fbpx

ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: หรือปาฏิหาริย์ของติช นัท ฮันห์จะไม่มีจริง?

           

เมื่อเราได้ยินคำว่า ‘ปาฏิหาริย์’ สิ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคยอาจจะนึกถึงอิทธิปาฏิหาริย์จากสื่ออย่างในหนังจักรๆ วงศ์ๆ หรือความเชื่อถึงสิ่งลี้ลับที่สามารถดลบันดาลชีวิตมนุษย์ที่อยู่นอกเหนือเงื่อนไขความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากที่อาจเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

ส่วนชาวพุทธที่อ่านตัวบทจนเจนตาอาจคุ้นเคยกับ ‘ยมกปาฏิหาริย์’ ที่ว่าด้วยการแสดงอิทธิฤทธิ์ของพุทธเจ้าด้วยทำให้ต้นมะม่วงเติบโตเพียงชั่ววัน แยกร่างออกมาคล้ายดังวิชานินจา เพื่อเอาชนะคำสบประมาทพวกนักบวชศาสนาอื่นที่เรียกกันว่า ‘เดียรถีย์’ ตามเรื่องเล่าในไตรปิฎกนั้น ปาฏิหาริย์ที่สาวกพุทธเจ้าแสดงนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรสำแดงออกมาด้วยเกรงว่าจะเป็นการใช้เพื่อหาประโยชน์จากปาฏิหาริย์นั้นๆ จนถึงกับบัญญัติในวินัยว่า ห้ามภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ (อย่างไรก็ตาม ถือเป็นอาบัติที่โทษเบามาก) แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ หากพุทธเจ้าจะเป็นผู้แสดงปาฏิหาริย์เอง

ดังนั้น ในคัมภีร์ของชาวพุทธจึงไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์ แม้ว่านักศาสนายุคหลังจะพยายามผ่อนหนักเป็นเบาว่า สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นการเปรียบเทียบเชิงสภาวธรรมก็ตาม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรื่องเล่าเชิงดังกล่าวถูกใช้เป็นสื่อธรรมอยู่เสมอ ตั้งแต่เรื่องของศาสดา สาวก กระทั่งเกจิอาจารย์ในไทย โดยเฉพาะเมื่อตลาดของวัตถุมงคลเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ เรื่องเล่าเชิงอิทธิปาฏิหาริย์

ทศวรรษ 2510 เป็นช่วงที่สังคมโลกปั่นป่วนจากสงครามเย็น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามเวียดนามก็ดี การทำสงครามประชาชนระหว่างรัฐบาลที่หนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกา และกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นทั่วไป ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ในยุคนี้พุทธศาสนาถูกผนวกเข้ากับเรื่องเล่าเชิงอิทธิปาฏิหาริย์อย่างแนบแน่น ผู้เขียนเคยวิเคราะห์ไว้ในข้อเขียนที่ชื่อว่า ‘จิตนิยม-ประวัติศาสตร์’ เรื่องเล่าเชิงลี้ลับกับอุดมคติของพุทธศาสนาแบบไทยช่วงทศวรรษ 2500-2520 [1]

ปาฏิหาริย์ในความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ยังมีปาฏิหาริย์อีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมาอันถือว่าขัดกับมาตรฐานนิยามเดิมที่ได้ยินกันมา นิยามใหม่นั้นทำให้ความลี้ลับศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นความเรียบง่าย และทำให้ความเรียบง่ายนั้นดูลุ่มลึก อันเป็นแนวทางแบบเซน คำสอนที่เชื่อว่าลัดตรงไปสู่หัวใจของแก่นธรรม ปฏิเสธความรกรุงรังของการปรุงแต่ง เป็นคำสอนดุจภาพวาดที่เรียบง่ายด้วยการปัดฝีแปรงพู่กันเพียงไม่กี่ครั้ง คำสอนเช่นนี้ถูกจริตกับชาวตะวันตก และชนชั้นกลางที่มุ่งแสวงหาคำตอบทางจิตวิญญาณที่หลีกเร้นจากศาสนาแบบเดิมที่เต็มไปด้วยพิธีกรรมและสัญลักษณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นอกจากจะไกลตัวแล้ว ยังสร้างความรู้สึกกดทับตัวตนของพวกเขาไปอีกด้วย

ในเวลาอันเหมาะเจาะ มีหนังสือเล่มหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ (The Miracle of Being Awake ในการพิมพ์ครั้งหลังน่าจะมีการปรับปรุงเนื้อหาภายในและเปลี่ยนชื่อเป็น The Miracle of Mindfulness: An Introduction to the Practice โดย ภิกษุเวียดนามที่ชื่อ ติช นัท ฮันห์ หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในปี 2518 ได้รับการแปลเป็นไทยโดย พระประชา ปสนฺนธมฺโม (ปัจจุบันคือ ประชา หุตานุวัตร) ในปี 2519 มีการตีพิมพ์ครั้งที่ 27 ในปี 2554 นับว่าเป็นหนังสือพุทธศาสนาทางเลือกที่ขายดีและเป็นที่นิยมมากเล่มหนึ่งทีเดียวในโลกภาษาไทย

หนังสือเล่มนี้งอกงามขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมไทยโหยหาคำตอบในยามที่ผู้คนแตกออกเป็นฝักฝ่าย ภายใต้การเรืองอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เถลิงอำนาจอยู่บนอาวุธและความรุนแรงเพื่อใช้ปราบปรามอีกฝั่งของอุดมการณ์ที่ในที่สุดทั้งคู่ก็ปะทะกันด้วยอาวุธและสังเวยด้วยเลือดเนื้อของผู้คนของตน

