fbpx
“เพราะประเทศไทยไม่เคยเป็นหนึ่งเดียว” มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

“เพราะประเทศไทยไม่เคยเป็นหนึ่งเดียว” มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

ในภาพยนตร์เรื่อง 10 Years Thailand ที่เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งล่าสุด ประกอบด้วยหนังสั้น 4 เรื่องจาก 4 ผู้กำกับ (อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ จุฬญาณนนท์ ศิริผล) เสนอมุมมองที่พวกเขามีต่อสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าให้ชาวโลกได้รับรู้ นับเป็นภาพยนตร์สัญชาติไทยเรื่องเดียวที่ทะลุเข้าสู่เวทีคานส์ในปีนี้

กระนั้นก็ดี หากนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโปรเจ็กต์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องประกอบไปด้วยหนังสั้นทั้งหมด 5 เรื่อง ทว่าผู้กำกับอีกหนึ่งคน คือ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ติดภารกิจส่วนตัว ทำให้ไม่สามารถผลิตหนังสั้นออกมาได้ตามกำหนดเวลา

หนังเรื่องดังกล่าว ชื่อว่า ‘The Cave’ ว่าด้วยเรื่องราวของถ้ำลึกลับที่ส่งเสียงเรียกผู้คนให้เดินเข้าไปหา โดยมีพระสงฆ์เฝ้าอยู่หน้าถ้ำ

“หนังของเราถือเป็น bonus track ละกัน จะโผล่มาตอนขายได้ล้านตลับ แล้วเปลี่ยนปกเพิ่มเพลง” มะเดี่ยวกล่าวติดตลก ในตอนที่เราชวนเขามาล้อมวงคุยกับเพื่อนผู้กำกับและโปรดิวเซอร์เกี่ยวกับโปรเจ็กต์นี้

ทว่านอกจากเรื่องหนัง เรายังชวนเขาคุยถึงเรื่องความเป็นไทย และอนาคตสังคมไทยในมุมที่ใครหลายคนอาจคิดอยู่ในใจ—แต่ไม่กล้าพูด

มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

อยากให้เล่าวิธีคิดก่อนจะมาเป็นหนังสั้นเรื่อง ‘The Cave’

คิดหลายอย่างเลย คิดเยอะคิดแยะ ยกเว้นเรื่องตังค์ (หัวเราะ) อย่างที่รู้ว่าโปรเจ็กต์นี้เรามีปัญหาเรื่องเงินทุนอยู่พอสมควร ซึ่งสุดท้ายแต่ละคนก็ช่วยถมจนเข้าเนื้อเข้าตัวไปเยอะ แต่ไม่เป็นไร เรารู้สึกว่าแฮปปี้ที่จะทำเรื่องนี้ และอยากทำออกมาให้มันดี

พอได้โจทย์ 10 Years Thailand กับเรื่อง Freedom of expression มา เราก็มานั่งคิดว่าจะเล่าเรื่องนี้ยังไงไม่ให้ตื้นไป ไม่ให้ลึกไป และไม่ให้เราเข้าคุกไปด้วยกัน (หัวเราะ) ก็เลยมาจบที่เรื่องของศาสนา สงคราม และโลกอนาคต โดยเล่าผ่านสัญลักษณ์ ทำเป็นหนังจักรๆ วงศ์ๆ

สมมติถ้าเราเป็นเด็กน้อย แล้วเข้าไปดูเรื่องนี้ เราก็น่าจะเตลิดไปเลย หลุดไปสู่อีกโลกหนึ่งเลย หมายความว่ามันดูเป็นหนังบันเทิงได้ แต่ถ้าดูให้ลึกไปกว่านั้น ก็ดูได้เหมือนกัน มีอะไรให้คิดและตีความต่อได้ มีความเซอร์เรียล มีสัตว์ประหลาด มีการใส่ CG อย่างบ้าคลั่ง ซึ่งเรามั่นใจว่าไม่เหมือนหนังของคนอื่นแน่ๆ เพราะเราพอรู้สไตล์ของแต่ละคนอยู่แล้ว

