fbpx
ยลด้านสว่าง แง้มด้านมืด รู้จักหลากมิติของ ‘3D Printing’

ยลด้านสว่าง แง้มด้านมืด รู้จักหลากมิติของ ‘3D Printing’

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

ทุกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาบนโลก ล้วนอยู่บนเฉดสีเทาระหว่างขาวกับดำ มองดูคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่คุณกำลังใช้อ่านบทความนี้ มันได้สร้างประโยชน์ให้โลกมาแล้วมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ทำลายชีวิตคน และเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมที่เราคิดไม่ถึงมากมายเช่นกัน

เครื่องพิมพ์สามมิติหรือ ‘3D Printer’ คือเทคโนโลยีที่หลายคนเริ่มคุ้นหู และเห็นผ่านตามากขึ้นในช่วงหลายปีนี้ หลักการของมันก็ตรงตามชื่อ คือการสร้างวัตถุชิ้นหนึ่ง ด้วยการพิมพ์เนื้อวัสดุเข้าไปทีละชั้นจากโมเดลต้นแบบที่สร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์ วัสดุนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ พลาสติก อลูมิเนียม เซรามิก วัสดุล้ำๆ ที่คิดค้นขึ้นใหม่ หรือแม้กระทั่งเซลล์สิ่งมีชีวิต

3D Printing
ภาพจาก MakerBot.com

ศักยภาพของเครื่องพิมพ์สามมิติที่สูงขึ้นทุกวินาที และบริการรับพิมพ์สามมิติที่มีให้เห็นมากขึ้นทุกวัน เป็นสัญญาณว่าอีกไม่นาน เทคโนโลยีนี้อาจกลายเป็นสิ่งที่มีทุกบ้าน และใช้งานง่ายไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์

ภาพฝันของวันที่ใครๆ ก็สามารถผลิตของที่ตัวเองต้องการได้จากที่บ้าน จึงเริ่มปรากฏเค้าลาง

อะไรๆ ก็ Custom made ด้วย 3D Printing

เมื่อนึกถึงผลิตภัณฑ์แบบ Custom made หรือสิ่งของเฉพาะบุคคลที่ผลิตขึ้นสำหรับผู้ใช้คนเดียว คงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงราคาที่มักจะแพงแสนแพงตามไปด้วย สาเหตุของราคาแพงมาจากขั้นตอนการผลิตที่มีเท่ากันของสินค้าปกติ สามารถนำไปผลิตซ้ำเพื่อขายได้เป็นแสนเป็นล้านชิ้น ทว่ากับสินค้า Custom made กลับผลิตเพื่อคนซื้อเพียงคนเดียว

กลุ่มผู้จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ Custom made ที่เราอาจนึกไม่ถึงก็คือผู้พิการ’  อวัยวะเทียมของ Custom made มีราคาหลายแสนบาท ซ้ำยังต้องเปลี่ยนใหม่สม่ำเสมอตามร่างกายที่เติบโตของผู้ใช้ ข้อจำกัดนี้ทำให้ผู้พิการเพียงน้อยคนมีโอกาสครอบครองมัน

นี่คือเหตุผลที่ e-NABLE เกิดขึ้น

Custom made ,3D Printing
ภาพจาก All3DP

e-NABLE คือเครือข่ายในรูปแบบเว็บไซต์ ที่รวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ วิศวกร นักออกแบบ สถาปนิก วิศกรคอมพิวเตอร์ นักประดิษฐ์และแพทย์ รวมตัวกันออกแบบกลไกมือเทียมสำหรับผู้พิการไม่มีนิ้วมือตั้งแต่กำเนิด หรือผู้สูญเสียนิ้วมือจากอุบัติเหตุทั่วโลก

แพลตฟอร์มของ e-NABLE เปิดให้ผู้พิการจากทุกมุมโลกสามารถดาวน์โหลดไฟล์พิมพ์เขียวของโมเดลมือเทียมที่เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง พร้อมคู่มือบอกวิธีการประกอบและติดตั้งที่เข้าใจง่าย ให้ผู้พิการนำไปพิมพ์ด้วยเครื่อง 3D Printer ออกมาใช้งานได้ด้วยตนเอง (แน่นอนว่าในบางขั้นตอนจำเป็นต้องให้คนอื่นช่วยอยู่บ้าง) ที่สำคัญ ทั้งหมดใช้เพียงต้นทุนค่าวัสดุไม่เกิน 2,000 บาท 

