fbpx
เปิดหลังบ้าน ‘เดอะอีสานเรคคอร์ด’ ว่าด้วยสื่อท้องถิ่น แผ่นดินอีสาน และการทำข่าวเจาะ

เปิดหลังบ้าน ‘เดอะอีสานเรคคอร์ด’ ว่าด้วยสื่อท้องถิ่น แผ่นดินอีสาน และการทำข่าวเจาะ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

หากใครที่ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภาคอีสานอยู่บ้าง คงคุ้นหูคุ้นตากับสื่อท้องถิ่นที่ชื่อว่า ‘เดอะอีสานเรคคอร์ด’ (The Isaan Record) ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภาคอีสานทั้งในรูปแบบของข่าว บทความ บทวิเคราะห์ ไปจนถึงบทสัมภาษณ์และสกู๊ปพิเศษต่างๆ โดยมีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ทว่าจุดที่ทำให้ เดอะอีสานเรคคอร์ด ได้รับความสนใจจากผู้คนในวงกว้าง และแตกต่างจากสื่อท้องถิ่นอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน คือการมุ่งเสนอข่าวเชิงลึก ตามติดประเด็น โดยเน้นไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจมานำเสนออยู่เป็นระยะ

วางตัวเป็นสื่อทางเลือกที่เป็นอิสระจากส่วนกลาง ยืนหยัดเคียงข้างหลักการประชาธิปไตย เป็นกระบอกเสียงของชาวอีสาน ซึ่งนานๆ ครั้งจะได้รับการเหลียวแลจากสื่อกระแสหลัก

หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้น เดอะอีสานเรคคอร์ดถือกำเนิดขึ้นจากบล็อกเล็กๆ ของชาวต่างชาติสองคนที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทย และสนใจบันทึกเรื่องราวในภาคอีสาน ก่อนจะเริ่มขยับขยายเป็นเว็บไซต์สื่อเมื่อปี 2554 มีทั้งทีมงานที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ และเริ่มขยายฐานบนโซเชียลมีเดียอย่างจริงจังในช่วงสองปีหลังสุด

แม้ทุกวันนี้ตลาดของสื่อออนไลน์อาจดูคึกคัก แต่มีเพียงไม่กี่สำนักที่มุ่งทำเนื้อหาแบบเจาะลึก เข้มข้น และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างถูกต้อง — เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นหนึ่งในนั้น

ในวาระที่ 101 เยือนถิ่นอีสาน เรามีโอกาสพบปะกับทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ด เพื่อชวนคุยถึงวิธีคิดในการทำสื่อท้องถิ่นบนแผ่นดินอีสาน มุมมองต่อสื่อกระแสหลัก ไปจนถึงความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ

ต่อไปนี้คือสนทนาของเรากับ ‘บูรพา เล็กล้วนงาม’ ผู้ช่วยบรรณาธิการ ภาคภาษาไทย และ ‘พีระ ส่องคืนอธรรม’ บรรณาธิการฝ่ายวัฒนธรรม สองกำลังหลักของ เดอะอีสานเรคคอร์ด

 

บูรพา เล็กล้วนงาม – ผู้ช่วยบรรณาธิการ ภาคภาษาไทย เดอะอีสานเรคคอร์ด

เดอะอีสานเรคคอร์ด วางทิศทางการทำงานของตัวเองไว้อย่างไร

บูรพา : เราทำข่าวที่เกี่ยวข้องกับภาคอีสานเป็นหลัก และเป็นข่าวเฉพาะทาง เน้นไปที่ประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีจุดมุ่งหมายใหญ่คือทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ส่วนแนวทางในการทำข่าว เราพยายามมุ่งไปในเชิงลึก อธิบายว่าเบื้องหลังสิ่งนั้นหรือปรากฏการณ์นั้นๆ คืออะไร มากกว่าการนำเสนอเพียงแค่ข้อมูลพื้นฐาน

พีระ : จากมุมของเราในฐานะที่เป็น บ.ก. ฝ่ายวัฒนธรรม เราพยายามสร้างปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ของภาคอีสานด้วย เราอยากให้ภาคอีสานได้มีเสียงของตัวเองบ้าง โดยที่ไม่ต้องกรองผ่านส่วนกลางหรือผ่านกรุงเทพฯ ตลอด ในแง่นี้ก็จะพยายามหามุมมองใหม่ๆ มานำเสนอต่อสาธารณะชน เพราะเรารู้สึกว่ามีเรื่องในท้องถิ่นที่น่าสนใจเยอะแยะเลย ที่ไม่เคยได้รับการบันทึก เผยแพร่