แล้วมาลงเอยที่เรื่องของพระเฝ้าถ้ำได้ยังไง

เราอยากพูดถึงสิ่งที่ยึดมั่นพันธนาการความคิดความเชื่อของคนเอาไว้ ซึ่งเราไม่มีทางรู้หรอกว่า การพันธนาการผู้คนให้ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ สุดท้ายแล้วมันดีหรือไม่ดีต่อคนเหล่านั้น

ถ้ำในเรื่องมันก็จะมีเสียงเรียก แล้วคนก็จะเดินเข้าไปเรื่อยๆ มีรองเท้ากองก่ายเต็มไปหมด คล้ายว่าเป็นเส้นทางที่คนส่วนใหญ่จำใจยอมเข้าไป แต่ขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มที่ถูกกันไว้ ตัวถ้ำเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่คนที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ คือตัวละครทั้งหลาย เช่นเด็กที่อยู่ในนั้นแล้วออกมาไม่ได้ เพราะมีผีป่าสัตว์ร้ายคอยกินอยู่ข้างนอก ส่วนคนเป็นพระที่เฝ้าถ้ำอยู่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยต้องอยู่อย่างนั้นไปวันๆ ที่นี้จุดเปลี่ยนมันอยู่ที่ว่า พอเด็กๆ โตขึ้น เรียนรู้อะไรมากขึ้น เริ่มตั้งคำถามปุ๊บ เรื่องก็เลยเกิด

ถ้าเทียบกับหนัง 10 Years เวอร์ชั่นต้นฉบับของฮ่องกง ประเด็นที่นำเสนออาจคล้ายกันก็จริง แต่สิ่งที่แตกต่างคือความเป็นหนึ่งเดียวของคนในประเทศ ซึ่งไม่ได้มีอุดมการณ์เดียวกัน และอาจไม่ได้อินกับประเด็นในหนังเรื่องนี้เหมือนกันเสียทีเดียว คุณมองว่าเป็นอุปสรรคแค่ไหน

สำหรับเรา การอคติ การแปะป้าย มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ปัญหาคือการตีตราในสังคมนี้มันรุนแรงและเอาออกยาก โดยเฉพาะเรื่องการเมือง แม้ว่าเราพยายามจะ please คนที่มันไม่ชอบเรายังไง เขาก็ไม่ชอบเราอยู่ดี ฉะนั้นก็ทำให้สุดทางไปเลยดีกว่า เพราะเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้าใจเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก

อย่างตัวเราเอง เวลาเจอคอมเมนต์ในเน็ตที่ด่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เขาด่าไป เพราะไม่รู้ว่าจะไปอธิบายหรือเถียงกับเขาไปทำไม เราแค่รู้เจตนาของคืออะไรก็พอ

ส่วนหนังเรื่องนี้ ตอนที่ทำออกมา เราก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะนำเสนอหนังเรื่องนี้ยังไงให้คนจำนวนมากเกิดความรู้สึกว่าอยากดู อย่างกรณีของฮ่องกง ที่เขาอยากไปดูหนังเรื่องนี้กันเพราะมันพูดอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่อย่างของไทย ถ้าเราบอกว่าหนังเรื่องนี้ทำขึ้นมาเพราะจะเสนอให้เห็นอิทธิพล บลาๆๆ เดี๋ยวทักษิณจะกลับมา โน่นนั่นนี่ คนก็จะแบบ เออ งั้นกูกลับไปดูออเจ้าต่อดีกว่า (หัวเราะ)

ถ้าให้ลองวิเคราะห์ คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมคนไทยถึงรวมกันไม่ค่อยติด

เอาจริงๆ เลยนะ จากการที่เราเป็นคนเหนือ และจากการที่เราได้ไปทำงานในที่ต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เรารู้สึกว่าความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมันฝังรากมานานแสนนานแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเหนือทุกคนก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเขาเป็นคนไทย แต่เขาคือคนล้านนา ส่วนคนอีสานก็คือคนอีสาน เป็นอีกชนชาติหนึ่งซึ่งไม่ใช่ไทย เขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศนี้ นี่คือรากปัญหาที่ไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ

จริงๆ แล้วเราอาจคล้ายพม่าด้วยซ้ำ ในแง่ที่ว่ามันประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ เต็มไปหมด แต่ของไทย ด้วยความที่เราเป็นรัฐรวมศูนย์มานาน มีการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและพยายามทำให้ทุกคนเป็นคนไทย

