fbpx
จากหนังสืองานศพ ถึงสมุดภาพประจำจังหวัด : เปิดกรุ ‘ต้นฉบับ’ กับ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

จากหนังสืองานศพ ถึงสมุดภาพประจำจังหวัด : เปิดกรุ ‘ต้นฉบับ’ กับ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

-1-

 

ณ ทาวน์เฮาส์สามชั้นย่านงามวงศ์วาน ป้ายไม้จารึกสีทองเด่นว่า ‘ต้นฉบับ’ เรานัดพบกับ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ชายวัย 60 ปีผู้มีทรัพย์สมบัติเป็นหนังสือเก่าเก็บหลายหมื่นเล่ม รูปถ่ายหาดูยากนับแสนใบ ผลพวงจากการใช้เวลาสะสมและศึกษามาเกือบครึ่งชีวิต

“ใหญ่ เปิดเข้ามาเลย” เขาส่งเสียงลงมาจากระเบียงชั้นสอง เมื่อเห็นผมกับน้องช่างภาพยืนเก้ๆ ก้งๆ อยู่หน้าบ้าน

ย่างเข้าด้านใน บรรยากาศขรึมขลังและสงบอยู่ในที ชั้นแรกรายล้อมด้วยตู้ไม้ที่อัดแน่นด้วยนิตยสาร-วารสารของไทยตั้งแต่ยุคแรกๆ จัดแยกเป็นหมวดหมู่ชัดเจน เรียงตามปักษ์ตามปีอย่างเป็นระบบ

แม้เรียนจบด้านรัฐศาสตร์มา เคยรับราชการอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี คลุกคลีกับงานการเมืองตั้งแต่ช่วงก่อนพฤษภาทมิฬ เรื่อยมาถึงยุครัฐธรรมนูญ 2540 คลอดใหม่ๆ แต่ด้วยความสนใจใคร่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ ประกอบกับความหลงใหลในหนังสือเก่า เขาตัดสินใจเปลี่ยนงานอดิเรกให้เป็นงานหลัก

เปิดสำนักพิมพ์ ‘ต้นฉบับ’ ขึ้นในปี 2540 ตั้งต้นจากการนำต้นฉบับเก่าๆ ที่หาอ่านไม่ได้แล้วมาตีพิมพ์ใหม่ นำภาพเก่าๆ มาจัดหมวดหมู่ รวบรวมเป็น ‘สมุดภาพ’ ที่บันทึกช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย ควบคู่ไปกับการเปิดเป็นห้องสมุดให้คนภายนอกสามารถเข้ามาใช้สืบค้น

 

 

“ส่วนใหญ่เป็นหนังสืองานศพ นอกนั้นก็เป็นประวัติบุคคล พงศาวดาร โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม พวกวารสารก็เยอะ วารสารตั้งแต่ยุค 2480-2500 ต้นๆ โชคดีว่าไปเหมาบ้านแม่ชีคนนึง เขาเก็บวารสารนิตยสารรายเดือนรายสัปดาห์ไว้เยอะมาก ได้เอามาใช้ประโยชน์พอสมควร เพราะข้อมูลยุคนี้มันหายาก ยุคจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ เวลานักศึกษาจะใช้ ถ้าเขาไปหอสมุดแห่งชาติมันลำบาก เขาเลยมาขอใช้หมวดนิตยสารที่นี่กันเยอะ พวกนิตยสารของฝ่ายซ้ายนี่ชอบกันมาก”

ยี่สิบปีผ่านไปนับแต่วันเริ่มต้น ทุกวันนี้ธงชัยกลายเป็นผู้กุมขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์ที่หาตัวจับยาก เป็นคลังข้อมูลที่นักศึกษาและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยต้องพึ่งพา หนังสือราวๆ ห้าหมื่นเล่มที่อยู่ในความครอบครอง เปรียบเสมือนแหล่งสืบค้นชั้นดีที่ย่อหอสมุดแห่งชาติกับหอจดหมายเหตุฯ มาไว้ในที่เดียว ทุกเล่มผ่านการอ่านและคัดแยกเข้าชั้นมากับมือ

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจและน่าแปลกใจพอๆ กัน คือหนังสือเกินกว่าครึ่งนั้นเป็น ‘หนังสืองานศพ’

