fbpx

“ถ้าดูแลคนในฐานะมนุษย์อย่างแท้จริง มนุษย์จะงอกงาม” ทิชา ณ นคร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

อย่างที่เรารู้กัน — ชีวิตไม่เคยง่าย และยิ่งกับชีวิตการเป็นผู้ต้องขังยิ่งไม่เคยง่าย

โลกหลังกำแพงสูงยังมีผู้คนอีกหลายหมื่นแสนชีวิตที่ดำรงอยู่ไปในแต่ละวัน มีรอยยิ้มและคราบน้ำตาเหมือนอย่างมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ถ้าจะมีอะไรที่แตกต่าง คือพวกเขาได้รับการตัดสินจากการกระทำความผิดและเข้าไปรับโทษ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยิ่งเมื่อเราเชื่อว่า วันหนึ่งคนเหล่านี้จะต้องออกมาใช้ชีวิตภายนอกอย่างปกติ อยู่ในสังคมเดียวกันกับเรา การดูแลกายและใจผู้ต้องขังให้ดีจึงยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำให้ดีขึ้น ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สนับสนุนเรื่องนี้ โดยเน้นเรื่องการดูแลผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีความต้องการเฉพาะด้านที่แตกต่าง และให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนด้านเพศสภาพ

101 นัดคุยกับ ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม ผู้ทำงานกับผู้กระทำผิดมาหลายสิบปี ว่าด้วยประเด็นเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพ และอนาคตของการดูแลผู้ต้องขัง ประเด็นตั้งต้นมีเท่านี้ แต่ป้ามลพาเราทะลุทะลวงลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งของปัญหา ชี้ชวนให้มองโลกการทำงานกับผู้ต้องขังด้วยสายตาที่ละเอียดอ่อนขึ้น และโยงให้เห็นโครงสร้างขนาดใหญ่ของสังคมที่ยังมีปัญหาอยู่หลายจุด

ตลอดบทสนทนา เราพบว่ามวลความคิดที่ลอยอยู่รอบทุกคำตอบคือ ‘การใช้ใจรักษาใจ’ และการดูแลหัวใจคนนั้น อาจต้องใช้อะไรมากมายกว่าที่ตาเห็น บทสัมภาษณ์บรรทัดถัดจากนี้คือการพยายามคลี่สิ่งเหล่านั้น

 

มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาในเรือนจำมาตลอด ตั้งแต่เรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง และมาตรการรองรับหลังจากพ้นโทษออกไปสู่สังคม ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นหนึ่งในความพยามแก้ปัญหานั้น ในฐานะที่คุณทำงานกับผู้กระทำผิด และพยายามคืนคนให้กลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ คุณมองเห็นอะไรบ้างในข้อกำหนดกรุงเทพ

ถ้าพูดในเชิงแนวคิด ข้อกำหนดกรุงเทพเกิดขึ้นบนแนวคิดและเจตนารมณ์ที่ดี แต่ถ้าจากการติดตามดูผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ ทั้งที่รู้จักและเห็นในข่าว เราก็พบว่าข้อกำหนดกรุงเทพยังไม่ใช่หลักประกัน ถ้ามองให้ลึกเข้าไป ข้อกำหนดกรุงเทพก็เหมือนกติกาใหม่ของสังคม เป็นระเบียบใหม่ของโลกที่เรากำลังจะเอาไปค้ำยันคนที่เปราะบางที่สุด หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากสังคมที่ไม่เป็นธรรม จากความเหลื่อมล้ำ

ณ ขณะนี้ ข้อกำหนดกรุงเทพยังเป็นพิธีกรรมนะสำหรับป้า ถ้าพูดให้ตรงที่สุดคือต้องเปลี่ยนในระดับความคิดของผู้คนที่ขับเคลื่อนงานเหล่านี้โดยตรง หรือต้องเปลี่ยนในระดับโครงสร้างและระบบภายในองค์กรที่รับผิดชอบชีวิตผู้ต้องขัง ซึ่งพอเราไม่เปลี่ยนโครงสร้าง ไม่เปลี่ยนระบบ ก็ไม่ต่างจากการเอาสิ่งที่สวยงามอย่างใดอย่างหนึ่งไปวางในเรือนจำหรืออาจไม่ต่างจากการเอากรอบรูปที่งดงามมากไปวางไว้ในห้องห้องหนึ่งโดยที่ยังไม่ได้จัดการอะไรเลย อาจมีภาพที่ทำให้ห้องดูสวยขึ้นเมื่อมองเข้าไป แต่บริบทยังไม่ใช่ หรือความทุกข์โศกของผู้ต้องขังและปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าพวกเขาก็ยังอยู่ครบ

ถ้าเราสังเกตคนที่ออกมาจากเรือนจำ เขาก็ยังไม่ได้ถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองมั่นใจ มีที่หยัดยืน แล้วเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าในพื้นที่แห่งนั้นทำงานกับจิตใจและความคิดของเขา ดูแลเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างแท้จริง มนุษย์จะงอกงามตามที่เราได้ทุ่มเทพลังทั้งหมดทั้งมวลของเราลงไปนะ

 

หลายคนที่อยู่ในเรือนจำก็ยังเจอปัญหาเดิมๆ เช่น คุณภาพชีวิตไม่ดี ออกมาแล้วไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่มีกระบวนการพัฒนาจิตใจระหว่างคุมขัง แต่ที่บ้านกาญจนาฯ มีวิธีการปฏิบัติกับผู้กระทำผิดแตกต่างออกไป แนวคิดของบ้านกาญจนาฯ แตกต่างหรือเหมือนจากข้อกำหนดกรุงเทพอย่างไร

บ้านกาญจนาฯ ไม่ต้องมีข้อกำหนดกรุงเทพนะ แต่เราก็มีความเชื่อที่แข็งแรงมากว่าไม่มีใครเกิดมาเพื่อจะเป็นอาชญากร หรืออยากเป็นคนทำผิดกฎหมายแล้วมาอยู่ในที่คุมขังที่ไร้สิทธิและเสรีภาพ แต่บนเส้นทางอันยาวเหยียดของการเกิดและเติบโตในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนที่ไม่ได้แข็งแกร่งพอหรือมีทุนชีวิตไม่มากพอ ต้องทำผิดพลาดแล้วเข้ามาอยู่ในสถานที่ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพเขา

บนความเชื่อที่แข็งแรงนี้จะทำให้เราไม่กล้าละเมิดเขาอีกแม้แต่น้อย หรือแม้แต่ซ้ำเติมเขา ทันทีที่นักโทษเด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาในบ้านกาญจนาฯ และเขาถูกใส่กุญแจมือตามระเบียบของราชทัณฑ์ ซึ่งกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้เอาทุกระเบียบของราชทัณฑ์มาไว้ที่ตัวเอง ดังนั้นเวลามีการเคลื่อนย้ายนักโทษเด็กเหล่านี้ไปที่ไหนก็ต้องใส่กุญแจมือ

แต่เมื่อเขามาถึงบ้านกาญจนาฯ หลังจากกุญแจมือถูกปลด การผูกข้อมือรับขวัญและการกอดจะตามมา ในระหว่างที่กอด เราก็จะสื่อสารประมาณว่า เขาคือสิ่งที่มีค่า ถ้าปาฏิหาริย์มีจริง พาผมกลับไปในค่ำคืนที่ผมเคยลั่นไกใส่ใครสักคนหนึ่ง หรือเคยทำสิ่งที่ผิดพลาดและกฎหมายไม่อาจอนุโลมได้ ป้าเชื่อว่าผมจะไม่ทำ แต่เมื่อทำไปแล้ว มีคนเสียหายแล้ว นี่คือความผิดตามกฎหมาย ป้าเข้าใจและอยากให้คนที่รู้สึกผิดพลาดคนนั้นแข็งแกร่งแล้วก้าวออกมาให้ได้ เรามาช่วยกันนะลูก ผมก็ต้องช่วยตัวเอง แล้วเดี๋ยวป้าจะเชิญพ่อแม่ผมมาช่วยกัน หลายๆ พลังเหล่านี้จะพาผมออกมาจากความคิดสีดำสีเทานั้น แล้วเราก็จะกลับคืนสู่ครอบครัวโดยบอบช้ำน้อยที่สุด หรือสง่างามมากกว่าเดิม

