fbpx
The White Tiger: เสือขาวในป่าใหญ่กับฝูงไก่ในกรงขัง

The White Tiger: เสือขาวในป่าใหญ่กับฝูงไก่ในกรงขัง

ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม เรื่อง

 

*Spoiler Alert : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ The White Tiger*

 

ช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2021 ที่ผ่านมา ผมได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 10 ฉบับจากมิตรสหายที่นิยมชมชอบอินเดีย ซึ่งทุกคนต่างพูดถึง ‘The White Tiger’ หรือ ‘พยัคฆ์ขาวรำพัน’ หนังที่สะท้อนภาพ ‘อินเดียมุมมืด’ ผ่านชีวิตคนวรรณะต่ำที่ถูกคนวรรณะสูงกดขี่และเอาเปรียบทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่เรื่องรายได้ สถานะทางสังคม การศึกษา คุณภาพชีวิต การจ้างงาน รวมถึงการเป็นเจ้าชีวิตที่สามารถสั่งได้แม้กระทั่งการให้รับความผิดแทน

หนังอเมริกันความยาวกว่า 2 ชั่วโมงนี้ กำกับโดย รามิน บะรานี (Ramin Bahrani) ผู้กำกับฝีมือดี ลูกครึ่งอิหร่าน-อเมริกัน วัย 45 ปี ที่มีดีกรีเป็นศาสตราจารย์ทางด้านการกำกับภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก่อนผลิตหนังเรื่องนี้รามิน บะรานี ลงทุนใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียนานหลายเดือนเพื่อซึมซับสภาพสังคมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรถประจำทาง การเยี่ยมชมสถานที่สำคัญที่ในวรรณกรรมได้กล่าวถึง รวมทั้งพูดคุยกับผู้คนในชนบทเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขา นอกจากนี้ The White Tiger ยังพร้อมไปด้วยทีมผู้ผลิตมือโปร นำโดยมุกุล ดิโอรา (Mukul Deora) แห่งเมืองมุมไบ ปริยังกา โจปรา (Priyanka Chopra Jonas) รวมถึงทีมนักแสดงและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เพื่อสร้างภาพยนตร์นี้ขึ้นมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด

ก่อนที่จะมาอยู่ในรูปแบบภาพยนตร์ The White Tiger คือวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่นำเสนอภาพด้านมืดของระบบวรรณะในสังคมอินเดีย โดยมีอราวินด์ อดิก (Aravind Adiga) นักเขียนหนุ่ม วัย 33 ปี ลูกครึ่งอินเดีย-ออสเตรเลีย ชาวเชนไน แห่งรัฐทมิฬนาฑู เป็นผู้ร้อยเรียงตัวอักษรและตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนตุลาคมปี 2008 ซึ่งตรงกับปีที่ผมเริ่มปักหลักในอินเดีย

ในปีเดียวกันนี้งานเขียนของอราวินด์ อดิก ยังได้รับรางวัล ‘Booker Prize’ นับได้ว่าเขาเป็นนักเขียนชาวอินเดียคนที่ 4 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ถัดจากซัลมาน รุชดี (Salman Rushdie) ในปี 1881 อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) ในปี 1997 และคิราน เดไซ (Kiran Desai) ในปี 2006

นอกจากนี้หนังสือ The White Tiger ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือขายดีของ The New York Times เนื่องจากสามารถนำเสนอเรื่องราวกระแทกสังคมอินเดียได้อย่างลุ่มลึกและตีแผ่กระดูกดำของมนุษย์ผู้มีบารมี ที่รับบทเจ้าเล่ห์กดขี่ผู้ไร้ทางเลือกอย่างโหดร้าย ผ่านฉากชุมชนลักษณ์มัณครห์ (Lachhmangarh) ถึงแม้ชื่อชุมชนดังกล่าวจะคล้ายกับชื่อของชุมชนในเมืองราชาสถาน (Rajasthan) แต่ผู้เขียนได้ระบุว่า ชุมชนลักษณ์มัณครห์อยู่ในคยา (Gaya) เขตมคธ รัฐพิหารของประเทศอินเดีย

