fbpx

ค้นหาทองหล่อ-เอกมัยฉบับคนเดินเท้า (2)

[et_pb_section bb_built=”1″][et_pb_row][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text _builder_version=”3.0.106″ background_layout=”light”]

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่องและภาพ

 

หากเอาเสียงกรุ๋งกริ๋งจากน้ำแข็งกระทบแก้วที่ดังขึ้นในทุกร้านอาหารและผับบาร์ของย่านทองหล่อ-เอกมัยยามราตรีมารวมกัน เสียงนั้นคงดังพอๆ กับเสียงฟ้าผ่า

 

ในอดีตทองหล่อ-เอกมัย ไม่ได้นอนดึกเช่นนี้ ไม่เป็นเป้าหมายของการกินดื่มเท่านี้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ปรากฏขึ้นได้อย่างไร ประชากรทองหล่อ-เอกมัย ในภาคค่ำเหมือนหรือต่างกับภาคกลางวันหรือไม่ มีสิ่งใด ขับเคลื่อนให้ย่านนี้มีชีวิตชีวาทั้งกลางวันกลางคืน คืนนี้เราจะเดินตามแสงไฟแทบไม่เคยดับของย่านนี้ แล้วค้นหาคำตอบไปด้วยกัน

 

 20 กว่าปีก่อน

 

 

ซุปเปอร์มาเก็ตเปิด 24 ชั่วโมง เต็มไปด้วยของสดคุณภาพดีและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในทองหล่อซอย 5 คือที่นัดหมายของฉันกับ ‘วรพจน์’ ผู้บริหารในสายงานดนตรี ซึ่งอยู่ทองหล่อมาร่วม 20 ปีแล้ว วรพจน์ดูสดชื่น กระฉับกระเฉง และเยาว์วัยกว่าอายุจริงอยู่ไม่น้อย

“หลังแต่งงาน ปี 1994 ก็ซื้อคอนโดอยู่ที่นี่ครับ อยู่เหมือนเป็นบ้าน ตอนนี้มีลูกสองคนแล้ว ก็อยู่ด้วยกันทั้งครอบครัวครับ

“ถ้าถามผมเหตุที่ตอนแรกเลือกอยู่ทองหล่อก็เพราะว่าเงียบ ถนนขนาดใหญ่อย่างนี้มานานแล้วครับ แต่รถไม่ค่อยวิ่ง ยุคนั้นสงบจริงๆ เพราะ หนึ่งเป็นซอยตัน แม้ว่าจะออกเอกมัยได้ แต่สมัยก่อนทางเชื่อมระว่างทองหล่อ-เอกมัย จะเป็นแค่ถนนสองเลนเล็กๆ คนจะเข้าเอกมัยแล้วไปเพชรบุรีมากกว่า”

 

วรพจน์กับบรรยากาศหน้าคอมมูนิตีมอลล์ สิ่งใหม่ในทองหล่อที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

“ซอยทองหล่อสมัยก่อนเหมือนหลุดออกมาอีกบรรยากาศหนึ่ง แต่ว่าพอมีการเปลี่ยนแปลง เปิดท้ายซอยให้ทะลุ มีสะพานข้ามได้ คนก็มาใช้พื้นที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ เกิดการบูม มีคอนโดฯ ห้างสรรพสินค้าเยอะขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง พัฒนา อย่างคอมมูนิตีมอลล์ตรงนี้สมัยก่อนก็ไม่มี

 

ร้านให้เช่าและตัดชุดวิวาห์ หนึ่งในกิจการอันเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนในอดีตนึกถึงเมื่อเอ่ยถึงย่านทองหล่อ ต่างจากปัจจุบันที่จะนึกถึงสถานที่กินดื่มและเที่ยวกลางคืน

 

