fbpx
ปาฐกถาเปลี่ยนโลกกับโลกที่ไม่ยอมเปลี่ยน

ปาฐกถาเปลี่ยนโลกกับโลกที่ไม่ยอมเปลี่ยน

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ครูเบน เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เคยเปรียบเทียบความรู้ไทยศึกษาร่วมสมัย (หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519) กับพัฒนาการความรู้ดาราศาสตร์ในสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ไว้ เมื่อนักดาราศาสตร์ค้นพบความไม่ลงรอยระหว่างสิ่งที่สังเกตได้กับความรู้จักรวาลวิทยาแบบปโตเลมี ซึ่งเป็นหลักรากฐานความรู้ดาราศาสตร์ของชาวยุโรปมานับตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ความไม่ลงรอยนี้นำไปสู่แรงฝืน และการพยายามสรรหาคำอธิบายแบบ ‘รักษาปรากฏการณ์’ เอาไว้ให้ได้ จนในที่สุด สมมติฐานเก่าก็ไม่อาจต้านทานแรงฝืนนั้นไว้ ไม่อาจรักษาปรากฏการณ์ได้ นำมาซึ่งการยอมรับสมมติใหม่ พระอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลก แต่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนสมมติง่ายๆ เช่นนี้ขจัดความไม่ลงรอยที่มีในความรู้ และเปิดช่องทางให้การศึกษาใหม่ๆ คำถามและจินตนาการใหม่ๆ ต่อไปได้

สรุปอีกครั้ง คือ เมื่อความรู้เก่าไปต่อไม่ได้แล้ว การพยายามอธิบายปรากฏการณ์ด้วยสมมติฐานเก่านั้นมีแต่จะสร้างแรงฝืน ความรู้จะเดินหน้าต่อไปได้ก็เมื่อยอมรับสมมติฐานใหม่เท่านั้น จุดเปลี่ยนผ่านความรู้แบบนี้ ในแง่หนึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปเราคงเห็นว่าสมมติใหม่แท้จริงนั้นง่ายแสนง่าย แต่ในอีกแง่ การเสนออะไรแปลกใหม่ขนาดนั้นก็เท่ากับเป็นการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินอยู่เหมือนกัน

ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย” ของธงชัย วินิจจะกูล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนผ่านความรู้ในวงการนิติศาสตร์ไทยในลักษณะเดียวกับจุดเปลี่ยนผ่านโคเปอร์นิคัสเช่นว่าข้างต้น ข้อเสนอเรื่องนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรมอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและคลี่คลายอยู่ต่อหน้าคนไทยทุกคนได้ตรงไปตรงมา ให้เข้าใจว่านิติรัฐและนิติธรรมแบบไทยๆ นั้นคืออะไรกันแน่

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองไทยทศวรรษที่ผ่านมา นิติรัฐและนิติธรรมเป็นศัพท์สองคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วาทกรรมของนักกฎหมายฝ่ายต่างๆ มีการอ้างนิติธรรมในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จนที่สุดในรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ 2550 และ 2560 ต่างบัญญัติให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม

แต่นิติรัฐ-นิติธรรมคืออะไรกันแน่ ในขณะที่สมมติฐานคือ นิติรัฐ-นิติธรรมเป็นของดี เป็นหลักการที่อนุญาตให้ผู้พิพากษาเข้ามาลดความแข็งกระด้างของกฎหมายบ้านเมือง เป็นหลักการที่อนุญาตให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาใช้ธรรมรักษาระบบกฎหมายและการเมืองจากผู้ไม่หวังดี แต่ทำไมบ้านเมืองนี้ยิ่งอ้างหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ยิ่งวุ่นวาย ยิ่งรู้สึกไม่เป็นธรรมทุกหย่อมหญ้า