หลังจากนั้นในปี 2010 The White Tiger เตรียมพร้อมสำหรับการจัดทำเป็นภาพยนตร์ จนกระทั่งออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มกราคมปี 2021 และกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกผ่าน Netflix เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามิตรสหายของผมต่างพลัดหลงไปในป่าดงดิบด้านมืดของอินเดีย กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ตกหลุมรักอินเดียและปรัชญาการใช้ชีวิตของผู้คนไปเรียบร้อยแล้ว

 

ชีวิตเสือขาวกับเรื่องราวสีดำ

 

The White Tiger เล่าเรื่องราวชีวิตของพลราม ฮาลวัย (Balram Halwai) [รับบทโดย อาดาร์ช กอราฟ (Adarsh Gourav)] เด็กน้อยที่พยายามกระชากตัวเองออกจากมุมมืดของสังคมอินเดีย พลรามเกิดมาในครอบครัวยากจน โอกาสทางด้านการศึกษาจึงข้นแค้น ไม่ต่างจากที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “คนรวยเกิดมาพร้อมโอกาสหลายหนที่สามารถโยนทิ้งก็ได้ แต่คนจนในอินเดียไม่มีโอกาสเหล่านั้นเลยในชีวิต”

พลรามอาศัยอยู่ในชุมชนที่เต็มไปด้วยฝุ่นฝอย ท้องถนนแห้งกรังในช่วงฤดูร้อน เป็นปลักตมในช่วงฤดูฝน ท่อส่งน้ำแห้งสนิท ขยะถูกทิ้งเพ่นพ่าน อุจจาระและปัสสาวะก่ายกองเต็มท้องทุ่งและทางเดิน ด้านริมสองข้างทางก็มากไปด้วยขอทานและผู้ยากไร้ที่ต่างกวักมือเรียกผู้มีอันจะกินที่สัญจรไปมาเพื่อขอเงินประทังชีวิต

แม้พลรามจะตั้งใจเรียนและได้รับทุนต่อที่เดลี ในฐานะ ‘เสือขาว’ ของชุมชน กระนั้นความยากจนก็พร้อมจะดึงผู้คนให้หลุดออกจากโอกาส ความยากจนของชนชั้นล่างถือเป็นมรดกชิ้นสำคัญของครอบครัวที่ตกทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ผู้คนในชุมชนต้องจ่าย 1 ใน 3 ของรายได้ให้กับผู้มีอิทธิพล พลรามจึงจำเป็นต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานในร้านชาและไม่เคยหวนกลับไปอีกเลย

สำหรับครอบครัวของพลราม พ่อของเขาจากไปตั้งแต่เขายังเด็ก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไม่มีเงินไปรักษาโรค เนื่องจากต้องส่งส่วยให้กับพ่อค้าถ่านหินผู้ทรงอิทธิพล อีกทั้งในชุมชนเล็กๆ ที่เหล่านักการเมืองต่างเคยสัญญาว่าจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีโรงพยาบาลสักแห่ง การจะเข้าถึงสถานพยาบาลในแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2 วัน ท้ายที่สุดพ่อของพลรามต้องตายอย่างทรมานไปพร้อมกับมรดกแห่งความยากจนอันขมขื่น

ทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากวัฏจักรเหล่านี้ พลรามต้องถีบตัวเองออกจากสังคมแห่งการกดขี่ เขาหัดขับรถเพื่อไปเป็นคนขับรถให้กับ อโศก (Ashok) ชายหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบมาจากอเมริกา ลูกชายของมหาเศรษฐีถ่านหิน ที่กลับบ้านมาเพื่อวิ่งเต้นติดสินบนนักการเมืองเพื่อช่วยธุรกิจผิดกฎหมายของพ่อ