อย่างที่รู้ว่าเราเป็นสื่อเล็กๆ แต่เราก็มีความทะเยอทะยานในการขยายเครือข่ายของเราไปทั่วภาคอีสาน เช่น การจัดโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ในแต่ละปีเราจะคัดสรรคนที่สนใจอยากเป็นสื่อมาเข้าค่ายอบรม แล้วให้คนเหล่านั้นออกไปผลิตข่าวจากพื้นที่ของตัวเอง หรืออีกบทบาทหนึ่งที่เราทำอยู่ ก็คือการออกไปจัดเวทีเสวนาสาธารณะตามพื้นที่ต่างๆ ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้เจอกับผู้คนหลากหลายขึ้น เข้าถึงประเด็นปัญหาได้ครอบคลุมมากขึ้น

 

ผู้อ่านของ เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นใครบ้าง ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว

บูรพา : เรายังไม่เคยสำรวจอย่างจริงจัง ถ้าตอบตามข้อเท็จจริงก็คงตอบไม่ได้ แต่ถ้าดูจากการที่มีคนมาเขียนคอมเมนต์บ้างอะไรบ้าง ก็พอวิเคราะห์ได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่สนใจข่าวเฉพาะทางแบบที่เราทำนี่แหละ ซึ่งคงมีทั้งคนที่อยู่ในภาคอีสาน และอยู่ในส่วนอื่นๆ ของประเทศนี้

พีระ : เนื่องจากเว็บไซต์ของเรามีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กลุ่มผู้อ่านของเราจึงค่อนข้างกว้าง และต่างจากสื่อท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีแต่คนอ่านในท้องถิ่นเป็นหลัก ในมุมของเรา เรามองว่าใครอ่านก็ได้ อย่างเวอร์ชั่นภาษาไทย จะมีการใช้ภาษาท้องถิ่นเข้าไปผสมในการเขียนด้วย คนอ่านก็จะมีทั้งคนทั่วๆ ไปสนใจเรื่องอีสาน คนอีสานเอง ไปจนถึงคนที่อยู่สปป.ลาว

ส่วนภาคภาษาอังกฤษ ที่เห็นชัดก็คือกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาภาคอีสาน หรือศึกษาประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวโยงกับภาคอีสาน  อาจเพราะภาคภาษาอังกฤษมีเนื้อหาที่เป็นประเด็นเฉพาะมากกว่า นอกนั้นก็เป็นคนไทยที่อ่านภาษาอังกฤษ หรืออีกกลุ่มที่น่าสนใจก็คือกลุ่มคนอีสานที่มีสามีเป็นฝรั่ง ซึ่งอ่านเยอะเหมือนกัน

 

การเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ มีความท้าทายมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในยุคที่สื่อปรับตัวมาสู่ช่องทางนี้กันหมด

พีระ : เนื่องจากเราเริ่มต้นบนพื้นที่ออนไลน์มาตั้งแต่แรก จึงไม่ได้รู้สึกว่ายากหรือต้องปรับตัวอะไรมาก แต่สิ่งที่คิดว่ายากก็คือ เรารู้สึกว่าคนในวงการสื่อ ยังมองว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อชั้นรอง ประกอบกับเราไม่ใช่สื่อที่มีประวัติยาวนาน ความท้าทายก็คือจะทำสื่อในลักษณะนี้ยังไง ให้คนรู้สึกว่าน่าเชื่อถือไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก

ยิ่งเมื่อเราเป็นสื่อในภาคอีสาน ที่ประชากรส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทย ประกอบกับทิศทางการนำเสนอข่าวของเรา ทำให้หลายคนมองว่าเราเป็นสื่อของเสื้อแดง เคยมีคนถามว่าได้แหล่งทุนมาจากนักการเมืองเสื้อแดงรึเปล่า ซึ่งเราก็ตกใจเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยรับเงินจากแหล่งทุนในประเทศเลย ถ้ามองในแง่นี้ ความท้าทายก็คงอยู่ที่ว่าเราจะสร้างเครดิตให้ตัวเองยังไง จะทำสื่อในลักษณะไหนเพื่อให้คนรู้สึกว่าน่าเชื่อถือ

แน่นอนว่าเรามาทางสีแดง อันนี้ชัดเจน ไม่ปฏิเสธ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทำข่าวอะไรก็ได้ ขอแค่ให้ได้โจมตีฝ่ายตรงข้าม แล้วทำให้ฝ่ายเราดูดี เราไม่เคยทำแบบนั้น แล้วก็ต่อต้านการทำแบบนั้นมาตลอด ถ้าเป็นคนที่เปิดใจอ่าน ก็จะเห็นว่าเราพยายามทำข่าวที่หลากหลาย ไม่ได้ทำแต่เฉพาะข่าวที่ผู้ถูกกระทำเป็นคนเสื้อแดง หรือเป็นคนที่นิยมนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น

 

สังเกตว่าจุดเด่นอย่างหนึ่งหนึ่งของเดอะอีสานเรคคอร์ด คือการรายงานข่าวเชิงลึก ซึ่งสื่อทั่วไปไม่ค่อยทำกันเท่าไหร่นัก อยากทราบว่าทำไมถึงมุ่งไปในแนวทางนี้