ความเข้าใจที่เรามีต่อเงื่อนไขชีวิตของคนที่เป็นผู้แพ้ทั้งหมดน่าจะมีพลังมากกว่ากติกาใดๆ ที่จะมาบังคับ หรือแม้แต่มาเอื้ออำนวยให้เราได้ใช้มัน ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด ไม่เข้าใจเงื่อนไขชีวิตของผู้คนเหล่านั้นอย่างเพียงพอ ต่อให้มีกติกาที่เอื้ออำนวยให้เราทำ เราก็จะหลุด เราจะมีเหตุผลอธิบายการกระทำผิดของเขาและความชอบธรรมของเรา เพราะวิธีคิดของเราไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปด้วย

แต่แค่วิธีคิดก็ยังไม่พอนะ ต้องมีอีกตัวช่วยที่ทำให้วิธีคิดที่ดีของเราทรงพลังยิ่งขึ้น นั่นคือการมีโครงสร้างที่ดี มีระบบที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานเพื่อให้พื้นที่แห่งนั้นไม่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปัญหา เช่น ทำอย่างไรให้คนติดคุกน้อยที่สุด และทำอย่างไรให้ระบบคุกไม่เฝ้าดูแต่ด้านมืดของผู้ต้องขัง แต่จะขยายด้านสว่างของผู้ต้องขังให้มากที่สุด หรือทำอย่างไรถึงจะให้ฉากแรกที่เขาเปลี่ยนสถานะจากเสรีชนคนธรรมดามาเป็นนักโทษ แล้วเขายังรู้สึกว่าแสงสว่างแห่งความหวังยังมีอยู่ ถ้าทุกอย่างร้อยเรียงกันได้อย่างนี้จริงๆ ไม่ต้องมีกติกาพิเศษ ไม่ว่าจะในชื่อใดๆ ก็ตาม

 

คนพูดกันเยอะว่า ป้ามลให้ชีวิตใหม่ของเด็กเหล่านี้ แต่ขณะเดียวกันคนคนหนึ่งที่เขาโตมา 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาเจออะไรมาบ้าง แล้วเขาก็ต้องเข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ หรือในเรือนจำ เวลาไม่กี่ปีจะเปลี่ยนคนได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ชีวิตที่ผ่านเขาเจออะไรมาบ้างก็ไม่รู้ 

เนื่องจากบ้านกาญจนาฯ เป็นบ้านที่ไม่มีประตู ไม่มีกำแพง ไม่มีรั้ว ซึ่งในเชิงกายภาพมันขังคนที่เป็นนักโทษไม่ได้ ดังนั้นกรมพินิจฯ ก็เลยกำหนดกรอบการทำงานให้บ้านกาญจนาฯ เมื่อปี 2546 ตอนที่ป้ามาเริ่มงานที่นี่ในฐานะคนนอกหรือ outsource ก็คือให้รับเด็กที่มีโทษต่ำ แต่พอเราทำงานไปได้ไม่กี่เดือน ป้าก็ตอบกลับไปว่า “ไม่ได้” เพราะเครื่องมือที่เราเลือกใช้ในบ้านกาญจนาฯ  เป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่เครื่องมือควบคุมพฤติกรรม

เครื่องมือควบคุมพฤติกรรมในความหมายของป้าคือการใช้อำนาจ ใช้กำลัง ใช้การออกแรงหรืออะไรก็ได้เพื่อทำให้พฤติกรรมนั้นสงบนิ่ง เชื่อง และอยู่ในข้อตกลง ซึ่งบ้านกาญจนาฯ เราไม่เลือกใช้เครื่องมือที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ แต่เราเลือกใช้เครื่องมือที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของมนุษย์เพราะเราเชื่อว่าเมื่อความคิดเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน ชีวิตก็จะเปลี่ยนและเราก็พบอีกว่ากรอบที่กรมพินิจฯ ให้มาคือเป็นเด็กที่โทษต่ำ ซึ่งหมายถึงเวลาที่เขาอยู่ในสถานที่ควบคุมจะสั้น และระยะเวลาสั้นๆ ไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนวิธีคิด

บ้านกาญจนาฯ จึงพยายามหาตัวเลขที่แม่นยำว่าในการเปลี่ยนวิธีคิดของคนคนหนึ่ง ซึ่งผ่านเรื่องราวมากมายจนบอบช้ำพ่ายแพ้ และอัตลักษณ์พังไปแล้วนั้นเราต้องใช้เวลาสักเท่าใด ซึ่งในที่สุดก็พบเวลาที่เหมาะสมจริงๆ คือประมาณ 1 ปีครึ่งขึ้นไป แต่นั่นเท่ากับว่าเรากำลังจะต้องทำงานกับเด็กที่ถูกควบคุมตัวด้วยคดีอุกฉกรรจ์ตามหลักของกฎหมาย

ดังนั้น ถ้าถามว่าทำไมเราถึงเปลี่ยนคนที่เคยมีแผล หรือคนที่ผ่านเรื่องราวในวัยเด็กที่บอบช้ำได้ หนึ่งในนั้นคือการหาเครื่องมือที่เหมาะสมกับการเยียวยาบาดแผลของเขาภายใต้ระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอ รวมทั้งวิถีวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ใช่เลือกใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง ที่สำคัญหนึ่งในนั้นคือพ่อแม่ของเขาในฐานะผู้สร้างบาดแผลต้องมาเป็นหุ้นส่วนกับเรา ขณะเดียวกันเขาต้องมีโอกาสออกไปปะทะสัมพันธ์กับคนข้างนอกอย่างสม่ำเสมอด้วย เช่น ออกไปประชุมในเวทีสาธารณะ ไปงานจิตอาสา เช่น ไปช่วยสร้างบ้านกรณีน้ำท่วมที่อุบลฯ หรือสึนามิที่ อบต.บางม่วง หรือโคลนถล่มที่ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ หรือให้เขาไปอยู่ในบรรยากาศที่ยั่วเย้าด้านมืด ภูมิใจกับด้านสว่าง หรือไปได้ยินเรื่องราว ข้อมูลโลกข้างนอกด้วยใจ ด้วยหูของตัวเอง

ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่ดูหลากหลาย แต่จริงๆ อยู่ในสับเซตเดียวกันในฐานะที่เขาจะต้องเป็นหนึ่งในประชากร 67 ล้านคนของประเทศไทย และเป็นสับเซตของ 7,200 ล้านคนบนโลกใบนี้ และความจริงเหล่านั้นคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

 

พยายามทำให้เขาไม่รู้สึกแปลกแยก?

