fbpx

รัฐโศกนาฏกรรม จากความหวาดกลัว สู่ความสิ้นหวัง

ปัจจุบันการเวียนย้ายไหลเทของแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ถือว่าเป็นปกติวิสัยที่เกิดขึ้นได้กับหลายประเทศ แม้กระทั่งภายในประเทศเองก็มีการเคลื่อนย้ายไหลเวียนของแรงงานจากเมืองหนึ่งไปสู่เมืองหนึ่ง

กระแสการย้ายออกนอกประเทศน่าจับตามองมาก เมื่อมีการตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’ โดยสาระของกลุ่มที่เป็นช่องทางในการแนะนำ สอบถาม หรือแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่ที่น่าจับตามองมากกว่านั้นคือจำนวนของผู้ที่สนใจและเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มมีจำนวนถึงหลักล้าน นำไปสู่คำถามที่ว่าทำไมผู้คนจึงอยากย้ายออกนอกประเทศขนาดนั้น

การเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกประเทศหรือการโยกย้ายถิ่นฐานประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญหลายอย่าง แต่สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นและอยากเสนอก็คือการบงการจากรัฐผ่าน ‘รัฐนาฏกรรม’ หรือโรงละครเวทีแห่งรัฐที่แสดงละครกล่อมคนในรัฐให้ยอมรับอำนาจและเชื่อฟังผู้ปกครอง แต่เมื่อรัฐนาฏกรรมถึงจุดที่ได้รับความนิยมน้อยลง รัฐโศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้น โดยรัฐพยายามขยายความหวาดกลัวเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง กล่อมคนในรัฐให้คงอยู่ เชื่อมั่น และทำตามในสิ่งที่รัฐต้องการ หากมีผู้ใดขัดขืนก็จะลงเอยด้วยการลงโทษอาญาอันศักดิ์สิทธิ์จากรัฐ จนนำไปสู่ความหดหู่ไร้หนทาง และหนีออกจากรัฐนั้นๆ ในที่สุด


ว่าด้วยรัฐนาฏกรรมและรัฐโศกนาฏกรรม


รัฐนาฏกรรม (theatre state หรือ theatrical state) เป็นแนวคิดที่ Clifford Geertz นักมานุษยวิทยา ชาวอเมริกันอธิบายไว้ในหนังสือ Negara: The Theatre state in Nineteenth-century Bali เพื่อใช้อธิบายลักษณะทางการเมืองโบราณของบาหลี อินโดนีเซีย โดยคำจำกัดความของรัฐนาฏกรรมคือรูปแบบอย่างหนึ่งของรัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธ-ฮินดู

นิธิ เอียวศรีวงศ์[1] อธิบายไว้ว่า “รัฐนาฏกรรมเป็นการแสดงของรัฐทำให้เกิดโลกภายนอกที่มนุษย์เราสัมผัสได้ เพื่อจะให้มีผลกระทบต่อโลกภายใน หรือโลกแห่งการรับรู้และรู้สึกของประชาชน” ซึ่งรัฐนาฏกรรมเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและตัวบุคคล อย่างประชาชนทั่วไป ผ่านการแสดง (dramatization) โดย Geertz[2] อธิบายลักษณะของรัฐบาหลีโบราณว่า กษัตริย์และเหล่าเจ้าทั้งหลายเป็นตัวแสดง นักบวชมีหน้าที่เป็นผู้กำกับ ขณะที่ประชาชนธรรมดาเป็นทั้งตัวประกอบฉาก เจ้าหน้าที่คุมฉากและผู้ชมในเวลาเดียวกัน

แบบแผน วิธี ขนบธรรมเนียมที่เคยเกิดขึ้นในบาหลีนั้นยังค้นพบได้ในรูปแบบการเมืองของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน อย่างไทย กัมพูชา หรือแม้แต่พม่า โดยการกระทำของรัฐผ่านพิธีกรรมต่างๆ จะสอดแทรกไปด้วยความลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์ จนเกิดอำนาจปกคลุมบรรดาคนในอาณัติของรัฐนั้นๆ นิธิบอกไว้อีกว่าในความจริงแล้ว รัฐนาฏกรรมยังเกิดขึ้นในรัฐสมัยใหม่ผ่านรัฐพิธีต่างๆ มากกว่านั้น ในรัฐสมัยใหม่ รัฐนาฏกรรมไมได้อาศัยความศักดิ์สิทธิ์และความลึกลับจากรัฐพิธีอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่ สุรพศ ทวีศักดิ์[3] มองเรื่องรัฐนาฏกรรมสมัยใหม่ว่ารัฐยังนำกฎหมายและกลไกรัฐ ขณะเดียวกันก็คงรูปแบบของรัฐนาฏกรรมเดิมไว้เพื่อคงให้ผู้ปกครองมีอำนาจ

