fbpx
โลกที่ไม่เหมือนเดิมหลัง COVID-19

โลกที่ไม่เหมือนเดิมหลัง COVID-19

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2020 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำนวน 76,730 ราย (75,466 รายในประเทศจีน) และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,247 ราย (ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน ยกเว้น 2 รายในฮ่องกง และในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ อย่างละ 1 ราย)

ถึงแม้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ COVID-19 และการแพร่ระบาดจะถูกค้นพบเพิ่มขึ้นในทุกๆ ชั่วโมงที่ผ่านไป รวมทั้งการเร่งผลิตยารักษาที่เริ่มมีความหวังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกหลายปรากฏการณ์ โดยเฉพาะการพบผู้ป่วยเพิ่มเติมในประเทศสิงคโปร์ ที่มีทำเลที่ตั้งในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเริ่มทำให้ความเชื่อมั่นว่าโรคนี้จะระบาดในระยะสั้น และคลี่คลายลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน เริ่มถูกสั่นคลอนมากขึ้น

จากข้อมูลปัจจุบัน ณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เราพอคาดการณ์อะไรได้แล้วบ้าง

 

  1. นี่คือการแพร่ระบาดของโรคที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพวกเรา

ผลกระทบทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจจะรุนแรงมากกว่าการระบาดของเชื้อไวรัสด้วยซ้ำ โดยถ้าย้อนกลับไปในปี 2002-2003 ที่มีการแพร่ระบาดของโรค SARS ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจเอาไว้ว่า ทำให้มูลค่า GDP ของทั้งโลกลดลงราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นั่นคือตัวเลขในปี 2002-2003 ซึ่งจีนยังไม่ใช่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และโลกก็ยังไม่เชื่อมโยงธุรกิจธุรกรรมกันมากมายมหาศาลเท่าทุกวันนี้

ล่าสุด ธนาคารโลกได้ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลการระบาด ณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ว่า GDP ของทั้งโลกน่าจะถดถอยลงราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือถ้าเทียบให้เห็นภาพ ผลกระทบของ COVID-19 รุนแรงกว่า SARS ในราว 70 เท่า [1] ขณะที่ผู้อำนวยการ the Boeing Center แห่ง Washington University คาดการณ์ว่า ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกน่าจะยาวนานกว่า 2 ปี [2] เนื่องจากการระบาดใน 24 มณฑลจาก 31 มณฑลและเขตปกครองของจีนส่งผลกระทบต่อกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกของจีน [3]

 

  1. เศรษฐกิจไทยได้ผูกพันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอันเป็นหนึ่งเดียวกันของจีน มากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

หากเปรียบเทียบเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ตอนโรค SARS ระบาดในปี 2002-2003 ตอนนั้นไทยนำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นมูลค่า 3.83 พันล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล โดยไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 45.62 พันล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 12 เท่า ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงเวลาเดียวกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.1 เท่า คือจาก 5.69 เป็น 20.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่า เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจจีนพึ่งพาอาศัยและสอดประสานสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง ผ่านทางปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Global Value Chains (GVCs) หรือ ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก

 

  1. ผลกระทบของวิกฤตในห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกครั้งนี้ยิ่งใหญ่และรุนแรง รวมทั้งส่งผลกระทบในแทบจะทุกภาคการผลิตของไทย

