fbpx
การเตรียมพระองค์ของ 'เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์' ตามแนวทางการอบรมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

การเตรียมพระองค์ของ ‘เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์’ ตามแนวทางการอบรมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

I

การเตรียมพระองค์ของยุวกษัตริย์

 

เราอาจพิจารณาปาฐกถา “The Old Siamese Conception of the Monarchy” ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (2561) ที่ผู้วิจัยนำเสนอการตีความในบทความเดือนที่แล้วในอีกทางหนึ่งได้ว่า กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงนำความรู้ความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยที่สะสมมาแต่โบราณจนถึงรัชกาลที่ 4 และการปรับแนวคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ในรัชสมัยนั้นต่อมาที่โน้มไปในแบบแผนของทางยุโรปยิ่งขึ้น มานิเทศถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และการนี้จัดได้ว่าเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่เปิดสู่สายตาภายนอกให้คนทั่วไปได้เห็นกระบวนการเตรียมพระองค์สำหรับการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ของราชสำนักไทยสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ในขณะเดียวกันกับที่ราชสำนักและรัฐบาลกำลังดำเนินการเตรียมพระองค์ในด้านต่างๆ ซึ่งรวมทั้งเตรียมแผนการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ เช่นอังกฤษ และแผนการศึกษาต่อสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่นั้น ฝ่ายการเมืองนำโดย ปรีดี พนมยงค์ กับสมาชิกสภาก็กำลังเตรียมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 เช่นกัน การที่ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนและสภาเลือกที่จะตั้งต้นใหม่อีกครั้งในการจัดอำนาจการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สะท้อนอยู่ในตัวถึงการตระหนักในปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มที่จะกลายเป็นคณาธิปไตยเพราะขาดการคานอำนาจในสภาอย่างเหมาะสม ดังจะเห็นจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ออกแบบที่มาและบทบาทอำนาจหน้าที่ของสมาชิกพฤฒิสภามาแทนสมาชิกสภาประเภทที่ 2

การเตรียมพระองค์สำหรับปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 จึงมี 2 ด้านควบคู่กันไป คือ การเตรียมพระองค์สำหรับบทบาทพระมหากษัตริย์ตามแนวทางของราชสำนัก และการเตรียมพระองค์สำหรับบทบาทพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ บทนี้จะเป็นการพิจารณาเฉพาะด้านแรกเป็นหลัก และเก็บด้านหลังแยกไปพิจารณารายละเอียดในบทหลังต่อไป เพราะต้องวิเคราะห์ร่วมกับประเด็นทางการเมืองและความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการจัดตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น

ในที่นี้ ขอกล่าวเพียงว่าการแสดงปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ในเดือนมีนาคม 2489 ที่ทรงตั้งใจเว้นไม่กล่าวถึงแนวคิดและบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระยะเวลาหลัง 2475 จนถึงการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 นั้น น่าจะมิใช่เพราะทรงเห็นว่าแนวคิดรัฐธรรมนูญตามหลัก constitutionalism เป็นแนวคิดต่างประเทศ และไม่พึงรับเข้ามาไว้ในแบบแผนของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยใหม่ แต่เป็นไปได้มากกว่าว่าสะท้อนถึงความไม่เห็นด้วยของฝ่ายราชสำนักต่อการจัดตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองหลัง 2475 และผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อสมาชิกของพระราชวงศ์นับแต่เกิดกบฏบวรเดชเป็นต้นมา เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาและรับรองของสภา การที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงมิได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตำแหน่งพระมหากษัตริย์หลัง 2475 มาแสดงในปาฐกถาวันนั้น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อไปก็กำลังจะเป็นไปตามการจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2489 ที่ออกมาโดยความมุ่งหมายจะสลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเพื่อเป็นคำตอบใหม่สำหรับระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแทนรัฐธรรมนูญ 2475 อยู่แล้ว

การพิจารณาความหมายและความมุ่งหมายของปาฐกถาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพระองค์พระมหากษัตริย์เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในระบอบการเมืองเช่นนี้ จึงตั้งประเด็นใหม่ให้เราต้องพิจารณาต่อไปในการทำความเข้าใจกระบวนการเตรียมบุคคลเพื่อขึ้นรับหน้าที่พระมหากษัตริย์ของราชสำนัก ว่ามิได้มีแต่เฉพาะขั้นตอนหลักเกณฑ์ในการกำหนดผู้รับตำแหน่งรัชทายาท และการสืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์เท่านั้น แต่ส่วนที่มีความสำคัญยิ่งอีกด้านหนึ่ง คือ กระบวนการเตรียมพระองค์ในทางปฏิบัติ เพื่อให้พร้อมสำหรับการรับหน้าที่ ซึ่งในสมัยราชาธิปไตยคือการปกครองแผ่นดิน ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเตรียมเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกและพระองค์ที่ 2 ตามลำดับในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งพระรัชทายาท (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2545)

เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระบุว่าการเตรียมผู้อยู่ในฐานะรัชทายาทเพื่อให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์เช่นนี้ ‘เป็นพระราชประเพณีมาแต่เดิม’[1] แต่พระราชประเพณีที่มีมาแต่เดิมในการเตรียมพระองค์นี้ เมื่อถึงรัชกาลที่ 8 ก็จำต้องอนุวัตไปตามระบอบการปกครองใหม่ ที่เปลี่ยนอำนาจและบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงมีอำนาจและบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงเหมือนในระบอบราชาธิปไตยอีกแล้ว

แต่จากความขัดแย้งทางความคิดและการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้น การกำหนดว่าอะไรคือบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยของสยามก็ยังไม่สู้จะมีความชัดเจนนัก และอันที่จริงก็ยังไม่มีสิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นประเพณี เพราะระบอบการเมืองใหม่ของสยามที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง 2475 นั้นเพิ่งตั้งต้น และตั้งต้นด้วยความขัดแย้งอันเกิดจากความล้มเหลวในการประนีประนอมของรัชกาลที่ 7 กับผู้นำคณะราษฎรที่พยายามไกล่เกลี่ยเข้าหากันในตอนแรก โดยถือว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบราชาธิปไตยของสยามไปเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลของการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

แต่หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในสภาและการก่อกบฏบวรเดชที่ตามมา ประชาธิปไตยสยามในจุดตั้งต้นก็เปลี่ยนการประนีประนอมและการช่วยกันประคับประคองระบอบการเมืองใหม่ที่เพิ่งตั้งต้นไปสู่ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างกลุ่มอำนาจแต่ละฝ่าย และเมื่อผู้นำคณะราษฎรที่กุมอำนาจไว้ได้ดำเนินการกวาดล้างฝ่ายที่เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบใหม่หรือเป็นอันตรายต่อตัวผู้นำเองในนามของการป้องกันรักษาระบอบรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายที่ถูกกวาดล้างมีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่รวมอยู่ด้วย ประชาธิปไตยสยามในจุดตั้งต้นจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงยินยอมอย่างเต็มพระทัยที่จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร และทรงเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญที่ตราหลักการว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย จึงถูกเปลี่ยนความหมายกลายมาเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายพระมหากษัตริย์กับฝ่ายผู้นำคณะราษฎรในการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในและนอกสภา และฝ่ายหลังเป็นผู้สร้างและรักษาระบอบใหม่ไว้โดยการหาทางจำกัดอำนาจ บทบาทและอิทธิพลของพระมหากษัตริย์ลงทุกด้าน ในขณะที่ฝ่ายแรกยึดพระราชมติก่อนสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงชี้ให้เห็นลักษณะของระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้นว่าเป็นคณาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เมื่อฝ่ายหนึ่งมองประชาธิปไตยที่การมุ่งจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ และอีกฝ่ายมองประชาธิปไตยที่การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจเพื่อป้องกันคณาธิปไตย การเปลี่ยนแปลง 2475 จึงสร้างความแตกต่างทางความคิดในการจัดอำนาจรัฐ และเมื่อในระยะตั้งต้นยังไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองที่เอื้อต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อหาข้อตกลงกันอย่างมีเหตุผลและมีส่วนร่วมของประชาชนได้ การใช้กำลังเพื่อสนับสนุนความคิดหนึ่งให้อยู่เหนือความคิดหนึ่ง และให้อำนาจฝ่ายหนึ่งมีชัยชนะเหนืออีกฝ่ายจึงเข้ามาแทน และเมื่อเป็นเช่นนั้น การยินยอมและยอมรับกันโดยสมัครใจที่จะสร้างประเพณีทางการเมืองอันชอบธรรมจึงเกิดขึ้นมาไม่ได้ด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างใช้กำลังต่อกันเช่นนี้

การตัดสินทางการเมืองที่สนับสนุนด้วยกำลังจึงเปิดทางให้ทหารและกองทัพเข้ามาเป็นผู้ตัดสินสุดท้าย และโดยเหตุนั้น 2475 จึงตั้งต้นศักราชของความแตกแยกทางการเมืองที่ไหลเข้าสู่ความแตกแยกระหว่างทหารภายในกองทัพ และบางครั้งก็เป็นการแตกแยกระหว่างกองทัพที่สนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนละฝ่ายด้วย และเมื่อฝ่ายใดได้อำนาจการเมืองมาแล้ว ก็ใช้การออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีกลไกที่เอื้อต่อการครองอำนาจต่อไป ถ้าจะมีส่วนใดที่เรียกได้ว่าเกิดขึ้นจนกลายเป็นประเพณีของระบอบรัฐธรรมนูญของไทยไปแล้ว ก็น่าจะได้แก่ประเพณีที่ตั้งต้นมาจากการมีสมาชิกสภาประเภทที่ 2 ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองที่ตั้งต้นที่ 2475 จึงอาจผลิตผู้นำที่มีอำนาจการนำอย่างเข้มแข็งขึ้นมาได้เป็นระยะก็จริง แต่ยังไม่อาจสร้างระบอบการเมืองที่มีความชอบธรรมตั้งหลักขึ้นมาอย่างมั่นคงได้

ความพยายามประนีประนอมระหว่างฝ่ายสนับสนุนพระมหากษัตริย์กับฝ่ายผู้นำคณะราษฎรมีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในระหว่างสงครามผ่านขบวนการเสรีไทยภายใต้ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนคือ ปรีดี พนมยงค์ ผลของความร่วมมือในระหว่างสงครามตามมาด้วยการออกแบบการจัดอำนาจทางการเมืองกันใหม่อีกครั้งด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย ‘อันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ’ (ปรีดี พนมยงค์ 2545, 16) อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ประกาศใช้ได้เพียงเดือนเดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ก็เสด็จสวรรคต และความขัดแย้งหักล้างกันทางการเมืองก็เกิดขึ้นตามมาอีกระลอกระหว่างนักการเมืองฝ่ายปรีดี พนมยงค์ กับฝ่ายตรงกันข้ามที่ส่วนใหญ่ชุมนุมกันอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ เปิดทางให้จอมพลป. พิบูลสงครามกลับคืนสู่อำนาจหลังการทำรัฐประหาร 2490 เมื่อเป็นเช่นนี้ การวิเคราะห์การเตรียมพระองค์สำหรับปฏิบัติบทบาทพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นการพิจารณาเมื่อรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์แล้ว และในบริบทของการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2490 เป็นต้นไป

จากเหตุความล้มเหลวในการประนีประนอมทางการเมือง 2 ระลอก บทบาทหน้าที่รวมทั้งความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญในช่วงเวลา 20-25 ปีแรกภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปลายปีพ.ศ. 2494 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทยเป็นการถาวรจึงยังคงมีความคลุมเครือ พัฒนาการของระบอบรัฐธรรมนูญไทยที่มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญหลายครั้งและส่วนใหญ่ทำโดยรัฐประหารจึงยังไม่ได้ตั้งมั่นพอที่จะวางหลักหรือประเพณีสำหรับการปฏิบัติบทบาทของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ และโดยผลของความขัดแย้งที่สร้างความคลุมเครือในช่วงเวลาการก่อเกิดและตั้งต้นระบอบใหม่ดังกล่าวก็มีผลยาวไกลต่อพัฒนาการของการเมืองประชาธิปไตยไทยในเวลาต่อมา ซึ่งงานวิจัยจะพิจารณาในงานระยะที่ 3 ต่อไป

ภาพยุวกษัตริย์ในป่าพร้อมสุนัขทรงเลี้ยง จากหนังสือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดพิมพ์โดยกลุ่มนักข่าวหญิง ปี 2515
ภาพยุวกษัตริย์ในป่าพร้อมสุนัขทรงเลี้ยง จากหนังสือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดพิมพ์โดยกลุ่มนักข่าวหญิง ปี 2515

ในบทความต่อจากนี้เราจะย้อนกลับมาพิจารณาการเตรียมพระองค์ในแนวทางของ ‘ราชสำนัก’ เหตุที่ต้องจัดคำว่าราชสำนักไว้ในเครื่องหมายคำพูดเช่นนั้นก็เพราะสถานการณ์ที่นำไปสู่การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 แตกต่างจากเงื่อนไขในรัชกาลที่ 5 หรือในปลายรัชกาลที่ 6 ต่อรัชกาลที่ 7 และโดยความแตกต่างดังกล่าว จึงทำให้กระบวนการเตรียมพระองค์สำหรับปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 แตกต่างจากประสบการณ์ในการเตรียมพระองค์ตาม ‘พระราชประเพณีมาแต่เดิม’ ของสยามมกุฎราชกุมาร 2 พระองค์แรก และของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาในตอนปลายรัชกาลที่ 6 อย่างมาก

