fbpx
10 ปี สื่อสาธารณะในสังคมไทย

10 ปี สื่อสาธารณะในสังคมไทย

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2560 ผมได้รับชวนจากสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ “ไทยพีบีเอส” ให้ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum “วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน” ร่วมมองอนาคตใหม่ของสื่อสาธารณะ จึงขอนำบทอภิปรายมาเผยแพร่ให้สังคมแลกเปลี่ยนถกเถียงกันต่อครับ

 

สื่อสาธารณะมีไว้ทำไม ?

 

สิบปีของไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะ เป็นสิบปีที่เกิดมานับหนึ่ง ก็ต้องทำงานภายใต้วิกฤตเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของสังคมไทยทันที

การบริหารสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยจึงเป็นงานที่ยาก ท้าทาย แต่มีความสำคัญมหาศาล และเต็มไปด้วยความคาดหวัง

เราคาดหวังอะไรจากสื่อสาธารณะ?

ผมก็คงไม่ต่างจากหลายคนที่อยากเห็นสื่อสาธารณะเป็น ‘มืออาชีพ’ ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ขึ้นต่ออำนาจรัฐและอำนาจทุน มีพื้นที่ให้กับประเด็นและผู้คนที่ไร้อำนาจต่อรอง จน ‘รัฐ’ ไม่ใส่ใจ หรือเห็นต่างจาก ‘รัฐ’ จนถูกปิดกั้นการแสดงออก และมีพื้นที่ให้กับประเด็นและผู้คนที่ ‘ตลาด’ ก็ไม่สนใจ ทั้งที่มีคุณค่า แต่ไม่มีมูลค่าตลาด เพราะขายไม่ได้

เราต้องการสื่อสาธารณะที่ให้ปัญญาความรู้แก่สังคม ทำหน้าที่ ‘ตลาดวิชา’ ที่เข้าถึงคนวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่ยังยึดมั่นในหลักการความเป็นสื่อสาธารณะ ทำรายการดีที่มีคนอยากดู ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ท้าทาย ต้องอาศัยองค์ความรู้และฝีมือในวิชาชีพสื่อมาแปลงความรู้สู่สังคมอย่างมีพลัง (เป็นระบบ เข้าใจง่าย ถูกต้อง เชื่อถือได้ ชวนดู สนุก มีเสน่ห์)

ในช่วงวิกฤต เรายิ่งต้องการสื่อที่ทำหน้าที่รายงาน ‘ความจริง’ แต่ละชุดอย่างครบถ้วนรอบด้าน และเปิดพื้นที่ให้กับ ‘ความจริง’ ที่หลากหลาย เราต้องการสื่อที่ ‘เก่ง’ พอที่จะขุดหาความจริงออกมาตีแผ่ และมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของ ‘ความจริง’ แต่ละชุด  เราต้องการสื่อที่ ‘กล้า’ พอที่จะเอา ‘ความจริง’ ที่ไม่มีใครกล้าพูด หรือผู้มีอำนาจไม่อยากฟัง ออกมารายงานสู่สาธารณะ แม้ว่าจะต้องชนกับรัฐบาลก็ตาม

ถ้าสื่อสาธารณะทำหน้าที่ได้ดีมีคุณภาพ ก็มีศักยภาพที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดหรือ shape ‘วาระ’ ‘ทิศทาง’ และ ‘ผลลัพธ์’ ในเรื่องสำคัญๆ ของสังคมได้  สื่อสาธารณะต้องถามตัวเองเสมอว่ากำลัง ask the right question(s) ในประเด็นถกเถียงสำคัญของสังคมอยู่หรือไม่ ถ้าสื่อสาธารณะทำหน้าที่ได้ดีมีคุณภาพก็คงมีส่วนช่วยในการผลักดันนโยบายสาธารณะที่ดี การสร้างพลังทางการเมืองและพลังทางปัญญาให้แก่พลเมือง การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย และการร่วมกำกับทางสังคมให้สังคมไทยสามารถข้ามพ้นวิกฤตเปลี่ยนผ่านได้อย่างสันติ มีสติ และมีปัญญา

ถ้าสื่อสาธารณะทำหน้าที่ได้ดีมีคุณภาพ ก็จะเป็น ‘ตัวแบบ’ ที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพสื่อในสังคมไทยให้สูงขึ้น เป็นตัวสร้างแรงกระตุ้นให้สื่ออื่นๆ เอาเยี่ยงอย่างและทำตาม

 

ในช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการสื่อสาธารณะมากที่สุด

ไทยพีบีเอสหายไปไหน?