ตัวอย่างที่จับต้องได้ อาทิ ทุกวันคนไทยรับประทานเนื้อวัวและเนื้อหมู ผลพลอยได้ (by-product) อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการชำแหละเนื้อวัวและเนื้อหมูคือ หนังวัวและหนังหมูที่เราฟอกแล้วส่งออกไปขาย โดยตลาดส่งออกที่เราส่งไปมากที่สุด คือ ประเทศจีน เพื่อนำไปผลิตเป็นกระเป๋าหนังและรองเท้าหนัง แต่ในขณะนี้ แม้โรงงานนอกมณฑลหูเป่ยที่มีการแพร่ระบาดของโรคหนักที่สุดจะเริ่มเปิดทำการแล้วอีกครั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ ระบบโลจิสติกส์ยังไม่สามารถเชื่อมการขนส่งไปสู่ทุกจุดได้ เช่นเดียวกับที่แรงงานจำนวนมากยังไม่กลับมาทำงาน หรือทำงานอยู่ที่บ้าน นั่นทำให้เราไม่สามารถส่งออกหนังวัวและหนังหมูไปประเทศจีนได้ และขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถฟอกหนังที่กองอยู่เต็มโรงงานฆ่าสัตว์เพื่อเตรียมส่งออกไปในวันที่ทุกอย่างกลับสู่สถานการณ์ปกติได้เช่นกัน เพราะเคมีภัณฑ์ที่เราใช้ในการฟอกหนังเกือบทั้งหมด เรานำเข้าจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความซับซ้อนและยึดโยงกันของห่วงโซ่อุปทาน ที่เมื่อมีขั้นตอนการผลิตหนึ่งในห่วงโซ่หยุดชะงัก หากเราไม่สามารถบริหารจัดการให้ดี การผลิตทั้งสายโซ่ก็จะหยุดชะงักไปด้วย

จากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีผลการคาดการณ์ที่ไปในทิศทางที่สอดคล้องกันคือ 5 ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดของไทยจากการระบาดของ COVID-19 คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตร ยางและพลาสติก และ อุปกรณ์ไฟฟ้า ขณะที่ภาคบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก บันเทิงสันทนาการ โรงแรมและที่พัก และบริการอาหารและเครื่องดื่ม

ในส่วนของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศในราว 2.9 – 3 ล้านล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของ GDP ของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งจ้างงานหลักของคนไทย เพราะภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก่อให้เกิดการจ้างงานราว 7.7 ล้านคน หรือ 20.3% ของการจ้างงานรวมของทั้งประเทศ โดยในปี 2019 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 39.66 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เดินทางมาประเทศไทยคือ นักท่องเที่ยวจีน ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 27.6% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด นั่นหมายความว่าทุกๆ ครั้งที่เราเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 คน 1 คนในนั้นจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะในปี 2019 เราต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 10.98 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนนั้นเอง

 

  1. ไทยคงต้องทบทวนยุทธศาสตร์การวางตำแหน่งทางการค้าและการลงทุนใหม่ภายหลังวิกฤต

ดังที่เราทราบกันดีว่า จีนได้เริ่มพัฒนาเศรษฐกิจของตนเอง โดยเริ่มตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 เปิดประเทศในปี 1992-1993 และยอมรับกฎกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 จนกลายมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ดังปัจจุบัน ขณะที่ไทยเอง ในช่วงเวลาราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (2000-2020) เราได้เริ่มพึ่งพา ยึดโยง และสอดประสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับห่วงโซ่มูลค่าเดียวกันกับจีน ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าใด ไทยและประชาคมอาเซียนก็ยิ่งยึดโยงกับจีนมากขึ้น และผลกระทบทางลบจากการยึดโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (GVCs) ดังกล่าวก็เกิดขึ้น เมื่อฟันเฟืองหรือโซ่ข้อหนึ่งเกิดการหยุกชะงัก

แม้ในช่วงหลังปี 2016 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้มีนโยบาย Reshoring ที่พยายามส่งสัญญาณให้บริษัทข้ามชาติสหรัฐ “Return-Manufacturing-Home” รวมทั้งวางกฎกติกาการค้าและการลงทุนใหม่ระหว่างสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา ภายใต้ข้อตกลงใหม่ ‘US-Mexico-Canada Agreement (USMCA)’ ซึ่งเข้ามาแทนที่เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2018

ทั้งหมดนี้ทำให้ดูเหมือนว่า โลกในอนาคตอันใกล้จะแบ่งแยกออกเป็น 2 ห่วงโซ่มูลค่า ด้านหนึ่งคือห่วงโซ่ที่อยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเชื่อมโยงเอเชียตะวันออกและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน ในขณะที่อีกหนึ่งพยายามที่จะเชื่อมโยงอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้เข้าด้วยกัน

คำถามคือ แล้วไทยเราควรจะวางตำแหน่งแห่งที่และผูกพันการค้าและการลงทุนของไทยเข้าไปในห่วงโซ่ไหน?