ทำไมบางจังหวะ ศาลจึงรุกไล่เอาเป็นเอาตายกับกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ถึงขั้นตีความเกินตัวบทโดยอ้างหลักนิติธรรม ในบางขณะ ศาลกลับละเลยไม่สนใจคนอีกกลุ่ม หรือตีความตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำไมศาลถึงทนได้กับความผิดบางอย่างที่เห็นอยู่ตรงหน้า แต่ทนไม่ได้เลยกับข้อกล่าวหาบางอย่าง

ถ้าเรายังเข้าใจนิติรัฐและนิติธรรมว่าคือ L’état de droit และ the Rule of Law ความแตกต่างระหว่างแนวคิดกับความเป็นจริงก็จะคงอยู่ตลอดไป ปัญหาข้างต้นย่อมไม่มีวันตอบได้สิ้นสงสัย แต่ถ้าเปลี่ยนมาเข้าใจนิติรัฐ-นิติธรรมแบบที่ธงชัยอธิบาย ปัญหาที่ค้างคาอยู่ก็จะจบลง และตั้งเข็มการศึกษานิติศาสตร์ใหม่ไปได้อีกหลายปี หรือหลายสิบปี

อารมณ์คล้ายชาร์ลส์ ดาร์วินขึ้นประกาศทฤษฎี Origin of Species

เนื้อหาของปาฐกถานั้นไม่ใช่จุดที่จะนำมาอภิปรายในที่นี้ สรุปอย่างย่นย่อ นิติรัฐและนิติธรรมที่ระบบกฎหมายไทยรับมาจากสากลนั้น ได้ปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นของไทย เป็นนิติรัฐและนิติธรรมแบบไทยๆ ซึ่งสุดท้ายแล้ว มีไว้เพื่อรักษาระบบอภิสิทธิ์และอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิดของชนชั้นนำไทย

แต่ที่สำคัญกว่าคือข้อเท็จจริงที่ว่า breakthrough การค้นพบทางนิติศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นนี้ ไม่ได้เกิดจากนักนิติศาสตร์ต่างหาก

จุดอ่อนของการศึกษานิติศาสตร์ทั่วโลก คือการแยกตัวตัดขาดจากสังคมศาสตร์อื่นๆ โดยสิ้นเชิง การเรียนเชิงนิติศาสตร์ (juridical science) มุ่งเน้นไปที่การศึกษากฎหมายที่มีอยู่ ระเบียบแบบแผน ถ้อยคำและความหมาย หลักการตีความแบบต่างๆ บรรทัดฐานและการจัดการกับบรรทัดฐานที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกัน จะเรียกว่าเป็นการศึกษาในเชิงเทคนิคก็ได้ ปลายทางของการศึกษานิติศาสตร์เช่นนี้คือนักเทคนิคในเชิงกฎหมาย ผู้ช่ำชองในระเบียบวิธีการเขียนคำพิพากษาและร่างกฎหมายด้วยถ้อยคำสำนวนที่ถูกต้องและกระบวนการที่ตราไว้

เมื่อการศึกษาเน้นไปที่บรรทัดฐานที่ดำรงอยู่ นักกฎหมายผู้ศึกษานิติศาสตร์ย่อมสูญเสียจินตนาการได้ไม่ยาก ไม่อาจนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับคุณค่าอื่นในสังคมนั้นๆ ทั้งที่กฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของชุดความเชื่อต่างๆ ในสังคมนั้นๆ

วงการนิติศาสตร์ทั่วโลกถูกวิจารณ์ข้อนี้ทั้งสิ้น แต่ในไทยอาจจะรุนแรงกว่าที่อื่นด้วยหลายสาเหตุ ความใกล้ชิดระหว่างสายงานตุลาการกับการศึกษา ทำให้สภาพการเรียนนิติศาสตร์เป็นการเรียนแบบท่องจำ ไม่เปิดโอกาสให้เรียนแบบวิพากษ์ ซึ่งจะกระทบผู้หลักผู้ใหญ่ หรือความเชื่อที่แยกเรื่องกฎหมายออกจากการเมือง ซึ่งถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องสกปรก ตลอดจนความคับแคบของผู้สอนเองซึ่งไม่มีโอกาส ‘อัปเกรด’ ความรู้ตัวเองออกจากความรู้ชุดราชาชาตินิยม