ประการแรก การเตรียมพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 มิได้เป็นการเตรียมในขณะที่ทรงอยู่ในฐานะรัชทายาท แต่เป็นการเตรียมพระองค์ในขณะที่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ผู้ได้รับเลือกให้ขึ้นครองราชย์เมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ในขณะที่รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการเตรียมพระองค์มาในฐานะสมเด็จพระอนุชาของรัชกาลที่ 8 แต่เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตโดยกะทันหันอย่างไม่มีผู้ใดคาดคิด สมเด็จพระอนุชาจึงได้สืบราชสมบัติต่อมา การเปลี่ยนสถานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ที่เริ่มตั้งแต่การเป็นหม่อมเจ้าเมื่อแรกประสูติ แล้วเลื่อนมาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในที่สุด หรือการเปลี่ยนสถานะของสมเด็จพระอนุชามาเป็นพระมหากษัตริย์แทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ได้เปลี่ยนชีวิตการเรียนรู้และเติบโตของคนผู้หนึ่งที่เปิดกว้างต่อการตั้งจุดมุ่งหมายได้ตามความพอใจในตอนแรก มาบรรจุไว้ด้วยหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความคาดหวังต่อพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ

ในทีแรก เมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดลทรงทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ทรงเตรียมเหตุผลหลายข้อเท่าที่เด็กในวัยขนาดนั้นจะนึกได้เพื่อบอกผู้มาอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์ว่าไม่ทรงอยากเป็นกษัตริย์ [2] ยิ่งไปกว่านั้น การเมืองไทยและสถานการณ์ของสมาชิกในพระราชวงศ์ภายหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ก็อยู่ในสภาพที่ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเห็นว่า “การที่นันทจะต้องไปเล่นละครเป็นกษัตริย์นะ ไม่ดีสำหรับเส้นประสาทเลย แต่เมื่อจำเป็นจริงๆ ก็ต้องทำ” (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2559, 152)

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อสมาชิกทุกพระองค์ในราชสกุลมหิดลด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่ต้องมารับบทบาทหน้าที่สำคัญที่สุดมากกว่าบุคคลอื่นทั้งหมดในการเตรียมพระองค์ยุวกษัตริย์ก็คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเมื่อสมาชิกราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ประทับอยู่ที่โลซานน์มาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ยังไม่ได้สละราชสมบัติ กระบวนการเตรียมพระองค์ยุวกษัตริย์ขณะประทับอยู่ต่างประเทศจึงเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลจากขนบธรรมเนียมในการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ตามแบบแผนเดิมของราชสำนัก และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ถ้าพูดอย่างคนทั่วไปคือเป็นวัยของการเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ หรือที่เรียกว่า formative years ซึ่งแนวทางการศึกษาอบรมในช่วงเวลานี้จะมีผลต่อการก่อรูปบุคลิกภาพความคิดอ่าน ความสนใจ ทักษะความสามารถส่วนบุคคล และโลกทัศน์ชีวทัศน์ของบุคคลนั้นได้มาก การทำความเข้าใจพระราชทัศนะทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเวลาต่อมาไม่อาจละเลยช่วงเวลาอันสำคัญนี้ ที่ทรงเติบโตมาพร้อมกับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในการอบรมเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงปกป้องพระราชโอรสอย่างเข้มแข็งจากแรงกดดันและข้อเรียกร้องที่ทรงเห็นว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อพระอนามัย การศึกษา การใช้ชีวิตในวัยเด็ก และการได้เจริญวัยไปตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น

ในทางกลับกัน เมื่อทรงเป็นสามัญชนโดยกำเนิด สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก็ต้องทรงเผชิญกับการถูกจับตาและพบกับแรงกดดันสูงมาก โดยเฉพาะในระยะแรก ว่าจะทรงทำหน้าที่การเตรียมพระองค์พระมหากษัตริย์ได้ดีเพียงใด เราจะตระหนักถึงแรงกดดันต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ส่วนหนึ่งก็จากร่องรอยที่แฝงอยู่ในคำชมเชยที่ทรงได้รับจากบุคคลต่างๆ ในเวลาต่อมา เช่น หลังจากที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้เฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์น้อยเมื่อทรงแวะปีนังในการเสด็จฯ นิวัตพระนครคราวแรก ทรงมีจดหมายถึงหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอมชื่นชมพระกิริยาอัชฌาสัยและการรู้วางพระองค์อย่างพอเหมาะของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก เป็นเหตุให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงชมเชยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่าเป็นคนที่มีความสามารถมาก แต่ถ้าหากสังเกตพระมติที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงมีเกี่ยวกับพระราชชนนีในจดหมายฉบับดังกล่าว ก็จะเห็นว่าในคำชมและยกย่องสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนั้น ได้แฝงความรู้สึกผิดคาดไว้ด้วย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2551, 241 – 42) [3]

ประการที่สอง หลังจากรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์จึงอยู่ภายใต้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กิจการเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ภายใต้คณะผู้สำเร็จราชการฯ รวมทั้งการเตรียมพระองค์เพื่อปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ในเวลาต่อไป จึงเกิดขึ้นในบริบทของความสัมพันธ์ 3 ด้านจาก 3 ฝ่ายประกอบกัน

ด้านแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับฝ่ายผู้ทรงเป็นผู้ปกครองของยุวกษัตริย์ในเวลานั้น คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้านที่สองคือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และด้านที่สามคือสภาวะความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายผู้นำรัฐบาลกับฝ่ายสมาชิกในพระราชวงศ์พระองค์อื่นๆ นับแต่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าลงมา และรวมทั้งรัชกาลที่ 7 ที่ประทับอยู่ที่อังกฤษหลังจากสละราชสมบัติ

สภาวะความตึงเครียดไม่ไว้วางใจต่อกันในความสัมพันธ์ด้านที่สามทั้งก่อนและหลังรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติมีผลเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในด้านที่สองไปในหลายลักษณะ ลักษณะอย่างที่สร้างแรงกดดันสูงจนเกิดเหตุที่น่าเสียใจตามมาคือกรณีกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ในเวลาต่อมาเมื่อเกิดการกวาดล้างฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบจนราบคาบ ซึ่งรวมทั้งการจับกุมและลงโทษพระราชปิตุลาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยแล้ว ประธานคณะผู้สำเร็จราชการพระองค์ใหม่ก็ทรงเปลี่ยนแนวทางมาสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นเมื่อเหลือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนทำหน้าที่เพียงคนเดียว ท่านผู้นั้นได้เข้ามาสมานความสัมพันธ์กับสมาชิกของพระราชวงศ์ใหม่ และใช้อำนาจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผสมกับบารมีของผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนและหัวหน้าเสรีไทยดำเนินการร่วมกับสมาชิกสภา จนทำให้นายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้ากลุ่มอำนาจสายทหารของคณะราษฎรพ้นจากตำแหน่งได้ [4] การเสด็จนิวัตพระนครครั้งหลังจึงเกิดขึ้นในบริบทของการปรองดองทางการเมืองภายหลังสงครามภายใต้อำนาจการนำของผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษอาวุโส ปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยลาภฯ เกิดขึ้นในบริบทนี้เช่นกัน

เมื่อคำนึงถึงสภาวะทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงจากสมัยราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตย การที่พระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ทรงเติบโตและได้รับศึกษาอบรมมาในประเทศตะวันตก และถ้าพิจารณาปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ว่าเป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งของกระบวนการเตรียมพระองค์สำหรับการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ ก็จะเข้าใจเนื้อหาในปาฐกถา “The Old Siamese Conceptions of the Monarchy” และบทความ “เรื่องบรมราชาภิเษก” ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ได้ว่า การเลือกแสดงปาฐกถาเรื่องนี้ มิใช่ว่าทรงมุ่งจะฝืนต้านการเปลี่ยนแปลง ถ้าพูดว่าทรงต้องการช่วยจัดทิศทางของการเปลี่ยนแปลงให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ตามแนวทางของราชสำนักอังกฤษหรือตามแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการเมืองอังกฤษจากงานคลาสสิค The English Constitution ของ Walter Bagehot อาจจะตรงกว่า กล่าวคือ จากการที่ทรงเติบโตเรียนรู้ในอังกฤษมาในช่วงรัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งราชสำนักอังกฤษยังพรั่งพร้อมด้วยอลังการแห่งพิธีการและระบอบการเมืองอังกฤษก็ยังพึ่งมิติด้านนี้สำหรับดึงดูดความสนใจของมหาชน กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงต้องการเสนอแนวคิดและข้อคิดจากด้านโบราณราชประเพณีของราชสำนักถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระอนุชา ที่จนถึงเวลานั้นทรงใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่มีรากฐานความคิดสาธารณรัฐนิยมมานาน ว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ยังจำเป็นต้องอาศัยพิธีการ ขนบธรรมเนียม และความเชื่อของโบราณประกอบ ไม่อาจอาศัยแต่เฉพาะแนวทางและความคิดสมัยใหม่เท่านั้น

ดังที่ทรงนำมติของ Malinowski นักมานุษยวิทยาผู้มีชื่อเสียงมาวางเป็นบทตั้งต้น ดังนี้

สังคมซึ่งรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงความศักดิ์สิทธิ์จะได้รับคุณประโยชน์อันประมาณมิได้เป็นอำนาจและความยั่งยืนถาวร  ดังนั้น บรรดาความเชื่อและแนวปฏิบัติใดที่ช่วยนำรัศมีของความขลังมารายล้อมขนบธรรมเนียมประเพณีจะมีคุณค่าทางความอยู่รอดสำหรับอารยธรรมที่พามันวิวัฒน์มา … และเมื่อได้มาด้วยราคาอันแพงและก็ควรที่จะรักษาไว้ต่อไปไม่ว่าจะใช้ทุนสูงสักเท่าใด… (อ้างถึงในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2561, 146 แปลข้อความโดยผู้วิจัย)

ดังนั้น ถ้าหากจะพิจารณาข้อคิดจากปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ว่าเป็นการนำองค์ประกอบในส่วนที่เป็น “The Old Siamese Conceptions of the Monarchy” มาเติมให้แก่การเตรียมพระองค์สำหรับการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ และถ้าฝ่ายราชสำนักเห็นว่าแนวคิดใหม่เกี่ยวกับตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์มิใช่ดังที่เกิดขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลที่ 7 แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้จะฝืนต้านการเปลี่ยนแปลงจากราชาธิปไตยไปเป็นประชาธิปไตย คำถามที่เราจะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ อะไรคือ “The new Siamese conception of the monarchy” ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงใช้เป็นหลักในการอบรมพระราชโอรสและพระราชธิดาก่อนหน้านั้น เพื่อเตรียมทั้ง 3 พระองค์สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งและความรับผิดชอบอันสูงทั้งต่อประเทศชาติและพระราชวงศ์ในเวลาต่อไป และเมื่อไม่ได้ทรงใช้ชีวิตอยู่ในพระบรมมหาราชวังตามแบบแผนเดิมของราชสำนัก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงได้แนวคิดนั้นมาจากไหน?

คำถามข้างต้นนำมาสู่ข้อเสนอของงานวิจัยในบทนี้ ที่จะใช้พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นข้อมูลหลักในการวิเคราะห์ตีความ ส่วนหนึ่งเพราะผู้วิจัยเข้าไม่ถึงเอกสารส่วนพระองค์จากแหล่งอื่นใดนอกเหนือจากนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งเพราะผู้วิจัยเห็นว่าบุคลิกงานพระนิพนธ์ของกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ที่เกี่ยวกับพระราชประวัตินั้นเป็นการนำเสนอเรื่องราวในทางน้อยไว้ก่อน ทรงให้รูปทำหน้าที่เล่าเรื่องแทนเป็นส่วนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดให้ผู้อ่านตีความระหว่างบรรทัดหรือระหว่างรูปต่างๆ ได้  การตีความภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวออกมาเป็นข้อเสนอของงานวิจัยเพื่อตอบคำถามข้างต้น จึงอาศัยการอนุมานจากข้อมูลเท่าที่ทรงเล่าและทรงนำเสนอรูปประกอบเรื่องในพระนิพนธ์ ประกอบกับบทสัมภาษณ์ที่พระราชทานแก่คณะผู้จัดทำหนังสือพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ผลจากการตีความของผู้วิจัยจึงควรถือว่าอยู่ในระดับของข้อเสนอเท่านั้น การจะยืนยันได้ว่าการตีความนี้ถูกต้องเพียงใดยังต้องการข้อมูลหลักฐานอีกมาก แต่ข้อเสนอจากการตีความย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของผู้วิจัยเต็มที่

ภาพจากหนังสือ เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์
ภาพจากหนังสือ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์

II

Navire Plastrem ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

ถ้าพิจารณาโครงสร้างพระนิพนธ์ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์  (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2559) มีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า เนื้อหาและข้อมูล เช่น ลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์และรูปประกอบ ในช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 จะขึ้นครองราชย์จนถึงเวลาเสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกในปลายปี พ.ศ. 2481 นั้นครองพื้นที่ถึง 90% ของหนังสือทั้งเล่ม เรื่องและรูปประกอบหลังจากที่เสด็จกลับมาประทับที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงก่อนหน้าจะเสด็จนิวัตพระนครครั้งหลัง มีอยู่ไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างช่วงเวลาแห่งความทุกข์และความสูญเสียของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อกรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระอิสริยยศขณะนั้น) ถูกจับกุมขึ้นศาลพิเศษด้วยข้อหาและบทลงโทษอันร้ายแรง และตามติดมาด้วยการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร หนังสือไม่ได้เล่าอะไรให้คนอ่านทราบเลย ทั้งที่เรื่องและรูปก่อนหน้านั้นแสดงถึงความผูกพันใกล้ชิดกันอย่างยิ่งระหว่างสมาชิกราชสกุลมหิดลกับกรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรและกรมขุนชัยนาทนเรนทร พระนิพนธ์ แม่เล่าให้ฟัง (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2549) ก็จบลงที่ปี พ.ศ. 2481 เช่นกัน

