fbpx
“สิทธิมนุษยชนต้องเป็นกระแสหลัก” ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กับบทบาท ‘แอมเนสตี้’

“สิทธิมนุษยชนต้องเป็นกระแสหลัก” ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กับบทบาท ‘แอมเนสตี้’

ชลิตา จั่นประดับ และ วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ คล้ายจะเป็นพัฒนาการที่ดี แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น การจำกัดสิทธิการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุม การทรมานที่ยังคงไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ หรือกรณีการอุ้มหายผู้เห็นต่างจากภาครัฐ

ปัญหาหนึ่งที่ผู้ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยต้องเผชิญคือข้ออ้างของผู้สนับสนุนการละเมิดสิทธิฯ ว่าสิทธิมนุษยชนเป็น ‘ของนอก’ ‘เรื่องไกลตัว’ หรือขัดแย้งกับ ‘คุณค่าแบบไทย’ วิธีคิดนี้ถูกอ้างถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยจนมาปะทะกับกระแสแนวคิดของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและยอมรับคุณค่าสากลมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ปมความขัดแย้งกำลังขมึงเกลียวแน่นขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่เรียกหาสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกับคนอีกกลุ่มที่ต้องการรักษาคุณค่าแบบเก่า

หนึ่งในองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในไทยมายาวนาน คือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาเกือบสามทศวรรษ และยังคงเจอคำถามที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ต่อการทำงานปกป้องสิทธิฯ และการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในภาวะที่สังคมกลับมาถกเถียงเรื่องความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ และความเห็นต่างทางการเมืองอย่างกว้างขวางและรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

101 พูดคุยกับ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความสนใจด้านกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และกฎหมายกับเทคโนโลยี ถึงการทำงานของแอมเนสตี้ในสังคมไทยและความตั้งใจของฐิติรัตน์ที่ต้องการผลักดันให้สิทธิมนุษยชนกลายเป็นกระแสหลัก (mainstreaming human rights) จนถึงการทำให้การเรียนรู้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะทำให้ความเข้าใจเหล่านี้อยู่ในชีวิตคนไทยอย่างกลมกลืน

 

 

ทำไมจึงสนใจมาทำงานร่วมกับแอมเนสตี้

เราทำงานเป็นนักวิชาการสายสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว และสนใจบทบาทขององค์กรที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor) เป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์การพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศจะเห็นว่าองค์กรพัฒนาเอกชนค่อนข้างมีบทบาทมากในการผลักดันประเด็นต่างๆ ให้สาธารณะรับรู้ หรือมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างให้ภาครัฐรับทราบ ไปจนถึงร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ของสังคมให้เกิดขึ้น จึงอยากเข้ามาดูการทำงานและศักยภาพในการผลักดันประเด็นขององค์กร เพราะมองเห็นจุดแข็งของแอมเนสตี้

1. แอมเนสตี้เป็นองค์กรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในเชิงระหว่างประเทศ มีเครือข่ายที่สามารถแบ่งปันความรู้และการทำงานได้ เพราะการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนหลายอย่างต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

2. การดำเนินงานที่มีความเป็นประชาธิปไตย ด้วยโครงสร้างขององค์กรที่มีพื้นฐานจากสมาชิก (member-based) สมาชิกจะเป็นผู้ช่วยผลักดันวาระต่างๆ ของแอมเนสตี้ ทุกเสียงของสมาชิกจะถูกรับฟัง ทิศทางของแอมเนสตี้ทุกวันนี้ถูกกำหนดโดยกลุ่มคนมาที่มารวมตัวกัน มีลักษณะเป็นประชาสังคมที่สะท้อนเสียงของคนที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

 

คิดว่าจะเข้ามาช่วยผลักดันประเด็นที่แอมเนสตี้ทำอยู่แล้วอย่างไร และจะช่วยขยายประเด็นอะไรจากประสบการณ์การทำงานของตนเอง

การเป็นประธานคณะกรรมการจะสนับสนุนการทำงานของสำนักงานโดยไม่ได้เข้าไปทำแทนหรือแทรกแซงงานที่ทำกันอยู่แล้ว แต่เป็นการให้คำปรึกษาเพื่อให้สามารถทำงานสอดคล้องกับหลักการในธรรมนูญของแอมเนสตี้ได้ ซึ่งเป็นธรรมนูญที่โหวตกันในที่ประชุมใหญ่ของแอมเนสตี้ (global assembly) และจะมีข้อบังคับของประเทศไทยเองต่างหากด้วย

สิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนสมัครรับเลือกตั้งประธานฯ คือการทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นกระแสหลัก (mainstreaming human rights) เพราะสิทธิมนุษยชนยังถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว แม้ถูกพูดถึงมากขึ้นแต่ยังไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน มันควรจะกลายเป็น norm แบบเดียวกับเวลาเราพูดถึงคุณธรรมพื้นฐานเช่นความซื่อสัตย์ หรือหลักการรู้ผิดชอบชั่วดีต่างๆ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าอยากให้มองสิทธิมนุษยชนเป็นศาสนา แต่อยากให้คนยอมรับสิทธิมนุษยชนเพราะมันเป็นหลักการที่กลั่นออกมาจากคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของเราเองจริงๆ

อีกเรื่องคือการทำงานเชื่อมโยงกับต่างประเทศและองค์กรอื่นๆ แม้สำนักงานจะมุ่งเน้นทำงานรณรงค์ ผลักดันเชิงนโยบายและสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ แต่แอมเนสตี้มีการประชุมร่วมกับกับประเทศอื่น เพื่อวางวาระและถกเถียงหาประเด็นเร่งด่วนที่องค์กรอยากผลักดัน เนื่องจากเราอาจมีประเด็นที่คล้ายกับประเทศอื่นด้วย โดยประธานฯ และตัวแทนขององค์กรจะมีบทบาทในการประชุมนี้ในฐานะตัวแทนจากสมาชิกในประเทศไทย เราสามารถนำความเชี่ยวชาญในฐานะนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและด้านระหว่างประเทศมาช่วยให้คำปรึกษาในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนได้

ส่วนความเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆ ด้วยประสบการณ์ทำงานกับภาครัฐ ทำให้รู้ว่าภาครัฐมีศักยภาพมากในการช่วยผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน อยากเห็นการทำงานระหว่างองค์การพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ จึงพยายามหาช่องทางทำงานร่วมกันอยู่

สุดท้ายคือเรื่องการเชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนเข้ากับการศึกษา ซึ่งสามารถทำได้เลย เพราะตัวเองสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ในมหาวิทยาลัยก็มีหลายวิชาที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยตรงและคาบเกี่ยว หากสามารถเชื่อมโยงได้จะสามารถขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนไปได้

 

มีความท้าทายใดที่ทำให้สิทธิมนุษยชนยังไม่เป็นกระแสหลักในไทย

ประการแรก คือประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย สังคมไทยไม่ได้ส่งเสริมแนวคิดนี้ ทำให้ไม่เกิดความคุ้นชิน แม้เรามีแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นอิสระ ความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งดูไม่ได้ขัดแย้งกับแนวคิดสิทธิมนุษยชน แต่ในความเชื่อมโยงระหว่างคุณค่าของวัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิมกับคุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีฐานแนวคิดแบบปัจเจกชน (individualism) ยังไม่มี จึงไม่เกิดความเข้าใจสิทธิในฐานะปัจเจก