“คนจะรู้จักทองหล่อว่าเป็นถนนเวดดิง ยุคนู้นสตูดิโอในทองหล่อน่าจะมีเกือบๆ 10 เจ้า แต่ตอนนี้พื้นที่ที่เคยเป็นธุรกิจเวดดิงเปลี่ยนโฉมไปทำกิจการอื่น จนกระทั่งตอนนี้น่าจะเหลืออยู่แค่ 1-2 แห่งครับ อาหารการกินสมัยก่อนก็ไม่เยอะเท่านี้หรอก แต่ไม่ได้ขาดแคลน แถวนี้ยังมีร้านอาหารดั้งเดิม ร้านก๋วยเตี๋ยวดั้งเดิมก็ยังมีอยู่ แต่ที่เพิ่มมาคือคอมมูนิตีมอลล์ ความเป็นสมัยใหม่ ที่เที่ยวกลางคืนเยอะขึ้น สมัยก่อนมีที่ฟังเพลงอยู่บ้าง คลับของผู้ชายพอมี ผับไม่เคยหายไปไหน อยู่มานาน แต่ไม่เยอะเท่าปัจจุบันนี้ อย่างตึก Liberty ตรงท้ายซอยก็อยู่มา 30 ปีแล้ว”

วรพจน์กล่าวถึงตึก Liberty ที่มีคลับบาร์ขึ้นชื่อหลายแห่งอยู่ในตึกนี้ เช่นผับเพลงบลูส์อย่าง Nothing but the blues และเล่าว่า ‘สะพานข้ามคลอง’ ต้นเหตุการเปลี่ยนแปลงของย่าน เพิ่งมีเมื่อราว 15 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง

ความคับคั่งนำความสะดวกสบายมาให้หลายด้าน  ทั้งสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้น ความสว่างไสว รวมทั้งทำให้ทองหล่อเป็นย่านที่เดินได้ง่ายแม้จะเป็นเวลากลางคืน แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความไม่ปลอดภัยบางประการขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ผู้คนไม่น้อยเข้าสู่ย่านทองหล่อยามค่ำอย่างคับคั่งทั้งด้วยรถยนต์ จนทองหล่อเป็นถนนสายหนึ่งที่แม้จะสั้นเพียง 2 กิโลเมตรกว่าๆ แต่เกิดปัญหารถติดเป็นประจำ

 

“ถ้าเดินทางในย่านทองหล่อเอง ผมเดินเยอะ เพราะผมชอบเดินอยู่แล้ว ผมอยู่ซอยทองหล่อ 18 ก็เดินเข้าบ้าน ออกมาปากซอย ขึ้น BTS สะดวกใช้ได้ครับ เพราะว่าไม่ได้ไกลจนเกินไป ได้ออกกำลังกาย ได้มีเวลาคิดทบทวนงานบ้าง เป็นสโลว์ไลฟ์อย่างหนึ่งนะ ถ้าไม่อยากเดินก็นั่งมอเตอร์ไซค์หรือไม่ก็ขึ้นรถเมล์แดง

“ผมคิดว่าการที่คนไม่เดินกัน เรื่องความเรียบร้อยของทางเท้าก็เรื่องหนึ่ง กับอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องคนขับรถยนต์ เพราะคนขับรถยนต์เมืองไทยต้องบอกว่าเขารีบ (หัวเราะ) เรื่องไกลใกล้ไม่เท่าไหร่ แต่เขามีความรู้สึกว่าฉันขับรถฉันต้องไปก่อน ซึ่งจะไม่เหมือนต่างประเทศ ต่างประเทศเขาจะให้สิทธิ์คนเดินเท้ามากกว่า แต่เมืองไทยฉันมีรถฉันต้องไปก่อน เธอเดินเธอรอไปก่อน

 

ถนนช่วงทองหล่อซอย 10 ซึ่งเป็นย่านเที่ยวกลางคืน มีรถเข้าสู่ย่านนี้เป็นระยะๆ เป็นอีกจุดที่ข้ามถนนได้ลำบาก

 

“ที่นี่คนขับรถไม่ค่อยจอดให้คนข้ามทางม้าลาย คุณจะกดสัญญาณไฟแล้ว คนก็ไม่สนใจ เพราะเขาถือว่าไม่ใช่สิทธิ์ ผมเห็นแทบทุกวัน บางทีผมก็ใช้รถบ้าง เวลาขับตีคู่กับคันอื่นมาด้วยกัน เรารู้ว่าตรงนี้มีสัญญาณไฟ แล้วเราหยุด แต่คันข้างๆ ไปฟึ่บ อย่างที่บอก คนยังไม่ยอมรับเรื่องสิทธิ์ของคนเดินเท้า

