fbpx

การล่มสลายของ Theranos คือการลวงโลก ไม่ใช่ความล้มเหลว

สำหรับแฟนหนังสือ Bad Blood และคนที่ติดตามข่าวของ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizabeth Holmes) น่าจะทราบดีว่าตอนนี้คดีความซีอีโอของเธรานอส (Theranos) สตาร์ตอัปเครื่องตรวจเลือดจอมปลอม ถูกตัดสินมีความผิดฐานฉ้อโกงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถ้าใครไม่ได้ติดตามข่าว ขอสรุปสั้นๆ ว่า โฮล์มส์เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทชื่อเธรานอส สตาร์ตอัปดาวรุ่งแห่งซิลิคอนวัลเลย์ เคยมีมูลค่าสูงสุดถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบๆ 3 แสนล้านบาท โดยพวกเขามีเป้าหมายในการปฏิวัติวงการแพทย์ด้วยผลิตภัณฑ์ชื่อว่า ‘เอดิสัน’ ซึ่งอ้างว่าเป็นเครื่องตรวจเลือดที่สามารถจับโรคร้ายได้อย่างมะเร็งหรือเบาหวานด้วยเลือดไม่กี่หยดในเวลาอันรวดเร็ว

แต่เธรานอสเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยดีในช่วงปี 2015 เมื่อหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เผยแพร่รายงานเชิงสืบสวนเปิดโปงว่าเทคโนโลยีตรวจเลือดที่กล่าวอ้างของเธรานอสนั้น ที่จริงแล้วใช้งานไม่ได้ตามที่โฆษณาเอาไว้ แพทย์ทั่วสหรัฐฯ ก็เริ่มตั้งคำถามกับเทคโนโลยีของบริษัท จนกระทั่งปี 2018 บริษัทก็ล่มสลายและโฮล์มส์ก็ถูกดำเนินคดีฐานฐานฉ้อโกงนักลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัท

นิตยสาร Forbes เคยเรียกเธอว่า ‘มหาเศรษฐินีที่อายุน้อยที่สุดในโลก’ และ นิตยสาร Inc. เคยขนานนามว่าเธอคือ ‘สตีฟ จ็อบส์ คนต่อไป’ ตอนนี้ถูกศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินมีความผิดฉ้อโกง 4 ข้อหา จากทั้งหมด 11 ข้อหา โดยมี 3 ข้อหาที่เป็น ‘wire fraud’ หรือการฉ้อโกงผ่านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และอีก 1 ข้อหาเป็นข้อหารวมหัวฉ้อโกง (conspiracy to commit wire fraud) แต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุดอย่างละ 20 ปี ซึ่งแน่นอนว่าโฮล์มส์น่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อไปและคดีน่าจะยื้อต่อไปอีกไม่จบง่ายๆ แม้จะถูกตัดสินว่ามีความผิดแล้วก็ตามที การตัดสินครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการพิจารณาของคณะลูกขุนกว่า 50 ชั่วโมงตลอดช่วงเวลา 7 วัน ต่อเนื่องมาจากการพิจารณาคดีที่ทรหดยาวนานกว่า 3 เดือน

โดยหัวใจหรือแก่นของกรณีนี้คือคำถามที่ถามว่า “แล้วโฮล์มส์ผิดที่ล้มเหลวหรือฉ้อโกงกันแน่?” และถึงแม้ว่าจะเป็นการฉ้อโกง เธอทำด้วยความตั้งใจรึเปล่า?

ฝ่ายโจทก์มีการเชิญพยานถึง 29 คนและแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือจำนวนมากทั้งในรูปแบบของข้อความ อีเมล และเอกสารของบริษัทที่ชี้นำไปในทางที่ผิด เพื่อแสดงให้เห็นว่าโฮล์มส์ ’ทราบดีว่า’ อุปกรณ์ของบริษัทนั้นไม่สามารถทำได้ตามคำกล่าวอ้างที่แจ้งไว้กับนักลงทุน

อดีตพนักงานของบริษัทชี้แจงถึงการสาธิตผลิตภัณฑ์แบบปลอมๆ แถมยังกวาดปัญหาไปซ่อนไว้ใต้พรมของบริษัทด้วย แถมไม่พอยังมีบันทึกคำให้การของโฮล์มส์จากสำนักงาน ก.ล.ต. ในปี 2017 ที่มัดตัวเธอด้วย โดยหลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เธอพูดนั้นเกินจริงไปมากหรือจะเรียกว่าโกหกแบบหน้าตาเฉยก็คงไม่ผิดนัก ทั้งเรื่องสัญญากับบริษัทยาทั้งหลายและกองทัพอีกด้วย เธอถึงขั้นเอาโลโก้ของบริษัทเหล่านั้นมาโชว์หราบนเอกสารสำหรับนักลงทุน แม้หลักฐานชิ้นนี้ดูชัดเจนมากขนาดไหน คณะลูกขุนยังก็ยังต้องตัดสินใจอยู่ดีว่าเป็นการกระทำโดยเจตนารึเปล่า

ฝ่ายจำเลยเรียกพยานขึ้นมาสามคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโฮล์มส์เองด้วย (ทำให้ทุกคนตกใจมากเหมือนกัน) ดูเหมือนว่าเธอพยายามที่จะนำเสนอภาพลักษณ์ทางด้านอารมณ์และความเป็นมนุษย์ต่อคณะลูกขุน ไม่ใช่แค่การเป็นนักธุรกิจที่เห็นแก่ได้ไม่รู้สึกรู้สาอะไร ถ้าใครเคยเห็นการให้สัมภาษณ์ของเธอเมื่อยังเป็นซีอีโอของบริษัท จะพอรู้ว่าเสียงเธอจะทุ้มต่ำ ราวกับพยายามกดเสียงให้เหมือนผู้ชาย และใส่เสื้อคอเต่าเหมือนสตีฟ จ็อบส์ ไอดอลของเธอ แต่ตอนที่ขึ้นเป็นพยาน ทั้งเสียงและเสื้อก็ไม่ได้เป็นแบบเดิมแล้ว