หากยึดตามหลักที่ Geertz ได้กล่าวไว้ว่า อำนาจของผู้ครองรัฐจะแข็งแกร่งและคงอยู่ผ่านการแสดงจากรัฐโดยอาศัยความลึกลับจากรัฐพิธีเป็นตัวอุ้มชู ผู้เขียนอยากเสริมว่าไม่ใช่แค่การแสดงความลึกลับเท่านั้นที่คงอำนาจรัฐไว้ แต่ความหวาดกลัวที่มาจากการแสดงของรัฐไม่ว่าจะผ่านการใช้กฎหมายที่คลุมเครือ ผ่านวาทกรรมทางกฎหมาย (legal discourse) รวมถึงผ่านกลไกรัฐ หรือตัวแทนรัฐอื่นๆ ในการจัดการกับผู้เห็นต่าง โดยไม่จำเป็นต้องถอนรากถอนโคนผู้ต่อต้าน เพียงแค่เชือดไก่ให้ลิงดู ก็ทำให้รัฐคงอำนาจได้เช่นกัน ทั้งยังทำให้คนในรัฐว่านอนสอนง่ายและยอมทำตามอาณัติของรัฐอีกด้วย

โดยเฉพาะรัฐอำนาจนิยม มักเป็นต้นตอแห่งการสร้างความหวาดกลัว Corey Robin[4] บอกว่าความกลัวถูกทำให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ว่าจะใช้ในทิศทางการกดขี่ กดดัน ไปจนถึงการปลูกฝังให้คนในรัฐอ่อนน้อมเชื่อฟังรัฐส่วน Barry Buzan[5] พูดถึงความหวาดกลัวไว้ว่า คือการคุกคามทางสังคมที่มาได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางร่ายกาย คุกคามทางเศรษฐกิจ คุกคามทางสิทธิและการคุกคามต่อสถานะของปัจเจก

ส่วนหน้าที่ของรัฐ Charles Tilly[6] กล่าวว่า รัฐมักอ้างถึงการปกป้องประชาชนและรักษาความสงบผ่านการใช้กำลัง รวมถึงการใช้อำนาจคลุมเครือจากรัฐ

สำหรับรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกลัวของประชาชนก็มาจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีความอยุติธรรมและการได้รับปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากอำนาจที่คลุมเครือและตรวจสอบไม่ได้จากรัฐ ความกลัวเหล่านี้จะก่อตัวขึ้นจากการแสดงของรัฐที่ใช้วิธีการเชือดไก่ให้ลิงดูผ่านพิธีกรรมจากการใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่ต่อต้าน

เมื่อรัฐแสดงพิธีกรรมเหล่านั้นเป็นนิจ การกระทำของรัฐก็จะสั่นสะเทือนหลักนิติรัฐ นิติธรรม ทำให้รัฐในแบบที่ชาวบ้านเคยเคารพและได้รับการปลูกฝังให้รักนั้นเสื่อมลง คนในรัฐต้องก้มหน้าทำตามที่รัฐสั่งและจงใจเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะกลัวอำนาจรัฐจะเล่นงานเหมือนกับที่รัฐลงมือกับตัวอย่างหลายๆ คน ความกลัวนี้เองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่ความหดหู่และดิ้นรนหนีออกนอกประเทศในท้ายที่สุด