 

-2-

 

“หนังสืองานศพนี่อ่านทุกวัน มันสนุก ผู้ตายเขียนเล่าเรื่องตัวเอง ฝอยชีวิตตัวเอง แล้วบางทีนะ ข้อมูลประวัติศาสตร์บางอย่างที่เราค้างคา มันกลับปรากฏอยู่ในหนังสือพวกนี้ จากสิ่งที่คนเหล่านี้บันทึกไว้”

ธงชัยเล่าถึงเหตุที่ทำให้สนใจหนังสือประเภทนี้ เขาบอกว่าเสน่ห์ของหนังสืองานศพ มีอยู่ 3 ประการ ข้อแรกคือทำให้รู้ประวัติบุคคล รู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้

“ในหนังสืองานศพมันจะมีประวัติที่ผู้ตายเขียนเอง หรือลูกหลานเขียนให้ ไอ้เรื่องพวกนี้ มันไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเล่าให้เราฟัง เราต้องไปหาอ่านจากหนังสืองานศพ แค่เกร็ดเล็กๆ เกร็ดนึงก็สามารถเติมเต็มประวัติศาสตร์ได้ เช่น พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เขียนถึงประวัติทุเรียนพันธุ์ชะนี ว่าเกิดมาจากพันธุ์ก้านยาวกับพันธุ์กบผสมกัน เกิดจากตาเฒ่าคนหนึ่งที่เป็นคนผสม แกเลี้ยงชะนีอยู่บนบ่าแล้วเดินเข้าไปในสวน ไม่รู้จะเรียกทุเรียนพันธุ์นี้ว่าอะไร ก็เลยเรียกว่าชะนี… อ่านแค่นี้ปิ๊งเลย มีอยู่ 6 บรรทัดเอง แต่สำคัญ ฉะนั้นเวลาคุณกินชะนี คุณจะเห็นว่ามันหวาน กลิ่นฉุนเหมือนทุเรียนกบ แต่เนื้อจะละเอียดเหมือนก้านยาว นี่คือชะนี เรื่องแบบนี้มันหาอ่านที่ไหนไม่ได้ ต้องประวัติคนเท่านั้น”

เสน่ห์ข้อต่อมา ธงชัยบอกว่าคือ ‘คำไว้อาลัย’ ที่ญาติสนิทมิตรสหายเขียนให้ผู้ตาย

“เขียนสนุก เขียนมันฉิบหาย บางเรื่องที่เราไม่เคยรู้ เราก็ได้รู้จากคำไว้อาลัย เช่น ได้รู้ว่าหลวงคนหนึ่งที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อการปฏิวัติ 2475 ในวันที่จะก่อการปฏิวัติ หลวงคนนี้เป็นคนสุดท้ายที่รถของคณะราษฎรจะไปรับ ปรากฏว่าที่นั่งเต็ม แกเลยต้องนั่งตักอาจารย์ปรีดีเพื่อไปยึดอำนาจ (หัวเราะ) เนี่ย มันอยู่ในคำไว้อาลัยที่อาจารย์ปรีดีเขียนถึงหลวงคนนี้”

ส่วนเสน่ห์ข้อสุดท้าย คือเนื้อหาหลักของหนังสือ ซึ่งทายาทของผู้ตายช่วยกันคัดสรรและเรียบเรียงไว้อย่างดี เป็นเสมือนประวัติรวบยอดของบุคคลนั้นๆ ที่นำมาใช้อ้างอิงได้

 

 

แม้จะตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง แต่ลึกๆ ยังแอบข้องใจว่า เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสืองานศพนั้น เอาเข้าจริงแล้วเชื่อถือได้แค่ไหน สามารถนำมาอ้างอิงเชิงวิชาการได้หรือไม่ ด้วยเหตุที่ว่าผู้เขียนนั้นอาจมีอคติ กระทั่งไม่ได้เขียนข้อเท็จจริงทุกอย่าง

“โดยปกติแล้ว ไม่มีใครเขียนถึงความชั่วตัวเองหรอก” ธงชัยตอบพลางหัวเราะ “ประเด็นคือ สิ่งที่เราอยากได้จากหนังสืองานศพ ไม่ใช่เรื่องความดีความชั่ว เราอยากได้ข้อมูล ข้อมูลใดๆ ก็ตามที่จะเอามาใช้สนับสนุนสมมติฐานของเรา เราไม่จำเป็นต้องบอกว่ามันบวกหรือลบ ดีหรือชั่ว