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเปิดเผยให้ผู้อ่านทราบถึงแรงกดดันต่อสมาชิกในราชสกุลมหิดลในช่วงแรกเมื่อรัชกาลที่ 8 รับราชสมบัติมากพอสมควร แต่เราจะไม่ทราบจากพระนิพนธ์เลยว่าความตึงเครียดทางการเมืองจากการกวาดล้างปราบปรามกบฏในราชอาณาจักรที่กระทบต่อพระราชปิตุลาของพระองค์ สถานการณ์อันยากลำบากของพระราชวงศ์ และความทุกข์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่เกิดขึ้นอย่างเรียกว่าเกือบจะในทันทีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จออกจากสยามและยังไม่ทันถึงจุดหมายปลายทางที่สวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลประการใดบ้างต่อทุกพระองค์ที่ประทับอยู่ที่โลซานน์ ทรงตอบสนองหรือทรงพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างไรในตอนนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีความคิดที่จะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติอีกหรือไม่ การที่กรมขุนชัยนาทนเรนทรต้องถูกถอดพระอิสริยยศเป็นนักโทษชายรังสิตและถูกส่งไปกักขังไว้ ณ เรือนจำกลางบางขวางให้บทเรียนแบบไหนในการเตรียมพระองค์ในเวลาต่อมา

อีกส่วนหนึ่งที่พระนิพนธ์ของกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มิได้กล่าวถึง คือสถานการณ์และรูปการณ์ทางการเมืองไทยจากมุมมองของฝ่ายไม่นิยมรัฐบาลและจากฝ่ายที่นิยมในขณะนั้น  ส่วนที่ผู้วิจัยเห็นว่าควรนำมาแสดงตามทัศนะของฝ่ายแรกไว้ในที่นี้คือ การนำที่ดินของพระคลังข้างที่มาขายให้กันในราคามิตรภาพในขณะที่สมาชิกสภาที่ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องนี้ถูกจับโยนน้ำ ความแตกต่างในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาในการติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนากับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปัญหาการใช้อำนาจศาลพิเศษโดยไม่อนุญาตจำเลยตั้งทนายและอุทธรณ์คำตัดสิน การต่อสู้และการบังคับลี้ภัยผู้นำคณะราษฎรด้วยกันเอง การจำกัดเสรีภาพสื่อและการแสดงความคิดเห็นแล้วแทนที่ด้วยการโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวาง การขยายวาระดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 ออกไปอีก 10 ปี ลัทธิทหารนิยม ลัทธิบูชาผู้นำ การออกกฎหมายวัฒนธรรม การดำเนินนโยบายรัฐนิยมและชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามจนไทยได้ดินแดนคืนมา เหตุการณ์เบียดเบียนทางศาสนา การให้พระสงฆ์เทศนาสั่งสอนประชาชนให้เชื่อฟังนโยบายของรัฐบาล การแผ่อำนาจการเมืองเข้าคุมมหาวิทยาลัยและใช้ยุวชนเป็นเครื่องสนับสนุนทางการเมือง การใช้อำนาจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พลิกผลทางการเมืองได้  การใช้เทคนิคทางกฎหมายแก้ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่นการประกาศสงคราม และช่วยผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารให้รอดจากการถูกส่งไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามที่ต่างประเทศ ฯลฯ

แม้ผู้วิจัยไม่มีข้อมูล แต่ก็น่าคิดเหมือนกันว่าสถานการณ์และรูปการณ์ทางการเมืองดังที่กล่าวมานี้ และคุณความดีกับความสำเร็จส่วนอื่นๆ ของระบอบการปกครองภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงครามตามทัศนะของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้น ได้ก่อรูปในความเข้าพระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชา ออกมาเป็นพระราชทัศนะต่อการเมืองไทย และต่อผู้นำทางการเมืองกับประชาธิปไตยในแบบคณะราษฎรอย่างไร ในช่วงเวลาการเตรียมพระองค์ของทั้งสองพระองค์  ซึ่งถ้าหากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มาเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองภายในอย่างที่เกิดขึ้น โดยอายุและบารมีทางการเมืองของผู้นำคณะราษฎรที่เหลืออยู่นั้น ก็น่าจะทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาในขณะที่กำลังทรงเตรียมพระองค์ต้องทรงตระหนักว่าพวกผู้นำคณะราษฎรจะอยู่ในอำนาจการเมืองต่อไปได้อีกนาน  คำถามที่ว่า ในการติดตามจากทางไกลนั้น ทรงเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขา และจากพวกเขาบ้าง และสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีส่วนในการเรียนรู้ในเรื่องนี้เพียงใด ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นคำถามสำคัญที่ควรตราไว้ แม้ไม่อาจตอบคำถามนี้ได้ก็ตาม

แต่สิ่งที่พอจะเห็นได้จากพระนิพนธ์ก็คือตั้งแต่ขณะที่ยังประทับอยู่ที่เมืองไทย ปัญหาทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในสังคมการเมืองเท่านั้น แต่ได้ไหลเข้ามาสู่ชีวิตในสังคมของคนทั่วไป และชักนำความคิดเห็นและการคาดคิดของคนในสังคมไปในทางดีร้ายต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่นักเรียนในชั้นเล็กๆ ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (2559, 99) ทรงเล่าว่า “วันหนึ่งพระองค์ชายกลับมาจากโรงเรียนและมาบอกแม่ว่า มีเพื่อนที่โรงเรียนมาเรียกว่า ‘องค์โป้ย’ แม่ก็เข้าใจทันทีว่าแปลว่า ‘องค์ 8’ เพราะก็นับภาษาจีนได้จาก 1 ถึง 10 แต่ก็ไม่ได้บอกอะไรพระองค์ชาย เพราะท่านก็ไม่ได้ถาม” การตัดสินใจของหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยาในเวลานั้น ที่จะพาสมาชิกของครอบครัวราชสกุลมหิดลที่ยังเยาว์วัยไปอยู่ต่างประเทศ จึงน่าจะไม่ได้มีเหตุผลแต่เฉพาะด้านสุขภาพอนามัยของพระโอรสธิดาเท่านั้น แต่ส่วนที่สำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจนั้นไม่น้อยกว่ากันน่าจะได้แก่การตัดสินใจของคนเป็นแม่ ที่ต้องการให้ลูกเจริญเติบโตได้อย่างเป็นปกติสุขเหมือนเด็กทั่วๆ ไป ในสังคมที่ไม่มาสนใจเพ่งเล็งจนทำให้เด็กๆ ในวัยเพียงเท่านั้นต้องตกอยู่ในท่ามกลางแรงผลักดึงของกระแสความคิดเห็นหรือการคาดคิดของคนในสังคมไปต่างๆ ตามความพลิกผันทางการเมือง

ทีแรก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเลือกสหรัฐอเมริกาเพราะทรงคุ้นเคยกับสังคมอเมริกันและมีพระสหายที่นั่นอยู่พอสมควรแล้ว อย่างไรก็ดี สมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงแนะนำให้เลือกที่อื่นแทนสหรัฐอเมริกา เพราะทรงเห็นว่าสหรัฐอเมริกา “เป็นสาธารณรัฐ เป็นเจ้านายควรไปอยู่ประเทศเช่นอังกฤษ” แต่  “แม่ไม่อยากไปอังกฤษ เพราะอากาศไม่ดี”  หลังจากการปรึกษากันโดยรอบด้าน ประเทศที่รับเลือกในที่สุดคือสมาพันธรัฐสวิสในภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ใช่ที่ที่จะพ้นจากอิทธิพลของสาธารณรัฐอยู่ดี เรื่องเล่าเล็กๆ นี้สะท้อนว่ากรมขุนชัยนาทฯ อาจเพ่งเล็งอิทธิพลของสาธารณรัฐไปในทางการเมือง แต่สำหรับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การที่ทรงเลือกสหรัฐอเมริกาในตอนแรก ไม่เลือกอังกฤษ และตัดสินพระทัยเลือกสวิตเซอร์แลนด์ในที่สุดนั้น น่าจะทรงคำนึงถึงอิทธิพลด้านบวกของสาธารณรัฐในสภาวะทางความสัมพันธ์ในสังคมที่มีความเสมอกัน ที่ผู้คนจะไม่มาสนใจเรื่องความเป็นเจ้าและการแบ่งชั้นชนตามชาติกำเนิด อันจะเป็นผลดีต่อการก่อรูปความคิดจิตใจของเด็กด้วย

แต่ในที่สุด เช่นเดียวกับการเลือกสำคัญๆ ทั้งหลาย การตัดสินใจเลือกตัดสินใจทำนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่การทำงานของเทพีแห่งโชคชะตาก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง และโดยการทำงานของโชคชะตา หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยาและพระโอรสธิดาของกรมหลวงสงขลานครินทร์ ก็ไม่อาจปลีกตัวจากสังคมการเมืองไทยออกมาอยู่โดยลำพังได้นานนัก เมื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรมาเฝ้าฯ ที่โลซานน์ในเรื่องการอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ที่ในตอนนั้นพระชนมายุยังไม่เต็ม 10 พรรษาขึ้นครองราชย์ พระพี่เลี้ยงเนื่องเล่าจากความทรงจำว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ตรัสกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ว่า “ฉันตัวเล็กอย่างนี้จะให้ฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างไร … ฉันรู้ว่าถ้าฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ลูกนัยน์ตาหลายคู่จะมาดูฉันคนเดียว” (โครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2527, 101)

นับแต่วันที่รัชกาลที่ 8 รับราชสมบัติ การเตรียมพระองค์สำหรับพระราชโอรสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก็ต้องเพิ่มเรื่องสำคัญต่อบ้านเมืองเข้ามา นอกเหนือจากการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพและจิตสำนึกที่ดี  นั่นคือการอบรมยุวกษัตริย์ เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมสำหรับการเดินทางกลับคืนสู่สังคมการเมืองที่จะต้องพบกับ “ลูกนัยน์ตาหลายคู่จะมาดูฉันคนเดียว”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเตรียมการเดินทางนี้สำหรับสมาชิกทุกพระองค์ของราชสกุลมหิดลอย่างไร?

ต่อจากเมืองโลซานน์อันเป็นเมืองที่ประทับลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ไม่ไกลกันคือเมืองเจนีวา นักปรัชญาการเมืองและปรัชญาการศึกษาผู้เป็นพลเมืองของเจนีวาที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ รุสโซ เจ้าของผลงานเช่น Nouvelle Heloise;  Émile, ou De l’éducation และ Du Contrat Social ou Principes du Droit Politique  จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงอ่านงานของรุสโซและนักคิดนักเขียนและกวีในภาษาฝรั่งเศสด้วยความสนพระทัย  นอกจากผลงานของรุสโซ อย่าง Les Rêveries du Promeneur Solitaire ที่พอพระทัยแล้วก็คงรวมถึงหนังสือเล่มสำคัญที่รุสโซเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางสำหรับ ‘แม่ที่ดีผู้รู้วิธีคิด’ ในการจัดการศึกษาให้ลูกด้วย (2549, 228 – 276)

ในหนังสือ เวลาเป็นของมีค่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าถึงงานอดิเรกอย่างหนึ่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีคือการวาดรูปลงบนเครื่องกระเบื้อง จานใบหนึ่งที่ทรงวาดคล้ายเป็นรูปกลุ่มดาวกระจายอยู่บนจานในจุดต่างๆ และทรงเขียนอักษรย่อกำกับดาวแต่ละตำแหน่งบนด้านหลังจานนั้นอีกที  พร้อมกับข้อความภาษาฝรั่งเศสที่แปลได้ว่า “ฉันจะเดินทางด้วยเรือลำนี้” ซึ่งทำให้ทราบว่าดาวบนจานด้านหน้าที่มีเส้นโยงเชื่อมกันอยู่ความจริงคือเรือ ทรงตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า Navire Plastrem (2542, 58-61)

ภาพจากหนังสือเวลาเป็นของมีค่า
ภาพจากหนังสือเวลาเป็นของมีค่า
ภาพจากหนังสือเวลาเป็นของมีค่า
ภาพจากหนังสือเวลาเป็นของมีค่า

เมื่อทรงเลือกเดินทางด้วยเรือลำนี้ อักษรย่อกำกับดาวที่ประกอบกันขึ้นเป็นนาวา Plastrem จึงควรพิจารณาอยู่ไม่น้อย เพราะประกอบด้วยนักปรัชญาในยุคโบราณอย่างเพลโต อาริสโตเติล นักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่อย่างมงเตสกิเยอ และรุสโซ นักประพันธ์อย่างราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน เพิร์ล เอส บัค กวีอย่างราซีน นักคิดด้านศีลธรรมจรรยาอย่างโวเวอนาร์กส์ และยังมีกวีและนักเขียนคนอื่นๆ อีก รวมทั้งอกาธา คริสตี้ ราชินีนวนิยายแนวสืบสวนฆาตกรรม และกีย์ เดอโมปัสซังต์ ราชาเรื่องสั้นแนวชีวิตสมจริงที่มักมีเรื่องหักมุมในตอนจบ [5]

ในบรรดานักคิดนักเขียนเหล่านี้ ผู้วิจัยเห็นว่าดาวในตำแหน่งเด่นที่สุดของนาวา Plastrem เพราะอยู่ตรงกลางจานและมีดาวขนาบทางซ้ายและทางขวาอีก 2 ดวง ดาวเด่นตรงกลางจานมีอักษรย่อกำกับที่ด้านหลังจานว่า JJ  ส่วนดาวขนาบทางด้านซ้ายและด้านขวามีอักษรย่อกำกับว่า ART คือศิลปะ และ  RAI  คือ raison หรือ reason ความมีเหตุมีผล ตามลำดับ  ดาว JJ มีเส้นต่อโยงไปหาดาวอีกดวงหนึ่งที่อยู่เหนือขึ้นไป ทรงเขียนอักษรย่อกำกับดาวที่อยู่เหนือ JJ ทางด้านบนนี้ว่า PL คือ Platon อันเป็นชื่อเพลโตในภาษาฝรั่งเศส  ในขณะที่ JJ เชื่อมต่อกับ PL ที่อยู่ด้านบน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก็ทรงวาดดาวเด่นอีกดวงโยงมาเชื่อมกับดาว RAI จากด้านล่าง และทรงให้อักษรย่อกำกับดาวที่อยู่ทางด้านล่างว่า ARI อันเป็นอักษรย่อของ Aristote อันเป็นชื่ออาริสโตเติลในภาษาฝรั่งเศส

