fbpx
เมื่อการ 'ให้' คือจุดเริ่มต้นเพื่อคืนอดีตผู้ผิดพลาดสู่สังคม: ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล และ นพพล ชูกลิ่น

เมื่อการ ‘ให้’ คือจุดเริ่มต้นเพื่อคืนอดีตผู้ผิดพลาดสู่สังคม: ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล และ นพพล ชูกลิ่น

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

ณัฐพล อุปฮาด ภาพประกอบ

ลองนึกภาพว่า คุณเป็นเจ้าของกิจการที่ตัดสินใจจะรับพนักงานสักคนเข้าทำงาน

ถ้าเป็นสถานการณ์ธรรมดา คุณคงพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทั่วๆ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษา ความสามารถ ทักษะที่มี หรือเงินเดือนที่ต้องการ

แต่ถ้าคุณรู้ว่า คนตรงหน้าเป็นอดีตผู้ต้องขังที่เพิ่งพ้นโทษออกมาจากเรือนจำมาหมาดๆ คุณยังจะพิจารณาเขาด้วยเกณฑ์แบบเดียวกับผู้สมัครทั่วไปหรือไม่

หรือคุณจะเลือกไม่รับเขา เพราะคำว่าอดีตผู้ต้องขังที่ติดตัวอยู่

สถานการณ์ตรงหน้าอาจฟังดูน่าลำบากใจ และคงลำบากใจยิ่งกว่า หากเราเป็นเจ้าของกิจการคนนั้นเสียเอง เพราะไม่ว่าอย่างไร เมื่อพูดถึงคำว่า ‘(อดีต) ผู้ต้องขัง’ สมองของเราอาจจะเชื่อมไปหาคำว่าเรือนจำ ที่ถูกสังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นโลกมืด กระทั่งตีตราผู้ที่อยู่หรือเคยอยู่ในนั้นว่าเป็นคนไม่ดีโดยอัตโนมัติ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ‘โอกาส’ จึงกลายเป็นสิ่งที่หายากและมีราคาแพงสำหรับอดีตผู้ต้องขัง จนสุดท้าย หลายคนก็หางานทำไม่ได้ และทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะกลับไปกระทำผิดซ้ำจนต้องกลับเข้าสู่เรือนจำ เกิดเป็นวัฎจักรที่วนเวียนไปมาไม่รู้จบ

ดังนี้แล้ว หนทางที่มีประสิทธิภาพในการลด ‘การกระทำผิดซ้ำ’ จึงอาจจะไม่ใช่การใช้มาตรการที่เข้มงวด แต่เริ่มง่ายๆ จากการให้สิ่งใกล้ตัวอย่างโอกาสเพื่อให้อดีตผู้ต้องขังได้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

101 สนทนากับ ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด และ นพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด สองผู้เข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือหลักสูตร RoLD (TIJ Executive Program on Rule of Law and Development) ที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่และสัมผัสกับผู้ต้องขังจริง จนเกิดเป็นความร่วมมือในการให้ความรู้และรับผู้ต้องขังเข้ามาทำงานในสถานประกอบการของตนเอง

เปลี่ยน mindset ด้านการเงิน และเพิ่มโอกาสจ้างงานด้วยดิจิทัล – ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล

“จุดเริ่มต้นคือ เราได้มีโอกาสร่วมหลักสูตร RoLD และได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องหลักนิติธรรม (Rule of Law) และกระบวนการยุติธรรมที่แทรกอยู่ในจุดต่างๆ ของสังคม” ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด เท้าความให้ฟัง “การร่วมหลักสูตรทำให้เรามีโอกาสไปทัศนศึกษาที่เรือนจำพิเศษธนบุรี และที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกของป้ามล (ทิชา ณ นคร) ได้สัมผัสเรือนจำ ผู้ต้องขัง หรือเยาวชนในสถานพินิจฯ จริงๆ”

ธิษณาทราบมาก่อนแล้วว่า เรือนจำไทยต้องประสบกับปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำมาเป็นเวลานาน ซึ่งเธอมองว่า นอกจากปัญหาเรื่องเรือนจำล้น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ ผู้ต้องขังในเรือนจำจะไม่ได้รับการพัฒนาทักษะ หรือได้รับการเรียนการสอนที่ถูกต้อง เมื่อพวกเขาพ้นโทษ ก็อาจจะกระทำผิดซ้ำ จนต้องกลับเข้าไปในเรือนจำอีกรอบ ซึ่งธิษณาเปรียบว่า นี่เป็นเหมือนกับ “ปัญหาที่วนลูปไปมา และน่าจะมีทางแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้”