“ถ้าเขาเขียนว่านั่งตักอาจารย์ปรีดี ก็แค่นั้น จบ แต่ถ้าเขาเขียนอะไรที่ไม่มีสาระสำคัญ เช่น ไปทำบุญทำทาน ไปนั่นไปนี่ ก็ช่างเขา เพราะเราไม่ได้เอามาอ้าง ไม่ต้องไปสนใจ ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาคุณทำรีเสิร์ช โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ คุณต้องใช้ข้อมูลที่ลึกที่สุด ไม่ว่าคุณจะเรียนอักษรศาสตร์ ครุศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี คุณต้องรีเสิร์ชจากเอกสารชั้นต้นที่มันลึกที่สุด ก่อนที่คุณจะไปสู่การเสนอหัวข้อหรือ proposal ให้อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งนอกจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว คุณต้องแสวงหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ โดยตรง

“สมมติว่าคุณจะศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ คุณก็ต้องไปดูว่าการตั้งสมาคมพ่อค้าไทย เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ไปค้นตั้งแต่ตรงนั้น ซึ่งคุณก็ต้องไปหาอ่านในหนังสืองานศพ หนังสืองานศพจึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ดี ที่นักวิชาการหรือนิสิตนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์จะต้องใช้ เพราะมันมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแฝงอยู่ ซึ่งสามารถช่วยต่อเติมเรื่องราวที่คนก่อนหน้านี้เคยเขียนไว้ได้ ขณะเดียวกันคุณก็ต้องเข้าใจด้วยว่า กว่าที่คุณจะได้ข้อมูลหรือหลักฐานบางอย่างที่ต้องการ คุณต้องอ่านให้เยอะที่สุด ละเอียดที่สุด คุณถึงจะเจอ” ธงชัยอธิบาย เว้นจังหวะเล็กน้อยแล้วพูดต่อ คล้ายเดาออกว่าเรายังไม่สิ้นข้อสงสัย

“แต่ถ้าเราจะอ่านแบบสนุก หรืออ่านแบบวิพากษ์ เราก็ต้องรู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ไม่มีใครหรอกที่จะเขียนถึงความชั่วของตัวเอง”

 

-3-

นอกจากหนังสือเก่าที่มีอยู่ในสต็อกราวๆ ห้าหมื่นเล่ม สิ่งที่ธงชัยตามเก็บสะสมมาตลอดช่วง 10 ปีหลัง คือรูปเก่าและเอกสารเก่า

จำได้ว่าวันที่นัดหมายกับเขาผ่านทางไลน์ เช้าวันรุ่งขึ้นเขาส่งรูปมาทักทายอย่างที่ญาติผู้ใหญ่ชอบส่งให้ลูกหลาน แต่แทนที่จะใช้รูปดอกไม้หรือทิวทิศน์พร้อมข้อความประเภท ‘สวัสดีวันจันทร์’ เขาเลือกใช้รูปเก่าเก็บที่สแกนเองกับมือ พร้อมข้อความสั้นๆ ที่บอกรายละเอียดในภาพนั้น

“เวลาเราเห็นรูปพวกนี้ เดี๋ยวสวัสดีวันจันทร์ สวัสดีวันพุธ แหม มึงจะสวัสดีกูทำไม มึงว่างงานกันเหรอ (หัวเราะ) เป็นรูปดอกไม้บ้าง รูปวิวบ้าง ผมเลยรู้สึกว่า ถ้างั้นเราทำรูปสวัสดีที่มีประโยชน์หน่อยมั้ย บอกว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ แล้วรูปที่ส่งคือรูปอะไร” เขาเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี “แล้วรูปพวกนี้ ผมส่งให้คุณได้เป็นปี โดยไม่ซ้ำกันสักวัน”