JJ คือตัวย่อของ Jean-Jacques Rousseau หนังสือพระราชประวัติและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเล่มหนึ่ง ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้เขียนที่พระตำหนักที่โลซานน์ และในพระนิพนธ์ แม่เล่าให้ฟัง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ก็ทรงอ้างถึงหนังสือเล่มนี้ด้วย ให้ข้อมูลว่า ความสนพระทัยของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีต่อนักคิดนักปรัชญาอย่างรุสโซนั้นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับหลักและแนวทางในการอบรมพระราชธิดาและพระราชโอรส (กลุ่มนักข่าวหญิง 2515, 42) ในขณะเดียวกัน ในภาค 2 ของหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง อันเป็นภาคที่นำเสนอปรัชญาความคิดซึ่งคัดข้อความมาจากผลงานของนักคิดคนต่างๆ เฉพาะตอนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ ในส่วนที่เป็นผลงานของรุสโซนั้นคัดมาจากหนังสือ Les Rêveries du Promeneur Solitaire เนื้อหาเป็นตอนที่รุสโซบันทึกการครุ่นคำนึงเกี่ยวกับความสุข ว่าจะหาความสุขจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดและทุกอย่างดำรงอยู่เพียงชั่วครู่ได้จากไหน ความสุขสนุกสนานต่างจากความอิ่มใจที่เป็นความรู้สึกอยู่ภายในอย่างไร  การสัมผัสกับโลกภายนอกก่อผลเป็นความรู้สึกที่ส่งผลแบบไหนต่อความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของเรา ความสนพระทัยในเรื่องวิธีใช้ชีวิตอย่างไรให้ใจเป็นสุขยังปรากฏในข้อความที่คัดมาจากงานของมงเตสกิเยอและวอลแตร์อีกด้วย (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2549, 260-261, 250-257)

คำตอบแบบหนึ่งสำหรับชีวิตที่มีความสุขนั้นเกิดจากการบรรสานสอดคล้องกันให้ลงตัวได้ระหว่างความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวม ต่อประโยชน์สุขของคนทั้งหลาย กับการรักษาความเป็นอิสระและความเป็นตัวของตัวเองอันจริงแท้ที่จะ “ไม่ถูกชักนำไปโดยความคิดเห็นหรือความปรารถนาของคนอื่นๆ ที่จะเห็นก็ด้วยตาของตนเอง ที่จะรู้สึกก็ด้วยใจของตนเอง และไม่มีอำนาจไหนที่จะปกครองตัวเขาได้นอกจากเหตุผลของเขาเอง” (Emile V: 255) และผู้ตัดสินใจจะเดินทางด้วยนาวา Plastrem ก็ทราบดีว่าความรับผิดชอบต่อหน้าที่คือสิ่งสำคัญ ในขณะที่ความเป็นอิสระและความเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น

ภาพจากหนังสือเวลาเป็นของมีค่า
ภาพจากหนังสือเวลาเป็นของมีค่า

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบันทึกในพระนิพนธ์ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ (2559, 137) ว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 และเป็นเหตุให้เจ้านายเล็กๆ ของราชสกุลมหิดลเปลี่ยนสถานะมาเป็นยุวกษัตริย์นั้น ได้ “นำความทุกข์ความกังวลมายังผู้ที่เจ้านายเล็กๆ ในราชสกุลนี้เคารพรักที่สุด คือ สมเด็จย่าและแม่”  ความทุกข์ความกังวลของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาจากหน้าที่ของคนเป็นแม่ที่จะต้อง “ไตร่ตรอง ชั่งน้ำหนักของสิ่งที่ควรทำหรือไม่ทำ ตัดสินว่าสิ่งใดสำคัญสำหรับประเทศชาติ  สิ่งใดจำเป็นสำหรับชีวิตและอนาคตของลูก”

ปัญหาข้างต้นที่ต้องทรงวินิจฉัยและตัดสินพระทัยเลือกระหว่างความสำคัญกับความจำเป็น เกิดขึ้นเกือบจะในทันทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 รับราชสมบัติ นั่นคือคำกราบบังคมทูลเชิญจากรัฐบาลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนคร ความแตกต่างในเหตุผลเกี่ยวกับความสำคัญและความจำเป็นของแต่ละฝ่ายในสิ่งที่พระมหากษัตริย์พึงทำเมื่อแรกเสวยราชย์นี้น่าสนใจมากเพราะเผยให้เห็นถึงวิธีคิดเบื้องหลังการตัดสินใจในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักของผู้ตัดสินใจที่จะเดินทางด้วย Navire Plastrem ดังจะเรียงลำดับเหตุผลของฝ่ายต่างๆ ออกมาดังนี้

หลังจากทรงพบกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ตัวแทนรัฐบาลที่มาอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์แล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าว่า “เจ้าพระยาศรีฯ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้อยู่โลซานน์ต่อไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งอีก และเจ้าพระยาศรีฯ เองก็ไม่ทราบว่าจะให้อยู่ต่อไปทำไม แต่นึกเอาเองว่าบางทีจะให้อยู่คอยเพื่อจะเชิญนันทเสด็จกลับชั่วคราวสำหรับให้ราษฎรเห็นว่าได้มีพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ ไม่ใช่แต่ชื่อหรือหลอกกันเล่น” (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2559, 148)

ส่วนทางฝ่ายรัฐบาลให้เหตุผลในการเชิญเสด็จนิวัตพระนครว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควรเสด็จกลับพระนครอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้ชมพระบารมี แต่เหตุผลจริงๆ คือลดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างพระราชวงศ์กับรัฐบาลอันเกิดจากเหตุการณ์หลายอย่างก่อนหน้านั้นที่นำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 และเพื่อดับข่าวลือ ‘ในทางอกุศล’ เช่น ข่าวลือว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะสละราชสมบัติ การปฏิเสธคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัตพระนครในขณะที่รัฐบาลได้ประกาศให้ประชาชนทราบเรื่องนี้ล่วงหน้าไปแล้วยิ่งทำให้รัฐบาลอยู่ในฐานะลำบากที่จะต้องอธิบายเหตุผลที่จะไม่ทำให้ประชาชนเกิดการเข้าใจผิดไปต่างๆ (โครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2527, 114, 130)

ทางฝ่ายคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สนับสนุนรัฐบาลว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควรเสด็จกลับพระนครโดยไม่ปล่อยเวลาให้เนิ่นช้า แต่ให้เหตุผลสนับสนุนต่างจากของรัฐบาลโดยยกความสำคัญของโบราณราชประเพณีมาเป็นเหตุผลว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ย่อมเป็นการสมควรที่จะประกอบพิธีบรมราชาภิเษกโดยเร็วที่สุด ดังจะเห็นได้จากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีความเห็นในบันทึกประกอบการทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่นิวัตพระนครในปี 2479 เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้า และจะได้ใช้โอกาสนี้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกว่า

“… ตามโบราณราชประเพณีก็มีหลักสำคัญว่าพระมหากษัตริย์เมื่อได้ทรงราชย์แล้ว จำต้องรีบทำพิธีบรมราชาภิเษกโดยเร็ว เพราะหาไม่แล้วยังไม่ถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยบริบูรณ์ คือยังเป็น ‘พระบาทสมเด็จ’ ไม่ได้  พระสงฆ์ยัง ‘ถวายอดิเรก’ ไม่ได้ เป็นการทำให้ขลุกขลักมาก  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ถึงปีกว่าแล้ว ยังหาได้ทรงทำพระราชพิธีนี้ไม่ ดูเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง …” (อ้างถึงใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2559, 221) [6]

ในขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยความสำคัญทางการเมืองในการเสด็จนิวัตพระนครและเหตุผลของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ด้านโบราณราชประเพณี แต่ก็ทรงเลือกที่จะทอดเวลาการเสด็จกลับพระนครของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกไปอีก ในชั้นต้นทรงขอเลื่อนกำหนดการนิวัตพระนครของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยเหตุผลด้านพระอนามัยพร้อมกับใบรับรองแพทย์ว่าในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงแข็งแรงพอสำหรับการเดินทาง หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2479 รัฐบาลจึงได้ส่งพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์ สิทธิ สุทัศน์) สมุหราชองครักษ์ออกไปประจำพระองค์ในฐานะพระอภิบาล ทั้งนี้เพื่อให้การประสานการติดต่อระหว่างรัฐบาลที่กรุงเทพฯ กับโลซานน์เป็นไปได้เรียบร้อยราบรื่นขึ้น เพราะเห็นว่าพระยาวิชิตวงศ์ฯ เคยเป็นทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาสมัยที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จไปศึกษาการแพทย์ที่นั่น

เมื่อพระยาวิชิตวงศ์ฯ นำความประสงค์ของรัฐบาลในเรื่องการเสด็จนิวัตพระนครมาทูลเชิญอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงหันไปพึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คล้ายกับว่า เมื่อทางกรุงเทพฯ ส่งคนไปที่โลซานน์ ทางโลซานน์ก็ทรงมอบอำนาจการตัดสินพระทัยส่งกลับคืนมาที่กรุงเทพฯ โดยทรงยกให้เป็นอำนาจของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าที่จะเป็นผู้ตัดสินพระทัย ลายพระหัตถ์ที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงมีไปถึงประธานผู้สำเร็จราชการฯ ทำให้เราทราบเหตุผล ซึ่งก็เป็นเหตุผลหลักของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วยเช่นกัน ว่าทรงเห็นความจำเป็นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในข้อที่ว่า “ถ้าหลานฉันกลับมาแล้ว จะต้องให้กลับออกไปตามที่สัญญาไว้ เพื่อประโยชน์ที่จะได้ทั้งความสุขและความรู้” (โครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2527, 134)

สำหรับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การเตรียมพระองค์ยุวกษัตริย์ต้องเริ่มต้นที่การเติบโตและการเรียนรู้จากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่อย่างมีวุฒิภาวะ “เพื่อประโยชน์ที่จะได้ทั้งความสุขและความรู้” ก่อน แล้วการเตรียมพระองค์เพื่อรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์จึงจะตามมา สำหรับเด็กในวัยกำลังเจริญเติบโตนี้ ไม่มีอะไรที่จะสำคัญไปกว่าการมีความรู้ที่ประกอบด้วยความสุข และเหตุผลในเรื่องนี้พึงมาก่อนเหตุผลทางการเมืองและเหตุผลทางโบราณราชประเพณีทั้งหมด

ในสถานการณ์ของปัญหาที่มีสิ่งอันพึงกระทำอยู่หลายอย่างให้ผู้กระทำต้องตัดสินใจ แต่ไม่อาจทำทั้งหมดนั้นได้พร้อมกัน และคนที่จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจก็รู้ว่า การเลือกทำสิ่งหนึ่งที่สำคัญและไม่ทำอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็น ย่อมจะมีผลกระทบที่เลี่ยงไม่ได้ตามมา และเช่นเดียวกัน ถ้าหากเลือกทำสิ่งที่จำเป็นก่อน การไม่เลือกทำเรื่องที่สำคัญก็อาจส่งผลกระทบหรือผลเสียที่แก้กลับคืนได้ยาก ในสถานการณ์ที่เป็นความลำบากต่อการตัดสินใจเช่นนี้ สำหรับคนที่ไม่มีหลักการเกี่ยวกับสิ่งที่ดีและจับหลักนั้นได้แม่นยำ จะมีความละล้าละลังในการตัดสินใจเกิดขึ้นได้ง่ายและในความละล้าละลังนั้นก็อาจเปลี่ยนการตัดสินใจที่ทำไปแล้วกลับไปกลับมา ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่ด้านใดขึ้นมาเลย และกลับกลายเป็นผลเสียไปทุกทาง

โดยการประวิงเวลาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อถึงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครในปีปลายปี 2481 ก็ทรงเจริญพระชนม์เต็ม 13 พรรษาแล้ว ถ้าหากทรงเป็นเจ้านายที่ทรงเติบโตอยู่ในราชสำนัก ก็นับว่าถึงเวลาของพระราชพิธีโสกันต์เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ในพระราชพิธีนี้สำหรับเจ้าฟ้าชั้นเอกจะมีเขาไกรลาสและพระศิวะมารับพระกรพาไปสรงน้ำ แต่ในการอบรมตามแนวทางใหม่ภายนอกราชสำนักของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไม่มีพระราชพิธีโสกันต์ ไม่มีเขาไกรลาสและพระศิวะ การเสด็จนิวัตพระนครในปลายปี 2481 เข้ามาทำหน้าที่แทนพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผ่านเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ด้วยบททดสอบในการปฏิบัติพระองค์ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ประทับอยู่ในประเทศสยาม [7] ในเวลาหลังจากนั้นต่อมา เราทราบจากรูปบัตรอวยพรใบหนึ่งว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ทรงเขียนในบัตรอวยพรลงวันที่ 21 ตุลาคมปีนั้นถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ว่า

เดี๋ยวนี้นันทตั้งต้นรู้สึกความกตัญญูต่อแม่สำหรับของต่างๆ ที่แม่ทำให้เด็ก เหมือนการต่อสู้ให้เด็กเล่าเรียนได้ นันทดีใจที่แม่อยู่ด้วยกันเพื่อจะนำทางและช่วยนันทในการต่างๆ  แต่ก่อนเวลาแม่ดุนันท นันทไม่ชอบ แต่เดี๋ยวนี้นันทเข้าใจแล้วว่าเป็นประโยชน์ให้นันท (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2559, 271)

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีผู้ทรงเลือกที่จะเดินทางด้วยนาวา Plastrem ทรง ‘นำทาง’ อย่างไร?