โรงละครแห่งรัฐ


รัฐในหลายประเทศมีบทบาทนำอย่างมากทั้งสร้างและใช้รัฐโศกนาฏกรรมให้มีความสมบูรณ์ผ่าน ‘การแสดง’ ซึ่งอาจมีหน้าที่แตกต่างกับที่ Geertz ได้อธิบายเล็กน้อย แต่สาระสำคัญยังคงเหมือนเดิม ชนชั้นนำบนเป็นตัวละครหลัก ผู้กำกับคือรัฐ และเจ้าหน้าที่เวที ตัวประกอบ และผู้ชมอาจเทียบได้กับประชาชนทั่วไป แต่ไพร่ฟ้าหน้าใสเหล่านี้จะอินกับบทละครของรัฐเท่าไรกันเชียว

ตัวอย่างโรงละครแห่งรัฐที่แรกคือเกาหลีเหนือกับผู้นำคนแรก คิม อิล-ซอง ที่กลายเป็นประธานาธิบดีตลอดกาล มีการทำให้ผู้นำมีความลึกลับ มหัศจรรย์ดุจเทพ และแฝงไปด้วยอิทธิฤทธิ์ ไม่ใช่แค่คิม อิล-ซองเพียงผู้เดียว แต่รวมไปถึงตระกูลคิมทั้งหมดที่ได้รับอานิสงค์ความมหัศจรรย์ที่รัฐสรรค์สร้าง ความตายและการถูกคุกคามคือคำตอบอันแน่ชัดสำหรับผู้ที่เห็นต่างและขัดแย้งกับรัฐ

เช่นเดียวกันกับกรณีเวียดนาม รัฐสร้างให้โฮจิมินห์ หรือลุงโฮ นักต่อสู้เรียกร้องเอกราชมีความศักสิทธิ์คล้ายสมมุติเทพผ่านรัฐพิธี ตามมาด้วยการสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่มีแนวคิดต่อต้านหรือเพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยการบังคับใช้กฎหมายและกลไกรัฐอย่างเข้มงวดต่อฝ่ายตรงข้ามที่มีท่าทีขัดผลประโยชน์กับรัฐ โดยไม่เปิดเวทีหรือช่องทางให้มีการเจรจาหาทางออกให้กับเรื่องที่ประชาชนควรจะมีปากมีเสียงอย่างเท่าเทียม

ที่เยอรมนีตะวันออกการวิพากษ์วิจารณ์พรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี (Sozialistische Einheitspartei Deutschlands) หรือการวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ โดยรัฐจะใช้กลไก อย่างกระทรวงความมั่นคง หรือ ชตาซี (Ministerium für Staatssicherheit – Stasi)ในการป้องปรามและปราบปรามคนเหล่านั้นโดยใช้กฎหมายความมั่นคง หรืออย่างร้ายที่สุดคือการใช้วิธีนอกกฎหมายในการปิดปาก

อีกตัวอย่างคือ นโยบายภูมิบุตรของมาเลเซียที่กำหนดให้ชาติพันธุ์ที่รัฐอ้างว่าเป็นบุตรแห่งผืนแผ่นดินที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ อย่าง มาเลย์ มีสิทธิพิเศษจากรัฐและกีดกันชาวจีน-มาเลย์ หรืออินเดียน-มาเลย์ ในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ หรือการทำธุรกิจที่จะต้องมีหุ้นส่วนเป็นชาวมาเลย์-มาเลย์ เป็นต้น ครั้นจะเดินขบวนเรียกร้องก็จะมีตัวบทกฎหมายที่คอยปราบปราม


ไม่อินกับบทละคร หนีเท่านั้นคือคำตอบสุดท้าย?


รัฐหลายแห่งใช้ระบบอำนาจนิยมในการปกครอง ใช้ประโยชน์จากลัทธิบูชาตัวบุคคล รวมไปถึงการให้ค่าคนกลุ่มน้อยที่ถืออำนาจโดยไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีปากมีเสียง โดยรัฐกำกับบทละครให้มีความแนบเนียนประดุจว่าตัวบุคคล (รวมไปถึงคณะบุคคล) มีความศักดิ์สิทธิ์และวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ใช้เทคนิคด้านกฎหมาย และกลไกรัฐในการปราบปรามกับคนที่ไม่อินกับบทละครที่รัฐแสดง

