fbpx

THE WHALE น้ำหนักแห่งความล้มเหลว รอบเอวแห่งความผิดบาป

ผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ประจำปี 2023 (แต่มอบให้หนังที่ออกฉายในปี 2022) โดยเฉพาะรางวัลใหญ่ๆ ดูจะมีนัยยะบ่งบอกถึงทิศทางความเคลื่อนไหวในแวดวงภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ณ เวลาปัจจุบันได้หลายประการ โดยเฉพาะเมื่อผลงานหนังศิลปะการต่อสู้ทะลุมัลติเวิร์สยอดฮิตอย่าง Everything Everywhere All at Once (2022) ของสองผู้กำกับ แดเนียล ควัน (Daniel Kwan) และ แดเนียล ไชเนิร์ต (Daniel Scheinert) คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไป ต่อจากหนังเอาใจมหาชนอย่าง CODA (2021) ของผู้กำกับ เซียน เฮเดอร์ (Sian Heder) และ Nomadland (2020) ของผู้กำกับสัญชาติจีนอย่าง โคลอี จาว (Chloé Zhao) เนื่องจาก Everything Everywhere All at Once เป็นเสมือนการ ‘สานต่อ’ พร้อมขอ ‘ตอกย้ำ’ การให้ความสำคัญกับกลุ่มคนอเมริกันชายขอบแบบเดียวกับ Nomadland รวมถึงความเปิดกว้างด้านสัญชาติของผู้สร้างงาน และความต้องการหลีกหนีจากความสูญเสียเรือนหมื่นเรือนแสนจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนมุ่งแสวงหาความบันเทิงย่อยง่าย ดูแล้วสบายอกสบายใจไม่ต่างจาก CODA หนังอย่าง Everything Everywhere All at Once จึงนับว่ามาถูกที่ถูกเวลา แทนค่าสมการออกมาได้ตอบโจทย์เป๊ะๆ แม้นว่าถ้ามันมาเร็วกว่านี้สักห้าปี มันอาจจะมีสถานะเป็นเพียงหนังตลกเลอะเทอะเละเทะที่ออสการ์ไม่คิดจะเหลียวแล

ไม่เพียงแต่คว้ารางวัล ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ แห่งปีเท่านั้น Everything Everywhere All at Once ยังกวาดรางวัลด้านการแสดงไปได้จากสามในสี่ของสาขาที่มี จากบทตลกแบบสติที่อาจทำให้หลายๆ คนต้องร้อง ‘ฮึ?’ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการแสดงแสนสตรองของคู่แข่งในสาขาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่ากรรมการออสการ์ ณ ค.ศ. 2023 ปรารถนาการแสวงหาความบันเทิงแบบตรงๆ ง่ายๆ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องโหด ไม่ต้องลึก กันขนาดไหน ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม -ที่หนังเรื่องนี้ไม่มีตัวแทนเข้าชิง- อันตกเป็นของ เบรนแดน ฟราเซอร์ (Brendan Fraser) จากเรื่อง The Whale (2022) ของผู้กำกับ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ก็ยิ่งแฉฟ้องรสนิยมดังกล่าวออกมาได้ดีว่ารางวัลออสการ์เขากำลัง ‘หาอะไร’ เมื่อบทบาทการแสดงที่อาจมองได้ว่า ‘แย่ที่สุด’ กลับเอาชนะนักแสดงทุกรายที่ถ่ายทอดบทบาทได้ละเมียดและลึกซึ้งมากกว่า เพียงแต่อาจมีความเป็น ‘อเมริกัน’ น้อยกว่า ราวกับว่าออสการ์เขามองอะไรกันเพียงระดับผิวเปลือก และรูปปั้นหุ่นตุ๊กตาสีทองผ่องอร่ามน่าฉวยกำมาเป็นเจ้าของไว้ เมื่อเอาตะปูตอกเจาะดูข้างใน สิ่งที่อาจพบคือความโบ๋กลวงที่ลวงตากันด้วยพื้นผิวฉาบทาภายนอกที่หลอกให้คิดว่ามันคือทองคำจริงๆ ทั้งแท่ง!