พระบรมราชชนก ภาพจากหนังสือชัยนาทนเรนทรานุสรณ์
พระบรมราชชนก ภาพจากหนังสือชัยนาทนเรนทรานุสรณ์

 

III 

การเตรียมพระองค์ใน ‘สิ่งจำเป็นต่อชีวิตและอนาคต’

ก่อนที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลจะได้รับราชสมบัติ เจ้านายในราชสกุลมหิดลยังทรงเป็นอย่างที่กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (2549, 177) ทรงเล่าว่า “เราเป็นเจ้านายเล็กๆ ที่ไม่สู้เรียบร้อย (เวลานั้นเราเป็นพระองค์เจ้า) จึงถูกเรียกว่าเจ้านายบ้านนอก” เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีย้ายไปประทับที่โลซานน์ใหม่ๆ ทรงเขียนจดหมายฉบับหนึ่งทูลสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าว่า “หม่อมฉันมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำให้ลูกไปในทางที่ถูกที่ดีสำหรับจะได้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ญาติ และบ้านเมือง”  และ “หม่อมฉันรู้สึกว่าตัวเคราะห์ดีมากที่มีลูกที่ฉลาด แต่เด็กฉลาดเลี้ยงยากมากกว่าเด็กโง่ เพราะต้องพูดกันมาก และต้องอธิบายกันให้เห็นจริงทุกอย่างถึงจะเชื่อ” (2559, 168) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสรุปแนวทางการอบรมเลี้ยงดูลูกของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีออกมาในบริบทนี้ว่า

การศึกษาในโรงเรียนไม่เป็นสิ่งที่เพียงพอให้เด็กโตขึ้นมาเป็นคนดี ครอบครัว ตั้งแต่พ่อแม่ จนถึงพี่น้องเองก็มีส่วนสำคัญ เราสามคนเป็นกำพร้าพ่อมาแต่เล็กๆ ภาระของแม่จึงหนักมาก ต้องเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ … แม่ไม่เคยชมว่าฉลาดหรืองาม จะชมก็เมื่อประพฤติตนดี ทำอะไรที่น่าสรรเสริญ เราจึงไม่เหลิง อาจขาดความมั่นใจในตัวเองบ้าง แต่ก็ทราบอยู่เสมอว่าเราเป็นใคร ด้วยการพูดกันให้เข้าใจนี้ ทำให้เราเป็นผู้ที่นับถือความจริง มีสัจจะ ไม่หลอกใคร และไม่หลอกตัวเอง สิ่งที่ช่วยมากในการนี้ก็คือเราไม่ได้มีคนที่มาห้อมล้อมอยู่มากมายตลอดเวลา มายอ มาเอาใจ … การที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่รู้จักเจ้าเสียจริงๆ ไม่มีใครเรียกเราว่าเจ้าชายหรือเจ้าหญิง เรียกนายและนางสาว (Monsieur, Mademoiselle) ภาษาฝรั่งเศสไม่มีเด็กชาย เด็กหญิง จึงทำให้เราเหมือนกับคนธรรมดา

แต่เมื่อทุกพระองค์เสด็จกลับมาเมืองไทยในการนิวัตพระนครครั้งแรก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงบันทึกถึงอิทธิพลทางสังคมแบบไทยๆ ในลักษณะที่ต่างออกไป

แม่ไม่ชอบชีวิตที่กรุงเทพฯ นัก แต่ ‘เด็กๆ’ ชอบ ต้องชอบแน่ แทบทุกวันมีของเล่นมาใหม่ๆ วันหนึ่งก็เป็นรถยนต์ไฟฟ้า อีกวันหนึ่งก็เป็นรถยนต์จริงๆ ซึ่งมีผู้ให้ยืมเล่น แล้วก็เป็นรถไฟที่นั่งบนหลังคาได้ เรือบินที่บินได้ เรือพาย ฯลฯ สำหรับข้าพเจ้านั้น อยากได้แผ่นเสียง พูดทีเดียวก็มาเป็นตั้งเลย เสื้อก็มีคนคิดแบบให้มาเป็นชุดๆ เลย  คนที่พบก็แสดงความเคารพ พยายามเอาใจ แม่คงคิดอยู่ว่าถ้าอยู่นานกว่านี่ คงเสียเด็ก

นอกจากสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ความต้องการของคนเป็นพ่อแม่ทุกคนก็คือการเห็นลูกเติบโตขึ้นมาเป็นคนมีสติปัญญาความคิดอ่าน มีอุปนิสัยใจคอ บุคลิกภาพ และจิตสำนึกที่ดี มีวุฒิภาวะที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเต็มตามความสนใจความสามารถและความถนัดที่เหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติของแต่ละคน แต่การจะผลิผลออกมาอย่างนี้ได้ ส่วนสำคัญที่เป็นเงื่อนไขตั้งต้นที่จำเป็นอยู่ที่การเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กอย่างไรที่จะไม่ให้ ‘เสียเด็ก’ การเลี้ยงลูกไม่ให้เสียเด็กจึงเป็น ‘สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและอนาคตของลูก’ ซึ่งสำหรับรุสโซต้องตั้งต้นให้ถูกต้องตั้งแต่ยังเป็นทารก เขาเขียนไว้อย่างนี้

การร้องไห้แรกๆ ของทารกคือการอ้อนวอน แต่ถ้าใครไม่ระวัง ในไม่ช้าการอ้อนวอนนั้นก็จะกลายเป็นคำสั่ง เด็กอ่อนจะเริ่มต้นด้วยการร้องหาให้มีใครเข้ามาช่วย แต่มันอาจลงเอยที่เด็กได้คนคอยพะนอ ดังนั้น จากความอ่อนแอของเด็กๆ เอง ซึ่งในตอนแรกๆ ทำให้เด็กอ่อนรู้สึกถึงการที่ต้องพึ่งต้องขึ้นต่อคนอื่นๆ แต่จากนั้นต่อมา จะเปลี่ยนไปเป็นความรู้สึกของการมีอำนาจในอาณาจักรน้อยๆ เหนือคนที่มาคอยบริการ แต่เพราะความคิดแบบนี้เกิดจากการที่มีคนคอยอุ้มชูสนองความต้องการมากกว่าที่จะมาจากความจำเป็นในสิ่งที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้จริงๆ  ในจุดนี้ ความคิดที่รู้จักขอบเขตของความเหมาะสมว่าอะไรควรไม่ควรจะเริ่มก่อตัวปรากฏขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ผลที่เกิดมาจากธรรมชาติแต่อย่างใด ดังนั้น เราจึงเห็นแล้วว่าทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการเลี้ยงดูที่จะต้องแยกความตั้งใจอันเร้นลับนี้ให้ออกแต่ต้นเลยว่าเป็นแบบไหนแน่จากอากัปกิริยาและเสียงเด็กที่ร้องออกมา (Emile I: 66)

แต่ในขณะเดียวกัน การเลี้ยงเด็กอย่างไรไม่ให้ ‘เสียเด็ก’ นี้ยังมีอีกด้านหนึ่ง นั่นคือการบ่มเพาะและเปิดให้เด็กที่เริ่มเติบโตขึ้นมามีโอกาสพัฒนาสมรรถนะในการเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ทีละน้อยจนกระทั่งค้นพบความสนใจ ความถนัด และความสามารถที่มีอยู่ในตัวเอง  ไม่ถูกปิดกั้นไว้ด้วยข้อห้าม ข้อบังคับและคำสั่งต่างๆ ของผู้ใหญ่จนหมดความใฝ่รู้และความอยากเรียนรู้ตามธรรมชาติ  ถ้าเราพิจารณารูปประกอบเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงคัดมาเสนอใน เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ แล้ว ก็จะเห็นวิธีการเลี้ยงตามหลักดังกล่าวนี้ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ชัดเจนมาก ว่าทรงปล่อยพระราชโอรสพี่น้องสองพระองค์เล่นอะไรได้ตามความสนใจไม่ว่าจะเป็นเล่นกับดิน กับน้ำ กับลม กับไฟ เล่นกับพาหนะชนิดต่างๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง เล่นเครื่องดนตรี เล่นกับของใช้หรือเครื่องไม้เครื่องมือ เล่นการแสดงและการละเล่น หัดทักษะพื้นฐานให้เป็นแต่ยังเล็ก เช่น ก่อไฟ พายเรือ ว่ายน้ำ วาดรูป ขี่ม้า ไต่เชือก  ในการเล่นกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวนี้  สำหรับเด็กเล็ก รุสโซบอกว่าจะยังไม่มีเรื่องศีลธรรมเข้ามาให้คิดยุ่งเหยิง เมื่อเป็นอย่างนี้บางทีก็มีเรื่องน่าขันเกิดขึ้นได้  ดังที่สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (2559, 93) ทรงเล่าว่า

เมื่อพระองค์ชายอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมเด็จพระพันวัสสาฯ รับสั่งให้พาไปนมัสการเจ้าอาวาสของวัดเทพศิรินทร์ คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อให้สมเด็จฯ อบรมธรรม ท่านได้สอนข้อธรรมะง่ายๆ ที่ปฏิบัติได้ เช่นว่าเมื่อมียุงมาเกาะ อย่าไปตบ ให้เอามือลูบเสีย วันหนึ่งแม่ลงมาดูลูกชายสองคนซึ่งกำลังเล่นละลายเทียนไขในกระทะเล็กที่วางบนอั้งโล่ แม่เห็นคางคกอยู่ในกระทะนั้นตัวหนึ่ง แม่ก็เอะอะใหญ่ และถามพระองค์ชายว่าสมเด็จฯ เคยสอนเรื่องยุง ทำไมจึงมาทำอย่างนี้  พระองค์ชายตอบว่าสมเด็จฯ ไม่ได้สอนเรื่องคางคก เมื่อข้าพเจ้าไปสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อเดือนธันวาคม 2529 ได้ทูลถามว่าทรงจำเรื่องคางคกนั่นได้ไหม รับสั่งว่าทรงจำได้ และคางคกนั้นไม่ได้ไปจับมา มันกระโดดลงไปในกระทะเองโดยบังเอิญ

ขั้นต่อมาในการฝึกไม่ให้ ‘เสียเด็ก’ คือการฝึกฝนความมีระเบียบวินัยให้ทำกิจกรรมประจำตามเวลา การฝึกคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองหรือ “คิดเอาเองซิ เดี๋ยวสมองจะเป็นสนิมเสีย” (2559, 62)  และการรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนทั้งแก่ตัวเองและคนอื่นๆ ที่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าทำผิดถึงขั้นถูกลงโทษก็ต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจด้วยเหตุผลว่าสิ่งไหนดีไม่ดี ควรไม่ควร สิ่งที่ทำก่อโทษต่อตัวเองหรือต่อคนอื่นอย่างไร และให้ยอมรับผิดก่อน  ในจดหมายฉบับหนึ่ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเขียนถึงสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าว่า

หม่อมฉันรู้สึกดีใจมากที่ลูกๆ ถ้าอธิบายกันเข้าใจแล้ว เชื่อเสมอ แต่มีบางเวลาที่หม่อมฉันรู้สึกกลุ้มใจเหมือนกันเวลาที่ลูกๆ ยุ่งแล้ว หาวิธีแก้ยังไม่ได้  เป็นของยากมากในการอบรมเด็กโดยวิธีอธิบายและชี้แจงเหตุผลให้เด็กเห็นความผิดความถูก เคราะห์ดีที่หม่อมฉันได้อ่านหนังสือมากในการอบรมเด็ก หนังสือเหล่านี้ช่วยแนะนำวิธีต่างๆ ได้มาก  แต่เด็กทุกคนนิสสัยไม่เหมือนกัน ก็ต้องใช้ความคิดของตัวเองหันให้ถูกนิสสัยของเด็ก (2559, 107)

เมื่อทรงเติบโตถึงวัยเรียน นอกเหนือจากการเรียนตามระบบในโรงเรียนแล้ว แนวทางของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีคือการฝึกทั้งสองพระองค์ให้ทรงรู้จักรับผิดชอบในการใช้จ่าย โดยเฉพาะของที่ทรงต้องการเป็นส่วนพระองค์ที่ไม่ใช่ของจำเป็น เช่นหนังสืออ่านเล่น แผ่นเสียงเพลงแจ๊ส จะต้องทรงเก็บเงินซื้อกันเอง และอีกเรื่องหนึ่งคือการเรียนหรือฝึกฝนทักษะตามความถนัดและความสนใจจนรู้เรื่องนั้นดีหรือทำเรื่องนั้นได้อย่างชำนาญ ในการพัฒนาความสนใจนี้ ตามที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่า บางทีก็เป็นความสนใจของแม่ก่อนแล้วลูกตาม บางทีก็เป็นความสนใจของลูกก่อนแล้วแม่ตาม เช่นเรื่องกล้อง การถ่ายรูป สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล่นกล้องและการถ่ายรูปมาตั้งแต่ยังไม่ได้เสกสมรส ตอนหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ทรงตาม แล้วทรงเล่นจนชำนาญทั้งการถ่ายรูปและล้างรูป  หรือในทางกลับกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยในดาราศาสตร์ก่อน แล้วสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเรียนตาม ส่วนงานช่างไม้ พระเจ้าแผ่นดินทั้ง 2 พระองค์ทรงเรียนจากนายเซไรดารีส ครูส่วนพระองค์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงหามาเป็นผู้ถวายการสอน นอกจากนั้นที่ควรกล่าวถึงคือการเรียนดนตรี

