fbpx
The Year of Yold: นี่คือทศวรรษแรกแห่งการเริ่มต้นเจเนอเรชันใหม่

The Year of Yold: นี่คือทศวรรษแรกแห่งการเริ่มต้นเจเนอเรชันใหม่

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

นิยามวัยกลางคนของคุณคือคนอายุประมาณเท่าไหร่

หากถามผม วัยกลางคนของคนไทย น่าจะหมายถึงคนที่อายุล่วงเลยอายุ 30 ปีมาแล้ว เมื่อนับว่าคนเราอายุยืนเกิน 60 ปีเสียเป็นส่วนมาก แต่หากจะพูดกันโดยมีแหล่งอ้างอิงเป็นเรื่องเป็นราวก็ต้องไปดูว่ามีใครกำหนด ‘วัย’ ของคนเราไว้ว่าอย่างไรบ้าง

ถ้าไปดูตัวเลขของสหประชาชาติ มีการกำหนดเรื่องของวัยไว้แตกต่างกันตามยุคสมัย ในช่วงศตวรรษ 1960 ตัวเลขของคนวัยกลางคนทั่วโลกมีอายุอยู่ที่ 28 ปี ทว่าพอผ่านมาอีกครึ่งศตวรรษ มาถึงปี 2020 นิยามของคำว่า ‘กลางคน’ ของสหประชาชาติเปลี่ยนมาอยู่ที่อายุ 30-34 ปี ทศวรรษนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่ตัวเลขของวัยกลางคนขยับขึ้นไปอยู่บนเลข 3 อย่างเป็นทางการ

ถามว่าทำไมสหประชาชาติถึงตัดสินใจเปลี่ยนเกณฑ์ของคนวัยกลางคนเขยิบขึ้นมาแตะที่เลข 30 ก็เพราะว่าในช่วง 30 ปีให้หลังมานี้ ประชากรช่วงวัยเด็กของโลกเรามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคนช่วงวัยอื่น แน่นอนว่าปัจจัยก็มาจากคนมีลูกกันน้อย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี มีอัตราการเติบโตน้อยกว่ากลุ่มอื่น ถึงแม้ว่าโลกยังมีจีนและอินเดียทำคะแนนปั๊มเด็กๆ ให้ในช่วง 20 ปีมานี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี โดยเฉพาะอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นที่การลดลงของวัยเด็กรวดเร็วมาก เอาเฉพาะที่อเมริกาและญี่ปุ่น ตอนนี้หากไปดูดัชนีของการวัดค่า ‘วัยกลางคน’ ของพวกเขามีอายุประมาณเท่าไหร่ พวกเขาจะตอบว่า 38 ปี

ปีนี้ก็เลยมีศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกหนึ่งคำศัพท์นั่นคือ ‘โยลด์’ (Yold) เป็นคำย่อมาจาก ‘Young Old’ คำนี้ไม่ได้ใช้เรียกแทนเบบี้บูมเมอร์หรือคนที่มีอายุในช่วง 65-75 ในปัจจุบันนะครับ แต่จำเพาะเจาะจงลงไปโดยดูจากวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้

จอห์น พาร์กเกอร์ นักเขียนของ The Economist เป็นผู้ให้คำนิยามศัพท์ใหม่นี้ ซึ่งก็ใหม่ขนาดที่ว่าคุณไปหาในกูเกิลก็อาจจะไม่เจอ แต่อีกไม่นานน่าจะแพร่หลาย เนื่องด้วยว่าคนกลุ่มนี้น่าจะเพิ่มบทบาทความสำคัญของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม ทำไมถึงมั่นใจอย่างนั้น เราลองมาดูกัน

พาร์กเกอร์ให้ความหมายของโยลด์ไว้ว่า “กลุ่มโยลด์เป็นคนที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 65-75 ปี เป็นกลุ่มคนที่แข็งแรงกว่า รวยกว่า สุขภาพดีกว่าคนในรุ่นเดียวกัน ยังทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว และอาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย”

องค์การอนามัยโลกก็จับแยกกลุ่มนี้ออกมาเช่นกัน โดยประเมินจากอายุและรายได้ โดยนิยามว่าเป็นคนกลุ่มที่มีอายุเกิน 62 ปีมีรายได้ต่อปีเกิน 210,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 6.7 ล้านบาท) คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มชนชั้นกลางค่อนมาทางสูงที่สร้างฐานะจากการทำงานและลงทุน ในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มโยลด์นี้มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด และถือเป็นคนกลุ่มที่รวยขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น

ตามข้อมูลของ The Economist ปัจจุบันสัดส่วนของคนกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 134 ล้านคนทั่วโลกหรือประมาณ 11% ของประชากรโลก เพิ่มจากปี 2000 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 99 ล้านคน (ประมาณ 8% ของประชากรโลก) ถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเติบโตสูงสุดหากเทียบกับกลุ่มอายุอื่นในฐานประชากรของโลก