แน่นอน ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่ได้มีใครมากำหนดให้เราทำ แต่เราประเมินได้ว่าเป็นสับเซตเดียวกันของการเปลี่ยนวิธีคิด ดังนั้นถ้าเรากลับไปที่ข้อกำหนดกรุงเทพ เราอาจสัมผัสบรรยากาศต่างๆ ได้ด้วยสายตา ไม่ว่าจะเรื่องความสะอาด สุขภาวะของที่คุมขัง หรือการเป็นบาริสต้า แต่จริงไหมที่ผู้ต้องขังเหล่านั้นรู้สึกได้ว่าเขามีคุณค่าพอ มีอำนาจพอในการพูดคุย ต่อรองหรือเขาสามารถพูดทุกอย่างที่เขารู้สึกว่ายังไม่อิ่มเอมใจ หรือเขามีโอกาสเห็นโลกที่กำลังหมุนอยู่ไหม ถ้าเราเชื่อว่าเรื่องราวดีๆ ทุกรูปแบบคือแสงสว่าง คือความหวัง เราเอาเขาไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะร่วมกับผู้คนบ้างได้ไหม เหมือนที่เราให้เด็กบ้านกาญจนาฯ กลับบ้านเดือนละครั้ง แน่นอนการทำแบบนี้ไม่ง่ายสำหรับผู้ต้องขัง

มีอยู่ครั้งหนึ่งชัดเจนมากเลย ตำรวจโทรมาหาป้าหลังจากเราให้เด็กกลับบ้านไปแล้ว ซึ่งเป็นการกลับบ้านเย็นวันศุกร์สิ้นเดือน ที่เราออกแบบให้พ่อแม่ต้องทำกระบวนการเยอะมากเลยก่อนจะรับลูกกลับบ้านได้ พอมืดๆ หน่อยผู้กำกับ สน. หนึ่งก็โทรมาบอกว่าตอนนี้เด็กของคุณนั่งอยู่ข้างหน้าผม ป้าถามว่าเขาทำผิดอะไรเหรอคะ ตำรวจตอบว่าไม่ได้ทำความผิด แต่ญาติของคนที่เขาไปฆ่าแจ้งมาว่าคนที่ฆ่าลูกเขากลับมาแล้ว ไปติดคุกที่ไหนทำไมกลับมาได้ หรือมันหนีมา ผมก็เลยให้ตำรวจไปเชิญไอ้หนุ่มนี้มา ตอนนี้นั่งอยู่ต่อหน้าผม ผมก็เลยถามว่าเอ็งกลับมาได้อย่างไร แล้วเขาก็บอกกับผมว่า ผอ.ป้ามลให้กลับบ้านทุกวันศุกร์สิ้นเดือน เดือนละครั้ง ผมก็เลยอยากคุยกับคุณว่าให้ผู้ต้องขังกลับบ้านได้อย่างไร

ป้าก็บอกว่าอันนี้เป็นเป็นขั้นตอนของบ้านกาญจนาฯ ในการคืนเด็กกลับสู่ครอบครัวและสังคมอย่างมีพลัง ไม่ใช่ภาระ และขั้นตอนเริ่มจากการที่เขาต้องได้กลับบ้านไปดมกลิ่นเสรีภาพด้วยตัวเอง และเมื่อเขาสัมผัสเสรีภาพอีกครั้งหนึ่งหลังจากเขาทิ้งไปแล้วนั้น เขาจะรู้สึกว่ามันหอมมากกว่าเดิม และคนที่จะรักษาเสรีภาพนั้นให้คงอยู่ทนนานไม่ใช่คุก ไม่ใช่ผู้คุม แต่เป็นตัวเขาเอง

แน่นอนว่าไม่ใช่อยู่ๆ เราจะปล่อยให้เด็กกลับบ้านง่ายๆ ถามพ่อแม่เขาดูสิว่าก่อนกลับเราทำกระบวนการอะไรกันบ้าง ทั้งพ่อแม่และลูกมีการบ้านอะไรต้องทำบ้าง แล้ววันจันทร์ก่อน 9 โมงพ่อแม่เขาจะต้องนำลูกชายมาส่งพร้อมการบ้าน นี่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราจำเป็นต้องทำ ซึ่งตอนที่เราทำเรื่องพวกนี้แรกๆ ก็มีผู้กำกับหลาย สน. โทรมาหานะ แต่เราก็ไม่หยุดหรอก แต่ตอนนี้เราไม่พบปรากฏการณ์นั้นอีกแล้ว

จริงๆ แล้ว เด็กจะไม่กลับไปสร้างปัญหาหากเขามีทุนชีวิตที่มากพอ ขณะเดียวกันการได้กลับบ้านก็ทำให้พวกเขามีกำลังใจมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กบางคน นี่เป็นศุกร์แรกที่ได้กลับบ้านในรอบหลายเดือนหรือเป็นปี เมื่อเขากลับมาเราจะให้เขียนบันทึกความรู้สึก ‘ครั้งแรกที่ผมได้กลับบ้าน’ บันทึกความรู้สึกของเขาบอกเล่าชัดเจนว่า ถ้าการกลับบ้านคือความหิว อาหารมื้อนั้นก็อร่อยที่สุดในชีวิต มากกว่านั้นคือการเปลี่ยนเป็นความหวังเป็นพลังในที่สุด

 

ป้ามลเชื่อ คนที่ทำงานด้านนี้อาจจะเชื่อ แต่ขณะเดียวกันสังคมอาจจะไม่ได้เชื่ออย่างที่ป้ามลเชื่อ เราจะทำอย่างไร

เราก็ต้องส่งเสียง ต้องสื่อสารสม่ำเสมอ ระหว่างที่ส่งเสียงเราก็ต้องบอกกับเด็กๆ ว่าเราแบกอะไรไว้บ้าง แต่ไม่ได้แบกด้วยความรังเกียจนะลูก แต่ผมต้องมาช่วยเราด้วย อย่างเช่นเด็กทุกคน ตอนที่มาอยู่กับเราวันแรกและถูกใส่กุญแจมือ หลังจากปลดกุญแจมือเราก็ผูกข้อมือรับขวัญ ในวันนั้นเด็กใหม่ทุกคนจะได้อ่านย่อหน้าหนึ่งของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านกาญจนาฯ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เราจะส่งให้พ่อแม่เขาอ่านด้วยนะ แต่เขาได้อ่านก่อนในช่วงปฐมนิเทศกับป้า

ย่อหน้านั้นเขียนว่าเมื่อหลายปีก่อนมีครอบครัวหนึ่งเดินเข้ามาในบ้านกาญจนาฯ ซึ่งป้าไม่รู้จักเขา เมื่อป้าเข้าไปทัก ถามเขาว่ามีธุระอะไร ป้าช่วยอะไรได้ไหมคะ เพราะโดยพื้นฐานคนที่มาที่นี่จะมีไม่กี่แบบ เช่น มาขอคำปรึกษา เอาลูกที่เขาเอาไม่อยู่มาคุยกับเรา มาขอความช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย แต่ภาษากายของคนกลุ่มนี้ดูแปลก ทันทีที่ป้าถามจบ คำตอบที่กลับมาคือ “กูไม่ได้มาขอความช่วยเหลือ” ป้าก็เริ่มรู้แล้วว่างานเข้า เลยถามต่อว่าแล้วมีอะไรไหมคะ เขาบอก “ไม่มี ลูกกูตายไปแล้ว ก็ต้องไม่มีอะไรสิ แล้วคนที่ฆ่าลูกกูอยู่ที่นี่ กูติดตามข่าวคราวของบ้านหลังนี้ วันนี้ มาที่นี่เพราะอยากรู้ว่าเอาหัวหรือเอาตีนคิดที่ทำแบบนี้กับคนที่ฆ่าคนอื่น” นี่ถือว่าแรงที่สุดในการทำงานที่บ้านหลังนี้และต้องเจอกับผู้สูญเสียที่ยังเจ็บปวด

ป้าก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นป้าก็ต้องขอโทษพ่อกับแม่ ขอโทษญาติพี่น้องทุกๆ คนนะคะ และถ้าอนุญาตให้ป้ากราบเท้า ป้าจะกราบเพื่อขอโทษแทนหลานป้าที่อยู่ข้างใน แต่ถึงกระนั้น ป้าก็ต้องขออนุญาตพ่อแม่ให้ป้าทำแบบนี้กับเด็กๆ เถอะนะ ป้าไม่ได้ทำเพราะหมดหนทาง แต่ทำเพราะว่าหนทางแบบเก่าที่เราใช้หรือเชื่อ โดยเฉพาะทำแบบตาต่อตา แรงมาแรงไป มันตัน เราไม่ได้เขาคืน เราจำเป็นจะต้องหาวิธีใหม่ๆ เพื่อไม่ให้มีคนตายเพิ่มขึ้น จากเด็กหนึ่งคนที่เคยฆ่าคน แล้วก็ต้องฆ่าคนที่สอง หรือต้องไปอยู่ในมุมมืดตลอดชีวิต เราเลยต้องเลือกวิธีอย่างนี้