แน่นอนว่าในปัจจุบัน เราพึ่งพาห่วงโซ่ของทวีปเอเชียอย่างมาก และเมื่อถามไถ่พูดคุยกับผู้ประกอบการ เราก็มักจะพบเสมอว่า การที่ไทยจะไปเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าทางด้านอเมริกากลางหรืออเมริกาใต้ เพื่อไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรแรงงาน กลับเป็นเรื่องยากถึงระดับที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งจากปัญหาระยะทางที่ไกล ต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูง รวมทั้งสภาพสังคม-วัฒนธรรม และข้อจำกัดด้านภาษา (ภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกส) ซึ่งผู้ประกอบการไทยแทบจะไม่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ นั่นทำให้ไทยเรายังพึ่งพิง พึ่งพา และเป็นห่วงโซ่อุปทานของเอเชียเป็นหลัก แต่คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากจนเกินไปได้อย่างไร

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโอกาสการค้าและการลงทุนในประเทศอินเดีย และภูมิภาคเอเชียใต้มาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้เขียนมีข้อเสนอที่ว่า ในเมื่อเรายังต้องพึ่งพายึดโยงกับห่วงโซ่มูลค่าในทวีปเอเชียต่อไป เราสมควรอย่างยิ่งที่จะมองแหล่งทรัพยากรทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงของอินเดียและเอเชียใต้เป็นเสมือน Balancer หรือเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระจายความเสี่ยง

ผู้ประกอบการไทยสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาการแบ่งแยกการผลิต (Product Fragmentation) ที่แต่เดิมเน้นเฉพาะแนวดิ่ง (Vertical Intra-Industry Trade (IIT) and/or Vertical Foreign Direct Investment (FDI)) ที่เน้นการกระจายขั้นตอนการผลิตในแต่ละระดับไปในหลายๆ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ (อาจจะในหลายประเทศหรือหลายภูมิภาค) เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจากแต่ละพื้นที่ ไปให้ความสนใจในการตั้งโรงงานที่เป็นขั้นตอนการผลิตเดียวกันในหลายๆ พื้นที่ลักษณะแนวขนาน (Horizontal IIT and/or Horizontal FDI) มากขึ้น โดยการค้าและการลงทุนในลักษณะนี้จะเป็นการกระจายความเสี่ยง หากขั้นตอนการผลิตขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งต้องถูกปิดตัวลง (ในกรณีนี้เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส) ผู้ประกอบการก็ยังสามารถดึงเอาผลผลิตขั้นต้นและขั้นกลางจากโรงงานที่เหมือนกันในพื้นที่อื่นๆ มาใช้ทำการผลิตไปได้ โดยอินเดียและเอเชียใต้คือพื้นที่ที่น่าสนใจในการกระจายความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากอินเดียและเอเชียใต้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณในอัตราค่าจ้างที่ยังไม่สูงจนเกินไป รวมทั้งยังมีเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทย และเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ไกลจากประเทศไทยจนเกินไป ทำให้ยังคงความสะดวกในการเข้าไปควบคุมดูแลการผลิตได้อย่างใกล้ชิด

ในด้านการขายสินค้าก็เช่นเดียวกัน จากเดิมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกไปขายในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นตลาดหลักเพียงตลาดเดียว ภูมิภาคอ่าวเบงกอลหรือเอเชียใต้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายที่ประเทศไทยควรต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากความใกล้ชิดในฐานะเพื่อนบ้านแล้ว ภูมิภาคอ่าวเบงกอลยังเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP รวมกันสูงกว่า  3.620 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 และถ้าหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่าง GDP nominal และ GDP PPP จะพบว่าประเทศสมาชิกในกลุ่ม BIMSTEC  ล้วนเป็นประเทศที่ระดับค่าครองชีพต่ำ ทำให้มูลค่าของ GDP PPP มีมูลค่าสูงกว่า GDP nominal ในทุกประเทศสมาชิก และหากพิจารณาจากค่า GDP PPP ซึ่งหมายถึงขนาดของเศรษฐกิจที่มีการปรับระดับมาตรฐานค่าครองชีพแล้ว อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยมูลค่า 10.498 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (รองจากอันดับ 1 คือจีน และอันดับ 2 สหรัฐอเมริกา)

ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของทุกประเทศในกลุ่ม BIMSTEC อยู่ที่ระดับสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี (ยกเว้นเนปาล ที่ระดับ 918.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) นั่นทำให้ทุกประเทศสมาชิกในกลุ่ม BIMSTEC เป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง โดยเฉพาะไทยและศรีลังกา ซึ่งอยู่ในกลุ่มบนของประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง (มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับสูงกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) ซึ่งธนาคารโลกพึ่งจะเลื่อนขั้นให้ศรีลังกาขึ้นมาอยู่ในระดับ Upper-Middle Income Country ในปี 2019 นี้เอง

เมื่อวางตำแหน่งทางด้านการค้าและการลงทุนในลักษณะนี้ ไทยก็ยังสามารถเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่มูลค่าของเอเชียได้เช่นเดิม พร้อมกับที่สามารถกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพิงตลาดบางตลาดลงได้ หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ยังคงเป็นเพื่อนสนิทกับจีน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ในเอเชียใต้ให้มากขึ้น

 

  1. ฟ้าหลังพายุฝนย่อมสดใสขึ้นกว่าเดิมเสมอ

จากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จีนทำให้ผู้เขียนรับรู้หนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ จีนเป็นประเทศที่เคยทำผิดพลาดมากมายตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่ที่จีนสามารถกลับมาเป็นมหาอำนาจได้อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ เป็นเพราะจีนเรียนรู้ข้อผิดพลาดนั้นได้อย่างรวดเร็ว จีนปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ทำผิดซ้ำสอง และยังหาหนทางทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองทำผิดได้อีก นั่นจึงทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่ขึ้นในทุกครั้งที่เกิดวิกฤต เช่น หลังความล้มเหลวของประธานเหมา เจ๋อตง ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการปฏิวัติวัฒนธรรม เราก็ได้เห็นทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่นำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจจีนและเปิดประเทศสู่ตลาดโลก และแม้ว่าในช่วงปลายที่เติ้ง เสี่ยวผิง ปกครอง จีนจะเป็นประเทศที่แทบไม่รู้กฎกติกาการค้าและการลงทุน ซ้ำยังต้องเสียค่าผ่านประตูราคาแพงมหาศาลเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ผู้นำรุ่นที่ 3 ของจีนอย่างเจียง เจ้อหมิน ก็ทำให้จีนกลับมาผงาดและกลายเป็นชาติที่ใช้ประโยชน์จากกฎกติกาการค้าของโลกได้เก่งที่สุด

แน่นอนว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนในช่วงดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาคนจนเมือง และปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะปัญหาสังคมที่คนจีนเริ่มเห็นแก่ตัวสูงขึ้นทุกทีๆ แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงของผู้นำรุ่นที่ 4 อย่าง หู จิ่นเทา แต่ความเป็นคนง่ายๆ สบายๆ และประสานผลประโยชน์ให้ทุกฝ่ายของหู จิ่นเทา ก็กลับทำให้ปัญหาคอร์รัปชันรุมเร้าจีนอย่างหนัก จนผู้นำรุ่นที่ 5 สี จิ้นผิง เข้ามาจัดการปัญหาคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด แม้จะมีการปรับกฎกติกาให้สี จิ้นผิง มีอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น แต่การแก้ปัญหาปราบปรามคอร์รัปชันอย่างจริงจังก็เห็นผลเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนชาวจีน

ดังนั้น ตลอดประวัติศาสตร์จีนหลังการปฏิรูปประเทศในปี 1978 จะเห็นว่า มีคนจีนกว่า 800 ล้านคนที่หลุดพ้นจากความยากจน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในกรณีของวิกฤต COVID-19 ก็เช่นกัน เราเชื่อว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้เกิดขึ้นได้ ก็สงบลงได้ และหลังวิกฤต จีนก็จะกลับมาผงาดได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดของ SARS ในปี 2002-2003 ที่ทางการจีนปกปิดข้อมูลจนเรื่องแดงขึ้นเพราะเกิดการแพร่ระบาดบนเกาะฮ่องกง นั่นคือความผิดพลาด แต่ในการระบาดของ COVID-19 สิ่งที่เราเห็นคือ การใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากความผิดพลาดในครั้งนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงพยาบาลขนาด 2,000 เตียงได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ หรือความกล้าหาญที่ประกาศปิดเมืองขนาดใหญ่อย่างอู่ฮั่น ที่มีพื้นที่และจำนวนประชากรใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร และเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมและจุดศูนย์กลางการผลิต เพื่อจะจำกัดการแพร่ระบาด นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าจีนเรียนรู้และไม่ทำผิดซ้ำ