เมื่อถามถึงที่มาที่ไป ธงชัยเล่าว่าเริ่มตระเวนเก็บรูปเก่าได้ราวๆ สิบปีแล้ว ตั้งต้นจากความชอบส่วนตัว ประกอบกับจับพลัดจับผลูได้ไปช่วยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ทำงานที่หอจดหมายเหตุ ทำให้ต้องคอยเก็บเอกสารและรูปเก่าๆ เพื่อเอามาใช้งาน หลังจากอาจารย์ชาญวิทย์วางมือ ธงชัยรับช่วงต่อเป็นนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย ควบคู่กับการเป็นอนุกรรมการชำระภาพเก่า ประจำหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ในห้องทำงานบนชั้นสองที่เราใช้นั่งสนทนา นอกจากชั้นหนังสือที่ตั้งอยู่รายรอบ ยังมีชั้นพลาสติกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างโต๊ะทำงาน แบ่งออกเป็นชั้นย่อยราวๆ สิบชั้น พื้นผิวภายนอกปิดทึบ

“ในนี้นี่รูปทั้งนั้นเลย” เอ่ยแล้วชี้ไปที่ชั้นดังกล่าว หยิบอัลบั้มที่วางอยู่ด้านบนมาพลิกเปิด รอยยิ้มค่อยๆ ปรากฏ สายตาส่งประกายความสุขออกมาชัดเจน

 

 

“คุณดูสิ แค่รูปนี้ก็สวยจะตายห่า… พอร์เทรตระบายสี สภาพแบบนี้หาดูยากแล้ว” ว่าแล้วก็ค่อยๆ เปิดไล่ไปทีละหน้า ส่วนใหญ่เป็นรูปฟิล์มขาว-ดำ ขนาดกะทัดรัด มีทั้งรูปคนและสถานที่คละกันไป แต่ละรูปใส่ขอบเก็บมุมอย่างดี แล้วจึงแปะลงบนอัลบั้มอีกที บางรูปมีโน้ตสั้นๆ เขียนกำกับไว้

“ส่วนใหญ่ผมจะเก็บรูปขาวดำ ช่วงก่อนปี 2520 นี่ชอบมาก แล้วต้องมีเรื่องราว ไม่ใช่ภาพถ่ายคนทั่วๆ ไป พอเราเดินตลาดนัดของเก่า เราเห็นรูปเก่ามาขายอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าที่คลองถม อตก. จตุจักร แล้วราคาก็ไม่สูงนัก ก็เลยซื้อสะสมมาเรื่อย ภายใน 10 ปีนี้ผมน่าจะรูปถึงหลักแสนใบ ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง”

นอกจากเก็บสะสมเพราะความชอบส่วนตัว ช่วงหลายปีที่ผ่านมาธงชัยยังทำโปรเจ็กต์ ‘สมุดภาพประจำจังหวัด’ ร่วมกับอาจารย์เอนก นาวิกมูล อีกหนึ่งนักสะสมตัวพ่อ ตระเวนลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อตามเก็บสำเนารูปเก่าจากคนในพื้นที่ แล้วนำมารวบรวมเป็นสมุดภาพของจังหวัดนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ยังรับซื้อรูปเก่าจาก ‘พ่อค้า’ ที่คุ้นเคยอยู่เสมอๆ

“อย่างที่บอกว่าเราเก็บสะสมมาสิบปีแล้ว รู้จักพ่อค้าแล้ว พ่อค้าก็รู้จักเรา รู้แนวเรา ถึงเวลาก็ถามแล้ว พี่อ้วน มีแบบนี้ เอามั้ย ปีที่แล้วหมดเงินไปเท่าไหร่รู้มั้ย ผมซื้อรูปอย่างเดียว 365 วัน เป็นเงินสองแสนสอง”

 

 

-4-

 

หลังจากดูรูปจนอิ่มใจ เราชวนธงชัยคุยเรื่องประวัติศาสตร์

ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งผ่านไปหมาดๆ และประเทศคล้ายจะกลับเข้าสู่เส้นทางของระบอบประชาธิปไตย น่าสนใจว่าในฐานะคนศึกษาประวัติศาสตร์ เขามองเห็นพัฒนาการประชาธิปไตยแบบไทยๆ อย่างไร

“ถ้ามองย้อนไปในช่วง 2475 มุมหนึ่งก็มองได้ว่า อาจเร็วไปรึเปล่าที่ชาวสยามยังไม่พร้อมกับการปกครองแบบตัวแทน ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ทำ ก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะเกิด ไม่รู้เมื่อไหร่จะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระราชทานสิทธิอำนาจให้กับประชาชน”