Custom made, 3D Printing, Kids
ภาพจาก enablingthefuture.org

เว็บไซต์ยังเปิดให้นักออกแบบและนักพัฒนาจากทั่วโลก นำเสนอแบบกลไกมือเทียมของตัวเอง ทำให้ e-NABLE มีมือเทียมหลากหลายรุ่นไว้รองรับทุกรูปแบบความพิการ หรือกระทั่งมือเทียมสำหรับใช้งานเฉพาะทาง เช่น มือเทียมที่ออกแบบสำหรับใช้เล่นไวโอลินโดยเฉพาะ

3D Printing ไม่เพียงสามารถผลิตอะไหล่ให้มนุษย์ด้วยราคาที่ถูกลง แต่ยังสามารถผลิตอะไหล่ให้กับธรรมชาติได้อีกด้วย

3D Printing, Sea Coral, ประการัง
ภาพจาก All3DP

ภาพนี้คือปะการังเทียม ผลงานของ Reef Design Lab ที่ส่งข้ามทะเลจากประเทศออสเตรเลียสู่มัลดีฟส์ เราอาจคุ้นเคยกับภาพปะการังเทียมที่ขึ้นรูปเป็นโครงสร้างง่ายๆ จากท่อ PVC แต่ปัญหาก็คือสัตว์ทะเลที่เคยอาศัยตามแนวปะการังหลายชนิด ไม่คุ้นเคยกับรูปทรงเหล่านั้น

เหล่านักออกแบบจึงแก้ปัญหาด้วยการลงมือศึกษาและเก็บข้อมูลรูปทรงปะการังจริงที่เคยมีในพื้นที่ ขึ้นโมเดลสามมิติ และพิมพ์ออกมาด้วยเครื่อง 3D Printer

ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ เราจึงสามารถจำลองรูปทรงและรูพรุนของพื้นผิวของปะการังเทียมได้ใกล้เคียงของจริง เพื่อนำไปใช้ทดแทนปะการังที่เคยมีในพื้นที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ เป็นที่อยู่ชั่วคราวของสัตว์ทะเล และเป็นพื้นที่สำหรับอนุบาลปะการัง ตามแผนฟื้นฟูระบบนิเวศ

กลไกมือเทียมของ e-NABLE และปะการังเทียม Reef Design Lab คือด้านสว่างจากศักยภาพของ 3D Printing  หากแต่ในเวลาเดียวกัน เงามืดก็กำลังปรากฏ

ความตายดาวน์โหลดได้

ในวันที่ใครๆ ก็พิมพ์ของที่ต้องการได้ทันที

จะเกิดอะไรขึ้น หากของที่ว่า หมายถึง อาวุธปืน, มีด หรือสิ่งผิดกฎหมาย..

‘Liberator’ คือชื่อของปืนสั้นกระบอกแรก สำหรับผลิตโดยเครื่องพิมพ์สามมิติ พิมพ์เขียวของมันถูกอัปโหลดขึ้นบนโลกออนไลน์เมื่อปี 2013

เพียงไม่กี่วัน ไฟล์นั้นถูกดาวน์โหลดไปกว่า 100,000 ครั้ง

3D Printing, gun, Liberator
ภาพจาก 3dprintingindustry.com

แบบพิมพ์เขียวของปืน 3D Printing กระบอกแรกของโลก ถูกเผยแพร่โดยองค์กร Defense Distributed ก่อตั้งโดยนักกฎหมาย Cody Wilson ด้วยอุดมการณ์ที่อยากให้ทุกคนสามารถป้องกันตัวเองได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

ปืนสั้น Liberator ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งระงับการเผยแพร่ในเวลาต่อมา แต่นาย Wilson ก็ฟ้องร้องจนชนะคดี จนในที่สุดศาลสหรัฐอเมริกาได้ออกคำสั่งห้ามหลายรัฐเผยแพร่พิมพ์เขียวของอาวุธปืน 3D Printing อย่างเป็นทางการ เนื่องจากมันเล็ดลอดช่องโหว่ของกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ที่สำคัญ วัสดุในการผลิตปืนกระบอกนี้คือพลาสติก ทำให้ไม่สามารถตรวจเจอได้จากเครื่องสแกนอาวุธอีกด้วย