แล้วทำไมบทบาทการแสดงของเบรนแดน ฟราเซอร์ ใน The Whale จึงถูกมองว่า ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุดในบรรดาผู้เข้าชิง จนคว้ารางวัลออสการ์จากเสียงโหวตของกรรมการชาวอเมริกัน (เป็นส่วนใหญ่) จำนวนเรือนหมื่นรายไปได้ คำตอบง่ายๆ ก็คือเขาได้รับการ ‘ดัน’ อย่างดีจากผู้กำกับที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในการ ‘สร้างภาพ’ อันหวือหวา ทุกๆ มิติอารมณ์จะต้องเยอะต้องใหญ่ ฟูมฟายได้ก็ขอให้ฟูมฟาย เพราะมันเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้วในการจู่โจมเข้าไปเขย่าหัวใจของผู้ชม!

The Whale เป็นงานที่อาโรนอฟสกีขอให้นักเขียนบทละครเวที ซามูเอล ดี ฮันเตอร์ (Samuel D. Hunter) นำบทละครเรื่อง The Whale (2012) ของเขามาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ให้กำกับ และเชิญให้นักแสดงหนุ่มฟราเซอร์มารับบทบาทที่หลายๆ คนเรียกว่าเป็นการคืนเวที (come-back) สู่การแสดงแบบจริงๆ จังๆ มาสวมวิญญาณเป็น ชาร์ลี (Charlie) อาจารย์สอนทักษะด้านการเขียนเรียงความระดับมหาวิทยาลัยที่มีน้ำหนักร่างกาย 272 กิโลกรัม และจำเป็นต้องรับสอนออนไลน์อยู่กับบ้านพักเพราะไม่สามารถแบกน้ำหนักตัวเองเดินเหินไปไหนมาไหนได้ ผ่านการใช้ชุดผิวหนังเทียมที่ฟราเซอร์ต้องสวมใส่เพื่อให้แลดูคล้ายผู้ที่มีน้ำหนักเกินพิกัดจนอึดอัดไปกับทุกๆ การเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุด

ลำพังเพียงรูปลักษณ์ภายนอกของตัวละครชาร์ลีที่ฟราเซอร์ต้องถ่ายทอดความกระออดกระแอดแปดร้อยโรคจะชะโงกหัวลุกขึ้นยืนก็ยังทำไม่ได้ ก็ดึงดูดแสงไฟให้เขาแสดงออกถึงอากัปกิริยาอันเป็นผลมาจากน้ำหนักตัวระดับมหาศาลกันหวานหมู แต่ยิ่งดูๆ ไปทำไมมันชวนให้รู้สึกว่าตัวละครชาร์ลีเพิ่งจะตื่นขึ้นมาแล้วน้ำหนักตัวกระโดดขึ้นเป็น 272 กิโลกรัมเมื่อวาน ทุกอากัปอาการดูเหมือนเขาเพิ่งเจอเรื่องราวแบบนี้ ทั้งที่ในเนื้อเรื่อง เขาน่าจะผ่านสถานการณ์นี้มาแล้วต่อเนื่อง จนหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ นานามาแล้วระดับหนึ่ง ภาพความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาร์ลีจึงมีลักษณะการเล่นในแบบ ‘จำอวด’ แสดงความเจ็บปวดออกมาในทำนองว่า “เห็นมั้ย ชีวิตคนอย่างฉันมันน่าอดสูถึงขนาดไหน” ไม่ได้เป็นการ ‘ลงโทษตนเอง’ ตามที่บทเขียนเอาไว้ ซึ่งฟราเซอร์แทบไม่ได้เผยให้เห็นมิตินี้ไว้ตรงไหนเลย

