fbpx
ทางกลับบ้าน

ทางกลับบ้าน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

1

 

พัดลมหมุนบนหัวกำลังทำให้คุณรู้สึกเหมือนยืนรับลมอยู่ริมชายหาด แต่คุณจะไม่ได้กลิ่นหอมเกลือจากน้ำทะเล หรือรู้สึกว่าปลายเท้าสัมผัสทรายเนียนนุ่มหรอก เพราะคนข้างหน้ากำลังขยับตัวไปมาอย่างกระสับกระส่ายจนกระเป๋าเป้ใบใหญ่ที่เขาสะพายอยู่เฉียดปลายจมูกคุณไปสองครั้งแล้ว คุณอยากจะขยับตัวหนี แต่คุณทำไม่ได้ เพราะข้างหลังก็อัดแน่นจนคุณแทบจะท้องลูกคนที่สองกับเขา คุณอยากจะหยิบเอาหูฟังมาฟังเพลง แต่ศอกของคุณขยับได้มากสุดแค่เกาะเบาะไว้ไม่ให้ล้มลง คุณจึงต้องฟังเพลงไมค์ ภิรมย์พรที่ดังสนั่นจนเสียงเบสทะลุลำโพงออกมาเป็นจังหวะ เพลงเพราะดี คุณคิด แต่เมื่อหันมองไปยังบรรยากาศรอบข้าง คุณกลับไม่เห็นความสุนทรีใดๆ ผ่านสีหน้าแววตาของพวกเขาเลย มีเพียงสายตาที่มองออกไปนอกหน้าต่างอย่างไร้จุดหมาย เวลาผ่านไปสองชั่วโมงแล้วที่ก้นของคุณไม่ได้สัมผัสกับเบาะ ขาคุณแข็งจนเอาไปทำไม้เบสบอลได้ คุณคิดถึงเตียงที่บ้านจนน้ำตาเริ่มไหลออกมานิดๆ คุณกำลังคิดว่าแค่จะกลับบ้าน โลกต้องทำร้ายคุณขนาดนี้เลยหรือ คุณกำลังยืนอยู่บนรถทัวร์สาย โคราช-ขอนแก่น

 

“คนดีๆ ที่ไหน จะเจอเรื่องเลวร้ายแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีแต่มึงเท่านั้นแหละ” เพื่อนพูดกับฉัน หลังจากฉันเล่าประสบการณ์ยืน 5 ชั่วโมงบนรถทัวร์คันสุดท้ายของโลกเพื่อกลับบ้านในช่วงวันแม่

“มึงต้องพูดว่า โลกที่เลวร้ายแบบไหนกัน ที่ทำแบบนี้กับคนดีๆ อย่างกู”  ฉันเถียงคอแทบขาด

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันเจอการเดินทางแย่ๆ รถทัวร์แมลงสาบ นั่งเหม็นขี้ไก่บนรถไฟชั้นสาม ปวดท้องจนเหงื่อออกหมดตัวบนรถทัวร์ที่ไม่มีห้องน้ำ ได้นั่งหน้าห้องน้ำที่กลิ่นทารุณจนแทบอ้วก รถทัวร์ที่เปิดหมอลำเสียงดังระดับตึกถล่มตลอดทาง ฯลฯ ในยุคสมัยที่เครื่องบินโลว์คอสต์ยังไม่ตีตลาด และยังไม่มีรถยนต์ขับเอง บอกเลยว่า ประสบการณ์บนรถทัวร์แทบจะเป็นความทรงจำหลักในช่วงชีวิตที่เข้ามาเรียนมหา’ลัยในกรุงเทพฯ มันมักจะเกิดขึ้นตอนที่ไม่ได้จองรถ หรืออุตริอยากจะลองขึ้นบริษัทรถที่ไม่เคยขึ้น ฉันได้ปรัชญาชีวิตจากการตัดสินใจเหล่านั้นว่า คนเราไม่ต้องลองเปลี่ยนอะไรหรอก ถ้าเจอสิ่งที่ดีอยู่แล้ว จะไปทำให้ตัวเองเหนื่อยยากทำไม (โว้ย)

 

2

 

ตั้งแต่เริ่มทำงาน ฉันกลับบ้านน้อยลง ถามเพื่อนๆ ที่บ้านไกลก็ทำตัวไม่แตกต่างกัน มีเพื่อนคนหนึ่งเคยนั่งรถจากกรุงเทพฯ กลับบ้านที่เพชรบูรณ์ อยู่บ้านยังไม่ถึง 24 ชั่วโมง มันนั่งรถทัวร์กลับมากรุงเทพฯ แล้ว จนเพื่อนๆ งงเป็นไก่ตาแตกว่ามึงจะกลับทำไมถ้ากลับแค่นั้น แว่วว่าเหตุผลคือต้องกลับมาทำงาน