ติช นัท ฮันห์ ผู้เขียน ถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนานิกายเซนรูปหนึ่งที่เพิ่งจากไปในวันที่ 22 มกราคม 2565 ด้วยอายุ 95 ปี ชีวิตของเขามีสีสันและโลดโผนอย่างยิ่งหากจะมองในฐานะพระสงฆ์จากแดนห่างไกลที่กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงที่รู้จักกันในมหานครสำคัญของโลก

นัท ฮันห์ ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ที่มุ่งหาความสงบในเรือนใจเพียงอย่างเดียว แต่เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางสังคมในเวียดนามอย่างเข้มแข็งอีกด้วย นัท ฮันห์ถือเป็นภิกษุผู้แสวงหาคำตอบทางจิตวิญญาณไปพร้อมกับพยายามเยียวยาสังคมเวียดนามที่กำลังแตกออกเป็นเสี่ยง ทั้งในด้านสังคมสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ทางด้านวัตถุ และการให้ความสำคัญทางมิติจิตวิญญาณ ในสถานการณ์ที่เวียดนามแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือ ที่มั่นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ กับเวียดนามใต้ก็เป็นพื้นที่รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้เป็นมิตรกับเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น พื้นเพของเขาอยู่แถบเวียดนามกลางที่เมืองหลวงเก่าอย่างเมืองเว้ อันอยู่ในเขตอิทธิพลของรัฐบาลฝ่ายใต้ที่ยังพอมีพื้นที่ให้เขาได้ทำงานและมีตัวตน แม้ว่าจะยากลำบากเหลือแสน

ว่าด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

การมี ‘สติ’ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรมที่หนังสือเล่มนี้ได้สอนไว้ แม้จะเป็นเรื่องที่พระสงฆ์ไทยจะเทศนากันมาอย่างยาวนาน ศัพท์ที่เกี่ยวข้องและใกล้เคียงกับสติ ผ่านเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาคนไทยอย่างน้อยก็ในวิชาพุทธศาสนาสำหรับนักเรียน หรือผู้ใหญ่ที่บังเอิญได้ยินในงานสวดศพ ยังไม่ต้องนับว่า หลักธรรมที่คนไทยให้ความสนใจมักจะอยู่ที่การทำบุญทำทาน หรือการเน้นไปที่ศรัทธาต่อพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากกว่าจะใส่ใจการปฏิบัติธรรมในนามของการมีสติรู้ตัว ในโลกของชาวพุทธไทยไม่น้อยจึงคิดเอาว่า การปฏิบัติธรรมจะต้องมีพื้นที่และเวลาที่เหมาะสม ใครมีเวลามากพอและมีบุญถึงก็จะได้บวชเป็นพระ ถ้าบวชไม่ได้ ก็ต้องเป็นเจ้าภาพงานบวชให้ลูกหลาน หรืออาจจะมีเวลาที่จะเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมตามวัด หรือศาสนสถานต่างๆ เหล่านี้จึงดูเป็นเรื่องไกลและง่ายต่อการผัดวันประกันพรุ่ง

แต่ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ กลับเป็นบทอ่านที่ฉีกแนวหนังสือธรรมะและคำสอนในยุคร่วมสมัย เนื่องจากเป็นคำสอนเรียบง่ายและธรรมะในชีวิตประจำวัน เป็นคำสอนที่ไม่ได้มีท่าทีสอนสั่ง แต่กลับนอบน้อมอ่อนโยนเป็นมิตรกับผู้อ่าน อันเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เปิดหัวใจให้ ซึ่งต่างไปจากบทเทศนา รวมถึงการปฏิบัติตนต่อพวกเขาที่พวกเขาอาจเคยพบเจอ

ถ้อยคำในหนังสืออย่าง ‘ล้างจานเพื่อล้างจาน’ ‘ความสงบจากชิ้นส้ม’ ‘ยิ้มน้อยๆ’ เป็นคำง่ายๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า การอยู่ในเส้นทางธรรมไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวหรือยากลำบากเลย ธรรมะไม่ใช่ทัณฑ์ทรมานแบบค่ายคุณธรรมที่เอาเด็กๆ ของพวกเรามาฝึกวินัยร่างกายและขับกล่อมด้วยวิดีโอที่นำเสนอความรุนแรงในฉากคลอดลูกเพื่อบิวท์อารมณ์สำนึกบุญคุณแก่บุพการี

หากหนังสือรวมคำสอนเซนจะเป็นตัวบทที่รวบรวมเอาคำคม หรือการบรรลุธรรมอย่างเฉียบขาดของอาจารย์เซนผู้ช่ำชองที่ดูน่าเชื่อถือ แต่เมื่ออ่านมากเข้าจะรู้สึกว่ามันไกลตัวเสียจนเราจะเข้าถึงได้หรือไม่ สุดท้ายก็กลายเป็นเพียงปรัชญาชีวิตฉลาดๆ ที่ปรุงแต่งสีสันให้กับปัญญา นานเข้าก็อยู่ในกรุความทรงจำคำคมที่อาจไม่ต่างจากนิยายจีนกำลังภายใน แต่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ปุถุชนที่อาจเข้าถึงสภาวธรรมได้ในชีวิตประจำวัน การอยู่กับปัจจุบันเป็นรากฐานสำคัญของการเปิดประตูสู่การรู้จักตัวเอง และการก้าวไปสู่เส้นทางธรรมะที่ซับซ้อนขึ้น