ประการต่อมา มิติความเป็น ‘เกย์’ ของตัวละครชาร์ลีที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในฐานะต้นตอของความขัดแย้งทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในหนัง ซึ่งฟราเซอร์เองก็ทำออกมาได้น่าผิดหวัง กระทั่งผู้กำกับต้องเลือกเปิดเรื่องด้วยฉากอัตกามสำเร็จความใคร่ขณะจ้องดูฉากโรมรันในหนังโป๊เกย์ เอาให้มั่นใจกันไปตั้งแต่ซีนแรกไม่ต้องเดาว่าเขามีรสนิยมทางเพศแบบไหน ขณะที่การถ่ายทอดบุคลิกของฟราเซอร์นั้น แม้พยายามทำให้ดูเป็นชายร่างใหญ่ธรรมดาๆ แต่ลึกๆ แล้วเขาก็ยังรังสรรค์บุคลิกบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องตุ้งติ้งออกสาวหรือใช้ภาพจำแบบเหมารวมมาสวมให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเป็นเกย์ของเขาได้ แต่ถ้าเรื่องนี้ไม่มีฉากหนังโป๊เกย์เกริ่นนำ ลำพังเพียงการแสดงของฟราเซอร์ก็ไม่มีจุดไหนที่จะบ่งบอกได้เลยว่าเขาเคย ‘คลั่งรัก’ กับลูกศิษย์หนุ่มนามอลันรายนี้ ยิ่งฉากที่เขารำพึงรำพันกับภาพถ่าย หรือทุกฉากที่มีโอกาสได้กล่าวถึงอลัน ถ้าการแสดงถึงพร้อมจริงๆ คนดูจะต้องสามารถ ‘เห็น’ เขาได้ผ่านการถ่ายทอดของตัวละครชาร์ลีโดยที่อลันไม่จำเป็นต้องเผยโฉมหน้าหรือปรากฏตัว แต่ฟราเซอร์ก็มัวแต่พะวักพะวงกับการประดิษฐ์บุคลิกของตัวละครชาร์ลี ภาพอดีตที่เขาเคยใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขกับอลันนั้น จะปั่นจะสร้างยังไงก็ดูไม่น่าเชื่อ ตลอดทั้งเรื่องไม่มีฉากไหนเลยที่จะทำให้เราดื่มด่ำไปด้วยได้ว่าชาร์ลี ‘รัก’ อลันมากขนาดไหน แล้วไม่ใช่เพราะชายผู้นี้หรือที่ทำให้ชาร์ลีต้องปล่อยเนื้อปล่อยตัวทำร้ายตัวเองจนร่างบวมเผละขนาดนี้ หลังจากที่ชาร์ลีต้องสูญเสียอลันไปอย่างไม่มีวันหวนกลับมา!

การรับบทเป็นตัวละครเกย์ที่ดูไม่ค่อยเป็นเกย์อันนั้นยังพอว่า เพราะถ้ามองในมุมร่วมสมัยแห่งความเลื่อนไหลทางเพศวิถี LGBTQ+++ เราก็ไม่ควรตัดสินกันที่บุคลิกเพียงภายนอก แต่อีกบทบาทที่จะบอกว่าไม่ต้องให้เนียนแบบ 100% ไม่ได้ นั่นคือความเป็น ‘พ่อ’ ของตัวละครชาร์ลีทุกฉากที่บุตรสาวซึ่งร้างรากันไปนานอย่าง เอลลี (Ellie) กลับมาขยี้บาดแผลครั้งเก่าเมื่อชาร์ลีตัดสินใจทิ้งลูกทิ้งเมียไปอยู่กินกับ ‘ผู้ชาย’ สร้างทั้งความอับอายให้ภรรยาและความอาฆาตเกลียดชังต่อบุตรสาว แม้ว่าเขาจะยังรักเอลลีไม่เสื่อมคลาย และเก็บหอมรอมริบทรัพย์สมบัติที่เขาหามาได้ไว้ให้เอลลียอดดวงใจของเขาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งดูจากตัวบทแล้วเนื้อเรื่องก็ขับเคี่ยวความสัมพันธ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันของตัวละครทั้งคู่อยู่หลายช่วงตอน เปิดโอกาสให้ฟราเซอร์ได้ถ่ายทอดตัวละคร ‘พ่อ’ ผู้รักแสนรักบุตรสาวเท่าๆ กับคู่รักคู่แท้เพศเดียวกันของตัวเองได้อย่างซับซ้อน แต่ดูกร มีใครมองเห็นสัญชาตญาณความเป็นพ่อของตัวละครชาร์ลีที่ฟราเซอร์แสดงให้ดูในหนังเรื่องนี้บ้างไหม ที่ต้องถามเพราะอยากรู้ว่าควรต้องตีความจากสีหน้าหรือกิริยาอาการใด คือถ้าบทไม่ป้อนไม่ช้อนไม่ยัดถึงขนาดนี้ เราอาจไม่เห็นวี่แววความเป็น ‘บิดา’ อยู่ในตัวละครชาร์ลีเลย สิ่งที่ฟราเซอร์พยายามเหลือเกินที่จะนำเสนอผ่านตัวละครรายนี้คือความล้มเหลวผิดบาปที่เกาะกุมจิตใจเขาจนไปต่อไม่ได้ ส่งผลเป็นห่วงโซ่กลไกให้เขาปล่อยเนื้อปล่อยตัวด้วยการกินแหลกแดกไม่หยุดฉุดให้ต้องอืดจมอยู่บนเก้าอี้โซฟาจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ความสัมพันธ์รายล้อมอื่นๆ จึงเป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพนี้ หาได้มีความผูกพันทางจิตใจนอกเหนือไปจากคำอธิบายว่าเขาปล่อยน้ำหนักตัวกระโดดไปถึง 272 กิโลกรัมได้อย่างไร!