ในช่วงท้ายของหลักสูตร RoLD ผู้เข้าร่วมจะต้องแบ่งกลุ่มกันทำโปรเจกต์ ซึ่งกลุ่มของธิษณาทำเรื่องโอกาสสร้างงานทางดิจิทัล (digital employability) ทำให้เธอได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้ต้องขังในเรือนจำมากขึ้น ซึ่งธิษณาเห็นว่า คนเหล่านี้มักถูกสังคมประทับตรา มองว่าเคยอยู่ในเรือนจำมาก่อน ทำให้เมื่อพ้นโทษออกมาก็หางานไม่ได้ หรือถูกกีดกันออกจากสังคม

“ในเรื่องการสร้างงานทางดิจิทัล ตอนนั้นเราได้เข้าไปที่เรือนจำจังหวัดอยุธยา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนชาย และได้ลงพื้นที่ที่ชุมชนคลองเตย ไปเก็บข้อมูลจาก 3 สถานที่นี้มา”

หนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยคือ เรื่องช่องว่างของการใช้เทคโนโลยีกับผู้ต้องขัง ธิษณาอธิบายว่า ผู้ต้องขังจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่กำลังจะพ้นโทษ ซึ่งหมายความว่า พวกเขาอยู่ในเรือนจำมาค่อนข้างนาน บางคน 3 ปี 5 ปี หรือบางคนเป็น 10 ปี และด้วยกฎระเบียบของทางเรือนจำ ทำให้พวกเขาไม่สามารถแตะต้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ได้ ธิษณาจึงต้องใช้วิธีการสอนผ่านทางกระดาษแทน ซึ่งเธอยอมรับว่า “ถ้าให้เขาลองเล่น smartphone จริงๆ ก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะใช้ได้ไหม เพราะคนกลุ่มนี้แทบจะไม่รู้จักเทคโนโลยีสมัยใหม่เลย ส่วนอาชีพใหม่ๆ เช่น ขายของออนไลน์ พวกเขาก็แทบจะไม่รู้จัก”

แต่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่มีอายุค่อนข้างน้อย เป็นกลุ่มที่เพิ่งจะเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ซึ่งในกลุ่มนี้ ธิษณากล่าวว่าพวกเธอเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีได้ดี ไม่ติดขัดอะไร

แม้ธิษณาจะทำธุรกิจ startup เกี่ยวกับการเงินอยู่แล้ว แต่โจทย์ใหญ่ในเรื่องนี้คือ การที่เรือนจำไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลย เธอจึงต้องตีโจทย์ว่า เมื่อใช้เทคโนโลยีไม่ได้แล้วจะสอนคนกลุ่มนี้อย่างไร และจะสอนเรื่องอะไรที่เป็นประโยชน์

“เรื่องแรกที่สำคัญคือ พวกเขาต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านการเงินเบื้องต้น เพราะหลายๆ คน เมื่อออกไปแล้วสมัครงานไม่ได้ ก็เลือกที่จะขายของหรือเปิดร้านขายของชำแทน ซึ่งพวกเขาจะต้องเข้าใจพื้นฐานการค้าขายเบื้องต้นด้วย เช่น ทำไมต้องมีเงิน ถ้ามีแล้วจะบริหารจัดการเงินทุนนั้นยังไง และมีตัวแปรอะไรที่อาจจะเข้ามากระทบพวกเขาได้บ้าง

“ส่วนเรื่องที่สองเป็นการให้ความรู้พื้นฐานในการวางแผนจัดการการเงิน คือดูตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาในเรือนจำว่า พวกเขามีหนี้สินหรือไม่ หรือบางคนไม่มีหนี้ แต่ได้เงินจากการขายยาเสพติด ก็ต้องดูไปถึงว่าทำไมเขาต้องขายยา เป็นเพราะเขาไม่ได้วางแผนจะหาเงินจากแหล่งอื่นหรือไม่ คือเราต้องค่อยๆ โยงให้เขาเห็นปัญหา และปูพื้นฐานไป”

เพราะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือแอปพลิเคชันใดๆ ได้ ธิษณาจึงจัดเป็นกิจกรรม workshop ที่มีลักษณะคล้ายกับเกมจำลองตลาด ให้ผู้ต้องขังลองค้าขายและดูว่า มีปัจจัยอะไรมากระทบกับการค้าขายบ้าง โดยเธอเล่าว่า ผู้ต้องขังจะนำกระดาษมาแทนสินค้า ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับตัวตลาดกลาง ซึ่งตลาดกลางจะเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้ว่า ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันหมด

“ส่วนเรื่องเปลี่ยน mindset บริหารจัดการการเงิน เราลองให้เขาวาดภาพความสุข-ทุกข์ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเงินของเขา ให้เห็นว่า ตอนนั้นปัญหาเกิดขึ้นได้ยังไง ถ้าย้อนเวลากลับไปได้แล้วจะแก้ไขอย่างไร แล้วค่อยโยงเข้ามาที่เรื่องพื้นฐานของการบริหารจัดการการเงิน อย่างแรกคือต้องให้เขาจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อจะได้รู้ฐานะของตัวเอง และบางคนตอนอยู่ในเรือนจำ ก็มีรับงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำเบเกอรี่ ซักผ้า ก็ให้เขาบริหารจัดการด้วยตัวเอง เมื่อออกไปจากเรือนจำ เขาจะได้รู้ว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

“พอเรียนจบแล้ว ผู้ต้องขังก็บอกว่าเรื่องพวกนี้สนุกดีนะ เป็นโครงการที่ดี เพราะทำให้พวกเขาได้ปูพื้นความรู้จากที่ไม่เคยเรียนหรือไม่เคยรู้มาก่อน ตอนนี้พวกเขาก็รู้แล้วว่า ออกไปจะต้องเจออะไร และต้องเตรียมตัวอย่างไร”

ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด
ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนเรียกว่าเรือนจำว่าเป็นโลกมืด และตีตราผู้ต้องขังในด้านลบ แต่สำหรับธิษณาที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ต้องขังแล้ว เธอเล่าให้ฟังว่า จริงอยู่ที่ผู้ต้องขังในเรือนจำมีผู้ที่กระทำผิดอย่างร้ายแรง แต่ก็ยังมีกลุ่มที่เข้าไปด้วยคดีอื่นๆ เช่น ยาเสพติด ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของเรือนจำ ซึ่งธิษณาเห็นว่า เราอาจจะต้องลองย้อนกลับไปดูว่า ผู้ต้องขังคนนี้เข้ามาด้วยคดีอะไร มีวิธีอื่นหรือไม่ที่จะทำให้เขาตระหนักได้ว่า สิ่งที่ตนเองทำเป็นเรื่องผิด โดยที่ไม่ต้องใช้การจำคุก

“ตอนนี้เหมือนเราจะเน้นการจำคุก ทั้งๆ ที่ความผิดบางอย่างอาจจะไม่จำเป็นต้องรับโทษจำคุกก็ได้” ธิษณาแสดงความเห็น ซึ่งเธอออกตัวว่า ตนเองไม่ได้จบกฎหมายและไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้มากนัก แต่มองว่า เราอาจจะมีวิธีการหรือแนวทางอื่น ที่นอกเหนือไปจากการปรับหรือจำคุก เช่น การสวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM)

“เราอาจจะต้องมองไกลไปถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ปิดโอกาสไม่ให้เขาสร้างรายได้หรือเข้าถึงการจ้างงาน รวมไปถึงการให้ความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยน mindset ของคนในสังคมด้วย เท่าที่ทราบมา มีเด็กบางกลุ่มที่ค้ายาเพราะมองว่า ได้เงินมาง่าย ส่วนพ่อแม่เองก็ไม่เคยสอนสิ่งที่ถูกให้ลูก แต่กลับมองว่าจะรวยด้วยวิธีไหนก็ไม่เป็นไร เพราะคนรวยมีหน้าตามีตา เพราะฉะนั้น เราควรจะต้องกลับมาดูกันใหม่ว่า เราจะปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้เขายังไง และทำให้เขาเห็นว่า การทำผิดส่งผลกระทบถึงตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศอย่างไรบ้าง”