เนื่องจากชีวิตประจำวันคือช่วงเวลาอันแสนน่าเบื่อของมนุษย์ยุคใหม่ โดยเฉพาะในคนวัยทำงานและมีครอบครัว ที่พวกเขาแทบหาเวลาหยุดพักได้ยาก การจะได้หยุดพักของพวกเขาจะไปสัมพันธ์กับการแบ่งแยกเวลาออกเป็นส่วนๆ ในระหว่างวันและวันหยุดพักร้อนหรือตามที่จะหามาได้ คำสอนถึงการอยู่กับปัจจุบันได้กลายเป็นความท้าทายต่อการมองโลกแบบที่เคยแยกเวลาดังกล่าว ดังกรณีของสตีฟ โทนี และแอน

“แต่เดี๋ยวนี้ผมพยายามไม่แบ่งเวลาเป็นส่วนๆ เวลาที่ผมให้โทนีและแอนนั้น ผมถือเป็นเวลาของผมเองด้วย เวลาโทนีทำการบ้าน ผมพยายามจะไม่ไปคิดในใจว่า ‘นี่เป็นเวลาที่ฉันเผื่อไว้ให้โทนี เดี๋ยวเสร็จแล้วฉันจะมีเวลาของฉันเอง’ ผมพยายามหาทางมองให้เห็นว่าเวลาที่ผมให้กับโทนีก็เป็นเวลาของผมด้วย”[2]

กระทั่งการล้างจานที่เป็นงานบ้านที่น่าเบื่อหน่าย ก็ถูกพลิกให้มาเป็นโอกาสอันพิเศษ ดังที่ว่า “ขณะล้างจานเราต้องรู้ตัวทั่วพร้อมว่าเรากำลังล้างจาน…ครูกำลังยืนอยู่ตรงนั้นและล้างถ้วยชามเหล่านั้นอยู่ เป็นความจริงที่ถือว่าเป็นความอัศจรรย์ทีเดียว ครูเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ตามลมหายใจตลอดเวลา รู้ตัวทั่วพร้อมถึงปัจจุบันกาลของตนเอง…ความสำนึกของครูไม่มีอะไรจะมาทำให้หวั่นไหวได้ ดังฟองบนผิวคลื่นที่ซัดกระแทกกระทบกับหน้าผา” [3]

การมีสติถือเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ “ช่วยให้เราเป็นนายของตนเองและรักษาใจตนเองอยู่ได้ในทุกสถานการณ์” มีการอุปมากับนักมายากลที่ตัดร่างกายเป็นชิ้นๆ แล้ววางไว้คนละทิศ ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์เรียกให้ส่วนต่างๆ มารวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ สติก็เช่นกันคือ สร้างปาฏิหาริย์ด้วยการเรียกจิตใจฟุ้งซ่านไปอยู่ในร้อยแปดทิศให้กลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในทุกขณะจิต[4]

เครื่องมือสำคัญที่ช่วยตามรู้สติก็คือลมหายใจ ที่เราเรียกกันในชื่อยากๆ ว่า ‘อาณาปานสติ’ โดยเห็นว่า “ถ้าเรามีความชำนาญในลมหายใจของเรา เราก็สามารถควบคุมร่างกายและจิตใจของเราได้” [5] ความรู้สึกฟุ้งซ่าน อารมณ์เสียและควบคุมตัวเองไม่อยู่ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ในชีวิตประจำวัน การเฝ้าดูลมหายใจจะช่วยได้ และหากเชี่ยวชาญมันจะช่วยพัฒนาปัญญา เช่นเดียวกับการให้ผลดีต่อร่างกายและอวัยวะภายใน นัท ฮันห์ยังแนะนำว่า เราอาจกำหนด ‘วันแห่งสติ’ ขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งของสัปดาห์เพื่อฝึกสติทั้งวัน วันนี้ถือว่าสำคัญมาก เชื่อว่าหากฝึกเช่นนี้สัปดาห์ละวัน ภายใน 3 เดือนจะสามารถเป็นฐานทำให้สติแผ่ไปสู่วันอื่นๆ ที่เหลือได้[6]   

แต่สติก็ยังถือเป็นต้นทางสู่สภาวะที่สูงกว่านั้นคือการรู้เท่าทันจิตใจและความคิดของตน แม้จะเป็นอารมณ์ที่รุนแรงปั่นป่วนแบบไม่อาจสยบได้ก็ควรรับรู้มันเฉยๆ[7] เสมือนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับเรา เราเป็นเพียงผู้ดูตัวละครในภาพยนตร์หนึ่งที่แสดงอยู่ ไปจนถึงการยกระดับสู่การปลดปล่อยตนเองจากความทุกข์ เนื่องมาจากเข้าใจถึงธรรมชาติของเหตุปัจจัยของสภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเราที่เรียกว่า ‘ขันธ์ 5’

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เติมเต็มความแห้งแล้งจากพุทธศาสนาแบบไทยก็คือ การพูดถึงความรักและการรับใช้สังคม รวมไปถึงมนุษยชาติและประชาชน เขาเห็นว่าการทำงานรับใช้สังคมเป็นบทบาทสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องอยู่บนฐานของความรัก[8] ซึ่งเป็นอิทธิพลของแนวคิดแบบโพธิสัตว์ในมหายานนี่เอง