ดังนั้น เมื่อมองในมุมของการวิจารณ์ ไม่ต้องผ่านการขีดกาหรือยกมือซ้ายขวาให้คะแนนโหวตใดๆ การแสดงของฟราเซอร์ในเรื่อง The Whale นี้ สามารถมองเป็นการแสดงชั้น ‘แย่’ ที่ภาษาวิจารณ์เรียกกันว่า ‘overact’ เล่นเยอะเล่นใหญ่ ทว่าไม่มีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้ชุดหนังไซส์มหึมาตัวนั้น เป็นการแสดงอันเปล่ากลวงที่เหมาะควรจะนำมาใช้เป็นกรณีตัวอย่างแห่งความลวงและไม่จริงใจในการแสดงอันไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างแบบเดียวกับบทวิจารณ์ปากสว่างแฉอ้างแต่ส่วนบกพร่องชิ้นนี้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็มิได้หมายความว่าฟราเซอร์เป็นนักแสดงที่ฝีมือไม่ดี ตีความตัวละครได้อ่อนบ้ง เพราะคนที่ควรจะโดนคณะทัวร์ลงมากกว่าคือผู้กำกับดาร์เรน อาโรนอฟสกีว่ากำกับการแสดงอีท่าไหนถึงยอมให้ฟราเซอร์ร้องห่มร้องไห้ด้วยธารน้ำตาจระเข้ได้ขนาดนี้

ขอบอกไว้ตรงนี้ว่าทุกครั้งที่นักวิจารณ์ตำหนิการแสดงของนักแสดงรายใด เขามิได้ไม่พอใจตัวนักแสดง เพราะผู้รับผิดชอบจริงๆ คือผู้กำกับว่าชอบแล้วไหม โอเคแล้วหรือไม่กับการแสดงแบบนี้ ยังมีอะไรต้องปรับต้องเปลี่ยนอีกบ้าง การที่ฟราเซอร์มาสร้างตัวละครแบบจำอวดใน The Whale แปลว่าผ่านการเห็นชอบโดยผู้กำกับแล้วว่าเขา ‘นิยมแบบนี้’ ยิ่งหันไปดูการแสดงของนักแสดงที่รายล้อมก็พร้อมตอกตะปูปิดฝาโลงได้เลยว่าอาโรนอฟสกีเห็นดีเห็นงามกับความเยอะล้นจนเกินเลยทางการแสดงแบบนี้จริงๆ ไม่เชื่อก็ดูจากการแสดงของ ซาดี ซิงค์ (Sadie Sink) ในบทเอลลีผู้เป็นบุตรสาวก็ได้ บทต้องเกลียด ต้องแค้น ต้อง ‘เก้วกาด’ แบบเหวี่ยงๆ จิกๆ ใช่ไหม ได้! เด๋วหนูจัดให้ ซึ่งนางก็ช่างใส่มาเต็มคาราเบลจนกลายเป็นตัวละครที่สุดแข็งกระด้าง จนในช่วงที่ต้องมีอ่อนไหวบ้างอะไรบ้างก็แลดูประดิษฐ์สร้างจนมีแต่ความ ‘ปลอม’ พอๆ กัน! และนั่นก็ถือเป็นความรับผิดชอบของอาโรนอฟสกีอีกเช่นกัน เพราะเขาจ้างให้ฉันมาเล่นแบบนี้ แล้วจะให้ซาดีทำอย่างไร