แต่ถามว่าลึกๆ แล้วทุกคนรู้สึกอย่างนั้นมั้ย ก็ไม่ เพราะมันเป็นการรวมศูนย์แบบไม่สนิท คือคุณพยายามจะรวมเขาให้เป็นส่วนหนึ่งของคุณ แต่คุณไม่ดูแลเขา เราจึงเห็น movement ตามเมืองใหญ่ๆ ที่อยากขยับตัวเองเป็นมหานคร อย่างเชียงใหม่ อย่างโคราช เพราะเขารู้สึกว่าอยากดูแลตัวเองได้จังเลย แต่สุดท้ายมันพูดไม่ได้ ทำไม่ได้ เพราะถ้าพูดก็โดนแบน กลายเป็นพวกแบ่งแยกดินแดนอะไรก็ว่าไป

สุดท้ายก็วนกลับมาเรื่อง freedom of expression อีก คือพูดไปก็โดนแบน ข่าวเชียงใหม่จะเอามหานคร ก็ไม่ให้ออกสื่อ โคราชก็ทำ ขอนแก่นก็เหมือนจะทำ หลายๆ จังหวัดเริ่มรู้สึกอยากเป็นอย่างนี้ แต่ข่าวที่ออกมาคือพวกนี้อยากแบ่งแยกดินแดน เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่โอเค อะไรทำนองนี้

ในฐานะที่เป็นคนต่างจังหวัด ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่มานาน พอจะบอกได้ไหมว่าสิ่งที่คนภูมิภาคต้องการคืออะไร

เอาจริงๆ มันไม่ได้มีใครอยากแบ่งแยกดินแดนขนาดนั้น เพราะถึงแยกไปก็มองอนาคตไม่ออกอยู่ดี เขาเพียงแต่ต้องการโอกาสที่ศูนย์กลางจะกระจายการปกครองมาสู่เขาบ้าง งบประมาณที่พัฒนาท้องถิ่นมันสำคัญนะ แต่ถ้าคุณเอาคนจากส่วนกลางไปดูแลเหมือนสามสี่ร้อยปีที่ผ่านมา มันก็ถอยกลับไปสู่รัฐรวมศูนย์แบบเดิม ทั้งๆ ที่เราเคยสัมผัสการกระจายมาก่อนแล้ว ประชาชนเคยควบคุมชีวิตตัวเองได้

เขาเคยมีสิทธิมีเสียง เลือกอบต. อบจ. เองได้ น้ำไหลไฟสว่าง มีขยะมาเก็บ หญ้าตามข้างถนนมีคนมาตัด เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ทำให้เห็นว่าเขาสามารถมีชีวิตที่เลือกได้ ดังนั้นถ้ารัฐอยากสร้างความรู้สึกร่วมของคนเหล่านี้ รัฐก็ต้องคืนสิทธิพวกนี้ให้เขา แล้วเราถึงจะมองเห็นอนาคตร่วมกันได้ แต่พอดึงสิ่งนี้มาจากเขา เขาก็ไม่อินแล้วไง

คนต่างจังหวัดจะใกล้ชิดกับการเมืองท้องถิ่นมากๆ อย่างน้อยอบต. ก็เป็นคนใกล้ชิดเรา เราเลือกเขาไป เขาก็ต้องดูแลสายไฟก็ต้องมาเก็บ กิ่งไม้ต้องตัด ขยะก็ต้องหาที่เก็บ น้ำประปาชุมชนต้องมี อะไรอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งถ้านับตั้งแต่เขาเปลี่ยนเป็นเทศบาล ความรู้สึกก็เหมือนต่างคนต่างอยู่ มโนกันไป เดี๋ยวเรามาอยู่บ้านเดียวกันนะ มาร่วมกันพัฒนาบ้านเรานะ แต่ขยะหน้าบ้านกูไม่เคยมาเก็บเลย เพราะอะไร เพราะรถขยะเสีย แล้วไม่มีเงินจากส่วนกลางมาซ่อม ก็เลยต้องปล่อยไว้อย่างนั้น