‘รักที่แท้’ ในฐานะเบื้องหลังของปาฏิหาริย์ และบริบทชีวิตของสังฆะเวียดนาม

หลังจาก ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกเกือบ 2 ทศวรรษ ภิกษุณีเจิงคอม หรือเกา หง็อก เฝือง ก็ได้ออกหนังสือชื่อ Learning True Love หรือในฉบับแปลเป็นไทยว่า รักที่แท้[9] ข้อเขียนนี้ทำให้เราได้เห็นถึงเลือดและเนื้อของการอุทิศตนของกลุ่มชาวพุทธในเวียดนามท่ามกลางความขัดแย้งและภัยสงคราม ได้ช่วยคลี่คลายให้เราเห็นว่า เส้นทางของนัท ฮันห์และเหล่าสังฆะนั้นมีพื้นฐานอย่างไร

ผู้เขียนเติบโตมาบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเขตเวียดนามใต้ เธอเกิดในปี 2481 ห่างจากนัท ฮันห์ 12 ปี เติบโตมาในครอบครัวใหญ่ที่มีอันจะกิน พ่อทำงานเป็นสถาปนิกให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส ด้วยภูมิศาสตร์และพื้นเพของครอบครัวจึงไม่แปลกที่ทำให้เธอมีประสบการณ์และการรับรู้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์และโฮจิมินห์เป็นลบ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบ เวียดนามก็กลายเป็นสมรภูมิอีกครั้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และฝรั่งเศสที่พยายามจะกลับมาทวงคืนอาณานิคมของตน ภายใต้ความชุลมุนครอบครัวของเธอเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ

พ่อของเธอถูกพรรคคอมมิวนิสต์จับกุมเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เธอต้องย้ายบ้าน คนกว่าร้อยถูกจับและประหาร พี่ชายคนโตของเธอไปเข้าร่วมกับกองกำลังเวียดมินห์ (กองกำลังผู้รักชาติที่ต่อต้านการรุกรานของต่างชาติช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) เธอมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งโดยที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นขั้วหนึ่ง เมื่อฝรั่งเศสถอนกำลังออกไปและสหรัฐอเมริกาเข้ามาหนุนหลังรัฐบาลในเวียดนามใต้ ความขัดแย้งก็ไม่จบสิ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

พระสงฆ์ในเวียดนามแต่เดิมก็อาจไม่ต่างจากไทยมากนัก เพียงแค่รับทำพิธีกรรมตามประเพณีทั่วไป เป็นเพียงผู้สนใจคนตายมากกว่าคนเป็น ไม่ได้น่าเลื่อมใสศรัทธาอะไรสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเห็นโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แม้เธอจะมีความสนใจในพุทธศาสนา แต่พบว่ายังไม่เจอกับอาจารย์ที่แท้จริง ระหว่างที่เธอเติบโตเธอเข้าเรียนระดับปริญญาตรีในคณะวิทยาศาสตร์ ด้านเคมี พร้อมกันนั้นก็อุทิศตนเพื่อสังคมด้วยการเข้าไปหาประชาชนในสลัมไซ่ง่อนเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ วิธีการเช่นนั้นในมุมมองของรัฐบาลฝ่ายขวาจัดได้ทำให้เธอเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ที่แฝงตัวเข้ามาหรือไม่

เจิงคอมพบกับนัท ฮันห์ เมื่อปี 2502 ในการบรรยายธรรมครั้งหนึ่งที่ไซ่ง่อน[10] การรู้จักและพูดคุยกันนัท ฮันห์ได้ทำให้เธอเห็นว่า การทำงานรับใช้สังคมกับการบรรลุธรรมนั้นไปด้วยกันได้ การปลอบประโลมเหล่านั้นส่งผลให้เธอศรัทธาและเชื่อมั่นบนเส้นทางนี้มากยิ่งขึ้น นัท ฮันห์ยังเห็นว่าพุทธศาสนาจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างจริงจัง ทั้งยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้บนพื้นฐานของความรัก ด้วยการสร้างศูนย์ฝึกอบรมให้กับอาสาสมัครเพื่อจะได้แยกย้ายไปทำงานกันทั่วประเทศ[11] แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนัท ฮันห์ต้องรับมือกับพระสงฆ์หัวเก่าในเวียดนามใต้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางใหม่ๆ ของเขา นัท ฮันห์จึงเติบโตขึ้นมาพร้อมกับวิถีทางเพื่อจะเปลี่ยนแปลงวงการสงฆ์ที่รับเอาแนวคิดการช่วยเหลือสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมไปด้วย ปี 2503 นัท ฮันห์ตั้งสหพันธ์นักศึกษาชาวพุทธ ปีต่อมาพระสงฆ์รูปอื่นยอมรับและสนับสนุนว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางศาสนามีสมาชิกกว่า 300 คน[12]

ต้องเข้าใจด้วยว่า ที่นัท ฮันห์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เพราะเขาได้รับโอกาสไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2506 ด้วยทุนฟุลไบรท์ ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และที่นั่นเขาได้สร้างคอนเน็กชันไว้ ในสถานการณ์โลกที่ผู้คนต่างจับตามองสงครามเวียดนาม ภิกษุเวียดนามผู้สมถะและถ่อมตัว ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยความเมตตา แม้ว่าจะมาจากดินแดนแห่งไฟสงครามจึงสร้างความประทับใจให้กับชาวตะวันตกในยุคแห่งการแสวงหาไปด้วย การที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้เสนอชื่อให้เขาเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ก็เป็นเครื่องบ่งชี้อันสำคัญยิ่ง