 

ในฐานะคนที่อยากเห็น “สื่อสาธารณะ” ในประเทศไทย เมื่อไทยพีบีเอสเกิดขึ้นจริงในปี 2551 และได้ใช้ชีวิตอยู่กับมันมาสิบปี ในฐานะกัลยาณมิตร ผ่านหลายบทบาท ทั้งคนดู กรรมการประเมินภายนอก (ปี 2552) และช่วงหลังเป็นผู้ผลิตอิสระ ผลิตรายการให้ไทยพีบีเอส (วัฒนธรรมชุบแป้งทอด และสารคดี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ในนาม 101) ผมรู้สึกกับไทยพีบีเอสเหมือนคนรักก็ว่าได้

แรกเริ่มก็แอบลุ้น ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ อยู่ๆ ไปก็รักบ้าง สุขบ้าง เบื่อบ้าง ผิดหวังบ้าง ชื่นชมบ้าง จนช่วงหลังๆ ความสัมพันธ์ระหว่างเราเหมือนเข้าสู่โหมดไร้ตัวตน คือไม่ได้ดู ไม่ได้ตาม เงียบหายจากกันไปเหมือนต่างคนต่างอยู่ นอนคนละห้อง แยกคนละเตียง รู้สึกเหมือนไทยพีบีเอสหายไปจากชีวิตเรา บนเวทีนี้ไม่รู้เหลือคนตามดูไทยพีบีเอสอย่างสม่ำเสมอกันมากน้อยแค่ไหน

ไทยพีบีเอสหายไปไหน?

ในช่วงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการ ‘สื่อสาธารณะ’ มากที่สุด เพื่อทำหน้าที่ของ ‘สื่อสาธารณะ’ ในการรายงานความจริงชุดที่แตกต่างจากความจริงของรัฐ ในการเป็นธงนำในการส่งเสียงปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพของสื่อและพลเมือง ในการติดตามตรวจสอบรัฐบาลเผด็จการที่ตรวจสอบไม่ได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ แต่คนจำนวนมากในสังคมได้ยินแต่ ‘เสียงแห่งความเงียบ’ จากไทยพีบีเอส

ถ้าเงียบจริงก็เป็นปัญหาใหญ่ คำถามที่ตามมาคือ “ไทยพีบีเอสมีไว้ทำไม”

ถ้าส่งเสียงแล้ว แต่คนยังไม่ได้ยิน ก็เป็นปัญหาอีกแบบที่ต้องทบทวนตัวเองเหมือนกัน ว่า ‘พลัง’ ของไทยพีบีเอสหายไปไหน ทั้งที่มีพนักงานภายใน ผู้ผลิตภายนอก และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ตั้งใจดี มีคุณภาพ และมีสำนึกของสื่อสาธารณะอยู่เต็มไปหมด คำถามก็คือ ทำไมพลังของคนเหล่านี้ไม่สามารถส่งผ่านไปสร้างพลังที่หน้าจอของไทยพีบีเอสได้

ผมคิดว่าในช่วงหลายปีหลัง  ‘พลัง’ ของไทยพีบีเอสในแง่การเขย่าสังคมลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย และผู้คนก็รับรู้ถึงการ(ยังคง)มี(ชีวิต)อยู่ของไทยพีบีเอสน้อยลงเรื่อยๆ จากเรตติ้งที่เคยอยู่อันดับ 4 ของฟรีทีวี เดี๋ยวนี้ลงไปอยู่ต่ำกว่าที่ 15 เป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ไทยพีบีเอสไม่ต้องลงสู้ในสนามแข่งขันทางธุรกิจเหมือนช่องทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกัน

ไทยพีบีเอสได้รับเงินภาษีของประชาชน ส่งมาให้สร้างสรรค์ผลงานปีละ 2,000 ล้านบาททุกปี มี “แต้มต่อ” เหนือช่องอื่น ไม่ต้องออกแรงหาเงินเพื่อความอยู่รอด (หรือการไม่ต้องออกแรงนี่เองที่ทำให้เฉื่อยแฉะ ไม่ต้องปรับตัว)