“แต่เท่าที่สังเกต กลุ่มคณะที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเนี่ย จบไม่ดีสักคน (หัวเราะ) สี่ทหารเสือนี่ดูยังไงก็จบไม่ดี แล้วคนที่อยู่ในอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหารที่ลุกขึ้นมายึดอำนาจ หรือคนที่เข้ามาสู่การเมืองแล้วมีความคิดฉ้อฉล ส่วนใหญ่จะจบไม่ดี…”

“โดยรวม เราเห็นว่ามีพัฒนาการที่ดีมาเรื่อยๆ นะ กระทั่งระบบการศึกษา ก็ไม่ได้เหมือน ร.5. ร.6 ที่พยายามเชิดชูวีรบุรุษ เพื่อต้องการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น สร้างระบบชาตินิยม หรือยุคจอมพล ป. ที่มีหลวงวิจิตรวาทการเป็นคนชี้นำความเป็นชาตินิยม สร้างแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ที่บอกว่าคนไทยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ มีประวัติสืบทอดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยังอยู่ที่เทือกเขาอัลไต” จบประโยคนี้เขายิ้ม เว้นจังหวะเล็กน้อย

“นั่นคือช่วงเวลาที่เขาพยายามสร้างความเป็นชาติให้เข้มแข็ง เนื่องจากกำลังเผชิญภาวะสงครามครั้งที่สอง รวมถึงการเข้ามาของจักรวรรดินิยม อเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ กำลังครอบงำ พอเข้ามาสู่ยุคสฤษดิ์ ถนอม มันก็คลี่คลายไปเรื่อย ระบบการศึกษาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถสร้างคนยุค 14 ตุลาฯ ได้ ปัจจุบันก็ดีขึ้น และอนาคตคงดีขึ้นเรื่อยๆ แต่มันจะช้า”

 

 

พอได้ฟังเขาอธิบาย ก็เกิดความสงสัยต่อไปว่า แล้วประชาชนทั่วไปในเวลานั้น เขามีความตื่นตัวกันแค่ไหนอย่างไร รู้จักคำว่าประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ กระทั่งรัฐธรรมนูญกันมากน้อยแค่ไหน

“ไม่มีเลย ไม่เห็นสักอย่างเลย อ่านเท่าไหร่ก็ไม่เคยเห็นว่าราษฎร สามัญชน มีความรู้สึกแฮปปี้ดีใจกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเฉพาะตามหัวเมืองยิ่งแล้วใหญ่ เขาไม่รู้เรื่อง เขาก็ทำมาหากินตามปกติ จนกระทั่งมีข่าวลือไปว่า พระยาพหลฯ มีลูกชื่อรัฐธรรมนูญ (หัวเราะ) ลือกันไปทั่วหัวเมือง มันเลยก่อให้เกิดการจำลองรัฐธรรมนูญ เอาไปให้หัวเมืองดูว่า รัฐธรรมนูญมันไม่ใช่ลูกพระยาพหลฯ นะเว้ย มันคือกฎหมาย เป็นระบบการปกครองที่ให้สิทธิให้เสียงประชาชน

“ในสมุดภาพพระยาพหลฯ ที่ผมทำ จะมีรูปที่แกไปปล่อยขบวนอันเชิญรัฐธรรมนูญจำลอง แบ่งเป็นสายเหนือ อีสาน ใต้ จำลองเป็นพานรัฐธรรมนูญเลย น่าจะช่วงสิงหาคม 2477 ปล่อยขบวนจากหัวลำโพง ไม่รู้กี่ฉบับ แต่ไม่น่าเกินสิบ เพราะเขียนด้วยลายมือทั้งหมด แล้วก็ไปแวะฉลองตามหัวเมืองที่รถไฟผ่าน ตั้งซุ้มฉลองอยู่ริมทางรถไฟ”

แล้วพอสังคมเคลื่อนมาถึงทุกวันนี้ คิดว่าการปฏิวัติครั้งนั้นมันเสียของไหม เราถามต่อ