ตัดภาพกลับไปที่เวียดนาม เหตุการณ์เผาตัวเองเพื่อประท้วงของภิกษุกวางดึ๊ก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2506 กลายเป็นภาพจดจำของการอุทิศชีวิตในกับพุทธศาสนาในเวียดนามใต้ เจิงคอมเป็นสักขีพยานขณะที่เธอขี่รถมอเตอร์ไซค์อยู่แถวนั้นด้วย ต้องเข้าใจก่อนว่า ขณะนั้นประธานาธิบดี โง ดินเดียม เป็นชาวคริสต์ที่มีวิธีคิดที่กีดกันชาวพุทธด้วยวิธีการต่างๆ นานา เดือนเมษายน 2506 ใกล้วันวิสาขบูชา ประธานาธิบดีได้ออกคำสั่งยกเลิกให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุด ห้ามมีพิธีการใดๆ รวมถึงการชักธงธรรมจักร ใครละเมิดถือว่าผิดกฎหมาย 8 พฤษภาคม ก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน ชาวพุทธเมืองเว้ชักธงธรรมจักร รัฐบาลออกห้าม คนหนุ่มสาวหลายพันคนออกไปชุมนุม รัฐบาลส่งรถถังมาสลายการชุมนุมและเหยียบย่ำผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 8 คน อีก 2 วันต่อมาผู้คนเรือนหมื่นออกมาเรียกร้องเสรีภาพทางศาสนา นักศึกษาและพระสงฆ์ถูกจับกุม การต่อสู้ของประชาชนในประเด็นนี้ขยายไปจนถึงการอดอาหาร การไม่ให้ความร่วมมือทางการค้า การล่ารายชื่อจดหมายเปิดผนึก ในที่สุดก็ไปจบลงด้วยการเผาตัวเองของกวางดึ๊ก[13]

การเผาตัวตายไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ ในเดือนสิงหาคมก็มีผู้สละตนอีกเช่น ภิกษุเหงียน เฮือง, ภิกษุณีหยิว กวาง, ภิกษุทันห์ เต๋ย ในเดือนนั้นรัฐบาลส่งกองกำลังทหารหน่วยรบพิเศษบุกเข้าไปยังวัดวาอารามจับภิกษุ ภิกษุณี และค้นบ้านเรือนฆราวาส นักเรียนมัธยมออกไปเรียกร้องก็ถูกปราบ เด็กหญิงอายุ 16 ถูกฆ่าตาย ในเดือนกันยายน หญิงวัย 18 ปี พยายามตัดมือข้างซ้ายเพื่อประท้วง โดยจะส่งมือไปให้ประธานาธิบดี การกระทำของเธอปลุกให้ประชาชนที่เฉยชาสนใจอย่างกว้างขวาง[14] ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวเจิง คอม ได้รับการสนับสนุนให้เดินทางไปเรียนต่อที่ปารีสเพื่อทำวิทยานิพนธ์ เธอเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้เป็นปากเป็นเสียงให้แก่ชาวเวียดนามใต้ต่อชาวโลก เธอเดินทางไปฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม 2506 และเตรียมจะแถลงข่าว แต่ก่อนจะเกิดขึ้น รัฐบาลเผด็จการก็ถูกล้มล้างโดยการรัฐประหารด้วยผู้สนับสนุนพวกเขาอย่างสหรัฐอเมริกาไปเสียก่อน[15]

ขณะนั้นนัท ฮันห์อยู่ที่นิวยอร์ค ในเวลาต่อมามีจดหมายจากพระสงฆ์อาวุโส ทำให้นัท ฮันห์เดินทางกลับไปเวียดนามในเดือนธันวาคม 2506 หลังจากรัฐบาลเดียมถูกยึดอำนาจ นัท ฮันห์เขียนข้อเสนอถึงสหพันธ์พุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งเวียดนาม (สพว. องค์ที่ชาวพุทธทุกนิกายร่วมกันทำงาน) ให้ประกาศเจตนารมณ์ยุติสงครามในเวียดนามเพื่อให้เกิดสันติภาพระหว่างเวียดนามเหนือและใต้ และเห็นว่าควรสร้างสถาบันชาวพุทธที่เน้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกหัดผู้นำที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ ในที่สุดก็นำไปสู่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยแฝงหับในปี 2507 และโรงเรียนเยาวชนเพื่อพัฒนาสังคมในปีต่อมา[16] หลังจากสำเร็จการศึกษา เจิงคอมก็กลับมายังเวียดนามใต้ในปี 2507 เพื่อช่วยเหลืองานพัฒนาสังคม

เธอถูกจับที่เว้ปี 2509 เพราะมีหนังสือ ‘ดอกบัวกลางเปลวเพลิง’ ที่ถูกตีความว่าเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ และถูกขังก่อนจะถูกส่งไปที่ไซ่ง่อน เมืองหลวงขังที่นั่นอีก 8 วัน[17] ในปีเดียวกัน นัท ฮันห์ ก่อตั้งคณะเทียบหิน (Order of interbeing) ที่เป็นคณะที่เอื้อต่อการนำพุทธศาสนามารับใช้สังคม เอื้อให้แต่ละคนมีเวลาปฏิบัติธรรมเพื่อจะสามารถออกไปรับใช้สังคมได้[18] คนเวียดนามใต้ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งแม้ว่ารัฐบาลจะถูกหนุนหลังด้วยประเทศที่อ้างประชาธิปไตยและเสรีภาพ ทำให้ชาวพุทธเรียกร้องสิทธิ์นั้น ในปี 2509 การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก็ถูกยกระดับความรุนแรงจากรัฐบาล และจากผู้ชุมนุม สถานการณ์จึงตึงเครียดเพิ่มขึ้น ขณะที่นัท ฮันห์ ได้รับเชิญให้ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อไปสื่อสารกับชาวอเมริกันเพื่อให้ยุติการทิ้งระเบิดใส่ชาวเวียดนาม ในยามที่กองทัพอเมริกันเริ่มทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านต่างๆ แล้ว[19] นั่นคือการเดินทางออกไปประเทศที่กว่าจะหวนกลับมายังแผ่นดินแม่ได้ก็อีกหลายทศวรรษให้หลัง