บูรพา : จริงๆ เราก็ทำสื่อตามปกตินะครับ เพียงแต่สังคมนี้ไม่ค่อยมีใครทำอย่างที่เราทำมากกว่า เราทำสิ่งที่สื่อทั่วไปควรทำ คือต้องเห็นเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีการเจาะลึกตามประเด็น ไม่ใช่เปิดประเด็นไปเรื่อยๆ เพื่อให้เป็นกระแส แต่ไม่พยายามค้นหาความจริงว่าเบื้องลึกเบื้องหลังคืออะไร ข่าวที่เราทำก็เลยดูเหมือนแปลก แต่จริงๆ มันคือข่าวในแบบที่ทุกสื่อควรทำอยู่แล้ว

 

แล้วถ้าให้ลองวิเคราะห์ในมุมของคนทำสื่อ คิดว่าทำไมสื่อทั่วไปถึงไม่ค่อยทำข่าวเชิงลึกแบบนี้

บูรพา : สื่อไทยเป็นสื่อที่อาศัยความง่ายในการทำงานมั้งครับ ซึ่งไม่ใช่แค่ยุคสมัยนี้ แต่เป็นมาตั้งนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือวิทยุ ที่เน้นการสัมภาษณ์ แล้วก็โยนประเด็นไปมา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำไปสู่อะไรที่ลึกกว่านั้น มาจนถึงปัจจุบันที่เอาเรื่องง่ายๆ จากโลกออนไลน์มาเป็นข่าว เช่น เอาโพสต์จากเฟซบุ๊คมาเป็นข่าว แต่ก็ไม่ได้ไปหาต้นตอว่าข่าวชิ้นนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร จริงเท็จแค่ไหน ยังไม่นับสื่อบางแห่งที่แย่กว่านั้น คือคอยลอกข่าวคนอื่นอย่างเดียว ซึ่งผมคงไม่ต้องเอ่ยชื่อ

แต่ถ้าถามว่าความเป็นออนไลน์มันทำให้คนทำสื่อมักง่ายขึ้นมั้ย ผมคิดว่ามีส่วนเหมือนกัน เพราะมันไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รออยู่หน้าจอ แล้วก็เอาข่าวของที่อื่นมาลง คนที่ดีหน่อยอาจเอาข่าวหลายที่มายำให้เป็นข่าวใหม่ แต่จริงๆ คุณก็ไม่ได้ไปลงพื้นที่เอง หาข่าวเอง หรือสัมภาษณ์จากแหล่งข่าวด้วยตัวเอง

 

การวางตัวว่าจะทำเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย มีความท้าทายในแง่ไหนบ้าง โดยเฉพาะหลังการยึดอำนาจของคสช. ที่มีความพยายามในการควบคุมสื่อมากขึ้น

บูรพา : สำหรับผม ไม่รู้สึกว่ากระทบกระเทือนเท่าไหร่ เพราะตั้งแต่ทำงานมาเรายังไม่เคยถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่รัฐเลย อันนี้คือข้อเท็จจริง จะมีเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตอนไปทำข่าวที่ศาลทหาร แล้วมีนายทหารบางคนมาข่มขู่ห้ามถ่ายภาพ บอกว่าถ้าถ่ายแล้วจะเจอข้อหาหมิ่นศาลนะ ซึ่งเราก็ฟังหูไว้หู

พีระ : ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราทำอย่างนี้ได้ และทำมาได้เรื่อยๆ อาจเพราะเราเป็นสื่อเล็กๆ เลยไม่ถูกสอดส่องหรือคุกคามจากทางการ เหมือนที่สื่อหลายๆ แห่งต้องเจอ ที่สำคัญคือเราไม่ได้อยู่ในกรุ๊ปไลน์ของทางการ ซึ่งมีสื่อกระแสหลักรวมถึงสื่อท้องถิ่นบางแห่งที่ถูกดึงเข้าไปอยู่ในนั้น เพื่อขอความร่วมมือในการรายงานหรือไม่รายงานข่าวบางข่าว แต่ในส่วนของเรา อาจเป็นโชคดีที่ไม่ต้องเข้าไปมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐแบบนั้น ทำให้ยังสามารถรักษาความเป็นอิสระได้

แต่ที่เคยเจอหลายครั้ง คือตอนที่เราไปจัดเวทีเสวนา จะมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ จดบันทึก หรือคุกคามรูปแบบอื่นๆ เช่น ตอนไปจัดเสวนาที่ขอนแก่นเมื่อปีที่แล้ว เขาก็ขนคนมาสองคันรถ ทำเสมือนว่าจะมาร่วมงาน แต่จริงๆ แล้วคือมากินข้าวที่เราเตรียมไว้เลี้ยงแขกจนหมดเกลี้ยงเลย ซึ่งในฐานะผู้จัดงาน ถ้าเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ เราก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนที่เราเชิญมาร่วมเวทีเสวนาด้วย แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องการเปิดเวทีให้คนได้พูดอย่างเต็มที่ อันนี้จะมองว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งก็ได้