น่าสนใจว่า ถ้าเปรียบเทียบทรัพยากรที่ใส่เข้าไป กับผลลัพธ์ที่ออกมา ทำไมมันถึงห่างไกลจากความคาดหวังของเรามาก  กระบวนการบริหารจัดการภายในองค์กรมีปัญหาอะไรที่ทำให้ไม่สามารถส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีทั้งที่ทุ่มทรัพยากรเข้าไปไม่น้อย

ไทยพีบีเอสทำอะไรกันอยู่?

ถึงไทยพีบีเอสไม่ต้องแข่งขันในสนามธุรกิจ แต่ไทยพีบีเอสต้องลงแข่งในสนามหน้าจอกับช่องอื่นๆ นะครับ เพราะผู้ชมมีทางเลือกให้ดูมากมายหลากหลาย ไทยพีบีเอสต้องทำงานหนักและปรับตัวจนเป็นทางเลือกที่โดดเด่นแตกต่างสำหรับคนดูให้ได้ วิธีคิดของบางคนในไทยพีบีเอสที่ชอบคิดว่า เราทำของดีของเราไป ไม่ต้องสนใจเรตติ้ง หรือเอาแต่โทษคนดูเป็นหลัก มันไม่ถูก เราใช้เงินภาษีประชาชน ไม่ใช่ทำรายการไว้ดูกันเฉพาะกลุ่ม หรือดูกันเอง

ผมเชื่อเสมอว่า หน้าที่ของไทยพีบีเอสคือ การทำรายการที่ดีมีคุณภาพ นั่นเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นแต่ยังไม่เพียงพอครับ เราต้องทำรายการที่ดีมีคุณภาพ และต้องสร้างฐานคนดูให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย เราต้องแคร์เรื่องจำนวนผู้ชมนะครับ แต่นี่เป็นคนละเรื่องกับการตามใจหรือเอาใจคนดู ไม่ได้แปลว่าให้สร้างฐานคนดูโดยประนีประนอมกับตลาดหรือรัฐ แต่โจทย์ยากและท้าทายของไทยพีบีเอสคือ ทำรายการที่มีจิตวิญญาณแบบสื่อสาธารณะให้มีคนวงกว้างอยากดูได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนดู เราต้องโทษตัวเองว่ายังดีไม่พอ ยังเก่งไม่พอ ต้องพยายาม ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาโทษคนดู เราต้องหาทางเพิ่ม reach ให้คุ้มเงินภาษีของประชาชน และคุ้มความความตั้งใจดีที่ทีมงานเหนื่อยลงแรงทำงานกัน

ถ้าไทยพีบีเอสปฏิเสธความล้มเหลว เอาแต่โทษระบบเรตติ้งที่เป็นอยู่ ไทยพีบีเอสก็ต้องออกแบบระบบเรตติ้งสำหรับสื่อสาธารณะที่สามารถสะท้อนการทำงานของสื่อสาธารณะได้อย่างเหมาะสม แล้วก็ใช้ระบบเรตติ้งนั้นประเมินผลงานขององค์การ ไม่ใช่ไม่ผูกโยงตัวเองกับการประเมินใดๆ เลย คิดแต่ว่าเราตั้งใจทำดี แล้วจบ เรื่องนี้พูดกันมานานเป็นสิบปีแล้วครับ ระบบเรตติ้งสื่อสาธารณะควรจะมีได้แล้ว ในไทยพีบีเอสมีสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะอยู่แล้ว ควรทำหน้าที่ดูแลจัดการให้เกิดขึ้น

ระบบเรตติ้งมีปัญหาจริงครับ ถึงแม้มันมีข้อจำกัด แต่ก็เหมือนตัวเลขอื่นๆ เช่น จีดีพี หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มันมีจุดอ่อนของมัน มันไม่ได้บอกอะไรหลายอย่าง แต่มันก็บอกอะไรหลายอย่างเช่นกัน มันช่วยเทียบเคียงเรากับเพื่อนร่วมวงการช่องอื่นๆ ได้ และมีประโยชน์ในการวางแผนอนาคต ดีกว่าไม่มีอะไรเลย และทั้งวงการเขาก็ใช้กัน เราจะเอาแต่อยู่ในโลกของตัวเองโดยไม่แคร์โลกรอบตัวไม่ได้ ที่สำคัญ เราอยู่กับมันแบบเข้าใจข้อจำกัดได้ แต่ไม่ใช่ใช้มันเป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวให้กับตัวเอง

 

ปัญหาใหญ่ของไทยพีบีเอสคืออะไร ?