เมื่อนัท ฮันห์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ร่วมสัมมนา ในมุมมองของนัท ฮันห์เขามองว่า เวียดนามเหนือและใต้ควรอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ยอมรับซึ่งกันและกัน รัฐบาลเวียดนามใต้ทราบข่าวจึงตั้งข้อหาว่าเขาเป็นผู้ทรยศต่อชาติ นั่นทำให้การกลับมาตุภูมิจึงเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ปัญหาภายในประเทศของเหล่า ยพส. ก็พบปัญหาว่า หมู่บ้านที่ได้ไปช่วยพัฒนาถูกทิ้งระเบิด และไม่ใช่ครั้งเดียวแต่มากถึง 4 ครั้ง พวกเขาต้องอดกลั้นถึงที่สุดเพื่อไม่จับปืนและลุกขึ้นสู้ แต่การปฏิบัติธรรมของพวกเขาทำให้ตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงมีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง ขณะที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยแฝงหับก็สั่งยุบสหพันธ์นักศึกษา และยุติความร่วมมือกับ ยพส. ทั้งยังรายงานความเคลื่อนไหวให้กับสันติบาล[20]

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ หอพักของ ยพส. ถูกขว้างระเบิดใส่ช่วงปี 2509-2510 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนับสิบคน[21] ยพส. ยังประสบปัญหาทางการเงินอีกด้วยในขณะนั้น ความเป็นสถาบันทำให้เฝืองไม่สามารถหุนหันพลันแล่นได้ดังเดิม มีเพียงนัท ชี มายที่เห็นว่า การต่อต้านสงครามอาจต้องสละชีวิตเพื่อส่งเสียงให้ดังออกไป เช้าตรู่วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2510 เธอจบชีวิตตัวเองด้วยการเผาตัวเองโดยสื่อออกไปว่าเป็นการกระทำเพื่อสันติภาพ[22] ข่าวการตายของเธอถูกเซ็นเซอร์ หน้าหนังสือพิมพ์กลายเป็นกระดาษขาว ที่น่าแปลกใจก็คือ แม้ข่าวจะกระจายอย่างปากต่อปาก แต่ก็มีคนไม่น้อยมาร่วมงาน ในนั้นยังมีผู้ที่เข้าใจผิดว่าพวกเธอคือคอมมิวนิสต์อีกด้วย[23]

ปี 2511 เกิดการเปิดศึกในช่วงตรุษญวนมีการสู้รบกลางเมืองไซ่ง่อน วิทยาเขตของ ยพส. ถูกกันไว้ให้เป็นเขตเป็นกลางให้ปลอดจากกิจการทหารจากทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการทิ้งระเบิดจากกองทัพอากาศอเมริกัน พวกเขาชักธงธรรมจักรเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเป็นพื้นที่ปลอดภัย และวิทยาเขตแห่งนั้นได้รองรับคนกว่าหมื่น ขณะที่มีคนทำงานเพียง 37 คน จึงจำต้องหาอาสาสมัครชาวบ้าน 200-300 คนเพื่อช่วยกันดูแล เบื้องหลังความปลอดภัยนั้นมาจากการที่พระทันห์ วันที่เดินทางผ่านพื้นที่สู้รบตามลำพังเดินทางไปขอบิณฑบาตไม่ให้ฝ่ายเวียดนามใต้ทิ้งระเบิด เช่นเดียวกับเดินทางไปพบทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์

เหตุการณ์ผ่านไป 8 วัน วิทยาเขตปลอดภัยจากการโจมตี[24] ส่วนเจิงคอม หลังการรุกตรุษญวน เธอได้เดินทางออกประเทศเพื่อประสานงานกับนัท ฮันห์เพื่อรับรู้สถานการณ์ในเวียดนามใต้เพื่อจะดำเนินการรณรงค์ต่อไป และนั่นคือการเดินทางออกจากประเทศที่อีกนานกว่าจะได้กลับ[25] เจิงคอมต่างจากนัท ฮันห์ตรงที่เธอเป็นสักขีพยานของความรุนแรง การฆ่าตัวตายเพื่ออุดมการณ์ การก่อวินาศกรรม สงคราม ได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ได้เก็บศพคนตาย หรือพูดอีกแบบคือ หนังสือเล่มนี้ได้เผยแพร่ฉากหลังของความรุนแรงในเวียดนามใต้จากสายตาคนในที่พยายามจะประคองตัวเองไม่ให้ตกไปอยู่กับการเมืองฝั่งไหน พร้อมกับการข่มไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น

จะเห็นว่าด้วยสถานะดังกล่าว นัท ฮันห์ได้อยู่ห่างไปจากความรุนแรงทางกายภาพ เขาได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย สามารถปฏิบัติธรรมอย่างสงบด้วยการใช้ชีวิตในฝรั่งเศส และการสร้างสังฆะในต่างแดนในนามหมู่บ้านมันเทศ และหมู่บ้านพลัมในเวลาต่อมา แต่จุดเด่นหนึ่งของนัท ฮันห์ ที่แม้จะห่างไกลจากไฟแต่เขาได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อและกิจกรรมความช่วยเหลือไปยังเวียดนามอย่างทรงพลัง การเผยแพร่แนวคิดการสร้างสันติภาพได้กลายเป็นภาษาสากลที่สะท้อนเสียงออกมาจากความรุนแรงแห่งสงครามที่เริ่มไร้สาระมากขึ้นทุกทีในสายตาชาวโลก