แล้วในแง่ของการตรวจสอบรัฐบาล การนำเสนอเรื่องของสิทธิมนุษยชน ให้มีความลุ่มลึกและรอบด้าน มีวิธีการอย่างไร เจาะไปได้ลึกแค่ไหนกับประเด็นเหล่านี้

บูรพา : ก็ไปได้เท่าที่เรามีข้อมูลจะเขียนครับ ต้องอธิบายก่อนว่าเวลาเราทำงานเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ เราจะเน้นตรวจสอบเชิงนโยบาย เชิงโครงสร้างมากกว่า จะไม่ค่อยได้ไปปะทะกับตัวบุคคลโดยตรง แต่ในบางกรณีที่จำเป็นต้องเขียนพาดพิงถึงบุคคล เราก็จะเขียนไปตามข้อเท็จจริง ไม่ได้เขียนในท่วงทำนองที่ใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปอยู่แล้ว เวลาเราเขียนข่าวแต่ละชิ้น เราจะมีเหตุผลรองรับเสมอว่าสิ่งไหนเกิดขึ้นเพราะอะไร ฉะนั้นผมคิดว่าเราสามารถเขียนได้ทุกเรื่อง

อย่างกรณี ‘ห้วยเม็ก’ ทีมี่โรงงานของกระทิงแดงเข้ามาตั้งในพื้นที่ป่า เราก็ให้ผู้สื่อข่าวลงไปพิสูจน์ว่าป่าที่ทางกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ตั้งโรงงาน มันเป็นป่าที่เสื่อมโทรมแล้วจริงหรือเปล่า มีประชาชนที่คัดค้านบ้างหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงก็ชัดเจนว่าป่ายังมีความสมบูรณ์อยู่ แล้วก็มีคนออกมาคัดค้าน ชี้แจงอย่างเป็นระบบ ซึ่งเราก็รายงานไปตามข้อเท็จจริง

พีระ : เราขอเสริมเรื่องการคุกคามสื่อในระดับท้องถิ่น พูดง่ายๆ ก็คือมาเฟียในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง อบต. หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่จริง และเป็นเรื่องที่คนทำสื่อท้องถิ่นหลายคนน่าจะเคยเจอกับตัว เวลาลงไปทำข่าวในพื้นที่แล้วนำเสนอออกมาในทางที่ไม่ดี คุณก็จะโดนโจมตี หรือไม่ก็โดนข่มขู่ คุกคาม

ปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวของเราคนหนึ่ง ไปลงพื้นที่ที่มีการพยายามขับไล่พระรูปหนึ่งออกจากหมู่บ้าน เป็นพระที่ออกมาปกป้องป่าที่อยู่ในสำนักสงฆ์ ซึ่งมีต้นยางนาขนาดใหญ่หลายคนโอบอยู่ แล้วนักข่าวคนนี้เขาอินมาก ไปลงพื้นที่บ่อยมาก แล้วก็เขียนรายงานส่งมาเยอะมาก จนทำให้เขาถูกเพ่งเล็งจากผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ถึงขั้นที่ว่าชีวิตเขาจะตกอยู่ในอันตราย

สุดท้ายก็ต้องบอกให้เขาหยุดตามเรื่องนี้ ไม่สามารถปล่อยให้เขาทำจนจบได้ ต้องยอมรับว่าด้วยความที่เราเป็นสำนักข่าวขนาดเล็ก หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา เราไม่มีกำลังหรือทรัพยากรมากพอที่จะไปช่วยเขาได้ เมื่อเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้เราก็ต้องเซฟบุคลากรของเราด้วย

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เช่นประเด็นที่เกี่ยวกับม.112 อย่างกรณีของไผ่ ดาวดิน ก็ต้องบอกว่าไม่มีเส้นที่ชัดเจนเลย ทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าเส้นคือตรงไหน ทำไมถึงโดนจับ แต่ในมุมของสื่อ เราก็ต้องคิดอีกตลบหนึ่งว่า ถ้าเรานำเสนอข่าวเรื่องนี้ แหล่งข่าวจะตกเป็นอันตรายรึเปล่า หรือเขียนไปแล้วเราจะโดนอะไรรึเปล่า แต่เท่าที่ผ่านมาเราก็ยังไม่เคยโดนอะไร อาจเพราะเราทำเรื่องอื่นด้วย ไม่ได้หมกมุ่นว่าจะทำแต่เรื่องที่มันล้ำเส้น

 

พีระ ส่องคืนอธรรม – บรรณาธิการฝ่ายวัฒนธรรม เดอะอีสานเรคคอร์ด

จากตอนแรกที่บอกว่า มีเป้าหมายใหญ่คือการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อยากทราบว่าการทำสื่อในแนวทางนี้ สามารถส่งเสริมประชาธิปไตยได้จริงไหม อย่างไร