 

ดังที่ผมได้กล่าวถึงตอนต้นว่า ในยุคสมัยที่เราต้องการสื่อสาธารณะมากที่สุด เรากลับได้ยินเสียงแห่งความเงียบจากไทยพีบีเอส  ในยุคสมัยที่การแข่งขันในวงการทีวีรุนแรงที่สุด แล้วไทยพีบีเอสได้แต้มต่อจากการมีทุน 2,000 ล้านบาทอัดฉีดมาให้ทุกปี ไทยพีบีเอสกลับไม่มีความสามารถที่จะไปแข่งกับเพื่อนร่วมวงการในการสร้างสรรค์หน้าจอคุณภาพ ยกระดับวงการโทรทัศน์ มันน่าเสียดายและน่าเจ็บใจอยู่นะครับ

ผมคิดว่าไทยพีบีเอสจำเป็นต้องหันมาพิจารณาทบทวนตัวเองอย่างหนักหน่วงและจริงจังว่าปัญหาอยู่ตรงไหน

มันเป็นเพราะ “ระบบราชการ” ที่ผลิตสร้างกันเองภายใน (ทั้งที่ตอนออกแบบสถาบัน ตั้งใจให้เป็นองค์การอิสระที่มีความคล่องตัว) ที่ฉุดรั้งการเติบโตไปข้างหน้าและความคิดสร้างสรรค์ในองค์การหรือไม่ เรายังจัดซื้อจัดจ้างรายการด้วยวิธีคิดเหมือนซื้อโต๊ะซื้อเก้าอี้กันอยู่ไหม

หรือมันเป็นเพราะ “ระบบบริหารจัดการและการกำกับดูแล” (governance) ขององค์การที่ถูกกำหนดมาโดยกฎหมาย (พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551) ซึ่งเวลาผ่านไปสิบปีแล้ว เราอาจจะต้องมาคิดกันจริงๆ จังๆ ว่ามันเหมาะกับการบริหารองค์กรสื่อขนาดใหญ่ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและวงการสื่อแข่งขันกันอย่างเข้มข้นไหม

ตัวอย่างประเด็นที่ควรต้องพิจารณา เช่น

  • โครงสร้างการบริหารงานที่มีคณะกรรมการนโยบาย (บอร์ด 9 คน) และคณะกรรมการบริหาร (ผู้อำนวยการเป็นประธาน) ทำงานซ้อนกันสองชุด เอาเข้าจริงแล้วโครงสร้างอำนาจแบบนี้ใช้การได้สำหรับการบริหารองค์การสื่อแบบนี้ในสภาพการณ์แบบนี้หรือไม่
  • ถ้ายังเห็นควรให้มีคณะกรรมการนโยบายอยู่ องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายที่มีตัวแทนด้านสื่อ 2 คน ด้านบริหารจัดการองค์กร 3 คน และด้านสังคม 4 คน เหมาะสมหรือไม่สำหรับองค์กรสื่อ คนที่รู้เรื่องและเข้าใจการทำงานสื่อมีสัดส่วนน้อยเกินไปไหม คนที่เคยเป็นนักบริหารมืออาชีพในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์ ‘มือถืง’ และ ‘เอาอยู่’ ในการดูแลไทยพีบีเอสมีสัดส่วนน้อยไปไหม
  • คณะกรรมการนโยบายมีจำนวนคนมากเกินไปไหม จะเกิดภาวะ 9 คน 9 ความเห็น 9 นาย จนระดับปฏิบัติการทำงานได้ยากเกินไปไหม นอกจากนั้น บทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมของคณะกรรมการนโยบายควรจะเป็นอย่างไร
  • ถ้าไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการนโยบายแล้ว จะแทนที่ด้วยอะไร จะสร้างกลไกในการกำกับดูแลฝ่ายบริหารให้มีความรับผิดชอบอย่างไร ให้รับผิดชอบ (accountable) ต่อใคร และสร้างสมดุลระหว่างความรับผิดชอบกับความยืดหยุ่นคล่องตัวในการบริหารสื่ออย่างไร
  • รูปแบบการสรรหาทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารควรจะเป็นอย่างไร ให้เราได้คนมีคุณภาพ เข้าใจการทำงานของสื่อสาธารณะ และมีความหลากหลายในเชิงความคิดและความสามารถเข้ามาช่วยกันทำงาน