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องตะวันตก ไม่เข้ากับวิถีชีวิตเราหรือมันอาจมาชนกับความคิดบางเรื่องในสังคมไทย เช่น เรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างคนทุกคนอาจฟังดูขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการเคารพความเป็นอาวุโส แต่ความจริงแล้วมันสามารถดำเนินไปด้วยกันได้ การที่ผู้ใหญ่ได้รับความเคารพมากกว่าก็เพราะผู้ใหญ่มักมีความรับผิดชอบสูงกว่าหรือมีประสบการณ์มากกว่า ถือเป็นการปฏิบัติต่อคนที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมได้ หากบริบทนั้นต้องการประสบการณ์ เราต้องไม่ปล่อยให้คน abuse แนวคิดเรื่องการเคารพความอาวุโสนี้หรือใช้มันเป็นเพียงข้ออ้างในการทำตามอำเภอใจ ทำให้ผู้ใหญ่หลุดพ้นความรับผิดรับชอบ หรือปิดกั้นความเห็นของคนรุ่นเด็กกว่า แนวคิดนี้ควรช่วยส่งเสริมให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ของสังคม ไม่ใช่ทำให้เกิดอภิสิทธิ์หรือขัดขวางการเจริญเติบโตของสิ่งใหม่ๆ

สิ่งนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในประเทศไทยว่าแนวคิดตะวันตกที่ส่งเสริมให้ปัจเจกแต่ละคนเชิดชูปัจเจกนิยมแบบนี้ ทำให้คนแยกตัวออกมาจากสังคม หรือทำให้สังคมไทยหลงลืมคุณค่าดั้งเดิมของเราหรือไม่ ซึ่งมันกำลังจะพัฒนาไปสู่จุดที่จะเกิดความเข้าใจว่าแนวคิดทั้งสองจะประสานกันอย่างไร ส่วนตัวไม่คิดว่านี่เป็นอุปสรรคแต่กลับมองว่าเป็นพัฒนาการของสังคม เป็นขั้นตอนการจะสร้างความเข้าใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนในสังคมได้ ซึ่งแม้จะไม่ง่ายและใช้เวลา แต่ยั่งยืนกว่าการแค่มองว่าเราต้องทำตามเรื่องที่เขียนในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนโดยไม่เข้าใจเนื้อหาและความหมายของมันอย่างจริงจังเลย

ประการที่สอง ภาษาที่ใช้ การพูดถึงสิทธิมนุษยชนยังเป็นภาษาเชิงวิชาการและหลายอย่างเป็นคำที่แปลมา ทำให้รู้สึกไกลตัวและเข้าใจยาก หากปรับภาษาในการสื่อสารอาจจะช่วยสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น

 

มีคุณค่าแบบใดของไทยบ้างที่ส่งเสริมหรือไปด้วยกันได้กับสิทธิมนุษยชน

ประการแรก การยอมรับความแตกต่าง แม้ในยุคนี้เหมือนว่าคนเห็นต่างจะอยู่ยากจากบริบททางการเมืองที่ค่อนข้างแบ่งขั้วชัดในสังคม แต่เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์สังคมไทยจะพบว่ามีความหลากหลายของชาติพันธุ์มาแต่อดีต แสดงให้เห็นว่าเราไม่แบ่งแยกและยอมรับความแตกต่าง พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมารัฐไทยทำตัวดีกับชนชาติอื่นที่เข้ามาเสมอ แต่พอจะสร้างความกลมกลืนให้เกิดได้

ในสังคมระดับชุมชน เวลาคนไทยเจอคนแปลกหน้าจะไม่มีลักษณะการต่อต้านหรือแบ่งแยกทันที ความใจกว้างในสังคมไทยนี้นับเป็นคุณค่าหนึ่งซึ่งไปกันได้กับสิทธิมนุษยชนที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย แต่อาจจะต้องนำมาปรับกันต่อว่าการเคารพนั้น ต้องเคารพในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันกับเรา

ประการที่สอง ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา คุณค่านี้ผูกโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจกัน การทำความเข้าใจว่าคนที่อยู่ในสภาวะไม่เหมือนเราเขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์บางอย่าง แล้วคิดได้ว่าถ้าเราเป็นเขาเราไม่อยากเจอสภาพนั้น เช่น เวลาพูดถึงสิทธิผู้ลี้ภัย หากมองจากมุมที่ว่าเรามีบ้านอยู่ มีอาหารครบทุกมื้อ มีเสื้อผ้าใส่ มีชีวิตอย่างอบอุ่นปลอดภัย เราจะเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมผู้ลี้ภัยต้องเรียกร้องสิทธิ แต่ถ้าเราจินตนาการได้ว่าวันใดวันหนึ่งเราอาจได้ไปอยู่จุดเดียวกันกับเขา เราจะพอนึกออกว่าการคุ้มครองสิทธิผู้ลี้ภัยก็เป็นการคุ้มครองสิทธิของเรานี่แหละ เพราะวันหนึ่งเราอาจต้องไปอยู่ในจุดนั้นเหมือนกัน

การจินตนาการให้ตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ของผู้อื่น แม้ท้ายที่สุดแล้วเราไม่มีทางเข้าใจเขาได้ทั้งหมด แต่จะทำให้เกิดความเคารพสิทธิมนุษยชนหรือผลักดันให้เกิดความคุ้มครองขึ้นได้

 

 

โจทย์หลักในตอนนี้ของแอมเนสตี้คืออะไร ถ้ากระแสโลกเปลี่ยน โจทย์และเป้าหมายของแอมเนสตี้จะเปลี่ยนไปด้วยไหม

โจทย์หลักมีสามเรื่องซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของระดับนานาชาติด้วย ได้แก่ 1. เสรีภาพในการแสดงออก 2. เสรีภาพในการชุมนุม และ 3. การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยทั้งสามเรื่องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์สำหรับเสรีภาพการแสดงออก พ.ร.บ.การชุมนุมสำหรับเสรีภาพในการชุมนุมและตอนนี้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วย สุดท้าย ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

งานของแอมเนสตี้คือผลักดันให้ร่างกฎหมายออกมาในเชิงการสนับสนุนนโยบาย (policy advocacy) หรือพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเดิมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมีงานรณรงค์ที่นำไปสู่การสนับสนุนนโยบาย การแก้ไขกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง

การตั้งเป้าหมายของแอมเนสตี้จะเลือกกันในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ แต่ละประเทศจะพิจารณาว่าจะมุ่งเน้นเรื่องไหนโดยอิงตามสภาพบ้านเมืองหรือศักยภาพของคนทำงาน โดยเป้าหมายสามเรื่องนี้ผ่านการตัดสินใจของคณะกรรมการ สำนักงาน และสมาชิกแล้วว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยและสะท้อนสถานการณ์สิทธิในสังคมไทยได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคนก็ตื่นตัวในสามประเด็นนี้มาก แสดงว่าโจทย์ที่ตั้งไว้นั้นสอดคล้องกับทิศทางของสังคม

ส่วนหากกระแสสังคมเปลี่ยนก็ต้องทำความเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนตั้งต้นมาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (universal declaration of human rights) ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดปัญหาอะไรหรือโลกเปลี่ยนไปแค่ไหน สิทธิขั้นพื้นฐานก็ยังคงเดิม ปัญหาสิทธิมนุษยชนจึงไม่ใช่แค่เทรนด์แต่มันมีราก เพียงแต่อาจมีบางเรื่องเด่นชัดขึ้นมาในบางช่วงเวลา บางสถานที่ แต่ละประเทศจึงมีจุดมุ่งเน้นแตกต่างกันตามบริบทสังคม