วันนั้นเราก็คุยกับเขาเยอะ สุดท้ายเขาก็ใจเย็นลง แต่ถามว่าเขาสนิทใจกับเราไหม ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่เขาน่าจะเข้าใจมากขึ้นมากกว่าการดูหรือฟังจากสื่ออย่างเดียว และเป็นแรงผลักดันให้เขามาเจอเราเพื่อถามว่าเอาหัวหรือเอาตีนคิดที่ทำแบบนี้ ซึ่งป้าก็คิดว่าป้าตอบเขาได้ในระดับหนึ่ง แต่แน่นอน นั่นยังไม่เพียงพอที่จะแปลงเหตุการณ์นี้ให้เป็นพลังของทุกคนหรือไม่ใช่ของป้าคนเดียว ป้าก็เลยเอาเรื่องนี้ใส่ไป 1 ย่อหน้าของจดหมายฉบับแรกที่เราเขียนถึงพ่อแม่เด็กบ้านกาญจนาฯ จากนั้นเราก็มีย่อหน้าต่อไปที่เขียนว่าวันอาทิตย์นี้เรามีนัดปฐมนิเทศกันนะคะ เพื่อที่จะทำให้บ้านหลังนี้ตอบโจทย์ทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำให้ได้

เราพบว่าในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันนัดพ่อแม่ปฐมนิเทศทุกครอบครัวมาครบ 100 % ทุกรุ่น ใช่ !  ทุกคนไม่อยากให้ลูกผิดพลาดอีก แล้วทุกคนก็รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนผสมของความผิดพลาดนั้น และเด็กๆ ก็ต้องรู้ว่าการให้โอกาสผมเป็นหนึ่งในแรงกดดันที่ป้าต้องรับมือ และป้าไม่มีทางทำสำเร็จถ้าพวกผมในฐานะประจักษ์พยานไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งพออ่านเรื่องนี้แล้ว เด็กๆ ก็รู้สึกได้ว่าเขาด่าป้าแรงนะ ป้าบอกไม่เป็นไรลูก ด่าแรงก็ยังได้อยู่ แต่ถ้าผมเปลี่ยน นี่คือบทพิสูจน์เชิงประจักษ์ว่าวิธีแบบเก่าไม่ได้ผล เราต้องใช้วิธีใหม่ และผมคือประจักษ์พยาน

 

อะไรทำให้ป้ามลเชื่อในมนุษย์ขนาดนี้

แล้วทำไมถึงไม่เชื่อกันล่ะ (หัวเราะ) ป้าบอกกับเด็กๆ เสมอนะว่าที่ป้าดูแลผมดีขนาดนี้ ขอให้รู้นะว่าป้าไม่ได้ยอมรับการฆ่า ป้าไม่ได้ยอมรับการละเมิดสิทธิ ป้าเป็นคนที่ปกป้องสิทธิของตัวเอง แล้วป้าก็ไม่เห็นด้วยกับใครทุกคนที่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น แต่ตอนนี้ป้ามายืนต่อหน้าผมซึ่งละเมิดสิทธิคนอื่น ดังนั้นต้องบอกผมก่อนนะว่าป้าไม่อาจยอมรับได้ ป้าอยากบอกว่านาทีที่ผมฆ่า มันเป็นนาทีที่ผิดพลาดจริง แต่ป้าก็ยังเชื่อนะว่าร้อยพันหมื่นแสนล้านนาทีหลังจากนั้น ผมยังดีอยู่ใช่ไหมลูก มันเป็นนาทีเดียวที่ผิดพลาดใช่ไหมครับที่ผมลั่นไกใส่เขา ผมฆ่าเขา ผมปล้นเขา ผมทำให้เขาบาดเจ็บเสียชีวิต พิการหรืออับอายในคดีทางเพศ แต่อีกร้อยพันหมื่นแสนล้านนาทีที่เหลืออยู่ ผมยังดีอยู่ใช่ไหมลูก

เรารู้ว่าเวลาเราถามไปอย่างนี้ เด็กๆ ตอบเราไม่ได้ และเราไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เด็กๆ จะรู้สึกดีกับตัวเอง สำหรับป้า การที่เรามีความหวังไม่เท่ากับเขามีความหวัง ที่บอกว่าข้อกำหนดกรุงเทพเป็นความหวัง เด็กวัยรุ่นเป็นความหวัง คนที่เดินเข้ามาบ้านกาญจนาฯ คนโน้นคนนี้เป็นความหวัง ความหวังเหล่านั้นไม่สำคัญเท่ากับการทำให้เขามีความหวัง พลังอยู่ตรงนั้น และพลังนั้นคือจุดเปลี่ยนชีวิตของพวกเขา

 

 

เราใช้วิธีการเดียวกันนี้กับผู้ต้องขังผู้ใหญ่ที่อยู่ในเรือนจำได้ไหม

แน่นอน โดยหลักการใหญ่ยังใช้ได้อยู่ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะต้องปรับบ้าง หลักการใหญ่ เราเชื่อว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ แต่ input ที่เราจะใส่กับผู้ต้องขังผู้ใหญ่อาจต้องเปลี่ยนตามสถานภาพ สถานการณ์ ป้ายังไม่เคยไปทำงานกับผู้ต้องขังผู้ใหญ่ในเรือนจำ แต่ก็อยากทำนะถ้าอายุยังเอื้ออำนวย แล้วมีคนเปิดโอกาสให้นะคะ

จากคำถามนี้ถ้าเทียบเคียงกับเด็กบ้านกาญจนาฯ บางคนที่เขามีครอบครัวแล้ว ประเด็นที่เรานำเรื่องครอบครัว  เรื่องลูก เรื่องเมีย เรื่องอนาคตมาคุยกับเขา มีพลังมากนะ ซึ่งป้าคิดว่าเป็นเนื้อหาเดียวกันกับผู้ใหญ่ที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ คนเหล่านั้นยังมีห่วงโซ่ชีวิตอยู่ ยังมีพ่อแม่ที่เขาห่วงใย แต่เขาไม่มีโอกาสดูแลพ่อแม่ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เขามีความหวังกับการมีชีวิตเพื่อกลับไปกอดแม่ กลับไปดูแลแม่ในวันที่เจ็บป่วย ป้ามีข้อสังเกตแต่ไม่ใช่งานวิจัยนะ เวลาบ้านกาญจนาฯ ปล่อยเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี คืนสู่อิสรภาพ กับปล่อยคนที่อายุ 23 – 24 ปี ที่มีเมีย มีลูก ข้อห่วงใยไม่เท่ากันนะ แม้เราจะใส่ทุนชีวิตลงไปเท่ากันเหมือนกันทุกวัน

แต่แน่ๆ อารมณ์ของความเป็นมนุษย์โดยเฉพาะต่อคนในครอบครัวมีอยู่ในทุกๆ ช่วงวัย และคนที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ ไม่ต้องบิลด์เยอะ เวลาทำงานกับผู้ใหญ่ก็จะมีความง่ายในอีกมิติหนึ่ง เหมือนการเล่นฟุตบอล เตะมาหน้าประตูง่ายมาก เพราะเนื้อหาใช่หมดเลย

 

มีความพยายามเข้าไปทำงานกับผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ต้องขังเชิงรูปธรรม เช่น สร้างศูนย์ฝึกอาชีพ ทำห้องให้นมบุตร ปรับปรุงโซนผู้ต้องขังหญิงใหม่ ให้คนออกมาขายอาหารหรือกาแฟที่หน้าเรือนจำ ฯลฯ ป้ามลคิดว่าสิ่งเหล่านี้เพียงพอต่อการพัฒนาผู้ต้องขังไหม เป็นการทำงานที่ ‘ใช่’ ไหม หรือถ้าจะพัฒนาอีก ควรจะพัฒนาอะไรบ้าง