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์การ โดยเฉพาะพนักงาน ทำอย่างไรให้พนักงานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการองค์การ โดยเฉพาะในกระบวนการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ รวมถึงกลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนโยบาย

นอกจากพนักงานแล้ว ประชาชนทั่วไปจะมีส่วนกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และแนะนำไทยพีบีเอสได้อย่างไร เพราะทุกคนเป็นเจ้าของไทยพีบีเอส เราจะออกแบบโครงสร้างที่เชื่อมโยงไทยพีบีเอสกับประชาชนทั่วไปอย่างไรดี จุดเชื่อมโยงจะอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ไทยพีบีเอสต้องยึดหลักความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลการบริหารจัดการองค์การต่างๆ ได้อย่างสะดวกและครบถ้วน เช่น รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบาย รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร การจัดซื้อจัดจ้างรายการ นโยบายสำคัญต่างๆ แผนงานด้านต่างๆ ขององค์การ งานวิจัยของสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ งบการเงิน รายงานการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน (ตามมาตรา 46) รายงานการตรวจสอบภายใน และรายงานการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี โดยคณะกรรมการประเมินผลภายนอก (ตามมาตรา 50) เป็นต้น

ผมพยายามค้นหารายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายในเว็บไซต์ของไทยพีบีเอส (สืบค้นวันที่ 5 และ 7 กรกฎาคม 2560) พบว่า รายงานการประชุมครั้งสุดท้ายที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์คือ การประชุมครั้งที่ 20/2557 วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ! นอกจากนั้น ไม่ปรากฏการเผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ไม่ปรากฏการเผยแพร่รายงานการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี ไม่ปรากฏการเผยแพร่งานวิจัยของสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ส่วนรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนมีเผยแพร่ถึงแค่ปี 2555 แถมตอนนี้ลิงก์รับเรื่องราวร้องเรียนในเว็บไซต์ยังเสียอีก!

ประชาชนจึงไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า คณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการบริหารไทยพีบีเอสคิดและทำอะไรกันอยู่ เกิดอะไรขึ้นในองค์การสื่อสาธารณะของพวกเราบ้าง องค์การสื่อสาธารณะไม่ควรพาตัวเองเข้าสู่ ‘แดนสนธยา’ นอกจากจะไม่เป็นธรรมกับประชาชนในฐานะเจ้าของที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ยังเสียโอกาสจากการระดมปัญญารวมหมู่จากประชาชนมาร่วมคิดร่วมทำร่วมสร้างสรรค์สื่อสาธารณะในด้านต่างๆ

กลับมาที่ปัญหาของไทยพีบีเอสอีกที

หรือมันเป็นเพราะ “การเมืองภายในองค์กร” ที่ไม่สามารถประสานให้คนทำงานจากหลากหลายที่มาและหลากหลายความคิดหลอมรวมกันทำงานภายใต้ ‘ค่านิยมร่วม’ ของความเป็นสื่อสาธารณะ กลับตีกันเสียเอง ชิงอำนาจกันไปมา และต่างคนต่างไม่รู้บทบาทหน้าที่ที่ควรจะทำของตัวเอง

หรือมันเป็นเพราะความล้มเหลวในการ “การบริหารคน” ทำไมไทยพีบีเอสมีพลังดึงดูดคนเก่งที่มีวิสัยทัศน์และมีจิตสำนึกสาธารณะให้มาทำงานที่นี่หรือทำงานร่วมกับที่นี่น้อยลงทุกที