กล่าวได้ว่า นับตั้งแต่วันที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงให้ความเห็นชอบในการที่พระราชนัดดาจะรับราชสมบัติ การอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก็ไม่ใช่เรื่องส่วนพระองค์เช่นเดิมอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อการเมือง บ้านเมือง และความรับผิดชอบต่ออนาคตของพระราชวงศ์ เข้ามาพัวพันในการอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสอย่างเลี่ยงไม่พ้นนับแต่วันแรกที่ทรงรับราชสมบัติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก็ต้องทรงหาทางให้การอบรมเลี้ยงดูพระราชธิดาและพระราชโอรสไม่ให้ถูกน้ำหนักของภาระหรือปัญหาของการเมืองเหล่านั้นมาขวางวิถีทางหรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็กให้ต้องเสียไป การเรียนรู้นี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การบ่มเพาะความเป็นตัวของตัวเองเพื่อให้ความดีโดยธรรมชาติซึ่งเด็กทุกคนมีอยู่แล้วในตัวมาแต่กำเนิดมีโอกาสพัฒนาขึ้นมาได้อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ถูกขวางไว้หรือถูกหันเหไปโดยความสัมพันธ์ทางสังคมที่แทรกแซงข้อเรียกร้องต่างๆ เข้ามา หรือเข้ามาเสนอการตอบสนองทั้งหลายจนล้นเกิน จนเด็กไม่มีโอกาสพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจและความเป็นตัวของตัวเอง เพราะถูกชักนำไปโดยสายตา โดยความเห็น โดยความคาดหวัง การตอบสนอง หรือแรงกดดันจากคนอื่นและสังคมรอบข้าง ที่เจ้าตัวซึมซับรับเข้ามาให้มีอิทธิพลเหนือตน หรือให้มาพะนอตามใจตน จนสูญเสียความสามารถที่จะเป็นนายของตัวเองและครองตนเองด้วยเหตุผลที่ประกอบด้วยการมีสำนึกได้

ภาพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและรัชกาลที่ 9 มาจากหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง ฉบับพิมพ์ปกอ่อนครั้งที่ 13
ภาพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและรัชกาลที่ 9 มาจากหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง ฉบับพิมพ์ปกอ่อนครั้งที่ 13

ดังเช่นที่รุสโซกล่าวให้ข้อคิดว่า ความมีเหตุผลสอนเราให้รู้จักสิ่งดีและสิ่งที่ไม่ดี การมีสำนึกช่วยให้เรารักสิ่งแรกและชังสิ่งหลัง แม้ว่าสำนึกเป็นคนละส่วนกับเหตุผลก็จริง แต่ถ้าขาดความมีเหตุผลเสียแล้วก็ไม่อาจพัฒนาการมีสำนึกขึ้นมาได้ ความมีเหตุผลยังช่วยให้เราตระหนักถึงหน้าที่และคิดหาหนทางการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง แต่ความปรารถนาที่จะทำตามหน้าที่และสิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นผลักให้เราลุกขึ้นมากระทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ก็คือสำนึก (Emile I: 67, Plamenatz 1972, 383)

ในเรื่องสำนึกนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงให้สัมภาษณ์ว่า “คล้ายกับเราได้รับการอบรมจากพ่อผ่านทางแม่ … ตั้งแต่เล็กเคยได้ยินแม่รับสั่งเรื่องต้องทำงานเพื่อเมืองไทยอยู่ตลอดเวลา” (จิรภา อ่อนเรือง 2515, 42-3 เน้นข้อความโดยผู้วิจัย) ในจดหมายที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเขียนถึงพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ลงวันที่ 12 กันยายน 2478 ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายเขียนว่า

หม่อมฉันยินดีมากที่ท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการองค์หนึ่งในคณะนี้ เพราะหม่อมฉันเชื่อว่าท่านคงเข้าพระทัยต่อความประสงค์และความหวังของเราดี เพราะทรงได้เคยสนิทสนมกับทูนกระหม่อมมาก ความประสงค์และความหวังของเราก็มิได้ผิดอะไรไปกับของทูนกระหม่อม คือพยายามที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองของเรา และการที่นันทเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่ได้ทำให้เรายินดีชื่นชมในยศศักดิ์เลยกลับเบื่อเสียอย่างมาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่มาช่วยดับให้ความเบื่อน้อยลงไปคือ Duty สำหรับประเทศ และหม่อมฉันหวังอยู่เสมอว่าการที่นันทเป็นกษัตริย์ขึ้นจะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองจริงๆ ถ้าเป็นประโยชน์ Sacrificeที่เราสละก็ได้ผล ผลในยศศักดิ์และเงินนั้นหม่อมฉันไม่เรียกว่าผล (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2559, 221 เน้นข้อความโดยผู้วิจัย)

ข้อเสนอของผู้วิจัยมีว่า ส่วนที่สำคัญไม่แพ้สำนึกในหน้าที่ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงได้มาจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกคือแนวทางการทรงงานที่จะเป็นตัวแบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์แบบใหม่ในระบอบการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 หรือถ้ากล่าวให้ล้อไปกับชื่อปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ก็คือ แนวทางการทรงงานของสมเด็จพระบรมราชชนกคือที่มาของ The New Siamese Conception of the Monarchy ที่จะมีการแปรจากภาคทฤษฎีออกสู่การปฏิบัติในรัชกาลที่ 9

ในการวิเคราะห์แนวทางการทรงงานของสมเด็จพระบรมราชชนกเพื่อนำเสนอ “The new Siamese conception of the monarchy” ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง ผู้วิจัยจะใช้การตีความบันทึกความทรงจำของนายแพทย์ A. G. Ellis (1932) เรื่อง The Service to Medicine in Siam Rendered by His Royal Highness Prince Mahidol of Songkla C.P.H., M.D. (Harvard) เป็นหลัก [8]

ก่อนเข้าสู่การตีความในตอนที่ IV ต่อไป ผู้วิจัยต้องกล่าวถึงข้อจำกัดว่า ในการถ่ายทอดแนวทางการทรงงานของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกในการเตรียมพระองค์นั้นทั้งหมดย่อมมาจากสมเด็จพระราชชนนี แต่เมื่อผู้วิจัยไม่มีข้อมูลให้วิเคราะห์ได้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงถ่ายทอดแนวทางดังกล่าวให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เข้าพระทัยอย่างไรบ้าง ผู้วิจัยจึงใช้บันทึกความทรงจำของนายแพทย์เอลลิสเรื่อง “พระกรณียกิจปฏิบัติ” ของสมเด็จพระบรมราชชนกมาตีความในส่วนนี้แทน แต่จะแทนได้เพียงใด ผู้วิจัยไม่อาจรับรองได้ แม้ว่าเนื้อหาที่อยู่ในบันทึกของนายแพทย์เอลลิสแสดงให้คนอ่านเห็นได้ชัดเจนว่าสมเด็จพระบรมราชชนกทรงมีแนวทางการทรงงานอย่างเป็นระบบและทรงมีวิธีคิดในเชิงยุทธศาสตร์  แต่ในบันทึกนั้นเอง นายแพทย์เอลลิสก็บอกคนอ่านให้ทราบด้วยว่า

หม่อมของพระองค์นั้นไม่เพียงแต่เป็นผู้คล้อยตาม  หรือเป็นผู้ที่ช่วยเหลืออย่างดีที่สุดในพระดำริเรื่องการศึกษาและการบริจจาคทรัพย์เท่านั้น แต่ได้เป็นผู้ต้นคิดด้วย (เอลลิส 2479, 46 คงตัวสะกดตามต้นฉบับ)

คุณหมอเอลลิส ภาพจากหนังสือชัยนาทนเรนทรานุสรณ์
คุณหมอเอลลิส ภาพจากหนังสือชัยนาทนเรนทรานุสรณ์

IV 

การเตรียมพระองค์ในหน้าที่ ‘สิ่งสำคัญสำหรับประเทศชาติ’

ในนิยามประชาธิปไตยอันเป็นที่รู้จักกว้างขวางของประธานาธิบดีลินคอล์นที่ว่า “เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” นั้น แนวทางการทรงงานของสมเด็จพระบรมราชชนกได้นำทางให้เห็นว่าบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญอาจจัดไว้อยู่ในการปกครองของส่วน ‘เพื่อประชาชน’ ได้

การเมืองหลัง 2475 มีปัญหาความขัดแย้งที่ยังไม่มีข้อสรุประหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ อย่างลงตัวว่าจะจัดรัฐธรรมนูญเพื่อออกแบบการปกครองให้เป็น ‘ของประชาชน’ และ ‘โดยประชาชน’ ออกมาอย่างไร และเมื่อความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วทำให้การจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองกลายมาเป็นสิ่งกำหนดความหมายของระบอบใหม่ทั้งในทางการตีความรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2475 และในทางปฏิบัติโดยผู้นำคณะราษฎร การที่พระมหากษัตริย์จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในการจัดอำนาจรัฐให้เป็นของประชาชนและโดยประชาชน ดังเช่นที่รัชกาลที่ 7 ทรงพยายามและล้มเหลวมาแล้วอีกนั้น จึงน่าจะไม่ใช่ทางเลือกอันควรจะซ้ำรอย  เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางเลือกซึ่งน่าพิจารณาที่เหลืออยู่สำหรับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองใหม่ จึงอยู่ในส่วนการปกครองในด้าน ‘เพื่อประชาชน’

แต่บทบาทของพระมหากษัตริย์ที่จะปฏิบัติอยู่ในส่วนของการปกครอง ‘เพื่อประชาชน’ สำหรับสภาพบ้านเมืองและการเมืองขณะนั้นของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงมีความคลุมเครือเพราะระบอบการปกครองประเทศไทยยังไม่มีประเพณีที่มีการตั้งต้นไว้ก่อนหน้านั้นให้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญได้ ในจุดนี้เองที่แนวทางการทรงงานของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกจะให้แนวคิดที่น่าพิจารณาสำหรับกำหนดบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนว่ามีความหมายและมีแนวทางอย่างไร การตีความแนวทางการทรงงานของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกในบันทึกความทรงจำของนายแพทย์เอลลิส ทำให้เราพอจะเห็นแนวคิดใหม่เกี่ยวกับแนวทางสำหรับบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในนั้นได้ ดังนี้

หนึ่ง การทรงงานของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกเกิดขึ้นในสมัยราชาธิปไตย ผู้ครองอำนาจรัฐจึงได้แก่พระเจ้าแผ่นดิน แม้จะทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก สมเด็จฯ พระบรมราชชนกก็ทรงเคร่งครัดและระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ในราชการ ในเรื่องใหญ่ เช่น การจะรับหน้าที่การงานในทางราชการนั้น ทรงถือเป็นแนวปฏิบัติว่า “ต้องแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระมหากรุณาดำรัสสั่ง”(เอลลิส 2479, 53) ในการทำราชการ เมื่อมีความขัดแย้งในความคิดเห็นในงานราชการที่ทรงเกี่ยวข้อง ก็ทรงเคารพต่อการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย แต่ขณะเดียวกัน ถ้าทรงไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่าความเห็นของอีกฝ่ายเป็นไปโดยสุจริตก็ทรงประทานพระวินิจฉัยแก่ความเห็นนั้นเป็นอย่างดี แต่ถ้าทรงเห็นว่าการที่ออกความเห็นแย้งนั้นโดยมีเจตนาอื่นลับหลัง หรือทำเพื่อแสวงหาอำนาจแล้ว ก็ไม่ทรงผ่อนผันละลดให้เลย (เอลลิส 2479, 24)

แต่ถ้าหากเป็นความแตกต่างในขั้นหลักการ ก็ทรงเลือกที่จะรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ที่ไม่เป็นการขัดขวางนโยบายที่เห็นแตกต่างในหลักการนั้นด้วยการลาออก แต่ก็ไม่ได้เป็นการปลีกตัวออกไปจากงานส่วนรวมแล้วไปอยู่โดยลำพังพระองค์เอง ดังเช่นที่ทรงลาออกจากราชการกองทัพเรือแล้วเปลี่ยนเส้นทางอาชีพจากสายทหารไปเรียนด้านสาธารณสุขและการแพทย์ต่อมา

น่าสังเกตว่า ในเวลาต่อมา ในสมัยประชาธิปไตย เมื่อเกิดความขัดแย้งกับผู้ครองอำนาจรัฐในขั้นหลักการ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกที่จะตัดสินพระทัยเช่นเดียวกันนั้น

อย่างไรก็ดี จุดสำคัญในหลักการทรงงานของสมเด็จพระบรมราชชนกข้อนี้อยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ที่จะไม่กระทบต่อศูนย์อำนาจที่เป็นหลักของระบอบการปกครอง และดำเนินการสนับสนุนเพื่อความสำเร็จของนโยบายต่อกิจการส่วนรวมในส่วนที่พระองค์จะทรงสามารถทำได้ ซึ่งได้แก่การพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุข โดยเต็มพระกำลังความสามารถ รวมทั้งทรงระมัดระวังที่จะไม่ให้ความเห็นในทางราชการและส่วนพระองค์ต่อปัญหาต่างๆ เป็นการติเตียนรัฐบาลหรือประชาชน หรือบ้านเมืองเลย (เอลลิส 2479, 7)

สอง ความขัดแย้งอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในการทำงานเพื่อส่วนรวมเช่นงานราชการเป็นของที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำ และเป็นไปได้ที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจะไม่รับข้อเสนอที่มาจากความคิดและการกลั่นกรองจากความตั้งใจอันดีของเรา การรักษาความสุขและความไม่ท้อถอยที่จะทำงานนั้นต่อไปจำเป็นต้องอาศัยความอดทน ในบริบทนี้ ควรกล่าวถึงบุคลิกภาพส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนก ตามที่นายแพทย์เอลลิสตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้สมเด็จฯ พระบรมราชชนกไม่อาจทำงานราชการเพื่อพัฒนาการศึกษาการแพทย์อย่างที่ทรงตั้งพระทัยทำนั้นอย่างมีความสุขได้เต็มที่

กล่าวคือ “การงานเหล่านี้เจือปนและนำมาซึ่งความน้อยพระทัยและการไม่พอพระทัยหลายครั้ง และเป็นที่น่าเสียดายว่าความสงบพระทัยของพระองค์ไม่ใช่คนอย่างที่เราเรียกกันว่า ‘สู้ตาย’… พระองค์ท่านไม่ทรงดำเนินตามหลักและตามทางปฏิบัติที่ทรงรู้สึกว่าดีแต่ถ่ายเดียว แต่ได้ทรงระลึกทรงคิดถึงความเห็นและการกระทำของผู้อื่นที่แรงและทัดทานพระองค์ ทรงรู้สึกในคำกล่าวติชมของผู้อื่นง่ายจนเกินไป … แทนที่จะทรงลืมความเห็นแตกต่างส่วนตัวเหล่านั้นเสีย กลับไปทรงรำพึงถึงเรื่องนั้นและเอาคำกล่าวติชมที่ทรงได้รับในเวลาและนอกเวลาประชุมไปไตร่ตรองนานๆ” (เอลลิส 2479, 35-36)