มันใช่เลย ถ้ามองในแง่สับเซตของกลุ่มเครื่องมือ แต่ถ้าทำเชิงเดี่ยวโดยไม่ได้ทำทั้งมวลของสับเซตชุดนี้หรือไม่ใช่แค่ได้ชงกาแฟ ได้ทำอาหารอร่อย มีคนมาชื่นชม แต่ไปไกลถึงโอกาสที่จะมีสิทธิ์ มีเสียง มีเสรีภาพบ้าง เช่น การมีพื้นที่ส่วนตัวเก็บของส่วนตัวหรือสามารถเดินออกมาจากที่นั่นอย่างมีเสรีภาพบนความไว้วางใจ 2-3 คืน เพื่อจะกลับไปใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความหวัง และที่สำคัญ ไม่ใช่ความหวังของตัวเขาคนเดียวนะ แต่ยังหมายถึงความศรัทธาต่อผู้คนที่ควบคุม ดูแลที่อยู่รอบๆ ตัวเขา ซึ่งความไว้วางใจที่ถูกกอบกู้ขึ้นมาจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง จิตใจละเมียดละไมขึ้น และแคร์ผู้คนมากขึ้น

หนึ่งในเรื่องที่มัดใจเด็กบ้านกาญจนาฯ ก็คือเราแคร์เขา เขาแคร์เรา พอเขาแคร์เราเป็น เขาก็แคร์คนอื่นเป็น ที่บ้านกาญจนาฯ เรามักพูดกับเด็กเสมอว่าถ้าผมไม่แคร์ป้า ไม่แคร์เจ้าหน้าที่ซึ่งพร้อมจะเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพให้กับผม ทั้งๆ ที่ศาลสั่งให้ริบแต่เราไม่ริบ ถ้าผมเดินสวนกับผู้ชายสักคนที่ผมไม่พอใจ ผู้หญิงสักคนที่ผมอยากทำอะไรเขา อะไรจะเป็นตัวควบคุมผม ดังนั้นความแคร์จึงเป็นหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือที่เราจะต้อง empower ให้มีชีวิต มีพลัง และออกมาทำงานได้จริง

ความแคร์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับวิถีวัฒนธรรมขององค์กรด้วยนะ และเป็นที่ประจักษ์สำหรับบ้านกาญจนาฯ นั่นคือ ที่นี่มีวันสู่เหย้าปีละครั้ง และเด็กๆ กลับมากันเยอะแยะ ความรู้สึกแบบนี้เป็นสับเซตของกระบวนการ empower แน่นอนว่าการชงกาแฟก็ใช่ การอยู่ในชีวิตที่ดูงดงาม ไม่ใช่ชีวิตแบบกะโหลกกะลานอนอยู่ข้างห้องน้ำเหม็นสกปรกก็ใช่ เรียกว่าอะไรที่ดีงามที่มนุษย์พึงได้คือใช่หมด แต่ทำอย่างไรให้เขารู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง ได้รับความไว้วางใจ แล้วในที่สุด ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเปลี่ยนเป็นพลัง สับเซตตรงนี้เป็นชุดใหญ่ แต่อยู่ในตระกูลเดียวกัน คือความไว้วางใจกัน ให้เกียรติ ให้คุณค่าภายใต้วิถีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน

 

แล้วการสร้างงานหลังออกจากเรือนจำสำคัญแค่ไหน เพราะก็ถือเป็นการพยายามให้เขามีตัวตน มีคุณค่า หลังออกจากเรือนจำไป

ถ้าเทียบเคียงกับแนวคิด การจัดการ และการจัดกิจกรรมที่บ้านกาญจนาฯ ที่นี่ไม่ให้น้ำหนักกับการฝึกอาชีพ ซึ่งมีหลายเหตุผล หลายประสบการณ์บอกให้เราไม่ฝึกอาชีพให้กับผู้ถูกควบคุมอย่างทุ่มเทเหมือนการทำวิชาชีวิต ทุนชีวิต เราไม่คิดว่าการมีวิชาชีพของเด็กๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเขานะ หรือถ้ามองไปที่ผู้ต้องขังในปัจจุบัน ก่อนคนเหล่านั้นจะเข้าเรือนจำ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เขามีอาชีพนะ เช่น ตำรวจ ครู หมอ และเจ้าอาวาสอีกหลายวัด ฯลฯ แสดงว่าประเด็นที่ทำให้คนเข้าคุกอาจไม่ใช่เรื่องอาชีพ แต่อยู่ที่วิธีคิดของเขา และความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้ามากกว่า

ดังนั้นเมื่อเขาเข้ามาอยู่กับเรา แล้วเราเอาเงินภาษีประชาชนมากมายไปฝึกอาชีพให้เขาและหลายอาชีพไม่อัปเดต เหมือนคนตัดสินใจระดับนโยบายไม่รู้ว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้ว ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้เปลี่ยน mindset ของคนในสังคม เมื่อฝึกอาชีพแล้วออกมา ผู้ต้องขังก็ไปสมัครงานไม่ได้ การฝึกอาชีพแบบเชิงเดี่ยวจึงไม่ช่วย ต้องทำประเด็นคู่ขนานหลายสาย เช่น อาชีพต้องทันยุคทันโลก และต้องทำให้คนในสังคมเชื่อมั่นได้ว่าคนเหล่านี้พร้อมจะกลับมาเป็นกำลังของเมืองได้ ที่สำคัญทำไมระบบราชการถึงไม่แก้ระเบียบของตัวเองให้อดีตผู้ต้องขังสมัครงานราชการได้ ทำงานราชการได้ ทำไมถึงเรียกร้องแต่ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน

 

ถ้ามองไปที่เรือนจำผู้ใหญ่ มองเข้าไปเห็นกำแพงสูง เหมือนเป็นอีกจักรวาลหนึ่ง อาจยิ่งทำให้คนในสังคมไม่เข้าใจผู้ต้องขังมากขึ้น และข้างในยังมีกระบวนการเยอะมากในการตรวจค้นตัวผู้ต้องขังกว่าจะเข้าไปอยู่ข้างในได้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องอิสรภาพด้วยไหม

การค้นตัวผู้ต้องขังและการควบคุมอย่างเข้มงวด ถูกรับรองอย่างไม่มีข้อโต้แย้งไปแล้วสำหรับเรือนจำทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย แน่นอนกระบวนการแบบนี้คือความปลอดภัยที่ทุกคนวางใจที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ลดทอนความเชื่อมั่นในตัวเองที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น ซึ่งที่บ้านกาญจนาฯ ไม่ทำ ที่นี่เราจะไม่ค้นตัวเด็กๆ เลย แต่สร้างกติกาให้พ่อแม่ทำหน้าที่นี้แทนเรา เราพูดย้ำ พูดแล้วพูดอีกจนเด็กที่นี่จดจำสิทธิในเนื้อตัวร่างกายได้เลยว่าเสื้อผ้าหน้าผมร่างกายเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะไม่ละเมิดเขาโดยเด็ดขาด ฉะนั้นพอจบปฐมนิเทศเด็กใหม่ทุกครั้ง ป้าจะให้พวกเขาไปดูตัวเองในกระจก ผมทรงไหน ต่างหูคู่ไหน เสื้อผ้าแบบไหนที่กอบกู้ความเชื่อมั่นทั้งหมดของผมกลับคืนมาได้ จินตนาการไปเลยและเลือกตามจินตนาการนั้น เรื่องเหล่านี้ก็อยู่ในสับเซตเหมือนกัน ไม่ใช่คุณทำให้ทุกอย่างดูสวยงามไปหมด ได้ชงกาแฟ ได้อยู่ในที่สะอาด แต่ไม่มีปากเสียงและถูกค้นตัวอย่างละเอียดยิบ แบบนั้นไม่น่าจะใช่

 

ถ้าพูดถึงกรณีผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ ป้ามลคิดว่ามีเรื่องอะไรที่เราต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษไหม

ในข้อกำหนดกรุงเทพก็เขียนไว้ชัดนะ คนที่ร่างข้อกำหนดกรุงเทพก็คงศึกษามาลึกและคิดบนฐานหลักสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุม รอบด้าน ดีงาม รวมถึงหลักการเลือกปฏิบัติที่เป็นคุณต่อคนที่แตกต่าง ซึ่งป้าเห็นด้วยทั้งหมดในเชิงตัวหนังสือ เนื่องจากตั้งแต่มีคุกแรกๆ คนที่ทำความผิดแล้วมาติดคุกส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ก็เลยบังคับให้กรอบคิดของคนที่ออกแบบกฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวกับคุกเป็นไปในทิศทางการดูแลเพศชาย