“ยิ่งถ้าเป็นทางม้าลายที่ไม่มีสัญญาณไฟ คนแทบไม่ให้ความสำคัญ จนผมเองต้องฝึกตัวเองใหม่ คิดใหม่ ว่าเราต้องหยุด เราต้องคิดว่าถ้าเราเป็นเขา แล้วไม่มีใครหยุดเราจะเป็นอย่างไร อีกอย่างถนนทองหล่อตลอดสายเลย ไม่มีเกาะกลาง ฉะนั้นการมายืนรอข้ามถนนอยู่กลางถนน ต้องบอกว่าอันตราย แล้วถนนทองหล่อไม่ได้เป็นทางตรง มีทางโค้ง สมมติรถวิ่งเกาะโค้งมาแล้วมอเตอร์ไซค์เกาะมาข้างๆ แล้วคุณยืนรอกลางถนนอยู่ โอกาสที่คุณจะโดนรถชนเยอะมาก อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนผมไม่รู้ แต่ผมเคยเห็น ถ้าจังหวะเราหยุดทัน เราก็อยากจะหยุดให้คนข้าม เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน” วรพจน์กล่าวก่อนชวนฉันคุยเรื่องน่าสนใจอีกหลายเรื่อง หลังจากเราล่ำลากัน เขาก็เดินกลับบ้าน

 

ชายผู้ค้นพบซาโมซ่า

 

ไม่ว่าจะเป็นย่านทองหล่อหรือเอกมัย มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ แม้ว่าจะเย็นย่ำมากแล้ว แต่คนทำงานบางคนยังไม่กลับบ้าน และมีชีวิต ‘สองจังหวะ’ กล่าวคือเข้าที่ทำงานสายมากๆ หรือเกือบเที่ยง กินข้าว ทำงานจังหวะแรก ออกมาหาอะไรกินช่วงเย็น แล้วเริ่มชีวิตทำงานจังหวะที่สองหลังอาหารมื้อเย็น ล่วงเลยไปถึงค่ำมืดหรือดึกดื่น ซึ่ง ‘ธี’ เป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในโหมดนี้บ่อยๆ

 

‘ธี’ ชายหนุ่มผู้พักอยู่ย่านปากน้ำ แต่มาทำงานที่เอกมัย ภาพ : Nati Nattachai

 

“ข้อดีของย่านเอกมัยคือ เป็นตรงกลางระหว่างสองที่ ฝั่งหนึ่งคือพระโขนงที่จะมีความเป็นชุมชน มีตลาดใหญ่ มีของขายราคาไม่แพง ในตลาดจะมีอาหารพม่า อาหารอินเดียด้วยครับ มีทั้งซาโมซ่า แกงพม่า แกงฮังเล เครื่องเทศพม่า ฯลฯ ไปลองได้ฮะ แล้วอีกฝั่งคือทองหล่อจะเป็นคอนโดแพงๆ เป็นร้านเหล้า ร้านอาหารมีระดับ เอกมัยอยู่ตรงกลางระหว่างสองจุดนี้ครับ ไม่เป็นฝั่งทองหล่อทีเดียว แต่ก็ไม่ได้เป็นพระโขนงทีเดียว จึงเป็นจุดที่คนทำงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์จะเข้ามาอยู่แถวนี้ เช่น ครีเอทีฟ นักออกแบบ สถาปนิก ฯลฯ” ธี ผู้รับตำแหน่งเป็นผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม Ma-D Club for Social Change บอกเล่า

ว่ากันว่าในทุกย่านที่สะดวกสบายมีระดับ ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยพลังจากภายนอกย่านอยู่เสมอ เส้นทางคมนาคมแสนสะดวกอย่างรถไฟฟ้าใจกลางเมืองนั้นย่อมมาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ เรื่องอาหารก็เช่นกัน ในย่านที่แน่นขนัดด้วยร้านอาหารตอบสนองไลฟ์สไตล์ราคาแพง ยังมีคนทำงานมากมายต้องการอาหารดีๆ ในราคาที่พวกเขาจ่ายได้ การเดินทางไปนอกย่านเล็กน้อยได้กลายเป็นทางออกของหลายๆ คน รวมทั้งธี ที่เขาต้องพึ่งพาพลังด้านนี้จากย่านพระโขนง