แม้พลรามจะหลุดพ้นจากวงโคจรขูดรีดในชุมชนก็จริง แต่เนื่องจากเป็นคนในวรรณะต่ำ เขาเองก็ยังต้องอดทนกับการดูถูก การตะคอก และการทำร้ายร่างกายสารพัด รวมถึงต้องรับผิดแทนพิงกี้ แฟนสาวของอโศก เศรษฐีหนุ่มที่เขาทำหน้าที่เป็นคนขับรถให้ ในข้อหา ‘ขับรถชนคนตาย’ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนกระทำ สถานะคนรับใช้บีบบังคับให้พลรามต้องเซ็นเอกสารยอมรับว่าเป็น ‘ผู้ขับรถชนคนตาย’ พร้อมอ่านคำสารภาพที่ตัวเองไม่ได้เขียน

“เรียนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กระผม พลราม ฮาลวัยได้แถลงข้อความต่อไปนี้ด้วยความสมัครใจของกระผมเอง ในคืนวันที่ 3 พฤศจิกายนปีนี้ ผมขับรถไปชนบุคคล หรือบุคคลหลายคน หรือวัตถุที่ไม่สามารถระบุได้ จากนั้นผมก็ตกใจและไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและได้ขับรถหนีไป ผมอยู่ในรถคันนั้นเพียงคนเดียวและเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ทั้งหมดนี้คือ ระบบวรรณะที่พยายามกดขี่เอาเปรียบผู้มีสถานะต่ำกว่าอย่างโหดร้ายและทารุณ

 

อินเดียบนแผ่นดินหลากสี

 

แม้จุดขายสำคัญของอินเดีย คือความเป็นพหุวัฒนธรรมที่เกิดจากการหลอมรวมความหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างชาติ แต่ความหลากหลายที่ว่า ฉาบทาด้วยมรดกทางความคิดของระบบชนชั้นวรรณะที่แบ่งเฉดสีผู้คนออกเป็นพันๆ รูปแบบ ตามรากศัพท์ของคำว่า ‘Varna’ ที่หมายถึงเฉดสี โดยสังคมอินเดียระบุเฉดสีหลักๆ ไว้ 4 แบบคือ

หนึ่ง วรรณะพราหมณ์ (Brahman) มีหน้าที่ศึกษาคัมภีร์พระเวทและปฏิบัติตนในฐานะนักบวช เชื่อว่า การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในชาตินี้จะนำมาซึ่งการมีตำแหน่งอันทรงเกียรติในชาติหน้า สอง วรรณะกษัตริย์ (Kshatriya) มีหน้าที่ปกครองและปกป้องดินแดน สาม วรรณะแพศย์ (Vshya) มีหน้าที่ค้าขายและทำธุรกิจ สี่ วรรณะศูทร (Sudra) มีหน้าที่บริการและอำนวยความสะดวกวรรณะอื่นๆ โดยมีความเชื่อไม่ต่างจากวรรณะพราหมณ์ (D. Mackenzie Brown, 1953, 21 และปิยณัฐ สร้อยคำ 2562, 231)

ยังมีอีกหลายวรรณะที่สังคมอินเดียไม่ได้พูดถึง หนึ่งในนั้นคือวรรณะฮาลวัยของพลราม ซึ่งมีหน้าที่ทำขนมหวานและคอยให้บริการขนมหวานแก่วรรณะอื่น นับได้ว่าเป็นชนชั้นต่ำต้อยและมักจะดูถูกอยู่เสมอ อย่างที่พลรามเคยถูกดูหมิ่นว่าไร้ทักษะในการขับรถ ด้วยเพียงเพราะ “วรรณะฮาลวัย เอาดีได้แค่เพียงการทำขนมเท่านั้นเอง”