แต่ใครก็รู้ว่าสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างไฟล์ในคอมพิวเตอร์นั้นยากจะตรวจตรา เพราะหาช่องทางแพร่กระจายได้เร็วกว่าไวรัส ลองจินตนาการภาพ หากวันหนึ่งที่ 3D Printer เป็นอุปกรณ์ที่ทุกบ้านมี นั่นเท่ากับว่า ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของปืนกระบอกนี้ พร้อมถือออกไปปลิดชีวิตใครก็ได้

ทรัพย์สินทางปัญญา : ปัญหาตอใหญ่ในยุค 3D Printing

Dora Goodman ผู้ผลิตกล้องฟิล์มสั่งทำและสายสะพายกล้องแฮนด์เมด คลอดโปรเจกต์ล่าสุดที่น่าจะถูกใจช่างภาพทั้งมือโปรและมือสมัครเล่น นั่นคือการแจกกล้องวินเทจฟรีให้ทุกคน!

3D Printing, ทรัพย์สินทางปัญญา, กล้อง
ภาพจาก diyphotography.net

กล้องรุ่น Goodman One ตัวนี้ไม่ใช่กล้องวินเทจสมัยสงครามโลกแท้ แต่คือกล้องที่เธอออกแบบใหม่ ให้มีรูปร่างหน้าตา กลไก และสัมผัสการใช้งานคล้ายคลึงกับกล้องอนาล็อกสมัยก่อน

ที่บอกว่าแจกฟรี ก็เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ ของตัวกล้องสามารถผลิตได้ด้วย 3D Printer ทุกคนสามารถดาวน์โหลดพิมพ์เขียวชิ้นส่วนต่างๆ ไปพิมพ์เองได้ที่บ้าน โดยจะบริจาคทุนเพื่อสนับสนุนโปรเจกต์หรือไม่ก็แล้วแต่

แม้เคสของ Goodman One จะเป็นของฟรี แต่ก็ทำให้เราเกิดคำถามว่า การซื้อขายผลิตภัณฑ์ในยุคที่ทุกคนสามารถพิมพ์สินค้าเองได้ที่บ้าน จะเป็นอย่างไร และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ของแท้ของเทียมจะถูกจัดการอีท่าไหน?

หลายคนคงจำได้ ในยุคที่อุตสาหกรรมดนตรีเปลี่ยนผ่านจากเทปคาสเส็ต (Cassette Tape) สู่ซีดี (Compact Disc) ไฟล์เพลงนามสกุล MP3 เกิดขึ้นพอดิบพอดีกับช่วงเวลาที่คอมพิวเตอร์แพร่หลายไปทุกครัวเรือน ค่ายเพลงต่างๆ ต้องกุมขมับเพราะไม่สามารถควบคุมไฟล์เพลงที่บางส่วนหลุดจากกระบวนการผลิต และอีกส่วนแพร่กระจายจากผู้ฟัง ที่ดึงไฟล์จากซีดี แอบนำไปอัปโหลด และส่งต่อกันบนโลกออนไลน์

ผลคือซีดีเพลงเถื่อนออกมาเกลื่อนตลาด เราฟังเพลงโดยไม่ต้องเสียเงินซักบาท เพราะแทบจะทุกอัลบั้มสามารถหาดาวน์โหลดได้จากอินเตอร์เน็ต แม้จะมีการออกกฎหมาย ระงับช่องทางการเผยแพร่มากมาย แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดอยู่ดี

ทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นปัญหาที่น่าถกเถียง ในยุคที่ 3D Printing กำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีในทุกบ้านเช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์  อาจเป็นไปได้ว่า ไฟล์พิมพ์เขียวหรือ 3D Model ของผลิตภัณฑ์หนึ่ง จะหลุดจากกระบวนการผลิต และถูกส่งต่อกันในอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับวงการเพลง

ในวันข้างหน้า หากประสิทธิภาพของเครื่องพิมพ์สามมิติที่ใช้ในครัวเรือน สามารถพิมพ์วัตถุที่ซับซ้อนและมีคุณภาพสูงใกล้เคียงโรงงานผลิต เราอาจขโมยผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง โดยไม่ต้องพรางตัวไปฉกฉวยสินค้าถึงหน้าร้าน ทว่าเพียงกดปุ่มดาวน์โหลดโมเดลผลิตภัณฑ์ที่หลุดรั่วจากโลกออนไลน์ แล้วพิมพ์ออกมาด้วยเครื่องพิมพ์ที่บ้าน โดยเสียเพียงต้นทุนค่าวัสดุ เราก็ได้สินค้าที่ต้องการมาครอบครอง

Maker : ผลิตมากขึ้น = ขยะมากขึ้น?