หากสังคมต้องการเรียกร้องให้เรามุ่งเน้นในเรื่องใดมาก ก็ต้องพิจารณาว่ายังอยู่ในเป้าหมายของแอมเนสตี้หรือไม่ แต่การวางแผนการทำงานต้องมองให้รอบด้านจึงไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนกระแสทันที ในระยะยาวก็มีการปรับเป้าหมายกันอยู่แล้วที่การประชุมสมัชชาใหญ่ สำหรับประเทศไทย กรรมการอาจช่วยกันดูว่าประเด็นควรเปลี่ยนไปอย่างไรแล้วเสนอให้สมาชิกได้รับทราบและมีโอกาสแสดงความเห็น

 

ที่ผ่านมาแอมเนสตี้จะโดนโจมตีเมื่อออกไปเคลื่อนไหวบางประเด็น เช่น เรื่องโทษประหาร สิทธิทางการเมือง ทางองค์กรเตรียมรับมืออย่างไร กระแสโต้กลับมีผลต่อการให้น้ำหนักในการทำงานแต่ละประเด็นไหม

แอมเนสตี้ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยยึดหลักการในระดับสากล จึงต้องยืนหยัดตามนั้นไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีก็ตาม

มุมมองส่วนตัวคิดว่าการถกเถียงในสังคมตอนนี้แต่ละฝ่ายแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ความเห็นต่างหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ความเป็นขวา-ซ้าย ไม่ได้แยกกันชัดขนาดนั้น คนเราอาจเห็นตรงกันในเรื่องหนึ่งแต่ไม่ใช่กับอีกเรื่อง จึงไม่แปลกถ้าคนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับบางเรื่องขององค์กร แต่ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การตีตราว่าองค์กรนั้นต้องมีลักษณะอย่างไร องค์กรเองก็ต้องพยายามสื่อสารไปให้ถึงคน โดยเฉพาะคนที่อาจจะมีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง การถูกโต้กลับมาในทางลบสะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารของแคมเปญอาจยังมีปัญหา จึงต้องปรับการสื่อสารให้คนเข้าใจมากกว่านี้ ถ้าบางคนไม่เห็นด้วยก็ต้องยอมรับว่าเราเห็นต่างกันได้ในบางเรื่องที่มีจุดยืนต่างกัน ส่วนเรื่องที่มีจุดยืนร่วมกันก็สามารถผลักดันให้ประเด็นไปต่อได้

สิ่งที่แอมเนสตี้จะต้องปรับเวลาเกิดกระแสเหล่านี้คือวิธีการสื่อสารและวิธีการทำงานให้คนเห็นภาพสิทธิมนุษยชนและมองเป็นเรื่องง่าย แอมเนสตี้ต้องการเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ (inspirer) ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจำเป็นต้องมีภาพลักษณ์เชิงบวกเพื่อสื่อสารกับคนในวงกว้าง ไม่จำกัดแค่กับคนที่เห็นด้วยกับเรา องค์กรจึงให้ความสนใจในเรื่องการทำงานในฐานะองค์กรที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นำมาสู่ชีวิตที่ดี มีเสรีภาพมากขึ้น คนสามารถใช้เสรีภาพในด้านต่างๆ มากขึ้นและอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดีขึ้น

 

 

ในกระแสสิทธิมนุษยชนระดับโลก ปฏิบัติการข่าวสาร (IO) กลายเป็นปัญหาแค่ไหน และมีวิธีรับมืออย่างไร

เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกสนใจแต่ลักษณะการใช้จะต่างกัน information operation (IO) เป็นศัพท์ยุคสงครามเย็น คือปฏิบัติการทางทหารที่สร้างข้อมูลเพื่อสร้างกับดักให้ฝ่ายตรงข้ามไขว้เขว ความหมายดั้งเดิมรัฐใช้ปฏิบัติการนี้กับประชาชนของประเทศที่เป็นศัตรู พอมาใช้ในบริบทนี้จึงค่อนข้างประหลาด แต่พอเข้าใจได้เมื่อพิจารณาลักษณะของการปฏิบัติการข้อมูลซึ่งคล้ายกัน

IO ไม่ต่างอะไรจากการสื่อสารการตลาดของบริษัทที่บางทีอาจก้าวร้าวรุนแรงมาก มีการยั่วยุปลุกปั่น ให้ข้อมูลผิดๆ กับผู้บริโภค ใส่ข้อมูลให้ผู้บริโภคโดยการแฝงตัวเข้าไป สิ่งที่ต้องทำคือพยายามผลักดันข้อมูลที่ถูกต้องให้ผู้บริโภค แต่ต่างกันตรงที่กรณีการสื่อสารการตลาดนั้นเป็นการใช้เงินทุนส่วนตัวของเขาทำ

ในต่างประเทศ ปัญหามักเกิดในบริบทการเลือกตั้ง เช่น มีกรณีการทำแคมเปญโจมตีผู้สมัครของอีกพรรคหนึ่งในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงโดยตรงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการกระทำเช่นนี้ขัดกับแนวคิดว่าคนควรต้องใช้สิทธิในการเลือกตั้งอย่างอิสระของประชาชนผู้มีสิทธิ การบิดเบือนข่าวสารจะทำให้คนเชื่อในข้อมูลที่ผิดและอาจนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม จึงมีการเคลื่อนไหวทำให้แฟลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในช่วงเลือกตั้งโปร่งใสขึ้น แพลตฟอร์มในฐานะคนกลางจึงต้องมีการทำงานเพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อมูล เช่น การแจ้งที่มาของเงินที่ใช้โปรโมตโพสต์นั้นๆ

ส่วนรัฐควรมีบทบาทในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล จัดการให้การแสดงความคิดเห็นเสรีและยุติธรรมที่สุด ทำให้ความเห็นของคนที่คิดไม่เหมือนกันสามารถปะทะสังสรรค์กันได้ เพื่อจะได้ไม่เกิดปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อน (echo chamber) ที่ต่างคนต่างก็ส่งเสริมความเชื่อหรือข้อมูลผิดๆ ใส่กัน ธรรมชาติมนุษย์ชอบรับข้อมูลที่เห็นด้วยกับตัวเองก็จริง แต่ในยุคนี้ยังมีอัลกอริทึมที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เราเห็นเฉพาะสิ่งที่ตรงกับความเห็นของเรา เพื่อทำให้เราเกิดความสบายใจที่จะอยู่บนแพลตฟอร์มนั้น ซึ่งก็จะเพิ่มโอกาสโฆษณาสินค้าต่างๆ กับผู้ใช้งานด้วย

กรณี IO ของรัฐ ในบริบทประเทศประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบการเมืองเต็มที่ มีการรายงานการใช้งบประมาณที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐบาลพลเรือนอย่างเคร่งครัด IO ก็จะไม่เกิดหรือเกิดได้ยาก เพราะรัฐต้องยึดหลักการต้องไม่แทรกแซงสื่อหรือเวทีการถกเถียงของคน รัฐไม่สามารถใช้ทรัพยากรของรัฐมาบิดเบือนข้อมูลของประชาชนได้ เพราะจะทำให้การตรวจสอบภาครัฐอ่อนกำลังลง