ในยุคโบราณ ระบบวรรณะหรือเฉดสีที่ที่ติดตัวคนอินเดียมาตั้งแต่วันลืมตาดูโลก ซึ่งสอนให้คนทำงานตามหน้าที่ของตน ได้เคยสร้างคุณประโยชน์มากมาย หากแต่ในปัจจุบัน ระบบวรรณะถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองและตัดโอกาสผู้คนในการเข้าถึงความเท่าเทียม วรรณะกษัตริย์ไม่สามารถทำหน้าที่ปกครองและบริหารรัฐเพื่อให้เกิดความผาสุกของประชาชนเพราะตำแหน่งบริหารตกไปอยู่กับกลุ่มทุน นักธุรกิจ หรือวรรณะแพศย์ เนื่องจากพวกเขามีฐานะทางสังคมและระบบเศรษฐกิจที่ดีกว่า (D. Mackenzie Brown, 1953: 22-23)

เหมือนที่พลรามได้กล่าวไว้ว่า

“สำหรับคนจนมีแค่เพียง 2 ทางที่จะผงาดขึ้นมาได้ นั่นก็คืออาชญากรรมหรือการเมือง”

“ระบบวรรณะในอินเดียเหลือเพียงแค่สองอย่าง นั่นก็คือ วรรณะที่มีพุงกาง และ วรรณะที่มีพุงแฟ้บ”

 

The White Tiger ชะตากรรมของชนชั้นล่าง

 

The White Tiger ได้เปิดมุมมองและกะเทาะสังคมอินเดียแบบหมดเปลือก จนมิตรสหายได้แลกเปลี่ยนกับผมว่า อินเดียมีความดิบและหดหู่ไปพร้อมกัน โดยเราสามารถทำความเข้าใจสังคมวรรณะล่างที่อยู่ในด้านมืดของความศิวิไลซ์แบบอินเดีย ได้ดังนี้

ชีวิตติดกรงไก่

พลรามเป็นตัวอย่างสำคัญของ ‘เสือขาว’ ที่พยายามแหกออกจากกรงไก่ เขารู้อยู่แก่ใจว่าถูกเลี้ยงไว้เพื่อเชือด ทั้งๆ ที่เห็นและได้กลิ่นเลือด แต่ก็ไม่สามารถขัดขืนหรือต่อสู้ได้เลย ทำได้แค่รอคอยวันถูกสังหาร มีผู้คนน้อยมากที่สามารถหลุดพ้นจากวิบากกรรมกรงไก่และยากที่จะมีคนแบบพลรามในชีวิตจริง

“คำสัญญาของการเลือกตั้ง สอนให้รู้ว่า อย่าเป็นคนจนในระบอบเสรีประชาธิปไตย” คือคำสอนที่พลรามได้เรียนรู้หลังจากการต้องเผชิญกับความยากลำบากตลอดมา

โอกาสทางการศึกษาน้อย

แม้พลรามจะเป็นเด็กเก่ง ฉลาด และได้รับการศึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองได้ เพราะปัจจัยรอบข้างไม่เอื้อในการสร้างเสือขาวให้เกิดขึ้น ปัญหาความยากจนและถูกกดขี่จากผู้มีอิทธิพลทำให้พลรามต้องออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่เล็กๆ เหมือนอย่างในฉากที่ พิ้งกี้ แฟนสาวของอโศกได้แนะนำพลรามว่า “ไปเรียนหนังสือให้จบ อย่างน้อยเพื่อสร้างชีวิตตนเองและไม่ให้ใครมาถูกเหยียดหยาม”

ไม่ถูกสอนเรื่องมารยาททางสังคม

สำหรับคนวรรณะต่ำ การต้องเอาชีวิตให้รอดในแต่ละวันก็ถือเป็นเรื่องยากลำบากมากแล้ว จนทำให้พวกเขาไม่มีเวลามากพอที่จะสอนเรื่องมารยาททางสังคมให้กับลูกๆ ตัวอย่างเช่น พลรามที่ไม่เคยได้รับการสั่งสอนเรื่องนี้จากครอบครัว เขาไม่เคยถูกสอนให้แปรงฟันเพื่อดูแลกลิ่นปากตนเอง ใช้โคโลญจน์เพื่อดับกลิ่นกาย หรือไม่เคยถูกสอนให้รักษามารยาทในที่สาธารณะ จนพลรามเคยกล่าวถึงตนเองว่า “ทำไมพ่อไม่เคยสอนผมว่าอย่าเกาไข่ ทำไมพ่อไม่เคยสอนผมเรื่องแปรงฟัน ทำไมพ่อเลี้ยงให้ผมโตเหมือนสัตว์เดรัจฉาน”