 

ที่ทองหล่อ อาหารริมทางยามค่ำยังมีอยู่และหลายเจ้ามีรสชาติอร่อย ต่างจากแถวเอกมัยที่ไม่ค่อยพบร้านอาหารริมทางเช่นนี้อีกแล้ว

 

“เรื่องอาหารริมทางเอกมัยแห้งแล้งมาก ผมชอบปั่นจักรยานไปพระโขนง เพราะมีความหลากหลายของอาหารเยอะเลยครับ และราคาย่อมเยา ส่วนใหญ่ผมจะไปตอนเย็น ถ้าปั่นไปตามทางปกติจะนานเหมือนกันครับ แต่ถ้ารู้ทางลัดก็จะเร็วหน่อย ตอนนี้ผมพบว่าในเอกมัยซอย 2 มีทางทะลุไปสุขุมวิท 61 ซึ่งไปออกพระโขนงได้ เป็นถนนของคอนโดครับแต่เขาจัดพื้นที่ให้ใช้งานได้หลายอย่าง (mixed use) มีร้านอาหารด้วย เขาเลยห้ามผมไม่ให้เข้าไม่ได้” ธีกล่าวถึงความพยายามฝ่าฟันจนไปเติมพลังจากย่านพระโขนงได้สำเร็จ ก่อนจะเริ่มทำงานในจังหวะที่สอง ที่อาจทอดยาวไปจนดึกดื่น

ที่ปรึกษาเวลาสามทุ่ม

 

ทุกๆ สามทุ่ม ร้านกาแฟร้านหนึ่งแถวต้นซอยทองหล่อ จะกลายเป็นที่นั่งประจำของสถาปนิกคนหนึ่งที่จะมาเยือนร้านนี้เป็นประจำ เขาอาจมาพร้อมหนังสือหนึ่งเล่ม บางวันมาช่วยบาริสต้าเก็บร้าน ความเครียดและภาระหนักในแต่ละวันจะถูกผ่อนถ่ายสู่ผู้ยินดีรับฟัง อย่าง ‘พี่อ้อม’ ผู้เป็นทั้งบาริสต้าและพนักงานขายท่อน้ำนำเข้าจากเยอรมนีในเวลาเดียวกัน

 

‘พี่อ้อม’ ผู้เป็นทั้งบาร์ริสต้าและเป็นพนักงานขายท่อในคนคนเดียวกัน ซึ่งทำหน้าที่ทั้งสองด้านได้ดีทั้งคู่

 

“ความจริงแล้วทางบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับท่อน้ำ เครื่องกรองน้ำ แล้วทีนี้เราเลยมองว่า ถ้าเราจะทำโชว์รูมขึ้นมา จัดแสดงสินค้าแล้วไม่มีสื่อกลาง ลูกค้าอาจไม่เดินเข้ามา เราเลยมีช็อปกาแฟเพื่อดึงลูกค้าให้ทานกาแฟ พร้อมกับดูงานตกแต่งงานท่อของเรา นี่คือจุดประสงค์หลักของร้านค่ะ”

พี่อ้อมชี้ชวนให้ฉันดูท่อสีเขียวอมเทาที่กลมกลืนกับส่วนต่างๆ ของร้าน ไม่ดูแปลกแยกแต่อย่างใด ถ้าไม่บอกก็แทบไม่รู้เลยว่าที่นี่คือโชว์รูมขายท่อ และลำพังรสชาติกาแฟก็แข็งแรงพอแล้วที่จะเป็นร้านกาแฟเพียงอย่างเดียว เมื่อฉันถามว่ากลยุทธ์ท่อผสานกาแฟนี้ทำให้ขายสินค้าได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ พี่อ้อมตอบว่า

“ได้ผลค่ะ และได้ลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ย่านทองหล่อเป็นย่านที่คนมีฐานะอยู่กัน อย่างลูกค้าเดินเข้าร้านพี่มา พอเขาสะดุดตา เขามีกำลังซื้อ เขาซื้อเลย บางทีลูกค้าที่มาซื้อกาแฟมีทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง สถาปนิก เจ้าของอพาร์ทเมนท์ นักออกแบบตกแต่งต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเราที่จะนำเสนอเรื่องท่อหรือเครื่องกรองน้ำให้เขาเอาไปใส่ได้”