แต่ในหลายประเทศที่การเมืองมีความขัดแย้งแบ่งขั้วมากหน่อยก็มีเหตุการณ์เช่นนี้ เช่น เวียดนาม จีนในความสัมพันธ์กับฮ่องกง อิหร่าน ฟิลิปปินส์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีรายงานการตรวจจับบัญชีผู้ใช้ปลอมที่เชื่อมโยงกันเพื่อส่งต่อข้อมูลบางอย่าง เรียกกันว่าการบิดเบือนเพื่อใช้ประโยชน์จากระบบแพลตฟอร์ม (platform manipulation) แต่ก็อาจชี้ไม่ได้ว่ารัฐทำเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ไปเสียทีเดียว รัฐอาจมองแค่ว่าเขาต้องการการทำงานอย่างราบรื่นและมองว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากๆ มันขัดการทำงาน จึงทำเพราะต้องการให้คนเห็นด้วย เพื่อการทำงานที่ง่ายขึ้น ซึ่งไม่ว่าเจตนาจะเป็นอย่างไร ก็ต้องตั้งคำถามว่าการแทรกแซงข้อมูลข่าวสารแบบนี้มันสร้างสังคมแบบไหนขึ้นมา

ส่วนด้านคนทำงานด้านสิทธิ นอกจากการพยายามเข้าไปคุยกับคนอีกฝั่งหนึ่งที่พยายามเข้ามาบิดเบือนวงสนทนาแล้ว ถ้าเขาตั้งใจมาป่วนอย่างเดียว ก็ต้องดูว่ามีเครื่องมืออะไรที่ใช้จัดการได้บ้าง เขาสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตที่สามารถใช้ได้ แต่ถ้าไปถึงขั้นขัดขวางการส่งต่อข้อมูลหรือการใช้เสรีภาพของคนอื่น หรือทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย ก็มีความชอบธรรมที่จะจำกัดเสรีภาพของเขา เช่น กดรายงานเขาต่อแพลตฟอร์ม ถ้าเขาทำด้วยการใช้งบประมาณของรัฐ เราก็ต้องตั้งคำถามว่าทำไมเขาใช้เงินของเรามาขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกของเราเอง

คงไม่ได้มีคำตอบเดียวตายตัว แต่มีเส้นว่าอะไรคือการใช้เสรีภาพที่เหมาะสม เมื่อไหร่ที่ข้ามเส้นไปแทรกแซงการใช้เสรีภาพของคนอื่น กลไกทางสังคมและกฎหมายควรต้องเอื้อในการใช้เสรีภาพให้เป็นไปได้

 

 

ส่วนตัวคิดถึงเรื่องการถูกโจมตีระดับตัวบุคคลไหม โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่มักมีการส่งต่อข้อความโจมตี-ลดทอนคุณค่าตัวบุคคลในลักษณะเครือข่ายข้อมูล

ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ คนที่ทำงานออกสู่สาธารณะมีโอกาสที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วเป็นปกติ บางทีก็อาจเกินขอบเขตได้ไม่ว่าจะทำงานในองค์กรใดก็ตาม เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากนักศึกษาหรือผู้อยู่ในวงการวิชาการด้วยกันได้ แต่หากเป็นการโจมตีตัวบุคคลในระดับรุนแรงหรือนำไปสู่ความรุนแรงก็มีกลไกของสังคมที่ทำงานอยู่ เช่น กฎหมาย ถ้าเป็นเรื่องข้อมูลที่ผิด เกิดจากความไม่เข้าใจ ก็ควรถูกโต้แย้งด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง นี่เป็นหลักการต่อสู้ของคนที่เชื่อในเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิการเข้าถึงข้อมูล โดยต้องพยายามโน้มน้าวคนที่เข้าใจผิดหรือเชื่อในข้อมูลอีกแบบหนึ่งให้เห็นว่ามีข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ถูกต้อง

 

หากมีการใช้ IO จนกระทบต่อบรรยากาศการใช้เสรีภาพ จะพอมีวิธีการรับมือไหม

การโจมตีในรูปแบบการปฏิบัติการทางข้อมูล (information operation) สามารถแบ่งการรับมือได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. การตรวจจับข้อความ (text detection) ซึ่งค่อนข้างแยกยาก ไม่ว่าจะเป็นในทางการตลาดหรือ IO ระหว่างความคิดเห็นของคนจริงๆ กับการแต่งข้อความของคนที่ถูกจ้างมา แต่สามารถตรวจสอบปฏิสัมพันธ์ระหว่างบัญชีเหล่านั้นว่าเป็นบัญชีปลอมหรือไม่ ปกติบริษัทเทคโนโลยีมีเครื่องมือในการตรวจจับเนื้อหาที่เป็นอันตรายอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถฝากความคาดหวังไว้ในมือของบริษัทแสวงหากำไรได้เพียงอย่างเดียว เพราะจุดมุ่งหมายตามธรรมชาติของบริษัทพาณิชย์คือการหากำไร โดยอาจขาดความเชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่น จึงต้องมีการตรวจสอบเขาด้วย แต่ไม่นานนี้เฟซบุ๊กตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล (oversight board) โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเพื่อควบคุมการทำงานของเฟซบุ๊กอีกที ซึ่งคนก็จับตาดูกันอยู่เรื่องประสิทธิภาพ

2. การมีกฎหมายเป็นกลไกตรวจสอบ ถ้าเป็นปฏิบัติการภาครัฐควรมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ต้องผ่านสภา ถ้าคนในประเทศมองว่าปฏิบัติการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ จำกัดการใช้เสรีภาพของผู้คนหรือยุยงให้คนเกิดความแตกแยกกัน ก็ไม่ควรทำ

3. การมีความรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ถ้าแต่ละคนเข้าใจโลกดิจิทัล เข้าใจว่าคนปกติสื่อสารกันอย่างไร ก็จะรู้วิธีการตอบโต้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้อย่างเหมาะสม ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปฏิบัติการข่าวสารทำงานได้ดีมากๆ คือการเข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายภายในกลุ่มเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเข้าใจผิด เราเดาว่าปฏิบัติการไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น แต่คนที่ถูกปฏิบัติการนี้ลากไปหรือถูกโน้มน้าวไปนั้นเพิ่มจำนวนเยอะ ถ้าคนกลุ่มนี้มีความเข้าใจต่อข้อมูลข่าวสาร รู้วิธีรับข้อมูลหลายทางและใช้วิจารณญาณต่อข้อมูลข่าวสารได้ดี เขาจะไม่เป็นเหยื่อของคนที่จะเข้ามาบิดเบือนข้อมูล

 

 

มีความคิดเห็นอย่างไรกับการโต้ตอบการถูกโจมตีด้วยการฟ้องเป็นคดีหมิ่นประมาททางอาญาหรือการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีบางความเห็นที่ว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหาและเป็นการปิดกั้นการแสดงความเห็น

ในจุดยืนของแอมเนสตี้ การผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในสังคมต้องมีความความคงเส้นคงวาเป็นสำคัญ เพราะเป็นสิ่งสะท้อนหลักการที่เรายึดมั่น เมื่อเราเชื่อว่าวิธีการนี้ไม่ดี คือเราเชื่อว่ามีทางเลือกอื่นที่ใช้แทนกันได้ ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ องค์กรไม่ได้เห็นความสำคัญแค่เป้าหมายนั้น เราตระหนักดีว่ามีผลประโยชน์ในแง่มุมอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน บางครั้งเราอาจต้องยอมจำกัดสิทธิเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์เหล่านั้น กรณีการให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นโทษอาญาเพื่อการคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิประโยชน์ หลายประเทศก็มองว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพอย่างไม่ได้สัดส่วน แม้ว่าการฟ้องร้องหมิ่นประมาทจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้สร้างสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพกับการคุ้มครองสิทธิของคนได้ แต่การคุ้มครองสิทธิของคนในระดับโทษอาญาเกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกาย การจองจำ หรือเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งมากเกินกว่าที่จะแลกกับการคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของคน

ในทางสากลใช้วิธีการเยียวยาด้วยตัวเงิน (monetary compensation) การแก้ข่าว หรือการขอโทษ เพราะได้สัดส่วนและมีประสิทธิผลมากกว่าในการคุ้มครองสิทธิ การเอาคนไปจองจำแม้หลายคนบอกว่าจะมีผลในเชิงป้องปรามแต่เป็นการจำกัดสิทธิที่ไม่ได้สัดส่วนกับสิทธิของผู้อื่นที่ถูกละเมิดไป แล้วยังอาจไม่ช่วยเยียวยาอะไรแก่ผู้เสียหายด้วย

ทางเลือกอื่นที่ใช้แทนกันได้และสามารถทำงานในการคุ้มครองสิทธิคนอื่นได้เหมือนกัน คือการฟ้องร้องทางแพ่งหรือการสร้างสังคมที่คนเคารพกันและกัน

ด้วยจุดยืนที่องค์กรสิทธิส่วนใหญ่มีร่วมกัน หากองค์กรโดนโจมตี เราก็ต้องไม่ใช้เครื่องมือที่มันผิด ไม่เหมาะสม หรือไม่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนเสียเอง โดยทั่วไปจึงมักไม่มีการฟ้องในส่วนนี้ ภารกิจขององค์กรสิทธิคือปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อมีการนิยามหลักการแล้ว ก็ต้องชัดเจนเช่นนั้น

ส่วนในกรณีส่วนบุคคลแต่ละคน ภารกิจในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนอาจไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเขา โดยเฉพาะหากเป็นคนที่ไม่ได้ทำงานหรือมีจุดยืนด้านนี้โดยตรง มีแง่มุมอื่นในชีวิตที่เขาต้องพิจารณา เช่น สถานะและบทบาทอื่นๆ ในสังคมของเขา แม้ว่าเครื่องมือมันอาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการเสียทีเดียว แต่เป็นเครื่องมือที่มีอยู่และอีกฝั่งหนึ่งก็ใช้กับเขา แน่นอนว่าเราไม่ได้ส่งเสริมวิธีการนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องถูกกล่าวโทษกับการแสวงหาความยุติธรรมในแบบของเขาเสมอไป คำถามที่เราควรตอบมากกว่าคือทำอย่างไรสังคมเราจึงจะออกแบบให้กฎหมายนั้นไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความเห็น หรือกลายเป็นเครื่องส่งเสริมให้คนเปิดใจต่อกันได้น้อยลงเรื่อยๆ

 

ในมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ ไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ แต่ยังมีหลายประเด็นที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณี ไม่มีการออกกฎหมายให้สอดคล้อง หรือกระทั่งมีการละเมิดโดยรัฐ จะมีกลไกอะไรที่ช่วยตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐไทยให้มีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการกดดันจากเวทีระหว่างประเทศ

การที่ไทยเป็นภาคีนั้นเป็นโดยสมัครใจและภาคภูมิใจ ตอนลงนามในปฏิญญาสากล ไทยก็ภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ลงนาม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยเองมีที่ยืนในเวทีโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

สนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือเอกสารในทางระหว่างประเทศไม่ได้มีขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติตามสนธิสัญญานั้นภายในประเทศอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือของรัฐนั้นด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการถูกยอมรับว่าเป็นรัฐที่สามารถปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลก

การที่รัฐไทยจะสามารถปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้ มีนัยยะในเชิงระหว่างประเทศเป็นความน่าเชื่อถือของเรา ซึ่งครอบคลุมทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐอื่นที่จะตัดสินใจมาเป็นพันธมิตรกับเรา ช่วยเหลือด้านต่างๆ เขาก็ดูจากความน่าเชื่อถือเหล่านี้ เหมือนการทำธุรกิจที่ต้องพิจารณาว่าคนนี้ทำตามที่พูดได้ไหม ซึ่งสำคัญมากในเวทีระหว่างประเทศ และประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ดำรงตนในทางระหว่างประเทศได้ด้วยดีโดยตลอดและเราควรรักษาสิ่งนี้ต่อไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องศักดิ์ศรีและสถานะของรัฐในทางระหว่างประเทศ และยิ่งในทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้เราอยู่ไม่ได้หากไม่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตระดับโลก พอขาดการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ หลายอย่างดำเนินต่อไปไม่ได้ ดังนั้นแรงกดดันจากเวทีระหว่างประเทศไม่ใช่เพียงการที่คนตะวันตกมาบอกเราให้ทำอะไร แต่เป็นการแสวงหาที่ทางในทางสากลและที่ทางแบบนี้มันส่งผลต่อสถานะของประเทศเราจริงๆ

ประเด็นการปฏิบัติตามพันธกรณีภายในรัฐ เป็นความสัมพันธ์ของคนกับรัฐ โดยดั้งเดิมนั้นสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเป็นเรื่องภายในโดยแท้ไม่มีประเทศอื่นเข้ามายุ่ง นับเป็นประเพณีอย่างหนึ่งในทางระหว่างประเทศที่มาควบคู่กับอำนาจอธิปไตย แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เราได้เห็นแล้วว่าปัญหาภายในสามารถลุกลามไปสู่ปัญหาระหว่างประเทศ การติดต่อสื่อสารระหว่างกันทำให้เราเห็นภาพความโหดร้ายของสงคราม การกระทำระหว่างคนภายในประเทศ มนุษยชาติก็มีความเป็นมนุษยนิยม (humanism) มากขึ้น จนไม่สามารถปล่อยให้คนเป็นมนุษย์ด้วยกันถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถูกสั่งฆ่า โดยผู้นำประเทศของเขาได้

มันอาจฟังดูใหญ่โต แต่การที่เราทนดูไม่ได้เมื่อมีคนในชาติอื่นถูกกระทำเช่นนั้น มันก็เปรียบได้กับเวลาที่เราทนไม่ได้ถ้าเห็นคนข้างบ้านถูกพ่อแม่ทุบตี เราจึงไปแจ้งตำรวจหรือแจ้งเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ มันคือความเป็นมนุษย์เหมือนกันที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงนี้และเปลี่ยนความคิดต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องในประเทศอีกต่อไป

แต่การคุ้มครองสิทธิต้องผ่านกลไกภายในไม่ว่าในกรณีใด เป็นไปตามหลักอำนาจอธิปไตย ต่อให้สนธิสัญญาหรือกลไกระหว่างประเทศจะเขียนไว้ดีอย่างไร ถ้าองค์กรภายในของรัฐไม่รับเอาหลักสิทธิมนุษยชนเข้าไป การคุ้มครองย่อมไม่เกิดในระดับรากฐาน ดังนั้นการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนภายในประเทศต้องอาศัยกลไกภายใน มีทั้งการตั้งคณะกรรมการสิทธิเข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือกลไกตามรัฐธรรมนูญ

ในประเทศไทยมีทั้งสองรูปแบบการตรวจสอบที่ว่ามา เรามีศาลรัฐธรรมนูญที่เราอาจคุ้นชินกับบทบาทเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครองหรือการเลือกตั้ง แต่แท้จริงแล้วศาลรัฐธรรมนูญในความเข้าใจทั่วโลกมีบทบาทในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชน (the guardian of human rights) ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญที่เราควรจะเน้น และเมื่อเราสามารถทำให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญได้ ก็มักจะสอดคล้องกับหลักสากลไปด้วย ดังนั้นหากอะไรไม่สอดคล้องก็ต้องแก้ มิเช่นนั้นเราจะผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลก และผิดหลักการนิติรัฐในระบบภายในของเราเองด้วย