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ในเรือนจำจะมีการฝึกและอบรมทักษะอาชีพให้ผู้ต้องขังอยู่แล้ว แต่ธิษณาเสนอว่า เราอาจจะต้องลองพิจารณาว่า ทักษะอะไร หรือผลิตภัณฑ์อะไรที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต้องการ และให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้หรือผลิตสินค้าเหล่านี้ เพื่อจะได้มีทักษะติดตัวและหาทางประกอบอาชีพได้ในทันทีหลังพ้นโทษออกไป

“โลกของเราตอนนี้เป็นโลกดิจิทัล ทำให้เรือนจำเองต้องปรับตัวด้วย เช่นแต่ก่อน เรือนจำอาจจะสอนวาดภาพแนวไทยประยุกต์ ซึ่งมีกลุ่มตลาดค่อนข้างจำกัด แต่ตอนนี้เริ่มมีความต้องการในส่วนการวาดภาพดิจิทัล เช่น วาดภาพสติกเกอร์ หรือทำเนื้อหา (content) ออนไลน์ ซึ่งมีหลายๆ ที่เปิดรับ เราเลยอาจจะลองเปลี่ยนจากการวาดภาพทั่วไปเป็นการวาดภาพแบบดิจิทัล หรือรับออกแบบตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์ต่างๆ อันนี้น่าจะเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดได้ด้วย”

อีกหนึ่งทักษะที่ธิษณามองว่าจำเป็นอย่างมากในโลกยุคนี้คือ การศึกษาหาความรู้บนอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง ซึ่งผู้ต้องขังน่าจะได้รับการฝึกฝนก่อนพ้นโทษ รวมถึงทักษะเกี่ยวกับการขายของออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดในการเดินทางหรือการหาหน้าร้าน รวมถึงประหยัดเงินที่ใช้ในการลงทุนเริ่มแรกด้วย

“ป้ามล (ทิชา ณ นคร) เคยบอกว่า ไม่มีใครจะเป็นคนดีหรือคนไม่ดีไปเลย ทุกคนมีทั้งด้านมืดและด้านสว่างในตัวเอง ขึ้นอยู่กับเราว่า เราจะให้อาหารด้านมืดหรือด้านสว่างมากกว่ากัน ซึ่งพอเราได้ไปสัมผัสผู้ต้องขังจริงๆ ก็รู้สึกได้ว่า พวกเขาเป็นคนเหมือนกับเรานี่แหละ แต่เขาอาจจะเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยคนที่กระทำความผิด ไม่ได้มีคนชี้ให้เขาเห็นทางเลือกอื่น”

ธิษณากล่าว พร้อมทั้งเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า จากการได้เข้าไปทำงานร่วมกับผู้ต้องขังเหล่านี้ เธอเห็นว่าทุกคนไม่ได้อยากทำความผิด แต่อาจจะมีจุดอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาพลาดพลั้ง ทำให้ชีวิตพลิกผันจนต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ สิ่งที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่า เมื่อผู้ต้องขังเห็นว่าตนเองทำผิดพลาดไปแล้ว เขาจะเลือกใหม่อย่างไร และจะพลิกชีวิตตัวเองกลับมาได้ไหม

“ความเข้าใจและกำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าพ้นโทษออกไปแล้วครอบครัวยังมาซ้ำเติม ผู้ต้องขังก็อาจจะทำผิดซ้ำเพื่อจะได้กลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เพราะเรือนจำเป็นเหมือนโลกที่เขาคุ้นเคยมานาน เพราะฉะนั้น นอกจากผู้ต้องขังแล้ว ครอบครัวก็ต้องปรับตัว ทำความเข้าใจ และหาวิธีรับมือด้วย”

“อีกอย่างหนึ่งคือ เราทุกคนอยากมีคุณค่าในสังคม และคนมักวัดคุณค่าจากความสำเร็จ เช่น การเลี้ยงดูตนเองได้ ตรงนี้เราต้องดูด้วยว่า สังคมเปิดโอกาสให้เขาสร้างรายได้ให้ตัวเองหรือไม่ เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนทั่วไปก็ยังกลัวอดีตผู้ต้องขังอยู่ เราจึงต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับเขาด้วย”