ร้านกาแฟร้านนี้ตั้งอยู่ริมถนนจึงง่ายที่ใครต่อใครจะแวะเวียนเข้ามา รวมทั้งลูกค้าที่ไม่เพียงต้องตาท่อ ใฝ่หาคาเฟอีน แต่ติดใจน้ำใจไมตรีและอัธยาศัยของบาร์ริสต้าด้วย “ทานเอสเพรสโซ่ให้ประโยชน์กับร่างกายนะคะ ทำให้เราหายใจคล่องขึ้น สารในกาแฟจะไปขยายหลอดลมทำให้เราหายใจสะดวกขึ้น  ถึงแม้จะเป็นกาแฟที่ขม เป็นหัวกาแฟแต่กินแล้วสุขภาพดี บางคนแม่เขาป่วยพี่ก็แนะนำไปแบบนี้ แม่เขาก็ดีขึ้น

“มีลูกค้าบางคนสนิทกันเหมือนเพื่อน เจ้าของกิจการเขาก็มาคุยกับเราเวลาเครียดๆ  มีสถาปนิกคนหนึ่งมาทุก 3 ทุ่ม บางทีเขาก็มาเล่าว่าไม่ได้นอนเลย 2 วันแล้ว มีลูกค้าที่น่ารักๆ เยอะค่ะ มีลูกค้าต่างชาติขาประจำคนหนึ่งจะมาทุกวันตอนทุ่มหนึ่ง นั่งจนปิดร้าน พอเขาเห็นเราอยู่ร้านคนเดียว เห็นโต๊ะหน้าร้านตั้งอยู่เขาก็ช่วยเก็บเข้ามาในร้านให้” พี่อ้อมเล่าถึงสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในยามค่ำ

 

ภายในบาร์ลับ

 

ระหว่างทองหล่อซอย 12-14 ในแนวตึกที่เต็มไปด้วยแหล่งกินดื่มและฟังเพลง มีทางเข้าหนึ่งซ่อนตัวอยู่ หากแหวกผ้าม่านหนาหนักเข้าไป เดินไปตามทางเดินวกวนและค่อนข้างมืด ขึ้นบันไดที่มีแสงส่องทางเพียงสลัวๆ จนสุดทาง หากใครเดินมาถูกจะพบว่าตนเองกำลังประจัญหน้ากับทิวแถวตู้ล็อกเกอร์ คนมากมายหยุดอยู่หน้าล็อกเกอร์เหล่านี้ด้วยความงุนงงว่าทำไมเดินมาแล้วเจอทางตัน แต่บางคนก็เอื้อมมือผลักบานล็อกเกอร์เข้าไป และพบกับ ‘บาร์ลับ’ แห่งหนึ่งจากทั้งหมดราว 5-6 แห่งที่กระจายอยู่ในทองหล่อ

 

ทิวแถวตู้ล็อกเกอร์ที่มีประตูซ่อนอยู่เบื้องหลัง

 

“ปี 1920 -1930 มีกฎหมายการห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มสุรา (Prohibition Act) บาร์ที่เปิดขายต้องคอยระวัง แต่ตอนนั้นคนเวลาเริ่มดื่มเสียงจะเริ่มดังขึ้นๆ แล้วเจ้าของบาร์ก็บอกว่าพูดเบาๆ (speak easy) หน่อย เลยกลายเป็นที่มาของ ‘speakeasy bar’ ที่หน้าร้านไม่ได้บอกว่าเป็นบาร์ แต่มีสิ่งทำให้คนมาตามหา บาร์เราก็เป็นแบบนี้ บางทีลูกค้าโทรถามว่า ‘The Locker Room’ อยู่ที่ไหน เราก็ไม่บอก เราจะบอกเขาว่าต้องไปหาดู เพราะบาร์ของเรานอกจากขายเครื่องดื่มแล้ว ยังขายประสบการณ์ด้วย เราอยากให้ลูกค้าสนุก” ‘ฝาเบียร์’ หัวหน้าบาร์เทนเดอร์ของ The Locker Room บาร์ที่ฉันผลักประตูเข้ามาบอกเล่า