พัฒนาการในช่วงที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลปกครองเองก็มีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ศาลปกครองเคยตัดสินหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สนธิสัญญา หรือกรณีคนพิการสอบผู้พิพากษา จนถึงคดีล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำตัดสินเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่เป็นคุณต่อความเท่าเทียมของผู้หญิงผู้ชาย ในขณะเดียวกัน อาจมีหลายประเด็นที่คนมองว่าไม่สอดคล้องกับประชาคมโลกเช่นกัน เพราะการบังคับใช้หรือการผลักดันประเด็นทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ กลไกภายในทั้งสามฝ่ายต้องถูกผลักดันมากขึ้นเพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนประชาชน เมื่อคนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพผ่านการใช้กฎหมายหรือการออกกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติต้องไม่พลาดที่จะตั้งคำถามกับรัฐบาล ส่วนฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ต้องปฏิบัติตามหรือตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

ดังนั้นคำตอบต่อคำถามนี้ก็คือ สามเสาอธิปไตยอันเป็นกลไกภายในประเทศที่เรามีตามปกตินี้เองจะเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระทั้งหลาย เช่น กรรมการสิทธิฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าทำงานเต็มที่ในการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ จะสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศโดยไม่ต้องนำเรื่องไปสู่เวทีสหประชาชาติเลย

ทั้งกลไกระหว่างประเทศและภายในประเทศต้องดำเนินไปควบคู่กัน แต่ภาคประชาสังคมที่หวังพึ่งกลไกต่างประเทศมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดจากภายใน เหมือนโดนคนต่างชาติด่ามาเลยต้องทำตาม เป็นแนวคิดแบบตามก้นคนขาว ซึ่งไม่ใช่ เราก็มีศักดิ์ศรีในเวทีโลก สังคมไทยมีความเชื่อมโยงกับประชาคมโลกมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ส่วนฝั่งคนที่นิยมกลไกระหว่างประเทศเขาก็สิ้นหวังกับกลไกภายใน ซึ่งก็เป็นการมองโลกแบบที่เชื่อในมนุษย์น้อยไปหน่อย เรายังเชื่อว่ากลไกภายในประเทศไทยยังมีศักยภาพเยอะมาก อาจเพราะเรารู้จักคนทำงานในฝ่ายราชการที่ตั้งใจทำงานจริงๆ แม้เขาไม่ได้ใช้ภาษาสิทธิมนุษยชนในการอธิบายงานของเขา แต่สุดท้ายมันส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้การผลักดันกลไกภายในให้มีประสิทธิภาพจะยากแต่มันยั่งยืนกว่าแน่นอน

 

การผลักดันสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ไปไกลแค่ไหน เรื่องนี้ควรอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือเด็กสามารถเรียนรู้ได้เองนอกห้องเรียน

จำเป็นต้องมีในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปรียบเหมือนการที่เราต้องรู้กฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่การศึกษาขั้นพื้นฐานควรจะให้ และมันเกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นฐานที่ไม่รู้แล้วเป็นผลเสียต่อการใช้ชีวิต เช่น สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย เด็กผู้หญิงมักได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ว่าอย่าให้คนแปลกหน้ามาจับร่างกายนะ นี่คือสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายที่เรามีสิทธิปฏิเสธได้หากใครมาแตะเนื้อต้องตัวเรา แต่ถ้ามันถูกสอนแค่ในบ้าน ไม่ได้ถูกสอนในโรงเรียนด้วยในบริบทวิชาการ อาจเกิดอคติทางเพศโดยเลือกสอนแต่ลูกผู้หญิง ทั้งที่ทุกคนมีสิทธินี้และต้องเคารพสิทธินี้ด้วยเหมือนกัน นั่นหมายความว่าครูและโรงเรียนก็ต้องยึดถือหลักการนี้ การที่ครูจะเอากรรไกรไปตัดผมนักเรียนก็ไม่สามารถทำได้ มันจะย้อนแย้งกับสิ่งที่เราสอนเด็ก ย้อนแย้งกับกฎหมายที่เราต้องเคารพ

การจัดให้สิทธิมนุษยชนศึกษาอยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการนั้นสำคัญ เพราะจะทำให้รู้สึกว่าเป็นสิทธิที่อ้างได้และต้องเคารพ จึงจำเป็นต้องอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเข้าใจว่าตอนนี้ได้ถูกบรรจุเข้าไปแล้ว เพียงแต่ภาษาที่ใช้ในหนังสืออาจเข้าใจไม่ง่ายมากนัก เพราะเพิ่งถูกบรรจุในหลักสูตรไม่นาน จึงต้องได้รับการพัฒนาว่าทำอย่างไรจะสื่อสารเรื่องนี้ให้คนเข้าใจมากกว่าการเน้นท่องจำเนื้อหา เพราะท่องไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรมาก และยิ่งเด็กเริ่มตั้งคำถามกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและคิดถึงเสรีภาพของตนเองมากเท่าไหร่ เขาจะสามารถเรียนรู้การใช้มันได้อย่างระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้นเมื่อเติบโต

การที่ผู้ใหญ่ในสังคมมีภาพจำของเด็กหรือคนรุ่นใหม่ที่ใช้สิทธิเสรีภาพว่าก้าวร้าว ส่วนหนึ่งคือเขาเพิ่งได้ลองใช้สิ่งนี้ในตอนมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย หลังจากที่เขาถูกกดมาตลอด การแสดงออกนั้นจึงอาจยังดูไม่เหมาะสมสำหรับคนบางกลุ่ม ซึ่งก็เข้าใจได้ ถ้าเราอยากให้การใช้สิทธิเสรีภาพสอดคล้องกับคุณค่าในสังคม ก็ต้องค่อยๆ ปลูกฝังผสมผสานเข้าในชีวิตเพื่อหาจุดสมดุลตั้งแต่ยังเล็กๆ

แอมเนสตี้เองก็ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อจัดห้องเรียนและเวิร์กชอปเรื่องสิทธิมนุษยชนให้นักศึกษา ส่วนตัวเคยเชิญมาและได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร เพราะวิธีการสอนจะไม่เหมือนกับห้องเรียนปกติที่เป็นการบรรยาย แต่จะใช้เกมต่างๆ ให้นักศึกษาตั้งคำถามเรื่องในชีวิตตนเองว่าเกี่ยวข้องกับเสรีภาพอย่างไร ซึ่งมันไม่ควรอยู่แค่ในวงการศึกษาแต่ควรอยู่ในการสื่อสารแบบแคมเปญในวงกว้างด้วย เพื่อให้คนเข้าใจสิทธิมนุษยชนแบบชัดเจนมากขึ้น เชื่อมโยงกับตัวเองมากขึ้น

 

กรรมการแอมเนสตี้ชุดหลังๆ มีคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด น่าจะเป็นทิศทางสอดคล้องกับสังคมไหม เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นมาก