เทคโนโลยี 3D Printing มอบสถานะ Maker ให้กับทุกคน คุณสามารถผลิตของที่ต้องการได้ทันที ทุกคนจะไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้แต่กลายเป็นผู้สร้างสรรค์ที่สามารถเนรมิตสิ่งของตัวเองอยากใช้ไปพร้อมกัน

เทคโนโลยี 3D Printing เป็นเหมือนทางลัดที่พาคุณข้ามขั้นตอนที่เคยใช้เวลานานหลายเดือน หรืออาจหลายปีให้ย่นย่อลงเหลือเพียงไม่กี่วัน จากเดิม เก้าอี้หนึ่งตัวต้องผ่านการออกแบบ, แก้แบบนับสิบ, ทำ Prototype เพื่อทดลองใช้ กว่าจะได้แบบที่สมบูรณ์ เตรียมนำไปผลิต

ทว่าในอนาคต คุณอาจได้เก้าอี้ในแบบที่คุณต้องการ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง จากมุมเล็กๆ ในห้องนอนที่มีเพียงคอมพิวเตอร์หนึ่งตัวและเครื่องพิมพ์สามมิติเท่านั้น นึกภาพตาม ดูเหมือนจะมีแต่ประโยชน์มหาศาล แต่เมื่อคิดกลับกัน เก้าอี้หนึ่งตัวที่ผ่านการคิดด้วยเวลาเพียงสั้นๆ โดยไม่ได้มีความรู้ทางการออกแบบและวิศวกรรม ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย การรับน้ำหนัก ไม่ได้ผ่านกระบวนการทดลองใช้ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เวิร์คจริงไหม?

สภาเศรษฐกิจโลกคาดการณ์ผลเสีย จากการที่ทุกคนสามารถผลิตสิ่งที่ต้องการอย่างเท่าเทียมด้วย 3D Printer ว่าอาจทำให้เกิดขยะที่ต้องกำจัดมากขึ้น เมื่อการผลิตสามารถทำได้ง่ายและเร็ว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานไม่ได้จริง หรือมีอายุการใช้งานสั้น ก็มากตามไปด้วย

และเมื่อถอยออกมามองภาพใหญ่กว่านั้น ทางลัดที่ 3D Printing สร้างขึ้น อาจทำให้คนที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลายต้องตกงาน อย่างช่างฝีมือที่เคยทำงานในขั้นตอนการแกะแบบ ขึ้นโมเดล ไปจนถึงผลิตสินค้า นี่คือผลกระทบที่กว้างใหญ่ในระดับเศรษฐกิจ จากนวัตกรรมเครื่องเล็กๆ อย่าง 3D Printer ที่เราต้องเตรียมรับมือ

เทคโนโลยีใหม่เป็นเรื่องที่เราทุกคนไม่สามารถปฏิเสธได้

3D Printing ก็เช่นกัน นอกจากดีใจหรือหวาดผวาไปล่วงหน้า สิ่งที่เราทุกคนทำได้ คือเดินเข้าไปจับมือ ทำความรู้จักมัน ทั้งในแง่งามว่าสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ให้โลกใบนี้ได้แค่ไหน และอย่าลืม แง้มดูด้านมืด ว่าสามารถทำลายโลกใบนี้ได้อย่างไรด้วย

ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับคุณ

อยากเห็นโลกเป็นแบบไหน ก็เลือกพิมพ์ออกมาในแบบนั้น

อ้างอิง 

https://all3dp.com/4/3d-printing-implanting-coral-reefs-maldives/

http://enablingthefuture.org

https://all3dp.com/4/3d-printed-guns-get-another-shot-after-u-s-government-settles-lawsuit-with-defense-distributed/

https://3dprinterchat.com/2016/01/6-taboos-3d-printing/

https://petapixel.com/2018/06/21/goodman-one-is-an-open-source-3d-printed-analog-camera/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save