แต่เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป สิ่งหนึ่งที่จะต้องถูกปรับปรุงพัฒนาขึ้นในจีนคือ ระบบการแจ้งเตือนและระบบการตรวจสอบในระดับรัฐบาลท้องถิ่น เพราะในวิกฤตครั้งนี้ ระบบดังกล่าวค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับความร้ายแรงของโรค จนทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก่อนที่รัฐบาลท้องถิ่นจะแจ้งไปยังรัฐบาลกลาง จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเสียขวัญและกำลังใจ แต่ความผิดพลาดนี้ย่อมต้องถูกปรับปรุงแก้ไขในอนาคต โดยจีนอาจจะทำการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลท้องถิ่นในยามวิกฤต ซึ่งจะทำให้ระบบราชการของจีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จีนในปัจจุบันมีการเรียนการสอน หรือแม้กระทั่งการพิจารณาคดีความที่ทำผ่านระบบโทรคมนาคมอยู่แล้วในช่วงวิกฤต จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคต เทคโนโลยีต่างๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบโทรคมนาคมที่ทันสมัย น่าจะถูกนำมาปรับใช้จริงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ในระดับโลก เราเคยเจอวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคภัยไข้เจ็บชนิดที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกในระดับหลายล้านคนมาแล้วในอดีต เช่น การระบาดของกาฬโรคในปี 1346-1353 ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกไปกว่า 200 ล้านคน ทั้งในจีน ตะวันออกกลาง และในยุโรป แต่ภายหลังจากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ยุโรปก็พัฒนาเข้าสู่ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ที่พัฒนามนุษย์ไปในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง ศิลปะและวัฒนธรรม และยังเปลี่ยนแปลงยุโรปไปทิศทางที่ดีขึ้นอีกกว่า 300 ปี นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 14 ไปจนถึงปลายศตวรรษที่ 17

ในขณะที่หลังการระบาดของกาฬโรค จีนเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับไล่ราชวงศ์หยวนหรือชาวมองโกลออกไปโดยกองทัพประชาชนที่นำโดย จู หยวนจาง (Zhu Yuanzhang 朱元璋) ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของราชวงศ์หมิง หนึ่งในราชวงศ์ของชาวฮั่นที่คนจีนภาคภูมิใจมากที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ระบบการเงินการธนาคารที่พัฒนาจนใช้เงินกระดาษแทนโลหะมีค่า (Fiat Money) ซึ่งทำให้การค้าและการลงทุนขยายตัวอย่างรุ่งเรืองที่สุด ที่มาพร้อมกับการออกเดินทางสำรวจเส้นทางการค้าทางทะเลที่ก้าวหน้ามากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนโดยกัปตันเจิ้งเหอ (Zheng He 鄭和) ที่ทำให้จีนมั่งคั่งร่ำรวยต่อเนื่องไปอีก 300 ปีก็เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

เช่นเดียวกับในสยาม การเกิดขึ้นของอาณาจักรอยุธยา (ปี 1350) ที่เรืองรองยิ่งใหญ่ และกลายเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เกิดขึ้นหลังการย้ายเมืองหลวงหนีการแพร่ระบาดของโรคร้ายในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง

ดังนั้น ขอคุณผู้อ่านจงอย่าสิ้นหวัง เพราะหลังวิกฤตสำคัญ ฟ้าหลังพายุฝนย่อมสดใสขึ้นกว่าเดิมเสมอ

 


[1] ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

[2] “WashU Expert: Coronavirus far greater threat than SARS to global supply chain | The Source | Washington University in St. Louis”. The Source. 7 February 2020. Retrieved 13 February 2020.

[3] Cheng, Evelyn (1 February 2020). “More than half of China extends shutdown over virus”. CNBC. Archived from the original on 5 February 2020. Retrieved 6 February 2020.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save