บูรพา : คิดว่าทำได้ครับ แต่เราอาจไม่ได้ทำตรงๆ ว่าประชาธิปไตยมันดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราทำผ่านงานของเรา เราสามารถบอกให้คนรู้ว่าเขามีสิทธิ์มีเสียงได้ ผ่านข่าวชิ้นเล็กๆ บางชิ้น เช่น เรื่องบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ว่ามันยังควรมีอยู่มั้ย เพราะในพื้นที่เดียวกันก็มีทั้งเทศบาล ทั้งอบต. ซึ่งทำงานทับซ้อนกันอยู่ เราพยายามชี้ให้เห็นว่ากำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นสิ่งที่ส่วนกลางตั้งขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือเป็นลูกน้องของนายอำเภออีกที แต่คนที่คุณเลือกเข้ามาอย่างเทศบาลหรือ อบต. ควรจะเป็นคนที่ทำงานให้คุณมากกว่ารึเปล่า ทำไมต้องมีกำนันผู้ใหญ่บ้านมาซ้อนไว้อีกชั้น สุดท้ายมันก็สะท้อนกลับไปถึงการควบคุมจากส่วนกลาง ที่ส่งคนไปปกครองทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

หรือถ้าเป็นเรื่องชาวนา สื่อทั่วไปก็คงรายงานแค่ว่าสถานการณ์ปีนี้มีน้ำแล้งน้ำท่วมยังไง ฟ้าฝนเป็นใจรึเปล่า แต่เราก็ทำครบวงจรเลย ตั้งแต่เริ่มปลูก ปลูกแล้วเอาไปขายให้ใคร ได้ราคาเท่าไหร่ เปรียบเทียบให้เห็นว่าระหว่างรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชาวนามีความพึงพอใจกับการขายข้าวในช่วงรัฐบาลไหนมากกว่ากัน แล้วอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลทั้งสองแบบ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

เท่าที่ลงไปคุยชาวนาหลายคน ทุกคนก็รู้ว่ารัฐบาลไหนที่ทำให้ราคาข้าวเขาดีขึ้น ซึ่งการนำเสนอแง่มุมแบบนี้ อย่างน้อยก็น่าจะทำให้คนตระหนักได้ว่าการที่เราสามารถเลือกรัฐบาลได้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาแค่ไหนอย่างไร

อีกเรื่องที่เห็นชัด ก็คือเรื่องที่ดิน เวลาชาวบ้านเดือดร้อน โดนไล่ที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขตเศรษฐกิจ หรือสร้างเขื่อน เราจะพยายามนำเสนอให้เห็นถึงระดับโครงสร้างเลย ชี้ให้คนเห็นว่าทำไมเราต้องยอมให้ส่วนกลางมีอำนาจเหนือดินแดนภาคอีสานทั้งหมด ทำไมคนที่เป็นผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกเข้าไป ถึงไม่มีอำนาจในการควบคุมดูแลพื้นที่ป่าหรือที่ดินของตัวเองเลย การฝากป่าไว้กับกรมอุทยานหรือกรมป่าไม้ ฝากแม่น้ำไว้กับกรมเจ้าท่า ถึงเวลาจะมาไล่ชาวบ้านออกไปเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ สุดท้ายแล้วสิ่งที่มันครอบงำเราอยู่คืออะไร ก็คืออำนาจรัฐจากส่วนกลาง

ประเด็นเหล่านี้เป็นการเรียนรู้ประชาธิปไตยในทางหนึ่ง ซึ่งเราอาจไม่ได้พูดตรงๆ แต่เป็นการสื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วอำนาจมันต้องเป็นของประชาชน ประชาชนควรจะมีสิทธิ์ที่จะดูแลสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง

พีระ : เราว่ามันตอบโจทย์ในแง่ที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของสังคมนี้ เพราะว่าเสียงเขามันสะท้อนอยู่ในสื่อ จากเรื่องราวของเขา ภาษาของเขา เวลาเราโคว้ทคำที่เป็นภาษาลาวลงไป มันทำให้เขารู้สึกว่ามีสื่อที่พูดภาษาเดียวกับเขา เข้าใจเขา นี่คือการทำให้เขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง เป็นเจ้าของเสียงของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างสำนึกแบบประชาธิปไตย

บูรพา : ผมคิดว่าการเสนอประเด็นท้องถิ่นแบบนี้ แง่หนึ่งก็น่าจะทำให้คนอ่านทั่วๆ ไปได้เห็นมุมที่แตกต่างจากตำราของกระทรวงศึกษาธิการที่พร่ำสอนกันมา โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เราท่องหนังสือกันมาว่าประเทศไทยไม่เคยเสียเอกราช แต่เราเคยสงสัยกันมั้ยว่าทำไมต้องไปกู้กรุงศรีถึงสองครั้ง ถ้าไม่เสียแล้วเราจะไปกู้ทำไม กับความเป็นอีสานก็เช่นกัน ถ้าดูให้ลึกลงไป คนในภาคอีสานก็มีหลากหลาย ทั้งคนลาว คนไทย คนภูไท บางคนก็เป็นเชื้อเขมร เชื้อญวน ปะปนกันไป ไม่ใช่คนที่ส่วนกลางพยายามทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามหรือของกรุงเทพฯ เท่านั้น

