างานศิลปะที่น่าสนใจ มันจะไม่ได้นำเสนอแบบตรงไปตรงมาอย่างการออกมาประท้วง แต่มันเหมือนการโยนวัตถุบางอย่างให้คนดู แล้วคนดูก็สามารถมองมันได้ในมิติที่หลากหลาย นี่คือเสน่ห์ของงานศิลปะ

แล้วถ้าถามในความรู้สึกส่วนตัว เรามองว่าภาพยนตร์เป็นงานทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ได้วัดกันที่รายได้หรือยอดคนดูเท่านั้น มันไม่สามารถที่จะบอกว่า อุ๊ย หนังเรื่องนี้ไม่ทำเงินเลย ไม่ประสบความสำเร็จ หนังแย่ เพราะหนังเรื่องนั้นอาจมีมิติทางวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย ที่มันจะมีประโยชน์แน่ๆ ในอนาคต

เราเชื่อว่าแม้วันนี้หนังที่เราทำอาจไม่ประสบความสำเร็จนักในแง่รายได้ แต่อย่างน้อยในอนาคตมันสามารถที่จะย้อนกลับมามองได้ว่า คนในยุคนั้นคิดยังไงกับเหตุการณ์ในวันนั้น เหมือนกับเวลาที่เราย้อนไปดูหนังในอดีต ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อร้อยปีที่แล้ว หรือยี่สิบปีที่แล้ว แล้วเราก็เข้าใจว่าคนในยุคนั้นคิดอะไร เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในช่วงนั้น ซึ่งคนในช่วงเวลานั้นอาจไม่ได้รู้สึกว่านี่คือหนังที่ดีก็ได้ แต่พอผ่านวันเวลา มันถึงมีคุณค่าขึ้นมา

 

หวังผลระยะยาวมากกว่า?

ใช่ หวังผลระยะยาว ยกตัวอย่างหนังของพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ แม้มันจะไม่รับความนิยมในสื่อกระแสหลัก หรือกระทั่งในประเทศก็ตาม แต่อย่างที่พี่บี๋ (คัทลียา เผ่าศรีเจริญ / โปรดิวเซอร์) เคยบอกไว้ ว่าคุณค่าหนึ่งซึ่งหนังพี่เจ้ยได้สร้างไว้ในระดับสากล คือการช่วยขยายความหมายหรือความเป็นไปได้ของภาพยนตร์ให้มันกว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็นำเสนอความเป็น South East Asia หรือความเป็นโลกตะวันออกให้คนในโลกภาพยนตร์ตะวันตกได้สัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เหมือนกัน

งานของคุณบางชิ้น รวมถึงงานล่าสุดอย่าง Planetarium มีความยั่วล้อกับความเป็นไทยปรากฏให้เห็นอยู่ อยากรู้ว่าคุณมีมุมมองต่อความเป็นไทยยังไง

ถ้ายกตัวอย่างปรากฏการณ์ล่าสุดที่คนออกมาใส่ชุดไทย ไปงานที่ลานพระรูปฯ แน่นอนว่าทางกายภาพเราเห็นชัดว่ามีละครที่ได้รับความนิยม มีงานที่ทุกคนพร้อมใจแต่งชุดไทยกันออกมา แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่มันเป็นการเห็นผ่านสื่อต่างๆ ที่พร้อมใจกันนำเสนอออกมา ซึ่งเราสามารถสรุปได้ยังไงว่า ทุกคนโอเคหรือยอมรับกับความคิดหรือค่านิยมของความเป็นไทยในแบบนั้นจริงๆ

เราจึงไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ว่า การที่ใครหลายคนบอกว่ากระแสเหล่านี้เป็นกระแสที่ effect กับคนหมู่มากนั้น มันจริงรึเปล่า หรือสุดท้ายมันคือความเป็นไทยที่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น

แล้วคุณมองว่าปัญหาคืออะไร

มันต้องย้อนกลับมาที่คำถามว่า จริงๆ แล้วเราควรเปิดรับความหลากหลายของความเป็นไทย ให้มีพื้นที่มากกว่านี้ไหม เช่น สมมติว่าเราไปงานแถวลานพระรูปฯ เราเห็นทุกคนแต่งชุดไทยเหมือนๆ กันในแบบหนึ่ง สิ่งที่เราสงสัยคือ แล้วชุดนางทาสล่ะ ถือเป็นชุดไทยไหม หรือถ้าเราแต่งชุดม่อฮ่อมไป หรือแต่งชุดชาวเขาไป มันจะถูก treat ว่าเป็นชุดไทยรึเปล่า

เรารู้สึกว่าปรากฏการณ์แบบนี้ มันสะท้อนว่า image ของความเป็นไทยถูกบล็อกว่ามีแบบเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่ควรเป็นคือการสร้างความหลากหลายของความเป็นไทย ให้ทุกคนสามารถมีพื้นที่อยู่ในสังคมแล้วรู้สึกว่าเราเป็นไทยได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะแต่งชุดอะไร หรือมีแบ็คกราวน์ทางสังคม วัฒนธรรม แบบไหนก็ตาม

การเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมแบบนี้ต่างหาก ที่น่าจะส่งผลดีต่อสังคมมากกว่าการใช้วิธีคิดแบบรวมศูนย์ที่พยายามควบคุมให้ทุกอย่างเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งหมด

มองอนาคตตัวเองและสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้ายังไง

ในมุมส่วนตัว เราคิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เรายังมีงานอีกเยอะที่อยากทำออกมา ที่ผ่านมางานของเราก็มักพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่แล้ว ซึ่งเราก็คงรักษาแนวทางนี้ต่อไป ฉะนั้นเราเลยมองภาพสังคมในอนาคตไปพร้อมๆ กับงานที่เรากำลังจะทำ

ส่วนในแง่สังคม เราก็คาดหวังถึงสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะจากอดีตที่ผ่านมา เราก็น่าจะได้บทเรียนจากการที่อำนาจมันถูกรวมศูนย์อยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ว่าสุดท้ายแล้วมันไม่ได้ทำให้อะไรขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งการที่เรามีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดมากขึ้น มีการกระจายอำนาจมาสู่ประชาชนมากขึ้น ก็น่าจะดีกว่ารึเปล่า นั่นคือระดับพื้นฐานที่สุดที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าเทียบกับสถานการณ์ตอนนี้ ก็อาจพูดได้ว่าเราอาจยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งเลยด้วยซ้ำ


อ่านบทสัมภาษณ์รวมของโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ 10 Years Thailand ได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save