“โดยส่วนตัวย่านที่ขายค็อกเทลแล้วรู้สึกว่า happening มากที่สุดคงจะเป็นย่านทองหล่อค่ะ ถ้าคนพูดถึงค็อกเทลบาร์จะนึกถึงทองหล่อ ที่นี่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่พาเพื่อนมาเจรจาธุรกิจ พาลูกค้ามาเลี้ยง เขาจะบอกคนที่พามาเลี้ยงว่า นี่เป็นร้านประจำของเขา ทำตัวตามสบาย ก็ช่วยให้การคุยของเขาราบรื่นขึ้น” ฝาเบียร์กล่าว

 

‘ฝาเบียร์’ กัปตันบาร์เทนเดอร์ของ The Locker Room

 

ปิดดีลธุรกิจหลักสิบล้านในโชว์รูมกาแฟ สร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจในบาร์สไตล์กินซาที่เปิดเพลงอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นสุดฮิปแวดล้อมด้วยทีมบาร์เทนเดอร์เปรี้ยวซ่า พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรในทองหล่อแม้จะเล็กแต่สำคัญ จึงต้องแวดล้อมด้วยความสมบูรณ์แบบ เช่น ในพื้นที่เล็กๆ ของ The Locker Room จะมีการจัดการงานที่เป็นระบบอย่างยิ่ง ตามที่ฝาเบียร์เล่า พนักงาน 7 คน ในบาร์เล็กๆ แห่งนี้ได้รับการฝึกฝนและเคี่ยวกรำให้สามารถทำงานทุกอย่างได้รอบด้าน ไม่ว่าจะ ‘ทำเชก’ (ปรุงเครื่องดื่ม) เตรียมวัตถุดิบทุกอย่างด้วยตัวเอง นำพาบรรยากาศของบาร์ให้ทุกคนมีความสุขแบบไม่ขาดพร่อง และพร้อมสนับสนุน สลับสับเปลี่ยนทำหน้าที่แทนกันได้อยู่เสมอ และที่แน่นอนคือทุกคนหากจะอยู่ย่านนี้ได้ต้องมีฝีมือ

ออกจากบาร์ลับกลางซอย คืนนี้ตี 2 ฉันมีนัดกับบาร์เทนเดอร์อีกคนหนึ่ง ‘ต่อ’ เป็นหัวหน้าทีมในบาร์ชื่อดังสองแห่งนั่นคือ Thaipioka และ Sugar Ray You’ve Just Been Poisoned‘ เขาเป็นบาร์เทนเดอร์มือรางวัลที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเป็นทั้งบาร์เทนเดอร์และกำลังขึ้นมาเป็นผู้บริหารบาร์ทั้งสองแห่ง

“เราต้องบอกว่าเราโชคดีที่ได้มารู้จักกับงานนี้ แล้วกลายเป็นงานที่เรารัก พอทำงานที่เรารักก็รู้สึกไม่เหมือนงานเท่าไหร่ ความสุข เป้าหมายของคนที่ทำอาชีพนี้คือคนชื่มชมผลงานของเรา เหมือนคนทำอาหาร ถ้าคนกินเหลือเราก็คงรู้สึกไม่ดี ถ้าลูกค้ากินหมดแล้วเอามาอีกเรื่อยๆ เราคงรู้สึกดีมากๆ” ต่อกล่าว

 

‘ต่อ’ บาร์เทนเดอร์มือรางวัลย่านทองหล่อ

 

“บาร์เราเสียงดังได้ ไม่ต้องเก๊ก อยากให้เข้ามาแล้วก็ชิล ถึงคอนเซ็ปเท่ขนาดไหน เราก็ต้องการให้ชิลกว่านี้ เพราะเราเชื่อว่าไม่มีใครเข้ามาแล้วอยากนั่งหลังตรง แข็งทื่อ หรือเกร็งตลอดเวลา ต้องเข้ามาแล้วผ่อนคลาย สถานที่ที่เข้าไปแล้วต้องเก๊กต้องปั้นหน้า เราเซย์โนทุกอย่างที่ ไม่ชอบ”  ต่อกล่าว