 

การเป็นสื่อขนาดเล็ก ทำให้มีอิสระในการรายงานข่าวเชิงลึกมากกว่าสื่อใหญ่ๆ ด้วยรึเปล่า

บูรพา : เรื่องความเป็นอิสระ แต่ละสื่ออาจมีไม่เท่ากัน แต่ผมคิดว่ามีประเด็นมากมายที่สื่อสามารถรายงานแบบเชิงลึกได้ โดยที่ไม่ต้องไปขัดกับแหล่งทุน หรือขัดกับฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจ แต่คำถามคือคุณสนใจที่จะตามรึเปล่า แล้วเมื่อคุณตาม คุณตามจนสุดรึเปล่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณไปดูข่าวโทรทัศน์บางช่องที่นำเสนอเรื่องของคนลักลอบตัดไม้ คุณก็จะได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินปั่บๆๆ พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวที่รายงานสถานการณ์ด้วยความตื่นเต้น “คุณจุดจุดจุดครับ ตอนนี้ผมกำลังอยู่ในพื้นที่นี้ครับ ตอนนี้เจอขบวนการมอดไม้กำลังตัดไม้อยู่ครับ ตอนนี้ได้ยินเสียงปืนดังมาจากป่าครับ คาดว่าน่าจะเป็นขบวนการของนายทุนรายใหญ่ที่จะขนไม้เหล่านี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน…” เราก็ดู แล้วเราก็ตื่นเต้นตามไปด้วย คนที่ไม่ได้คิดอะไรมากก็คงรู้สึกว่าข่าวช่องนี้ดี มีคุณภาพ ตามติดสถานการณ์แบบใกล้ชิด

แต่ถ้าเราลองคิดดีๆ บางข่าวนี่เสนอมาเป็นปีแล้ว แต่เราไม่เคยรู้เลยว่านายทุนคนนั้นคือใคร แล้วนายทุนคนนั้นมันเกี่ยวพันกับระบบราชการที่เอื้ออำนวยให้เข้าไปตัดไม้หรือไม่ ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าระบบราชการไม่เอื้ออำนวย หรือไม่เปิดช่องทางตามด่าน อยู่ดีๆ จะมีคนขนไม้ออกมาจากป่าได้อย่างไร ไม้ทั้งท่อนนะครับ ไม่ใช่ยาบ้าเม็ดเล็กๆ ที่ยัดใส่กระเป๋าแล้วขับรถออกมา

ผมเชื่อว่าทุกสื่อมีอิสระพอที่จะทำได้ แต่คุณต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม แล้วพยายามหาคำตอบ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากการหล่อหลอมของสังคม เมื่อสังคมของเราไม่มีการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ สื่อก็เลยอยู่ในสังคมที่ไม่ตระหนักรู้ แล้วทุกคนก็เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด น้อยคนที่จะกล้าแหลมหรือกล้าเสนอสิ่งที่มันแตกต่างขึ้นมา  

อย่างการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลก็น่าสนใจ แทนที่เราจะได้เห็นการนำเสนอข่าวที่ฉีกออกไป มีคุณภาพมากขึ้น เน้นการตรวจสอบมากขึ้น แต่สุดท้ายก็มีแต่ข่าวรูปแบบเดิมๆ เปลี่ยนแค่ลูกเล่น สีสัน หรือรูปแบบการนำเสนอ แต่แทบไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหา

 

พูดง่ายๆ ว่าทำแต่เรื่องเฉพาะหน้ามากกว่า ไม่ได้เจาะลึกหรือตามประเด็นต่อ

บูรพา : ทำงานไปวันๆ ว่างั้นเถอะ (หัวเราะ) ยกตัวอย่างข่าวการเมือง จะแทบไม่เห็นว่ามีสื่อไหนที่หยิบนโยบายของแต่ละกระทรวงมาตรวจสอบ วิเคราะห์ ว่ารัฐมนตรีหรือข้าราชการในกระทรวงนั้น ได้นำนโยบายไปสร้างเป็นผลงานได้มากน้อยขนาดไหน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอแบบผิวเผิน เป็นกระแสรายวัน ไปสัมภาษณ์นายก สัมภาษณ์รัฐมนตรี สัมภาษณ์ฝ่ายค้าน สัมภาษณ์องค์กรอิสระต่างๆ เพื่อเอาคำพูดของแต่ละฝ่ายมารายงาน แล้วก็จบไป