ผู้อาวุโสคือเจ้าชีวิต

ในสังคมอินเดีย สมาชิกของบ้านที่มีความอาวุโสสูงสุดจะเป็นผู้ที่สามารถออกคำสั่งทุกอย่างแก่สมาชิกในครอบครัว ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ครอบครัวของพลรามถูกขูดรีดโดยคุณย่าผู้อาวุโส กิชาน พี่ชายของพลรามถูกบังคับให้ทำงานในร้านชาเพื่อหารายได้ ส่วนเงินทุกรูปีของพ่อก็ถูกคุณย่าริบเงินเรียบ ด้านพลรามก็ต้องเชื่อฟังคุณย่าเรื่องการแต่งงานโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะชีวิตที่ยากจนและการมีสมาชิกครอบครัวหลายคน การแต่งงานของผู้ชายจึงถือเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม เนื่องจากจะได้รับสินสอด การปฏิเสธการแต่งงานจึงไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัวพึงปรารถนา อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว นี่คือสิ่งที่คนวรรณะต่ำในอินเดียเชื่อกัน

อยู่กับระบบการเมืองแบบขายฝัน

เด็กชนบทอินเดียเชื่อว่า ระบบการเมืองแบบสังคมนิยมสามารถทำให้เด็กยากจนในชุมชนห่างไกลสามารถก้าวไปเป็นนายกรัฐมนตรี พลรามเองก็เชื่อเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงพวกเขากลับถูกขูดรีดและกดขี่จากระบบดังกล่าว เพราะนักการเมืองคือ ผู้รับส่วยจากนายทุนที่ต้องการความมั่งคั่งทางธุรกิจ และนักธุรกิจเหล่านี้ก็กดขี่คนยากจนเพื่อขูดรีดทรัพย์สินและส่งส่วยกลับไปให้นักการเมือง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พลรามเชื่ออย่างสนิทใจว่า ‘อย่าเป็นคนจนในระบอบเสรีประชาธิปไตย’

ความจริงประการสำคัญ คือสำหรับชนชั้นล่าง พวกเขาไม่ต้องการประชาธิปไตย แต่สิ่งแรกที่พวกเขาต้องการคือ ‘ท่อประปา’ เพราะ ‘ปากท้องของพวกเขาสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด’

ต้องพรางตนเอง

หนึ่งในคนขับรถของครอบครัวอโศกซึ่งทำงานมานานกว่า 20 ปี จำเป็นต้องปิดบังศาสนาและชื่อจริงของตนเอง เนื่องจากเป็นมุสลิม อีกทั้งต้องแสดงความศรัทธาตามศาสนาฮินดู ด้วยการกราบไหว้และขอพรจากเทวรูปราวกับชาวฮินดูทั่วไป หลังจากที่ความจริงถูกเปิดเผย ทางเดียวที่คนขับรถทำได้จึงมีเพียงการลาออก

นอกจากนี้ยังมีฉากที่เสียดสีความเป็นมุสลิม เมื่อพลรามถูกถามว่า “นายเป็นมุสลิมไหม?” พลรามตอบว่า “ไม่ครับ ผมอาบน้ำเป็นประจำ ผมดูแลความสะอาดตัวเอง และไม่ขี้เกียจ” ประโยคดังกล่าวสามารถสะท้อนมุมมองชาวฮินดูที่มีต่อมุสลิมได้อย่างชัดเจน