เมื่อโลกเปลี่ยนไป มีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางสังคมมากมาย คนที่เข้ามาติดคุกก็มีทั้งเพศหญิง เพศชาย และคนหลากหลายทางเพศ แต่ดีไซน์เหล่านี้ไม่ได้ปรับตัวไปกับพลวัต ฉะนั้นข้อกำหนดกรุงเทพก็เหมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อให้เกิดการปรับตัวที่เหมาะสมกับเพศหญิง ซึ่งถอยหลังไป 100 ปีที่แล้ว เพศหญิงอาจจะติดคุกน้อยกว่าเพศชาย แต่โอเค ถ้าพูดในแง่ดี ก็ดีที่ข้อกำหนดกรุงเทพจัดระเบียบใหม่ให้คุกในประเทศไทยเอื้อต่อเพศหญิง ซึ่งน่าจะอยู่ในนิยามที่เรียกว่าการเลือกปฏิบัติที่เป็นคุณ แต่ความไม่จริงของข้อกำหนดกรุงเทพคือไม่ได้เปลี่ยนในระดับ mindset ไม่ได้เปลี่ยนในเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบจริงๆ ของเรือนจำ

 

การเปลี่ยนระดับ mindset ในระดับโครงใหญ่ต้องเปลี่ยนอย่างไร

เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ต้องขังหญิงต้องมาถูกทำให้เชื่อมั่นต่อเจตนารมณ์ของข้อกำหนดกรุงเทพอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพราะเป็นนโยบายจากเบื้องบน เราต้องไม่ลืมว่าวิธีสั่งการจากเบื้องบนลงมาหรือที่เรารู้จักในชื่อ top-down ทำของดีๆ พังไปกี่อย่างแล้ว นี่แค่ประเด็นเดียวนะ ยังมีเรื่องของตัวชี้วัดอีก คือถ้าคุณจะใช้ข้อกำหนดกรุงเทพ คุณอาจจะต้องเอาตัวชี้วัดบางตัวที่เรือนจำใช้ออกไปด้วย ไม่ใช่ใช้ตัวชี้วัดตัวเดิมเพราะมันจะย้อนแย้งและไปต่อยาก

คุณเชื่อไหม ถึงจุดหนึ่งคนก็เลือกให้ตัวเองรอด และที่สำคัญคุกตั้งมาเป็นร้อยๆ ปี คนที่ทำงานก็ส่งต่อชุดความคิดกันมา ซึ่งเขาก็รู้ดีว่าควรทำแค่ไหนหรือควรไม่ทำแค่ไหน เราก็ต้องเข้าใจคนในระบบราชการเหมือนกันนะว่าเขาอยู่ใน comfort zone กันมานาน เขาต้องอยู่เป็นและต้องอยู่รอด

 

ผู้หญิงบางคนที่เข้าเรือนจำเพราะแฟนขายยาเสพติดแล้วเขาก็ติดร่างแหด้วย หรือยายรับโทษแทนหลานตัวเอง เป็นต้น พอเป็นแบบนี้ เราควรมาทบทวนไหมว่าจำเป็นต้องให้เขาอยู่ในเรือนจำหรือเปล่า

ไม่ทราบจะตอบอย่างไรนะประเด็นนี้ เริ่มที่กรณีตัวอย่างจริงๆ ของบ้านกาญจนาฯ ดีกว่า ตอนนี้เรามีเด็กอยู่ 5 คน มีลูกพี่คนเดียวกัน บางคนถูกตั้งข้อหาคดีฟอกเงิน มีเงินในบัญชีมากมาย ซึ่งจริงๆ เงินทั้งหมดไม่ใช่ของตัวเองหรอก เด็กๆ จึงไม่ต่างจากนอมินีของมิจฉาชีพ

ดังนั้นเราต้องคิดในเชิงโครงสร้างด้วยนั่นคือ ผู้หญิง คุณยายแก่ๆ หรือเด็กที่มาอยู่บ้านกาญจนาฯ เหล่านั้นคือเหยื่อ เพราะนอมินีของมิจฉาชีพก็เป็นเหยื่อ แต่พวกเขาคือเหยื่อที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายต้องเข้ามาจัดการ

อยากจะย้ำว่า คนทำงานกับผู้กระทำผิดแบบนี้ต้องเข้าใจก่อนว่ารากเหง้าของพวกเขาจริงๆ คือเหยื่อ แต่สิ่งที่เราเห็นในเชิงปรากฏการณ์ทางสังคมก็คือการกระทำผิดกฎหมาย ดังนั้นเราต้องเยียวยาเขาให้ดีที่สุด แต่ขณะเดียวกันการเยียวยากับผู้สร้างปรากฏการณ์เหล่านี้ด้านเดียวก็ไม่พอ เราต้องส่งเสียงกับสังคมด้วย และที่สำคัญต้องไปให้ถึงพวกที่อาศัยคนเหล่านี้เกาะกินให้ได้ด้วย ถ้าเรากระโจนลงไปจัดการกับผู้กระทำที่เป็นนอมินี โดยที่ไม่แคร์ความเป็นเหยื่อของเขา ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลง

ส่วนจะให้พวกเขาอยู่ในเรือนจำหรือไม่ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก

 

ประเด็นเรื่องผู้ต้องขังหญิงที่กำลังผลักดันกันอยู่ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจไหม เช่น เรื่องความเป็นอยู่ของเขา และเมื่อออกมาจากเรือนจำแล้ว เขามีชีวิตแบบไหน

มี 2 – 3 เคสที่ผูกพันกับบ้านกาญจนาฯ คือเขาเป็นแม่ของเด็กบ้านกาญจนาฯ แม่อยู่เรือนจำหนึ่ง และพี่สาวก็อยู่อีกเรือนจำหนึ่ง ที่บ้านทุกคนติดคุกหมด เราก็ใช้วิธีพาเด็กไปเยี่ยมแม่ เยี่ยมพี่สาว เราอยากให้ทุกคนยังมีความหวัง อยากให้สายใยนี้ยังคงถักทอต่อไป ก็เลยพาไปเยี่ยม

ปรากฏว่าพอมาดูไทม์ไลน์เราก็ตกใจ เพราะเด็กในบ้านกาญจนาฯ ที่เป็นลูกชายเขาจะถูกปล่อยก่อนแม่กับพี่สาว ถ้าเด็กปล่อยไป เขาจะไปอยู่กับใคร เพราะอีก 3 – 4 เดือนกว่าแม่จะออกจากเรือนจำ ส่วนพี่สาวติดนานกว่าแม่ เราก็เลยใช้วิธีคุยกับแม่และเด็ก แม้ว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัวแล้วก็ตาม เราก็ขอให้เขาอยู่กับเราที่นี่ แต่จ้างเขาทำงานเอกสาร ให้ค่าแรงรายวัน ให้พักกับเจ้าหน้าที่ ให้โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง และให้จักรยาน 1 คัน สำหรับถีบมาทำงาน

ระหว่างนี้ก็ยังมีการเยี่ยมแม่ที่เรือนจำอย่างสม่ำเสมอ พอครบกำหนดเวลา แม่ได้รับการปล่อยตัว เราก็ไปรับแม่มาทำกระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัวก่อนคืนเรือน ซึ่งเด็กและครอบครัวทุกคนในความรับผิดชอบของบ้านกาญจนาฯ ต้องทำกระบวนการนี้ เพื่อมาดูว่าปล่อยออกไปแล้วจะทำอะไร ถ้าฝันว่าจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็จะมาคุยกันให้ทะลุว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จอยู่ที่ไหน ใครต้องทำอะไร และอะไรคือปัจจัยแห่งความล้มเหลว ช่วยกันหาให้เจอก่อนออกไปพบของจริง