ทั้งนี้ ธิษณาปิดท้ายว่า “เราอาจจะเริ่มจากตั้งคำถามกับตัวเองก็ได้นะว่า ถ้าเราทำผิดแล้ว เราอยากจะได้โอกาสที่สองอีกครั้งหรือไม่ แน่นอนว่าทุกคนคงอยากได้โอกาสนั้น แล้วทำไมเราถึงไม่ให้โอกาสคนอื่น ลองนึกภาพว่า เราเกิดมาในสังคมที่ไม่เคยได้รับโอกาสเลย แล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไร อย่าเหมารวมว่า ทุกคนในเรือนจำจะเป็นคนไม่ดี แต่ให้มองว่า ทุกคนเป็นคนที่มีโอกาสทำผิดพลาดได้ แบบนั้นน่าจะดีกว่า”

สิ่งสำคัญที่สุดเริ่มต้นจากการ ‘ให้’ โอกาส – นพพล ชูกลิ่น

“ที่นี่เราจะไม่ใช้คำว่า ‘นักโทษ’ แต่จะใช้คำว่า ‘ทีมพิเศษ’ แทน”

นพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด เล่าให้เราฟัง พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติมว่า ‘ทีมพิเศษ’ จะหมายถึงกลุ่มผู้ต้องขังจากเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ ที่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กแปรรูปของนพพล ซึ่งจะได้หมุนเวียนไปทำงานในส่วนต่างๆ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการทำงาน

เช่นเดียวกับธิษณา นพพลเป็นอีกหนึ่งคนที่เข้าร่วมหลักสูตร RoLD และมีโอกาสไปดูงานที่เรือนจำ ตอนนั้นเองที่ทำให้เขาเริ่มเกิดคำถาม และเกิดแนวคิดที่จะคืนคนดีกลับสู่สังคมให้ได้ผลจริงๆ

“สำหรับผม การคืนคนดีสู่สังคมต้องเริ่มจากแนวคิดของการให้โอกาสให้กับผู้ทำผิดพลาด ไปจนถึงการจัดกระบวนการให้เขาสามารถปรับตัวและยืนอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเอง” นพพล กล่าวถึงที่มาของแนวคิด ‘การให้องค์ความรู้’ ในการทำงาน ซึ่งต้องทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นรากฐานในการเริ่มต้นชีวิตต่อไป

แน่นอนว่า การรับนักโทษมาทำงานต้องมีขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ซึ่งนพพลอธิบายว่า ไม่จำเป็นที่นักโทษจะต้องมีความรู้ตรงกับงานที่ต้องการ แต่หมายถึงการที่ผู้ต้องขังซึ่งเข้ารับการคัดเลือกทำงานมองว่า ตนเองมีโอกาสเติบโตและจะได้ความรู้ติดตัวไปจากการทำงานตรงนี้

“อย่างไรก็ดี เราต้องเช็กพฤติกรรมของนักโทษด้วยเช่นกัน และตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ คนที่จะออกมาปฏิบัติหน้าที่ข้างนอกได้จะต้องเหลือโทษไม่เกิน 3 ปี และมีคนค้ำประกันให้ด้วย” นพพล กล่าว โดยในช่วงแรกๆ ที่ทางโรงงานเปิดให้นักโทษชายได้มาทำงานในโรงงาน ตัวนพพลได้มีโอกาสไปร่วมคัดเลือกและพูดคุยกับผู้ต้องขังด้วยตัวเอง และหลังจากที่รับผู้ต้องขังเข้ามาแล้ว จะต้องมีการจัดสอบและวัดคุณภาพชิ้นงานภายหลังด้วย

“เราจะมีสมุดพกให้เขา เหมือนสมุดพกตอนเรียนหนังสือน่ะครับ ถ้าเขาทำได้ดี และใกล้จะพ้นโทษแล้ว เราก็อาจจะตกลงให้เขามาทำงานกับเราได้ หรือถ้าเขาไม่ได้มาทำงานกับเรา เราก็จะออกใบรับรองการทำงานให้เขาในการสมัครงาน และเราจะช่วยติดตามด้วยว่า เขาไปสมัครงานที่ไหน และได้งานที่นั่นหรือไม่”

นพพลชี้ให้เราเห็นว่า การรับผู้ต้องขังมาทำงานทำให้ผู้ประกอบการอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เขาชี้ให้เห็นว่า ผู้ต้องขังกลุ่มนี้มีวินัย ทำงานตรงเวลา อีกทั้งถ้าผู้ต้องขังป่วยและไม่สามารถมาทำงานได้ เรือนจำก็จะจัดหาคนมาแทนให้ด้วย ซึ่งตัวเขาได้บันทึกสถิติเอาไว้ เพื่อที่ว่าในอนาคตอาจจะเชิญนักธุรกิจจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ มาลองทำโปรแกรมนี้่ด้วย

นพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด
นพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด

ในฐานะผู้ประกอบการ นพพลแบ่งปันแนวคิดว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีความคิดที่อยากให้โอกาสคนอื่น และต้องมี mindset ของตัวเองด้วย กล่าวคือ ไม่มองว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานราคาถูก หรือมอบหมายงานที่มีความเสี่ยงมากๆ หรืองานที่คนไม่ค่อยทำกันให้กับผู้ต้องขัง และที่สำคัญคือ ต้องพยายามสร้างความเข้าใจให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ เข้าใจและยอมรับในตัวผู้ต้องขังด้วย

“ตอนแรกผู้ต้องขังจะนั่งรวมกัน แต่ผมให้พวกเขากระจายตัวไปนั่งกินข้าวกับเพื่อนพนักงานระดับปฏิบัติการคนอื่นๆ จะได้พูดคุยและทำความรู้จักกัน ปรากฎว่าไม่มีใครกลัวพวกเขาเลยนะครับ ผู้ต้องขังกับพนักงานปกตินั่งกินข้าวด้วยกันอย่างมีความสุข และผ่อนคลายมากขึ้นด้วย เรียกได้ว่าตอนผมพาลูกค้าเดินดูโรงงาน ดูไลน์การผลิต ถ้าไม่บอกก็จะไม่มีใครรู้ว่า มีพนักงานที่เป็นผู้ต้องขังอยู่ด้วย”

อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่อาจจะมีความกังวลบ้างคือ พนักงานระดับผู้บังคับบัญชา แต่นพพลยืนยันว่า เมื่อหัวหน้าทำงานร่วมกับผู้ต้องขังไปเรื่อยๆ แล้ว พวกเขาก็เปลี่ยน mindset ของตนเองเช่นกัน

นอกจากการรับนักโทษชายมาทำงานในโรงงานเหล็กแล้ว นพพลยังร่วมมือกับเรือนจำ จัดระบบให้ผู้ต้องขังหญิงได้ทำงาน call center จากในเรือนจำ เพราะผู้ต้องขังหญิงไม่สามารถออกนอกเรือนจำได้ เนื่องมาจากข้อกำหนดทางกฎหมาย และด้วยความที่เรือนจำมีกฎระเบียบค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ระบบการทำงานในเรือนจำต้องมีความเข้มงวดพอให้เจ้าหน้าที่มั่นใจได้ว่า ผู้ต้องขังจะสื่อสารกับคนภายนอก นอกเหนือจากงานที่ต้องทำไม่ได้

“บางคนอาจจะมองว่า เรือนจำเป็นสถานที่รวมของคนไม่ดี แต่ผมมองว่า จริงๆ แล้วคนเราก็มีทั้งดีและไม่ดี คนข้างนอกบางคนอาจจะเลวร้ายกว่าคนในเรือนจำด้วยซ้ำ แต่เรากลับไปเหมารวมก่อนเท่านั้นเองว่า เรือนจำเป็นดินแดนแห่งความเลวร้าย หรือเป็นศูนย์รวมแห่งความเลวร้าย แต่ความเลวกับความผิดพลาดมันคนละส่วนกัน เพราะบางคนก็แค่ทำผิดพลาด แต่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เราต้องไปดูตั้งแต่สาเหตุด้วย” นพพลชี้ให้เห็น

“แน่นอนว่า คนเราไม่ได้เป็นคนไม่ดีตั้งแต่เกิด แต่มันต้องมีสาเหตุหรือปัจจัยบางอย่าง อาจจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจหรือครอบครัว เราจึงต้องไปดูก่อนว่าสาเหตุเบื้องต้นคืออะไร ทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น และให้โอกาสเขา”

“สิ่งสำคัญที่สุดเริ่มต้นจากคำว่า ‘ให้’ แต่ไม่ใช่ว่าผมหรือผู้ประกอบการคนอื่นๆ ให้โอกาสเขาอย่างเดียว แต่ผู้ต้องขังเองก็ต้อง ‘ให้’ ด้วย คือให้โอกาสกับตัวเอง ทั้งสองฝ่ายต้อง ‘ให้’ ซึ่งกันและกัน การคืนคนดีกลับสู่สังคมจึงจะประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง” นพพลปิดท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023