เรียนรู้เพื่อเอาตัวรอด

พลรามพยายามเรียนรู้และแสวงหาโอกาสต่างๆ เพื่อยกระดับตนเองให้หลุดพ้นจากปลักแห่งวัฏจักรดังกล่าว เขาทั้งทำงานในร้านน้ำชา ฝึกขับรถ พัฒนาทักษะ รวมทั้งพูดจาไพเราะ ฝีปากจัดจ้าน ปากหวาน ประจบสอพลอ เอาอกเอาใจ อีกทั้งยังโกหกเพื่อความอยู่รอด สังเกตได้จากพฤติกรรมของพลรามและคนแบบพลรามอีกหลายคนที่ผมเจอขณะอยู่อินเดีย

ในหนังมีฉากที่พลรามได้รับคัดเลือกให้เป็นคนขับรถมือสอง เขาจึงต้องหาทางกำจัดคนคนขับรถหมายเลขหนึ่ง จนไปพบความลับที่ว่า ‘เขาเป็นมุสลิม’ พลรามเลือกใช้เงื่อนไขแห่งศาสนาบีบให้คนขับรถหมายเลขหนึ่งต้องลาออกจากงาน เนื่องจากนายจ้างไม่ชอบมุสลิม หรือจะเป็นฉากที่พลรามเรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดด้วยการโกงเจ้านาย ไม่ว่าจะเป็น ซ่อมรถโดยเสนอใบเสร็จราคาแพงกว่าราคาจริง ขายน้ำมันรถเจ้านายเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋า  รวมถึงแอบรับจ้างขนส่งผู้โดยสารด้วยรถเจ้านาย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพาตัวเองให้รอดไปจนตลอดรอดฝั่ง

เดิมพันด้วยชีวิตครอบครัว

ก่อนจะรับคนใช้เข้าทำงาน เจ้านายจะต้องรู้แน่ชัดถึงครอบครัวของพวกเขา ด้วยการเช็คประวัติและอื่นๆ อย่างละเอียด เพื่อที่จะสามารถจัดการกับครอบครัวของคนใช้ได้ หากคนใช้คิดขโมยหรือสร้างวีรกรรมให้เหล่าคนชั้นสูงต้องปวดหัว ด้วยเหตุนี้เองครอบครัวจึงมีสถานะไม่ต่างไปจากตัวประกัน เหล่าคนใช้จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องซื่อสัตย์ราวกับอยู่ในกรงไก่

 

แม้จะมีเสือขาวเกิดใหม่ในป่าใหญ่ แต่ชนชั้นล่างในสังคมอินเดียก็ไม่ต่างจากฝูงไก่ในกรงขัง พลรามกล่าวว่า “ในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากกรงไก่ นั่นก็คือ ต้องยอมรับในสิ่งที่เขาจะทำกับผมและครอบครัวของผม”

ในตอนท้ายของหนัง เพื่อหลุดพ้นจากกรงไก่ พลรามตัดสินใจฆ่าอโศก เจ้านายของเขา พร้อมๆ กับยอมรับชะตากรรมของครอบครัว ที่พวกเขาทั้ง 17 คนต้องตาย หลังจากที่หลุดพ้นจากกรงไก่มาได้ พลรามสร้างตัวด้วยการเป็นเจ้าของธุรกิจรถแท็กซี่ในเมืองบังกาลอร์

นี่คือภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้นจากระบบชนชั้นวรรณะในอินเดีย คือความหดหู่ของชีวิตไก่ในกรงขัง ที่พลรามและชาวอินเดียอีกหลายร้อยล้านคนต้องประสบพบเจอ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามเกมของผู้มีอำนาจที่ได้วางไว้ แม้สิ่งนั้นคือ การพรากชีวิตและอิสรภาพของผู้อื่นก็ตาม

“เมื่อเราได้ตระหนักว่ามีอะไรที่งดงามในโลกนี้ วันนั้นเราก็เลิกเป็นทาสแล้ว” อิกบัล นักกวีมุสลิมได้กล่าวไว้ถูกต้องและสวยงามที่สุดแล้ว

 


ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม เป็นนักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :

Aravind Adiga. (2008). The White Tiger. New York: Free Press.

Mackenzie Brown. (1953). White Umbrella: Indian Political Thought from Manu to Gandhi. Berkeley: University of California Press.

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save