เราทุกคนต่างเป็นคนรักงาน

แต่งานกับครอบครัวเหมือนเสือสองตัวที่อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ จะเอาอะไรก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทำไมต้องเป็นแบบนั้น นี่มันโลกยุคโลกาภิวัตน์แล้วนะ อินเทอร์เน็ตก็มี  4G ก็แรงทะลุนรก วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ส่งงานผ่านเน็ตก็ยังได้ ทำไมยังจะต้องจากบ้านมาไกลเพื่อทำงานอีก หลายคนตั้งคำถาม  แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้งานประเภทที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เพราะคนรับราชการ ทำงานบริษัท ทำงานโรงงานก็มี ปัญหาคือแหล่งงานในกรุงเทพฯ มีมากกว่าจังหวัดอื่นในประเทศเป็นพันเท่า ผู้คนเลยจำเป็นต้องมากระจุกตัวอยู่ในเมืองกรุงศิวิไลซ์ แล้วใช้ชีวิตแบบค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว ในขณะที่เงินเดือนไม่ได้ขยับตาม เหมือนไม่รู้ว่าก๋วยเตี๋ยวแตะชามละ 50 บาทแล้ว

คนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องจากบ้านมาไกล เพื่อตามหาความฝัน เพื่อหาเงิน หรือเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต เพราะการได้เล่นบนเวทีใหญ่ย่อมฉายแสงเจิดจ้ามากกว่าอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นอาชีพที่ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น คนทำงานศิลปะ สายนิเทศศาสตร์ หรือคนทำธุรกิจ กรุงเทพฯ​ เปิดโอกาสให้เจอคนจำนวนมหาศาล มีหนังดีๆ ให้ดู มีงานทอล์กในหัวข้อเด็ดๆ เราเดินไปดูนิทรรศการได้บ่อยๆ มีองค์ความรู้จำนวนมากที่ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้ในเส้นทางที่อยากจะไป

คิดถึงบ้านก็จริง แต่ก็รักชีวิตแบบนี้เหมือนกัน

แน่ละ ว่าก็มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ ไม่ได้เอนจอยกับโอกาสที่กว้างไกลอะไรหรอก แต่เงินก็สำคัญ เก็บเงินได้ครบอย่างที่หวังเมื่อไหร่ ก็จะกลับบ้านไปสร้างอะไรของตัวเอง กรุงเทพฯ จึงเป็นทั้งลานกว้างที่ให้เราท่องไปอย่างเสรี และเป็นกล่องเล็กแคบที่อัดคนไว้ด้วยความหวังและเงินทอง

ตราบใดที่งาน (ที่ดีและน่าทำ) ไม่กระจายตัว คนก็ไม่อาจกระจายตัวไปด้วยได้

 

3

 

มากกว่าเรื่องของ ‘โอกาส’ ฉันว่า ‘ความอิสระ’ ก็ตีคู่กันมาอย่างเหนียวแน่น ในห้วงชีวิตที่คุณยังมีแรง มีเวลา และพอจะมีเศษเงินอยู่บ้าง คุณก็อยากจะทะยานไปในโลกกว้าง อาจไม่ใช่การท่องเที่ยวตามหาแสงเหนือขนาดนั้นหรอก แต่แค่การได้ออกไปไหนตามที่ตัวเองคิด กินเบียร์กับเพื่อนในบาร์ย่านพระอาทิตย์ หิวกลางดึกก็ออกไปกินบะหมี่เกี๊ยวหมูแดง นั่งทำงานได้ดึกๆ ดื่นๆ แล้วนอนตื่นสายได้โดยไม่มีใครมาปลุก ชีวิตที่ตัดสินใจด้วยตัวเอง เป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และนั่นเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เกินกว่าครึ่งโหยหามาตั้งแต่เด็ก

พ่อแม่คุณแก่ตัวลงทุกวัน และคุณก็กังวลว่าวันหนึ่งต้องกลับไปดูแล แต่คุณก็ยังอยากวิ่งในเส้นทางของตัวเองอยู่

 

คืนหนึ่ง ฉันมีบทสนทนากับเพื่อนว่าด้วยเรื่องชีวิต

“คิดว่าจะกลับไปอยู่บ้านตอนอายุเท่าไหร่” เพื่อนถาม

 

“ตอนที่โตแล้ว” ฉันตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save