คำถามคือ เมื่อใช้วิธีแบบนี้แล้วมันจะรวมกันได้ยังไง จะเห็นอนาคตร่วมกันได้ยังไง ศูนย์กลางว่าไงก็ว่าอย่างนั้น คนในเมืองก็อยู่ในเมืองไป คนต่างจังหวัดก็ทำไร่ไถนา ทำมาหากินของตัวเองไป แรงจูงใจที่จะทำให้อะไรดีขึ้นก็ไม่มี

คุณบอกว่าคนในภูมิภาคไม่ได้มีความรู้สึกร่วม หรือไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่อีกมุมหนึ่ง ดูเหมือนจะมีความพยายามรวมศูนย์จากรัฐ สร้างสำนึกความเป็นไทยโดยใช้สื่อต่างๆ อย่างล่าสุดคือปรากฏการณ์จากละคร บุพเพสันนิวาส  ที่ก่อให้เกิดดกระแสการใส่ชุดไทย คุณมองเรื่องนี้ยังไง

เราว่าปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้มันเป็นฟีเวอร์มากกว่า คือเกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็ลืมๆ กันไป ไม่ได้มีผลหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรขนาดนั้น

ถ้าคุณไปดูตามหัวเมืองจริงๆ ก็ไม่ได้มีใครอินขนาดนั้น คุณไปเชียงใหม่คุณก็ไม่เห็นว่ามีใครใส่ชุดไทยเดินไปเดินมา ไปอีสานก็ไม่มี สิ่งที่เราเห็นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และในอินเทอร์เน็ตเท่านั้นเอง มันอาจทำให้เกิดมูลค่าทางวัฒนธรรมขึ้นมาชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็หายไป ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา

มองสังคมไทยในอนาคตยังไง

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในฐานะคนทำหนังคือ เวลาที่เกิดปัญหาบ้านเมืองแต่ละครั้ง เรามักจะย้อนกลับไปคิดถึงอดีต มากกว่าคิดถึงอนาคต เราจะสนใจเรื่องการวนลูปของหนังหรือละครที่เป็นที่นิยมขึ้นมาในช่วงที่บ้านเมืองมีปัญหา อย่างล่าสุดที่เห็นชัดๆ ก็มีเรื่องออเจ้า หรือถ้าย้อนไปช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็มีหนังอย่าง บางระจัน ออกมา หลังจากนั้นก็มี โหมโรง หรือละครอย่าง ผู้กองยอดรัก ที่มักจะถูกนำมารีเมคเป็นช่วงๆ

ที่ผ่านมามันแทบไม่มีหนังเกี่ยวกับอนาคตเลยนะ อย่างตัวเราเอง ทำงานกับค่ายใหญ่มา การทำหนังเกี่ยวกับอนาคตนี่แทบจะเป็นสิ่งต้องห้ามเลย เช่นพวก Sci-fi ต่างๆ มนุษย์ต่างดาว หรืออะไรที่เกี่ยวกับบ้านเมืองเราในอนาคต

สมมติว่ามีละครอยู่สองเรื่อง เรื่องหนึ่งพูดว่าพญานาคมีจริง กับอีกเรื่องพูดว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริง เราจะได้รับฟีดแบคว่า มนุษย์ต่างดาวเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ทั้งที่มันผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าในจักรวาลของเราอาจมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่ ขณะที่เรื่องพญานาค กลับเป็นฟีดแบคทำนองว่า มันอาจมีจริงก็ได้นะ เพียงแต่ยังไม่เจอตัวเป็นๆ กรอบความคิดแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างเหมือนกัน

อาจเพราะเหตุนี้รึเปล่า เวลาพูดถึงอนาคต คนไทยจึงนึกอะไรไม่ค่อยออก ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าไปชวนเด็กๆ คุยเรื่องชีวิต แม้กระทั่งเด็กมหาลัย ถามว่าอนาคตอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเงียบ ตอบไม่ได้

ฉะนั้นที่เราอยากชวนคิด ก็คือเรื่องของอนาคต ซึ่งมันเป็นสิ่งที่พอจะควบคุมได้นะ หรืออย่างน้อยก็เตรียมรับมือได้ ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยและคนไทยตอนนี้คือเราไม่ค่อยคุยเรื่องอนาคตกัน


อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของทีมโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ 10 Years Thailand ได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save