หรือถ้าเป็นข่าวสายทหาร ก็จะเน้นเฉพาะช่วงที่มีการโยกย้าย บิ๊กคนโน้น บิ๊กคนนี้ มาจากสายนั้นสายนี้ แต่ไม่ได้ตามต่อว่าเวลาบิ๊กเหล่านั้นเข้ามาเป็นผู้บริหารในกองทัพแล้ว เขามีผลงานที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร กระทั่งว่าผลงานในอดีตที่เขาเคยทำมาคืออะไร เหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับหรือไม่

ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่ามีสื่อหลายแห่งที่ได้รับประโยชน์จากหน่วยงานราชการ ไม่ว่าในรูปแบบของการพาไปสังสรรค์ กินเลี้ยง เที่ยวต่างประเทศ หรือกระทั่งเป็นซองขาว รับเงินจากนักการเมืองบ้าง จากคนนั้นคนนี้บ้าง ก็เลยทำให้สื่อไปประสมโรง กลายเป็นพวกเดียวกับคนที่ตรวจสอบ ทั้งที่สื่อควรมีระยะห่างจากคนที่ถูกตรวจสอบ

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สื่อไทยสามารถเป็นพวกได้กับทุกคนที่ขึ้นมามีอำนาจ ใครมาเป็นรัฐบาลก็เข้าไปตีสนิทได้หมด ปรับตัวเข้าหาผู้มีอำนาจเก่งมาก แต่ไม่ยอมที่จะปรับตัวเข้าหาประชาชนสักเท่าไหร่ ถามว่าสื่อมวลชนคืออะไร ในความเห็นของผม สื่อมวลชนก็คือสื่อของมวลชน มวลชนคือใคร มวลชนก็คือประชาชนทั่วไป ฉะนั้นหน้าที่ของสื่อมวลชน ก็คือรับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้ระบบราชการหรือระบบทุน ที่ผ่านมาผมคิดว่าคนทำสื่อไม่ได้ตระหนักรู้เรื่องนี้เท่าไหร่นัก

 

คิดว่าสาเหตุมาจากอะไร ทำไมคนทำสื่อถึงไม่ค่อยตระหนักเรื่องนี้

บูรพา : น่าคิดเหมือนกันว่าเพราะไม่ตระหนักรู้ หรือเพราะไม่เคยเรียนรู้มาเลยตลอดชีวิต ถามว่าทำไมไม่เคยเรียนรู้มาเลยในตลอดชีวิต ก็เพราะชีวิตนี้เขาอาจไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น แล้วทำไมชีวิตนี้ถึงไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น คุณก็ลองดูข่าวการรับน้องที่เห็นกันอยู่ทุกปีสิครับ ถึงตอนนี้เกือบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังยอมรับระบบที่พี่สามารถรังแกน้องยังไงก็ได้ แล้วคนที่ออกมาปกป้องระบบรับน้อง หลายท่านก็เป็นถึงคณบดี อธิการบดี ทีนี้คนที่จะจบมาเป็นนักข่าว สมมติว่าเรียนสาขานิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนมา เขาก็ต้องอยู่ในสภาพอย่างนี้มาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ถามว่าคนแบบนี้จะมีความคิดที่เป็นประชาธิปไตยเหรอ ไม่มีอยู่แล้ว แล้วพอคนเหล่านี้เข้ามาเป็นนักข่าวตัวเล็กตัวน้อยในองค์กร จะคาดหวังให้มาเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยก็คงยากแล้ว ยิ่งพอคนพวกนี้แก่ขึ้น ก็ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าให้ผมสรุป ก็อาจพูดได้ว่าประเทศไทยไม่เคยผลิตคนที่มีความคิดเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พอมาอยู่ในวงการสื่อ ก็ไม่มีความตระหนักรู้เรื่องนี้ อาจมีบางคนที่แหลมออกมาบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนน้อย

 

ถ้าถามในแง่จุดยืนทางการเมือง เดอะอีสานเรคคอร์ดวางตัวเองอยู่ฝั่งไหน

บูรพา : เราไม่ได้มีธงชัดเจนว่าอยู่ฝั่งไหน แต่ที่แน่ๆ คือเราสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ถ้าฝั่งไหนเป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่บิดเบือนวิถีชีวิต เราก็ไปฝั่งนั้น จะเป็นเหลือง เป็นแดง หรือเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นในแนวทางนี้ แต่ที่ผ่านมาคนก็อาจมองว่าเราเป็นแดง ถามว่าเพราะอะไร เพราะอย่างน้อยแดงก็ยังสนับสนุนประชาธิปไตยมากกว่าเหลือง อย่างน้อยก็เอาการเลือกตั้ง ถึงแม้จะบอกว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่มันไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนหรอกครับที่ไม่มีการเลือกตั้ง