นี่เป็นกระแสของแอมเนสตี้ในระดับโลกและเป็นทิศทางขององค์กรมาหลายปีแล้วที่มองว่าพลังของคนรุ่นใหม่น่าจับตามองและควรสนับสนุนส่งเสริม โดยเฉพาะในรายงานของแอมเนสตี้ปีที่ผ่านมา ก็โฟกัสไปที่การยืนยันต่อสู้ (resistance) ต่อการควบคุมปราบปราม (repression) โดยนักรณรงค์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ๆ (new generation of young activists) ซึ่งเห็นตั้งแต่ฮ่องกง Black Lives Matter และการประท้วงทั่วโลก แอมเนสตี้ไทยก็รับทิศทางนี้มา เรามีคณะกรรมการเยาวชน เปิดให้เยาวชนเข้ามามีสิทธิตัดสินใจและเห็นภาพรวมขององค์กร ผลคือเราได้ข้อมูลใหม่เข้ามา ได้ความเห็นและรู้ความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในแบบที่พวกเขาอยากเห็น ส่วนการดำเนินงานในองค์กรนั้นไม่ได้ขัดแย้งกับแนวทางของคนรุ่นใหม่ คือมีพื้นฐานเป็นประชาธิปไตย การขับเคลื่อนหรือการผลักดันประเด็นก็ค่อนข้างมีการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน คิดว่าเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่คนรุ่นใหม่น่าจะชอบ

ข้อมูลใหม่ที่เข้ามานี้นำไปสู่การสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน การทำให้คนเปิดใจยอมรับฟังสิ่งที่เราจะสื่อสารนั้นสำคัญมาก ข้อมูลใหม่นี้จะนำไปสู่วิธีการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม

นอกจากนี้แอมเนสตี้พยายามขยายการทำงานไปในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย แม้เราจะมีภาพลักษณ์ความเป็นเมืองหรือระหว่างประเทศ แต่เราตระหนักถึงความสนใจที่ต่างกันในแต่ละท้องที่ ด้วยลักษณะสังคมที่ต่างทำให้ปัญหาที่เน้นต่างกันไป เราจึงพยายามขยายไปครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

 

มองการทำงานที่ผ่านมาขององค์กรอย่างไร สามารถผลักดันเรื่องต่างๆ ได้เป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน และต้องการพัฒนาการทำงานอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ดีของแอมเนสตี้คือการผสานระหว่างวาระสากล (international agenda) กับแรงขับเคลื่อนท้องถิ่น (local motivation) ที่มองการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นการเคลื่อนไหวหนึ่งไม่ใช่แค่การทำงานขององค์กรอย่างเดียว รวมทั้งหลักการที่ใช้ทำงานก็เป็นสากล และเอาคนเป็นหลัก (human-centric)

สิ่งที่ต้องการเห็นน่าจะตรงกับสิ่งที่แอมเนสตี้ก็ทำมาอยู่แล้ว นั่นคืออยากให้สิทธิมนุษยชนเป็นกระแสหลัก อยากให้คนเห็นเค้าโครง (framework) ของสิทธิมนุษยชน ให้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องธรรมดา เอาไปจับกับอะไรก็ได้ในชีวิต เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจะนำไปสู่การรับเข้ามาในวิถีชีวิตของเราในลำดับต่อมา

การรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนอธิบายความเป็นรูปธรรมยาก เพราะคือการทำให้คนตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง หรือคนที่มีอคติกับสิทธิมนุษยชนเปลี่ยนความคิด ซึ่งจับต้องได้ยากและใช้เวลานานในการสั่งสม หากจะมีอะไรเป็นรูปธรรมได้ น่าจะเป็นการสนับสนุนเชิงนโยบายที่ทำให้เกิดการถกเถียงถึงมาตรฐานของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.การชุมนุม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือร่างกฎหมายต่อต้านการทรมานและการบังคับสูญหายว่าเราควรผลักดันให้ออกมาในรูปแบบอย่างไร

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักการเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของสังคม แต่แนวทางบางอย่างนั้นต้องปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีและสังคม เช่น เรื่องการชุมนุมที่ประเทศจีนสามารถที่จะใช้การตรวจจับใบหน้า (face detection) ผู้ชุมนุม จนมีการปิดหน้าในการชุมนุม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการชุมนุมที่แปลก เพราะในโลกตะวันตกจะเห็นการชุมนุมแบบเปิดหน้า ทุกคนภาคภูมิใจกับการมีเสรีภาพในการแสดงออกในที่สาธารณะ แต่ในจีนมีความเสี่ยงเพราะรัฐเก็บข้อมูลใบหน้าไว้เยอะมากและมีเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง ไม่ได้หมายความว่าเราจะเหมารวมบอกว่ารัฐบาลจีนมีเจตนาร้ายเสมอไป แต่อัลกอริทึมนั้นมีความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด เราไม่รู้ว่ามันจะนำเราไปสู่อะไร จึงเกิดการถกเถียงว่าการปกปิดใบหน้าเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้ถูกจดจำจากอัลกอริทึมมันเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมมากน้อยแค่ไหน

คำถามนี้ได้รับการตอบรับในทางบวกในระดับระหว่างประเทศมีการแก้ไขข้อความเห็นทั่วไป (UN general comment) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเฝ้าติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  โดยคณะกรรมการพูดชัดว่าผู้ชุมนุมมีสิทธิปกปิดใบหน้าเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัว เนื่องจากสิทธิความเป็นส่วนตัวนั้นเชื่อมโยงกับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ดังนั้นการที่รัฐจะห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมปกปิดใบหน้าก็จะทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น กรณีการสวมหมวกไอ้โม่งแบบปิดคลุมทั้งหน้าพร้อมพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง อย่างไรก็ตามรัฐจะต้องไม่ถือว่าการปกปิดใบหน้าโดยตัวมันเองแสดงถึงเจตนารุนแรง

ในอดีตมีแนวคิดว่าการปกปิดใบหน้าในมวลชนเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำในที่ชุมนุม กฎหมายไทยก็มีเช่นกันว่าให้ปิดได้แค่ตามปกติ เช่น ในสภาวะที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยเช่นตอนนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายปกติประเพณีของยุคนี้ การมีประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการที่มาตรฐานสากลต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางของสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่แอมเนสตี้ทำคือช่วยเสนอตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายหรือตัวบทที่มีอยู่ในประเทศว่าสอดคล้องกับมาตรฐานสากลแค่ไหน เป็นคุณเป็นโทษกับคนในสังคมอย่างไร ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.การชุมนุม ที่บอกว่าต้องแจ้ง แต่ไม่ใช่การขออนุญาต ก็สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่บอกว่าการชุมนุมต้องเป็นไปโดยเสรี หมายถึงไม่ต้องขออนุญาต ไม่เช่นนั้นก็ไม่ใช่เสรีภาพ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การชุมนุม เพราะการชุมนุมอาจไปกระทบสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะของผู้อื่น

เพราะฉะนั้นในส่วนหลักการที่เกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุมนั้นปัญหาอยู่ที่การตรวจสอบการบังคับใช้ว่าได้มาตรฐานตามเจตนารมณ์แล้วหรือไม่

 

มองพลังของภาคประชาชนในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนตอนนี้อย่างไร

พลังของข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่แตกต่าง ทำให้เขาได้สัมผัสกับมาตรฐานสากลมากกว่าคนรุ่นก่อน การที่เขาเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากได้ง่ายทั้งจากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทำให้เขาเห็นอะไรที่แตกต่างออกไปจากบ้านเรา เกิดเป็นจินตนาการถึงโลกที่แตกต่าง ในสมัยก่อนเราคงนึกไม่ออกว่าทำไมเด็กมัธยมปลายในอเมริกาจึงออกมาประท้วง แต่ยุคนี้เราจินตนาการออกเพราะเคยดูละครหรือภาพยนตร์ที่อธิบายให้เราเห็นว่าวิธีการเรียนการสอนในอเมริกาเป็นอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่อย่างไร ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่คนสมัยก่อนไม่ได้เห็น ทำให้เขาไม่เข้าใจโลกที่แตกต่างในเชิงวัฒนธรรม