ปรากฏว่าพอแม่เขามาทำกระบวนการกับเราและเราก็เห็นว่าเขาไปอยู่เรือนจำมานาน เราก็เลยถามเขาว่าจะให้ช่วยอะไรไหม เขาน่ารักมาก ไม่เอาอะไรเลย เขาบอกว่าที่เราทำทั้งหมดกับเขาและลูกนั้นเกินไปแล้ว คือเขาอยู่ในเรือนจำ เขารู้สึกว่าทำไมลูกเขามาอยู่ในที่ที่ไม่เหมือนกับเขาเลย ตอนนี้เขาก็ทำอาหารตามสั่ง ลูกของเขาขับรถส่งของ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ 4 ปีแล้ว ส่วนพี่สาวก็เพิ่งออกมาไม่นานนี้เอง เข้ารูปเข้ารอยแล้ว

ทั้งหมดนี้ ถ้าเราจะวัดกันที่การไม่ทำความผิดซ้ำ วัดกันที่เมื่อปล่อยไปแล้วสามารถขับเคลื่อนชีวิตของตัวเองได้ตามปกติ ต้องถอยกลับไปทำงานกันตั้งแต่วันแรกที่ผู้กระทำผิดเหล่านี้เข้ามาอยู่กับเรา ไม่ใช่ทำงานอีก 2 เดือนก่อนปล่อย ป้าเคยพบนักโทษประหารที่ได้ลดโทษเป็นนักโทษตลอดชีวิต และถึงที่สุดได้ปล่อยหลังจากถูกควบคุมตัวเกือบ 20 ปี พอเขาได้มีโอกาสสัมผัสสิ่งดีๆ ก่อนปล่อยหนึ่งเดือน เขาตัวสั่นไปหมดเลย

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ต้องขังจะปรับตัวให้เข้ากับสังคมนอกคุก และอาจยากมากถ้าคุกพรากคุณค่า พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจากผู้ต้องขัง เพราะนั่นคือทุนชีวิตหลังจากที่เขาออกไปรับอิสรภาพ

ข้อกำหนดกรุงเทพต้องดีไซน์ใหม่ ไม่ใช่แค่เอาข้อกำหนดกรุงเทพมาวาง แล้วเดินตามตัวหนังสือ ตามนโยบาย top-down ผู้เกี่ยวข้องต้องออกแบบกระบวนการข้างในที่เชื่อมโยงกับเจตนารมณ์ รวมถึงการเปลี่ยน mindset ผู้ควบคุมด้วย ที่สำคัญต้องเป็นกลุ่มที่อยากทำข้อกำหนดกรุงเทพ และอาจครอบคลุมถึงการเป็นพื้นที่พิเศษ เช่น ไม่มีการย้ายคนเข้าออกเกินจำเป็น หรือจะใช้ KPI ตัวไหนก็ต้องตกลงร่วมกัน ไม่เป็น KPI ที่มาจากรูปแบบทำงานเดิมๆ แต่ต้องเป็น KPI ใหม่และกระบวนการก็ต้องใหม่ด้วย ข้อกำหนดกรุงเทพถึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงสมเจตนารมณ์ ไม่อย่างนั้นก็จะหนักไปทางพิธีกรรม ซึ่งน่าเสียดายเพราะมีของดีแต่ทำดีไม่ได้

 

mindset ที่เกาะกินสังคมไทยจนทำให้เราไม่สามารถทะลุเพดานความเข้าใจผู้กระทำผิดได้คืออะไร

ป้าคิดว่าคือชุดความคิดเรื่องตาต่อตา ฟันต่อฟัน แรงมาก็แรงไป ทำผิดก็ต้องรับโทษซึ่งความคิดของคนส่วนใหญ่ไปไม่ถึงโครงสร้างหรือระบบที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ ทุกครั้งที่มีคดีปรากฏในสื่อเราจะเห็นแค่ปัจเจกผู้ผิดพลาด แล้วก็เกรี้ยวกราดกับปัจเจกผู้ผิดพลาดนั้นอย่างรุนแรง เราติดกับดักที่ปัจเจกและไปไม่ถึงโครงสร้างที่อัปลักษณ์ ไปไม่ถึงระบบที่ทำหน้าที่ประดักประเดิด ถึงที่สุดประเทศนี้ก็เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่ผลิตผู้แพ้มาป้อนคุกหรือสถาบันจิตเวชอยู่ตลอดเวลา พอเราหมกมุ่นกับปัจเจกนานๆ คนทำงานก็ไม่มีความหวังกับปัจเจก ก็ทำตามที่คนโน้นสั่งคนนี่สั่ง ที่สำคัญกระบวนการตรวจสอบในระบบราชการก็อ่อนแอ เลยเข้ารกเข้าพงกันไปนานมาก สำหรับป้า ระบบราชการเป็นฟอสซิลจริงๆ

ถ้าจะให้เห็นภาพชัดอีกอันหนึ่ง ตอนที่ป้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ เมื่อปี 2546 โจทย์ที่ผู้บริหารในกระทรวงยุติธรรมเปิดทางให้คนนอกหรือเอ้าต์ซอร์สอย่างป้า คือให้ค้นหานวัตกรรมที่ทำให้สถานพินิจทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทำให้เด็กไม่ทำความผิดซ้ำ ซึ่งใน 3 ปีแรกป้าก็ยังคิดกรอบใหญ่เหมือนโจทย์ที่เขาส่งมานั่นคือ หานวัตกรรมเพื่อให้รัฐเอาไปทำต่อ

แต่พอผ่านไปสัก 3 – 4 ปี ป้านึกออกเลยว่าระบบราชการไม่สามารถรับสิ่งที่ป้าค้นพบได้หรอก ไม่พอดีกัน แข็งตัวเกินไป ป้าเลยต้องหาเส้นทางสายใหม่ ถึงที่สุดเพิ่งมาพบเมื่อไม่กี่ปีนี้เองว่าเมื่อเราไม่สามารถคืนสิ่งที่เราค้นพบให้กับรัฐได้ เพราะนวัตกรรมที่เราค้นพบต้องการความคิดนอกกรอบ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความกระตือรือร้น ความสัมพันธ์แนวราบ ขณะที่ระบบราชการคือความสัมพันธ์แนวดิ่งคือ top-down

ทางใหม่ที่เราพบก็คือ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 55 ซึ่งตีความตามเจตนารมณ์ได้ว่าอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีอำนาจในการให้ใบอนุญาตหรือยุติการให้ใบอนุญาตภาคประชาสังคมจัดตั้งสถานควบคุมเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด โดยนัยตามมาตรา 55 คือ คุกเยาวชนไม่ได้อยู่ในมือของกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้อยู่ในมือกรมพินิจฯ เท่านั้น แต่อาจมีภาคประชาสังคม มี NGO หรือคนที่สนใจงานสิทธิมนุษยชนรับไปทำ โดยที่รัฐสนับสนุนเงินและทรัพยากร แต่หน่วยงานที่จะวัด KPI คือกระทรวงยุติธรรม ซึ่งหมายถึงกรมพินิจฯ โดยสรุปคือ รัฐมีหน้าที่ควบคุมคุณภาพแต่ไม่ต้องทำเองทั้งหมด

ตอนนี้ภาคประชาสังคม 60 องค์กรและบ้านกาญจนาฯ ได้ส่งข้อเรียกร้องเพื่อกระตุ้นผู้รับผิดชอบให้เขียนกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 55 ตั้งแต่ธันวาคม 2561 ซึ่งป่านนี้ยังไม่เห็นหน้าตาของร่างดังกล่าว

 

ตลอดเวลาที่เราคุยกัน สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือปัญหาอยู่ในองคาพยพที่ใหญ่มาก ที่ไม่รู้ว่าจะแก้ตรงไหนก่อน