สุดท้ายเป็นสายตาที่สดใหม่และความคิดที่นอกครูของธงชัยที่มองเห็นนิติรัฐและนิติธรรมอย่างที่มันเป็นอยู่ และชี้ให้เห็นความพิกลพิการของความรู้เกี่ยวกับนิติรัฐ-นิติธรรมไทย

การที่นักประวัติศาสตร์ ‘คนนอก’ จะลุกขึ้นมาพูดเรื่องกฎหมายนั้นเป็นเรื่องใหญ่พอดู โดยเฉพาะในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งเป็นการนำเสนอสมมติฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องสำคัญอย่างนิติรัฐ-นิติธรรมนั้น แรงสั่นสะเทือนน่าจะมหาศาล ถึงขั้นมีผู้กังวลใจแทนว่าอาจารย์ธงชัยจะถูกนักกฎหมายเรียงหน้าตอบโต้เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของนิติรัฐ-นิติธรรมเอาไว้

เปล่าเลย ที่น่าตกใจกว่าข้อทดลองเสนอของธงชัย ซึ่งเป็นคนนอกผู้ชี้ให้เห็นช่องโหว่ความรู้นิติศาสตร์ไทย คือวงการนิติศาสตร์ไม่ใส่ใจกับปาฐกถาครั้งนี้ด้วยซ้ำ

ไม่มีเสียงตัดพ้อหรือชื่นชม อันที่จริงจากการสอบถามนิสิตนักศึกษา แทบทุกคนไม่เคยรับทราบว่ามีปาฐกถาเรื่องนี้เกิดขึ้น

 

 

ณ วันที่เขียนอยู่นี้ บันทึกปาฐกถาในช่อง Youtube ของประชาไทมีผู้เข้าชม 184,000 ครั้ง ในช่องอื่นอีกหลายพันครั้ง ไม่รวมบทถอดความหรืออินโฟกราฟิกที่สรุปย่อใจความมาให้อ่านอย่างรวดเร็ว รวมแล้วน่าจะมีผู้ผ่านตาข้อเสนอของธงชัยจำนวนหลายแสน อาจจะถึงหลักล้าน

แต่ไม่มีนักนิติศาสตร์ อย่างน้อย ในกระแสหลักก็ไม่มี

คำอธิบายเรื่องนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรมของธงชัยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความเข้าใจของสังคมไทยเกี่ยวกับว่าอะไรคือนิติรัฐ อะไรคือนิติธรรม ข้อเสนอนี้จะเป็นแนวทางในการถกเถียงและศึกษาเรื่องนี้ไปอีกหลายปี อาจจะหลายสิบปี อาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยส่วนใหญ่ มองและขยับเท้าก้าวไปในทางที่ธงชัยเสนอไว้แล้ว แต่ชาวนิติศาสตร์ยังยืนหยัดมั่นอยู่กับความรู้ชุดเดิมอย่างมั่นคง ปรากฏการณ์การ ‘ไม่ไปด้วยกัน’ นั้น ถ่างช่องว่างของความรู้ความเข้าใจระหว่างวงการนิติศาสตร์กับสังคมส่วนใหญ่กว้างขึ้นเรื่อยๆ

งานศึกษาการเมืองไทยล้วนชี้ว่าความรู้สึกอยุติธรรมเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงขับเคลื่อนวิกฤตการเมืองรอบนี้ การธำรงรักษานิติรัฐ-นิติธรรมของศาลเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อเพลิงโดยปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งความรู้เรื่องนิติรัฐ-นิติธรรมของสังคมและวงการนิติศาสตร์ไม่ก้าวไปด้วยกัน โอกาสปรับ เปลี่ยน ลดเงื่อนไขเชื้อเพลิงก็ยิ่งน้อยลง

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save