การทำให้ ติช นัท ฮันห์ เป็นสินค้า กับ วิกฤตความขัดแย้งในไทยที่ไร้ปาฏิหาริย์

ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ นั้นได้รับการสนับสนุนให้แปลและจัดจำหน่ายโดยเครือข่ายสังคมทางเลือกที่มีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ สนับสนุน จะเห็นว่าหนังสือเล่มอื่นๆ ของนัท ฮันห์ก็ได้รับการแปลและจัดพิมพ์ในสำนักพิมพ์เครือข่ายทั้งสิ้น เช่น ทางกลับคือการเดินทางต่อ (2518), กุญแจเซน (2520), พุทธศาสนาในอนาคต (2520), เดินวิถีแห่งสติ : คู่มือการเดินจงกรม (2528), ด้วยปัญญา และ ความรัก (2530), ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด : บทสวดภาวนาสำหรับพุทธศาสนิกร่วมสมัย (2534), พิธีกรรมสำหรับพุทธศาสนิกร่วมสมัย (2536), ดวงตะวันดวงใจฉัน (2537), วิถีแห่งบัวบาน : บทภาวนาเพื่อการบำบัดและการเปลี่ยนแปร (2539), คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ (2539), เมตตาภาวนา : คำสอนว่าด้วยรัก (2542), เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง (2542), ศานติในเรือนใจ : เรียนรู้ศิลปะการดำเนินชีวิตอย่างมีสติและผาสุก (2543), แผ่นดินหอม : บันทึกส่วนตัวของติช นัท ฮันห์ (ค.ศ.1962-1966) (2545), ความโกรธ : ปัญญาดับเปลวไฟแห่งโทสะ (2547)

ความนิยมในติช นัท ฮันห์ ยังปรากฏในเสถียรธรรมสถานก็ได้นำเอาธรรมะของติช นัท ฮันห์เข้ามาประยุกต์ใช้ด้วย รสนา โตสิตระกูลได้เล่าไว้ว่า แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุตได้ใช้หนังสือ ‘เดินวิถีแห่งสติ’ ที่ตนเป็นผู้แปลจาก ‘Walking Meditation’ ของนัท ฮันห์ เป็นบทอ่านภาวนาขณะเดินจงกรมร่วมกันในเสถียรธรรมสถาน[26] เมื่อปี 2549 ได้มีกิจกรรมธรรมโฆษณ์ ธรรมยาตรา เดินเท้า 25 วัน 25 คืนจากสวนโมกขพลาราม สุราษฎร์ธานี ไปถึงเสถียรธรรมสถาน กรุงเทพมหานคร ปีต่อมาเธอได้เข้าพบติช นัท ฮันห์ที่หมู่บ้านพลัม เล่าเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวให้เขาฟัง[27]

ติช นัท ฮันห์ เคยเดินทางมาไทยตั้งแต่ปี 2518 ที่วัดผาลาด เชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมอาศรมแปซิฟิก จนอีกหลายสิบปีผ่านมาเขาเดินทางมาเมืองไทยอีกครั้ง เป็นการเดินทางมานำภาวนาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในหัวข้อ ‘สู่ศานติสมานฉันท์’ เมื่อปี 2550 อันนำไปสู่การจัดตั้งหมู่บ้านพลัมประเทศไทยในปี 2553[28]

การขึ้นหน้าปกนิตยสาร Secret ย่อมแสดงให้เห็นถึงความ ‘แมส’ ของนัท ฮันห์มากขึ้น นั่นคือในปี 2553 ปีเดียวกันนี้ยังได้มีบทสนทนาระหว่างติช นัท ฮันห์ กับ ส.ศิวรักษ์ ในนิตยสาร มุม[29] ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเมืองไทยบนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นัท ฮันห์ในวัย 84 ปี พยายามเสนอแนวทางที่จะ ‘สลายความตึงเครียด’ ของประเทศไทยด้วย ถ้าความจำไม่สั้นเกินไป ขณะนั้นเกิดความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และการปราบปรามเสื้อแดงที่ราชประสงค์อย่างนองเลือด วิธีการของเขาคือ ชวนฝ่ายเสื้อเหลืองและแดงมาคุยกัน 50-100 คน โดยไม่เพ่งโทษกัน แล้วก็แยกแยะเอาความคิดเผยแพร่ให้คนทั้งประเทศได้รับรู้ เชื่อว่าด้วยความจริงใจนั้นจะทำให้ความทุกข์และความเครียดจะค่อยๆ ลดลง

แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้น เช่นเดียวกับความขัดแย้งดังกล่าวไม่เคยสิ้นสุดลงเพราะการสนทนา ความรุนแรงดังกล่าวมีรากฐานที่ซับซ้อนกว่าเอาคนไม่กี่คนมาพูดคุยกัน การเอาแต่ได้ทางการเมืองของชนชั้นนำยังปรากฏผ่านการแตกหักในการรัฐประหาร 2557 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐประหารใช้ความรุนแรงในการปราบปรามและเปลี่ยนประเทศไปสู่ทิศทางอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ภาพแสดงนิตยสาร Secret เล่มปี 2553, 2556 และ 2561 เรียงจากขวาไปซ้าย 

        