กลยุทธ์ของเธอดูเหมือนจะเป็นการโทษทุกคนและทุกอย่างยกเว้นตัวเธอเอง เธอชี้นิ้วโบ้ยไปยังผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการที่ไร้ความสามารถเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ที่ไม่ดีพอ แถมยังไม่แจ้งปัญหาให้เธอทราบอีกด้วย เธอกล่าวหาอดีตหุ้นส่วนธุรกิจของเธอและอดีตแฟนหนุ่ม ‘ซันนี่’ บัลวานี ฐานดูถูกและควบคุมของเธอ (ซึ่งตัวซันนี่เองก็ต้องเข้ารับการพิจารณาคดีในปลายปีนี้และคงจะต้องกังวลกับเรื่องนี้เช่นกัน) แต่ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญที่สุดที่เธอและทนายของเธอพยายามจะบอกก็คือว่าการล่มสลายของเธรานอสเกิดขึ้นในฐานะผู้ประกอบการที่เต็มใจจะ ‘ทำทุกอย่าง’ เพื่อให้ประสบความสำเร็จแต่มันไปไม่ถึงดวงดาว เป็นความล้มเหลวไม่ใช่การฉ้อโกงลวงโลก เพราะตัวโฮล์มส์นั้นเชื่อมั่น 100% ว่าคำกล่าวและคำสัญญานั้นสักวันหนึ่งจะเป็นจริงขึ้นมาได้

แต่สุดท้ายแล้วอย่างที่เราทราบกันดีว่าคำตัดสินออกมาคือเธอมีความผิด เพราะฉะนั้นแล้วการพยายามสร้างเคสว่าโฮล์มส์นั้นเป็นผู้ประกอบการที่ถูกขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณอันแผดเผาของความต้องการจะเปลี่ยนโลกไม่ใช่แค่เงิน (โดยระหว่างทางก็ทำผิดบ้างเพราะทุกคนก็เป็นมนุษย์) นั้นไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่คาดหวัง

ซึ่งผลลัพธ์นี้เองก็ช่วยส่งสัญญาณเตือนบริษัทสตาร์ตอัปทั้งหลายในซิลิคอนวัลเลย์ว่าวลีเด็ดอย่าง ‘fake it till you make it’ อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนในอดีต แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะต่างออกไปแล้ว เพราะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นและคนที่เป็นนักลงทุนก็ฉลาดทันเกมมากขึ้นด้วย คดีความนี้เหมือนเป็นการขีดเส้นแบ่งชัดด้านขาวและดำ ทำให้เห็นว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามบริษัทไหน ‘อยากจะลองข้ามเส้น’ ที่ถูกขีดเอาไว้นี้ ก็มีโอกาสที่ทางรัฐบาลจะเข้าไปตรวจสอบได้อย่างทันทีเพราะมีตัวอย่างในอดีตมาให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงๆ โอกาสที่จะแพ้เหมือนโฮล์มส์นั้นก็มีสูงมากๆ เช่นเดียวกัน

แต่ถามว่าหลังจากนี้เมื่อทุกอย่างจบลงไปแล้วและโฮล์มส์รับโทษตามแบบที่สมควร ถามว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปไหมในโลกของสตาร์ตอัปและธุรกิจ ดูแล้วก็อาจจะไม่ได้ขนาดนั้น ด้วยความน่าดึงดูดของเม็ดเงินและความสำเร็จ ทำให้ทั้งผู้ประกอบการที่เต็มไปด้วยไอเดียและแรงบันดาลใจ กับนักลงทุนผู้อยากได้ผลตอบแทนอย่างเป็นล่ำเป็นสันคืนก็ยังคงจะเสี่ยงกันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็จะยังมีคนสร้างสตาร์ตอัปที่มีคอนเน็กชัน มีแพสชัน มีความฝัน มีพรสวรรค์ ที่จะขายไอเดียให้นักลงทุนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าที่พร้อมลงขันใส่เงินผลักดันให้ไอเดียนั้นเติบโตหลายร้อยหลายพันเท่า

เอลิซาเบธ โฮล์มส์ พยายามขายไอเดียของเธรานอสโดยมีเป้าหมายที่จะปฏิวัติวงการแพทย์ เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมสุขภาพที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล แต่การตัดสินคดีนี้ทำให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เธรานอสเป็นคือการขายอุปกรณ์ปลอมๆ ที่ตรวจสอบแบบปลอมๆ ให้ผลลัพธ์แบบปลอมๆ กับลูกค้าที่เป็นผู้ป่วยจริงๆ เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าเธรานอสไม่ใช่บริษัทที่พยายามจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้วล้มเหลว แต่เป็นบริษัทที่พยายามจะลวงโลกแต่ถูกจับได้คาหนังคาเขาต่างหาก

=====

อ้างอิง

Elizabeth Holmes is found guilty of defrauding Theranos’ investors  : NPR

The Fall of Theranos: Fraud, Not Failure | by Stephen Moore | Jan, 2022 | Marker

Elizabeth Holmes: Rise and Fall of Theranos Founder Convicted of Fraud

Theranos scandal: Who is Elizabeth Holmes and why was she on trial? – BBC News

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save