อีกส่วนก็อาจเป็นเรื่องพลังงานในช่วงวัยด้วย เป็นธรรมดาที่คนอายุน้อยจะเชื่อในการเปลี่ยนแปลง แต่พอสู้ไปเรื่อยๆ ความเชื่อนี้อาจเบาบางลงตามเวลาที่ผ่านไป พอเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะหลงลืมจินตนาการต่อสังคมอีกแบบไประหว่างทาง เลยไม่แปลกใจที่ปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ต่อคนรุ่นใหม่จึงมีทั้งบวกและลบ แต่ละคนก็อาจระลึกถึงความเชื่อมั่นต่อโลกในวัยเยาว์ของตัวเองได้ไม่เท่ากัน

 

เห็นความหวังไหม และคิดว่าจะนำไปสู่อะไร

ด้วยความที่คนรุ่นใหม่มีข้อมูลมากขึ้นและกล้าส่งเสียงออกมามากขึ้น มุมหนึ่งอาจทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมมองว่านี่คือการละเลยคุณค่าแบบเดิมของไทยที่ว่าเป็นเด็กอย่าเพิ่งพูดมาก รอให้เข้าใจโลกกว่านี้ก่อนแล้วค่อยพูด ซึ่งเราเข้าใจมุมมองแบบนั้นว่าเป็นเพราะการเข้าถึงข้อมูลสมัยก่อนต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์ค่อยๆ เก็บสะสม แต่ทุกวันนี้พิสูจน์ได้แล้วว่าข้อมูลที่คนรุ่นใหม่มีมันไม่ต้องสะสมแบบนั้น การสัมผัสกับข้อมูลเกิดขึ้นกับช่วงใดในชีวิตก็ได้โดยไม่ต้องรอ และคนรุ่นก่อนหน้านี้ก็สามารถมีลักษณะเหมือนคนรุ่นใหม่ได้เช่นกันถ้าได้รับข้อมูลแบบเดียวกัน

การเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างกันเข้ามาเขย่า (disrupt) การนำเสนอข้อถกเถียงในสังคม คนรุ่นก่อนต้องเปิดใจว่าที่คนรุ่นใหม่นำข้อมูลมาถกเถียงนั้นไม่ใช่ว่าเขาก้าวร้าวหรือไม่เคารพผู้ใหญ่ แต่เป็นเพราะการเดินทางของข้อมูลในรุ่นนี้ไม่เหมือนในสมัยก่อน หากมีความเข้าใจเช่นนี้ การถกเถียงจะทำให้การเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตในสังคมเกิดขึ้นได้

โครงสร้างและสิ่งแวดล้อมของการเรียนรู้เปลี่ยนไป เราจะไม่เปลี่ยนตามไม่ได้ เหมือนว่าเขาตัดถนนและใช้รถกันแล้ว เราจะมาลากเกวียนอยู่ก็ไม่ได้

 

กระแสที่คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องสิทธินี้ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนศึกษาไหม

ความตื่นตัวนั้นดีมากแน่นอน เพราะเขาน่าจะตระหนักว่าเขากำลังใช้สิทธิซึ่งสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนศึกษาที่ถ่ายทอดว่า สิทธิเสรีภาพคืออะไร รวมถึงวิธีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และความเข้าใจในข้อจำกัดการใช้สิทธิในสถานการณ์ต่างๆ

แนวคิดผิดๆ ที่คนยังมีกันมากคือการมองว่าคนที่เรียกร้องเสรีภาพเป็นคนทำอะไรสุดโต่ง ไม่สนใจคนอื่น เห็นแก่ตัว ซึ่งมันตรงข้ามกันเลย เพราะคนที่เรียกร้องเสรีภาพ เขาไม่ได้เรียกร้องให้ตัวเองคนเดียว แต่เพื่อคนอื่นด้วย ดังนั้นการที่ทุกคนจะสามารถใช้เสรีภาพได้พร้อมๆ กัน เราต้องรู้ว่าเมื่อไหร่การใช้เสรีภาพของตัวเองจะไปกระทบการใช้เสรีภาพหรือประโยชน์ของสังคม ต้องดูว่าจุดสมดุลนั้นอยู่ตรงไหน

เราพูดเสมอเวลาสอนเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชน ว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ของสังคม การสนับสนุนสิทธิมนุษยชนต้องมีการพิจารณาหาจุดสมดุลเพื่อให้สิทธิเสรีภาพสามารถไปกันได้กับสังคมด้วย ยกตัวอย่าง สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสามารถถูกจำกัดได้ เช่นกรณีที่มันกีดขวางการจราจร จึงต้องหาทางเลือกว่าจะใช้เสรีภาพการชุมนุมได้อย่างไรโดยไม่แทรกแซงการจราจรมากเกินไป แทนที่จะปิดถนนทั้งหมดก็ปิดแค่ครึ่งเดียว เจ้าหน้าที่รัฐอาจมาช่วยให้การชุมนุมจัดได้โดยไม่ไปกระทบชีวิตปกติมากนัก ซึ่งสุดท้ายมันอาจต้องกระทบอยู่บ้าง แต่เราก็ยอมสละผลประโยชน์บางอย่างของสังคมได้เพื่อการใช้สิทธิเสรีภาพนี้ เพราะเราเห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมเป็นการเรียกร้องสิ่งที่ใหญ่กว่าการจราจรที่ราบรื่น และโดยตัวมันเองก็เป็นการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม เช่นนี้คือการหาจุดสมดุล

การที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวก็ยิ่งทำให้มีการถกเถียงเพื่อหาจุดของความสมดุล แต่คำถามถัดมาคือว่าการเคลื่อนไหวนี้จะทำให้เกิดบทสนทนาที่เข้าใจกันได้กับคนรุ่นอื่นๆ หรือไม่ การถกเถียงนั้นดี เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกคือการสนทนาสู่วงกว้าง แต่ถ้าหากมันหยุดอยู่แค่เป็นเสียงก้องกังวานสะท้อนกันเองในกลุ่มคนที่มีความเห็นแบบเดียวกัน ต่างคนต่างอยู่ในกลุ่มของตัวเอง แบบนี้จะเพิ่มแต่ความเกลียดชังที่น่ากลัวและไม่ได้พัฒนาไปไหน พอเป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่หลายคนก็คิดว่าเป็นความบริสุทธิ์ มีความสนใจต่อโลก มีความหวังดีต่อสังคมเหมือนกัน ก็อาจทำให้คนเปิดใจหากันได้บ้าง

แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเข้าใจกันหรือไม่ เราก็ยังเชื่อว่าหากเราเคารพในสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน เราจะหาทางออกได้ ถ้าเถียงกันไม่เข้าใจ โน้มน้าวกันไม่ได้ ก็ยังสามารถออกเสียงลงคะแนนเลือกในแนวทางที่เราเห็นชอบ พอหยั่งเสียงคนในสังคมเดียวกันรู้ผลแล้วก็ค่อยมาถกเถียงกันใหม่ โน้มน้าวกันใหม่  สังคมมันเดินไปแบบนี้ได้ ไม่ใช่ว่าเถียงกันไม่เข้าใจกันแล้วมันจะต้องวิ่งชนกำแพงติดอยู่ที่ทางตันเสมอไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save