“ไม่เสียสิ เสียได้ไง นี่ของดี… คุณอย่าลืมนะ ที่กลุ่ม young blood เมื่อครั้งกระนั้นลุกขึ้นมาปฏิวัติ 2475 มันก็คงมีสถานการณ์ทางสังคมบางอย่างที่ทำให้เขาอึดอัด อ.ธงทอง จันทรางศุ สันนิษฐานว่าตอนนั้น พวกเจ้านี่มีเยอะ ซึ่งก็น่าจะมีคนที่เกเรหรือทำตัวไม่เหมาะสมอยู่บ้าง ก็เลยทำให้พวกคุณหลวงทั้งหลายรู้สึกว่าขวางตา ก็เลยยึดอำนาจซะเลย ยุคนั้นพวกหม่อมเจ้านี่มีเยอะนะ ช่วง 2460-2470 แล้วคนเหล่านี้กำลังจะเจริญเติบโต เข้าสู่ระบบราชการ แล้วก็แซงหน้าพวกขุนนางทั้งหลาย พูดง่ายๆ คือไม่เป็นไปตามกระบวนการ”

“เคยมีคนถามผมว่า ถ้าจะหาหนังสือสักเล่ม ขอแค่เล่มเดียว เอามาอ่านเพื่อประมวลเหตุการณ์ 2475 จะแนะนำเล่มไหน เราตอบไปว่า คงไม่มีหรอก ต้องอ่านสะสมหลายๆ เล่ม แต่ถ้าคุณอยากรู้เรื่องแบบรวบยอด คุณต้องไปฟังเสวนา มันไม่มีหนังสือเล่มไหนที่สรุปรวบยอดและทำให้คุณเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้” เว้นจังหวะนิดหนึ่ง แล้วพูดต่อ “จริงๆ อาจจะมี แต่ไม่รู้ว่าเด็กสมัยนี้จะอ่านกันไหวมั้ย คือหนังสือ ‘การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475’ ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์”

เราถามธงชัยต่อว่า ในฐานะที่ศึกษาประวัติศาสตร์มาเยอะ เขามีวิธีการมองประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร ใช้แว่นอะไรในการมอง

“เวลาคนอยากเข้าใจประวัติศาสตร์ ถ้าเขาไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เขาจะมองเป็นช่วงเวลา แยกเป็นช่วงๆ ซึ่งไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยและมีความเป็นกลางในการมองประวัติศาสตร์ได้ ฉะนั้นเวลามอง คุณต้องมองให้เป็นพีเรียดยาวไปเลย ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วแต่ละยุค แต่ละเหตุการณ์ แต่ละบริบททางการเมือง ต้องไม่ใช้แว่นตาปัจจุบันมอง เพราะจะมีอคติ ต้องมองด้วยแว่นตาของคนยุคนั้น ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ ทำไมคนนี้ถึงทำแบบนี้

“ทำไมจอมพล ป. ถึงเปลี่ยนอักษรไทย ก็เพราะญี่ปุ่นกำลังจะบังคับให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่น จอมพล ป. เลยต้องมีข้ออ้างว่า กำลังปรับการเรียนการสอนภาษาไทยใหม่ ยังไม่พร้อมที่จะเรียนภาษาญี่ปุ่น หรือทำไมรัชกาลที่ 5 ต้องยอมให้ฝรั่งเศสยึดพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ถ้าเราสู้ ถ้ามันยังเป็นของเรา เราก็คงไปนครวัดได้แบบสบายๆ ไม่ต้องใช้พาสปอร์ต ตอนนี้เราอาจคิดแบบนี้ได้ แต่ถ้าเป็นยุคนั้น ถ้าคุณสู้ คุณตายอย่างเดียว อาจถึงขั้นหมดประเทศ

“ปัญหาอย่างนึงคือ คนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงตั้งแต่รุ่นผม ไปจนถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ มันไม่เคยสัมผัสถึงความขมขื่นของการตกเป็นอาณานิคม ไม่เหมือนรุ่นปู่เราที่เขามีประสบการณ์ตรง ทำไมเวียดนาม มาเล ถึงต้องลุกขึ้นมาสู้กับจักรวรรดินิยม ก็เพราะมันทุกข์ ฝรั่งเศสนี่ปกครองอาณานิคมแบบเหี้ยมมาก มันอยู่กันไม่ไหว แต่คนรุ่นใหม่อาจมองว่า โถ รู้งี้กูยอมตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส กูจะได้พูดฝรั่งเศส โธ่เอ๊ย… คิดสนุกๆ ได้ แต่ถ้าของจริงน่ะคุณตาย

“เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย คุณเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะต้องศึกษาอย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ ร.4 ร.5 ไล่มาจนถึงปัจจุบัน ว่ามันคลี่คลายมายังไง โดยใช้แว่นตาของยุคนั้นๆ ในการอ่าน”

 

-5-

 

ฝอยประวัติศาสตร์กันพอหอมปากหอมคอ เขาชวนเราขึ้นไปชมห้องสมุดบนชั้นสาม ผมกับน้องช่างภาพรีบเดินตามอย่างว่าง่าย ความรู้สึกคล้ายกำลังได้เปิดกรุสมบัติ

 

 

“ช่วงแรกๆ ผมให้ยืมได้ มีครูบาอาจารย์ นักศึกษา กระทั่งนักเขียนหลายคนที่มาหยิบยืมของผมไป แต่ทีนี้บางคนก็ไม่คืน หรือคืนไม่ครบ พอเจอบ่อยเข้า รู้สึกว่าไม่แฟร์แล้วว่ะ สุดท้ายเปลี่ยนกติกาใหม่ ให้เข้ามาค้นได้ นั่งอยู่ทั้งวันก็ได้ ถ่ายรูปกลับไปได้ แต่ห้ามยืม” เขาเล่ากติกาให้ฟังคร่าวๆ และอธิบายต่อว่าที่นี่เปิดทุกวัน แต่ไม่ใช่ว่าใครจะเดินเข้ามาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าสนใจ หรือต้องการเข้ามาสืบค้นข้อมูล มีข้อแม้เพียงอย่างเดียวว่า “ต้องคุยกันก่อน”

บนพื้นที่ราวๆ 30 ตารางเมตร นับว่าไม่กว้างขวางอย่างที่คิดไว้ พื้นที่ห้องสมุดแบ่งเป็นสองห้อง ห้องใหญ่อยู่ตรงกลาง มีชั้นหนังสือวางเรียงเป็นแถวจรดผนังทั้งสองด้าน แบ่งหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ อีกห้องหนึ่งเป็นห้องเล็กๆ คล้ายห้องเก็บของ ถูกแยกไว้เฉพาะหนังสือประเภทเดียวคือ ‘ประวัติบุคคล’

ธงชัยเล่าว่าเขาแบ่งหนังสืออกเป็น 15 หมวด คือ ประวัติบุคคล / ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร โบราณคดี / ศิลปวัฒนธรรม / เรื่องไทยในเอกสารต่างประเทศ / นวนิยาย / วรรณกรรมฝ่ายซ้าย / การเมืองการปกครอง / กฎหมาย / สถานที่ / เดินทางท่องเที่ยว / รัชกาลที่ 4 / รัชกาลที่ 5 / รัชกาลที่ 6 / รัชกาลที่ 9 / อ้างอิง

สำหรับหมวดประวัติบุคคล ยังแยกเป็นหมวดย่อยไปอีก ตั้งแต่ พระบรมวงศานุวงศ์ / หม่อมเจ้า / ขุน หลวง พระ พระยา / ทหาร / ตำรวจ / พลเรือน / นักเขียน เจ้าของโรงพิมพ์ / ศิลปิน / พ่อค้า นักธุรกิจ

“ในจำนวนทั้งหมดนี้ หนังสืองานศพจะแยกกระจายเข้าไปตามหมวด บางทีเนื้อหาหลักมันเป็นกฎหมาย เช่น หนังสือที่พิมพ์เนื่องในงานศพของหลวงอรรถสิทธิ์สิทธิสุนทร สมมติถ้าเรามีสองเล่ม เราก็จะแยกเข้าหมวดประวัติบุคคลเล่มนึง อีกเล่มก็ใส่ในหมวดกฎหมาย”

 

 

สิ่งที่น่าทึ่งคือก่อนคัดแยกเข้าชั้น เขาจะอ่านก่อนทุกเล่ม หากเล่มไหนมีข้อมูลน่าสนใจ ก็จะเขียนโน้ตแล้วคั่นด้วยโพสต์อิทไว้ แล้วจึงค่อยเก็บเข้าชั้น