ทำไมคนทำงานคุณภาพ มากความสามารถ และมีจิตวิญญาณของคนทำสื่อสาธารณะ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเลยในไทยพีบีเอส ถึงไม่สามารถใช้ศักยภาพในตัวเขาได้อย่างเต็มที่ ช่องทางถูกปิดหรือตีบตันที่ตรงไหน เพราะความเป็นราชการ? เพราะระบบอาวุโส? เพราะอำนาจ? องค์การสื่อสาธารณะควรบริหารด้วยความคิดและเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอำนาจ

นอกจากนั้น ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพของคนทำงานมากน้อยเพียงใด มีกลไกในการรักษาคนคุณภาพให้อยู่ในองค์การอย่างไร

ที่ผ่านมา ทำไมไทยพีบีเอสไม่สามารถรักษาคนทำสื่อสาธารณะคุณภาพไว้ในองค์การได้ ผมรู้จักคนพันธุ์นี้หลายคน ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า ถ้าองค์การไม่สามารถรักษาคนเหล่านี้ไว้ได้ แสดงว่าองค์การมีปัญหาจริงๆ เพราะใจของพวกเขาอยู่ที่นี่ จิตวิญญาณของพวกเขาอยู่ที่นี่ แต่ก็เหนื่อยและท้อจนต้องลาออกไปจำนวนมาก

 

สิบปีไทยพีบีเอส :

ทำอย่างไรให้ดีพอ ?

 

สังคมไทยจำเป็นต้องมีสื่อสาธารณะ การเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของไทยพีบีเอสในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องดี มีไทยพีบีเอสดีกว่าไม่มี และไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะยังไม่ควรดับไป แต่ใช่ว่า เราควรพอใจแค่การมีอยู่ของไทยพีบีเอส ต้องรุกต่อว่า ที่ว่าดี ดีพอหรือยัง จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร

สิบปีผ่านไป คนควรจะรู้จักและรักไทยพีบีเอสมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ไทยพีบีเอสควรจะมีพลังในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

จะบอกว่า “สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะก็ได้ประมาณนี้แหล่ะ จะเอาอะไรมาก” – ยังดีไม่พอ

จะบอกว่า “แค่นี้ก็ดีกว่าช่องอื่นแล้ว” – ยังดีไม่พอ ต้องเทียบกับอุดมคติที่เราอยากไปถึงต่างหาก

การมีอยู่ของสื่อสาธารณะต้องเป็นไปเพื่อผลักดันวงการสื่อและเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ไม่ใช่ให้ย่ำอยู่กับที่ อยู่ประมาณนี้ ตรงที่สังคมหยุดนิ่ง  สื่อสาธารณะต้องอยู่ข้างๆ กับสังคมในความหมายที่ ‘นับรวม’ ทุกคน ขณะเดียวกันก็ต้องมีส่วนในการเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ถ้าล้ำหน้าสังคมได้ก็ดี แต่ต้องหาทางพาสังคมให้ยกระดับไปด้วย ถ้าสังคมถอยหลัง เราไม่ต้องถอยหลังตาม เป็นหน้าที่เราที่จะคอยดึงรั้งสังคมไว้ต่างหาก

แต่ถ้าเมื่อไหร่ สื่อสาธารณะล้าหลังกว่าสังคม ตามสังคมไม่ทัน ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพความเป็นจริงของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมทั้งของไทยและโลกไม่ทัน รวมถึงตามวงการสื่อไม่ทัน ยิ่งน่าเป็นห่วง และคนรักไทยพีบีเอสหลายคนเริ่มเป็นห่วงแล้วว่า สื่อสาธารณะของเราจะตามสังคมทันไหม วิ่งแล้วตามไม่ทันก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่คิดจะวิ่ง ยิ่งอาการหนัก