“การทำงานแบบนี้อิสระมากๆ แต่ความอิสระก็เป็นอะไรที่อันตราย เพราะถ้าเราอิสระแล้วขี้เกียจ อิสระแล้วไม่ขวนขวายเรียนรู้ จะถูกแซงได้เร็วมาก บาร์เทนเดอร์คือคนที่เท็นด์ (tend) บาร์ หรือคนที่นำบาร์ ชื่อก็บอกอยู่แล้ว นอกจากเชกส่วนผสมค็อกเทลแล้ว ต้องเชกบรรยากาศด้วย แสงประมาณนี้ คนประมาณนี้ เครื่องดื่มประมาณนี้ เสียงเราที่พูดคุยกับแขกจะประมาณไหน ในโมเมนต์นั้น สมมติเพลงมาสนุก เราก็สนุก ช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้ดื่ม ทุกอย่างเป็นเมโลดี บางเมโลดีเท่ากันก็ดี บางเมโลดีขัดกันก็ดี ขึ้นอยู่กับบริบท”

ต่อบอกว่าทุกวันนี้ต่อเป็นคนมีค่า เพราะมีทั้งค่ารถ ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูก ฯลฯ ต่อนำพาชีวิตตนเองและครอบครัวมาได้ตลอดรอดฝั่งถึงปัจจุบันก็ด้วยอาชีพบาร์เทนเดอร์ ซึ่งเขาอยู่ในเส้นทางสายนี้มาแล้วร่วม 10 ปี

“มันเลยคำว่าสนุกไปแล้ว มันคือชีวิต เหมือนกับหายใจแล้ว ไม่คิดแล้ว แต่หายใจยังไงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไปคิดในเรื่องของการบริหารมากขึ้น”

เมื่อฉันถามต่อว่าสำหรับต่อแล้ว ย่านทองหล่อเป็นอย่างไร ต่อตอบว่า “ย่านนี้เหมาะกับคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันให้เป็นจริง”

ตีสามที่ทองหล่อ



จุดสุดท้ายที่ฉันแวะเช็กอินในย่านทองหล่อคืนนี้คือร้านลาบชื่อ ‘แซ่บสุดใจ’ ที่ทองหล่อซอย 9 ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมบรรดา ‘ชาวบาร์’ ที่หลังเลิกงานตอนตีสองแล้ว ราวตีสามจะมากินอาหารอีสานที่อร่อยและราคาถูก ในคืนนี้ฉันกินอาหารร่วมกับชาวบาร์ทั้งหลาย สั่งอาหารไป 7 จาน เบียร์อีก 1 ขวด จ่ายค่าเสียหายแค่ 400 บาทเท่านั้น

 

ตี 3 ถนนหนทางของทองหล่อยังคงเดินง่าย มีไฟส่องสว่าง ทว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้” ต่อกล่าว และเสนอให้บาร์เทนเดอร์คนหนึ่งในทีมของเขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งฉันที่คอมมูนิตีมอลล์ที่ฉันจอดรถเอาไว้ รอยต่อของทองหล่อกลางวันใกล้จะเข้ามา หลายคนกำลังจะออกจากย่านนี้ไปพักผ่อนที่บ้าน และหลายคนกำลังจะกลับเข้ามา เติมเต็มชีวิตชีวาถนนสายสั้นแค่ 2 กิโลเมตร แต่มีซอกเล็กซอยน้อยมากมาย ที่ซุกซ่อนไว้ซึ่งการดำรงอยู่ของผู้คน

 

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่ ค้นหาทองหล่อ-เอกมัยฉบับคนเดินเท้า (1)

 

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”box” _builder_version=”3.0.106″ background_color=”#eaeaea” background_layout=”light”]

ในไทย ก็มีโครงการส่งเสริมการเดินที่เรียกว่า GoodWalk Thailand อยู่ (ดูได้ที่ goodwalk.org) เป็นโครงการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการศึกษาตั้งแต่กลางปี 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินของผู้คนในพื้นที่เมืองในชีวิตประจำวัน

GoodWalk เป็นการศึกษา ‘การเดินได้’ ของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อคัดเลือกพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการศึกษาเชิงลึก เพื่อพัฒนาดัชนีศักยภาพการเดินเท้า รวมไปถึงเสนอแนวทางการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save