สื่อทั่วไปอาจคิดว่าจะทำข่าวในสถานการณ์แบบไหนยังไงก็ได้ เช่น ข่าวการเมือง รัฐบาลแบบไหนเข้ามาก็ทำแบบเดียวกันหมด ไม่คิดว่าต่างกัน แต่ในมุมของเรา เราไม่ได้คิดแบบนั้น เราคิดว่าถ้ามาจากการเลือกตั้งต้องทำแบบหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ต้องทำอีกแบบ

ผมคิดว่าสื่อต้องเป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้ากว่าสังคมในระดับหนึ่ง อย่างน้อยๆ ต้องเป็นการทำงานที่มีทิศทาง ซึ่งแต่ละสื่อก็อาจมีทิศทางที่ต่างกันไป ถ้าไม่มีทิศทางก็เหมือนเรือที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรเฉยๆ คลื่นซัดไปทางไหนก็ลอยไปทางนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา

 

มองเรื่อง ‘ความเป็นกลาง’ อย่างไร

บูรพา : ถามว่าผมเชื่อเรื่องความเป็นกลางไหม ผมเชื่อแค่ส่วนหนึ่ง เพราะมันไม่มีใครที่จะเป็นกลางได้อย่างแท้จริง สมมติว่าถ้ามีความเห็นระหว่างคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยกับสนับสนุนเผด็จการ คุณต้องเอาความเห็นสองฝ่ายมารวมกันแล้วก็ให้น้ำหนักสองข้างเท่ากันหรอกหรือ ในความเห็นผม ผมว่าเราควรสนับสนุนเสียงของฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่า

จริงๆ การเป็นสื่อเลือกข้างก็ไม่ผิดเสียทีเดียวนะครับ แต่มันจะผิดก็ตรงที่เมื่อคุณเลือกข้างแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นพวกเดียวกัน เช่น ทีวีช่องเสื้อแดงเสื้อเหลือง ถ้าช่องเสื้อแดงก็เป็นฝั่งพรรคเพื่อไทย ช่องเสื้อเหลืองเสื้อฟ้าก็พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมันจะนำไปสู่การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสนับสนุนแต่เฉพาะความคิดเห็นของฝ่ายเราฝ่ายเดียว อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอันตราย

แต่ถ้าเราเลือกข้างโดยมีจุดยืนร่วมกัน ทำหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงโดยไม่บิดเบือน ขณะเดียวกันก็ตรวจสอบไปด้วย แบบนี้ก็ไม่น่าจะเลวร้ายอะไร ดีกว่าประกาศตัวว่าเป็นกลางแล้วลอยตามน้ำไป ใครขึ้นมามีอำนาจก็ตามเขาไป แบบนั้นคงไม่ได้ช่วยให้สังคมเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาขึ้นกว่าเดิม ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่สังคมไทยยังเป็นกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการมาตลอดหลายสิบปี ก็เพราะเรายังมีความคิดแบบนี้อยู่

พีระ : แต่ถ้ามองในมุมของสื่อท้องถิ่น บางทีเราก็เทียบตัวเองกับคนอื่นด้วย ว่าสื่ออื่นๆ ที่ทำข่าวเกี่ยวกับคนอีสาน เขานำเสนออะไรบ้าง มีมุมไหนหรือเสียงของฝั่งไหนที่ยังไม่ถูกนำเสนอบ้าง ถามว่าแบบนี้ถือเป็นการเลือกข้างได้ไหม ก็อาจเป็นการเลือกข้างแบบหนึ่ง คือเลือก ‘ข้างที่ยังไม่ถูกเลือก’ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเพราะเราอยู่ข้างนี้ ก็เลยทำเรื่องนี้ แต่เราเริ่มจากการมองหาว่ามีประเด็นไหนบ้างที่น่าสนใจ ที่ยังไม่ถูกเลือก ไม่ถูกนำเสนอ หรือนำเสนอแล้วแต่ยังไม่ลึกพอ เราก็เข้าไปทำต่อ

บูรพา : โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าคนที่บอกว่าตัวเองเป็นกลาง ก็คือคนที่สนับสนุนความคิดกระแสหลักของสังคมโดยไม่รู้ตัว แล้วก็อ้างว่าตัวเองเป็นกลางทั้งๆ ที่คุณก็ไม่ได้เป็นกลางหรอก เพียงแต่คุณสนับสนุนสิ่งเดิมๆ ที่มันเป็นอยู่ แล้วก็ปกปักษ์รักษาสิ่งนั้นไว้ แต่ถ้าถามว่าในสังคมนี้ คนที่ควรจะเป็นกลางจริงๆ คือใคร ผมคิดว่าควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ คนพวกนี้ควรเป็นกลาง แต่ถามว่าคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาลในตอนนี้ มีความเป็นกลางแบบตราชั่งที่เป็นสัญลักษณ์ของศาลจริงหรือไม่ ตรวจสอบได้แค่ไหน นี่คือสิ่งที่ควรถูกตั้งคำถามในเรื่องของความเป็นกลางมากกว่า.

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save