ทั้งหมดนี้ คิดดังๆ ด้วยความรักแบบกัลยาณมิตรนะครับ ยิ่งรักมาก ยิ่งรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณมาก เพราะ 101 ก็เกิดที่นี่ ยิ่งต้องสะท้อนความจริงมาก นี่พูดตรงๆ แบบไม่กลัวจะไม่ได้ทำรายการอีก เช่นเดียวกันครับ ไทยพีบีเอสก็ต้องกล้าพูดความจริง กล้าวิจารณ์รัฐบาลได้แบบไม่กลัวถูกยุบเหมือนกัน จริงๆ วัตถุประสงค์ของกฎหมายก็เขียนไว้ชัดเจนให้ไทยพีบีเอสมีส่วนในการสร้างสังคมประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ถ้าทำหน้าที่สื่อสาธารณะอย่างเต็มที่ ประชาชนก็จะเห็นคุณค่าความหมายของไทยพีบีเอส และออกมาปกป้องเวลาที่ถูกรัฐรังแก แต่ถ้าไทยพีบีเอสทำหน้าที่แบบกล้าๆ กลัวๆ ไม่ปกป้องประโยชน์สาธารณะ ไม่เอาดีทางไหนสักอย่าง ไม่แตกต่างอย่างชัดเจน ไม่เปิดโลกของตัวเองออกมาสัมพันธ์กับสังคม ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ประชาชนก็ไม่รู้สึกศรัทธา ไม่เชื่อใจ ไม่หวงแหน ไม่รู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ และไม่เห็นคุณค่าความหมายของการดำรงอยู่ ยิ่งถ้าคิดจะไปตามใจรัฐ เอาใจรัฐ แล้วสุดท้ายก็โดนยุบ หรือโดนแทรกแซงอยู่ดี คนเขาจะยิ่งหัวเราะสมน้ำหน้า แทนที่จะช่วยปกป้อง

ผมหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงหน้าจอทั้งข่าว สารคดี และรายการ ที่ทำให้พวกเรากลับมาตื่นเต้นกับไทยพีบีเอสได้อีกครั้ง สำหรับการเอาชนะใจประชาชน  ‘หน้าจอ’ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เพราะประชาชนตัดสินผลงานของไทยพีบีเอสผ่านคุณภาพของหน้าจอ ถ้าคนดูชื่นชอบและเชื่อถือ ‘หน้าจอ’ ของไทยพีบีเอส ก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการปกปักรักษาไทยพีบีเอสต่อไปเอง

ในรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี 2552 (การประเมินภายนอก) ส.ส.ท. ผมเคยเขียนเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องหน้าจอไว้ว่า

……….

เป้าหมายของรายการข่าวและรายการ ควรมีคุณลักษณะ ดังนี้

  • รายการทุกประเภทควรมีความแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ อย่างชัดเจน และมีความแปลกใหม่ทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ
  • รายการทุกประเภทควรมีการนำเสนอรายการอย่างน่าสนใจ เฉียบคม และมีเสน่ห์ในการดึงดูดผู้ชมทั่วไป (general audience) ให้มารับชม โดยยึดหลักการ “รายการดีที่ต้องมีคนดู” โดยแสวงหาหนทางในการเพิ่มจำนวนการรับชมรายการของสถานีอย่างสร้างสรรค์ และไม่ขัดต่อแนวทางของการเป็นสถานีสื่อสาธารณะ
  • รายการข่าวควรมีความถูกต้อง เที่ยงตรง สมดุล เจาะลึก รอบด้าน และน่าเชื่อถือ
  • รายการควรมีบทบาทในการสร้างแรงบันดาลใจ เปิดมุมมองใหม่ เพิ่มความเข้าใจโลก และให้ปัญญาแบบไม่สอนสั่ง

……….

ถ้าไทยพีบีเอสจะกลับมามี ‘พลัง’ ในฐานะสื่อสาธารณะอีกครั้ง และสามารถส่งต่อ ‘พลัง’ ถึงสังคมวงกว้างได้  หน้าจอและหลังจอต้องถูกปฏิรูปใหญ่ไปพร้อมกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไทยพีบีเอสต้องกลับมายืนนิ่งๆ แน่นๆ ในจุดยืนและที่ทางที่สื่อสาธารณะควรตั้งมั่นอยู่

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ไทยพีบีเอสรู้อยู่แล้วละครับ ว่าจุดนั้นอยู่ตรงไหน ปัญหาอยู่ที่คิดจะทำไหม ยอมเหนื่อยไหม และกล้าไหมเท่านั้นเองครับ.

 

หมายเหตุ: เทปบันทึกภาพเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum “วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน”

วิทยากร : ประจักษ์ ก้องกีรติ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ปกป้อง จันวิทย์ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และประภาส ปิ่นตบแต่ง

ผู้ดำเนินรายการ : โกวิท โพธิสาร และหทัยรัตน์ พหลทัพ

 

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save