“ในหนังสือจะมีโพสต์อิทเต็มไปหมด คั่นไว้ แล้วขีดเส้นใต้ แล้วก็แยกหมวด ฉะนั้นเวลาจะหยิบใช้ เราจะรู้ว่ามันอยู่ตรงไหน ส่วนที่คุณเห็นว่ากองๆ อยู่เนี่ย คือยังไม่ได้อ่าน” ว่าแล้วก็เดินไปที่มุมห้อง หยิบหนังสือที่มี ‘แผนที่การเคลื่อนที่ของไทยโบราณจนถึงปัจจุบัน’ ของหลวงวิจิตรวาทการ ตีพิมพ์เมื่อปี 2479 อันเป็นต้นตอของความเชื่อผิดๆ ว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตมาโชว์ให้ดู

“นี่ เห็นไหม เขียนไว้ชัดเลย เทือกเขาอัลไต แหล่งไทย”  พูดพลางหัวเราะ “เนี่ย คนรุ่นผมเรียนมาแบบนี้เลย แต่รุ่นพวกคุณคงไม่มีแล้วมั้ง”

“ทันครับ ผมก็เรียนมาแบบนี้แหละ” น้องช่างภาพแย้งทันควัน ทำเอาทุกคนหัวเราะลั่น

 

 

จากประสบการณ์ที่เคยสำรวจตลาดหนังสือเก่ามาบ้าง เมื่อได้เดินไล่ดูชั้นหนังสือคร่าวๆ นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับหนังสือหลายเล่มที่เคยเห็นแต่ในรูปแล้ว ยังอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหนังสือเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของพ่อค้า คงทำรายได้มากมายมหาศาล เราถามธงชัยไปตรงๆ ว่าเคยมีหนังสือที่โละขายไปบ้างไหม

“แทบไม่มี ผมจะมีหลักในการเก็บหนังสืออยู่ไม่กี่ข้อ หนึ่งคือเป็นหนังสือเก่าหรือไม่ก็หนังสืองานศพ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเก็บหมด สองคือมีซ้ำได้ไม่เกินปกละสองเล่ม ถ้าเกินกว่านั้นต้องขาย เพราะไม่มีที่เก็บ”

แล้วเคยคิดจะทำกำไรกับหนังสือเหล่านี้บ้างไหม เราจี้ต่อ

“ไม่มี ไม่ต้องถามเลย…” เขาสวนกลับทันที “สำหรับผม มูลค่าจะเพิ่มไม่เพิ่ม เรื่องของมัน หลักสำคัญคือหนังสือเล่มนั้นต้องมีคุณค่า เหมาะที่จะเก็บรักษาเป็นสมบัติส่วนตัว บางเล่มบางปก พลิกๆ ดูแล้วไม่มีราคาเท่าไหร่หรอก แต่มันมีข้อมูลบางอย่างที่สำคัญ แบบนี้ควรเก็บ”

ในยุคที่เราสามารถทำทุกอย่างได้ผ่านมือถือ หนังสืออาจเป็นของที่ไม่จำเป็น กระทั่งไม่ใช่เครื่องมือหลักในการค้นหาความรู้อีกต่อไป แต่อีกแง่หนึ่ง ก็ยากที่จะปฏิเสธว่ามันยังคงมีความสำคัญในแง่ของการบันทึกประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ไว้

ทว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า อาจเป็นคนใครสักคนอย่างธงชัยที่รู้คุณค่าและทำหน้าที่เก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้อีกที

 

 

ก่อนจาก ธงชัยกวักมือเรียกให้ไปดูของบางอย่างในห้องทำงาน เราสงสัยว่าเขาจะโชว์ของเด็ดๆ อะไรให้ดูอีก แต่ผิดคาด เพราะสิ่งที่เขายกออกมา คือลำโพงแบบบลูทูธที่มีพาวเวอร์แบงค์อยู่ในตัว อุปกรณ์แสนสามัญในสายตาคนรุ่นใหม่

“ช่วยผมดูหน่อยว่าไอ้นี่มันใช้ยังไง”

ผมกับน้องช่างภาพพยายามช่วยกันอธิบาย เขาพยักหนักทำนองว่าเข้าใจ พลิกไปพลิกมาอยู่สักพักก็เอากลับไปวางไว้ที่โต๊ะ.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save