ชัยชนะที่ได้มาจากการโหวตลงคะแนนของกรรมการออสการ์เรือนหมื่นรายของฟราเซอร์ในครั้งนี้จึงมีปัจจัยที่มาจากความป๊อปปูล่าร์ ถูกใจมหาชนเป็นแรงหนุนโดยไม่ต้องสงสัย ซึ่งแน่นอน มันก็มิใช่เรื่องผิดอันใดถ้าผู้ชมส่วนใหญ่จะนิยมชมชอบอะไรแบบนี้ เพียงแต่มันก็อาจมีการสะท้อนมองจากคันฉ่องอีกขั้วองศาว่านี่ไม่ใช่การแสดงที่น่ายกย่องอะไรเลยนะ สิ่งที่น่าสังเกตคือในบรรดารายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ก็มีการแสดงของ โคลิน ฟาร์เรลล์ (Colin Farrell) จากเรื่อง The Banshees of Inisherin (2022) ของผู้กำกับ มาร์ติน แม็กโดนาห์ (Martin McDonagh) ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งทั้งฟราเซอร์และฟาร์เรลล์ก็เคยได้ร่วมประกวดด้านการแสดงในบททั้งสองนี้ด้วยกันมาแล้วในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ค.ศ. 2022 ซึ่งผลการตัดสินในเทศกาลเวนิสนั้น ฟาร์เรลล์เป็นฝ่ายชนะคว้ารางวัลไป หากมันเป็นการตัดสินโดยใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในวงการทั้งโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ มือเขียนบท นักเขียน และนักแสดงระดับโลก จำนวนเพียงเจ็ดราย ซึ่งต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนอภิปรายอย่างเข้มข้นเพื่อมอบรางวัลให้ผลงานที่ ‘ดีที่สุด’ จริง ๆ ในสายตาของพวกเขา

การโหวตลงคะแนนตามวิถีประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มาจากมติความพึงพอใจของมวลชนจึงอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มาจากอัตวิสัยแห่งความ ‘ชอบพอ’ ของผู้โหวตแต่ละราย แล้วขีดนับจำนวนกันแบบง่ายๆ ว่าตัวเลือกใดจะได้แต้มรวมสูงเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่การตั้งวงกันถกเถียง อภิปรายถึงรายละเอียดจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละตัวเลือกโดยผู้สันทัดกรณี ที่สามารถขยายวงไปจนถึงการระดมทำประชามติ ก็อาจทำให้เราสามารถเปรียบเทียบความคิดเห็นต่างๆ ได้อย่างมีสติด้วยข้อมูลรอบด้าน และให้ผลการตัดสินที่แตกต่างจากการโหวตด้วยความชอบแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งมิติแห่งความเป็นประชาธิปไตยที่ควรส่งเสริมให้เกิดการถกเถียงอภิปราย ที่ไม่ว่าจะเป็นแค่เสียงเล็กเสียงน้อยกระจ้อยร่อยถึงเพียงไหน หากมันเป็นเหตุผลหรือมุมมองที่รับฟังได้ก็ไม่ควร ‘ปัดตก’ ไปจากการสนทนา

ผลรางวัลออสการ์ในแต่ละสาขาไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ย่อมมีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือศรัทธาของตัวรางวัลเองว่าจะยัง ‘ขลัง’ น่าติดตามเหมือนดังที่เคยเป็นมาหรือไม่ หรือออสการ์มีเจตนาที่แสวงหาทิศทางใหม่ๆ อยากจะ goes Pop ตอบโจทย์รสนิยมสาธารณ์ มากกว่าจะสานต่อการเฉลิมฉลองความสำเร็จแห่ง ‘ศิลปะภาพยนตร์’ ตามที่เคยเคลมเอาไว้ โดยไม่ใส่ใจคำกระแนะกระแหนว่าเวทีรางวัลกับผู้ชนะก็ดูจะเหมาะสมกลมกลืนกันดี เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ผีแห้ง’ ยังไงก็ย่อมคู่ควรกับ ‘โลงผุ’!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save