ลักษณะเด่นของคนกลุ่มโยลด์อีกอย่างหนึ่งคือ โยลด์ยังทำงานอยู่และทำทุกอย่างที่อาจดูขัดจากธรรมเนียมของ ‘คนแก่’ คนกลุ่มนี้ไม่เลี้ยงหลานอยู่บ้าน ไม่นั่งคอยรถพุ่มพวงผ่านหน้าบ้านแล้วกวักซื้อของหรือนั่งเล่นไลน์ตอนเช้าๆ ส่งสติ๊กเกอร์ คนกลุ่มนี้ยังกระฉับกระเฉง ทำงานเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นเจ้าของกิจการ ชอบเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่าย หากคุณทำงานอยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยว หรือสายการบิน จะรู้ว่าคนกลุ่มโยลด์เป็นลูกค้าที่ต้องจับตามองไม่น้อยไปกว่าคนหนุ่มสาว

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคนกลุ่มอายุ 60 ปี ถือเป็นลูกค้าคนสำคัญของหลายๆ กลุ่มธุรกิจ เช่นกลุ่มธุรกิจสายการบินและการท่องเที่ยว คนกลุ่มนี้ยินดีจ่าย

ในกลุ่มของบริษัทประกันชีวิต ลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็นลูกค้าที่มีเงินเก็บอยู่ในบัญชีของพวกเขามากที่สุด แน่นอนการทำให้คนกลุ่มนี้สามารถนำเงินออกไปใช้เพื่อสันทนาการในวัยที่พอมีเวลาว่างมากขึ้น ควบคู่กับการเก็บเงินของคนกลุ่มนี้ไว้สำหรับการลงทุนถือเป็นความท้าทายและเป็นกลุ่มที่บริษัทประกันให้ความสำคัญมากที่สุด ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจการศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีคอร์สการศึกษาที่เรียกว่า ‘For Mature and Retired Student’ ซึ่งก็มีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ กำลังทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมารองรับโยลด์ที่ยัง young at heart เหล่านี้ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเชื่อของเราส่วนมากมักคิดว่าเมื่อเรามีพนักงานที่อายุมากอยู่ในบริษัท อาจทำให้ความโปรดักทีฟของบริษัทนั้นลดลง แต่ลองมาดูการศึกษาที่ทำกันในเยอรมันนี้เสียก่อน

บริษัทผลิตรถบรรทุกและบริษัทประกันภัยในเยอรมันทำการวิจัยเรื่องการทำงานของพนักงานเปรียบเทียบตามอายุก็พบว่า พนักงานที่อายุมากสร้างผลงานได้น่าสนใจ คือทำงานนั้นดีกว่าพนักงานวัยหนุ่มสาวเล็กน้อย ส่วนกลุ่มของบริษัทประกันภัยยังทำวิจัยถึงการใช้ชีวิตกับพนักงานอายุมาก พบว่าคนอายุมากที่ยังทำงานอยู่ มีแนวโน้มจะป่วยน้อยกว่าคนแก่ที่หยุดทำงาน อาจเรียกได้ว่าการทำงานส่งผลในแง่บวกไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง มากกว่าคนอายุมากที่หยุดทำงาน

แต่เรื่องท้าทายสำหรับโยลด์ก็มีอยู่ไม่น้อยเพราะถึงแม้พวกเขาอาจยังแข็งแรงและทำอะไรได้มากมาย แต่สังคมก็ยังมีทัศนคติที่ไม่ได้เปิดกว้างเท่าไหร่ มองว่าแม้โยลด์จะมีเงิน แข็งแรง แต่ก็ล้าหลังเรื่องเทคโนโลยีและช้าเกินไปที่จะทำงานในยุคนี้ องค์กรส่วนมากจะมองว่าคนอายุมากไม่สมควรทำงานที่ท้าทายหรือมีคุณค่ามากนัก นี่คือชีวิตบั้นปลายของการทำงาน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการเป็นพี่เลี้ยง การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและความคิดเรื่องการทำงานต่อคนกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่เชื่อได้เลยว่าหากอัตราการเกิดยังต่ำและการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ การยืดอายุการทำงานของคนใกล้เกษียณให้ผลดีหลายอย่าง อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการมีแรงงานทำงานในระบบ ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะแบบนี้ในหลายๆ ประเทศ หากมองถึงศักยภาพโดยรวมของของกลุ่มโยลด์ ที่มีทั้งความสามารถ ความมั่นคงทางการเงินและความใฝ่รู้ไม่ยอมแก่

ยังโอลด์ยังโอเคไปได้อีกนานครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save