ข้อจำกัดส่วนพระองค์อีกประการหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องอารมณ์ความรู้สึกข้างต้น คือปัญหาพระสุขภาพที่ไม่แข็งแรงและกระทบต่อการดำเนินพระราชภารกิจต่างๆ อยู่เป็นระยะตลอดพระชนม์ชีพ

การหาความลงตัวในระหว่างข้อหนึ่งและข้อสองในการปฏิบัติหน้าที่ในทางราชการ ที่อาจเกิดแรงเสียดทานได้สูงนี้ ทางหนึ่งที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงเลือกเพื่อใช้แก้ข้อจำกัดข้างต้น คือการนำปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น “มาเป็นเครื่องเพิ่มพูนรุกเร้าพระมานะ” ให้ทำงานที่ทรงตั้งพระทัยให้สำเร็จ และมีความรอบรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จนเพียงพอที่จะโต้ตอบกับคนคัดค้านได้ แม้จะมีปัญหาพระสุขภาพมาเป็นอุปสรรคอยู่มากก็ตาม (เอลลิส 2479, 36)

สาม สถานะของพระองค์ที่เป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก มีทั้งส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก และส่วนที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานเพื่อส่วนรวมได้ง่ายขึ้น

ในด้านที่พระสถานะอันสูงเป็นอุปสรรคต่อการทำงานกับคนหมู่มากคือพระสถานะได้กลายเป็นเครื่องกั้นไม่ไห้พระองค์มีโอกาสเข้าถึงและศึกษาสภาพปัญหาจากความเป็นจริง เพราะระเบียบพิธีการ การรับเสด็จ การจัดเตรียมพื้นที่ ‘อย่างไม่มีที่ติ เป็นระเบียบเรียบร้อย’ ทำให้ไม่ทรงได้ข้อมูลตรงไปตรงมาอย่างที่ทรงต้องการ เช่นข้อมูลการสำรวจสภาพของการสุขาภิบาล หรือคนธรรมดาทั้งหลายที่ทรงติดต่อด้วยเพื่อขอฟังความคิดหรือผลการศึกษา เช่นเจ้าหน้าที่ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็รู้สึกยำเกรงในพระบารมี ไม่พูดคุยเหมือนปกติ (เอลลิส 2479, 5)

แต่ในอีกแง่หนึ่ง การมีสถานะอันสูงในสังคมสมัยราชาธิปไตยก็ทำให้มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างสำหรับการทำงานราชการของพระองค์อย่างมาก ที่จะหมุนไปรับบทบาทต่างๆ กัน เพื่อทำงานร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ในการพัฒนางานหรือกิจการด้านนั้นขึ้นมา เช่น การจัดอุดมศึกษา สาธารณสุข และการแพทย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่กิจการในเรื่องนั้นๆ อยู่ในขั้นริเริ่มที่ต้องอาศัยการระดมพลังและทรัพยากรสนับสนุนหลายทางหลายรูปแบบ เพื่อให้มีระบบและเดินหน้าต่อไปได้  บางตำแหน่ง เช่น ในราชการกระทรวงธรรมการ ทรงรับตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป “ตำแหน่งนี้ได้ตั้งไว้โดยตั้งใจไม่ให้มีกำหนดเวลา …แต่เป็นตำแหน่งชั่วคราวและเฉพาะพระองค์ท่านเท่านั้น …โดยที่ว่าเมื่อทรงพ้นตำแหน่งนี้แล้วก็จะไม่ตั้งผู้แทนต่อไป ความประสงค์ข้อใหญ่ก็เพื่อที่จะให้พระองค์ท่านพ้นจากงานประจำ และมีหน้าที่ที่จะทรงแนะนำได้อย่างกว้างๆ” (เอลลิส 2479, 27)

สมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงตระหนักในข้อจำกัดและโอกาสเหล่านี้ดี และเมื่อสภาวะทางสังคมสมัยราชาธิปไตยทำให้ไม่ทรงอาจเลี่ยงข้อจำกัดเหล่านี้ได้ ก็ทรงปรับบทบาทของพระองค์มาทำงานสนับสนุนประโยชน์ส่วนรวมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขในอีกทางหนึ่งแทนที่จะรับหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานด้วยพระองค์เองโดยตรง ซึ่งทำให้เราเห็นแนวทางการทรงงานว่าทรงใช้สถานะอันสูงของพระองค์มาเป็นประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างไร ที่จะให้แนวทางอย่างใหม่แก่การทำงานเพื่อประชาชนของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา

สี่ การสร้างระบบราชการสมัยใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ส่งผลประการหนึ่งคือการพัฒนาวิชาชีพภายในระบบราชการขึ้นมา เมื่อการแยกส่วนราชการออกเป็นกระทรวงทบวงกรม และแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบแบ่งงานกันทำตามภารกิจในแต่ละด้าน สิ่งที่เกิดตามมาคือการที่บุคลากรในสายงานแต่ละด้านต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญตามวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะด้านเฉพาะทางยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแต่งานด้านมหาดไทย การทหาร การต่างประเทศ และการยุติธรรม ที่เป็นเสาหลักทั้ง 4 ของระบอบราชาธิปไตยสยามเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมา เมื่อภารกิจของรัฐขยายไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสาธารณสุข การแพทย์ การจัดการศึกษา การเกษตร การอุตสาหกรรม ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการก่อตัวของระบบงานและบุคลากรที่เข้ามาทำงานเป็นกลุ่มวิชาชีพเฉพาะทางในระบบราชการ ซึ่งต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเพราะความรู้ เทคนิควิทยาการ และเทคโนโลยีไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่เนื่องจากฐานภาษีและงบประมาณของรัฐไทยนับแต่สมัยราชาธิปไตยมาแล้วตกอยู่ในข้อจำกัดที่ทำให้ภารกิจของรัฐที่ขยายออกไปหลายด้านยังไม่อาจมีทรัพยากรอุดหนุนการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ การแพทย์และการสาธารณสุขก็ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวนี้ แนวทางของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกในการพัฒนาสาธารณสุขและการแพทย์จึงให้ตัวแบบที่ดีว่า การทำงานกับกลุ่มวิชาชีพสำคัญกลุ่มหนึ่งในระบบราชการ ทรงริเริ่มเป็นแบบอย่างไว้ ที่สามารถจะนำมาขยายผลในเวลาต่อมาได้อย่างไร

บันทึกความทรงจำของนายแพทย์เอลลิสสะท้อนให้เราเห็นว่า แนวทางนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 2 ด้านคือส่วนที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิชาชีพด้านนั้นให้แก่ส่วนราชการ กับส่วนที่สำคัญคือการตั้งคุณค่าเป้าหมายการทำงานเพื่อส่วนรวมสำหรับวิชาชีพในด้านนั้น และแนวทางของสมเด็จฯ พระราชบิดาในการทรงงานด้านการพัฒนาสาธารณสุขและการแพทย์ในองค์ประกอบทั้ง 2 ด้านนี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การช่วยพัฒนาสมรรถนะของส่วนที่จำเป็นขึ้นมาพร้อมกับจัดและปรับแกนการทำงานของส่วนนี้ให้ตรงกับการตอบสนองส่วนที่สำคัญ และสร้างคุณค่าความหมายในการทำงานส่วนที่สำคัญเพื่อให้เป็นเข็มมุ่งและเกียรติภูมิแก่การทำงานของส่วนที่จำเป็น

ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ทรงเข้ามาช่วยพัฒนาวิชาชีพด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เอกสารของนายแพทย์เอลลิสแสดงไว้ชัดเจนมากว่าทรงดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างคนที่มองเห็นในภาพรวมว่าการจะพัฒนาวิชาชีพด้านนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทำงานตอบสนองต่อความสำคัญคือสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยนั้น ต้องมีองค์ประกอบในส่วนต่างๆ อะไรบ้าง เริ่มต้นที่ การพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุข พัฒนาอาจารย์และหลักสูตร จัดหาวัสดุอุปกรณ์ สร้างอาคารสถานที่ พัฒนาระบบบริหารจัดการอย่างเหมาะสม พัฒนาการวิจัยเพื่อศึกษาและพัฒนาความรู้จากสภาพแวดล้อมของไทยเอง เชื่อมโยงเครือข่ายสนับสนุนจากต่างประเทศ และวางระบบอุดหนุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ในด้านที่เป็นส่วนสำคัญสำหรับการทำงานของวิชาชีพด้านนั้นคือการรักษาเป้าหมายการทำงานของวิชาชีพให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่าความหมายที่วิชาชีพด้านนั้นจะมีต่อสังคม การสร้างมาตรฐานและจริยธรรมของวิชาชีพ การให้คุณค่าในเชิงเกียรติภูมิแก่ผู้ประสบความสำเร็จในการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม

ในกิจการด้านการแพทย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนกพระราชทานเข็มมุ่งให้แก่วิชาชีพแพทย์ในลายพระหัตถ์ถึงสมาชิกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2471 ความว่า

คุณลักษณะสำคัญสำหรับการเป็นแพทย์นั้น คือความเชื่อถือไว้ใจ

1. ท่านต้องมีความเชื่อในความสามารถของตนเอง คือมีความมั่นใจ

2. ท่านต้องมีความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือความเป็นปึกแผ่น

3. ท่านต้องได้รับความเชื่อถือจากคนไข้ของท่าน คือความไว้ใจของคณชน

คุณสมบัติสามประการนี้เป็นอาวุธ เกราะ และเครื่องประดับอันงามของแพทย์

และในลายพระหัตถ์ถึงนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์” ได้กลายมาเป็นพระโอวาทที่ให้หลักแก่คนในวิชาชีพนี้ในประเทศไทยใช้ปรับการทำงานในส่วนที่จำเป็นสำหรับการประกอบวิชาชีพให้คำนึงถึงและหาทางรักษาไว้ซึ่งคุณค่าความสำคัญในการรับใช้ประโยชน์สุขของส่วนรวม

แนวทางการทรงงานของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกจึงให้แนวทางแก่การจัดวางบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการทำงานกับอำนาจการปกครองในส่วนเพื่อประชาชนว่า คือการเป็นผู้สนับสนุนให้การทำงานในส่วนที่จำเป็นสำหรับภารกิจของรัฐที่ขยายตัวออกไปเกิดขึ้นมาได้อย่างไม่ติดขัด หรือช่วยเติมในส่วนที่ขาดแคลนหรือยังมีช่องว่างที่ถูกมองข้ามไป และที่สำคัญกว่านั้น คือการดำรงเป็นสัญลักษณ์เพื่อยังให้การทำงานของส่วนที่จำเป็นมีคุณค่าความหมายขึ้นมาจากการทำงานตอบสนองส่วนที่สำคัญอันได้แก่ประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ประชาชน และเพื่อนมนุษย์

ผู้ที่มองออกแต่แรกถึงนัยสำคัญทางการเมืองอันจะเกิดจากบทบาทใหม่ของพระมหากษัตริย์ตามแนวทางข้างต้นของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกก็คือนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม


* [บทความนี้ปรับมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับแนวคิดและเงื่อนไขทางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รายงานวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการวิจัยต่อเนื่องที่ทำเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า คือ โครงการ “จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: ศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย”  ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร เป็นหัวหน้าโครงการ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นที่ปรึกษา และเอกลักษณ์ ไชยภูมี เป็นผู้ช่วยวิจัย บทความและรายงานวิจัยส่วนนี้ได้รับความเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งจากบุคคลทั้ง 3 และได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า แต่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหาและการตีความเป็นของผู้วิจัย-ผู้เขียนเอง อนึ่ง ผู้เขียนเคยชินกับธรรมเนียมเก่าที่จะเลี่ยงการเอ่ยถึงพระนามของพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น จึงขอเลือกกล่าวถึง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” แทนที่จะเป็น “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ในการเขียนบทความและรายงานวิจัย]

เชิงอรรถท้ายบท

[1] งานพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ อีกเรื่องหนึ่งให้ข้อมูลที่ช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานข้างต้นได้พอสมควร นั่นคือ พระนิพนธ์สังเขปพระราชประวัติ ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2507, 1-21)  ที่ส่วนหนึ่งนำเสนอพระราชประวัติรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา และทรงได้รับการเตรียมพระองค์ในฐานะรัชทายาทในตอนปลายรัชกาลที่ 6 ดังที่ทรงเล่าว่าเมื่อ “สมเด็จพระเชฏฐภาดาร่วมพระชนนีได้เสด็จทิวงคตตามๆ กันไปหมด จึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยฯ ซึ่งไม่มีใครได้เคยนึกฝันว่าจะต้องเป็นรัชทายาทก็กลายเป็นรัชทายาทขึ้น สมเด็จพระบรมเชฏฐาธิราชทรงกังวลพระราชหฤทัยด้วยเรื่องนี้อยู่มาก จึ่งโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยฯ ทรงเริ่มศึกษาขนบธรรมเนียมและหน้าที่ราชการของพระเจ้าแผ่นดิน โดยให้ราชเลขาธิการนำการงานอันเป็นพระราชกรณียกิจไปถวายทอดพระเนตรเป็นนิจนิรันดร์”

ราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงกล่าวถึงนี้ได้แก่เจ้าพระยามหิธร และเหตุที่ทำให้กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงทราบเรื่องเป็นอย่างดีก็น่าจะเป็นเพราะว่าในเวลานั้นทรงรับราชการอยู่ที่กรมราชเลขาธิการภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าพระยามหิธรด้วย ในบรรดาเอกสารราชการที่สำนักราชเลขาธิการส่งไปถวายสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาให้ทรงศึกษานั้น มีเอกสารหนึ่งที่มีผลเป็นพิเศษต่อพระราชทัศนะทางการเมืองและความเข้าพระทัยของพระองค์เกี่ยวกับวิธีที่เหมาะสมสำหรับจัดการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน และเมื่อเสวยราชย์แล้ว ทรงให้จัดพิมพ์เอกสารดังกล่าวนั้นออกเผยแพร่พร้อมกับพระราชทานคำนำแก่หนังสือด้วย เอกสารนั้นคือ “พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน” (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2507, 5-6)

นอกจากนั้น ในพระราชประวัติรัชกาลที่ 7 ข้างต้น กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงคัดพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับแปลจากต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษาอังกฤษมาลงประกอบ ทำให้เราได้ข้อยืนยันจากผู้ที่ทรงผ่านประสบการณ์มาโดยตรงว่าการศึกษาอบรมดังกล่าวเป็นพระราชประเพณีมาแต่เดิมของราชสำนักกรุงสยาม

เมื่อข้าพเจ้า [พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว] กลับมาจากทวีปยุโรปครั้งหลังนี้ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชดำริว่าข้าพเจ้ามีอายุมากสมควรจะเล่าเรียนประเพณีการปกครองบ้านเมืองและราชการแผ่นดิน  จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหิธรนำหนังสือราชการแผ่นดินเรื่องสำคัญๆ อันเป็นหลักราชการมาให้ข้าพเจ้าอ่านและศึกษา ทั้งนี้เป็นพระราชประเพณีมาแต่เดิม (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2507, 5-6 เน้นข้อความโดยผู้วิจัย)

[2] “นันทได้บอกหลวงธำรงฯ ว่า ไม่อยากเป็นคิงเพราะ 1. เป็นเด็ก 2. ไม่รู้จักอะไร 3. ขี้เกียจ 4. พระเก้าอี้ (นันทเรียกว่าโทรน) สูงนักแล้วนันทก็เป็นคนหลุกหลิกเดี๋ยวจะตกลงไป พระยาพหลก็จะดุเอา 5. เวลาไปไหนต้องกางร่ม ทำให้ไม่ได้แดด 6. จะเดินไปไหนก็มีคนเกะกะทั้งข้างหน้าข้างหลัง วิ่งไม่ได้” (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2559, 140)

[3] และที่แฝงอยู่ในนี้อีกชั้นหนึ่งก็คือการให้ความสำคัญของราชสำนักในการใช้สถานะของผู้เป็นมารดาเป็นส่วนสำคัญ (รองจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระเจ้าแผ่นดินที่จะสถาปนาหรือเลื่อนพระอิสริยยศ) ในการจัดลำดับศักดิ์เจ้านาย เช่น พระโอรสของกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เพราะมีพระมารดาเป็นพระองค์เจ้า ในขณะที่พระธิดาและพระโอรส 2 พระองค์แรกของกรมหลวงสงขลานครินทร์เป็นหม่อมเจ้า เพราะมีพระมารดาเป็นสามัญชน ต่อมาจึงได้เลื่อนเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

[4] สมเด็จพระราชชนนีทรงรู้จักคุ้นเคยกันดีกับกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ และทรงรู้จักพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาตั้งแต่เมื่อครั้งออกเดินทางไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกาพร้อมกันในปีพ.ศ. 2460/1917 แต่ไม่มีข้อมูลบ่งว่าทรงรู้จักกับปรีดี พนมยงค์โดยส่วนพระองค์มาก่อน

[5] สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (2549, 229) ทรงบันทึกว่า พระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงหาเวลา “ไปฟังการบรรยายที่มหาวิทยาลัยโลซานน์เรื่องวรรณคดี ปรัชญา จิตวิทยา ศาสนาเปรียบเทียบ สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์การเมืองตามลำดับ” นอกจากนี้ยังทรงเรียนภาษาสันสกฤต ทั้งหมดนี้เป็นเรียนแบบเข้าฟังการบรรยายในรายวิชาแบบไม่สอบเก็บหน่วยกิตเพื่อรับปริญญา

[6] ในขณะที่ทางฝ่ายพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่คือสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ผู้เคยทรงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 7 มาแล้ว ทรงมีความเห็นที่ต่างออกไปเกี่ยวกับความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระมติที่แตกต่างของสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ นี้ก็น่าสังเกตเป็นพิเศษ เพราะเป็นการตีความแนวคิดประเพณีเดิมให้อนุวัตตามความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ในปีถัดมา เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหนังสือไปทูลปรึกษาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เกี่ยวกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่าควรจัดพิธีนี้หรือไม่เมื่อเสด็จฯ นิวัตพระนคร สมเด็จกรมพระนริศฯ ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า

… สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระชนม์น้อย เข้าใจว่ากำลังทรงเล่าเรียนอยู่บัดนี้หนักไปทางหนังสือภาษา ฝรั่ง หากจะจัดให้ทรงท่องภาษาบาลีและภาษาไทยมากมายสำหรับใช้จำเพาะแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เกรงว่าจะเป็นความลำบากแล้วได้ผลไม่สมควรกัน พระองค์ก็เป็นกษัตริย์แห่งสยามประเทศแล้วโดยอเนกชนนิกรสมมติ แม้จะประกอบหรือไม่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดูเหมือนจะไม่เกิดผลต่างกันไป  เพราะฉนั้นถ้าหากว่าจะเปนการลำบากยากใหญ่ จะยังไม่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คิดดูก็ไม่เห็นว่าจะมีทางเสียหายประการใดเลย (อ้างถึงใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2559, 222)

[7] หลังจากเสด็จกลับมาเกือบจะครบเดือนแรก Sir Josiah Crosby ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ส่งรายงานกลับไปที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษรายงานว่า “พระองค์ทรงเป็นที่รักของชนทุกชั้น ในขณะนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงไม่มีปรปักษ์แม้แต่คนเดียวในประเทศสยาม” (สถาบันไทยคดีศึกษา, FO. 371/22216 Sir J. Crosby to Viscount Halifax, December 7, 1939)

[8] นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส เป็นพยาธิแพทย์ชาวอเมริกันผู้บุกเบิกความรู้ด้านพยาธิวิทยาในประเทศไทยเป็นคนแรก  นายแพทย์เอลลิสเข้ามาช่วยพัฒนาการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช และสอนด้านพยาธิวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลตามโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ในช่วงปี พ.ศ. 2462 – 2464 และ 2466 – 2481 และยังดำรงตำแหน่งอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในระยะสั้นๆ ระหว่างปี 2478-2479 ในช่วงที่นายแพทย์เอลลิสเป็นอธิการบดีนี้เองที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำบันทึกความทรงจำดังกล่าวมาแปลเป็นฉบับภาษาไทยเพื่อพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานทอดพระกฐินพระราชทาน ณ วัดไพชยนต์พลเสพย์ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2479 มีชื่อหนังสือว่า “พระกรณียกิจปฏิบัติของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (C.P.H., M.D.) ที่ทรงอุปการะการแพทย์ในกรุงสยาม” ส่วนฉบับภาษาอังกฤษ ได้รับการตีพิมพ์ใน Bulletin of the Institute of the History of Medicine ในปี 1936  ผู้วิจัยใช้ฉบับแปลภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลักในการอ้างอิงในรายงานเพราะเห็นว่าทุกคนเข้าถึงได้สะดวกที่สุดจากฐานข้อมูลหนังสือหายากฉบับดิจิตัลของห้องสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโดยเหตุที่การแปลเกิดขึ้นหลังรัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์แล้ว ‘Prince Mahidol of Songkla’ ในต้นฉบับจึงทรงกลายเป็น สมเด็จพระราชบิดา เรียบร้อยแล้วในฉบับแปล

ผู้วิจัยพบการอ้างถึงบันทึกดังกล่าวของนายแพทย์เอลลิสรวมทั้งมิสซิสเอลลิสผู้เป็นภรรยาในพระนิพนธ์ แม่เล่าให้ฟัง อยู่หลายตอน ซึ่งสะท้อนว่านายแพทย์เอลลิสกับสมเด็จฯ พระบรมราชชนกเคยร่วมงานกันมาอย่างใกล้ชิดและมีความสนิทสนมกันระหว่างครอบครัวทั้ง 2 เช่น มิสซิสเอลลิสเป็นหนึ่งในสมาชิก ‘คณะเย็บผ้า’ ที่สมเด็จพระราชชนนีทรงตั้งขึ้นตามอย่างสตรีอเมริกันที่ทรงรู้จักที่บอสตัน (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2549, 103, 107, 156, 176)

เมื่อผู้วิจัยสืบค้นต่อจึงพบว่าบันทึกความทรงจำของนายแพทย์เอ. จี. เอลลิส ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการทรงงานของสมเด็จพระบรมราชชนกในด้านการแพทย์และการพัฒนาการศึกษาด้านแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขของไทยอย่างพอเหมาะแก่การนำมาศึกษาตีความในเรื่องนี้ได้  เพราะเป็นเอกสารที่เขียนโดยผู้เป็น ‘เพื่อน’ และเป็น ‘ผู้เคยร่วมงาน’ ของเจ้าฟ้ามหิดลฯ มาอย่างใกล้ชิด  อีกทั้งนายแพทย์เอลลิสเขียนบันทึกนี้ขึ้นในปี 2475 หลังจากเจ้าฟ้ามหิดลฯ สิ้นพระชนม์แล้วประมาณ 3 ปี และก่อนหน้าครอบครัวในราชสกุลมหิดลจะย้ายไปประทับที่โลซานน์เล็กน้อย จึงกล่าวได้ว่า ในขณะที่นายแพทย์เอลลิสเขียนบันทึกนี้ขึ้น ยังไม่มีวี่แววว่าเจ้าฟ้ามหิดลฯ จะได้เปลี่ยนพระสถานะมาเป็น ‘สมเด็จพระราชบิดา’ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ นายแพทย์เอลลิสจึงมิได้เขียนบันทึกนี้เพื่อจะยกย่องเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้ามหิดลฯ ในฐานะที่ทรงเป็น ‘สมเด็จพระราชบิดา’ ของพระมหากษัตริย์ แต่ตั้งใจเขียนบันทึกขึ้นมาด้วยเหตุผลอย่างอื่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่มีความหมายอย่างมากต่อสมาชิกราชสกุลมหิดลที่สูญเสียผู้เป็นหลักของครอบครัวไปก่อนเวลาอันควร

ในพระนิพนธ์ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (2561) ทรงบันทึกเกี่ยวกับอาการประชวรของสมเด็จพระราชบิดาในช่วง 4 เดือนก่อนจะสิ้นพระชนม์ว่า

บางครั้งพระอาการก็ดีขึ้น ทำให้มีหวังบ้าง บางครั้งก็ทรุดลงอย่างน่าวิตก แม่ยอมให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าบ้าง ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าไปคุยเรื่องอะไรถวายบางอย่าง แต่ไม่ให้น้องสองคนไปเฝ้า ซึ่งในที่สุดก็เป็นสิ่งดี เพราะการสิ้นพระชนม์ของทูลหม่อมฯ ไม่ได้กระทบกระเทือนชีวิตประจำวันของทั้งสององค์…ทูลหม่อมฯ สิ้นพระชนม์วันที่ 24 กันยายน 2472 … น้องสององค์ไม่ทราบเรื่องเลยเพราะแม่คงคิดว่าเล็กเกินไปที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ เราได้ไว้ทุกข์ทูลหม่อมฯ หนึ่งปีเต็ม

เหตุการณ์ตามที่ทรงเล่าข้างต้นทำให้ผู้วิจัยเข้าใจว่า ตอนสมเด็จฯ พระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์ มีเพียงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เท่านั้นที่ทรงโตพอจะเข้าพระทัยถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่สมเด็จพระอนุชาทั้งสองพระองค์น่าจะยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะมีภาพความทรงจำของพระองค์เองกับ ‘ทูลหม่อม’ ได้  จากความเข้าใจดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยอ่านคำนำหนังสือของนายแพทย์เอลลิสด้วยความสนใจ นายแพทย์เอลลิสบอกความมุ่งหมายที่เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นว่าไม่เฉพาะแต่จะเป็นการนำเสนอคุณูปการของเจ้าฟ้ามหิดลต่อการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของกรุงสยามเท่านั้น แต่ยังต้องการให้ผู้อ่านได้มีโอกาสรู้จักเจ้าฟ้ามหิดลในด้านที่เป็นจริยวัตรและอัธยาศัยส่วนพระองค์อีกด้วย บันทึกนี้ส่วนหนึ่งจึงเขียนด้วยมุมมองของคนที่เคยเป็นผู้ร่วมงานกับเจ้าฟ้ามหิดล และอีกส่วนหนึ่งเขียนในฐานะคนที่เป็นเพื่อนของพระองค์

เมื่อผู้วิจัยอ่านคำนำของนายแพทย์เอลลิสดังกล่าวแล้ว จึงเห็นว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของนายแพทย์เอลลิสที่เขียนบันทึกนี้ขึ้น ก็เพื่อพระธิดาและพระโอรสทั้งสองเมื่อทรงเจริญวัยขึ้นแล้วจะได้มีโอกาสรู้จักสมเด็จฯ พระบรมราชชนกทั้งด้านที่เป็นชีวิตการงาน และตัวตนของพระองค์ทั้งส่วนที่เป็นความคิดจิตใจและการแสดงออกมากขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง นายแพทย์เอลลิสเขียนบันทึกนี้ก็เพื่อเก็บความทรงจำถึงสมเด็จฯ พระบรมราชชนกสำหรับสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ใช้เป็นประโยชน์ในกาลข้างหน้าเมื่อถึงเวลาที่ต้องการอบรมพระโอรสธิดาให้ดำเนินตามรอยของ ‘ทูลหม่อม’ ผู้มีเวลาในชีวิตอยู่กับครอบครัวน้อยนัก

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save