ในกรณีเกาหลีเหนือมักจะเห็นข่าวอยู่บ่อยครั้งว่ามีชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์แอบหลบหนีผ่านชายแดนเกาหลีเหนือ-จีน นั่งรถไฟเพื่อไปประเทศที่สามและขอลี้ภัยไปยังเกาหลีใต้ ตัวเลขในแต่ละปีตามที่เว็บไซต์ unikorea รายงานคือตั้งแต่ประมาณปี 1998 จนถึงปี 2020 มียอดรวมผู้แปรพักตร์ราว 33,658 คน

มองย้อนกลับไปในปี 1952 ที่อีกซีกโลกหนึ่ง ชาวเยอรมนีตะวันออกเริ่มหนีออกจากประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกเริ่มสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี 1961 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันไม่ให้พวกนาซีเข้ามาในประเทศ แต่นัยสำคัญคือป้องไม่ให้คนหนีออกไปยังเบอร์ลินตะวันตก อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลังเชโกสโลวาเกียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนีตะวันตกในปี 1973 และมีการตั้งสถานทูตที่กรุงปราก อย่างไรก็ตาม 16 ปีให้หลัง หรือในเดือนกันยายนปี 1989 ชาวเยอรมนีตะวันออกหลายหมื่นคน[7]เดินทางไปที่เชโกสโลวาเกียและปีนกำแพงเข้าไปในสถานทูตเยอรมนีตะวันตกที่กรุงปรากเพื่อขอลี้ภัย

มาเลเซียคืออีกหนึ่งประเทศที่ประสบกับสภาวะสมองไหล ข้อมูลจากธนาคารโลกเปิดเผยว่า มาเลเซียกำลังประสบกับสภาวะสมองไหลอย่างรุนแรง ขาดแรงงานทักษะโดยส่วนใหญ่มักจะเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ และออสเตรเลียเป็นหลัก นอกจากนี้ในรายงานของธนาคารโลกยังชี้เป้าว่าปัจจัยสำคัญไม่ใช่แค่เพียงโอกาสในหน้าที่การงาน คุณภาพชีวิต และคุณภาพการศึกษา แต่ประเด็นเรื่องนโยบายภูมิบุตรก็เป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาสมองไหลอีกด้วย

ทั้งนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่สามารถเอามาเป็นกรณีศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ประสบกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบสุดขั้ว อย่างการรัฐประหารรอบล่าสุดในเมียนมา หรือประเทศที่มีลักษณะรัฐอำนาจนิยม อย่าง ลาว เวียดนาม ที่มีตัวเลขแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงของรัฐที่แฝงไปด้วยความหวาดกลัวเพื่อกดให้ประชาชนเชื่องภายใต้การควบคุมของชนชั้นนำในรัฐนั้นๆ

กลับมาที่คำถามว่าเหตุใดกระแสอยากย้ายออกนอกประเทศถึงกลายเป็นประเด็นร้อนแรง ผู้เขียนเสนอว่ารัฐโศกนาฏกรรมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความหวาดกลัวของคนในรัฐพัฒนาจนมาเป็นความสิ้นหวัง ประกอบกับคนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐลดลง อันส่งผลมาจากการแสดงของรัฐเอง จนสุดท้ายผู้คนต้องช่วงชิงจังหวะในการอพยพ หนีออกจากประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่า


[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2560). ประชาชนในรัฐนาฏกรรม (1). มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 31 มีนาคม – 6 เมษายน 2560.

[2] Geertz, C. (1980). Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali. Princeton: Princeston University Press.

[3]สุรพจน์ ทวีศักดิ์. (2561). รัฐนาฏกรรมสมัยใหม่.

[4] Robin, C. (2004). Fear: The history of political idea. New York: Oxford University Press.

[5] Buzan, B. (1991). People State and Fear: An agenda for International Security Studies in the Post-Cold War Era. Boulder: Lynne Ruenner Publishers.

[6] Tilly, C. (1985). War Making and State Making as Organized Crime. In D. Rueschemeyer, P. Evans, & T. Skocpol (Eds.), Bringing the State Back In. Cambridge: Cambridge University Press.

[7] ในรายงานระบุว่ามีชาวเยอรมันตะวันออกหลายคนซึ่งไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่คาดการณ์ไว้คร่าวๆ ประมาณ 2 หมื่นคน, Radio Prague International. (2009). The East German refugees in Prague.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save