ต้องแก้ทั้งระดับปัจเจก คือคืนคนดีสู่ครอบครัวและสังคม และต้องคิดเชิงโครงสร้างเชิงระบบควบคู่ไปด้วย แต่การแก้เชิงโครงสร้างเชิงระบบต้องอาศัยสถานการณ์ อาศัยคนที่สุกงอมพอ ตอนนี้คงต้องส่งเสียงไปก่อนควบคู่กับการ empowerment เด็กบ้านกาญจนาฯ ด้วยวิชาชีวิต เพื่อให้ตัวเลขทำความผิดซ้ำ 2 – 3 % ไม่ขยับขึ้น

พอพูดถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณกลุ่มนักเรียนเลว เพราะอิทธิพลของกลุ่มนี้ทำให้หลายเดือนที่ผ่านมาคนพูดประเด็นเชิงโครงสร้างกันเยอะขึ้น เช่น ละเมิดทางเพศนักเรียน การข่มขืนนักเรียนในโรงเรียนโดยครู ซึ่งทั้งหมดนั้นพัฒนามาจากระบบอำนาจนิยม หรือโครงสร้างเชิงอำนาจที่แข็งแรงมากๆ และลอยนวลเก่งมาก

อาทิตย์ที่แล้วป้าไปนั่งกินข้าวกับกลุ่มนักเรียนเลว เด็กๆ เข้าใจและทะลุเรื่องพวกนี้ไปแล้ว ป้าคิดว่าตัวเร่งปฏิกิริยาส่วนหนึ่งอยู่ที่ตรงนั้น ขอบคุณมากที่พวกเขาเห็น ‘จุดอับ – จุดอ่อน’ ของบ้านเมืองและพากันออกกันมาชี้เป้าอย่างเข้มข้น ถ้าช้ากว่านี้ประเทศพังแน่เลย

มวลความคิดในสังคมเปลี่ยนไประดับหนึ่งแล้ว แม้เรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่วิธีคิดของคนในสังคมพลิกอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งนี่คือความหวังท่ามกลางความล้มเหลว

 

ถ้าเรามองในแง่ตัวบุคคล เราจะทำอย่างไรให้คนเห็นมนุษย์อย่างที่เป็นมนุษย์จริงๆ เข้าอกเข้าใจคนอื่นได้ อย่างที่ป้ามลเชื่อในเด็กๆ เหล่านี้ เราจะทำอย่างไรให้มวลความคิดแบบนี้เข้าไปในสังคมได้จริงๆ

คงอยู่ในหลายปัจจัย และหนึ่งในนั้นคือการแลกเปลี่ยนถกเถียง ตรวจสอบกันไปมา ป้าก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ สุกงอมเลย ก็ค่อยๆ เรียนรู้และเติบโต และกว่าครึ่งหนึ่งของป้า เรียนรู้และเติบโตไปกับเด็กๆ ด้วย ไม่ได้อยู่ๆ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เราได้โจทย์มา ก่อนที่เราจะส่งโจทย์เหล่านี้ถึงมือเด็กๆ เราก็ต้องออกกำลังกับความคิดเราเยอะ ต้องไม่ให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากหลักการทั้งสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก การแคร์กัน การเห็นห่วงโซ่ความเสียหาย ความเป็นหญิงชาย ความหลากหลาย ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

ฉะนั้นเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องของการ top-down ไม่ใช่เรื่องของการสั่งการให้ทำ ต้องเป็นเรื่องของการขยี้ตัวเอง ทำงานกับความคิดของตัวเอง แล้วก็ทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยการถกเถียงแลกเปลี่ยน ขณะที่ระบบราชการต้องรอฟังผู้ใหญ่ว่าจะสั่งให้ทำอะไร นโยบายก็เปลี่ยนตามอธิบดี ตามปลัดกระทรวง ตามรัฐมนตรี ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติข้างล่างมีบทบาทต่อองค์กรน้อยมาก ซึ่งระบบแบบนี้อาจทำให้ชาติบ้านเมืองพังได้นะ

 

นอกเหนือจากคนที่เป็นข้าราชการที่ทำงานในระบบ แล้วเราจะเปลี่ยนวิธีของคนทั่วไปอย่างไร 

แนวโน้มเริ่มดีขึ้นนะ เมื่อเรามีสื่อในมือ มีพื้นที่สาธารณะให้สื่อสารอย่างของป้าก็มีโอกาสได้ส่งเสียง ได้พูดเยอะขึ้น ส่วนเด็กๆ ของบ้านกาญจนาฯ เราก็พยายามจะ input ข้อมูล ซึ่งขณะนี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพื่อให้เขาสามารถแลกเปลี่ยนได้ลึกและชัดเจนขึ้น เช่น กรณีเด็กบ้านกาญจนาฯ ที่อยู่ในเพจมนุษย์กรุงเทพฯ คนอ่านกันไม่รู้กี่หมื่นคน แชร์กันไม่รู้กี่หมื่นครั้ง หรืออีกคนขึ้นเวที TEDxyouth Bangkok ซึ่งการสร้างคนเหล่านี้ไปส่งเสียงก็สำคัญ

สำหรับป้า งานแบบนี้เป็นงานระดับแนวราบ แต่ต้องส่งเสียงจนกระทั่งเกิดการสั่นสะเทือนในระดับคนเขียนกติกาหรือพุ่งขึ้นข้างบน ขณะเดียวกันต้องกระตุ้นให้คนทำงานในพื้นที่เล็กๆ เพิ่มมากขึ้น ทรงพลังขึ้น มีเรื่องเล่าที่เร้าพลัง ให้เรื่องเล่าเหล่านั้น scale-up เสมือนเกิดดอกไม้ดอกเล็กๆ บานเต็มแผ่นดิน

เราไม่ควรปล่อยให้โครงสร้าง ระบบ หรือนโยบายถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คน แม้จะเป็นตัวแทนของประชาชนในชื่อ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือรัฐสภา แต่ทำอย่างไรให้คนทำงานในพื้นที่เล็กๆ แต่มีพลังและกระจายเต็มแผ่นดินจนสามารถส่งเสียงถึงผู้กำหนดนโยบายและเขียนกติกา หรือเขาพร้อมซื้อสิ่งที่คนเล็กๆ ดอกไม้ดอกเล็กๆ ทุ่มเทอย่างไม่ย่อท้อต่อทุกอุปสรรค

ป้าเคยคุยกับครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน ที่สร้างลานสเก็ตให้ครอบครัวนำเด็กและวัยรุ่นมาปล่อยแสงกันที่โรงเรียนภัทราวดีหัวหิน บนถนนเพชรเกษม แบบไม่เก็บค่าใช้จ่าย ที่นั่นตอนเย็นๆ จึงมีเด็กและวัยรุ่นมาเล่นสเก็ตกันเต็มไปหมด ป้าเรียกพื้นที่การทำงานแบบนี้ว่าการเกิดดอกไม้ดอกเล็กๆ

ที่นั่นเด็กเข้าถึงกิจกรรมที่เขาชอบ แน่นอนเรายังต้องการพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ดีๆ ในแบบนี้หรืออีกหลากหลายแบบ ไม่ใช่แค่ถนนเพชรเกษมหรือหัวหินหรือลานสเก็ตเท่านั้น แต่เราต้องการในทุกหัวเมืองทั้งเล็กและใหญ่ หรือในทุกๆ ที่ที่มีเด็ก มีวัยรุ่น แน่นอนต้องหลากหลายด้วย ซึ่งรัฐควรทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นเพื่อให้สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อน เติบโต ไม่ต้องรอให้รัฐมนตรีสั่งข้าราชการให้ปฏิบัติ เพราะเป็นไปไม่ได้และไม่มีทางดีได้ รัฐต้องสนับสนุนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ดอกไม้ดอกเล็กๆ บานเต็มแผ่นดิน

การมีพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ที่เด็กวัยรุ่นเข้าถึงง่าย คือการปกป้องพวกเขาในรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เข้าไม่ถึงทั้งการศึกษาและพื้นที่ดีๆ หรือมีทุนชีวิตที่กระพร่องกระแพร่ง จนนำพวกเขาไปสู่ถนนสายมืด และจบลงที่คุกเด็กอย่างง่ายดาย

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save