ปี 2556 ทั้งเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ติช นัท ฮันห์เดินทางมาไทยโดยการรับเชิญจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของฝ่ายมหานิกาย ครั้งนี้นัท ฮันห์เดินทางไปหลากหลายแห่งพร้อมด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงศิลปะ ‘ภาวนากับลายพูกัน ศิลปะแห่งสติ’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, การแสดงธรรมหัวข้อ ‘เราคือหนึ่งเดียว’ ณ ห้างหรูอย่างพารากอน, การแสดงธรรมหัวข้อ ‘จริยธรรมประยุกต์’ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, งานภาวนา 5 วัน สำหรับครอบครัวฝึกการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ณ วังรี รีสอร์ท นครนายก, งานภาวนาสำหรับหนุ่มสาว อายุระหว่าง 18-30 ปี เพื่อเจริญสติในชีวิตประจำวัน ณ ระเบียงไพร แวลลีย์ นครนายก และปิดท้ายด้วยพิธีการทอดผ้าป่าเพื่อระดมทุนสร้างหอปฏิบัติธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติ หมู่บ้านพลัมประเทศไทย อ.ปากช่อง นครราชสีมา

อาจกล่าวได้ว่า หลังจากปี 2556 เป็นต้นมา ติช นัท ฮันห์เป็นที่รู้จักในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง หนังสือของเขาได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายอีกระลอก ที่น่าสังเกตคือส่วนใหญ่จะตีพิมพ์หลังรัฐประหาร 2557 ได้แก่ กลัว : หัวใจของปัญญาญาณเพื่อผ่านพ้นพายุ (2558), สันติสุขทุกลมหายใจ : วิธีปฏิบัติสำหรับคนไม่มีเวลา (2558), ศิลปะแห่งการสื่อสาร (2560), ความเงียบ : พลังแห่งความเงียบสงบในโลกที่เต็มไปด้วยเสียงรบกวน (2561), พลเมืองดี : การสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้ (2562) ในปี 2561 นัท ฮันห์ ก็ได้ขึ้นปก Secret อีกครั้ง

ติช นัท ฮันห์ จากไปเมื่อกุมภาพันธ์ 2565 เขาได้กลายเป็นไลฟ์โค้ชที่สอนเรื่องการอยู่กับตัวเอง การใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ และเป็นไปได้ยิ่งว่า ชนชั้นกลางที่สมาทานแนวคิดของเขาส่วนมากไม่ได้สนใจอีกด้านหนึ่งของคำสอนเขา นั่นคือเรื่องของการมุ่งทำให้พุทธศาสนารับใช้สังคม ตัวตนของนัท ฮันห์สำหรับสังคมไทยจึงได้กลายเป็นสินค้าทางจิตวิญญาณของชนชั้นกลางที่ใช้เพื่อบำบัดตัวตนและเป็นพลังทางจิตวิญญาณในนามปัจเจกและเพื่อปัจเจกมากกว่าจะขยับไปสู่ระดับการเป็นส่วนหนึ่งของการรับใช้สังคมอย่างที่ติช นัท ฮันห์ ยึดถือ.


[1] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,  “ ‘จิตนิยม-ประวัติศาสตร์’ เรื่องเล่าเชิงลี้ลับกับอุดมคติของพุทธศาสนาแบบไทยช่วงทศวรรษ 2500-2520”, สังคมศาสตร์ 13 : 2 (2560) : 41- 63 ลิงค์ออนไลน์ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jssnu/article/download/208716/144660/653118

[2] ติช นัท ฮันห์, ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ, พระประชา ปสนฺนธมฺโม แปล (พิมพ์ครั้งที่ 17, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมล คีมทอง, 2549), หน้า 5

[3] ติช นัท ฮันห์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 11

[4] ติช นัท ฮันห์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 22

[5] ติช นัท ฮันห์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 32-33

[6] ติช นัท ฮันห์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 39-42

[7] ติช นัท ฮันห์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 56-57

[8] ติช นัท ฮันห์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 107

[9] เจิงคอม, รักที่แท้, นฤมล ตันตระกูล, แปล (กรุงเทพฯ : เสมสิกขาลัย, 2541)         

[10] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 39   

[11] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 43-44

[12] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 53-54

[13] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 55-61

[14] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 63-68

[15] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 68-69

[16] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 79-83

[17] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 120

[18] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 125-129

[19] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 137

[20] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 137-139

[21] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 144

[22] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 162-163

[23] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 168

[24] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 183-188

[25] เจิงคอม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 191-202

[26] รสนา โตสิตระกูล. “คุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ศากยธิดาผู้ฉลาดในทาง และมิใช่ทาง ผู้รังสรรค์ให้ โลกสวยด้วยพระธรรม”. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565 จาก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=4704680706275122&id=236945323048705&comment_id=4707051306038062 (9 ธันวาคม 2021)

[27] เสถียรธรรมสถาน. “ธรรมโฆษณ์ ธรรมยาตรา”. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565 จาก https://www.sdsweb.org/sdsweb/index.php?option=com_content&view=article&id=205:2010-09-29-09-33-55&catid=49:2010-09-04-06-05-41&Itemid=160

[28] หมู่บ้านพลัม ประเทศไทย. “ความเป็นมา หมู่บ้านพลัมในประเทศไทย”. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2565 จาก https://www.thaiplumvillage.org/index.php?option=com_content&view=article&id=200

[29] “ส.ศิวรักษ์ ถาม ติช นัท ฮันห์ ตอบ”, มุม 1 : 7 (ธันวาคม 2553) : 26-32

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save